กระบวนพยุหยาตราชลมารค

(เปลี่ยนทางจาก เรือพระราชพิธี)

กระบวนพยุหยาตราชลมารค หรือ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค[1] เป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำที่เป็นราชประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ โดยมีหลักฐานชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยา และในสมัยรัตนโกสินทร์ จะเคลื่อนขบวนตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก เรือในกระบวนมีการสลักโขนเรือเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยาย มีการจัดกระบวนหลายแบบ ที่รู้จักกันดีก็คือ "กระบวนพยุหยาตราเพชรพวง" ดังปรากฏใน ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ลิลิตพรรณนากระบวนเรือ ประพันธ์โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อ พ.ศ. 2330 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยยึดถือตามแบบแผนเดิมสมัยอยุธยา

ภาพกระบวนเรือ ในช่วงพิธีซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

ประเภทของการเห่เรือ สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทคือ การเห่เรือหลวง (การเห่เรือในงานพระราชพิธี) และการเห่เรือเล่น (การเห่เรือเล่นของชาวบ้านในงานต่าง ๆ) ในปัจจุบันการเห่เรือยังคงอยู่เฉพาะ การเห่เรือหลวง ที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค

ประวัติขบวนพยุหหยาตราทางชลมาค

แก้

สมัยเริ่มแรกของกระบวนเรือ

แก้
 
กระบวนพยุหยาตราชลมารค ในการแห่พระกฐินในอดีต หน้าวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

การเสด็จทางน้ำที่เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราชลมารค นั้นมีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ปรากฏไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสด็จพระราชดำเนินกระบวนพยุหยาตราชลมารคในพระราชพิธีลอยพระประทีป[2][3]: 4  พระร่วงเจ้า (พระมหาธรรมราชาที่ 1) ทรงใช้เรือออกลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสอง[4]: 27  (วันลอยกระทง) และการจัดกระบวนเรือรับเสด็จสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสวามีเป็นเจ้า พระราชนัดดาของพ่อขุนผาเมืองซึ่งเสด็จกลับกรุงสุโขทัยหลังจากทรงบวชเรียน ณ ลังกาในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1[5]

ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตามพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อคราวเสด็จไปตีเมืองเมาะตะมะ เสด็จพระราชดำเนินจากกรุงศรีอยุธยาโดยชลมารค พอได้เวลาฤกษ์ พระโหราราชครูอธิบดีศรีทิชาจารย์ ก็ลั่นกลองฆ้องชัยให้พายเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ อันเป็นเรือทรงพระพุทธปฏิมากรทองนพคุณ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถวายพระนามสมญา “พระพิชัย” นำกระบวนออกไปก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนด้วยโดยทรงประทับในเรือพระที่นั่งกนกรัตนวิมานมหานาวา[3]: 4  เป็นกระบวนแห่พระชัย

ครั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งตัวเกาะกรุงนั้นเป็นเกาะที่ล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำลำคลองชีวิตผูกพันกับสายน้ำ จึงปรากฏการสร้างเรือรบมากมายในกรุงศรีอยุธยา ยามบ้านเมืองสุขสงบชาวกรุงศรีอยุธยาก็หันมาเล่นเพลงเรือ แข่งเรือเป็นเรื่องเอิกเกริก โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม เมื่อจะเสด็จฯแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่าง ๆ หรือเสด็จฯ ไปทอดผ้ากฐินยังวัดวาอาราม ก็มักจะใช้เรือรบโบราณเหล่านั้นจัดเป็นกระบวนเรือยิ่งใหญ่ ดังนั้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีกระบวนเรือเพชรพวง ซึ่งเป็นเรือริ้วกระบวนที่ใหญ่มาก จัดออกเป็น 4 สาย แล้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีก 1 สาย ใช้เรือทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 100 ลำ

ระหว่างการเคลื่อนกระบวนก็มีการเห่เรือพร้อมเครื่องประโคม จนเกิดวรรณกรรมร้อยกรองที่ไพเราะยิ่ง คือ กาพย์เห่เรือ ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบรรยายถึงความงดงามและลักษณะของเรือในกระบวนครั้งนั้น บทเห่เรือนี้ยังเป็นแม่แบบของกาพย์เห่เรือที่ใช้กันในปัจจุบัน

สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช

แก้

มีบันทึกของชาวต่างชาติเกี่ยวกับกระบวนพยุหยาตราชลมารคพบใน จดหมายเหตุสเปน เรื่อง History of the Philippines and Other Kingdom ของบาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา (Marcelo de Ribadeneira) เขียนขึ้นใน ค.ศ. 1596 (พ.ศ. 2139) จากคำบอกเล่าของบาทหลวงนิกายฟรานซิสกันซึ่งเข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2125 ปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ว่า:-

สุดท้ายที่มาถึงในกระบวนพยุหยาตราโดยชลมารค คือ องค์พระมหากษัตริย์ประทับในเรือพระที่นั่งขนาดกว้างใหญ่ที่ดูแต่ไกลเหมือนนกกระยางตัวมหึมาที่แผ่ปีกอันกว้างใหญ่ออกมา เป็นเรือพระที่นั่งปิดทองทั้งองค์ และโดยที่ฝีพายมีเป็นจำนวนมาก อิริยาบถในการพายของพวกเขาจึงดูเหมือนนกตัวใหญ่เหิรลมเหนือท้ายเรือพระที่นั่ง พระเจ้าแผ่นดินประทับเหนือพระราชบัลลังก์ เคียงข้างพระองค์เป็นสาวน้อยผู้เลอโฉมข้างละ 2 คนคอยถวายอยู่งานโบกพัด เพื่อให้พระองค์ทรงสดชื่นจากความร้อนระอุของดวงอาทิตย์ ทันทีที่เรือพระที่นั่งหยุดลง ฝูงชนก็ผลักดันกันไปข้างหนึ่งและหมอบราบลง และยกมือขึ้นประนมให้ลักษณาการศิโรราบจนกระทั่งพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินผ่านไป แล้วเรือพระที่นั่งของพระราชกุมารผู้ทรงพระเยาว์ก็ติดตามมาพรั่งพร้อมด้วยเหล่าขุนนางชั้นสูง[6]

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

แก้

ด้วยเหตุที่สมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ มากมาย ทั้งทรงสร้างเมืองลพบุรีขึ้น จึงมีการเสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค และในบางโอกาสก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนเรือหลวงออกรับคณะราชทูตและแห่พระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส จากกรุงศรีอยุธยา มายังเมืองลพบุรี

ในช่วงปี พ.ศ. 2199-2231 ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่าง ๆ มีการจัดกระบวนพยุหยาตราฯที่เรียกว่า “ขบวนเพชรพวง” เป็นริ้วกระบวนยิ่งใหญ่ 4 สาย พร้อมริ้วเรือพระที่นั่ง ตรงกลางอีก 1 สาย มีเรือทั้งสิ้นไม่ตำกว่า 100 ลำ ซึ่งนับเป็นกระบวนพยุหยาตราฯ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์และนับเป็นต้นแบบสำคัญของกระบวนพยุหยาตราฯ ในสมัยต่อ ๆ มา

การจัดการกระบวนพยุหยาตรลมารคในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่กล่าวมานี้ จัดได้ว่าเป็นริ้วกระบวนใหญ่แสดงความมั่งคั่งของราชสำนักไทยในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับริ้วกระบวนเรือในสมัยต่อมา จะพบว่าค่อย ๆ ตัดทอนลงไปเรื่อย ๆ เพราะเรือชำรุดไปตามกาลเวลาบ้าง ไม่มีผู้รู้จักทำขึ้นใหม่ให้ถูกต้องตามแผนโบราณบ้างจึงเหลืออยู่เท่าที่พอจะรักษาไว้ได้เท่านั้น จนกระทั่งถึงคราวเสียกรุงศรีอยุธยา

บันทึกของนิโคลาส แชแวร์

แก้

ตามบันทึกของ นิโคลาส แชแวร์ ราชทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยนั้น ได้บันทึกไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม ถึงกระบวนเรือไว้ว่า:-

ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่า 200 ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ ๆ ไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายพร้อมกับเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทอง เสียงพายกระทบเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน[7]

บันทึกของบาทหลวงบูเว่

แก้

โยคิม บูเว่ บาทหลวงชาวฝรั่งเศส เขียนบันทึกไว้ว่า:-

ขบวนเรือหลวงมีเรือ ๗ ถึง ๘ ลำ มีฝีพายลำละ ๑๐๐ คน มีทหารประจำเรือรวมทั้งสิ้นประมาณ ๔๐๐ คน ตามมาด้วยข้าราชบริพารอีก ๑,๐๐๐ ถึง ๑,๒๐๐ คน ซึ่งนั่งมาในเรือแกะสลักเป็นลวดลายลงรักปิดทอง บางลำก็เป็นเรือสำหรับพวกปี่พาทย์โดยเฉพาะ ส่วนคนที่อยู่ในเรือก็เห่เรือกันอย่างสุดเสียง ทั้งยังพายเรือด้วยความสง่างามเหมือนกับเป็นของง่าย มันเป็นภาพที่สวยงามอย่างไม่น่าเชื่อ มองไปทางไหนก็เห็นแต่เรือและผู้คนผ่านไปมาในแม่น้ำอย่างไม่ขาดสาย[8]

บันทึกของกวีย์ ตาชาร์ด

แก้
 
ทัศนียภาพกรุงศรีอยุธยา (VEUË DE SIAM) และริ้วกระบวนพยหยาตราชลมารค โดย อ็องรี อาบราฮัม ชาเตอแลง (Henri Abraham Châtelain) นักเขียนแผนที่ชาวฮอลันดา ตีพิมพ์ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม สาธารณรัฐดัตช์ เมื่อ ค.ศ. 1719 รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระจากจดหมายเหตุตาชาร์ด ค.ศ. 1686

ในปี พ.ศ. 2228 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงส่งลาลูแบร์เป็นราชทูตเข้ามายังประเทศไทย พร้อมกับคณะบาทหลวงเยซูอิดซึ่งมีบาทหลวงผู้หนึ่งคือ กวีย์ ตาชาร์ด เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ไว้ในหนังสือเรื่อง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ในตอนหนึ่งได้เล่าถึงขบวนเรือที่ใช้ออกรับเครื่องราชบรรณาการว่า

"มีเรือบังลังก์ขนาดใหญ่ 4 ลำมา แต่ละลำมีฝีพายถึง 80 คน ซึ่งเราไม่เคยเห็นเช่นนั้นมาก่อน 2 ลำแรกนั้นหัวเรือทำเป็นรูปเหมือนม้าปิดทองทั้งลำ เมื่อเห็นมันมาแต่ไกลในลำน้ำนั้นดูคล้ายกับมันมีชีวิตชีวา มีเจ้าหน้าที่กองทหารรักษาพระองค์ 2 นายมาในเรือทั้ง 2 ลำ เพื่อรับเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ครั้นบรรทุกเสร็จแล้วก็ถอยออก ไปลอยลำอยู่กลางแม่น้ำอย่างสงบเงียบ และตลอดเวลาที่ลอยลำอยู่นี้ ไม่มีสุ้มเสียงใดเลยบนฝั่ง และไม่มีเรือลำได้เลยแล่นขึ้นล่องในแม่น้ำ เป็นการแสดงความเคารพต่อเรือบัลลังก์หลวง และเครื่องราชบรรณาการที่บรรทุกอยู่นั้น"

บาทหลวง ตาชาร์ด ยังเขียนถึงขบวนเรือที่แห่พระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการที่เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยา ไปยังเมืองลพบุรีไว้อีกว่า

"ขบวนอันยึดยาวของเรือบังลังก์หลวง ซึ่งเคลื่อนที่ไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อยนี้มีจำนวนถึง 150 ลำผนวกกับเรือลำอื่น ๆ เข้าอีกก็แน่นแม่น้ำ แลไปได้สุดสายตา อันเป็นทัศนียภาพที่งดงามยิ่งนัก เสียงเห่แสดงความยินดีตามธรรมเนียมนิยมของชาวสยาม อันคล้ายจะรุกไล่เข้าประกับข้าศึกนั้น ก้องไปทั้งฟากแม่น้ำ ซึ่งมีประชาชาพลเมืองมาคอยชมขบวนเรือยาตราอันมโหฬารนี้อยู่"

บันทึกของเดอ ลา ลูแบร์

แก้

ปี พ.ศ. 2230 ลา ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เขียนบันทึกเรือยาวพระที่นั่งต้นของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไว้ว่า:-

 
"Balon du Corps du Roy de Siam ou eſtoit la lattre du Roy." กระบวนเรือยาวพระที่นั่งต้นของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2230 โดย ลา ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งกรุงฝรั่งเศส.

« Mais, parce qu’en ce païs-là on va plus par eau que par terre, le Roy de Siam a de fort beaux Balons. J’ay déjà dit que le corps d’un Balon n’eſt que d’un ſeul arbre long quelquefois de 16. à 20. toiles. Deux hommes affis les jambes croiſées côte à côte l’un de l’autre fur une planche miſe en travers, ſuffiſent pour en occuper toute la larguer. L'un pagaye à droite, & l'autre à gauche. Pagayer c’est ramer avec la pagaye, & la pagaye eſt une rame courte, qu’on tient à deux mains, par le milieu, & par le bout. Il ſemble qu’on n’en faffe que balayer l’eau quoy qu’avec force. Elle n’eſt point attachée au bord du balon, & celuy, qui la manie, regarde où il va ; au lieu que celuy qui ramel a le dos tourné à la route. Il y a quelquefois dans un feul balon juſqu’à cent ou fix vingt pagayeurs rangez ainſi deux à deux les jambes croiſees ſur des planchettes: mais les moindres Officiers ont des baIons beaucoup plus courts, ou peu de pagayes, comme 16. ou 20. ſuffiſent. Les pagayeurs, afin de plonger la pagaye de concert, chantent, ou font des cris meſurez; & ils plongent la pagaye en cadence avec un mouvement de bras & d'épaules qui eſt vigoureux , mais facile & de bonne grace. »[9]

(คำแปล): เพราะที่เมืองนี้ ประชาชนไปมาโดยทางน้ำมากกว่าทางบก พระมหากษัตริย์สยามจึงมีเรือยาวพระที่นั่งต้นอย่างงามสง่าไว้มากลำ ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่าตัวเรือยาวนั้นทำด้วยไม้ซุงต้นเดียว บางลำยาวแต่ ๑๖ ถึง ๒๐ วา (32-40 เมตร) คนสองคนนั่งขัดสมาธิ์เคียงขนานหน้ากัน ผันหน้าตามยาวเรือบนไม้กระทงที่ทอดตรึงขวางลำไว้ พอเต็มเนื้อที่เรือด้านกว้างพอดี พาย ๆ หนึ่ง พายทางขวา พายอีกพายหนึ่งพายทางซ้าย ฝีพายก็พายด้วยพาย พายนั้นก็คือแจวสั้น ๆ นั่นเองถือ ๒ มือ มือหนึ่งกลางด้ามพาย อีกมือหนึ่งปลายด้ามพายดูอาการเหมือนฝีพายจะพายได้แต่ชั่วกวาดน้ำไปเต็มแรงเท่สนั้น และพายนั้นก็ไม่ได้ผูกหรือติดกับกราบเรือเหมือนแจวกรรเชียง และคนที่พายก็หันหน้าไปทางหัวเรือแล้วก็พายลงหันหลังมาทางท้าย ในเรือลำหนึ่งบางทีก็มีพลพายตั้งร้อยคน หรือถึง ๒๐๐ คน ที่เรียงแถมละคู่ ๆ ตามกราบยาวตลอดเรือนั่งขัดสมาธิบนแผ่นกระดานกระทงเรือ แต่ขุนนางผู้น้อยลงมาก็มีเรือยาวสั้นลงมา ฝีพายก็น้อยลงเพียง ๑๖ หรือ ๒๐ คนก็พอ ฝีพายพายเรือพร้อม ๆ กัน ร้องเพลงหรือขานยาวอย่างไรอย่างหนึ่ง เป็นเสียงเหะหะอึกทึกและพายจ้วงแขนได้จังหวะกันน่าดูเหน็ดเหนื่อยออกเรี่ยวแรงเข้มแข็งมาก แต่ก็พายได้ง่าย ๆ และสง่างามมาก.[10]

— ซีมง เดอ ลา ลูแบร์, (พระนิพนธ์แปลโดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์), DU ROYAUME DE SIAM: Envoyé extraordinaire du ROY auprès du Roy de Siam en 1687 & 1688.

สมัยกรุงธนบุรี

แก้

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างเรือขึ้นใหม่ทั้งชุด แต่ส่วนใหญ่เป็นเรือที่ใช้ในการรบทั้งสิ้น เพราะในสมัยนั้นมีแต่การศึกสงคราม โดยมีการแห่เรือสำคัญ คือ ในการพระราชพิธีสมโภชรับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรเมื่อ พ.ศ. 2324[11] ซึ่งอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์และมาแห่พักไว้ที่กรุงเก่าคือพระนครศรีอยุธยา มีข้อความในหมายรับสั่งพรรณนากระบวนเรือที่แห่มาจากต้นทางว่ารวมเรือแห่ทั้งปวง 115 ลำ และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมทบที่พระตำหนักบางธรณีกรุงเก่า ความว่ามีเรือแห่มารวมกันเป็นจำนวน 246 ลำ

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

แก้

หลักฐานที่เป็นเอกสารบันทึกลายลักษณ์อักษรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเกี่ยวกับกระบวนพยุหยาตราชลมารคพบในหนังสือสมุดไทยเรื่อง หมู่พระราชพิธี เลขที่ ๒๖๓ คัดจากฉบับของเก่า พ.ศ. 2219 แต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คัดเมื่อ พ.ศ. 2336 ว่า:-

๏ วัน ๑๓ ฯ  ค่ำ จุลศักราช ๑๐๓๘ ปีมะโรงอัษฏศก เสด็จพระราชดำเนินอยู่ ณ พระตำหนักธารเกษม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าหมื่นศรีศวรักษเขียนอย่างกระบวนตั้งม้านี้ แลให้ถ่ายลงสมุดนี้ให้ทันในวันเถลิงศก [...] ๏ กระบวนเสด็จพระราชดำเนินพยู่หบาตรา ช้าง ม้า เรือ ข้าพระพุทธเจ้า หมื่นพิมลอักษร หมื่นสุวรรณอักษร หมื่นราชไมตรี หมื่นรัตนไมตรี นายชำนาญอักษร ชุบเสร็จแต่ ณ วัน ค่ำ จุลศักราช ๑๑๕๕ ปีฉลู เบญจศก ข้าพระพุทธิเจ้า พระอาลักษณ์ ขุนมหาสิทธิ นายชำนิโวหาร ทาน[3]: 4–5 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ได้ทรงสร้างเรือขึ้นมาใหม่อีก 67 ลำ ซึ่งมีทั้งเรือพระที่นั่ง เรือกระบวนปิดทอง เรือพิฆาต และเรือแซง ซึ่งเป็นเรือที่สำคัญ ๆ เป็นที่รู้จักมาจนเท่าทุกวันนี้ ในรัชกาลต่อ ๆ มาก็ยังมีการสร้างเรือเพิ่มขึ้นมาอีก

จากนั้นก็มิได้มีการสร้างเรืออีกจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้มีการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก โดยเรือที่สำคัญ ๆ และตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 4 และมาสร้างขึ้นแทนลำเดิมอีกในรัชกาลที่ 6, เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 และเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 6

ในรัชกาลที่ 4

แก้

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ดังนี้

  1. กระบวนพยุหยาตราชลมารค ในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานส่วนพระราชกุศลแด่พระสงฆ์ 37 รูป และพระราชพิธีสังเวยบวงสรวงพระเจ้าแผ่นดิน 37 พระองค์ นับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ เมืองกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) เมื่อวันศุกร์เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลาบ่าย ตรงกับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2398[12]: 68–70 
  2. กระบวนพยุหยาตราชลมารค ในการพระราชทานพระกฐินเมืองปทุมธานี เมืองกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) เมื่อวันอาทิตย์เดือน ๑๒ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีเถาะสัปตศก ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2398[12]: 98 

ในรัชกาลที่ 5

แก้
 
ภาพถ่าย "แพลงสรง พ.ศ. ๒๔๒๙" ในพระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ถูกจัดแสดงใน The Siamese Exhibit ในงานนิทรรศการนานาชาติ The World's Columbian Exposition 1893 เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 5 พฤษภาคม - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2436.[13]

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ดังนี้

  1. กระบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนอ้ายปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕ เวลาเช้า ๓ โมง ๕๔ นาที ตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416[14]
  2. กระบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในการพระราชพิธีลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 (พิธีใหญ่) ณ วันพฤหัสบดี แรม ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๒๔๘ ตรงกับวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2429[15] (พ.ศ. 2430 นับแบบปีปัจจุบัน)
  3. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2450[4]: 33 

ในรัชกาลที่ 6

แก้
 
ภาพแห่เสด็จเลียบพระนครทางชลมารคในรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2454

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ดังนี้

  1. กระบวนพยุหยาตราชลมารค ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ (พ.ศ. 2454)[16]

ในรัชกาลที่ 7

แก้

สำหรับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคทั้งสิ้น 2 ครั้ง ดังนี้

  1. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2469 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2469
  2. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475

ในช่วงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา อู่เรือพระที่นั่งที่ปากคลองบางกอกน้อยถูกลูกระเบิดถล่มจนเรือเสียหายไปหลายลำ จากนั้นจึงมีการซ่อมแซมเรือและโอนเรือพระราชพิธี 36 ลำ ให้กรมศิลปากรดูแลเก็บรักษาไว้ที่อู่เรือพระราชพิธีปากคลองบางกอกน้อย และส่วนที่เหลืออีกราว 32 ลำ เป็นพวกเรือตำรวจ เรือดั้ง เรือแซง ซึ่งกองทัพเรือเก็บรักษาไว้

ในรัชกาลที่ 9

แก้
 
ภาพขบวนเรือพระราชพิธี ในงานประชุมเอเปค 2003

สำหรับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคทั้งสิ้น 17 ครั้ง ดังนี้

  1. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) ในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2500
  2. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502
  3. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504
  4. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2505
  5. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2507
  6. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2508
  7. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2510
  8. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวงสมเด็จพระบูรพามหากษัตริย์เจ้า ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2525
  9. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) แห่พระพุทธสิหิงค์ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2525
  10. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ประจำกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2525
  11. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2530
  12. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
  13. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542
  14. ขบวนเรือพระราชพิธี ในการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค 2003 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2546 (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จโดยกระบวนเรือ)
  15. ขบวนเรือพระราชพิธี ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2549 (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จโดยกระบวนเรือ)
  16. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
  17. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 (เลื่อนการจัดกระบวนจากเดิมในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เนื่องจากกระแสน้ำที่เพิ่มระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาและไหลแรง)

สำหรับกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่มีในปัจจุบันนั้น ส่วนมากจะเป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ส่วนการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ๒ ครั้ง ได้แก่ การจัดขบวนเรือพระราชพิธี เนื่องในการประชุมเอเปก ๒๐๐๓ และ และเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี และ ผู้แทนพระประมุขต่างประเทศ ร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี (๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙) โดยการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ๒ ครั้งนี้

เป็นเพียงการสาธิตแห่ขบวนเรือซื่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จในขบวนด้วย

ในรัชกาลปัจจุบัน

แก้

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค 2 ครั้ง ดังนี้

  1. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) จากท่าวาสุกรี พระราชวังดุสิต ไปยังท่าราชวรดิฐ พระบรมมหาราชวัง ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2562 (เลื่อนการจัดกระบวนจากเดิมในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เนื่องจากกระแสน้ำที่เพิ่มระดับในแม่น้ำเจ้าพระยา‬)
  2. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2567[17]

เส้นทางเดินเรือ

แก้

จุดเริ่มต้นของกระบวนเรือนั้นคือบริเวณท่าวาสุกรี โดยจะมีการจอดเรือตั้งแต่หน้าสะพานกรุงธน ไปถึงหลังสะพานพระราม 8 เรือจะเริ่มออกจากสะพานพระราม 8 ผ่านป้อมพระสุเมรุ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลศิริราช กรมอู่ทหารเรือ ราชนาวิกสภา พระบรมมหาราชวัง หอประชุมกองทัพเรือ วัดอรุณราชวราราม และไปจอดเรือที่หน้าวัดกัลยาณมิตร

เรือพระราชพิธีในปัจจุบัน

แก้
ภาพแสดงแผนผังกระบวนพยุหยาตราชลมารคในปัจจุบัน