ชาวกาว
ชาวกาวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ไทย โดยเป็นคำที่ใช่เรียกเผ่าไทที่อยู่ในเมืองแพร่และเมืองน่าน มีปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในศิลาจารึกปู่หลานสบถกัน พ.ศ. 1935 เรียกบรรพบุรุษของกษัตริย์แพร่และน่านว่า ด้ำพงศ์กาว เมืองแพร่และเมืองน่านถูกผนวกรวมเข้ากับอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพญาลิไท และเคยยกทัพมาช่วยสุโขทัยรบกับพระนครศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1919 และมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับกษัตริย์สุโขทัย ดังที่ปรากฏในพงศาวดารน่านว่าเมื่อเกิดปัญหาแย่งชิงอำนาจภายในเมือง ฝ่ายแพ้จะหนีลงมาพึ่งพระยาเชลียง เจ้าเมืองสุโขทัย
เมื่อเจ้าศรีจันทะ ถูกพระยาเมืองแพร่ฆ่าตายเมื่อ พ.ศ. 1939 เจ้าหุงผู้เป็นอนุชามาขอกองทัพพระยาเชลียงไปยึดเมืองคืนได้ใน พ.ศ. 1941 ต่อมาใน พ.ศ. 1945 เจ้าอินต๊ะแก่นถูกน้องชายชิงเมือง ก็หนีไปพึงเจ้าเมืองสุโขทัยยกทหารมายึดเมืองคืน จนกระทั่ง พ.ศ. 1991 พระเจ้าติโลกราชยึดเมืองน่านได้ รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา คำว่า "กาว" จึงหายไป
นอกจากจะมีชาวกาวในจังหวัดแพร่และน่านแล้วอาจจะมีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศลาวด้วย เพราะเมืองน่านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลวงพระบางมาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าฟ้างุ้ม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เคยมีหัวเมืองลาวกาว ประกอบด้วยเมืองสำคัญ 7 เมืองคือ อุบลราชธานี นครจำปาศักดิ์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ เมื่อเปลี่ยนการปกครองหัวเมืองเป็นระบอบมณฑลเทศาภิบาล หัวเมืองลาวกาวจึงเป็นมณฑลลาวกาว ซึ่งตั้งกองบัญชาการมณฑล ณ เมืองอุบลราชธานี โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวกาวคนแรก และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อ พ.ศ. 2442 และเป็นมณฑลอีสานเมื่อ พ.ศ. 2443
อ้างอิง
แก้- ประเสริฐ ณ นคร. มา กาว ลาว, ชนชาติ ใน ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด. กทม. มติชน. 2549 หน้า 272 - 275