สโมสรฟุตบอลธนาคารกสิกรไทย
สโมสรฟุตบอลธนาคารกสิกรไทย เป็นอดีตสโมสรฟุตบอลในประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งในสายงานของ ธนาคารกสิกรไทย โดยผลงานในอดีตของทีม นับว่าประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสรฟุตบอลจากประเทศไทย โดยเป็นสโมสรเดียวที่ชนะเลิศการแข่งขันเอเชียนแชมเปียนส์คัพ ถึง 2 สมัย ซึ่งต่อมา สหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียได้ทำการรวมการแข่งขันดังกล่าวกับเอเชียนคัพวินเนอร์คัพ และเปลี่ยนชื่อเป็น เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ในปัจจุบัน
ชื่อเต็ม | สโมสรฟุตบอลธนาคารกสิกรไทย | ||
---|---|---|---|
ฉายา | แบงค์รวงข้าว | ||
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2530 | ||
ยุบ | พ.ศ. 2543 | ||
ประธาน | ชนะ รุ่งแสง | ||
ผู้จัดการ | ชาญวิทย์ ผลชีวิน | ||
ฤดูกาลสุดท้าย 2543 | อันดับที่ 3 (ยุบสโมสร) | ||
|
ประวัติสโมสร
แก้สโมสรฟุตบอลธนาคารกสิกรไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยความคิดริเริ่มของ บัณฑูร ล่ำซำ ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารที่ต้องการส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลของ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ โดยเริ่มต้นจาก ถ้วยพระราชทาน ง. โดยได้ตั้ง ชนะ รุ่งแสง เป็นผู้จัดการทีม และ แก้ว โตอดิเทพย์ เป็นเฮดโค้ชคนแรกของสโมสร แต่ทว่าภายหลัง แก้ว โตอดิเทพย์ เสียชีวิตลง บอร์ดบริหารจึงได้แต่งตั้ง ชาญวิทย์ ผลชีวิน ขึ้นมาเป็นเฮดโค้ชแทน จากการชักชวนของ วิชิต แย้มบุญเรือง ที่ปรึกษาของสโมสรในขณะนั้น[1]
ยุคของชาญวิทย์
แก้หลังจากที่ ชาญวิทย์ ผลชีวิน เข้ามารับตำแหน่งเฮดโค้ชของทีม ซึ่งตอนนั้นทีมอยู่ใน ถ้วยพระราชทาน ข. โดยมีนักเตะตัวหลักของทีมในเวลานั้นอย่าง สะสม พบประเสริฐ, สุรชัย จตุรภัทรพงษ์, ภาคภูมิ นพรัตน์, สัจจา ศิริเขต, สิงห์ โตทวี เป็นต้น พาทีมทำผลงานได้ดีจนสามารถเข้าชิงชนะเลิศกับ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 แต่จบด้วยรองชนะเลิศ อย่างไรก็ดีพวกเขาก็ยังได้เลื่อนชั้นมาเล่นใน ฟุตบอลถ้วยพระราชทานประเภท ก. ในที่สุด[1]
เลื่อนชั้นสู่ ถ้วย ก.
แก้ปี พ.ศ. 2533 ถือว่าเป็นปีแรกที่ ธนาคารกสิกรไทยได้ขึ้นมาเล่นถ้วยพระราชทาน ก. ซึ่งถือว่าเป็นดิวิชั่นสูงสุดของฟุตบอลไทยในสมัยนั้น และเพียงปีแรกที่ขึ้นมาเล่น ธนาคารกสิกรไทยก็ได้ตำแหน่งชนะเลิศของฟุตบอลถ้วยพระราชทานประเภท ก.ในปีนั้น และได้สิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศไทยลงแข่งขันในรายการ “เอเชียน คลับ แชมป์เปี้ยนชิพ” (ปัจจุบันคือรายการเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก) เป็นครั้งแรกในปี 2535 อีกด้วย[1]
สู่แชมป์เอเชีย
แก้พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นปีแรกที่ทีมธนาคารกสิกรไทยเข้าร่วมแข่งขันนั้น ทีมเริ่มต้นรอบคัดเลือกรอบสามเจอกับทีม อาร์เซโต้ โซโล่ จาก อินโดนีเซีย โดยนัดแรกเอาชนะไปได้ 2-0 แต่นัดที่สองพวกเขาบุกไปแพ้ 3-0 ตกรอบด้วยสกอร์รวม 2 นัดแพ้ 2 - 3[1] ในปีต่อมา พ.ศ. 2535 สโมสรฯได้ลงแข่งขันในทัวร์นาเม้นนี้อีกครั้ง โดยรอบคัดเลือกรอบแรก โซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชนะผ่านปาหัง จากมาเลเซีย ที่ถอนตัว ก่อนที่รอบสองจะเอาชนะ อาเรม่า มาลัง จาก อินโดนีเซีย ด้วยสกอร์ 6 ประตูต่อ 3 ผ่านเข้ารอบแบ่งกลุ่มได้ ซึ่งพวกเขาได้อยู่กลุ่ม บี ซึ่งมีทีมอย่าง เหลินนิง เอฟซี จาก จีน และ มูฮาร์รัค คลับ จาก บาห์เรน โดยผลงานในรอบแบ่งกลุ่ม ทีมจบด้วยอันดับสอง ไปเจอกับ เวอร์ดี คาวาซากิ แชมป์ เจลีก ของ ญี่ปุ่น ในเวลานั้น โดยพวกเขาเอาชนะจุดโทษไปได้ 3-1 (เสมอในเวลาปกติ 1-1)[1] หลังจากที่พวกเขาเอาชนะทีมจากญี่ปุ่นมาได้ ในรอบชิงชนะเลิศ ทีมต้องเจอกับ โอมาน คลับ จาก โอมาน ซึ่งตัวผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นนักเตะจากทีมชาติโอมานเกือบทั้งหมด และทีมสามารถเอาชนะไปได้ 2 ประตูต่อ 1 ได้สิทธิ์เป็นตัวแทนทีมจากเอเซียไปเล่นในการแข่งขัน รายการแอฟโร่-เอเชีย ซึ่งเป็นรายการที่เอาแชมป์สโมสรเอเชียมาแข่งกับแชมป์สโมสรของทวีปแอฟริกา โดยเจอกับ ซามาเลค โดยเกมแรก ซามาเลค เอาชนะไป 2-1 แต่ก็ยังกลับมาคว้าแชมป์ด้วยกฎประตูทีมเยือนคว้าแชมป์ไปในที่สุด หลังจากคว้าตำแหน่งชนะเลิศกลับมาได้ ในปี พ.ศ. 2537 พวกเขารักษาแชมป์ ควีนส์คัพ แต่เสียตำแหน่งชนะเลิศ ถ้วย ก. ให้ ทีมธนาคารกรุงเทพ แต่ปีต่อมา พวกเขากลับมาคว้าตำแหน่งชนะเลิศ ถ้วย ก. และ คว้าสิทธิ์ไปเล่นฟุตบอลเอเชียเป็นครั้งที่สอง
แชมป์เอเชียสมัยที่สอง
แก้ปี พ.ศ. 2538 ในการแข่งขัน เอเชียน คลับ แชมป์เปี้ยนชิพ ธนาคารกสิกรไทยอยู่ร่วมสายเดียวกับ อิลวา ชุนม่า (หรือ ซองนัม อิลวา ในปัจจุบัน) จาก เกาหลีใต้, เวอร์ดี้ คาวาซากิ จาก ญี่ปุ่น และ เหลินนิง เอฟซี จาก จีน ซึ่งพวกเขาต้องไปเล่นที่เกาหลีใต้[1] แต่ก็ยังทำผลงานได้ดี โดยจบเป็นอันดับที่สองในสาย เจอกับ เอฟเค นาฟเซ่ ทีมจาก อุซเบกิสถาน ซึ่งทีมเอาชนะได้ในการดวลจุดโทษตัดสิน โดยรอบชิงชนะเลิศ พวกเขาต้องเจอกับทีม อัล- อาราบี้ จาก กาตาร์ และสามารถเอาชนะได้ จากประตูของ เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ ในนาทีที่ 82[1] และได้สิทธิ์ไปแข่งรายการแอฟโร่-เอเชีย อีกหนึ่งสมัยโดยเจอกับทีมเอสเปแรนซ์ จาก ตูนิเซีย และได้รองแชมป์ในครั้งนั้น
เข้าสู่ฟุตบอลอาชีพ และ ยุบสโมสร
แก้ในปี พ.ศ. 2539 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้ก่อตั้งลีกอาชีพขึ้น ในชื่อ “จอห์นนีวอล์กเกอร์ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก 2539” หรือไทยลีกครั้งที่ 1 ปีนั้นธนาคารกสิกรไทยนับเป็นสโมสรที่มีการพัฒนาแฟนคลับอย่างเป็นเรื่องเป็นราวและพยายามพัฒนาสู่การเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพ โดยใช้หลักการทำธุรกิจกีฬาควบคู่กับการดำเนินงานของธนาคาร ในฤดูกาลนี้ธนาคารกสิกรไทยจบฤดูกาลลีกด้วยอันดับที่ 1 แต่ในปีนั้นมีการเอาสี่อันดับแรกในตาราง มาเพลย์ออฟหาแชมป์ ซึ่งผลสุดท้ายธนาคารกสิกรไทยพลาดตกรอบในรอบเพลย์ออฟ แต่พวกเขายังสามารถคว้าแชมป์ควีนส์คัพได้เป็นสมัยที่สามติดต่อกัน อย่างไรก็ดี แม้ทีมเองจะทำผลงานได้ดี แต่เพราะ วิกฤตการณ์การเงินในปี 2540 ทำให้ประสบปัญหาหนักด้านการเงิน โดยทางทีมเองได้ปรึกษาหาหรือกัน จนมีข่าวที่ว่าจะมีการยุบสโมสร แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ผลงานของทีมก็อยู่ในขั้นที่ว่าไม่แย่จนเกินไปนัก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2543 ธนาคารกสิกรไทยประกาศยุบทีมด้วยสาเหตุมาจากวิกฤตการณ์การเงินในปี 2540 ซึ่งทำให้ต้องยุบสโมสรกีฬาทั้งหมดของทางธนาคารกสิกรไทย[1]
ผลงานความสำเร็จ
แก้- เอเชียนแชมเปียนส์คัพ - ชนะเลิศ 2 ครั้ง - 2537, 2538
- เอเชียนซูเปอร์คัพ - รองชนะเลิศ 1 ครั้ง - 2538
- ควีนส์คัพ - ชนะเลิศ 4 ครั้ง - 2537, 2538, 2539, 2540
- ถ้วย ก - ชนะเลิศ 5 ครั้ง - 2534, 2535, 2536, 2538, 2543
- ถ้วย ข - ชนะเลิศ 1 ครั้ง - 2533
- แอโฟร-เอเชียนคลับแชมเปียนชิพ - ชนะเลิศ 1 ครั้ง - 2537
- เอฟเอคัพ - 1 ครั้ง - 2543