ฟุตบอลในประเทศไทย
ฟุตบอลถือเป็นกีฬาซึ่งเป็นที่นิยมสูงสุดในประเทศไทย มีสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลฟุตบอลทีมชาติไทย ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับอาเซียน และรายการแข่งขันแบบอาชีพ ไทยพรีเมียร์ลีก โดยในอดีตเคยจัดการแข่งขันระดับโลกหลายครั้ง เช่นเอเชียนคัพ 2 ครั้ง ฟุตบอลอายุไม่เกิน 19 ปีชิงแชมป์เอเชีย
ฟุตบอลในประเทศไทย | |
---|---|
ฟุตบอลทีมชาติไทยขณะแข่งในราชมังคลากีฬาสถาน | |
ประเทศ | ไทย |
องค์กรบริหารดูแล | สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ |
ทีมชาติ | ไทย |
แข่งขันครั้งแรก | พ.ศ. 1 |
การแข่งขันระดับชาติ | |
การแข่งขันของสโมสร | |
การแข่งขันระดับนานาชาติ | |
ประวัติ
แก้เมื่อปี พ.ศ. 2443 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งตอนนั้นมียศเป็นหลวงไพศาลศิลปศาสตร์ เป็นผู้ริเริ่มร่างกติกากีฬาฟุตบอลในสยามเป็นครั้งแรก จนกระทั่งเกิดความนิยมแผ่ขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศ การแข่งขันฟุตบอลนัดแรกที่ถูกบันทึกในประเทศไทย โดยใช้กติกาของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ เกิดขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2443 ระหว่างทีมชาวบริเตนในบางกอก กับทีมกรมศึกษาธิการ การแข่งขันจบลงด้วยผลเสมอ 2-2[1]
ฟุตบอลในประเทศสยามเริ่มเป็นที่นิยมกว้างขวางมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2443 จึงมีการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนชิงโล่ห์กรมศึกษาธิการ ใช้กติกาแบบแพ้คัดออก โดยมี 9 ทีมเข้าร่วมในการแข่งขันนั้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสโมสรคณะฟุตบอลสยาม ขึ้นโดยมีพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงลงแข่งขันเป็นผู้เล่นเอง และเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 มีการจัดแข่งขันในระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างทีมชาติสยาม (ปัจจุบันคือ ฟุตบอลทีมชาติไทย) กับทีมราชกรีฑาสโมสร ที่สนามราชกรีฑาสโมสร โดยมีดักลาส โรเบิร์ตสัน เป็นกรรมการผู้ตัดสิน[2]
จากนั้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง สมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยาม ขึ้นโดยทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่เริ่มแรก พร้อมทั้งตราข้อบังคับสมาคมฯ และแต่งตั้งสภากรรมการบริหารชุดแรก ประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 7 ท่าน โดยมีพระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ; ต่อมาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น เจ้าพระยารามราฆพ) เป็นนายกสภาฯ และพระราชดรุณรักษ์ (เสริญ ปันยารชุน; ต่อมาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาปรีชานุสาสน์) เป็นเลขาธิการ[2]
ต่อมาราวปลายปีเดียวกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มการแข่งขัน "ฟุตบอลถ้วยทองของหลวง" ขึ้น มี 12 ทีมเข้าร่วมในขณะนั้น ซึ่งต่อมาการแข่งขันนี้จะรู้จักกันในชื่อฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. และแยกกับฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข. ทั้งนี้สมาคมฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 การแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาตินัดแรกของทีมชาติไทย เป็นการพบกับทีมชาติสหภาพอินโดจีนของฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2473 ช่วงเวลาเดียวกับการเสด็จประพาสสหภาพอินโดจีนของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นชัยชนะอย่างเด็ดขาดของทีมชาติไทย ด้วยผลการแข่งขัน 4-0[3]
สืบเนื่องจากที่รัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ประกาศรัฐนิยมเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยเมื่อปี พ.ศ. 2482 จึงเปลี่ยนชื่อสมาคมเป็น สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเปลี่ยนชื่อฟุตบอลทีมชาติเป็น ฟุตบอลทีมชาติไทย มีการแข่งขันฟีฟ่ารับรองนัดแรกในปี พ.ศ. 2491 ที่กรุงเทพมหานคร ทีมชาติไทยพ่ายทีมชาติสาธารณรัฐจีนไป 1-6[4] โดยสมาคมฯ ส่งฟุตบอลทีมชาติไทยลงแข่งขันระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 16 ที่นครเมลเบิร์นของออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2499[2]
จากนั้นสมาคมฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) เมื่อปี พ.ศ. 2500[2] และเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟเอฟ) เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2527[5] ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 สมาคมฯ จัดระบบการแข่งขันฟุตบอลเสียใหม่เป็นระดับชั้น (Division) โดยตั้งวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นเลิศ ตามรูปแบบของสมาคมฟุตบอลอังกฤษในขณะนั้น คือจัดเป็นฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ประเภท ก, ข, ค และ ง ตลอดจนไทยเอฟเอคัพ (เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513) รวมถึงฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ (เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2511) และควีนสคัพ (เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจัดการแข่งขันในระดับอื่นเช่น ฟุตบอลนักเรียน, ฟุตบอลอาชีวศึกษา, ฟุตบอลเยาวชนและอนุชน, ฟุตบอลเตรียมอุดมศึกษา, ฟุตบอลอุดมศึกษา รวมทั้งกำกับดูแลในการส่งทีมฟุตบอลต่างๆ เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันระหว่างประเทศอีกด้วย[2]
สำหรับสโมสรฟุตบอลของไทย ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคือสโมสรฟุตบอลธนาคารกสิกรไทย จากผลงานชนะเลิศรายการเอเอฟซีแชมเปียนส์ลีกในระดับเอเชีย 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2537 และ 2538 โดยมีสโมสรฟุตบอลบีอีซี เทโรศาสน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งรองชนะเลิศ ของรายการเดียวกันเมื่อปี พ.ศ. 2546
ฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย
แก้ในอดีต ประเทศไทยเคยจัดแข่งขันฟุตบอลระบบลีกมาก่อน ว่าไม่ได้รับความนิยมจึงต้องยกเลิกไป จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2539 สมาคมฟุตบอลฯ ดำเนินการจัดแข่งขัน ฟุตบอลอาชีพในระบบลีกขึ้น โดยมีชื่อที่เปลี่ยนไปหลายครั้งคือ ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก (Thailand Soccer League), ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก (Thailand Premier League), ไทยลีก (Thai League) และ ไทยพรีเมียร์ลีก (Thai Premier League) แต่ในระยะแรกมีปัญหาที่สำคัญคือ สโมสรฟุตบอลในลีกนี้ และการแข่งขันส่วนมากอยู่ในกรุงเทพมหานคร เป็นผลให้ชาวไทยในจังหวัดอื่นทั่วประเทศ ไม่มีโอกาสรับชมการแข่งขัน
เมื่อปี พ.ศ. 2542 การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จึงร่วมกับสมาคมฟุตบอลฯ เข้าแก้ไขปัญหานี้ โดยจัดแข่งขันฟุตบอลอาชีพ ระบบลีกในส่วนภูมิภาค โดยให้ชื่อว่าโปรวินเชียลลีก (Provincial League) ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 กกท.ย้ายการแข่งขันไปร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น โปรเฟสชันนัลลีก (Professional League) โดยแบ่งเป็นสองระดับชั้น (Division) ซึ่งระดับชั้นสูงสุดมี 18 สโมสรเข้าร่วม จนกระทั่งเมื่อเริ่มฤดูกาล พ.ศ. 2549 สโมสรฟุตบอลชลบุรี และสโมสรฟุตบอลสุพรรณบุรี จากโปรเฟสชันนัลลีกสูงสุด เข้ามาร่วมในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก และเมื่อเริ่มฤดูกาล พ.ศ. 2550 กกท.ทำการยุบ โปรเฟสชันนัลลีกสูงสุด โดยจัดแบ่งสโมสรในลีกให้ไปเข้าแข่งขัน กับไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก และไทยลีกดิวิชัน 1
ในส่วนการแข่งขันรายการเอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก ซึ่งสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) กำหนดให้สโมสรที่เข้าร่วมแข่งขันต้องมีใบรับรองสโมสร (Club licensing) อย่างถูกต้องตามที่เอเอฟซีกำหนด โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีอยู่ 6 สโมสรคือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด, บางกอกกล๊าส เอฟซี, ชลบุรี เอฟซี, บีอีซี เทโรศาสน และชัยนาท ฮอร์นบิล แต่บีอีซี เทโรศาสน กับ ชัยนาท ฮอร์นบิล ถึงจะได้คลับไลเซนซิ่งแล้ว แต่สนามยังอยู่ในคลาส B ซึ่งในอนาคตทางสมาคมฟุตบอลฯได้มีการกำหนดให้ทุกทีมในไทยลีกต้องผ่านคลับไลเซนซิ่ง โดยทีมที่ทำไม่ได้จะถูกหักเงินหรือถูกตัดแต้ม
ระบบลีก
แก้การแข่งขันฟุตบอลสำคัญในประเทศ
แก้- ไทยแลนด์แชมเปียนส์คัพ - การแข่งขันก่อนเปิดฤดูกาล ระหว่างทีมชนะเลิศไทยลีก พบกับทีมชนะเลิศไทยเอฟเอคัพ
- คิงส์คัพ - การแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ โดยมีฟุตบอลทีมชาติไทยเป็นหลักในการแข่งขัน
- ไทยลีก - การแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพระดับสูงสุด
- ไทยเอฟเอคัพ - การแข่งขันฟุตบอลถ้วยระดับสูง
- ไทยลีกคัพ - การแข่งขันฟุตบอลถ้วยระดับรอง
- จตุรมิตรสามัคคี - การแข่งขันฟุตบอลประเพณี ระหว่างโรงเรียน 4 แห่งคือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย, โรงเรียนเทพศิรินทร์, โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และ โรงเรียนอัสสัมชัญ โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกสองปี
สนามฟุตบอลในประเทศไทย
แก้สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทยคือ สนามกรีฑาสถาน (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สนามศุภชลาศัย เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงนาวาโท หลวงศุภชลาศัย (ร.น.) อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก) ตั้งอยู่ภายในกรีฑาสถานแห่งชาติ บริเวณที่ทำการของกรมพลศึกษา เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เริ่มการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2480 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2484
สนามฟุตบอลในประเทศไทยโดยส่วนมาก มักสร้างขึ้นพร้อมกับ สนามแข่งขันกรีฑาและอัฒจันทร์โดยรอบ ในสถานะของสนามหลัก (Main Stadium) ภายในศูนย์กีฬาระดับต่างๆ โดยมักตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือเป็นส่วนหนึ่งของสนามกีฬากลางในแต่ละจังหวัด ต่อมาหลังจากปี พ.ศ. 2552 เมื่อฟุตบอลระบบลีกอาชีพของไทยเป็นที่นิยมอย่างสูง สโมสรฟุตบอลชั้นนำหลายแห่งจึงเริ่มลงทุนจัดสร้างสนามฟุตบอลโดยเฉพาะเป็นของตนเอง
ทั้งนี้สนามฟุตบอลในกรุงเทพมหานคร มีหลายแห่งที่สำคัญเช่น ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น), ราชมังคลากีฬาสถาน, สนามกีฬากองทัพบก, สนามกีฬากองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์), สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สนามฟุตบอลเทพหัสดิน, แพตสเตเดียม, สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เป็นต้น ส่วนสนามฟุตบอลที่สำคัญในเขตปริมณฑล มีอาทิ เอสซีจีสเตเดียม, สนามทีโอที แจ้งวัฒนะ ในจังหวัดนนทบุรี, สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ รังสิต, ลีโอสเตเดียม ในจังหวัดปทุมธานี เป็นต้น
สำหรับสนามฟุตบอลในส่วนภูมิภาคที่สำคัญ นอกจากสนามกีฬากลางประจำจังหวัด ยังมีอีกหลายแห่งเช่น สนามกีฬากลางจังหวัดนนทบุรี, สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ใน จังหวัดเชียงใหม่, สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวา 2550 จังหวัดนครราชสีมา, ชลบุรีสเตเดียม ในจังหวัดชลบุรี, ช้างอารีนา ในจังหวัดบุรีรัมย์, มิตรผลสเตเดียม ในจังหวัดราชบุรี, สนามกีฬาจิระนคร และสนามกีฬาติณสูลานนท์ ในจังหวัดสงขลา เป็นต้น
ซึ่งสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) กำหนดให้สโมสรที่เข้าร่วมแข่งขัน รายการเอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก ต้องมีใบรับรองสโมสร (Club licensing) อย่างถูกต้องตามที่เอเอฟซีกำหนด จึงสามารถใช้สนามเหย้าทำการแข่งขันได้ โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีอยู่ 8 สนามคือ ช้างอารีนา, เอสซีจีสเตเดียม, ลีโอสเตเดียม, ชลบุรีสเตเดียม, สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ รังสิต, สนามกีฬากลางจังหวัดนนทบุรี, มิตรผลสเตเดียม และสนามทุ่งทะเลหลวง นอกจากนี้ ยังมีอีกสองสนาม ที่เอเอฟซีใกล้จะออกใบรับรองสโมสรคือ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา และสนามกีฬากลางจังหวัดชัยนาท สำหรับสนามฟุตบอลที่สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า) รับรองมาตรฐาน ในประเทศไทยมีอยู่ 3 สนามคือ ช้างอารีนา, มิตรผลสเตเดียม และลีโอสเตเดียม
ผู้สนับสนุนฟุตบอลไทย
แก้ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ชาวไทยให้ความนิยมอย่างมาก ทว่าส่วนมากนิยมติดตามฟุตบอลยุโรปมากกว่า ก่อนหน้านี้ผู้สนับสนุนฟุตบอลทีมชาติไทยมีอยู่ไม่มากนัก โดยมักให้ความสำคัญเฉพาะนัดระดับชาติที่สำคัญเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ผู้สนับสนุนฟุตบอลไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนิยมในฟุตบอลทีมชาติไทยเป็นหลัก รวมตัวกันจัดตั้งเป็นชมรม โดยให้ชื่อว่าเชียร์ไทย เพื่อเป็นแกนนำในการสนับสนุนฟุตบอลทีมชาติไทย ใช้เว็บบอร์ดในการติดต่อระหว่างกัน รวมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ชาวไทยอื่นๆ สนใจสนับสนุนฟุตบอลไทยมากขึ้น โดยในระยะหลังจากปี พ.ศ. 2552 เมื่อฟุตบอลระบบลีกอาชีพของไทยเป็นที่นิยมอย่างสูง จึงมีการจัดตั้งกลุ่มผู้สนับสนุนสโมสรฟุตบอลต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
นักฟุตบอลไทยในลีกต่างประเทศ
แก้ข้อมูลเฉพาะนักฟุตบอลไทยที่เล่นในลีกสูงสุดในต่างประเทศ แต่ไม่นับรวมลีกสูงสุดที่ถูกยุบ
- อดิศักดิ์ ไกรษร — มาเลเซียซูเปอร์ลีก
- อาเดรียน สค็อกมาร์ — อัลสเว็นสกัน
- แอนโธนี อำไพพิทักษ์วงศ์ — เมเจอร์ลีกซอกเกอร์
- ชนาธิป สรงกระสินธ์ — เจลีก ดิวิชัน 1
- เชาว์วัฒน์ วีระชาติ — เจลีก ดิวิชัน 1
- ชาริล ชับปุยส์ — สวิสซูเปอร์ลีก
- ชัชปภพ อุสาพรม — กัมพูชาพรีเมียร์ลีก
- โชคทวี พรหมรัตน์ — มาเลเซียซูเปอร์ลีก / วี.ลีก ดิวิชัน 1 / สิงคโปร์พรีเมียร์ลีก
- เอกนิษฐ์ ปัญญา — เจลีก ดิวิชัน 1
- เอเลียส ดอเลาะ — ลีกาซาตู
- เอริค คาห์ล — อัลสเว็นสกัน / เดนิชซูเปอร์ลีกา
- จอฟฟรี่ย์ พรหมมายนต์ — เอเรอดีวีซี
- โจนาธาน เข็มดี — เดนิชซูเปอร์ลีกา
- กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ — เบลเจียนเฟิสต์ดิวิชัน เอ
- เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง — วี.ลีก ดิวิชัน 1 / มาเลเซียซูเปอร์ลีก / สิงคโปร์พรีเมียร์ลีก
- เคนเน็ธ ดูกัลล์ — เอเรอดีวีซี
- กิตติพงษ์ ปลื้มใจ — เอลีเตอเซเรียน
- มิก้า ชูนวลศรี — คัมรีพรีเมียร์
- นิโคลัส มิคเกลสัน — เอลีเตอเซเรียน / เดนิชซูเปอร์ลีกา
- พิพัฒน์ ต้นกันยา — ลีกาซาตู
- ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน — เคลีก 1 / มาเลเซียซูเปอร์ลีก
- ศศลักษณ์ ไหประโคน — เคลีก 1
- สินทวีชัย หทัยรัตนกุล — ลีกาซาตู
- สุเชาว์ นุชนุ่ม — ลีกาซาตู
- สุภโชค สารชาติ — เจลีก ดิวิชัน 1
- ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา — เบลเจียนเฟิสต์ดิวิชัน เอ
- สุรัตน์ สุขะ — เอลีก
- สุรีย์ สุขะ — สิงคโปร์พรีเมียร์ลีก / สวิสซูเปอร์ลีก
- สุธี สุขสมกิจ — เอลีก
- ธชตวัน ศรีปาน — วี.ลีก ดิวิชัน 1
- ธีราทร บุญมาทัน — เจลีก ดิวิชัน 1
- ธีรศิลป์ แดงดา — ลาลิกา / เจลีก ดิวิชัน 1
- เทิดศักดิ์ ใจมั่น — สิงคโปร์พรีเมียร์ลีก
- วิทยา เลาหกุล — บุนเดิสลีกา
- ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ — เจลีก ดิวิชัน 1
- ยุทธจักร ก้อนจันทร์ — วี.ลีก ดิวิชัน 1
อ้างอิง
แก้- ↑ https://www.siamfootball.com/index.php/2017-07-18-12-23-04/70-2017-07-30-12-55-03
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "ประวัติสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-18. สืบค้นเมื่อ 2013-07-06.
- ↑ https://www.siamfootball.com/index.php/2017-07-18-12-23-04/72-2017-07-30-13-19-42
- ↑ http://www.eloratings.net/Thailand
- ↑ History of ASEAN Football Federation, www.aseanfootball.org
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2008-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอล
- ตารางบอลไทยลีก เก็บถาวร 2019-04-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน