อำเภองาว

อำเภอในจังหวัดลำปาง ประเทศไทย
(เปลี่ยนทางจาก ตำบลบ้านแหง)

งาว (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นหนึ่งใน 13 อำเภอของจังหวัดลำปาง เดิมชื่อ อำเภอเมืองงาว มีพื้นที่ประมาณ 1,815 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 650 กิโลเมตร เป็นอำเภอยุทธศาสตร์ชายแดนที่มีบริเวณชายแดนติดต่อกันถึงสามจังหวัดได้แก่ จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ และจังหวัดลำปาง และในอนาคตอันใกล้ อำเภองาวจะมีเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ผ่าน[1] เริ่มต้นจากสถานีชุมทางเด่นชัยสิ้นสุดที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ที่สถานีเชียงของ จังหวัดเชียงราย ทำให้อำเภองาวมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการขนส่งตอนบนเชื่อมโยงจังหวัดลำปางสู่ชายแดนไทยลาว

อำเภองาว
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Ngao
ย่านธุรกิจตัวอำเภองาวตั้งอยู่ริมแม่น้ำงาว
ย่านธุรกิจตัวอำเภองาวตั้งอยู่ริมแม่น้ำงาว
คำขวัญ: 
ถิ่นกำเนิดเจ้าพ่อประตูผา แหล่งศึกษาภาพเขียนโบราณ
งามล้ำอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท กราบไหว้พระธาตุวัดศรีมุงเมือง
นามลือเลื่องพระธาตุทรายนอน อนุสรณ์สะพานโยง
แผนที่จังหวัดลำปาง เน้นอำเภองาว
แผนที่จังหวัดลำปาง เน้นอำเภองาว
พิกัด: 18°46′36″N 99°58′12″E / 18.77667°N 99.97000°E / 18.77667; 99.97000
ประเทศ ไทย
จังหวัดลำปาง
พื้นที่
 • ทั้งหมด1,814.8 ตร.กม. (700.7 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด52,895 คน
 • ความหนาแน่น29.15 คน/ตร.กม. (75.5 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 52110
รหัสภูมิศาสตร์5205
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภองาว หมู่ที่ 2 บ้านหนองเหียง ถนนพหลโยธิน ตำบลนาแก อำเภองาว จังหวัดลำปาง 52110
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ที่ตั้งและอาณาเขต แก้

อำเภองาวตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด ที่ว่าการอำเภองาวปัจจุบันตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน ตำบลนาแก ห่างจากอำเภอเมืองลำปาง 83 กิโลเมตร อำเภอเมืองพะเยา 45 กิโลเมตร และอำเภอเมืองแพร่ 89 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ประวัติศาสตร์ แก้

ยุคโบราณ แก้

ตามตำนานม่อนทรายเมืองงาว ฉบับวัดศรีภูมิมา (ท่าส้มป่อย) ต.ทุ่งหัวฝาย อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง ได้กล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ถึงที่นี่ ประทับนั่งอยู่ที่ต้นมะม่วง ชาวบ้านเห็นพระองค์คิดว่าเป็นยักษ์ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าคนนี้ง่าว (โง่) ไม่รู้จักพระพุทธองค์ ทรงทำนายว่า อนาคตเมืองแห่งนี้จะได้ชื่อเมืองงาว ก่อนที่จะประทานพระเกศาธาตุบรรจุในโคนต้นมะม่วง และสั่งว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วให้นำพระธาตุส่วนแก้มขวามาบรรจุไว้ ปัจจุบันคือวัดพระธาตุม่อนทรายนอน ต.หลวงใต้ อ.งาว จ.ลำปาง

ที่นั้นเขาก็สะท้านหย้านกลัว ก็พากันเอาเป็ดแลไก่มามากนักแล ก็ขึ้นไปเถิงพระเจ้าแล้ว พระก็เปล่งออกสัพพัณณะรังสีทั่วดอยทังมวล เขาหันก็ซ้ำกลัวมากนักแล ก็ขึ้นไปเถิงพระเจ้าแล้ว พระเจ้าตริถามว่าสูพากันมาสังชา เขาก็ไหว้ว่า ข้าแก่ปู่เจ้าเสื้อเมือง ตูข้าจักมาเลี้ยงปู่เจ้าด้วยเป็ดไก่เหล้ายาชแล ขอปู่เจ้าอินดูผู้ข้าทังหลาย ก็อย่ากินผู้ข้าทังหลายเทอะ พระเจ้าก็ว่า กูบ่ใช่ยักข์ กูนี้หากเปนพระเจ้าชแล เขาก็ยังว่าฉันเดียวนั้นอยู่ไจ้ๆ ก็มีแล พระเจ้าว่าสูนี้ก็มาง่าวแท้หนอ ปางเมื่อกูเปนทรายฅำวันนั้นพรานก็ไล่ยิงกู หาที่จั้งที่ยั้งบ่ได้ ตราบเท่าตัวมันตายไป ดูราอานนท์ พายหน้าเมืองอันนี้จักได้ชื่อว่า เมืองงาว ชแล

— ตำนานม่อนทรายเมืองงาว

อย่างไรก็ตาม ตำนานนี้เป็นการแต่งในยุคหลังแล้ว ผู้แต่งอธิบายที่มาของชื่อเมืองงาวโดยเชื่อว่ามาจากง่าวซึ่งเป็นความเห็นของผู้แต่งเท่านั้น จึงอาจไม่ได้เป็นความจริงก็ได้ ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ได้สันนิษฐานว่า "งาว" เป็นภาษาโบราณของชาวกาว ที่เคยกระจายตัวในเขต ปัว-แพร่-น่าน-งาว ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปว่างาวหมายถึงอะไร เนื่องจากคนในยุคหลังไม่ทราบความหมายของงาวเสียแล้ว และชื่อเมืองง้าวหรือเมืองเงินก็ไม่ปรากฏในหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับใดๆ[2]

ตำนานเมืองพะเยากล่าวว่า พ.ศ. 1806 พญางำเมือง กษัตริย์เมืองพะเยายกทัพไปตีเมืองปัวแล้วกลับมาพะเยา ก่อนที่จะเสด็จไปครองเมืองงาวจนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 1841

จารึกคำปู่สบถ ราว พ.ศ. 1935 ได้กล่าวถึงการทำสัตย์สบถสาบานระหว่างเจ้าเมืองพลัว (เมืองปัว) เมืองน่าน เมืองแพร่ และเมืองงาวที่เป็นเครือญาติกัน กับพญาฦๅไทย หากมีศึกสงครามก็จะร่วมมือช่วยเหลือกัน

อันหนึ่ง บ้านเมืองเราทังหลายแลเมืองแพร่ เมืองงาว เมืองน่าน เมืองพลัว ปู่พระญาดูดังเดียว อันตรายมีในราชสีมาเรา ปู่พระญาเป็นเจ้าเห็นว่ามีในราชสีมาท่านแล ผิสมเด็จปู่พระญาปลูกเราอัน...เราก็เห็นสมเด็จปู่พระญาเป็นเจ้าดังมหาธรรมราชาท่านเป็น...มาในเชลียงสุกโขทัย จงอย่ามีรังเกียจกู จงไปสู่ปู่พระญา...ท่านมีรังเกียจ

— จารึกคำปู่สบถ

[3]

สมัยพญาคำฟู พระองค์ร่วมมือกับพญากาวน่านสามารถตีเมืองพะเยาได้ สันนิษฐานว่าเมืองงาวก็คงจะถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาในช่วงนี้

สมัยพระเจ้าติโลกราช ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า พ.ศ. 1986 พญาอินทะแก่นท้าว กษัตริย์เมืองน่าน ได้ออกอุบายมาขอทหารจากพระเจ้าติโลกราชไปป้องกันศึกเวียดนาม พระเจ้าติโลกราชให้ทหารประมาณ 4 หมื่น ให้หมื่นแพงพระยาว เจ้าเมืองพะเยา พร้อมกับหมื่นเชริงตางาม เจ้าเมืองเชริง (เทิง) หมื่นยี่ลก เจ้าเมืองลอ หมื่นอ้อย หมื่นแช่พราน เจ้าเมืองพาน หมื่นงาวกาว เจ้าเมืองงาว ไปรั้งอยู่เมืองน่าน แต่ภายหลังถูกกลอุบายสังหารจดหมด เหลือเพียงหมื่นเชริงตางาม ทำให้พระเจ้าติโลกราชยกทัพไปตีเมืองน่านและเมืองแพร่

ลูนนั้นได้ปลี ๑ เถิงปลีก่าใค้ พระญาแก่นท้าวกินเมืองน่าน บ่ได้มาเปนเมืองเจ้าเหนือหัวเทื่อ พระญาแก่นท้าวบ่ซื่อ จักปองเอาเจ้าเหนือหัวเสีย จิ่งอุบายหื้อมาไหว้สาเจ้าเหนือหัวว่า แกวจักมาตกเมืองน่าน ขอหื้อพลเสิก็มารั้งเมืองน่านแด่ เจ้าพระญาติโลกราชะบ่รู้ว่าเขาจักกะทำคด จิ่งแต่งพลเสิก็หื้อ ๔ หมื่น หื้อหมื่นแพงพระยาวทือพลไพกับขุนช้าง บ่เท่าแต่นั้น ขุนต่างเมืองหื้อหมื่นเชริงตางาม ๑ หมื่นยี่ลกกินลอ ๑ หมื่นอ้อย ๑ หมื่นแช่พราน ๑ หมื่นงาวกาว ๑ หื้อไพรั้งเมืองน่าน หื้อตั้งทับอยู่ฟากแม่น้ำเบื้องวันออก จัดเครื่องได้สองหมื่นสามพันเครื่อง

— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

[4]

พ.ศ. 2002 ภายหลังจากสงครามกับอยุธยา พระเจ้าติโลกราชได้มอบเขตแดนเมืองงาว เมืองแพร่ให้เป็นรางวัลกับพระยายุทธิษเฐียร

แล้วเจ้าพระญาติโลกราชะค็เอาริพลถอยมาเมืองเชียงใหม่ เลี้ยงดูริพลทังหลายหื้อรางวัลแก่ขุนบ้านขุนเมืองชู่ฅน ส่วนเจ้าพระญาสองแฅว หื้อเมืองงาวกาว เมืองแพล่ทังแฅว่นทังฟ่อน ทังคราวน้ำคราวบกเปนของรางวัลแก่เจ้าพระญาสองแฅว เหตุพระญาสองแฅวอาสาไพชนช้าง ๓ ตัวหั้นแล

— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

[5]

ยุคฟื้นฟูอาณาจักรล้านนา แก้

พุทธศักราช 2325 กรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ของอาณาสยาม พระยากาวิละแห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ ขอเข้าสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขันธเสมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ หลังจากที่อาณาจักรล้านนาตกอยู่ใต้อำนาจอาณาจักรอังวะนานกว่า 200 ปี พระเจ้ากาวิละเริ่มการฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาใหม่ เรียกว่ายุคฟื้นม่าน มีการอพยพเทครัวราษฎรและปฏิรูปการปกครองหัวเมืองน้อยใหญ่รวบรวมเมืองเล็กเมืองน้อยในอาณาจักรล้านนาได้ทั้งสิ้น 57 หัวเมืองแล้วแบ่งระดับเมืองน้อยใหญ่ได้ 4 ระดับ ได้แก่ นครประเทศราชมี 5 นครได้แก่ นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครแพร่ และนครน่าน เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่มีอำนาจราชศักดิ์เทียบเท่าเมืองประเทศราชกรุงกัมพูชา เมืองระดับถัดมาเรียกเมืองชั้นเอก ราชสำนักสยามแต่งตั้งเจ้าเมืองเทียบเท่าตำแหน่งพระยา เจ้าเมืองชั้นเอกมีศักดินา 2000 ไร่ ชาวเมืองเรียกเจ้าหลวงเหมือนเจ้าผู้ครองนคร เมืองงาว เป็นเมืองเก่าแก่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอก เจ้าผู้ครองเมืองงาวยุคนี้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าผู้ครองนครลำปาง พระเจ้ากาวิละแบ่งหัวเมืองเอกของอาณาจักรล้านนา ดังนี้

  • เมืองเชียงราย ขึ้นกับนครเชียงใหม่
  • เมืองพะเยา ขึ้นกับนครลำปาง
  • เมืองเชียงแสน ขึ้นกับนครเชียงใหม่
  • เมืองเชียงของ ขึ้นกับนครน่าน
  • เมืองปาย ขึ้นกับนครเชียงใหม่
  • เมืองตาก ขึ้นกับนครเชียงใหม่
  • เมืองฝาง ขึ้นกับนครเชียงใหม่
  • เมืองงาว ขึ้นกับนครลำปาง

ยุครัตนโกสินทร์ แก้

พุทธศักราช 2386 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าหลวงน้อยอินท์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 8 และ พระเจ้ามโหตรประเทศ, พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๕ ขณะดำรงพระยศ เจ้าอุปราชนครเชียงใหม่ ได้ลงมายังกรุงเทพมหานครเพื่อขอฟื้นฟูเมืองเชียงรายโดยให้เป็นเมืองขึ้นของนครเชียงใหม่ และฟื้นฟูเมืองงาว เมืองพะเยา เป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าหนานมหาวงศ์ โอรส พระเจ้าดวงทิพย์ เจ้าหลวงนครลำปาง เป็น "พระยาฤทธิ์ภิญโญยศ เป็นเจ้าหลวงเมืองงาวและเทครัวราษฎรชาวเมืองลำปางส่วนหนึ่งมาตั้งเมืองงาวเพื่อเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันข้าศึก ในปี 2458 มีพระราชบัญญัติปรับปรุงการปกครองในพระราชอาณาจักรสยาม แยกนครลำปาง นครแพร่ นครน่าน จากมณฑลพายัพมาตั้งเป็น มณฑลมหาราษฎร์ มีศูนย์กลางที่นครแพร่ ปี 2460 ทางราชการมีประกาศรวมเมืองงาวและเมืองตีบ จัดตั้งเป็นแขวงขึ้นเรียกแขวงเมืองงาว ต่อมายุบแขวงเป็นอำเภอชื่อว่าอำเภอเมืองงาว จวบจนปีพุทธศักราช 2481 มีตราพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอใหม่ทั่วราชอาณาจักร อำเภอเมืองงาว จึงเปลี่ยนเป็น อำเภองาว อำเภองาวมีราษฎรมาอาศัยอยู่หนาแน่นปีพุทธศักราช 2490 ทางราชการได้มีประกาศจัดตั้งสุขาภิบาลขึ้นชื่อว่า สุขาภิบาลดอนไชยนับเป็นสุขาภิบาลแห่งที่สองของเมืองลำปางถัดจากจากสุขาภิบาลเมืองลำปาง สุขาภิบาลดอนไชยปรับเปลี่ยนเป็นเทศบาลในปี 2542 ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเทศบาลตำบลหลวงเหนือ

เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ แก้

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พุทธศักราช 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรท้องถิ่นอำเภองาว จังหวัดลำปาง โดยราษฎรชาวอำเภองาวมีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิด สร้างขวัญกำลังใจและนำความปลื้มปิติยินดีมาสู่เหล่าพสกนิกรชาวอำเภองาวอย่างล้นพ้น พร้อมกันนี้ได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือราษฎรชาวอำเภองาว อาทิ อ่างเก็บน้ำแม่เมือง อ่างเก็บน้ำห้วยส้ม อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ ตำบลบ้านแหง เป็นต้น

การแบ่งเขตการปกครอง แก้

การปกครองส่วนภูมิภาค แก้

อำเภองาวแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 10 ตำบล 85 หมู่บ้าน ได้แก่

ที่ ชื่อตำบล ตัวเมือง อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร[6]
1. หลวงเหนือ   Luang Nuea 6 2,077 4,850
2. หลวงใต้   Luang Tai 8 2,017 5,882
3. บ้านโป่ง   Ban Pong 12 2,145 6,918
4. บ้านร้อง   Ban Rong 13 2,146 6,591
5. ปงเตา   Pong Tao 13 2,485 7,654
6. นาแก   Na Kae 6 1,128 4,725
7. บ้านอ้อน   Ban On 8 1,441 4,765
8. บ้านแหง   Ban Haeng 8 2,006 6,514
9. บ้านหวด   Ban Huat 6 1,580 4,867
10. แม่ตีบ   Mae Tip 5 1,280 4,346

การปกครองส่วนท้องถิ่น แก้

ท้องที่อำเภองาวประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลหลวงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหลวงเหนือทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลหลวงใต้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหลวงใต้ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านโป่งทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านร้อง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านร้องทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลปงเตา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปงเตาทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนาแก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาแกทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านอ้อน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านอ้อนทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านแหงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านหวดทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตีบ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ตีบทั้งตำบล

สถานศึกษา แก้

  • โรงเรียนประชารัฐธรรมคุณ โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งแรกประจำอำเภอ
  • โรงเรียนประชาราชวิทยา โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งที่สอง
  • โรงเรียนดอนไชยวิทยา โรงเรียนเอกชนแห่งแรกของอำเภอ
  • โรงเรียนอนุบาลงาว (ภาณุนิยม) โรงเรียนประถมศึกษาแห่งแรกของอำเภอ

สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง

บุคคลที่มีชื่อเสียง แก้

นักกีฬา

พระเถระผู้ใหญ่

  • พระปิฏกโมลี รองเจ้าคณะจังหวัดลำปางรูปที่ 2 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดจองคำ พระอารามหลวง

เทศกาลและประเพณีประจำปี แก้

  • ประเพณีตานตุงซาววา ในเทศกาลป๋าเวณีปีใหม่เมือง
  • ป๋าเวณีปีใหม่เมืองง้าวเงิน
  • ป๋าวเณีล่องสะเปาจาวเมืองง้าวเงิน
  • ประเพณีตานก๋วยสลากภัต

สถานที่ท่องเที่ยว แก้

พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก แก้

พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก ตั้งอยู่ถนนพหลโยธิน บ้านสวนสัก ตำบลบ้านหวด ระยะทางห่างจากตัวอำเภองาว ประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลหนึ่งในห้าแห่งของประเทศไทย

สะพานโยง แก้

 
สะพานโยงข้ามลำน้ำงาวเป็นสะพานแขวนแห่งแรกของประเทศ สร้าง ปี พ.ศ. 2469

สะพานข้ามลำน้ำงาว เป็นสะพานโยงแห่งแรกของประเทศเริ่มสร้างในปี 2469 คุมการก่อสร้างโดยขุนเจนจบทิศ เสร็จสิ้นเปิดใช้งานปี 2471 ปัจจุบันมีอายุประมาณ 90 ปี เป็นสัญลักษณ์ของอำเภองาว ตัวสะพานเชื่อมตำบลหลวงใต้และตำบลหลวงเหนือ เดิมใช้เป็นทางสัญจร โครงสร้างสะพานเป็นสะพานแขวนทำด้วยเหล็กไม่มีเสาตอม่อ ทางเดินเป็นหมอนไม้ทอดตัวผ่านแม่น้ำเป็นแหล่งพักหย่อนใจทิวทัศที่สวยงาม ไม่อนุญาตให้นำยานพาหนะสัญจรบนสะพาน สามารถเดินศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชาวคนอำเภองาวกับวิถีชุมชนริมแม่น้ำงาว

หล่มภูเขียว แก้

 
หล่มภูเขียว อช.ถ้ำผาไท

หล่มภูเขียว เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านอ้อน อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีลักษณะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เนื้อที่ราว 1-2 ไร่ มีความลึกมากจนมองเห็นเป็นสีเขียวมรกตสวยงาม เป็นที่มาของคำว่าหล่ม ที่แปลว่าแอ่งน้ำ ความลึกแอ่งไม่สามารถระบุได้ สันนิษฐานว่าแอ่งนี้เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกในยุคหิน หรืออาจเกิดจากการยุบตัวของหินปูนซึ่งเคยเป็นเพดานถ้ำมาก่อน แล้วจมลงใต้น้ำ เรียกว่าหลุมยุบ (Sink Hole) ต่อมาจึงกลายเป็นแหล่งรับน้ำ และมีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ระยะทางจากอำเภอประมาณ 12 กิโลเมตร

พระธาตุตุงคำ วัดศรีมุงเมือง แก้

วัดศรีมุงเมือง หรือชื่อเดิมวัดพระธาตุตุงคำ เป็นวัดในเขตเมืองเวียงบนโบราณ สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 500 ปี สร้างพร้อมกับการสร้างเวียงบน เวียงศูนย์กลางการปกครองของเมืองงาวโบราณ ปัจจุบันปรากฏหลักฐานคันดินคูกำแพงเมืองเดิมเมืองเวียงบนบริเวณบันไดนาค ใกล้กับถนนพหลโยธิน

วัดพระธาตุม่อนทรายนอน แก้

วัดม่อนทรายนอน สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2386 ชาวอำเภองาวเรียกว่าวัดดอย ตามตำนานปรากฏเชื่อมโยงกับพระโพธิสัตว์พระพุทธเจ้าแปลงกายเป็นเนื้อทรายเพื่อโปรดสรรพสัตว์ ถูกนายพรานตามล่าจนถึงสถานที่ตั้งวัดปัจจุบัน ทรายตัวดังกล่าวได้แวะดื่มน้ำบริเวณตีนเขา กลายเป็นบ่อน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิให้ประชาชนกินดื่มทางขึ้นสู่วัดม่อนทรายนอน (วัดดอย) สามารถขึ้นได้สองทางได้แก่ทางถนนและทางบันไดนาคเริ่มจากบริเวณข้างบ่อน้ำทิพย์ตีนเขามีความสูงประมาณ 300 ขั้น

วัดจองคำ พระอารามหลวง แก้

 
วิหารไทยใหญ่ วัดจองคำ พระอารามหลวง

ตั้งอยู่ตำบลบ้านหวด บนถนนพหลโยธิน สายลำปาง-งาว ห่างจากตัวอำเภองาว 10 กิโลเมตร วัดจองคำเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง โดยสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ สันนิษฐานว่าก่อสร้างโดยชาวพม่าที่ทำสัมปทานป่าไม้เขตอำเภองาว ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด วิหารชัยภูมิเป็นศิลปะแบบไทยใหญ่ หลังเดิมถูกย้ายไปไว้ ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ หลังปัจจุบันสร้างขึ้นมาใหม่ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 วโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มีการยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง วัดจองคำได้รับคัดเลือกเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ถือเป็นพระอารามหลวงลำดับที่สามในจังหวัดลำปาง เป็นโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัด แต่ละปีผู้ศึกษาปริยัติธรรมสามารถสอบเปรียญธรรมบาลีได้ถึง ป.ธ.9 รับพระราชทานอุปสมบทเป็นนาคหลวงหลายรูป เจ้าอาวาสและเจ้าสำนักปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นรองเจ้าคณะ พระพรหมมงคลวัชโรดม

ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 1 แก้

ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 1 ตั้งอยู่ริมถนนสายพหลโยธินจากจังหวัดลำปางไปพะเยา- เชียงราย ระยะทางจากตัวอำเภองาว 12 กิโลเมตร สองฝั่งถนนมีทิวทัศน์ป่าไม้ ภูเขา ผ่าน สถานีฝึกนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานีบำรุงพันธุ์ไม้สัก สวนรุกขชาติห้วยทาก และศูนย์วิจัยแมลงและจุลชีววิทยาป่าไม้ที่ 1 และห่างจากตัวจังหวัดลำปาง ประมาณ 72 กิโลเมตร

ศาลเจ้าพ่อประตูผา แก้

พ.ศ. 2272 สวาธุหลวง (เจ้าอาวาส) วัดนายาง ตั้งตัวเป็นตนบุญเลี้ยงผีพราย มีคนเข้าหานับถือมาก ธุหลวงวัดสามขากับธุหลวงวัดบ้านฟ่อนสึกออกมาเป็นเสนา เวลานั้นเมืองลำปางไม่มีเจ้าเมืองปกครอง มีแต่พ่อเมืองทั้ง 4 ดูแลบ้านเมือง เจ้าเมืองลำพูนได้ข่าวตนบุญวัดนายาง จึงส่งกองทัพลำพูน นำโดยท้าวมหายสมาปราบ สู้รบกันที่ป่าทันคุมเมือง ฝ่ายตนบุญวัดนายางแตกพ่ายไป แกนนำทั้ง 3 ถูกยิงเสียชีวิต ท้าวมหายสมาตั้งทัพที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ท้าวมหายสออกอุบายส่งหาญฟ้าแมบ หาญฟ้างำ หาญฟ้าฟื้นไปทำทีเจรจากับแสนหนังสือ แสนเทพ นายเรือน ชะเรหน้อย ท้าวลิ้นก่าน แต่เกิดการสู้รบกันขึ้น ชาวลำปางแตกหนีไปอยู่เมืองต้า เมืองลอง เมืองเมาะ เมืองขาง

ท้าวมหายสละพูนถอยฅืนมาอยู่วัดหลวงลำพาง แล้วแต่งใช้เรียกร้องไพร่บ้านไทเมืองออกมาแล้วเก็บเบี้ยเก็บเงินหลังค่าหลังค่าตอ ผู้ใดขัดขวางหล้างควรข้าค็ข้า ควรตีค็ตี มีอันใดริบล้อนเอาเสีย ดั่งร้องวังฝ่ายเหนืออันเปนผู้แต่งบ้านปองเมือง มีแสนหนังสือ แสนเทพ นายเรือน ชะเรหน้อยขัดขวาง บ่สู้อ่อนน้อม ท้าวมหายสละพูนจิ่งแต่งหานฟ้างำ หานฟ้าแมบ หานฟ้าฟื้น ขึ้นไพพร้อมกับแสนหนังสือแลท้าวขุนยังสนามเหมือนจักทือคำเมือง หานฟ้าแมบ ฟ้างำ ฟ้าฟื้น สัญญาพรับตาร่อกันลวดฟันแทงกันยังสนามที่นั้น เปนอันขร้ำเขรือกโกลาหลแตกกระจัดกระจายเข้าห้วยท้างหว่างดอย ขุนแต่งเมืองคือชะเรหน้อย แลท้าวลิ้นก่าน นายน้อยธัมม์ แลชาวบ้านชาวเมือง ละบ้านชองหอเรือนเสีย หนีไพลี้อยู่เมืองต้า เมืองลอง เมืองเมาะ เมืองขางชู่แห่ง ค็มีแล

— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

[7]

ตำนานมุขปาฐะของท้องถิ่นเล่าว่า หนานข้อมือเหล็กเป็นศิษย์ของวัดนายาง ภายหลังเป็นองครักษ์ให้ท้าวลิ้นก่าน เมื่อท้าวลิ้นก่านและชะเรหน้อยหลบหนีไปยังประตูผา กองทัพเมืองลำพูนติดตามมา หนานข้อมือเหล็กจึงสู้รบกับกองทัพลำพูนตายไปจำนวนมาก สามารถปกป้องท้าวลิ้นก่านกับชะเรหน้อยไว้ได้ กองทัพลำพูนถอยทัพกลับเมืองลำปาง ส่วนหนานข้อมือเหล็กสู้รบกับทหารลำพูนจำนวนมากจนตัวเองจนมุมยืนหยัดพิงหน้าผาตาย ต่อมาท้าวลิ้นก่านและชะเรหน้อยสร้างศาลเพียงตาให้แก่หนานข้อมือเหล็ก ซึ่งรู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “เจ้าพ่อประตูผา”

กระทรวงกลาโหมได้อัญเชิญนามมาตั้งเป็นค่ายรบพิเศษประตูผา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของทหารตราบจนปัจจุบัน

อนุสาวรีย์พญางำเมือง แก้

พญางำเมือง อดีตกษัตริย์ผู้ปกครองแคว้นพะเยา นครรัฐอิสระ เป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานกับพญามังรายกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ และพญาร่วงหรือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์สุโขทัย ซึ่งทั้งสามกษัตริย์ได้ทรงกระทำสัตย์ต่อกัน ณ บริเวณน้ำแม่อิง อนุสาวรีย์แห่งนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2560 ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำงาว ใกล้วัดท่านาคบ้านทุ่งศาลา ตำบลนาแก อำเภองาว จังหวัดลำปาง บริเวณต้นสมพงษ์เชื่อว่าเป็นสถานที่สวรรคตของพระองค์

อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท แก้

มีเนื้อที่ประมาณ 758,750 ไร่ มีอาณาบริเวณครอบคลุม อำเภอเมืองลำปาง อำเภอแม่เมาะ และอำเภองาว ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่บริเวณถนนพหลโยธิน ตำบลบ้านหวด ระยะทางจากตัวเมืองลำปางประมาณ 66 กิโลเมตร แยกเข้าทางเข้าบริเวณปากถ้ำผาไทประมาณหนึ่งกิโลเมตร รถยนต์สามารถเข้าถึงบริเวณตีนถ้ำภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย สวยงามมาก สลับซับซ้อนและมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยมากมายที่มีความสวยงามแตกต่างกันไป เหตุการณ์สำคัญเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จประพาสถ้ำผาไท ในครั้งนั้นได้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ ปปร. ไว้ภายในถ้ำเพื่อระลึกในการเสด็จประพาส อุทยานแห่งชาติฯ มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่น ระยะทางเริ่มจากตัวอำเภอดังนี้

  • หล่มภูเขียว 12 กิโลเมตร
  • น้ำตกแม่แก้ 18 กิโลเมตร
  • น้ำตกเก๊าฟุ 19 กิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติแม่ยม แก้

ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ถนนวังซ้ายสายเก่า เขตอำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีเนื้อที่ประมาณ 284,218 ไร่มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ในเขตอำเภองาวกินพื้นที่บริเวณป่าแม่งาวฝั่งซ้าย เขตตำบลแม่ตีบ กรมป่าไม้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2529 สถานที่ท่องเที่ยวอุทยานฯ ในเขตอำเภองาว

  • โป่งน้ำร้อนแม่ตีบ ห่างจากตัวอำเภองาวประมาณ 20 กิโลเมตรตามถนนวังซ้ายสายเก่า

การคมนาคม แก้

อำเภองาว ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 640 กิโลเมตร อำเภองาวเป็นอำเภอยุทธศาสตร์ชายแดนมีระยะทางเดินทางไปตัวจังหวัดใกล้เคียงดังนี้

  • จังหวัดลำปาง 83 กิโลเมตร
  • จังหวัดพะเยา 50 กิโลเมตร
  • จังหวัดแพร่ 89 กิโลเมตร
  • จังหวัดเชียงราย 140 กิโลเมตร
  • จังหวัดน่าน 163 กิโลเมตร
  • จังหวัดเชียงใหม่ 180 กิโลเมตร

การคมนาคมขนส่งมุ่งสู่อำเภองาวมีหลายเส้นทางค่อนข้างสะดวก เนื่องจากอยู่ติดถนนหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน

ทางบก แก้

1. ถนนพหลโยธิน สายเหนือ (กรุงเทพฯ-นครสวรรค์-ตาก-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย) ถนนหลักเริ่มจากกรุงเทพมหานคร ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ตากเข้าเขตจังหวัดลำปางผ่าน อ.เถิน อ.สบปราบ อ.เกาะคา เข้าสู่ตัวเมืองลำปาง 600 กิโลเมตร ขับรถขึ้นเหนือเส้นทางถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-งาวอีกประมาณ 83 กิโลเมตรก็จะถึงตัวอำเภองาว ถนนพหลโยธินเป็นถนน 4 ช่องทางการจราจร สามารถสัมผัสธรรมชาติสวยงามตลอดสองข้างทาง

2. ถนนวังซ้าย หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 103 เส้นทางร้องกวาง-งาว ที่แยกบ้านเป๊าะบรรจบกับทางหลวงหมายแผ่นดินเลข 1 ถนนพหลโยธิน(กรุงเทพ-นครสวรรค์) ทางหลวงหมายเลข 117 (นครสวรรค์-พิษณุโลก)ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 11 (พิษณุโลก-เด่นชัย) จากนั้นผ่านทางทางหลวงหมายเลข 101 (กำแพงเพชร-น่าน) ที่จังหวัดแพร่ ใช้เส้นทางถนนวังซ้ายสายแพร่-สอง-งาว ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 103 บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 1 (กรุงเทพฯ-นครสวรรค์-ตาก-เชียงราย) ที่ อ.งาว จ.ลำปาง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง

รถโดยสารประจำทาง แก้

  • สาย 90 กรุงเทพ-เชียงราย (ก) (กรุงเทพ-นครสวรรค์-ตาก-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย) บริษัท สมบัติทัวร์ อินทราทัวร์ นครชัยแอร์ บางกอกบัสไลน์ทัวร์
  • สาย 922 กรุงเทพ-พะเยา (กรุงเทพ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-แพร่-พะเยา) บริษัท บขส. สมบัติทัวร์
  • สาย 909 กรุงเทพ-เชียงราย (ข) (กรุงเทพ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-แพร่-พะเยา-เชียงราย) บริษัท บขส. สมบัติทัวร์ บางกอกบัสไลน์ทัวร์
  • สาย 962 กรุงเทพ-เชียงของ (กรุงเทพ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-แพร่-พะเยา-เชียงคำ-เชียงของ) บริษัท บขส. สมบัติทัวร์ บางกอกบัสไลน์ทัวร์ บุษราคัมทัวร์
  • สาย 957 กรุงเทพ-แม่สาย (กรุงเทพ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-แพร่-พะเยา-เชียงราย-แม่สาย) บริษัท บขส. สมบัติทัวร์ บางกอกบัสไลน์ทัวร์ นครชัยแอร์
  • สาย 660 ระยอง-เชียงราย-แม่สาย (ระยอง-พัทยา-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-สระบุรี-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย-แม่สาย) บริษัท นครชัยแอร์
  • สาย 660 ระยอง-เชียงราย (ระยอง-พัทยา-ชลบุรี-อยุธยา-นครสวรรค์-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย-แม่สาย) บริษัท นครชัยแอร์
  • สาย 660 ระยอง-เชียงราย (รถด่วนพิเศษ VIP) (ระยอง-พัทยา-ชลบุรี-อยุธยา-นครสวรรค์-ตาก-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย) บริษัท นครชัยแอร์
  • สาย 661 เชียงราย-นครพนม (นครพนม-สกลนคร-อุดรธานี-เลย-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ สมบัติทัวร์
  • สาย 651 นครราชสีมา-แม่สาย (นครราชสีมา-โคกสำโรง-ตากฟ้า-วังทอง-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ นครชัยทัวร์
  • สาย 633 ขอนแก่น-เชียงราย (ขอนแก่น-ชุมแพ-หล่มสัก-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-งาว-พะเยา-เชียงราย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ อีสานทัวร์ สมบัติทัวร์
  • สาย เชียงราย-อุบลราชธานี (อุบลราชธานี-ศีรษะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์-พล-ชัยภูมิ-พิษณุโลก-แพร่-เชียงราย) บริษัท นครชัยแอร์
  • สาย เชียงราย-มุกดาหาร (มุกดาหาร-กาฬสินธุ์-ขอนแก่น-ชุมแพ-หล่มสัก-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย-แม่สาย) บริษัท เพชรประเสริฐทัวร์
  • สาย 622 พิษณุโลก-เชียงราย-แม่สาย (พิษณุโลก-สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย-แม่สาย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ สุโขทัยวินทัวร์
  • สาย 622 พิษณุโลก-เชียงราย-แม่สาย (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย-แม่สาย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ สุโขทัยวินทัวร์
  • สาย 624 พิษณุโลก-เชียงของ (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงคำ-เทิง-เชียงของ) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ สุโขทัยวินทัวร์
  • สาย 663 นครสวรรค์-เชียงราย (นครสวรรค์-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-พะเยา-เชียงราย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ นครสวรรค์ยานยนต์ รถปรับอากาศโฉมใหม่
  • สาย 780 ภูเก็ต-เชียงราย (ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี-ชุมพร-หัวหิน-เพชรบุรี-นครสวรรค์-พิษณุโลก-แพร่-พะเยา-เชียงราย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ ไทยพัฒนกิจขนส่ง
  • สาย 877 หาดใหญ่-เชียงราย-แม่สาย (แม่สาย-เชียงราย-พะเยา-แพร่-อุตรดิตถ์-พิษณุโลก-ทุ่งสง-พัทลุง-หาดใหญ่-ด่านนอก) บริษัท ปิยะชัยพัฒนาทัวร์
  • สาย 148 เชียงใหม่-เชียงราย (เชียงใหม่-ลำพูน-ดอยติ-ลำปาง-งาว-พะเยา-พาน-เชียงราย) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด
  • สาย 149 เชียงใหม่-แม่สาย (เชียงใหม่-ลำพูน-ดอยติ-ลำปาง-งาว-พะเยา-พาน-เชียงราย-แม่จัน-แม่สาย) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด
  • สาย 166-1 เชียงใหม่-สามเหลี่ยมทองคำ (ข) (เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง-งาว-พะเยา-เชียงราย-เชียงแสน-สามเหลี่ยมทองคำ) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด
  • สาย 144 เชียงราย-เด่นชัย (เชียงราย-พาน-พะเยา-แพร่-เด่นชัย) บริษัท แพร่ยานยนต์ขนส่ง (หนานคำทัวร์) จำกัด
  • สาย 673 แม่สาย-แม่สอด (แม่สาย-เชียงราย-พะเยา-งาว-ลำปาง-เถิน-ตาก-แม่สอด) บริษัทผู้เดินรถได้แก่ ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด
  • รถตู้ปรับอากาศลำปาง-งาว บริษัท สหกรณ์เดินรถนครลำปาง จำกัด

ทางรถไฟ แก้

ทางรถไฟสายเหนือ ลงที่สถานีรถไฟนครลำปาง แล้วต่อรถประจำทางสู่อำเภองาวอีก 83 กิโลเมตร อนาคตอันใกล้อำเภองาวกำลังจะมีการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายใหม่เริ่มต้นจากชุมทางสถานีเด่นชัยสิ้นสุดที่สะพานมิตรภาพไทย–ลาว 4 (เชียงของ–ห้วยทราย) ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ทางรถไฟผ่านอำเภองาวระยะทางยาวทั้งสิ้น 52 กิโลเมตรของเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีสถานีรถไฟระดับ 2 เป็นสถานีขนาดกลาง 1 สถานี 2 ป้ายหยุดรถได้แก่

  • สถานีงาว เป็นสถานีขนาดเล็กประจำอำเภอ
  • ป้ายหยุดรถแม่ตีบ ตำบลแม่ตีบ
  • ป้ายหยุดรถปงเตา ตำบลปงเตา

ทางอากาศ แก้

รัฐวิสาหกิจและส่วนราชการ แก้

  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภองาว
  • บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สาขางาว
  • ธนาคารออมสิน สาขางาว
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขางาว
  • สถานีเดินรถนครลำปาง จังหวัดลำปาง สาขางาว (บริษัท ขนส่ง จำกัด)
  • สถานีรถไฟงาว(อนาคต) การรถไฟแห่งประเทศไทย
  • สำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง สาขางาว
  • สำนักงานขนส่งจังหวัดลำปาง สาขางาว
  • สำนักงานเกษตรอำเภองาว
  • สำนักงานสาธารณสุขอำเภองาว
  • สำนักงานปศุสัตว์อำเภองาว

อ้างอิง แก้

  1. "ช.การช่าง-ซิโนไทยฯ ผงาด ปิดดีลแห่งปีสร้างทางคู่ 5 หมื่นล้าน". สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. สรัสวดี อ๋องสกุล. พินิจตำนานลำปาง. พิมพ์ครั้งที่ 2. ลำปาง:ครองช่างการพิมพ์, 2558.
  3. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/225
  4. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่:ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่, 2538
  5. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่:ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่, 2538
  6. จำนวนประชากรและบ้าน จำแนกเป็นรายอำเภอ และรายตำบล จังหวัดลำปาง ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2553, สำนักบริหารทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
  7. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่:ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่, 2538