พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร
พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร หรือ พระองค์ชายกลาง (29 เมษายน พ.ศ. 2456 – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534) เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร | |
---|---|
พระเจ้าวรวงศ์เธอ ชั้น 5 พระองค์เจ้าชั้นโท | |
ประสูติ | 29 เมษายน พ.ศ. 2456 พระตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา ประเทศสยาม |
สิ้นพระชนม์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 (78 ปี) |
พระราชทานเพลิง | 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส |
หม่อม |
|
พระบุตร |
|
ราชสกุล | ยุคล |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ |
พระมารดา | พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล |
ศาสนา | พุทธ |
พระประวัติ
แก้พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน 5 แรม 9 ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2456 ที่จังหวัดสงขลา ขณะที่พระบิดาทรงรับราชการในกระทรวงมหาดไทย เป็นสมุหเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช และประทับอยู่ ณ พระตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา มีพระโสทรภราดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
พระบิดาเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ส่วนพระมารดามีศักดิ์เป็นพระภาติยะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเป็นพระธิดาในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระโสทรอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพระราชพิธีโสกันต์พระราชทานในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2468 หลังจากทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์และจรดพระกรรไกรบิดโสกันต์พระราชทานแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงจรดพระกรรไกรบิดโสกันต์ ตามลำดับ
พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร ทรงเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์[1]และ โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม ปี พ.ศ. 2466 (หมายเลขประจำพระองค์ 3672) หลังจากนั้นได้เสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ณ วิทยาลัยอีตัน[2] และทรงศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนายทหารสัญญาบัตร หลังจากนั้นได้เสด็จกลับประเทศไทยเพื่อเข้ารับราชการทหาร โดยทรงบรรจุเข้ารับราชการในกองบัญชาการกองทัพบก พระยศว่าที่ร้อยตรี[3] หลังจากนั้นได้โอนไปเป็นข้าราชการตำรวจ สังกัดกองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี กองบัญชาการตำรวจนครบาล จนถึงปี พ.ศ. 2491 หลังจากนั้นได้โอนกลับไปรับราชการทหารที่กองทัพบก จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในขณะมีพระยศพันเอก สังกัดศูนย์การทหารม้า ภายหลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระยศพลตรีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2531
การศึกษา
แก้- ศึกษากับเจ้าอาวาสที่ วัดมัชณิมาวาส สงขลา
- โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์
- โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
- วิทยาลัยอีตัน
วิชาทหาร
แก้- โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (หมายเลขประจำพระองค์ 3672)
- โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์
- หลักสูตรนายทหารม้า ชั้นนายพัน รุ่นที่ 2 โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า
- ศึกษาและดูงานที่ โรงเรียนยานเกราะ และศูนย์สงครามพิเศษ กองทัพบกสหรัฐ
- หลักสูตรกระโดดร่ม นายทหารชั้นผู้ใหญ่ รุ่นที่ 1 ศูนย์สงครามพิเศษ
การทรงงาน
แก้ราชการทหาร
แก้หลังจากสำเร็จการศึกษาจากประเทศสหราชอาณาจักร พระองค์ชายกลาง ได้เสด็จกลับประเทศไทย แล้วทรงเข้ารับราชการทหารในกองทัพบก โดยทรงบรรจุเข้ารับราชการในกองบัญชากาญชาการกองทัพบก พระยศว่าที่ร้อยตรี[3] หลังจากนั้นได้โอนไปเป็นข้าราชการตำรวจ สังกัดกองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี กองบัญชาการตำรวจนครบาล จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2491 หลังจากนั้นได้โอนกลับไปรับราชการทหารที่กองทัพบก จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในขณะมีพระยศ พันเอก สังกัดศูนย์การทหารม้า และนอกจากนี้เมื่อครั้งที่รับราชการทหาร พระองค์ยังเป็นหัวหอกสำคัญในการตามล่านายปรีดี พนมยงค์ ในช่วงเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 โดยพระองค์เป็นผู้แจ้งขอเครื่องบินเพื่อติดตามโจมตีปรีดีและคณะ ที่ได้หลบหนีไปทางน้ำ ซึ่งทางคณะรัฐประหารก็ได้จัดการให้ตามที่พระองค์ต้องการ จากนั้นพระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพรพร้อมด้วย พ.ท. ละม้าย อุทยานานนท์ (ยศในขณะนั้น) จึงได้ขึ้นเครื่องบินของกองทัพอากาศจากดอนเมืองมุ่งตรงไปสมุทรปราการเพื่อติดตามโจมตีเรือลี้ภัยของปรีดีและคณะ และได้ทำการบินค้นหาตั้งแต่ปากน้ำลึกเข้ามาในลำน้ำเจ้าพระยา และบินกว้างออกไปทั่วปากอ่าวแล้วล้ำลึกออกไปในทะเล แต่ก็ไม่สามารถตรวจพบเรือของปรีดีได้ เพราะสภาพอากาศที่มืดคลุ้มไปทั่ว ประกอบกับลมที่พัดแรงอย่างผิดปกติ ทำให้ทัศนะวิสัยเลวร้ายลงจนเครื่องบินไม่สามารถปฏิบัติการค้นหาได้ จนสุดท้ายปรีดี พนมยงค์ สามารถหลบหนีออกไปจากประเทศไทยได้สำเร็จ[4]
ในปี พ.ศ. 2493 ขณะดำรงพระยศร้อยเอก ได้ทรงเข้าร่วมกรมผสมที่ 21 เพื่อไปเข้าร่วมรบกับกองกำลังสหประชาชาติในสงครามเกาหลี[5] ทรงปฏิบัติภารกิจอยู่แนวหน้าถึง 2 ปี และทรงได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ และได้ประดับเครื่องหมายเปลวระเบิดบนแพรแถบเหรียญชัยสมรภูมิ ในปี พ.ศ. 2495 ในฐานะผู้ได้รับความชมเชยจากทางราชการ[6] และนอกจากนี้กองทัพสหรัฐยังได้รับการทูลเกล้าถวายเหรียญบรอนซ์สตาร์เนื่องจากการปฏิบัติงานเป็นผลสำเร็จดียิ่ง จากปฏิบัติการร่วมรบสหประชาชาติ ณ ประเทศเกาหลี อีกด้วย[7]
หลังจากที่เสด็จกลับจากการปฏิบัติภารกิจร่วมรบกับกองกำลังสหประชาชาติในสงครามเกาหลีแล้ว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทหารเป็น พันโท เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2495[8] โดยในปี พ.ศ. 2493 พระองค์ชายกลาง ได้ทรงมีลายพระหัตถ์มาถึงครอบครัว เล่าเรื่องการเดินทางของพระองค์ในการร่วมรบกับสหประชาชาติในสงครามเกาหลี ลายพระหัตถ์ฉบับแรกทรงกล่าวถึงการบนบานศาลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่วังนางเลิ้ง เพื่ออำนวยความปลอดภัยในการเดินทางทางทะเล และทรงขอให้หม่อมทองแถม ประยูรโต ไปแก้บนแทนพระองค์ โดยลายพระหัตถ์เล่าว่า
"พรุ่งนี้เรือจะแวะเกาะโอกีนาวา ฐานทัพเรืออเมริกันเพื่อรับเสบียง เนื่องจากเรือเราต้องเดินช้ากว่าปกติเพราะต้องคอยเรือสีชังซึ่งเป็นเรือเก่าแล่นช้ามาก และโดนคลื่นลมแรงมาก...วันเดียวตามทางเจอใต้ฝุ่นหลายหน แต่เราบนกรมหลวงชุมพรหายเงียบไปทุกที ศักดิ์สิทธิ์มาก แกช่วยเอาเหล้าไปแก้บนที่ศาลที่วังท่านแทนเราด้วย (Yukol, 1991, P. 150)"[9]
นอกจากนี้พระองค์ชายกลาง ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2498 [10]และได้รับพระราชทานพระยศพลตรี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2531[11]
นาฏศิลป์ไทย
แก้พระองค์ชายกลาง เป็นเจ้านายที่ทรงพระปรีชารอบรู้และฝักใฝ่พระทัยในศิลปะและวรรณคดี และทรงเกื้อกูลและอุปถัมภ์ศิลปะและศิลปินตลอดมา ทรงชักชวนให้ธนิต อยู่โพธิ์ เขียนเรื่องงานศิลป์เกี่ยวกับโขนต่อไปหลังจากที่ได้เขียนเรื่องโขนเมื่อหลายปีมาแล้ว และทรงโปรดให้จัดพิมพ์หนังสือ ศิลปละคอนรำ หรือ คู่มือนาฏศิลปไทย (พิมพ์ครั้งแรก) โดย ธนิต อยู่โพธิ์ ในงานฉลองพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2516 และพระองค์ชายกลางยังได้มีพระเมตตาฝากฝังนายแจ้ง คล้ายสีทอง ให้เรียนเสภากับนายเจือ นายแจ้งจึงได้วิธีการขับเสภาไหว้ครู รวมทั้งเกร็ดย่อยอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ในที่สุดจึงเป็น นายแจ้ง คล้ายสีทอง ของคนฟังเพลงไทยและคนฟังเสภาทั่วประเทศ จนได้รับสมญาว่า "ช่างขับคำหอม[12]"
จากพระปรีชาสามารถดังกล่าว เหล่านักเขียนและศิลปินทั้งหลายจึงได้ร้องขอให้พระองค์ทรงรับตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และทรงดำรงตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2518
ภายหลังจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ ทรงไปรับตำแหน่งองคมนตรี พระองค์ชายกลาง ได้รับการทูลเชิญจากเอื้อ สุนทรสนาน และคณะให้ทรงดำรงตำแหน่งนายกสมาคมดนตรี อีกตำแหน่งหนึ่ง และดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ[13]
นอกจากนี้พระองค์ชายกลาง ยังได้ก่อตั้งคณะละครขึ้นมา ชื่อว่า คณะละครนาฏราช โดยเสด็จพระองค์ชายกลางได้มีพระปรารภกับครูบุญยงค์ เกตุคง ซึ่งเป็นนักดนตรีไทยที่มีฝีมือมากในขณะนั้นว่า มีพระประสงค์ให้แต่งเพลงประจำคณะละครของท่านสักเพลงหนึ่ง ครูบุญยงค์ เกตุคง ก็ได้แต่งถวายตามพระประสงค์ โดยได้นำเอาทำนองเพลงดับควันเทียนที่เป็นเพลงสุดท้ายในชุดเพลงเรื่องเวียนเทียนใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นเพลงที่มีความมงคลมาเป็นแนวทางในการแต่งให้อยู่ในรูปของเพลงตระ จึงได้นำหน้าทับตระในอัตราจังหวะ 2 ชั้นมาใช้ จึงได้ออกมาเป็นเพลงหน้าพาทย์เพลงใหม่ชื่อเพลงตระนาฏราช ไปถวายเสด็จพระองค์ชายกลาง ต่อมาเพลงตระนาฏราชได้นำมาใช้ในการการแสดงครั้งแรกโดยการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ทางช่อง 4 บางขุนพรหม ก่อนที่จะมีการแสดงละครโดยคณะละครนาฏราช ก็จะมีเสียงเพลงตระนาฏราชขึ้นพร้อมกับผู้กำกับการแสดง ชื่อนักแสดง ผู้สร้าง ผู้สนับสนุนรายการต่าง ๆ เป็นการเปิดตัวของคณะละครนาฏราชมาตลอด โดยทั่วไปพิธีไหว้ครูดนตรีและนาฏศิลปไทยจะมีผู้ประกอบพิธีและวงปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ตลอดการประกอบพิธี เพลงหน้าพาทย์โดยทั่วไปเป็นเพลงหน้าพาทย์เก่าที่มีมาแต่โบราณ แต่ก็มีการใช้เพลงตระนาฏราชบรรเลงประกอบในพิธีไหว้ครูเช่นกัน ซึ่งได้เริ่มใช้หลังจากที่เกิดเพลงตระนาฏราชขึ้นโดยคณะศิษย์ครูบุญยงค์ เกตุคง ได้นำมาใช้บรรเลงเป็นเพลงหน้าพาทย์ประกอบพิธีไหว้ครู แต่จะบรรเลงเฉพาะเมื่อผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงตระนาฏราชเท่านั้น ก็มีใช้กันจนในหมู่ศิษย์ครูบุญยงค์ เกตุคง มาจนถึงปัจจุบัน[14]
นอกจากพระปรีชาสามารถด้านนาฏศิลป์ไทยแล้ว เสด็จพระองค์ชายกลาง ยังทรงมีความเกี่ยวพันกับตำนานการสร้าง พระหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากท่านทรงคบหาสนิทสนมเป็นมิตรกับคหบดีใหญ่ปักษ์ใต้คือ คุณอนันต์ คนานุรักษ์ และได้รับมอบพระเครื่องหลวงปู่ทวดเนื้อว่านปี 2497 จากคุณอนันต์มาหนึ่งองค์โดยทรงบูชาติดตัวเป็นประจำ โดยครั้งหนึ่งรถยนต์พระที่นั่งเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ แต่พระองค์เองไม่มีอันตรายแม้แต่รอยขีดข่วน ทำให้พระองค์ท่านเกิดความศรัทธาในองค์หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ อย่างสูง และเมื่อทางวัดโดยพระอาจารย์ทิม และ คุณอนันต์ คณานุรักษ์ จะจัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดปี 2505 พระองค์ท่านจึงปวารณาตัวขอเป็นผู้อุปถัมภ์ในการจัดสร้าง และได้นำชนวนโลหะอันศักด์สิทธิ์มาเทหล่อเป็นเนื้อโลหะต่าง ๆ ที่กรุงเทพมหานคร จนกลายเป็นพระหลวงพ่อทวด รุ่น พ.ศ. 2505 ที่ลือลั่นมาจนถึงปัจจุบัน[15] ในการจัดสร้างพระครั้งนั้น เนื่องด้วยเสด็จพระองค์ชายกลางเป็นองค์อุปถัมภ์ จึงสำเร็จลุล่วงด้วยดี และพระองค์ท่านยังได้จัดสร้าง "พระกริ่ง" อันงดงามด้วยพุทธลักษณะขึ้นในครั้งนั้นด้วย เมื่อทำการหล่อพระกริ่งได้โปรดให้ช่างแกะแม่พิมพ์ขึ้น และเททองปลุกเสกโดยพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้พร้อมกันกับพระเครื่องหลวงปู่ทวดปี 2505 ครั้นเสร็จจากพิธีเสด็จ ท่านได้ถวายพระกริ่งซึ่งสำเร็จขึ้นมีพุทธลักษณะงดงามให้กับวัดช้างให้จำนวน 300 องค์ ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า "พระกริ่งใหญ่หลวงปู่ทวด" หรือ "พระกริ่งวัดช้างให้" ส่วนที่เหลือทรงนำมาถวายให้วัดตาก้อง ด้วยเหตุที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร นั้นท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง และปลุกเสกอีกวาระโดยเกจิอาจารย์สายนครปฐม ผู้คนเรียกขานกันว่า "พระกริ่งเฉลิมพล" รวมถึงในคราวฉลองครบวาระ 200 ปี แห่งชาตะกาล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร ยังได้ทรงเป็นองค์ประธานการจัดงานสมโภชน์เฉลิมฉลองในวาระดังกล่าวและมีการปลุกเสกพระสมเด็จรุ่นประวัติศาสตร์ อนุสรณ์ 200 ปี พ.ศ. 2531 โดยพระคณาจารย์ทั่วประเทศอีกด้วย[16]
สิ้นพระชนม์
แก้พระองค์ชายกลาง สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ด้วยภาวะพระหทัยล้มเหลว หรือภาวะหัวใจล้มเหลว สิริพระชันษา 78 ปี ในการนี้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานน้ำหลวงสรงพระศพ และพระราชทานพระโกศมณฑปทรงพระศพ พระองค์ชายกลาง ประดิษฐานพระศพ ณ ศาลาภาณุรังษี วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร และในการนี้ทรงพระกรุณาฯ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพ พระองค์ชายกลาง ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535[17][18]
ภายหลังสิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2559 กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องเชิดชูพระเกียรติ พระองค์ชายกลาง เป็น "บูรพศิลปิน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สาขาศิลปะการแสดง" โดยมีการเชิดชูเกียรติศิลปินผู้ล่วงลับ ซึ่งมีคุณูปการต่องานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติอันเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ควรค่าแก่การเคารพยกย่องซึ่งอนุชนรุ่นต่อมาได้พัฒนาและสืบทอดให้เจริญก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน ซึ่งในโอกาสดังกล่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อสำหรับศิลปินผู้ล่วงลับว่า “บูรพศิลปิน”[19]
หม่อม และพระโอรส พระธิดา
แก้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร มีโอรส-ธิดาจำนวน 7 องค์ จากหม่อม 5 คน ดังนี้[20][21][22]
ลำดับ | พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ สิ้นชีพิตักษัย |
มารดา | เสกสมรส | พระนัดดา |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | หม่อมเจ้าจามเทพี ยุคล | 23 ธันวาคม พ.ศ. 2476 | 26 มกราคม พ.ศ. 2485 | หม่อมราชวงศ์กุลปราโมทย์ จิรประวัติ (ราชสกุลเดิม สวัสดิกุล) |
มิได้เสกสมรส | |
2. | หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล | 31 ธันวาคม พ.ศ. 2479 | 1 กันยายน พ.ศ. 2565 | สมเชื้อ มุกสิกบุตร (สกุลเดิม ชมเสวี) |
หม่อมบงกชปริยา ยุคล ณ อยุธยา (สกุลเดิม คอล์คสตีน) |
หม่อมราชวงศ์ศรีเฉลิม กาญจนภู หม่อมราชวงศ์อุรรัตนา ยุคล พระราชวชิราภินันท์ (หม่อมราชวงศ์นันทวัฒน์ ชยวฑฺฒโน) |
3. | หม่อมเจ้าวิสาขะ ยุคล | 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 | 31 มีนาคม พ.ศ. 2527 | หม่อมทองไพ ยุคล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ประยูรโต) |
พิมพ์ใจ ประยูรโต เรณู รื่นจิตร |
หม่อมราชวงศ์วิศรุต ยุคล หม่อมราชวงศ์เขมาสินี ยุคล หม่อมราชวงศ์อัมพรพล ยุคล |
4. | ศรีสว่างวงศ์ บุญจิตราดุลย์ | 27 สิงหาคม พ.ศ. 2489 | หม่อมทองแถม ยุคล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ประยูรโต) |
ศักดา บุญจิตราดุลย์ | ทีฆ บุญจิตราดุลย์ ศศินทุ์ บุญจิตราดุลย์ | |
5. | หม่อมเจ้าหญิงมะลิวันย์
จันทร์ยุคล |
2 ธันวาคม พ.ศ
2491 |
มิได้เสกสมรส | |||
6. | พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล | 24 ตุลาคม พ.ศ. 2493 | มิได้เสกสมรส | |||
7. | หม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคล | 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 | หม่อมบัวทอง ยุคล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ไตลังคะ) |
เปรมศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา มาลินี พิศาลสารกิจ |
หม่อมราชวงศ์ทิตตาทร ยุคล หม่อมราชวงศ์วัชรมงคล ยุคล |
ผลงาน
แก้ภาพยนตร์
แก้- 2515 : น้ำผึ้งพระจันทร์ - องค์ที่ปรึกษา นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และ เพชรา เชาวราษฎร์
- 2523 : ฉุยฉาย - ดาราเกียรติยศ โดยทรงรับบทเป็นเสด็จในกรมฯ นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี, สุพรรษา เนื่องภิรมย์, สมภพ เบญจาธิกุล และ อำภา ภูษิต
ละครโทรทัศน์
แก้- 2527 : โขนบรรดาศักดิ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เนื่องในวันทหารสื่อสารครบรอบ 60 ปี ตอน องคตสื่อสาร ทรงรับบทเป็น องคต
พระเกียรติยศ
แก้ธรรมเนียมพระยศของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร | |
---|---|
การทูล | ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | เกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน |
การขานรับ | เกล้ากระหม่อม/เพคะ |
ลำดับโปเจียม | ไม่มีข้อมูล |
พระอิสริยยศ
แก้- 29 เมษายน พ.ศ. 2456 - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร
พระยศทางทหารและตำรวจ
แก้พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร | |
---|---|
รับใช้ | ไทย |
แผนก/ | กองทัพบกไทย |
ชั้นยศ | พลตรี[23] |
หน่วย | กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ |
- 1 มิถุนายน พ.ศ. 2478: ว่าที่ ร้อยตรี
- 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478: ร้อยตรี[24]
- 29 เมษายน พ.ศ. 2482: ร้อยตำรวจโท[25]
- 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2488: ร้อยตำรวจเอก[26]
- 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490: ว่าที่ร้อยเอก
- 1 มกราคม พ.ศ. 2491: ร้อยเอก[27]
- 23 เมษายน พ.ศ. 2495: พันโท
- 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508: พันเอก[28]
- 26 ตุลาคม พ.ศ. 2531: พลตรี
ตำแหน่งทางทหาร
แก้- 1 มิถุนายน พ.ศ. 2478 - เสด็จกลับจากศึกษาวิชาทหาร ณ ประเทศอังกฤษ เข้าประจำการ กองบังคับการกรมเสนาธิการทหารบก
- 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 - ออกจากประจำการเป็นนายทหารกองหนุนไม่มีเบื้ยหวัด สังกัดกองบังคับการจังหวัดทหารบกกรุงเทพ
- 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 - อธิบดีกรมตำรวจ ขอตัวไปรับราชการกรมตำรวจ ประจำกองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี
- 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 - กระทรวงกลาโหมขอโอนกลับมารับราชการทหาร เข้าประจำแผนกที่ 2 กรมเสนาธิการทหารบก
- 14 สิงหาคม พ.ศ. 2493 - นายทหารประจำคณะทูตทหาร ประจำกองบัญชาการผสมของสหประชาชาติ
- 22 กันยายน พ.ศ. 2493 - ล่ามประจำกรมผสมที่ 21
- 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 - ประจำกองบังคับการ กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์
- 1 เมษายน พ.ศ. 2495 - ประจำกองบังคับการ กรมทหารม้าที่ 2
- 29 สิงหาคม พ.ศ. 2495 - รักษาราชการนายทหารติดต่อ กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์
- 30 มีนาคม พ.ศ. 2498 - ประจำแผนกข่าว ศูนย์การทหารม้า
- 18 กันยายน พ.ศ. 2498 - นายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2498
- 23 เมษายน พ.ศ. 2499 - อาจารย์แผนกวิชาการรบพิเศษ กองการศึกษา โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า
- 9 ธันวาคม พ.ศ. 2502 - หัวหน้าแผนก กรมการข่าวทหารบก
- 22 ตุลาคม พ.ศ. 2505 - รองผู้บังคับการ กรมนักเรียน โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า
- 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 - หัวหน้าแผนก ศูนย์การทหารม้า
- 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 - ประจำศูนย์การทหารม้า
- 1 ตุลาคม พ.ศ. 2516 - ออกจากราชการเนื่องจากครบเกษียณอายุราชการ เป็นนายทหารนอกราชการ สังกัดกองบังคับการจังหวัดทหารบกกรุงเทพ
ธรรมเนียมพระยศของ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร | |
---|---|
การทูล | กราบทูลทราบฝ่าพระบาท |
การแทนตน | เกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน |
การขานรับ | เกล้ากระหม่อม/เพคะ |
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[18] ดังนี้
- พ.ศ. 2495 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายหน้า)[29]
- พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[30]
- พ.ศ. 2500 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[31]
- พ.ศ. 2504 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)[32]
- พ.ศ. 2495 – เหรียญชัยสมรภูมิ การร่วมรบกับสหประชาชาติ ณ ประเทศเกาหลี (ช.ส.) (ประดับเปลวระเบิด)[33]
- พ.ศ. 2493 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
- พ.ศ. 2460 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 3 (ว.ป.ร.3)[34]
- พ.ศ. 2469 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 3 (ป.ป.ร.3)
- พ.ศ. 2489 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 3 (อ.ป.ร.3)
- พ.ศ. 2496 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 2 (ภ.ป.ร.2)[35]
- พ.ศ. 2469 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 (ร.ร.ศ.7)[36]
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
- พ.ศ. 2475 – เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี (ร.ฉ.พ.)
- พ.ศ. 2506 – เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)
เครื่องอิสริยาภรณ์สากล
แก้- สหประชาชาติ :
- พ.ศ. 2495 - เหรียญสหประชาชาติเกาหลี[37]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
แก้พงศาวลี
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ หอเกียรติยศนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ http://www.debsirinalumni.org/main_hof.php?type_1=บรมวงศานุวงศ์ เก็บถาวร 2018-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Members of Royal Families https://www.etoncollege.com/Royals.aspx เก็บถาวร 2020-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 3.0 3.1 อนุสรณ์แห่งความรัก เนื่องในการพระราชทานเพลิงพระศพ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2535
- ↑ หนังสือ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ จากกรุงเทพฯ ถึงปักกิ่ง โดย สุพจน์ ด่านตระกูล หน้า 30-31
- ↑ https://trove.nla.gov.au/newspaper/article/18501257
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2495/D/051/2672.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2494/D/058/3969_1.PDF
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 28 เล่มที่ 69 เรื่อง พระราชทานยศทหารhttp://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2495/D/028/1212.PDF
- ↑ Yukol, C., Lieutenant Colonel Momjao. (1991). Anusorn ngan phra rachatan phloeng phra sop phontri phra chao woravongther phraaong chao Chaloemphon Thikhamporn [Commemorationat His Royal Highness Prince Chaloemphon Thikhamporn’s Cremation]. Bangkok: The Agricultural Co-operative Federation of Thailand.
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2498/D/033/971.PDF
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหารและแต่งตั้งนายทหารพิเศษ
- ↑ http://www.m-culture.in.th/album/14163
- ↑ สุนทราภรณ์ ครึ่งศตวรรษ. เป็นหนังสือที่ระลึก/การก่อตั้ง วงดนตรีสุนทราภรณ์ครบรอบ 50 ปี 20 พฤศจิกายน ปี 2532.
- ↑ นุกูล ทัพดี, ความสำคัญของเพลงตระนาฏราช ในวัฒนธรรมดนตรีไทย file:///C:/Users/admin/Downloads/66745-Article%20Text-262661-1-10-20171123.pdf
- ↑ คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง : พระกริ่งเฉลิมพลฯปี"05https://www.khaosod.co.th/amulets/news_133530
- ↑ สมุดสมเด็จ พ.ศ. 2531 อนุสรณ์ 200 ปี แห่งชาตะกาล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
- ↑ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงพระศพ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร ม.จ.ก., ป.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕
- ↑ 18.0 18.1 "ข่าวในพระราชสำนัก [29 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2564]" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 109 (20 ง): 1515. 6 กุมภาพันธ์ 2535. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2564.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ประกาศกระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง การยกย่องเชิดชูเกียรติบูรพศิลปิน พุทธศักราช 2559http://www.culture.go.th/cul_fund/download/bygone/bygone59.pdf เก็บถาวร 2020-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี, หม่อมราชวงศ์. สายพระโลหิตในพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มดี, พ.ศ. 2551. 290 หน้า. ISBN 978-974-312-022-0
- ↑ ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
- ↑ กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ย้อนรอยราชสกุลวงศ์ "วังหลวง". กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2549. 304 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-941-205-2
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-08-03. สืบค้นเมื่อ 2020-06-21.
- ↑ ประกาศ พระราชทานยศทหาร (หน้า ๒๕๙๖)
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศตำรวจ
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศตำรวจ
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หน้า ๑๒๘๖ เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๒๙, ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๕
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-25.
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ หน้า ๒๖๗๓ เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๕๑, ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ หน้า ๕๒๕ เล่ม ๓๔, ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ หน้า ๑๐๑๑ เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๑๗, ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๖
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2469/D/3718.PDF
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเหรียญปฏิบัติงานสหประชาชาติ, ตอนที่ 51 เล่ม 69 หน้า 2571, 19 สิงหาคม 2495
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเหรียญอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, ตอนที่ 58 เล่ม 68 หน้า 3969, 18 กันยายน 2494
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรเก็บถาวร 2012-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรเก็บถาวร 2007-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน