สมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ (สมเด็จเจ้าพะโคะ, หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด หลวงปู่ทวดวัดช้างให้, ท่านองค์ดำ, ท่านลังกา) [1] เป็นพระมหาเถระผู้ทรงอภิญญาที่รู้จักกันดีในประเทศไทย ประวัติที่พิมพ์เผยแพร่กล่าวว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้ที่ศรัทธาในหลวงปู่ทวดเชื่อกันว่าพระเครื่องที่สร้างเนื่องด้วยท่านจะมีอานุภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองผู้มีพระเครื่องหลวงปู่ทวดในครอบครอง

สมเด็จพระราชมุนี
สามีรามคุณูปมาจารย์

(ปู สามีราโม)
หลวงปู่ทวด
ชื่ออื่นหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด,
สมเด็จเจ้าพะโคะ
ส่วนบุคคล
เกิด3 มีนาคม พ.ศ 2125 สงขลา สยาม (100 ปี)
มรณภาพ6 มีนาคม พ.ศ. 2225
ไทรบุรี มาเลเชีย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดพะโคะ, วัดช้างให้ สงขลา, ปัตตานี
อุปสมบทพ.ศ. 2145
พรรษา80
ตำแหน่งอดีตเจ้าอาวาสวัดช้างให้

ปัจจุบันหลวงปู่ทวดถือได้ว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงอภิญญาในประเทศไทยที่มีผู้ศรัทธาจำนวนมาก เป็นรูปสำคัญ 1 ใน 2 มหาเกจิอาจารย์ของเมืองไทย คู่กับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) (หลวงปู่โต) ซึ่งเป็นพระที่มีผู้เคารพ บูชานับถือทั่วประเทศไทย

ประวัติ แก้

ตามประวัติกล่าวว่าหลวงปู่ทวด เป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ซึ่งเป็นทาสในเรือนเบี้ย (ทาสทำงานใช้หนี้) ของเศรษฐีปานเกิดในรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช หลวงปู่ทวดมีนามเดิมว่า ปู เป็นบุตรของนายหู นางจัน ชาวบ้านวัดเลียบ ตำบลดีหลวง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ส่วนวันเดือนปีเกิดของเด็กชายปู ตรงกับวันเดือนปีใด หลักฐานยังขัดแย้งกันมากมีผู้สันนิษฐานไว้หลายกระแส ดังนี้

ข้อสันนิฐานที่ 1 อนันต์ คณานุรักษ์ ได้ระบุไว้ว่า “สมเด็จเจ้าพะโคะ ชาตะ วันศุกร์ เดือน 4 ปีมะโรง ตรงกับ พ.ศ. 2125” ถ้า พ.ศ.นี้เมื่อผูกดวงตรงกับ วัน พุธ ที่ 3 เดือน มีนาคม พุทธศักราช 2125 ถือว่าไม่ใช่ พ.ศ. 2125 ตรงกับ วุธวาร, แรม 14 คํ่า , เดือน : 3 (มาคมาส), ปี มะเส็ง ปกติสุรทิน, จัตวาศก, ปกติมาส, ปกติวาร ร.ศ. : -199, จุลศักราช : 943, คริสต์ศักราช : 1582

วัน อังคาร ที่ 3 เดือน มีนาคม พุทธศักราช 2124 ตรงกับ ภุมวาร, แรม 4 คํ่า , เดือน : 4 (ผคุณมาส), ปี มะโรง ปกติสุรทิน, ตรีศก, อธิกมาส, ปกติวาร ร.ศ. : -200, จุลศักราช : 942, คริสต์ศักราช : 1581

วัน ศุกร์ ที่ 6 เดือน มีนาคม พุทธศักราช 2124 ตรงกับ สุกรวาร, แรม 7 คํ่า , เดือน : 4 (ผคุณมาส), ปี มะโรง ปกติสุรทิน, ตรีศก, อธิกมาส, ปกติวาร ร.ศ. : -200, จุลศักราช : 942, คริสต์ศักราช : 1581

ข้อสันนิฐานที่ 2 เอกสารยอเข้าตำราหมื่นตราพระธรรมวิลาสเอาไปวิวาทเป็นหัวเมือง ระบุว่า “อยู่มาไซร้แลครั้งเกิดสมเด็จพระราชมุนีมีบุญ แลได้พระพุทธศักราช 990 ฉลูสัมฤทธิ์ ศก”

ข้อสันนิฐานที่ 3 สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ได้ระบุไว้ว่า “ท่านเกิดปี จ.ศ. 950 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2131”

วัน ศุกร์ ที่ 4 เดือน มีนาคม พุทธศักราช 2131 ตรงกับ สุกรวาร, ขึ้น 8 คํ่า , เดือน : 4 (ผคุณมาส), ปี กุน อธิกสุรทิน, สัมฤทธิศก, ปกติมาส, ปกติวาร ร.ศ. : -193, จุลศักราช : 949, คริสต์ศักราช : 1588[2] ขณะท่านเกิดมีเหตุอัศจรรย์คือเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น เสมือนหนึ่งว่ามีผู้มีบุญญาธิการมาเกิด เมื่อตัดรกจากสายสะดือแล้วนายหูบิดาของท่านก็นำรกของท่านไปฝังไว้ที่โคนต้นเลียบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ต้นเลียบในปัจจุบัน

เมื่อท่านเกิดมาแล้วก็มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นกับท่านเรื่อยมา เป็นต้นว่า ขณะที่ท่านอยู่ในวัยแบเบาะในช่วงฤดูเกี่ยวข้าวบิดามารดาของท่านต้องออกไปเกี่ยวข้าวที่กลางทุ่งนาซึ่งเป็นนาของเศรษฐีปาน ซึ่งท้องนาแห่งนั้นห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ที่นาแห่งนั้นมีดงตาลและมะเม่าเป็นจำนวนมากครั้งนั้นจึงเรียกว่าทุ่งเม่า ปัจจุบันตั้งเป็นสำนักสงฆ์ชื่อนาเปล ในสมัยนั้นจึงมีสัตว์ป่าชุกชุมพอสมควร บิดามารดาของท่านจึงผูกเปลของท่านซึ่งเป็นเปลผ้าไว้กับต้นมะเม่าสองต้นและก็ได้เกี่ยวข้าวอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนั้น พอได้ระยะเวลาที่นางจันทร์ต้องให้นมลูก นางจันทร์จึงเดินมาที่ที่ปลูกเปลของลูกน้อย และก็เห็นงูจงอางตัวใหญ่หรืองูบองหลาที่ชาวภาคใต้เรียกกันพันที่รอบเปล นางจันทร์เห็นแล้วตกใจเป็นอันมากจึงเรียกนายหูซึ่งอยู่ไม่ไกลนักมาดูและช่วยไล่งูจงอางนั้น แต่งูจงอางนั้นก็ไม่ไปไหน นายหูและนางจันทร์จึงตั้งสัตยาธิฐานว่าขออย่าให้งูนั้นทำร้ายลูกน้อยเลย ไม่นานนักงูจงอางนั้นก็คลายวงรัดออกและเลื้อยหายไปในป่านายหูและนางจันทร์จึงเข้าไปดูลูกน้อยเห็นว่ายังหลับอยู่และไม่เป็นอันตรายใด ๆ และปรากฏว่ามีเมือกแก้วขนาดใหญ่ที่งูจงอางคลายไว้อยู่บนอกเด็กชายปูนั้น เมือกแก้วนั้นมีแสงแวววาวและต่อมาได้แข็งตัวเป็นลูกแก้ว ปัจจุบันได้ประดิษฐานที่วัดพะโคะ เมื่อเศรษฐีปานทราบเรื่องเข้าก็บีบบังคับขอลูกแก้วเอาจากนายหูและนางจันทร์ บิดามารดาของท่านจึงจำต้องยอมให้ลูกแก้วนั้นแก่เศรษฐีปานซึ่งเป็นนายเงิน แต่ลูกแก้วนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิประจำตัวท่าน เมื่อเศรษฐีปานเอาลูกแก้วไปแล้วก็เกิดเภทภัยในครอบครัวเกิดการเจ็บป่วยกันบ่อย และมีฐานะยากจนลง เศรษฐีปานจึงได้เอาลูกแก้วมาคืนและขอขมาเด็กชายปู และยกหนี้สินให้แก่นายหูและนางจันทร์ ทั้งสองจึงพ้นจากการเป็นทาสและต่อมาก็มีฐานะดีขึ้น ๆ ส่วนเศรษฐีปานก็มีฐานะดีขึ้นดังเดิม

เมื่อท่านมีอายุได้ประมาณ 7 ขวบ พ.ศ. 2132 บิดามารดาของท่านจึงนำท่านไปฝากไว้เป็นศิษย์วัดเพื่อเล่าเรียนหนังสือ ที่วัดกุฎิหลวงหรือวัดดีหลวงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดอยู่ใกล้บ้านท่าน ขณะนั้นมีท่านสมภารจวง ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ เด็กชายปูเป็นเด็กที่หัวดีเรียนเก่งสามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว สมภารจวงได้บวชให้ท่านเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 15 ปี ตอนที่ท่านบวชเป็นสามเณรนี้เองบิดาของท่านจึงถวายลูกแก้วคืนให้แก่ท่านเป็นลูกแก้วประจำตัวท่านต่อไป

ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ตลอดเวลาของท่าน ต่อมาท่านสมภารจวงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้นสมัยนั้นเรียกว่ามูลบทบรรพกิจ ปัจบันก็คือเรียนนักธรรมนั่นเอง โดยนำไปฝากเรียนไว้กับสมเด็จพระชินเสน ซึ่งเป็นพระเถระชั้นสูงที่ส่งมาจากกรุงศรีอยุธยา ให้มาครองเป็นเจ้าอาวาสวัดสีคูยังหรือวัดสีหยังในปัจจุบัน ห่างจากวัดดีหลวงไปทางเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร ท่านได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและจบหลักสูตรที่วัดสีคูยังนั้น หลังจากนั้นท่านได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเรียนหนังสือให้สูงขึ้น

โดยมาพำนักอยู่ที่วัดเสมาเมือง ซึ่งเป็นสำนักเรียนและมีสมเด็จพระมหาปิยะทัสสี เป็นเจ้าอาวาส และบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เมื่ออายุครบกาลอุปสมบท ท่านได้ศึกษาวิชาจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ จนมีความรู้และเป็นผู้ทรงอภิญญามาก และได้แสดงปาฏิหาริย์หลายครั้ง ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากสมเด็จพระเอกาทศรถในครั้งสุดท้ายในราชทินนามที่ สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ สุดท้ายเมื่อท่านมีอายุได้ 80 ปี ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดพะโคะ วัดบ้านเกิดของท่าน ต่อมาท่านได้สั่งเสียกับลูกศิษย์ว่าเมื่อท่านมรณภาพให้นำพระศพท่านไปไว้ที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ต่อไปสถานที่ข้างหน้าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้คนมาเที่ยว

มรณภาพ แก้

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2225 ท่านได้มรณภาพลงเมื่ออายุกาลครบ 100 ปี ที่ "เมืองไทรบุรี" ซึ่งเดิมเคยเป็นหัวเมืองทางใต้ของไทย แต่ตกเป็นของอังกฤษตามสนธิสัญญาที่ทำกันเมื่อปี พ.ศ. 2451 พร้อม ๆ กับอีก 3 หัวเมือง รวมเป็น 4 หัวเมือง คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ต่อมาคือหัวเมืองและรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย[3]

อ้างอิง แก้

  1. ประวัติสมเด็จเจ้าพะโคะ เก็บถาวร 2009-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์วัดพระราชประดิษฐาน. เรียกข้อมูลเมื่อ 6-6-52
  2. หลวงปู่ทวด[ลิงก์เสีย]. เรียกข้อมูลเมื่อ 14-02-58
  3. 6 มี.ค.2225 สิ้นหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ตำนานเหยียบน้ำทะเลจืด ข่าวสดออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม พ.ศ. 2562