แคว้นพะเยา[2] หรือ นครรัฐพะเยา[3] เป็นนครรัฐอิสระ[1]ในจังหวัดพะเยา ตั้งอยู่ใกล้น้ำแม่อิงซึ่งไหลลงมาจากเทือกเขาผีปันน้ำ เป็นอาณาจักรร่วมสมัยเดียวกับยุคปลายของหิรัญนครเงินยาง

พะเยา
พุทธศตวรรษที่ 17–พุทธศตวรรษที่ 19
  แคว้นพะเยา
สถานะนครรัฐ[1]
เมืองหลวงพะเยา
(เวียงน้ำเต้าและเวียงลูกตะวันตก)
ศาสนา
พุทธนิกายเถรวาท
การปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์
พระมหากษัตริย์ 
• พุทธศตวรรษที่ 17 - 19
ราชวงศ์พะเยา
ประวัติศาสตร์ 
• สถาปนา
พุทธศตวรรษที่ 17
• ถูกผนวกเข้ากับล้านนา
พุทธศตวรรษที่ 19
ก่อนหน้า
ถัดไป
เงินยาง
อาณาจักรล้านนา
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดพะเยา

แคว้นพะเยาเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในรัชกาลพญางำเมือง เคยขยายอำนาจปกครองนครรัฐน่านระยะหนึ่ง ทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรสุโขทัย แต่ภายหลังในช่วงปี พ.ศ. 1877-1879 พะเยาถูกผนวกเข้ากับล้านนาในสมัยพญาคำฟูที่เข้าปล้นพะเยาจากความร่วมมือของนครรัฐน่าน[4]

ประวัติ

แก้

แคว้นพะเยา เกิดจากการขยายตัวของราชวงศ์ลาวที่แยกตัวออกมาเพื่อสร้างเมืองใหม่ สันนิษฐานว่าประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพญาลาวเงินแห่งเมืองเงินยางได้ส่งเจ้าราชบุตรนามขุนจอมธรรมสร้างเมืองพะเยาและปกครองในฐานะนครรัฐอิสระไม่ขึ้นกับใคร มีความสัมพันธ์อันดีกับเมืองเงินยางในฐานะญาติและพันธมิตร[1]

แคว้นพะเยา เริ่มมีบทบาทโดดเด่นขึ้นต้นพุทธศตวรรษที่ 19 กษัตริย์นามพญางำเมือง กษัตริย์พระองค์ที่เก้า เป็นพระสหายของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพญามังราย[5] ทั้งสามพระองค์ได้ร่วมมือกันทำสัญญาสามกษัตริย์ในปี พ.ศ. 1830 เพื่อต่อต้านการขยายตัวของจักรวรรดิมองโกล ทั้งที่ก่อนหน้านี้พญามังรายเคยยกทัพไปเมืองพะเยาในปี พ.ศ. 1819 ซึ่งไม่ได้รบกันแต่กลับเจรจากัน[6] สรัสวดี อ๋องสกุล ได้สันนิษฐานว่าเป็นเพราะ "...ความเป็นสหายและความเข้มแข็งของพญางำเมืองในขณะนั้นเป็นอุปสรรคต่อการยึดเมืองพะเยา"[1] ด้วยความเข้มแข็งดังกล่าวพญางำเมืองได้ขยายอำนาจและยึดครองนครรัฐน่านโดยส่งพระชายาและราชบุตรไปปกครอง ถือเป็นยุคที่พะเยาเจริญรุ่งเรืองสูงสุด[1]

หลังสิ้นรัชกาลพญางำเมือง ท้าวคำแดงพระโอรสได้ครองเมืองสืบต่อ ยังคงสัมพันธ์อันดีกับล้านนา และเคยช่วยพญาไชยสงครามปราบกบฏขุนเครือ และหลังจากการปราบกบฏก็ได้ขอนางแก้วพอตาธิดาพญาไชยสงครามให้เสกสมรสกับท้าวคำลือ พระราชโอรสซึ่งเป็นกษัตริย์พะเยาองค์สุดท้าย ซึ่งเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี มองว่าการมาของนางแก้วพอตาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พะเยาเสียเอกราช[7] เพราะในปี พ.ศ. 1877-1879 พญาคำฟูแห่งล้านนาทรงประสบความสำเร็จในการปล้นเมืองพะเยาจากความร่วมมือของนครรัฐน่าน และอาจได้รับการสนับสนุนจากนางแก้วพอตาที่เป็นพระปิตุจฉาพญาคำฟู[8] อันเป็นการดีต่อล้านนาที่เมืองเชียงรายและเชียงแสนจะปลอดภัยจากการโจมตีของพะเยา[9] และตั้งเมืองพะเยาเป็นฐานอำนาจที่จะขยายลงไปสู่นครรัฐแพร่และน่านต่อไป[4]

หลังสิ้นเอกราช เมืองพะเยาปรากฏความสำคัญในฐานะส่วนหนึ่งของล้านนาในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน เพราะได้ส่งขุนนางที่มีฐานะเป็นอา ช่วยเหลือให้พระองค์ครองราชย์มาปกครองพะเยา และตอบแทนความชอบด้วยการกำหนดตำแหน่งเจ้าเมืองพะเยาเป็น "เจ้าสี่หมื่น" และในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ทรงให้ความชอบแก่พระยายุทธิษฐิระ อดีตเจ้าเมืองสองแควผู้มาสวามิภักดิ์ให้การยกให้ครองพะเยา แต่กาลต่อมาเมือล้านนาได้ยึดครองนครรัฐแพร่และน่านแล้ว เมืองพะเยาจึงถูกลดบทบาทลง[4]

ประชากร

แก้

ด้วยความที่พะเยาเป็นผลจากการขยายตัวของเมืองเงินยางที่ขยายลงมายังที่ราบลุ่มเชียงราย-พะเยา เป็นดินแดนที่เรียกว่า "โยนก" มีประชากรเป็น ไทยวน ด้านการตั้งถิ่นฐานจะกระจายตามแอ่งหรือที่ราบลุ่มแม่น้ำเป็นแนวยาวตามลำน้ำอิง[10] เมื่อขุนจอมธรรมตั้งเมืองพะเยา ได้รวบรวมไพร่พลจากหัวเมืองต่าง ๆ ได้ 80,000 คน แบ่งเป็น 36 พันนา นาละ 500 คน[11] ชุมชนที่เกิดขึ้นในระยะแรก ๆ เป็นชุมชนเล็ก ๆ แยกกันอยู่เป็นแห่ง ๆ มีผู้นำชุมชนในนามของเจ้าผู้ปกครอง การตั้งชุมชนบ้านและเมืองได้พัฒนาจากถิ่นฐานที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีวัฒนธรรมด้อยกว่า ผสมผสานกับวัฒนธรรมต่างถิ่นที่เจริญกว่า[10] นอกจากนี้ประชากรบางส่วนเป็นชาวกาว โดยเฉพาะที่เมืองงาวที่อยู่ใกล้กับนครรัฐน่านที่มีชาติพันธุ์เดียวกัน[12]

ทั้งนี้แคว้นพะเยาแต่เดิมนับถือผี[10] ต่อมาพญางำเมืองได้มีศรัทธารับคติพุทธศาสนาจากหริภุญชัยมาประดิษฐานในแคว้น[13] หลังการรับพุทธศาสนาจึงมีการสร้างพระพุทธรูปหินทรายและศาสนาวัตถุอื่น ๆ[10] กษัตริย์ทรงนับถือศาสนาพุทธ และตั้งพระองค์ตามหลักทศพิศราชธรรม[11]

ภูมิศาสตร์

แก้

จากการขยายตัวของราชวงศ์ลาวที่ขยายตัวลงมาตามที่ราบลุ่มเชียงราย-พะเยา ทั้งนี้ตัวเมืองพะเยาตั้งอยู่บนลุ่มน้ำอิงที่ไหลลงสู่กว๊านพะเยา เป็นที่ราบปลายภูเขาที่มีชื่อเรียกตามตำนานว่า "ภูยาว" ต่อมาได้กลายเป็นคำว่า "พยาว" และเป็น "พะเยา" ที่ตั้งเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแหล่งน้ำสองแหล่งคือ น้ำแม่อิงและกว๊านพะเยา และเป็นที่ราบกว้างใหญ่เหมาะสมแก่การตั้งเมือง[14]

เมื่อขุนจอมธรรมมาตั้งเมืองพะเยา เวียงแห่งแรกมีผังเมืองเป็นรูปน้ำเต้าเรียก "เวียงน้ำเต้า" ต่อมาในสมัยพญาสิงหราชได้มีการขยายชุมชนออกมาทางกว๊านพะเยาเพราะใกล้แหล่งน้ำเป็นเวียงรูปสี่เหลี่ยมเรียก "เวียงลูกตะวันตก" และถือว่าเวียงทั้งสองเป็นเวียงแฝด ทั้งยังเป็นเวียงหลักของพะเยา นอกจากนี้ยังมีเวียงบริวาร ได้แก่ เวียงพระธาตุจอมทอง, เวียงปู่ล่าม, เวียงหนองหวี และเวียงต๋อม[10]

แต่อย่างไรก็ตามแคว้นพะเยามีข้อจำกัดด้านที่ตั้ง เพราะแวดล้อมไปด้วยเขาสูง พะเยาจึงเป็นเมืองเล็กและค่อนข้างปิด มีเพียงทางตะวันออกเฉียงเหนือที่สามารถติดต่อกับเมืองเชียงของและเชียงรายได้สะดวก ส่วนทิศตะวันตกเป็นเทือกเขาสูงติดกับอำเภอวังเหนือ ด้านใต้ต่ออำเภองาวด้วยเขาสูง ส่วนตะวันออกติดกับนครรัฐน่านที่เต็มไปด้วยขุนเขาเช่นกัน ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวทำให้นครรัฐแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองเพียงช่วงแรก ๆ เท่านั้น ก่อนที่จะถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรล้านนาในกาลต่อมา[14]

โดยแคว้นพะเยา ปกครองเมืองต่าง ๆ ดังนี้[11]

  • ทิศตะวันออก จรดขุนผากาดจำบอน ตาดม้าน บางสีถ้ำ ไทรสามต้น สบห้วยปู น้ำพุง สบปั๋ง ห้วยบ่อทอง ตาดซาววา กิ่วแก้ว กิ่วสามช่อง มีหลักหินสามก้อนฝังไว้กิ่วฤๅษี แม่น้ำสายตา กิ่วช้าง กิ่วง้ม กิ่วเปี้ย ดอยปางแม่นาค
  • ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อแดนขรนคร
  • ทิศตะวันตก โป่งปูดห้วยแก้วดอยปุย แม่คาว ไปทางทิศใต้กิ่วรุหลาว ดอกจิกจ้อง ขุนถ้ำ ดอยตั่ง ดอยหนอก ผาดอกวัว แซ่ม่าน ไปจรดเอาดอยผาหลักไก่
  • ทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีเมืองในอำนาจปกครอง คือ เมืองงาว เมืองกาว สะเอียบ เชียงม่วน เมืองเทิง เมืองสระ เมืองออย สะสาว เมืองดอบ เชียงคำ เมืองลอ เมืองเชียงแลง เมืองหงาว แซ่เหียง แซ่ลุล ปากบ่อง เมืองป่าเป้า เมืองวัง แซ่ซ้อง เมืองปราบ แจ้ห่ม
  • ทิศใต้ จรดนครเขลางค์และนครหริภุญชัย

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แก้

แคว้นเงินยาง

แก้
 
พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ หน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พญางำเมือง และพญามังราย ตามลำดับ

แคว้นพะเยามีความสัมพันธ์กับแคว้นเงินยางด้วยมีปฐมกษัตริย์มาจากเมืองเงินยางดังกล่าว การดำเนินการระหว่างสองรัฐจึงเป็นเป็นในฐานะเครือญาติ เมื่อมีศึกสงครามทั้งสองรัฐก็จะช่วยกันปกป้องบ้านเมือง เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงขุนเจืองครองเมืองพะเยาได้ไปช่วยเมืองเงินยางปราบแกว หลังจากทำสงครามไล่แกวแล้ว ขุนเจืองจึงขึ้นครองเมืองเงินยางสืบมา หรือกรณีของพระชายาของพญางำเมืองคือ นางอั้วเชียงแสน จากชื่อแสดงให้เห็นว่า นางอั้วเป็นธิดาจากเมืองเชียงแสน นั่นคือพะเยาและเงินยางมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่แนบแน่นผ่านการเสกสมรส ด้วยเหตุนี้แคว้นเงินยางจึงเป็นทั้งพระสหายและพระประยูรญาติสนิทสืบเนื่องหลายชั่วอายุคน[15]

อาณาจักรล้านนา

แก้

พญางำเมืองได้มีสัมพันธภาพกับพญามังรายแห่งล้านนา โดยใน พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ระบุว่า พญางำเมืองกับพญามังรายเป็นสหายกันมาแต่รุ่นปู่[5] การเป็นพระสหายของสามกษัตริย์ทำให้เกิดการป้องกันภัยจากการรุกรานของมองโกล ด้วยการทำสนธิสัญญาสามกษัตริย์ในปี พ.ศ. 1830 ทั้งที่ก่อนหน้านี้พญามังรายเคยยกทัพไปเมืองพะเยาในปี พ.ศ. 1819 ซึ่งไม่ได้รบกันแต่กลับมีการเจรจากัน[6]

แม้พะเยาและล้านนาจะมีการเสกสมรสเพื่อสร้างความสัมพันธ์เครือญาติกัน ดังกรณีของนางแก้วพอตาธิดาพญาไชยสงครามกับท้าวคำลือ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพะเยา แต่พะเยาก็ถูกล้านนาหักหลังในสมัยพญาคำฟูที่ได้รับความร่วมมือกับนครรัฐน่าน และหลังจากนั้นเป็นต้นมาพะเยาจึงตกเป็นส่วนหนึ่งของล้านนามาแต่นั้น[4]

อื่น ๆ

แก้
  • อาณาจักรสุโขทัย — พญางำเมืองได้มีสัมพันธภาพกับพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย ด้วยทรงศึกษาที่เมืองละโว้ร่วมรุ่นกัน[15] ทั้งมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติด้วยพระราชธิดาในพญางำเมืองเสกสมรสกับบุคคลชนชั้นปกครองของสุโขทัย[16] ซึ่งเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมีเสนอว่าคือพระยาเลอไทย[17] มีพระราชโอรสด้วยกันคือ พ่องำเมือง
  • นครรัฐน่าน — เคยถูกพญางำเมืองยึดครอง พร้อมกับส่งพระชายาและพระราชบุตรปกครองอยู่หลายปี แต่ได้อิสระในหลายปีต่อมา และภายหลังได้ร่วมมือกับล้านนาปล้นเมืองพะเยาจนเป็นสาเหตุให้แคว้นพะเยาสลายตัวไปเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา[15]
  • แคว้นหริภุญชัย — เผยแผ่ศาสนาพุทธมายังแคว้นพะเยาจนเป็นที่แพร่หลายในรัชกาลพญางำเมือง[13]

รายนามกษัตริย์เมืองพะเยา

แก้
พระนาม ครองราชย์ (พ.ศ.) รวมปีครองราชย์ หมายเหตุ
ขุนจอมธรรม 1602 21 ปี
ขุนเจือง
ลาวเงินเรือง
ไม่ทราบพระนาม
พญามิ่งเมือง
พญางำเมือง 1801-1841
พญาคำแดง
ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา
รายนามเจ้าเมืองพะเยาภายใต้ล้านนา
พระยายุทธิษเฐียร 1994-2022
นาง(เจ้า)หมื่น (นางเมืองพะเยา) 2022-2031
เจ้าสี่หมื่นพะเยาปู่เลี้ยงพระเจ้ายอดเชียงราย 2033-2036
เจ้าสี่หมื่นพะเยาราชครูแห่งพระเจ้ายอดเชียงราย 2036-2039
เจ้าสี่หมื่นพะเยาปู่เลี้ยงพระเจ้ายอดเชียงราย 2039
เจ้าแสนญาณกัลยา 2045-2052
เจ้าเมืองจิต 2056-2058
เจ้าเมืองส้อยพระเยา 2058-2059
เจ้าเมืองผาง 2059-2060
เจ้าคำยอดฟ้า 2060-2062
เจ้าพระยาหน่อเชียงแสน 2062-2064
เจ้าขุนเชียงคง 2064-2078
พระยาเมืองตู้ ?
พ.ศ.2101 เสียเมืองแก่พม่า

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552. หน้า 65
  2. สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552. หน้า 256
  3. สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552. หน้า 62
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552. หน้า 66
  5. 5.0 5.1 "พงศาวดารเชียงแสน". พงศาวดารภาคที่ 61, หน้า 27
  6. 6.0 6.1 ตำนานสิบห้าราชวงศ์ เล่ม 1. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยทางสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2524, หน้า 55
  7. เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า 7
  8. เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี (ปริวรรต). ตำนานเมืองพะเยา. เชียงใหม่ : นครพิงค์, 2554, หน้า 24-25
  9. สุรพล ดำริห์กุล. แผ่นดินล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2539, หน้า 29-31
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 "พัฒนาการทางประวัติศาสตร์". หอมรดกไทย. สืบค้นเมื่อ 2014-01-17.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  11. 11.0 11.1 11.2 "ประวัติความเป็นมาและเหตุการณ์สำคัญ". เว็บไซต์จังหวัดพะเยา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-24. สืบค้นเมื่อ 2014-01-18.
  12. เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า 14
  13. 13.0 13.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ (2537, กรกฎาคม). "คำให้การของบรรณาธิการ". ศิลปวัฒนธรรม. (15:9), หน้า 18
  14. 14.0 14.1 สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552. หน้า 62-63
  15. 15.0 15.1 15.2 สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552. หน้า 65-66
  16. คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ประชุมจารึกภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย ‎(จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2547, หน้า 155
  17. เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า 9-12