เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นหนึ่งในเรือพระที่นั่ง และพระราชพิธี ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นเรือที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ในปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ปากคลองบางกอกน้อย
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในช่วงซ้อมพระราชพิธีขบวนพยุหยาตราทางชลมารค วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562
| |
ประวัติ | |
---|---|
ประเทศไทย | |
ชื่อ |
|
ตั้งชื่อตาม | เรือศรีสุพรรณหงส์ |
เดินเรือแรก | 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 |
เกียรติยศ | เหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลก พ.ศ. 2535 |
สัญลักษณ์ | |
ลักษณะเฉพาะ | |
ประเภท: | เรือพระที่นั่งกิ่ง |
ขนาด (ระวางขับน้ำ): | 15.1 ตัน |
ความยาว: | 44.9 เมตร |
ความกว้าง: | 3.14 เมตร |
กินน้ำลึก: | 0.41 เมตร |
ความลึก: | 0.9 เมตร |
ลูกเรือ: | 57 |
หมายเหตุ: |
ฝีพาย 50 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธง 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนเห่เรือ 1 คน |
ประวัติ
แก้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์มีชื่อกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาต้นรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราวปี พ.ศ. 2091[1] ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า "สุวรรณหงส์" ดังทราบได้จากบทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ฯที่ว่า
สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย
งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์
ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม
ในหนังสือตำนานเรือรบไทยพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวไว้ว่า เรือศรีสุพรรณหงส์สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตามจดหมายเหตุเมื่อปี พ.ศ. 2370 มีหมายรับสั่งให้จัด "เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์" เป็นเรือทรงพระบรมธาตุที่ได้มาจากเวียงจันทน์ ในจดหมายเหตุในรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 เรียกชื่อเรือนี้ว่า "เรือศรีสุพรรณหงส์" เรือศรีสุพรรณหงส์ได้ชำรุดทรุดโทรมเรื่อยมา และได้รับการซ่อมแซมมาหลายครั้ง
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน เป็นเรือพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ต่อขึ้นใหม่เพราะเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ลำเดิมผุพังเกินที่จะซ่อมได้ แต่มาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนชื่อเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีพลตรี พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่าง ประกอบพิธีลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ 2454
ลักษณะ
แก้โครงสร้างของเรือ
แก้นาวาสถาปนิกของเรือสุพรรณหงส์คือ พลเรือตรีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง มักใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โขนเรือเป็นรูปหงส์เหมราช ลงรักปิดทองประดับกระจก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว 44.9 เมตร กว้าง 3.14 เมตร ลึก 0.9 เมตร กินน้ำลึก 0.41 เมตร กำลัง 3.5 เมตร (พายครั้งหนึ่งแล่นไปได้ไกล 3.5 เมตร) หนัก 15.1 ตัน พายทอง[1]
เครื่องประกอบ
แก้- พู่ห้อย ที่หัวเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ทำด้วยขนจามรีซึ่งนำมาจากประเทศเนปาล มีลักษณะขนสีขาว นุ่มละเอียด นำมาประกอบทำเป็นชั้น ๆ เป็นทรงพุ่มแล้วจึงติดชนวนโดยรอบและตกแต่งให้สวยงาม
- บัลลังก์กัญญา เรือพระที่นั่งจะทอดบัลลังก์กัญญาเป็นที่ประทับกลางลำตกแต่งด้วยม่าน[1]
ลูกเรือ
แก้เรือสุพรรณหงส์ใช้ลูกเรือทั้งสิ้น 57 คนเป็นฝีพาย 50 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธง 1 คน พลสัญญาณ 1 คน และคนเห่เรือ 1 คน
- ฝีพายจะสวมเสื้อสักหลาดสีแดงติดลูกไม้ใบข้าว กางเกงผ้าเสิร์จสีดำ คาดผ้ารัดประคดโหมดเทศดาบฝักไม้ ด้ามไม้กลึง สายสะพายดาบสักหลาดสีแดงติดแถบลูกไม้ สวมหมวกทรงประพาสสักหลาดแดงติดลูกไม้ใบข้าว สวมถุงเท้ายาวสีขาว รองเท้าหนังสีดำ[1]
- นายเรือสวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดเกี้ยว เสื้ออัตลัดสีฟ้า รัดประคด [2]
- คนธงท้ายเรือแต่งกายด้วยหมวกทรงประพาส โหมดเทศยอดจุก เสื้ออัตลัดสีแดง ผ้าเกี้ยวลาย[2]
- นายท้ายเรือสวมหมวกทรงประพาส โหมดเทศยอดเกี้ยว เสื้ออัตลัดสีเขียว รัดประคดโหมดเทศ ผ้าเกี้ยวลาย[2]
รางวัล
แก้ด้วยความสำคัญของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ จึงทำให้องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร ให้ความสนใจส่งผู้แทนมาพิจารณามอบรางวัลเรือโลกแก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2535 คณะกรรมการองค์การ World Ship Trust ประกอบด้วย อีเวนเซาท์บี-เทลยัวร์ ประธานองค์การเรือโลก ไมเคล ไทยแนน นักกฎหมายประจำองค์การฯ และเจมส์ ฟอร์ไซธ์ ได้เดินทางมายังประเทศไทย เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัลเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลก ประจำปี พ.ศ. 2535 (The World Ship Trust Maritime Heritage Award 'Suphannahong Royal Barge') จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าวแก่อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งเป็นกรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาเรือพระที่นั่ง
บทเห่เรือ
แก้บทเห่เรือของ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในกาพย์เห่เรือฉบับต่าง ๆ เป็นดังนี้
รัชกาลที่ 9
แก้- ๏ สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
- เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม
- ๏ สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
- อวดโฉมโสมโสภิน ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม
- ๏ สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
- นารายณ์ทรงสุบรรณบิน ลินลาศฟ้าอ่าอวดองค์พระ
- พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 (แต่ต้องเลี่อนเนี่องจากน้ำท่วม จึงย้ายมาปี 2555)
- ๏ สุวรรณหงส์ลงลอยล่อง เพียงหงส์ทองล่องลอยนภา
- พู่ห้อยร้อยรสนา งามหยาดฟ้ามาแดนชล
- พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี พุทธศักราช 2559
- ๏ สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
- เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม
รัชกาลที่ 10
แก้- ๏ เรือเอยเรือพระที่นั่ง งามสะพรั่งเพียงหยาดสวรรค์
- พิศองค์หงส์สุวรรณ เพียงผันผยองล่องลอยโพยม
- ๏ สุพรรณหงส์ลงลอยล่อง งามผุดผ่องล่องลอยลำ
- นาคราชผาดโผนนำ ภุชงค์ล้ำเผ่นโผนทะยาน
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ทีมงานสารสนเทศ กองวิทยุกระจายเสียง กองทัพเรือ
- ↑ 2.0 2.1 2.2 การแต่งกายของผู้ประจำเรือ ขบวนเรือพระราชพิธี คณะกรรมการเผยแพร่ข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ และกองสารสนเทศ กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ประวัติเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ จากรู้ไปโม้ด