ศาสตราจารย์พิเศษขจร สุขพานิช (9 มิถุนายน พ.ศ. 2456 - 4 มกราคม พ.ศ. 2521) เป็นนักประวัติศาสตร์ไทยที่มีบทบาทสำคัญในช่วงทศวรรษ 2500-2510 เป็นผู้เสนอข้อมูลและการตีความประวัติศาสตร์ไทยใหม่ ๆ เช่น บทความเรื่อง จดหมายเหตุราชวงศ์หงวน-การพิจารณาใหม่ (พ.ศ. 2514) ของท่านที่ปฏิเสธความเชื่อตามพระมติของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่เสนอในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่าพ่อขุนรามคำแหงเคยเสด็จเยือนเมืองจีน ส่วนผลงานสำคัญและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือ ฐานันดรไพร่ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2505)

ขจร สุขพานิช
เกิด9 มิถุนายน พ.ศ. 2456
จังหวัดสระบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต4 มกราคม พ.ศ. 2521 (64 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สัญชาติไทย
อาชีพอาจารย์ นักวิจัย นักประวัติศาสตร์
คู่สมรสชุลี สุขพานิช
บุตร4 คน

ประวัติ แก้

ศาสตราจารย์ขจรเกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2456 ที่ตำบลหนองแค จังหวัดสระบุรี เดิมชื่อ เองจ๋วน เป็นบุตรของขุนรักษาสมบัติ (ชื่อเดิม เชงโห) มารดาชื่อซิว มีพี่น้องรวม 7 คน เข้ารับการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญ แล้วได้เป็นมาสเตอร์ (Master) สอนหนังสือที่โรงเรียนดังกล่าวก่อนจบการศึกษา ต่อมาได้ไปสอนที่โรงเรียนมงฟอร์ต จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้ลาออก เข้าทำงานที่กรุงเทพฯ และศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรี แต่ยังไม่ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท เนื่องจากเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นเสียก่อน ซึ่งระหว่างที่เรียนอยู่นั้นศาสตราจารย์ขจรได้รับเลือกเป็นสาราณียกรของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เป็นบรรณาธิการของหนังสือ มหาวิทยาลัย ด้วย และศาสตราจารย์ขจรยังเป็นศิษย์โปรดของพระยาอนุมานราชธนด้วย ถึงกับท่านตั้งความหวังว่าจะเป็นตัวแทนทางวิชาประวัติศาสตร์สืบแทนตัวเองต่อไป

ต่อมา ศาสตราจารย์ขจรได้รับราชการที่กรมพาณิชย์ (กระทรวงพาณิชย์ในภายหลัง) ตามคำชวนของหลวงถวิลเศรษฐพณิชยการระหว่าง พ.ศ. 2484-2487

ต่อมา จึงลาออกมาประกอบอาชีพส่วนตัว แล้วเข้าทำงานในสำนักงานข้าวของสถานทูตอเมริกันระหว่าง (พ.ศ. 2488-2492) จากนั้น ลาออกมาตั้งบริษัทค้าข้าวของตนเองจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จึงได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมพ่อค้าไทยหลายสมัย และตัดสินใจเลิกกิจการในช่วง (พ.ศ. 2497-2498)

ในช่วงครึ่งหลังของชีวิตได้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่างจริงจัง เดินทางไปหาความรู้เพิ่มเติมที่วิทยาลัยตะวันออกและแอฟริกาศึกษา (School of Oriental and African Studies) มหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) โดยแสวงหาหลักฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย เขียนบทความ ทำการสอน บรรยายพิเศษ และให้คำปรึกษาแก่นิสิตนักศึกษาทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

ศาสตราจารย์ขจรได้รับปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2514 และวิทยาลัยวิชาการศึกษา (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในปัจจุบัน) ได้เสนอแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษในคณะมนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2516

ครอบครัว แก้

ศาสตราจารย์ขจร สมรสกับนางชุลี มีบุตรชาย-หญิงรวม 4 คน ดังนี้

  • อภินันท์ สุขพานิช (ประกอบอาชีพอิสระส่วนตัว)
  • รศ.ดร.ธัญยธรณ์ ขันทปราบ (ชื่อ-สกุลเดิม กนลา สุขพานิช) (ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาภาวะผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต)
  • อ.ธาวิต สุขพานิช (จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเท็กซัส (North Texas University) ในสหรัฐอเมริกา เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว)
  • สิทธิกร สุขพานิช (ประกอบอาชีพอิสระส่วนตัว)

ถึงแก่กรรม แก้

 
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ ทรงเปิดห้องขจร สุขพานิช ณ อาคารหอสมุด (หลังเก่า) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ 28 ตุลาคม 2521

ศาสตราจารย์ขจรถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2521 อย่างกะทันหัน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 29 เมษายน ปีเดียวกัน ซึ่งก่อนถึงแก่กรรมท่านได้ทำพินัยกรรมมอบหนังสือส่วนตัวที่มีจำนวนและคุณค่ามหาศาลแก่หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงมีการตั้งชื่อห้องหนังสือดังกล่าวเพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านว่าห้องขจร สุขพานิช ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ชั้น 6 อาคารหอสมุดกลาง

ผลงานทางวิชาการ แก้

  • การต่างประเทศในแผ่นดินพระเอกาทศรฐ (พ.ศ. 2504)
  • ฐานันดรไพร่ (พ.ศ. 2505)
  • ออกญาวิไชเยนทร์ และการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. 2506)
  • ก้าวแรกของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย (พ.ศ. 2508)
  • ข้อมูลประวัติศาสตร์ : สมัยอยุธยา (พ.ศ. 2509-2520)[1]
  • กรุงยโสธร-นครธมในประวัติศาสตร์ไทย : คัดจากแถลงผลงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ปีที่ 1 เล่ม 2 พฤษภาคม 2510 (พ.ศ. 2510)
  • รวมการบรรยายเรื่องตัวอักษรไทย (พ.ศ. 2512)
  • ไพร่ฟ้าข้าไทย และ จดหมายเหตุราชวงศ์หงวน-การพิจารณาใหม่ (พ.ศ. 2514)
  • ข้อมูลประวัติศาสตร์ : สมัยบางกอก (พ.ศ. 2518)
  • ข้อมูลประวัติศาสตร์ก่อนราชวงศ์พระร่วง ; ใครเป็นผู้แต่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2520)
  • คำบรรยายประวัติศาสตร์ไทย พ.ศ. 1600-2130 (พ.ศ. 2521)
  • ปัญหาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย (พ.ศ. 2525)
  • ถิ่นกำเนิดและแนวอพยพของเผ่าไทย (ม.ป.ป.)

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ปรึกษาและกรรมการวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทสาขาวิชาประวัติศาสตร์ของวิทยาลัยวิชาการศึกษา (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในปัจจุบัน) เช่น เรื่อง

  • นโยบายการจัดการศึกษาของไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2512) ของ วุฒิชัย มูลศิลป์,
  • ความสัมพันธ์ระหว่างไทยเขมรและญวนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2514) ของ ถนอม อานามวัฒน์,
  • พระบรมราโชบายเกี่ยวกับปัญหาชาวจีนในพระราชอาณาเขตรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2516) ของ พวงร้อย กล่อมเอี้ยง,
  • ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ ร.ศ. 112 ถึง ร.ศ. 126 (ค.ศ. 1893-1907) (พ.ศ. 2518) ของ สุวิทย์ ธีรศาศวัต
  • ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสสมัยอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. 2199-2246) ของ พลับพลึง คงชนะ เป็นต้น

ซึ่งบุคคลเหล่านี้ต่อมาก็ได้มีบทบาทในวงวิชาการประวัติศาสตร์ไทยต่อมา ซึ่งส่วนหนึ่งก็รับราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒด้วย

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. ขจร สุขพานิช และวุฒิชัย มูลศิลป์ (บก.). ข้อมูลประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา : เอกสารทางวิชาการของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2523. 238 หน้า.
บรรณานุกรม