อำเภองาว
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
งาว (ไทยถิ่นเหนือ: / ᨦᩣ᩠ᩅ) เป็นหนึ่งใน 13 อำเภอของจังหวัดลำปาง เดิมชื่อ อำเภอเมืองงาว มีพื้นที่ประมาณ 1,815 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 650 กิโลเมตร เป็นอำเภอยุทธศาสตร์ชายแดนที่มีบริเวณชายแดนติดต่อกันถึงสามจังหวัดได้แก่ จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ และจังหวัดลำปาง และในอนาคตอันใกล้ อำเภองาวจะมีเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ผ่าน[1] เริ่มต้นจากสถานีชุมทางเด่นชัยสิ้นสุดที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ที่สถานีเชียงของ จังหวัดเชียงราย ทำให้อำเภองาวมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการขนส่งตอนบนเชื่อมโยงจังหวัดลำปางสู่ชายแดนไทยลาว
อำเภองาว | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Ngao |
ย่านธุรกิจตัวอำเภองาวตั้งอยู่ริมแม่น้ำงาว | |
คำขวัญ: ถิ่นกำเนิดเจ้าพ่อประตูผา แหล่งศึกษาภาพเขียนโบราณ งามล้ำอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท กราบไหว้พระธาตุวัดศรีมุงเมือง นามลือเลื่องพระธาตุทรายนอน อนุสรณ์สะพานโยง | |
แผนที่จังหวัดลำปาง เน้นอำเภองาว | |
พิกัด: 18°46′36″N 99°58′12″E / 18.77667°N 99.97000°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ลำปาง |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 1,814.8 ตร.กม. (700.7 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 52,895 คน |
• ความหนาแน่น | 29.15 คน/ตร.กม. (75.5 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 52110 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 5205 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภองาว หมู่ที่ 2 บ้านหนองเหียง ถนนพหลโยธิน ตำบลนาแก อำเภองาว จังหวัดลำปาง 52110 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้อำเภองาวตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด ที่ว่าการอำเภองาวปัจจุบันตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน ตำบลนาแก ห่างจากอำเภอเมืองลำปาง 83 กิโลเมตร อำเภอเมืองพะเยา 45 กิโลเมตร และอำเภอเมืองแพร่ 89 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอวังเหนือและ อำเภอเมืองพะเยา (จังหวัดพะเยา)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอดอกคำใต้ (จังหวัดพะเยา) และอำเภอสอง (จังหวัดแพร่)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสอง (จังหวัดแพร่) และอำเภอแม่เมาะ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอแจ้ห่ม
ประวัติศาสตร์
แก้ยุคโบราณ
แก้ตามตำนานม่อนทรายเมืองงาว ฉบับวัดศรีภูมิมา (ท่าส้มป่อย) ต.ทุ่งหัวฝาย อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง ได้กล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ถึงที่นี่ ประทับนั่งอยู่ที่ต้นมะม่วง ชาวบ้านเห็นพระองค์คิดว่าเป็นยักษ์ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าคนนี้ง่าว (โง่) ไม่รู้จักพระพุทธองค์ ทรงทำนายว่า อนาคตเมืองแห่งนี้จะได้ชื่อเมืองงาว ก่อนที่จะประทานพระเกศาธาตุบรรจุในโคนต้นมะม่วง และสั่งว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วให้นำพระธาตุส่วนแก้มขวามาบรรจุไว้ ปัจจุบันคือวัดพระธาตุม่อนทรายนอน ต.หลวงใต้ อ.งาว จ.ลำปาง
ที่นั้นเขาก็สะท้านหย้านกลัว ก็พากันเอาเป็ดแลไก่มามากนักแล ก็ขึ้นไปเถิงพระเจ้าแล้ว พระก็เปล่งออกสัพพัณณะรังสีทั่วดอยทังมวล เขาหันก็ซ้ำกลัวมากนักแล ก็ขึ้นไปเถิงพระเจ้าแล้ว พระเจ้าตริถามว่าสูพากันมาสังชา เขาก็ไหว้ว่า ข้าแก่ปู่เจ้าเสื้อเมือง ตูข้าจักมาเลี้ยงปู่เจ้าด้วยเป็ดไก่เหล้ายาชแล ขอปู่เจ้าอินดูผู้ข้าทังหลาย ก็อย่ากินผู้ข้าทังหลายเทอะ พระเจ้าก็ว่า กูบ่ใช่ยักข์ กูนี้หากเปนพระเจ้าชแล เขาก็ยังว่าฉันเดียวนั้นอยู่ไจ้ๆ ก็มีแล พระเจ้าว่าสูนี้ก็มาง่าวแท้หนอ ปางเมื่อกูเปนทรายฅำวันนั้นพรานก็ไล่ยิงกู หาที่จั้งที่ยั้งบ่ได้ ตราบเท่าตัวมันตายไป ดูราอานนท์ พายหน้าเมืองอันนี้จักได้ชื่อว่า เมืองงาว ชแล
— ตำนานม่อนทรายเมืองงาว
อย่างไรก็ตาม ตำนานนี้เป็นการแต่งในยุคหลังแล้ว ผู้แต่งอธิบายที่มาของชื่อเมืองงาวโดยเชื่อว่ามาจากง่าวซึ่งเป็นความเห็นของผู้แต่งเท่านั้น จึงอาจไม่ได้เป็นความจริงก็ได้ ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ได้สันนิษฐานว่า "งาว" เป็นภาษาโบราณของชาวกาว ที่เคยกระจายตัวในเขต ปัว-แพร่-น่าน-งาว ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปว่างาวหมายถึงอะไร เนื่องจากคนในยุคหลังไม่ทราบความหมายของงาวเสียแล้ว และชื่อเมืองง้าวหรือเมืองเงินก็ไม่ปรากฏในหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับใดๆ[2]
ตำนานเมืองพะเยากล่าวว่า พ.ศ. 1806 พญางำเมือง กษัตริย์เมืองพะเยายกทัพไปตีเมืองปัวแล้วกลับมาพะเยา ก่อนที่จะเสด็จไปครองเมืองงาวจนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 1841
จารึกคำปู่สบถ ราว พ.ศ. 1935 ได้กล่าวถึงการทำสัตย์สบถสาบานระหว่างเจ้าเมืองพลัว (เมืองปัว) เมืองน่าน เมืองแพร่ และเมืองงาวที่เป็นเครือญาติกัน กับพญาฦๅไทย หากมีศึกสงครามก็จะร่วมมือช่วยเหลือกัน
อันหนึ่ง บ้านเมืองเราทังหลายแลเมืองแพร่ เมืองงาว เมืองน่าน เมืองพลัว ปู่พระญาดูดังเดียว อันตรายมีในราชสีมาเรา ปู่พระญาเป็นเจ้าเห็นว่ามีในราชสีมาท่านแล ผิสมเด็จปู่พระญาปลูกเราอัน...เราก็เห็นสมเด็จปู่พระญาเป็นเจ้าดังมหาธรรมราชาท่านเป็น...มาในเชลียงสุกโขทัย จงอย่ามีรังเกียจกู จงไปสู่ปู่พระญา...ท่านมีรังเกียจ
— จารึกคำปู่สบถ
สมัยพญาคำฟู พระองค์ร่วมมือกับพญากาวน่านสามารถตีเมืองพะเยาได้ สันนิษฐานว่าเมืองงาวก็คงจะถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาในช่วงนี้
สมัยพระเจ้าติโลกราช ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า พ.ศ. 1986 พญาอินทะแก่นท้าว กษัตริย์เมืองน่าน ได้ออกอุบายมาขอทหารจากพระเจ้าติโลกราชไปป้องกันศึกเวียดนาม พระเจ้าติโลกราชให้ทหารประมาณ 4 หมื่น ให้หมื่นแพงพระยาว เจ้าเมืองพะเยา พร้อมกับหมื่นเชริงตางาม เจ้าเมืองเชริง (เทิง) หมื่นยี่ลก เจ้าเมืองลอ หมื่นอ้อย หมื่นแช่พราน เจ้าเมืองพาน หมื่นงาวกาว เจ้าเมืองงาว ไปรั้งอยู่เมืองน่าน แต่ภายหลังถูกกลอุบายสังหารจดหมด เหลือเพียงหมื่นเชริงตางาม ทำให้พระเจ้าติโลกราชยกทัพไปตีเมืองน่านและเมืองแพร่
ลูนนั้นได้ปลี ๑ เถิงปลีก่าใค้ พระญาแก่นท้าวกินเมืองน่าน บ่ได้มาเปนเมืองเจ้าเหนือหัวเทื่อ พระญาแก่นท้าวบ่ซื่อ จักปองเอาเจ้าเหนือหัวเสีย จิ่งอุบายหื้อมาไหว้สาเจ้าเหนือหัวว่า แกวจักมาตกเมืองน่าน ขอหื้อพลเสิก็มารั้งเมืองน่านแด่ เจ้าพระญาติโลกราชะบ่รู้ว่าเขาจักกะทำคด จิ่งแต่งพลเสิก็หื้อ ๔ หมื่น หื้อหมื่นแพงพระยาวทือพลไพกับขุนช้าง บ่เท่าแต่นั้น ขุนต่างเมืองหื้อหมื่นเชริงตางาม ๑ หมื่นยี่ลกกินลอ ๑ หมื่นอ้อย ๑ หมื่นแช่พราน ๑ หมื่นงาวกาว ๑ หื้อไพรั้งเมืองน่าน หื้อตั้งทับอยู่ฟากแม่น้ำเบื้องวันออก จัดเครื่องได้สองหมื่นสามพันเครื่อง
— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
พ.ศ. 2002 ภายหลังจากสงครามกับอยุธยา พระเจ้าติโลกราชได้มอบเขตแดนเมืองงาว เมืองแพร่ให้เป็นรางวัลกับพระยายุทธิษเฐียร
แล้วเจ้าพระญาติโลกราชะค็เอาริพลถอยมาเมืองเชียงใหม่ เลี้ยงดูริพลทังหลายหื้อรางวัลแก่ขุนบ้านขุนเมืองชู่ฅน ส่วนเจ้าพระญาสองแฅว หื้อเมืองงาวกาว เมืองแพล่ทังแฅว่นทังฟ่อน ทังคราวน้ำคราวบกเปนของรางวัลแก่เจ้าพระญาสองแฅว เหตุพระญาสองแฅวอาสาไพชนช้าง ๓ ตัวหั้นแล
— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
ยุคฟื้นฟูอาณาจักรล้านนา
แก้พุทธศักราช 2325 กรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ของอาณาสยาม พระยากาวิละแห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ ขอเข้าสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขันธเสมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ หลังจากที่อาณาจักรล้านนาตกอยู่ใต้อำนาจอาณาจักรอังวะนานกว่า 200 ปี พระเจ้ากาวิละเริ่มการฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาใหม่ เรียกว่ายุคฟื้นม่าน มีการอพยพเทครัวราษฎรและปฏิรูปการปกครองหัวเมืองน้อยใหญ่รวบรวมเมืองเล็กเมืองน้อยในอาณาจักรล้านนาได้ทั้งสิ้น 57 หัวเมืองแล้วแบ่งระดับเมืองน้อยใหญ่ได้ 4 ระดับ ได้แก่ นครประเทศราชมี 5 นครได้แก่ นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครแพร่ และนครน่าน เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่มีอำนาจราชศักดิ์เทียบเท่าเมืองประเทศราชกรุงกัมพูชา เมืองระดับถัดมาเรียกเมืองชั้นเอก ราชสำนักสยามแต่งตั้งเจ้าเมืองเทียบเท่าตำแหน่งพระยา เจ้าเมืองชั้นเอกมีศักดินา 2000 ไร่ ชาวเมืองเรียกเจ้าหลวงเหมือนเจ้าผู้ครองนคร เมืองงาว เป็นเมืองเก่าแก่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอก เจ้าผู้ครองเมืองงาวยุคนี้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าผู้ครองนครลำปาง พระเจ้ากาวิละแบ่งหัวเมืองเอกของอาณาจักรล้านนา ดังนี้
- เมืองเชียงราย ขึ้นกับนครเชียงใหม่
- เมืองพะเยา ขึ้นกับนครลำปาง
- เมืองเชียงแสน ขึ้นกับนครเชียงใหม่
- เมืองเชียงของ ขึ้นกับนครน่าน
- เมืองปาย ขึ้นกับนครเชียงใหม่
- เมืองตาก ขึ้นกับนครเชียงใหม่
- เมืองฝาง ขึ้นกับนครเชียงใหม่
- เมืองงาว ขึ้นกับนครลำปาง
ยุครัตนโกสินทร์
แก้พุทธศักราช 2386 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าหลวงน้อยอินท์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 8 และ พระเจ้ามโหตรประเทศ, พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๕ ขณะดำรงพระยศ เจ้าอุปราชนครเชียงใหม่ ได้ลงมายังกรุงเทพมหานครเพื่อขอฟื้นฟูเมืองเชียงรายโดยให้เป็นเมืองขึ้นของนครเชียงใหม่ และฟื้นฟูเมืองงาว เมืองพะเยา เป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าหนานมหาวงศ์ โอรส พระเจ้าดวงทิพย์ เจ้าหลวงนครลำปาง เป็น "พระยาฤทธิ์ภิญโญยศ เป็นเจ้าหลวงเมืองงาวและเทครัวราษฎรชาวเมืองลำปางส่วนหนึ่งมาตั้งเมืองงาวเพื่อเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันข้าศึกของนครลำปาง ในปี 2458 มีพระราชบัญญัติปรับปรุงการปกครองในพระราชอาณาจักรสยาม แยกนครลำปาง นครแพร่ นครน่าน จากมณฑลพายัพมาตั้งเป็น มณฑลมหาราษฎร์ มีศูนย์กลางที่นครแพร่ ปี 2442 ทางราชการมีประกาศตั้งแขวงเขตเมืองนครลำปางเป็น 6 แขวงโดยรวมเมืองงาวและเมืองตีบ จัดตั้งเป็นแขวงหนึ่งเรียกแขวงเมืองงาว ต่อมายุบแขวงเป็นอำเภอชื่อว่าอำเภอเมืองงาว จวบจนปีพุทธศักราช 2481 มีตราพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอใหม่ทั่วราชอาณาจักร อำเภอเมืองงาว จึงเปลี่ยนเป็น อำเภองาว อำเภองาวมีราษฎรมาอาศัยอยู่หนาแน่นปีพุทธศักราช 2490 ทางราชการได้มีประกาศจัดตั้งสุขาภิบาลขึ้นชื่อว่า สุขาภิบาลดอนไชยนับเป็นสุขาภิบาลแห่งที่สองของเมืองลำปางถัดจากจากสุขาภิบาลเมืองลำปาง สุขาภิบาลดอนไชยปรับเปลี่ยนเป็นเทศบาลในปี 2542 ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเทศบาลตำบลหลวงเหนือ
เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์
แก้วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พุทธศักราช 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรท้องถิ่นอำเภองาว จังหวัดลำปาง โดยราษฎรชาวอำเภองาวมีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิด สร้างขวัญกำลังใจและนำความปลื้มปิติยินดีมาสู่เหล่าพสกนิกรชาวอำเภองาวอย่างล้นพ้น พร้อมกันนี้ได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือราษฎรชาวอำเภองาว อาทิ อ่างเก็บน้ำแม่เมือง อ่างเก็บน้ำห้วยส้ม อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ ตำบลบ้านแหง เป็นต้น
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้อำเภองาวแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 10 ตำบล 85 หมู่บ้าน ได้แก่
ที่ | ชื่อตำบล | ตัวเมือง | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร[6] |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | หลวงเหนือ | Luang Nuea | 6 | 2,077 | 4,850 | |
2. | หลวงใต้ | Luang Tai | 8 | 2,017 | 5,882 | |
3. | บ้านโป่ง | Ban Pong | 12 | 2,145 | 6,918 | |
4. | บ้านร้อง | Ban Rong | 13 | 2,146 | 6,591 | |
5. | ปงเตา | Pong Tao | 13 | 2,485 | 7,654 | |
6. | นาแก | Na Kae | 6 | 1,128 | 4,725 | |
7. | บ้านอ้อน | Ban On | 8 | 1,441 | 4,765 | |
8. | บ้านแหง | Ban Haeng | 8 | 2,006 | 6,514 | |
9. | บ้านหวด | Ban Huat | 6 | 1,580 | 4,867 | |
10. | แม่ตีบ | Mae Tip | 5 | 1,280 | 4,346 |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ท้องที่อำเภองาวประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลหลวงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหลวงเหนือทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลหลวงใต้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหลวงใต้ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านโป่งทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านร้อง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านร้องทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลปงเตา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปงเตาทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลนาแก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาแกทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านอ้อน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านอ้อนทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านแหงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านหวดทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตีบ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ตีบทั้งตำบล
สถานศึกษา
แก้- โรงเรียนประชารัฐธรรมคุณ โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งแรกประจำอำเภอ
- โรงเรียนประชาราชวิทยา โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งที่สอง
- โรงเรียนดอนไชยวิทยา โรงเรียนเอกชนแห่งแรกของอำเภอ
- โรงเรียนอนุบาลงาว (ภาณุนิยม) โรงเรียนประถมศึกษาแห่งแรกของอำเภอ
สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง
- มหาวิทยาลัยพะเยา ตามถนนพหลโยธิน ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา ห่างจากอำเภองาวประมาณ 32 กิโลเมตร
บุคคลที่มีชื่อเสียง
แก้นักกีฬา
- นาวาโทหญิงเกษราภรณ์ สุตา นักกีฬายกน้ำหนักหญิงเหรียญทองแดง จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ค.ศ. 2000 ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เกิดที่ตำบลปงเตา
- บุญมี ราชวัฏ นักมวยชาวไทย แชมป์เวทีราชดำเนินคนแรก
พระเถระผู้ใหญ่
- พระจินดารัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดลำปาง รูปปัจจุบัน เจ้าอาวาสวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
- พระปิฏกโมลี รองเจ้าคณะจังหวัดลำปางรูปที่ 2 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดจองคำ พระอารามหลวง
เทศกาลและประเพณีประจำปี
แก้- ประเพณีตานตุงซาววา ในเทศกาลป๋าเวณีปีใหม่เมือง
- ป๋าเวณีปีใหม่เมืองง้าวเงิน
- ป๋าวเณีล่องสะเปาจาวเมืองง้าวเงิน
- ประเพณีตานก๋วยสลากภัต
สถานที่ท่องเที่ยว
แก้พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก ตั้งอยู่ถนนพหลโยธิน บ้านสวนสัก ตำบลบ้านหวด ระยะทางห่างจากตัวอำเภองาว ประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลหนึ่งในห้าแห่งของประเทศไทย
สะพานโยง
แก้สะพานข้ามลำน้ำงาว เป็นสะพานโยงแห่งแรกของประเทศเริ่มสร้างในปี 2469 คุมการก่อสร้างโดยขุนเจนจบทิศ เสร็จสิ้นเปิดใช้งานปี 2471 ปัจจุบันมีอายุประมาณ 90 ปี เป็นสัญลักษณ์ของอำเภองาว ตัวสะพานเชื่อมตำบลหลวงใต้และตำบลหลวงเหนือ เดิมใช้เป็นทางสัญจร โครงสร้างสะพานเป็นสะพานแขวนทำด้วยเหล็กไม่มีเสาตอม่อ ทางเดินเป็นหมอนไม้ทอดตัวผ่านแม่น้ำเป็นแหล่งพักหย่อนใจทิวทัศที่สวยงาม ไม่อนุญาตให้นำยานพาหนะสัญจรบนสะพาน สามารถเดินศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชาวคนอำเภองาวกับวิถีชุมชนริมแม่น้ำงาว
หล่มภูเขียว
แก้หล่มภูเขียว เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านอ้อน อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีลักษณะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เนื้อที่ราว 1-2 ไร่ มีความลึกมากจนมองเห็นเป็นสีเขียวมรกตสวยงาม เป็นที่มาของคำว่าหล่ม ที่แปลว่าแอ่งน้ำ ความลึกแอ่งไม่สามารถระบุได้ สันนิษฐานว่าแอ่งนี้เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกในยุคหิน หรืออาจเกิดจากการยุบตัวของหินปูนซึ่งเคยเป็นเพดานถ้ำมาก่อน แล้วจมลงใต้น้ำ เรียกว่าหลุมยุบ (Sink Hole) ต่อมาจึงกลายเป็นแหล่งรับน้ำ และมีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ระยะทางจากอำเภอประมาณ 12 กิโลเมตร
พระธาตุตุงคำ วัดศรีมุงเมือง
แก้วัดศรีมุงเมือง หรือชื่อเดิมวัดพระธาตุตุงคำ เป็นวัดในเขตเมืองเวียงบนโบราณ สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 500 ปี สร้างพร้อมกับการสร้างเวียงบน เวียงศูนย์กลางการปกครองของเมืองงาวโบราณ ปัจจุบันปรากฏหลักฐานคันดินคูกำแพงเมืองเดิมเมืองเวียงบนบริเวณบันไดนาค ใกล้กับถนนพหลโยธิน
วัดพระธาตุม่อนทรายนอน
แก้วัดม่อนทรายนอน สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2386 ชาวอำเภองาวเรียกว่าวัดดอย ตามตำนานปรากฏเชื่อมโยงกับพระโพธิสัตว์พระพุทธเจ้าแปลงกายเป็นเนื้อทรายเพื่อโปรดสรรพสัตว์ ถูกนายพรานตามล่าจนถึงสถานที่ตั้งวัดปัจจุบัน ทรายตัวดังกล่าวได้แวะดื่มน้ำบริเวณตีนเขา กลายเป็นบ่อน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิให้ประชาชนกินดื่มทางขึ้นสู่วัดม่อนทรายนอน (วัดดอย) สามารถขึ้นได้สองทางได้แก่ทางถนนและทางบันไดนาคเริ่มจากบริเวณข้างบ่อน้ำทิพย์ตีนเขามีความสูงประมาณ 300 ขั้น
ตั้งอยู่ตำบลบ้านหวด บนถนนพหลโยธิน สายลำปาง-งาว ห่างจากตัวอำเภองาว 10 กิโลเมตร วัดจองคำเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง โดยสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ สันนิษฐานว่าก่อสร้างโดยชาวพม่าที่ทำสัมปทานป่าไม้เขตอำเภองาว ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด วิหารชัยภูมิเป็นศิลปะแบบไทยใหญ่ หลังเดิมถูกย้ายไปไว้ ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ หลังปัจจุบันสร้างขึ้นมาใหม่ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 วโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มีการยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง วัดจองคำได้รับคัดเลือกเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ถือเป็นพระอารามหลวงลำดับที่สามในจังหวัดลำปาง เป็นโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัด แต่ละปีผู้ศึกษาปริยัติธรรมสามารถสอบเปรียญธรรมบาลีได้ถึง ป.ธ.9 รับพระราชทานอุปสมบทเป็นนาคหลวงหลายรูป เจ้าอาวาสและเจ้าสำนักปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นรองเจ้าคณะ พระพรหมมงคลวัชโรดม
ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 1
แก้ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 1 ตั้งอยู่ริมถนนสายพหลโยธินจากจังหวัดลำปางไปพะเยา- เชียงราย ระยะทางจากตัวอำเภองาว 12 กิโลเมตร สองฝั่งถนนมีทิวทัศน์ป่าไม้ ภูเขา ผ่าน สถานีฝึกนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานีบำรุงพันธุ์ไม้สัก สวนรุกขชาติห้วยทาก และศูนย์วิจัยแมลงและจุลชีววิทยาป่าไม้ที่ 1 และห่างจากตัวจังหวัดลำปาง ประมาณ 72 กิโลเมตร
ศาลเจ้าพ่อประตูผา
แก้พ.ศ. 2272 สวาธุหลวง (เจ้าอาวาส) วัดนายาง ตั้งตัวเป็นตนบุญเลี้ยงผีพราย มีคนเข้าหานับถือมาก ธุหลวงวัดสามขากับธุหลวงวัดบ้านฟ่อนสึกออกมาเป็นเสนา เวลานั้นเมืองลำปางไม่มีเจ้าเมืองปกครอง มีแต่พ่อเมืองทั้ง 4 ดูแลบ้านเมือง เจ้าเมืองลำพูนได้ข่าวตนบุญวัดนายาง จึงส่งกองทัพลำพูน นำโดยท้าวมหายสมาปราบ สู้รบกันที่ป่าทันคุมเมือง ฝ่ายตนบุญวัดนายางแตกพ่ายไป แกนนำทั้ง 3 ถูกยิงเสียชีวิต ท้าวมหายสมาตั้งทัพที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ท้าวมหายสออกอุบายส่งหาญฟ้าแมบ หาญฟ้างำ หาญฟ้าฟื้นไปทำทีเจรจากับแสนหนังสือ แสนเทพ นายเรือน ชะเรหน้อย ท้าวลิ้นก่าน แต่เกิดการสู้รบกันขึ้น ชาวลำปางแตกหนีไปอยู่เมืองต้า เมืองลอง เมืองเมาะ เมืองขาง
ท้าวมหายสละพูนถอยฅืนมาอยู่วัดหลวงลำพาง แล้วแต่งใช้เรียกร้องไพร่บ้านไทเมืองออกมาแล้วเก็บเบี้ยเก็บเงินหลังค่าหลังค่าตอ ผู้ใดขัดขวางหล้างควรข้าค็ข้า ควรตีค็ตี มีอันใดริบล้อนเอาเสีย ดั่งร้องวังฝ่ายเหนืออันเปนผู้แต่งบ้านปองเมือง มีแสนหนังสือ แสนเทพ นายเรือน ชะเรหน้อยขัดขวาง บ่สู้อ่อนน้อม ท้าวมหายสละพูนจิ่งแต่งหานฟ้างำ หานฟ้าแมบ หานฟ้าฟื้น ขึ้นไพพร้อมกับแสนหนังสือแลท้าวขุนยังสนามเหมือนจักทือคำเมือง หานฟ้าแมบ ฟ้างำ ฟ้าฟื้น สัญญาพรับตาร่อกันลวดฟันแทงกันยังสนามที่นั้น เปนอันขร้ำเขรือกโกลาหลแตกกระจัดกระจายเข้าห้วยท้างหว่างดอย ขุนแต่งเมืองคือชะเรหน้อย แลท้าวลิ้นก่าน นายน้อยธัมม์ แลชาวบ้านชาวเมือง ละบ้านชองหอเรือนเสีย หนีไพลี้อยู่เมืองต้า เมืองลอง เมืองเมาะ เมืองขางชู่แห่ง ค็มีแล
— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
ตำนานมุขปาฐะของท้องถิ่นเล่าว่า หนานข้อมือเหล็กเป็นศิษย์ของวัดนายาง ภายหลังเป็นองครักษ์ให้ท้าวลิ้นก่าน เมื่อท้าวลิ้นก่านและชะเรหน้อยหลบหนีไปยังประตูผา กองทัพเมืองลำพูนติดตามมา หนานข้อมือเหล็กจึงสู้รบกับกองทัพลำพูนตายไปจำนวนมาก สามารถปกป้องท้าวลิ้นก่านกับชะเรหน้อยไว้ได้ กองทัพลำพูนถอยทัพกลับเมืองลำปาง ส่วนหนานข้อมือเหล็กสู้รบกับทหารลำพูนจำนวนมากจนตัวเองจนมุมยืนหยัดพิงหน้าผาตาย ต่อมาท้าวลิ้นก่านและชะเรหน้อยสร้างศาลเพียงตาให้แก่หนานข้อมือเหล็ก ซึ่งรู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “เจ้าพ่อประตูผา”
กระทรวงกลาโหมได้อัญเชิญนามมาตั้งเป็นค่ายรบพิเศษประตูผา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของทหารตราบจนปัจจุบัน
อนุสาวรีย์พญางำเมือง
แก้พญางำเมือง อดีตกษัตริย์ผู้ปกครองแคว้นพะเยา นครรัฐอิสระ เป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานกับพญามังรายกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ และพญาร่วงหรือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์สุโขทัย ซึ่งทั้งสามกษัตริย์ได้ทรงกระทำสัตย์ต่อกัน ณ บริเวณน้ำแม่อิง อนุสาวรีย์แห่งนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2560 ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำงาว ใกล้วัดท่านาคบ้านทุ่งศาลา ตำบลนาแก อำเภองาว จังหวัดลำปาง บริเวณต้นสมพงษ์เชื่อว่าเป็นสถานที่สวรรคตของพระองค์
อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
แก้มีเนื้อที่ประมาณ 758,750 ไร่ มีอาณาบริเวณครอบคลุม อำเภอเมืองลำปาง อำเภอแม่เมาะ และอำเภองาว ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่บริเวณถนนพหลโยธิน ตำบลบ้านหวด ระยะทางจากตัวเมืองลำปางประมาณ 66 กิโลเมตร แยกเข้าทางเข้าบริเวณปากถ้ำผาไทประมาณหนึ่งกิโลเมตร รถยนต์สามารถเข้าถึงบริเวณตีนถ้ำภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย สวยงามมาก สลับซับซ้อนและมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยมากมายที่มีความสวยงามแตกต่างกันไป เหตุการณ์สำคัญเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จประพาสถ้ำผาไท ในครั้งนั้นได้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ ปปร. ไว้ภายในถ้ำเพื่อระลึกในการเสด็จประพาส อุทยานแห่งชาติฯ มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่น ระยะทางเริ่มจากตัวอำเภอดังนี้
- หล่มภูเขียว 12 กิโลเมตร
- น้ำตกแม่แก้ 18 กิโลเมตร
- น้ำตกเก๊าฟุ 19 กิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติแม่ยม
แก้ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ถนนวังซ้ายสายเก่า เขตอำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีเนื้อที่ประมาณ 284,218 ไร่มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ในเขตอำเภองาวกินพื้นที่บริเวณป่าแม่งาวฝั่งซ้าย เขตตำบลแม่ตีบ กรมป่าไม้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2529 สถานที่ท่องเที่ยวอุทยานฯ ในเขตอำเภองาว
- โป่งน้ำร้อนแม่ตีบ ห่างจากตัวอำเภองาวประมาณ 20 กิโลเมตรตามถนนวังซ้ายสายเก่า
การคมนาคม
แก้อำเภองาว ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 640 กิโลเมตร อำเภองาวเป็นอำเภอยุทธศาสตร์ชายแดนมีระยะทางเดินทางไปตัวจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
- จังหวัดลำปาง 83 กิโลเมตร
- จังหวัดพะเยา 50 กิโลเมตร
- จังหวัดแพร่ 89 กิโลเมตร
- จังหวัดเชียงราย 140 กิโลเมตร
- จังหวัดน่าน 163 กิโลเมตร
- จังหวัดเชียงใหม่ 180 กิโลเมตร
การคมนาคมขนส่งมุ่งสู่อำเภองาวมีหลายเส้นทางค่อนข้างสะดวก เนื่องจากอยู่ติดถนนหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน
ทางบก
แก้1. ถนนพหลโยธิน สายเหนือ (กรุงเทพฯ-นครสวรรค์-ตาก-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย) ถนนหลักเริ่มจากกรุงเทพมหานคร ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ตากเข้าเขตจังหวัดลำปางผ่าน อ.เถิน อ.สบปราบ อ.เกาะคา เข้าสู่ตัวเมืองลำปาง 600 กิโลเมตร ขับรถขึ้นเหนือเส้นทางถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-งาวอีกประมาณ 83 กิโลเมตรก็จะถึงตัวอำเภองาว ถนนพหลโยธินเป็นถนน 4 ช่องทางการจราจร สามารถสัมผัสธรรมชาติสวยงามตลอดสองข้างทาง มีระยะทางในเขตอำเภองาว 62 กิโลเมตร
2. ถนนวังซ้าย หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 103 เส้นทางร้องกวาง-งาว ที่แยกบ้านเป๊าะบรรจบกับทางหลวงหมายแผ่นดินเลข 1 ถนนพหลโยธิน(กรุงเทพ-นครสวรรค์) ทางหลวงหมายเลข 117 (นครสวรรค์-พิษณุโลก)ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 11 (พิษณุโลก-เด่นชัย) จากนั้นผ่านทางทางหลวงหมายเลข 101 (กำแพงเพชร-น่าน) ที่จังหวัดแพร่ ใช้เส้นทางถนนวังซ้ายสายแพร่-สอง-งาว ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 103 บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 1 (กรุงเทพฯ-นครสวรรค์-ตาก-เชียงราย) ที่ อ.งาว จ.ลำปาง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง
รถโดยสารประจำทาง
แก้- สาย 90 กรุงเทพ-เชียงราย (ก) (กรุงเทพ-นครสวรรค์-ตาก-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย) บริษัท สมบัติทัวร์ อินทราทัวร์ นครชัยแอร์ บางกอกบัสไลน์ทัวร์
- สาย 922 กรุงเทพ-พะเยา (กรุงเทพ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-แพร่-พะเยา) บริษัท บขส. สมบัติทัวร์
- สาย 909 กรุงเทพ-เชียงราย (ข) (กรุงเทพ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-แพร่-พะเยา-เชียงราย) บริษัท บขส. สมบัติทัวร์ บางกอกบัสไลน์ทัวร์
- สาย 962 กรุงเทพ-เชียงของ (กรุงเทพ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-แพร่-พะเยา-เชียงคำ-เชียงของ) บริษัท บขส. สมบัติทัวร์ บางกอกบัสไลน์ทัวร์ บุษราคัมทัวร์
- สาย 957 กรุงเทพ-แม่สาย (กรุงเทพ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-แพร่-พะเยา-เชียงราย-แม่สาย) บริษัท บขส. สมบัติทัวร์ บางกอกบัสไลน์ทัวร์ นครชัยแอร์
- สาย 660 ระยอง-เชียงราย-แม่สาย (ระยอง-พัทยา-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-สระบุรี-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย-แม่สาย) บริษัท นครชัยแอร์
- สาย 660 ระยอง-เชียงราย (ระยอง-พัทยา-ชลบุรี-อยุธยา-นครสวรรค์-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย-แม่สาย) บริษัท นครชัยแอร์
- สาย 660 ระยอง-เชียงราย (รถด่วนพิเศษ VIP) (ระยอง-พัทยา-ชลบุรี-อยุธยา-นครสวรรค์-ตาก-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย) บริษัท นครชัยแอร์
- สาย 661 เชียงราย-นครพนม (นครพนม-สกลนคร-อุดรธานี-เลย-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ สมบัติทัวร์
- สาย 651 นครราชสีมา-แม่สาย (นครราชสีมา-โคกสำโรง-ตากฟ้า-วังทอง-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ นครชัยทัวร์
- สาย 633 ขอนแก่น-เชียงราย (ขอนแก่น-ชุมแพ-หล่มสัก-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-งาว-พะเยา-เชียงราย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ อีสานทัวร์ สมบัติทัวร์
- สาย เชียงราย-อุบลราชธานี (อุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์-พล-ชัยภูมิ-พิษณุโลก-แพร่-เชียงราย) บริษัท นครชัยแอร์
- สาย เชียงราย-มุกดาหาร (มุกดาหาร-กาฬสินธุ์-ขอนแก่น-ชุมแพ-หล่มสัก-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย-แม่สาย) บริษัท เพชรประเสริฐทัวร์
- สาย 622 พิษณุโลก-เชียงราย-แม่สาย (พิษณุโลก-สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย-แม่สาย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ สุโขทัยวินทัวร์
- สาย 622 พิษณุโลก-เชียงราย-แม่สาย (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย-แม่สาย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ สุโขทัยวินทัวร์
- สาย 624 พิษณุโลก-เชียงของ (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงคำ-เทิง-เชียงของ) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ สุโขทัยวินทัวร์
- สาย 663 นครสวรรค์-เชียงราย (นครสวรรค์-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ นครสวรรค์ยานยนต์ รถปรับอากาศโฉมใหม่
- สาย 780 ภูเก็ต-เชียงราย (ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี-ชุมพร-หัวหิน-เพชรบุรี-นครสวรรค์-พิษณุโลก-แพร่-พะเยา-เชียงราย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ ไทยพัฒนกิจขนส่ง
- สาย 877 หาดใหญ่-เชียงราย-แม่สาย (แม่สาย-เชียงราย-พะเยา-แพร่-อุตรดิตถ์-พิษณุโลก-ทุ่งสง-พัทลุง-หาดใหญ่-ด่านนอก) บริษัท ปิยะชัยพัฒนาทัวร์
- สาย 148 เชียงใหม่-เชียงราย (เชียงใหม่-ลำพูน-ดอยติ-ลำปาง-งาว-พะเยา-พาน-เชียงราย) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด
- สาย 149 เชียงใหม่-แม่สาย (เชียงใหม่-ลำพูน-ดอยติ-ลำปาง-งาว-พะเยา-พาน-เชียงราย-แม่จัน-แม่สาย) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด
- สาย 166-1 เชียงใหม่-สามเหลี่ยมทองคำ (ข) (เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง-งาว-พะเยา-เชียงราย-เชียงแสน-สามเหลี่ยมทองคำ) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด
- สาย 144 เชียงราย-เด่นชัย (เชียงราย-พาน-พะเยา-แพร่-เด่นชัย) บริษัท แพร่ยานยนต์ขนส่ง (หนานคำทัวร์) จำกัด
- สาย 673 แม่สาย-แม่สอด (แม่สาย-เชียงราย-พะเยา-งาว-ลำปาง-เถิน-ตาก-แม่สอด) บริษัทผู้เดินรถได้แก่ ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด
- รถตู้ปรับอากาศลำปาง-งาว บริษัท สหกรณ์เดินรถนครลำปาง จำกัด
ทางรถไฟ
แก้ทางรถไฟสายเหนือ ลงที่สถานีรถไฟนครลำปาง แล้วต่อรถประจำทางสู่อำเภองาวอีก 83 กิโลเมตร อนาคตอันใกล้อำเภองาวกำลังจะมีการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายใหม่เริ่มต้นจากชุมทางสถานีเด่นชัยสิ้นสุดที่สะพานมิตรภาพไทย–ลาว 4 (เชียงของ–ห้วยทราย) ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ทางรถไฟผ่านอำเภองาวระยะทางยาวทั้งสิ้น 52 กิโลเมตรของเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีสถานีรถไฟระดับ 2 เป็นสถานีขนาดกลาง 1 สถานี 2 ป้ายหยุดรถได้แก่
- สถานีงาว เป็นสถานีขนาดเล็กประจำอำเภอ
- ป้ายหยุดรถแม่ตีบ ตำบลแม่ตีบ
- ป้ายหยุดรถปงเตา ตำบลปงเตา
ทางอากาศ
แก้- ท่าอากาศยานลำปาง ระยะทางจากอำเภองาว 83 กิโลเมตร
- ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ระยะทางจากอำเภองาว 150 กิโลเมตร
รัฐวิสาหกิจและส่วนราชการ
แก้- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภองาว
- บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สาขางาว
- ธนาคารออมสิน สาขางาว
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขางาว
- สถานีเดินรถนครลำปาง จังหวัดลำปาง สาขางาว (บริษัท ขนส่ง จำกัด)
- สถานีรถไฟงาว(อนาคต) การรถไฟแห่งประเทศไทย
- สำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง สาขางาว
- สำนักงานขนส่งจังหวัดลำปาง สาขางาว
- สำนักงานเกษตรอำเภองาว
- สำนักงานสาธารณสุขอำเภองาว
- สำนักงานปศุสัตว์อำเภองาว
อ้างอิง
แก้- ↑ "ช.การช่าง-ซิโนไทยฯ ผงาด ปิดดีลแห่งปีสร้างทางคู่ 5 หมื่นล้าน". สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. พินิจตำนานลำปาง. พิมพ์ครั้งที่ 2. ลำปาง:ครองช่างการพิมพ์, 2558.
- ↑ https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/225
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่:ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่, 2538
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่:ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่, 2538
- ↑ จำนวนประชากรและบ้าน จำแนกเป็นรายอำเภอ และรายตำบล จังหวัดลำปาง ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2553, สำนักบริหารทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่:ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่, 2538