ธชตวัน ศรีปาน

ผู้จัดการทีมฟุตบอลและอดีตนักฟุตบอลชาวไทย

ธชตวัน ศรีปาน ชื่อเล่น ญา (นามแฝง แบน) หรือชื่อเดิม ตะวัน ศรีปาน เป็นอดีตนักฟุตบอลตำแหน่งกองกลางของทีมชาติไทย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค และหัวหน้าผู้ฝึกสอนของแบงค็อก ยูไนเต็ด ในไทยลีก

ธชตวัน ศรีปาน
ข้อมูลส่วนตัว
ชื่อเต็ม ธชตวัน ศรีปาน
ชื่อเกิด ตะวัน ศรีปาน
วันเกิด 13 ธันวาคม พ.ศ. 2514 (52 ปี)
สถานที่เกิด จังหวัดสระบุรี ประเทศไทย
ส่วนสูง 1.69 m (5 ft 6 12 in)
ตำแหน่ง กองกลางตัวรุก
สโมสรอาชีพ*
ปี ทีม ลงเล่น (ประตู)
2536–2537 ราชวิถี 15 (1)
2538–2540 กรุงเทพพาณิชยการ 51 (11)
2541–2546 เซมบาวัง 180 (29)
2547–2549 ฮหว่างอัญซาลาย 49 (13)
2550–2552 บีอีซี เทโรศาสน 60 (6)
รวม 355 (60)
ทีมชาติ
2535–2551 ไทย 110 (19)
จัดการทีม
2552 บีอีซี เทโรศาสน (ผู้เล่น-ผู้ฝึกสอน)
2553 บีอีซี เทโรศาสน
2553–2558 สระบุรี
2558 เพื่อนตำรวจ
2559–2561 เมืองทอง ยูไนเต็ด
2561 โปลิศ เทโร
2562 สุพรรณบุรี
2562–2563 ทีมชาติไทย (ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน)
2562–2563 ทีมชาติไทย อายุไม่เกิน 23 ปี
(ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน)
2563–2565 แบงค็อก ยูไนเต็ด
2566– แบงค็อก ยูไนเต็ด (ผอ.เทคนิค-หัวหน้าผู้ฝึกสอน)
เกียรติประวัติ
ฟุตบอลทีมชาติไทย
ซีเกมส์
เหรียญทอง - ชนะเลิศ ซีเกมส์ 1993 ฟุตบอล
เหรียญทอง - ชนะเลิศ ซีเกมส์ 1995 ฟุตบอล
เหรียญทอง - ชนะเลิศ ซีเกมส์ 1997 ฟุตบอล
เหรียญทอง - ชนะเลิศ ซีเกมส์ 1999 ฟุตบอล
*นัดที่ลงเล่นและประตูที่ยิงให้แก่สโมสรเฉพาะลีกในประเทศเท่านั้น
ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2560
‡ ข้อมูลการลงเล่นและประตูให้แก่ทีมชาติล่าสุด
ณ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ธชตวันเคยเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนของสโมสรฟุตบอลหลายสโมสร เช่น บีอีซี เทโรศาสน, สระบุรี, เพื่อนตำรวจ, เมืองทอง ยูไนเต็ด, โปลิศ เทโร และ สุพรรณบุรี เขาเคยคุมทีมเพื่อนตำรวจชนะเลิศไทยลีกดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2558 (แต่ไม่ได้เลื่อนชั้นเนื่องจากยุบทีม) และเคยคุมทีมเมืองทอง ยูไนเต็ดชนะเลิศไทยลีก ฤดูกาล 2559

ประวัติ

แก้

ตะวัน ศรีปาน เกิดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ที่ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เป็นบุตรคนที่ 3 จากจำนวนบุตรทั้งหมด 4 คน ของ นายสมกิจ และ นางสมศรี ศรีปาน มีชื่อเล่นจริง ๆ ว่า "ญา" แต่เพื่อน ๆ เรียกว่า "แบน" และเป็นที่รู้จักกันในชื่อนี้ ตะวันเริ่มเข้ารับการศึกษาในชั้นอนุบาลถึง ป.6 ที่ โรงเรียนแสงวิทยา ก่อนจะศึกษาต่อในชั้น ม.ต้น ที่ โรงเรียนแก่งคอย จากนั้นได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคสระบุรีและจบการศึกษาปริญญาตรีจาก สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคนนทบุรี

ด้านชีวิตส่วนตัว ตะวันสมรสกับ "น้ำฝน" วริทธิ์ธยาน์ เอมะศิริ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของ การบินไทย โดยงานฉลองมงคลสมรสมีขึ้น เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ[1]

ประวัติการเล่นฟุตบอล

แก้

ตะวันเริ่มเล่นฟุตบอลอาชีพให้กับ สโมสรราชวิถี และมาโด่งดังกับสโมสรธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จนก้าวขึ้นไปติดทีมชาติในยุคที่มี ชัชชัย พหลแพทย์ เป็นกุนซือ โดยติดทีมชาติไทยเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 ในรายการปรีเวิลด์คัพ 1994 และได้ลงเล่นนัดแรกในนามทีมชาติ ในนัดที่แข่งกับทีมชาติบังคลาเทศ ที่ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ตะวันเติบโตมาในวงการฟุตบอลกับชุดดรีมทีม นำโดย ธวัชชัย สัจจกุล และ วิรัช ชาญพานิชย์ และมีผลงานที่สำคัญคือการนำทีมชาติชุด บี คว้าแชมป์ คิงส์คัพ ประจำปี พ.ศ. 2537 และมาคว้าแชมป์รายการอินดิเพนเดนท์ แชมเปียนชิพ ปี พ.ศ. 2537, ได้ 4 เหรียญทอง จากการแข่งขันฟุตบอล ซีเกมส์ ครั้งที่ 17 ที่ประเทศสิงคโปร์, ซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่จังหวัดเชียงใหม่, ซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่ประเทศอินโดนีเซียและ ซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ที่ประเทศบรูไน, รวมทั้งแชมป์ ไทเกอร์คัพ อีก 3 สมัย และอันดับที่ 4 การแข่งขันฟุตบอลใน เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพมหานคร

หลังจากที่สโมสรธนาคารกรุงเทพพาณิชยการถูกยุบทีม ตะวัน ศรีปาน จึงย้ายไปเล่นใน ประเทศสิงคโปร์ กับเซมบาวัง เรนเจอร์สใน เอสลีก นานถึง 6 ปี โดยตะวันถือเป็นหนึ่งในขวัญใจของแฟนบอลที่นั่น โดยได้รับการยกย่องให้เป็น "King of Sembawang Rangers"[2]แต่ด้วยความที่ทีมยังมีศักยภาพไม่มากพอ จึงไม่อาจคว้าแชมป์ลีกมาครองได้สำเร็จ นักเตะตัวเก่งจึงทยอยย้ายออกจากทีม และตะวันก็ย้ายไปเล่นใน เวียตนาม กับทีม ฮหว่างอัญซาลาย[3] ใน วีลีก เป็นเวลาถึง 3 ฤดูกาล และช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ลีกมาครองได้ 1 สมัย และได้รับการยกย่องให้เป็น สุดยอดกองกลางของ อาเซียน

ปี พ.ศ. 2546 ตะวันได้รับรางวัล "เชียร์ไทยอวอร์ด" ในฐานะ "นักฟุตบอลยอดเยี่ยม" จากเว็บไซต์ cheerthai.com ซึ่งเป็นรางวัลที่ให้คะแนนจากการโหวตจากแฟนฟุตบอลไทย

หลังหมดสัญญากับ ฮหว่างอัญซาลาย ตะวัน ศรีปานกลับมาเล่นในเมืองไทยอีกครั้งกับทีม บีอีซี เทโรศาสน ใน ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2007 โดยรับตำแหน่งกัปตันทีมและพาสโมสรจบฤดูกาลด้วยอันดับ 3 ในฤดูกาล 2007 และ 2008

ตะวัน มีบุคลิกส่วนตัวที่ค่อนข้างใจเย็น ไม่เคยโมโหหรือลุกขึ้นมาโวยวายเพื่อนร่วมทีมหรือผู้แข่งขัน มีน้ำใจนักกีฬาสูง โดยหลังเกมส์ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ตะวันก็พร้อมลุกขึ้นมาจับมือกับคู่แข่ง ส่วนนอกสนาม ตะวันมีความเป็นกันเองกับแฟนบอลมาก จะยิ้มแย้มและยอมให้ถ่ายรูปเสมอ จึงได้รับฉายาว่าเป็น "สุภาพบุรุษลูกหนังของเมืองไทย" โดยการรับใช้ชาติในช่วงหลัง ๆ ตะวันได้รับตำแหน่งกัปตันทีม โดยได้สวมปลอกแขนกัปตันทีมครั้งแรกในเกมส์ที่ไทยชนะจีน 1–0 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 และทำหน้าที่ดังกล่าวจนเลิกเล่นทีมชาติ

ตะวัน ศรีปานเลิกเล่นให้ทีมชาติหลังจากทีมชาติไทยตกรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกรอบ 20 ทีม ในปี พ.ศ. 2551 หลังจากที่โอมานชนะไทย 2–1 ที่ประเทศโอมาน ซึ่งตะวันเป็นคนยิงประตูขึ้นนำให้กับทีมชาติไทย

วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2552 ตะวันหวนกลับคืนสู่ทีมชาติอีกครั้ง ในเกมส์เทสติโมเนี่ยลแมตช์ซึ่งเป็นการเล่นให้ทีมชาติเป็นนัดสุดท้าย โดยทีมชาติไทยอุ่นเครื่องกับ นิวซีแลนด์ และไทยชนะไป 3–1 โดยตะวันเป็นผู้ยิงประตูที่ 2 ให้ทีม และถูกเปลี่ยนตัวออกในนาทีที่ 31 เพื่อให้ ดัสกร ทองเหลา ลงเล่นแทน ในระหว่างพักครึ่งตะวันได้มอบพวงมาลัยให้แก่ผู้มีพระคุณของตน รวมทั้งพ่อและแม่ของตัวเองด้วย

สถิติการลงสนามให้ทีมชาติไทยของตะวัน ศรีปาน มีทั้งหมด 145 นัด ยิงได้ทั้งหมด 23 ประตู โดยฟีฟ่าให้การรับรองอยู่ที่ 110 นัด [4] และยิงให้ทีมชาติชุดใหญ่ 19 ประตู

ตะวันได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 5 ชื่อว่า เบญจมดิเรกคุณาภรณ์[5] เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2543

การยิงประตูในนามทีมชาติชุดใหญ่ที่ฟีฟ่ารับรอง

แก้
# วันที่ สถานที่ คู่แข่งขัน สกอร์ ผล รายการ
1. 10 ธันวาคม 1995 เชียงใหม่, ประเทศไทย   เวียดนาม 3-1 ชนะ ซีเกมส์ 1995
2. 16 ธันวาคม 1995 เชียงใหม่, ประเทศไทย   เวียดนาม 4-0 ชนะ ซีเกมส์ 1995
3. 16 ธันวาคม 1995 เชียงใหม่, ประเทศไทย   เวียดนาม 4-0 ชนะ ซีเกมส์ 1995
4. 7 ตุลาคม 1997 จาการ์ตา, อินโดนีเซีย   บรูไน 7-0 ชนะ ซีเกมส์ 1997
5. 7 ตุลาคม 1997 จาการ์ตา, อินโดนีเซีย   บรูไน 7-0 ชนะ

ซีเกมส์ 1997

6. 12 ตุลาคม 1997 จาการ์ตา, อินโดนีเซีย   กัมพูชา 4-0 ชนะ ซีเกมส์ 1997
7. 2 ธันวาคม 1998 กรุงเทพ, ประเทศไทย   ฮ่องกง 5-0 ชนะ เอเชียนเกมส์ 1998
8. 1 สิงหาคม 1999 บันดาร์เซอรีเบอกาวัน, บรูไน   ลาว 1-0 ชนะ ซีเกมส์ 1999
9. 8 สิงหาคม 1999 บันดาร์เซอรีเบอกาวัน, บรูไน   พม่า 7-0 ชนะ ซีเกมส์ 1999
10. 12 สิงหาคม 1999 บันดาร์เซอรีเบอกาวัน, บรูไน   สิงคโปร์ 2-0 ชนะ ซีเกมส์ 1999
11. 16 พฤศจิกายน 2000 กรุงเทพ, ประเทศไทย   มาเลเซีย 2-0 ชนะ ไทเกอร์ คัพ 2000
12. 10 กุมภาพันธ์ 2001 กรุงเทพ, ประเทศไทย   สวีเดน 1-4 แพ้ คิงส์คัพ 2001
13. 12 กุมภาพันธ์ 2001 กรุงเทพ, ประเทศไทย   กาตาร์ 1-3 แพ้ คิงส์คัพ 2001
14. 14 กุมภาพันธ์ 2001 กรุงเทพ, ประเทศไทย   จีน 1-5 แพ้ คิงส์คัพ 2001
15. 30 พฤษภาคม 2001 กรุงเทพ, ประเทศไทย   เลบานอน 2-2 เสมอ ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก
16. 6 มิถุนายน 2007 กรุงเทพ, ประเทศไทย   เนเธอร์แลนด์ 1-3 แพ้ กระชับมิตร
17. 2 กรกฎาคม 2007 กรุงเทพ, ประเทศไทย   กาตาร์ 2-0 ชนะ กระชับมิตร
18. 22 มิถุนายน 2008 มัสกัต, โอมาน   โอมาน 1-2 แพ้ ฟุตบอลโลก 2010 รอบคัดเลือก
19. 28 มีนาคม 2009 กรุงเทพ, ประเทศไทย   นิวซีแลนด์ 3-1 ชนะ กระชับมิตร

เกียรติประวัติ

แก้

ผู้เล่น

แก้

ไทย

ฮหว่างอัญซาลาย

ผู้ฝึกสอน

แก้

บีอีซี เทโรศาสน

สระบุรี

เพื่อนตำรวจ

เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด

แบงค็อก ยูไนเต็ด

รางวัลส่วนตัว

แก้
  • โล่เกียรติยศนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ จากกระทรวงศึกษาธิการ: ซีเกมส์ 2536
  • AFC Player of the Month: ธันวาคม 2538, สิงหาคม 2542
  • รางวัลกองกลางยอดเยี่ยม จาก M-Sport Hot Vote: 2542
  •   เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 5 เบญจมดิเรกคุณาภรณ์: 2543
  • นักฟุตบอลยอดเยี่ยม จาก CheerThai Award: 2546
  • รางวัลอัศวพาหุ: 2549
  • Arena Men of the Year สาขา Sportsmanship: 2550
  • นักกีฬาดีเด่น จากสยามกีฬา อวอร์ดส์: 2551
  • ผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยมประจำเดือนในไทยลีก 2: สิงหาคม 2555, กรกฎาคม 2556,[6] กรกฎาคม 2557 [7]
  • ผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยมในไทยลีก 2: 2557[8]
  • โล่เกียรติภูมิในงาน 100 ปีทีมชาติไทย: 2557[9][10] (15 พฤศจิกายน 2557)
  • ผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยม โดยฟุตบอลสยามโกลเดนบอล: 2559
  • ผู้ฝึกสอนชายยอดเยี่ยม โดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย: 2560
  • ผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยมประจำเดือนในไทยลีก (3): พฤษภาคม 2559[11][12], พฤศจิกายน 2564[13], สิงหาคม 2566[14]

อ้างอิง

แก้
  1. "วิวาห์ชื่นมื่น กัปตันแบน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-09-05.
  2. King of Sembawang Rangers
  3. Hoàng_Anh_Gia_Lai
  4. List_of_footballers_with_100_or_more_caps
  5. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์
  6. ฟอร์มดีจริง! เดอะแบนคว้ารางวัลโค้ชยอดเยี่ยมเดือนกรกฎาคม[ลิงก์เสีย]
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-09-07.
  8. ผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยมในไทยลีก 2: 2557
  9. โล่เกียรติภูมิในงาน 100 ปีทีมชาติไทย
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-09-07.
  11. 'บาจโจ-โค้ชแบน' คว้ายอดเยี่ยมไทยลีกเดือนพ.ค.
  12. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-24. สืบค้นเมื่อ 2021-10-14.
  13. "ไทยลีก" ประกาศรางวัลยอดเยี่ยมเดือน พ.ย. 2564 ของไทยลีก
  14. "มาแล้ว ! รางวัลยอดเยี่ยมประจำเดือนสิงหาคมของ รีโว่ ไทยลีก". Thai League. 29 September 2023. สืบค้นเมื่อ 3 October 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้