ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค[1] บางแห่งเรียก กระบวนพยุหยาตราสถลมารค หรือ กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค[2] เป็นขบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยไปในการต่าง ๆ ทางบก ทั้งเป็นการส่วนพระองค์และที่เป็นการพระราชพิธี ซึ่งได้ประกอบการมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย[3] และสืบทอดต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ และได้มีมาจนปัจจุบัน แต่เดิมขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบการพระราชพิธีต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญ จากหัวเมืองเข้ามาประดิษฐานในเมืองหลวง ตลอดจนการต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ และการพระบรมศพ เป็นต้น เป็นการจัดขบวนมีเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศเป็นแถวงดงาม[4]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเลียบพระนคร พ.ศ. 2454
ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประวัติขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

แก้

สมัยกรุงศรีอยุธยา

แก้

ขบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารค เป็นขบวนพระราชพิธีสำคัญ เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ขบวนดังกล่าวจัดขึ้นทุกปี ในพระราชพิธีสิบสองเดือน โดยพระมหากษัตริย์จะเสด็จสถลมารค เพื่อถวายผ้าพระกฐินแก่พระอารามหลวง ขบวนพยุหยาตรา พระกฐินสถลมารคที่ยิ่งใหญ่ถูกจัดขึ้น ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

แก้

ในขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคนี้ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และเสนาบดีที่ตามเสด็จในขบวน ล้วนทรงฉลองพระองค์และแต่งกายอย่างงดงามพระมหากษัตริย์ทรงเครื่องสนับเพลาเชิงงอน พระภูษาเขียนทองฉลองพระองค์ตาดจีบ คาดเจียระบาด สายรัดพระองค์เพชรทรงพระสังวาล พระธำมรงค์ ทรงพระมาลาเพชร

ในรัชกาลที่ 2

แก้

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค[5]

ในรัชกาลที่ 3

แก้

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค[6]

ในรัชกาลที่ 4

แก้

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเมื่อวันอังคาร แรม 5 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน ตรีศก จ.ศ. 1213 ตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 เมื่อถึงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์[7]

ในรัชกาลที่ 5

แก้

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเมื่อวันพุธ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง สัมฤทธิศก จ.ศ. 1230 ตรงกับวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 โดยประทักษิณรอบพระบรมมหาราชวัง จนถึงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร[8]

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนอ้าย ปีระกา เบญจศก จ.ศ. 1235 ตรงกับวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 ไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร จากนั้นประทักษิณรอบพระบรมมหาราชวัง[9]

ในรัชกาลที่ 6

แก้

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน ตรีศก จ.ศ. 1273 ตรงกับวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2454 จากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร[10]

ในรัชกาลที่ 7

แก้

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเมื่อวันจันทร์ แรม 3 ค่ำ เดือน 4 ปีฉลู สัปตศก จ.ศ. 1287 ตรงกับวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2469 จากพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ ไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร[11]

ต่อมาในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเมื่อวันพุธ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก ตรีศก จ.ศ. 1293 ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 ไปทรงเปิดพระปฐมบรมราชานุสรณ์[12]

ในรัชกาลที่ 9

แก้

เมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ มีแต่เพียงการเสด็จฯ โดยขบวนราบใหญ่จากพระมหามณเทียรไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดารามเท่านั้น จนลุมาถึงการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบพระนักษัตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเมื่อวันเสาร์ แรม 6 ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ เบญจศก จ.ศ. 1325 ตรงกับวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2506 จากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ไปทรงนมัสการพระพุทธรูปสำคัญ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[13] นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดริ้วขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคผ่านทางสถานีโทรทัศน์ด้วย โดยถ่ายทอดสดโดยสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 และสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7

ในรัชกาลปัจจุบัน

แก้

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน เอกศก จ.ศ. 1381 ตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 จากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี โดยเสด็จในขบวน ในฐานะรองผู้บัญชาการ และนายทหารพิเศษประจำหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ตามลำดับ[14] นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดสดริ้วขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคผ่านทางสถานีโทรทัศน์ด้วย โดยทุกสถานีเชื่อมสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย[15][16]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "หมายกำหนดการ ที่ 10/2562 หมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (13 ข): 22. 2562-05-04.
  2. "ทาง" ในที่นี้เป็นคำบุรพบท แปลว่า โดย หรือ ด้วย ดังนั้น ทางสถลมารค จึงมีความหมายว่า ด้วยวิถีทางบก จาก ขบวนพยุหยาตรา ราชบัณฑิตยสถาน
  3. ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค พระราชพิธีโบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย
  4. ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค โอกาสเข้าเฝ้าชมพระบารมี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562
  5. ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
  6. ๒. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
  7. ๖. เสด็จเลียบพระนครทางสถลมารค
  8. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. (2516). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลที่ ๕ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ – ปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี. หน้า 16 เชิงอรรถ (๒).
  9. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. (2516). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลที่ ๕ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ – ปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี. หน้า 145 เชิงอรรถ (๒).
  10. นเรศรวรฤทธิ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2466). "เสด็จเลียบพระนครทางชลมารค," จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว . ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หอพระสมุดสำหรับพระนครรวบรวมพิมพ์พระราชทานในงารเฉลิมพระชนม์พรรษา ปีกุญ พ.ศ. ๒๔๖๖. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. หน้า 139.
  11. พระราชพิธี บรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร ปีฉลูสัปตศก พุทธศักราช ๒๔๖๘
  12. การพระราชพิธี พระราชพิธีเฉลิมกรุงเทพมหานคร อันประดิษฐานมาครบ ๑๕๐ ปี เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕
  13. หมายกำหนดการ ที่ ๒๐/๒๕๐๖ พระราชพิธีฉลองพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาล และเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖
  14. HELLO! Thailand (6 พฤษภาคม 2562). "สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี – เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ สองหญิงกล้าแห่งรัชกาลที่ 10". th.hellomagazine.com. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. ผู้จัดการออนไลน์ (2 พฤษภาคม 2562). "ไฮไลต์ เปิดจุดเฝ้าฯรับเสด็จ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.๑๐". mgronline.com. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. เส้นทาง ‘ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค’ สู่วัดบวรนิเวศฯ (คลิป)