พิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2008

พิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 2008สนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่ง (สนามกีฬารังนก) กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยเริ่มเมื่อเวลา 20.00 น. (8:00 PM) ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยมีจาง อี้โหมว ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวจีนที่มีผลงานที่มีชื่อเสียง เช่น Hero, House of Flying Daggers และCurse of the Golden Flower เป็นต้น และ จาง ฉีกัง รับหน้าที่กำกับการแสดง[1][2][3] ซึ่งการแสดงทั้งหมดจะเน้นถึงอารยธรรมจีนโบราณ ผสมผสานกับความทันสมัยในโลกปัจจุบัน โดยใช้นักแสดงกว่า 15,000 คน พิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นพิธีเปิดโอลิมปิกที่ดีที่สุดเท่าที่มีการจัดการแข่งขัน[4]

พิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2008
การแสดงพลุระหว่างพิธีเปิด
วันที่8 สิงหาคม 2008; 16 ปีก่อน (2008-08-08)
เวลา20:00 – 00:09 เวลาท้องถิ่นจีน (UTC+08:00)
สถานที่สนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่ง
ที่ตั้งปักกิ่ง, ประเทศจีน
พิกัด39°59′30″N 116°23′26″E / 39.99167°N 116.39056°E / 39.99167; 116.39056
ถ่ายทำโดยCCTV และ OBS
ผู้เข้าร่วมหลากหลาย
รางวัลหลากหลาย
ภาพยนตร์วิดีโอพิธีเปิดในช่องยูทูบคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ที่ยูทูบ

ผู้อำนวยการแสดง

แก้

จาง อี้โหมว ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวจีนและจาง ฉีกัง ได้รับเลือกจากคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ให้เป็นผู้กำกับการแสดงร่วมกัน นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 2006 คณะกรรมการยังได้เลือก สตีเว่น สปีลเบิร์ก อีเวส เปปิน และริก เบิร์ช เป็นคณะที่ปรึกษา[5] แต่สปิลเบิร์กถอนตัวในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 เนื่องจากไม่พอใจที่จีนสนับสนุนรัฐบาลซูดานในเหตุการณ์รุนแรงที่เขตดาฟูร์[6]

กำหนดการ

แก้
  1. ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เดินทางถึงสนาม
  2. การแสดงก่อนพิธีเปิด
  3. การแสดงกลองฟูและการนับถอยหลังเข้าสู่พิธี
  4. พลุชุด รอยเท้าแห่งความทรงจำ และห่วงโอลิมปิก
  5. พิธีเชิญธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นสู่ยอดเสา
  6. การแสดงชุด ม้วนกระดาษ
  7. การแสดงชุด อักษรจีน
  8. การแสดงชุด เส้นทางสายไหม
  9. การแสดงชุด ดนตรีจีน
  10. การแสดงชุด แสงดาว
  11. การแสดงชุด ธรรมชาติและโลก
  12. ขบวนพาเหรดนักกีฬาและเจ้าหน้าที่
  13. ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิก ณ กรุงปักกิ่ง และประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล กล่าวรายงานและต้อนรับผู้มาร่วมงาน
  14. ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวเปิดการแข่งขัน
  15. พิธีเชิญธงโอลิมปิกขึ้นสู่ยอดเสา
  16. การกล่าวปฏิญานตนของตัวแทนนักกีฬาและตัวแทนกรรมการ
  17. การจุดไฟในกระถางคบเพลิง
  18. พลุเฉลิมฉลอง

ผู้นำประเทศที่เข้าร่วมในพิธีเปิดการแข่งขัน

แก้

พิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 มีพระประมุข ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และผู้แทนประเทศเข้าร่วมพิธีเปิดกว่า 100 ประเทศ[7][8] ซึ่งมากที่สุดเท่าที่มีการจัดการแข่งขันโอลิมปิก[9][10][11] สำหรับประเทศไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพิธีในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย

ลำดับเหตุการณ์​

แก้

ต้อนรับประธานพิธี

แก้

กองดุริยางค์กองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชน บรรเลงเพลง "Welcome March" เพื่อต้อนรับประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน​ หู จิ่นเทา และ ประธานคณะกรรมการ​โอลิมปิกสากล ฌัก โรคเคอ

การแสดงต้อนรับเป็นทางการ

แก้

พิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นที่การแสดงกลองฟูโดยนักแสดงชาย 2,008 คน[12] โดยที่กลองฟูทุกอันมีจอแอลอีดีขนาดเล็กฝังไว้กับหน้ากลอง และจะเรืองแสงเมื่อผู้แสดงเอามือแตะไปที่แป้นเหนือหน้ากลองนั้น นอกจากนี้ยังมีไม้ตีกลองสีแดงที่เรืองแสงในที่มืดชุดละ 1 คู่ ด้วย การแสดงกลองฟู เริ่มจากการแปรเป็นทรงเรขาคณิต เมื่อถึงเวลา 60 วินาที ก่อนพิธีเปิดจะเริ่ม นักแสดงจะแปรเป็นเลขอารบิก เพื่อนับถอยหลังทุก 10 วินาที และเมื่อถึง 10 วินาทีสุดท้าย จะเพิ่มการแปรอักษรเป็นเลขจีนด้วย และเพิ่มความถี่เป็น 1 วินาทีต่อครั้ง [13][14] เมื่อนับถอยหลังและมีการจุดพลุไฟแล้ว นักแสดงแสดงท่าทางเพื่อแสดงความแข็งแรงและความอ่อนช้อยพร้อมกัน จากนั้นจะใช้ไม้กลองเพื่อตีให้เกิดจังหวะ และในช่วงท้ายมีการดับไฟฟ้าในสนามเพื่อใช้เทคนิคเรืองแสงของไม้กลอง

จากนั้น พลุรูปรอยเท้า จำนวน 29 ดอก ถูกจุดขึ้นด้วยความถี่ 1 วินาทีต่อดอก เคลื่อนจากใจกลางของกรุงปักกิ่งมายังสนาม [15] โดยพลุแสดงถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่มีมาแล้ว 28 ครั้ง และดินปืนซึ่งคิดค้นโดยชาวจีน เมื่อพลุรอยเท้าดอกที่ 29 ถูกจุดเหนือสนาม พลุสายธารก็ถูกจุดจากขอบหลังคาสนามลงมาถึงพื้นสนาม และรวมตัวกันเป็นห่วงโอลิมปิกจากพื้นลอยขึ้นกลางอากาศ[16] ร่วมกับผู้แสดงเป็นนางฟ้า 20 คนที่ลอยกลางสนาม

หลังจากนั้นเป็นพิธีเชิญธงชาติจีนขึ้นสู่ยอดเสา โดยเด็ก 56 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของชนเผ่าต่างๆ ในจีนได้เดินนำธงส่งให้แก่ทหารแห่งกองทัพบกกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน จากกองพันทหารกองเกียรติยศ กองทัพปลดปล่อยประชาชน ทั้งหมด 8 นาย เป็นผู้เชิญธง โดยระหว่างนั้น หลิน เมี่ยวเข่อ เด็กหญิงวัย 9 ขวบ ได้ขับร้องเพลง ลำนำเพื่อมาตุภูมิ ด้วย[17] จากนั้นธงชาติจีนได้ถูกคลี่ปลายธงและเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสา โดยมีคณะนักร้องประสานเสียง 224 คน ร้องนำเพลงชาติจีน

การแสดงเปิดการแข่งขัน

แก้

การแสดงเปิดการแข่งขันชุดแรก เป็นภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับวิธีการทำกระดาษ ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นโดยชาวจีนอีกอย่างหนึ่ง จากนั้น ม้วนกระดาษขนาดใหญ่ก็ปรากฏกลางสนามพร้อมกับคลี่ออกอย่างช้าๆ และฉายภาพเครื่องถ้วยโบราณของจีน ส่วนตรงกลางของม้วนกระดาษเป็นผืนผ้าใบซึ่งมีนักแสดงที่แต่งชุดดำและทาหมึกไว้ทั่วตัวกลิ้งตัวไปมาเป็นรูปท้องฟ้า ภูเขา และดวงอาทิตย์ สื่อให้เห็นถึงการเขียนภาพด้วยหมึกจีน[18] ต่อมา เมื่อผืนผ้าใบถูกยกขึ้นแล้ว พื้นที่เดิมมีผืนผ้าใบก็แยกออก และมีนักแสดงจำนวน 897 คน ถือบล็อกอักษรจีนที่ไม่ซ้ำกัน และแปรอักษรเป็นคำว่า 和 (การประสานสามัคคี) ในสามรูปแบบ คือ จารึกทองแดง ตราประทับโบราณ และอักษรซ่งตี้ แสดงให้เห็นถึงการคิดค้นและพัฒนาอักษรจีน นอกจากนี้ นักแสดงจำนวน 810 คน ที่แต่งชุดแสดงถึงลูกศิษย์ของขงจื้อ (Rujia) ในยุคราชวงศ์ฮั่น (ร่วมสมัยกับยุคสามก๊ก) โดยสวมหมวกขนนกและถือม้วนหนังสือไม้ไผ่ ได้วิ่งออกมาจากข้างสนาม พร้อมกับเสียงท่องปรัชญาของขงจื้อสองวรรค คือ "เป็นการดีมิใช่หรือที่จะมีมิตรจากแดนไกล" และ "มนุษย์ทั้งหลายคือพี่น้องจากทะเลทั้งสี่" ส่วนเหล่าบล็อกอักษรจีนได้แปรเป็นรูปกำแพงเมืองจีน และมีดอกท้อบานจากบล็อกเหล่านั้น แสดงถึงความซื่อสัตย์ซึ่งเป็นคุณลักษณ์สำคัญของชาวจีน เมื่อนักแสดงโผล่จากบล็อกอักษรจีนเพื่อทักทายแก่ผู้ชมแล้ว นักแสดงอีกชุดที่สวมชุดสีน้ำตาลแดงคล้ายนักรบโบราณ[19] พร้อมด้วยการแสดงงิ้วและหุ่นละครเล็กแบบปักกิ่งก็เคลื่อนสู่สนาม พร้อมด้วยการเพิ่มลายเส้นบนผืนผ้าใบ ประกอบการบรรเลงด้วยกู่เจิ้ง (guqin)

จากนั้น เป็นการแสดงในชุด เส้นทางสายไหม โดยมีนักแสดงหญิงเต้นบนผืนผ้าใบ โดยมีนักแสดงชายกว่าร้อยคนประคองผืนผ้าไว้ด้านล่าง จากนั้น นักแสดงชายอีกชุดที่สวมชุดสีน้ำเงิน ถือไม้พายเรือ ซึ่งใบพายสามารถประกอบกันเป็นรูปเรือสำเภา ได้แสดงท่าพายเรือ แสดงถึงการเดินทางของเจิ้งเหอหรือซำปอกง และเข็มทิศโบราณซึ่งเป็นงานประดิษฐ์สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของชาวจีน

ในช่วงต่อไป เป็นการแสดง kunqu ซึ่งเป็นงิ้วประเภทหนึ่ง มีผู้แสดงชายหนึ่งคน หญิงหนึ่งคน ยืนร้องเพลงบนผืนผ้าใบ จากนั้น เหล่านางระบำในชุดสมัยราชวงศ์ถังก็เข้าสู่สนาม พร้อมกับมีแท่นที่มีนักแสดงชายถือพิณจีน จำนวน 14 แท่น และแท่นเหล่านั้นได้ยกขึ้นเป็นเสาคล้ายเสามังกรในพระราชวังต้องห้าม (huabiao (华表))

หลังจากมีการจุดพลุแล้ว การแสดงในองก์ที่สองก็เริ่มขึ้น โดย หลาง หลาง นักเปียนโนชาวจีน และ หลี่ มู่ซี เด็กหญิงวัย 5 ขวบ[20] ได้ร่วมกันบรรเลงเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแม่น้ำเหลือง (แยงซีเกียง) พร้อมกันนั้น นักแสดงรอบตัวหลางและหลี่จำนวน 1,000 คน ได้แปรเป็นคลื่นสีรุ้งและนกพิราบ เพื่อแสดงถึงการก้าวสู่ยุคใหม่ของจีน จากนั้น นักแสดงดังกล่าวได้ต่อตัวเป็นรูปสนามกีฬารังนก จากนั้นเด็กหญิงอีกหนึ่งคนได้ลอยเข้าสู่สนามพร้อมกับว่าว และมีแสงกะพริบจากตัวผู้แสดงที่กำลังต่อตัว

การแสดงชุดต่อมา เป็นการแสดงรำไทเก๊ก โดยนักแสดง 2,008 คน สื่อให้เห็นถึงการประสานกันระหว่างมนุษย์กับธาตุทั้งห้าของจีน (ดิน น้ำ ไฟ ไม้ ทอง) [21] ต่อจากนั้น นักแสดงเด็กที่เคยเชิญธงชาติจีนในช่วงต้นพิธี ได้กลับเข้าสนามโดยสวมชุดลำลอง พวกเขาร้องเพลงและตกแต่งภาพภูเขาและดวงอาทิตย์ที่เป็นหมึกสีดำให้มีสีสันมากขึ้น สลับกับการแสดงไทเก็กรอบผืนผ้าใบนั้น เมื่อผืนผ้าใบถูกยกขึ้นอีกครั้ง ภาพฉากที่ขอบหลังคาสนาม ฉายแสดงนกสีสันสดใส แสดงถึงการเกิดใหม่ และหมายรวมถึงสนามกีฬาแห่งนี้ด้วย

การแสดงชุดสุดท้ายของช่วงนี้ เป็นการแสดงเปิดตัวเพลงประจำการแข่งขัน โดยมีมนุษย์อวกาศลอยกลางสนาม แสดงถึงการสำรวจอวกาศของจีน[22] จากนั้นมีทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 ฟุต หนัก 16 ตัน ปรากฏกลางสนาม มีนักแสดงกายกรรม 58 คนแสดงท่าเดิน วิ่ง ตีลังกา บนพื้นผิวทรงกลมนั้น และพื้นผิวดังกล่าวได้เปล่งแสงคล้ายโคมไฟจีน ช่วงต่อมา หลิว ฮวน นักร้องชาวจีน และซาราห์ ไบรท์แมน นักร้องชาวอังกฤษ ได้ขับร้องเพลง You and Me ซึ่งเป็นเพลงประจำการแข่งขัน [23] ขณะเดียวกัน พื้นผิวทรงกลมได้ฉายภาพการแข่งขันกีฬา และนักแสดงรอบทรงกลม 2,008 คน ได้กางร่มแสดงใบหน้าเด็กจากชาติต่างๆ ที่ยิ้มแย้ม จากนั้น มีการแสดงเต้นรำจากตัวแทนชนเผ่าในจีนเพื่อนำนักกีฬาเข้าสู่สนาม

ขบวนพาเหรดนักกีฬาและเจ้าหน้าที่

แก้

การเดินพาเหรดของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ เริ่มต้นที่กรีซเป็นประเทศแรก และประเทศจีนเจ้าภาพเป็นอันดับสุดท้ายตามธรรมเนียมโอลิมปิก ส่วนประเทศอื่นจะเรียงตามลำดับขีดในการเขียนอักษรจีนอย่างง่าย หากอักษรตัวแรกของชื่อประเทศมีจำนวนขีดเท่ากัน จะเทียบขีดของอักษรตัวถัดไป[24]

ขบวนนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ เริ่มด้วยหญิงสาวถือป้ายรูปม้วนหนังสือ มีอักษรชื่อประเทศพิมพ์ไว้เป็นภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และจีน ส่วนการประกาศชื่อประเทศ จะประกาศเป็นภาษาทั้งสามตามลำดับ โดยการเดินพาเหรดจะมีการบรรเลงดนตรีพื้นเมืองจากทั้ง 5 ทวีป (เอเชีย ยุโรป อเมริกา แอฟริกา และออสเตรเลีย) ประกอบ และผู้ที่ร่วมในขบวนพาเหรดทุกคนจะเดินผ่านกองเชียร์สาวชาวจีน รวมทั้งกลางสนามจะมีหมึกสีต่างๆ เพื่อให้ผู้ร่วมขบวนเดินผ่านต่อไปยังภาพบนผืนผ้าใบที่เด็กได้เติมสีก่อนหน้านี้ เสมือนกับว่าได้เติมรุ้งบนผืนผ้านั้น

สำหรับขบวนนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยได้เดินเข้าสู่สนามเป็นลำดับที่ 145 ต่อจากตูนิเซีย โดยมีวรพจน์ เพชรขุ้ม นักมวยสากลสมัครเล่น เป็นผู้เชิญธงชาติเข้าสู่สนาม ส่วนจีนประเทศเจ้าภาพ มีเหยา หมิง นักบาสเกตบอล เป็นผู้เชิญธงชาติ และหลิน เหา เด็กชายผู้รอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ร่วมในขบวน[25][26]

ในขบวนพาเหรด ผู้ชมในสนามจะให้การต้อนรับเป็นพิเศษแก่ชาติที่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาราชการ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน รวมทั้งปากีสถาน เกาหลีเหนือ อิรัก รัสเซีย[ต้องการอ้างอิง] สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร (เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2012) ออสเตรเลีย และแคนาดา (เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว 2010) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ไม่ได้เดินพาเหรดร่วมกันเหมือนโอลิมปิก 2 ครั้งก่อนหน้า เนื่องด้วยความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง[27]

เมื่อนักกีฬาทุกชาติเข้าประจำที่แล้ว พื้นที่ผืนผ้าตั้งอยู่จะถูกยกขึ้น เพื่อเป็นแท่นสำหรับพิธีการต่อไป

พิธีการของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล

แก้

นายหลิว ฉี ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวต้อนรับและรายงานเป็นภาษาจีนกลาง จากนั้น นายฌัก โรคเคอ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล กล่าวต้อนรับนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และผู้ร่วมพิธีเปิด โดยชื่นชมการจัดการแข่งขันของจีน และยังกล่าวให้กำลังใจนักกีฬา ขอให้นักกีฬาทำตามความสามารถของตนอย่างเต็มที่โดยไม่ใช้สารกระตุ้น

จากนั้น นายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ตามด้วยการเชิญธงโอลิมปิกโดยนักกีฬาที่มีชื่อเสียงของจีน 8 คน ได้แก่

  • จาง เซี่ยหลิน (เทเบิลเทนนิส)
  • ปัน โดว (นักปีนเขา)
  • เจิ้ง เฟิ่งหรง (กรีฑา)
  • หยาง หยาง (สเก็ตระยะสั้น)
  • หยาง หลิง (ยิงธนู)
  • หมิว เซียงเสี่ยง (ว่ายน้ำ)
  • เซี่ยง หนี่ (กระโดดน้ำ)
  • หลี่ หลิงเหว่ย (แบดมินตัน)

ทั้งแปดคนนำธงส่งให้แก่ทหารเพื่อเชิญสู่ยอดเสา โดยมีเด็ก 80 คน นำร้องเพลงโอลิมปิกเป็นภาษากรีก จากนั้น จาง อี้หนิง นักกีฬาเทเบิลเทนนิส และหวง หลีปิง ผู้ตัดสินยิมนาสติก กล่าวคำปฏิญานตน ตามลำดับ จากนั้นจึงเป็นพิธีการปล่อยนกพิราบ

การจุดไฟในกระถางคบเพลิง

แก้

หลังจากพิธีการปล่อยนกพิราบ ซู ไห่เฟิง อดีตนักกีฬายิงปืน เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกของจีน ได้นำคบเพลิงโอลิมปิกเข้าสู่สนาม ส่งต่อให้แก่นักกีฬาอีก 6 คน ได้แก่

  • เกา หมิน (นักกีฬาคนแรกของจีนที่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเป็นครั้งที่สอง)
  • หลี เสี่ยวช่วง (นักกีฬาคนแรกของจีนที่สามารถคว้าทั้งเหรียญทองโอลิมปิกและรายการชิงแชมป์โลก)
  • ซาน ซูกัง (นักกีฬายกน้ำหนักคนแรกของจีนที่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกสองครั้งติดต่อกัน)
  • จาง จุน (อดีตนักกีฬาแบดมินตัน)
  • เฉิน สง (นักกีฬาเทควันโดคนแรกของจีนที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก)
  • ซุน จินฟาง (นักกีฬาวอลเลย์บอลในทีมจีนที่สามรถคว้าแชมป์รายการใหญ่ได้เป็นครั้งแรก)

ซุนได้ส่งคบเพลิงต่อให้นักกีฬาคนสุดท้าย คือ หลี่ หนิง (นักกีฬายิมนาสติกเจ้าของ 3 เหรียญทอง ในโอลิมปิกฤดูร้อน 1984 ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา) ซึ่งยืนบนแท่นคล้ายป้อมปราการของกำแพงเมืองจีน จากนั้น สลิงได้ยกตัวหลี่ขึ้นจนสูงเท่ากับขอบหลังคาสนาม และหลี่ได้วิ่งกลางอากาศไปตามความยาวขอบหลังคาด้านในของสนาม ขณะเดียวกันภาพที่ขอบนั้นได้ฉายรูปม้วนกระดาษสีแดงคลี่ออกเป็นภาพบรรยากาศการวิ่งคบเพลิงตั้งแต่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซจนถึงกรุงปักกิ่ง (ครั้งที่สอง) และสิ้นสุดที่จุดที่ตั้งกระถางคบเพลิงพร้อมกับตัวหลี่ หลี่ได้จุดชนวนให้ไฟวิ่งเข้าสู่กระถางคบเพลิงรูปทรงเกลียวม้วนกระดาษสีแดงและเทา ส่วนบนประดับด้วยลายเมฆมงคล

เมื่อคบเพลิงถูกจุดขึ้น ได้มีการจุดดอกไม้ไฟเฉลิมฉลอง และการแสดงโดยศิลปินจากจีนและฮ่องกง 2 เพลง คือ เพลง "Stand Up" ขับร้องโดย เฉิน หลง คาเรน ม็อก Han Hong และ Sun Nan และเพลง "Cheering for Life" ขับร้องโดย หลิว เต๋อหัว เซียะ ถิงฟง Joey Yung Wakin Chau Wang Feng และ Sun Yue โดยช่วงการแสดงเพลงทั้งสองนี้นี้ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมถ่ายทอดสด

พิธีเปิดการแข่งขันสิ้นสุดเมื่อเวลา 00.09 น. ของวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 23.09 น. ของวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ตามเวลาประเทศไทย ช้ากว่ากำหนดการเดิมประมาณ 40 นาที

ข้อวิจารณ์ ข้อผิดพลาด และอุบัติเหตุ

แก้

อุบัติเหตุและข้อผิดพลาด

แก้

ในการซ้อมพิธีเปิดการแข่งขัน หลิว หยวน นักแสดงคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บสาหัส [28] นอกจากนี้ สถานีโทรทัศน์เอสบีเอสของเกาหลีใต้ได้แพร่ภาพการซ้อมใหญ่พิธีเปิดในวันที่ 6 สิงหาคม จนคณะกรรมการจัดการแข่งขันห้ามมิให้สถานีดังกล่าวถ่ายทอดพิธีการในวันจริง [29]

ในวันพิธีจริงช่วงพิธีการจุดคบเพลิง คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งที่ใช้ระหว่างพิธีการ (ฉายภาพบนขอบหลังคาด้านในของสนามกีฬา) ได้เกิดข้อผิดพลาด โดยแสดงจอฟ้า (Blue Screen of Death) แต่ข้อผิดพลาดนี้ไม่ได้ออกอากาศ[30]

การลิปซิงค์และใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

แก้

หลังจากพิธีเปิดการแข่งขันประมาณ 4-5 วัน สำนักข่าวบีบีซีของสหราชอาณาจักรได้รายงานว่า การร้องเพลง ลำนำเพื่อมาตุภูมิ ของ หลิน เมี่ยวเข่อ ในช่วงพิธีการเชิญธงชาติจีนนั้น ไม่ใช่เสียงของเธอจริง แต่เป็นเสียงของหยาง เพ่ยยี่ โดยเดิมนั้นหยางจะยืนร้องเพลงนี้ แต่ทางทีมงานเปลี่ยนตัวเป็นหลินเพราะมีฟันที่เป็นระเบียบมากกว่า ซึ่งการเปลี่ยนตัวนี้เกิดขึ้นไม่นานก่อนพิธีการจริง[31] โดยเฉิน ฉีกัง ผู้อำนวยการแสดงร่วมกล่าวว่า แม้หยาง เพ่ยยี่จะมีเสียงร้องที่ไพเราะ แต่ขณะเดียวกันทีมงานต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ที่ออกสู่สายตาผู้ชมด้วย เพื่อการแสดงที่สมบูรณ์แบบ ส่วนหยางเจ้าของเสียงแม้จะไม่ได้ขึ้นร้องจริง แต่ก็ยังรู้สึกภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นคนร้องเพลงนี้

อย่างไรก็ตาม การลิปซิงค์ในพิธีเปิดโอลิมปิก ไม่ได้เกิดในคราวนี้เป็นครั้งแรก เพราะเมื่อพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาว 2006 ณ เมืองตูริน ประเทศอิตาลี ลูเชียโน ปาวารอตตี นักร้องโอเปราที่มีชื่อเสียง ต้องขึ้นแสดงท่ามกลางสภาพอากาศหนาว และอาการของโรคมะเร็งที่กำเริบ กระทั่งเขาเสียชีวิต จึงมีการเปิดเผยว่าเขาจำเป็นต้องลิปซิงค์เพื่อความสมบูรณ์ที่สุดของการแสดง [32]

นอกจากนี้มีการเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในช่วงการจุดพลุรูปรอยเท้า ไม่ได้จุดจริงทุกนัด แต่มีการเตรียมการถ่ายทำไว้ก่อน แล้วใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกช่วยในการตกแต่งภาพให้สมบูรณ์ขึ้น[32]

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

แก้

จีนได้เตรียมจรวด 1,104 นัด สำหรับยิงขึ้นไปยังก้อนเมฆ กรณีที่มีเมฆหนาจนคาดว่าจะมีฝนตกหนักในช่วงพิธี [33]

ผลตอบรับ

แก้

ไฮน์ เวอร์บรุคเก้น ประธานคณะกรรมธิการประสานงานโอลิมปิกครั้งที่ 29 กล่าวว่าพิธีเปิดครั้งนี้เป็น "ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน"[34] ส่วนสำนักข่าวเอเอฟพี สำนักข่าวบีบีซี และนิตยสารไทม์ ต่างชื่นชมว่าเป็นพิธีเปิดที่น่าตื่นตาตื่นใจ [35][36][37] สำนักข่าวเอพีเองก็ชื่นชมพิธีเปิดนี้ และรายงานเพิ่มว่าพิธีนี้เต็มไปด้วยจินตนาการ สามารถตรึงตราผู้ชมได้ดี อีกทั้งวิจารณ์ว่าพิธีเปิดนี้ไม่มีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง (เช่น ระบอบคอมมิวนิสต์ หรือเหม๋า เจ๋อ ตง) [38] หนังสือพิมพ์ยูเอสเอ ทูเดย์ วิเคราะห์ว่าพิธีเปิดนี้เป็นการแสดงวัฒนธรรมจีนอย่างภาคภูมิใจ [39]

แม้ว่าสื่อต่างประเทศส่วนใหญ่จะชื่นชมพิธีเปิดครั้งนี้ [40] แต่ก็มีนักวิจารณ์บางส่วนที่วิจารณ์ในแง่ลบ[41] เช่น ดูกระด้าง ขาดความอ่อนช้อย [42] ขาดความสนุกสนาน [43] เป็นต้น

ในพิธีเปิดครั้งนี้ มีการประมาณการณ์ว่ามีผู้ชมทางโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตประมาณหนึ่งพันล้านถึงสี่พันล้านคน ซึ่งอาจจะเป็นรายการโทรทัศน์ที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก[44][45][46][47] สำหรับในประเทศไทย ในเว็บไซต์ พันทิปดอตคอม มีการตั้งกระทู้รายงานสดพิธีเปิด ทั้งในห้องศุภชลาศัยและเฉลิมไทย เมื่อพิธีเปิดเสร็จสิ้น สมาชิกต่างชื่นชมการแสดงที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมจีน และแสดงถึงพลังมนุษย์มากที่สุด ส่วนวิธีการจุดคบเพลิง มีความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นว่าการจุดคบเพลิงนั้นเรียบง่าย แต่สื่อให้เห็นถึงที่มาของคบเพลิงและความเป็นจีนได้ดี ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่าการจุดแบบดังกล่าว ศุภักษร ผู้กำกับการแสดงในพิธีเปิดกีฬาแห่งชาติ เคยใช้มาแล้ว จึงไม่รู้สึกตื่นตาตื่นใจเท่าที่ควร อีกทั้งมีการเปรียบเทียบกับพิธีเปิดโอลิมปิกใน ค.ศ. 1992 ที่ใช้การยิงธนู และปี ค.ศ. 2000 ที่จุดคบเพลิงในน้ำด้วย

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "Tickets Infomation - The official ticketing website of the BEIJING 2008 Olympic Games". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-16. สืบค้นเมื่อ 2008-08-16.
  2. "Beijing Confirms the Opening Ceremony Time for 2008 Olympics" เก็บถาวร 2008-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Travel China Guide. Retrieved on August 2, 2008
  3. "Opening Ceremony plan released". Official website. 2008-08-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-14. สืบค้นเมื่อ 2008-08-08.
  4. "Press hails 'greatest ever' Olympic opening show". Agence France-Presse. 2008-08-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-12. สืบค้นเมื่อ 2008-08-09.
  5. Chinadaily. "Chinadaily." Zhang Yimou to direct opening ceremony of Beijing Olypmics. Retrieved on 2008-07-04.
  6. Rachel Abramowitz (2008). "Spielberg drops out as Beijing Olympics advisor". Los Angeles Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-03. สืบค้นเมื่อ 2007-02-13.
  7. "Emotion kicks off China's Olympics". CNN. 9 August 2008. สืบค้นเมื่อ 21 August 2009.
  8. "FACTBOX: World leaders to attend Olympics opening in Beijing". Reuters. 6 August 2008. สืบค้นเมื่อ 21 August 2009.
  9. "Beijing 2008 Olympics--People's Daily Online". en.people.cn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 August 2022. สืบค้นเมื่อ 2020-08-10.
  10. "Scholar: Gathering of world leaders for Olympics shows positive view of China_English_Xinhua". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 August 2008. สืบค้นเมื่อ 7 August 2008.
  11. "Beijing lifts air quality goal for games" เก็บถาวร 4 พฤษภาคม 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, World News Australia
  12. Ancient Chinese music at Beijing Olympics opening
  13. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-20. สืบค้นเมื่อ 2008-08-16.
  14. Beijing dazzles: Chinese history, athletes on parade as Olympics begin August 8, 2008, CBC Sports.
  15. Olympics: the power and the glory - China leaves world awestruck
  16. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-20. สืบค้นเมื่อ 2008-08-16.
  17. [1] "Little girl sings at opening ceremony of Beijing Olympics". Zhou Liang, Xinhua, 9 August 2008.
  18. Feature: Chinese culture shines at dazzling Olympics opening ceremony 2008-08-09.
  19. Beijing dazzles: Chinese history, athletes on parade as Olympics begin August 8, 2008, CBC Sports.
  20. Lang delights the crowd with moving performance Chen Jie, China Daily Staff Writer.
  21. Art performance of Beijing Olympics opening ceremony showcases Chinese culture www.chinaview.cn, 2008-08-08
  22. Beijing dazzles: Chinese history, athletes on parade as Olympics begin August 8, 2008, CBC Sports.
  23. Olympics: the power and the glory - China leaves world awestruck
  24. "Opening Ceremony plan released". Official website. 6 August 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 August 2008. สืบค้นเมื่อ 6 December 2013.
  25. "Yao Ming and boy from quake zone lead Team China into opening ceremony". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 April 2009. สืบค้นเมื่อ 21 August 2009.
  26. Hughes, Mary (9 August 2008). "Beijing's Opening Ceremony Finds a Hero". Most Valuable Network, MA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 September 2008. สืบค้นเมื่อ 21 August 2009.
  27. Tedmanson, Sophie (8 August 2008). "North and South Korea to march separately in Olympics opening ceremony". Times of London. สืบค้นเมื่อ 9 August 2008.
  28. [2] เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [3]
  29. Broadcaster banned for Olympic breach
  30. "Blue Screen of Death Strikes Bird's Nest During Opening Ceremonies Torch Lighting". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-16. สืบค้นเมื่อ 2008-08-16.
  31. Spencer, Richard (12 August 2008). "Beijing Olympics: Faking scandal over girl who 'sang' in opening ceremony". The Telegraph. London. สืบค้นเมื่อ 21 August 2009.
  32. 32.0 32.1 หนูน้อยชุดแดงในโอลิมปิกส์ลิปซิงค์จนดังเจ้าของเสียงถูกปลดเหตุฟันไม่สวย เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เรียกดูข้อมูลเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2551
  33. 開幕人工消雨 千枚火箭彈攔截雲朵 [4]
  34. "Verbruggen: Opening Ceremony a grand success". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-28. สืบค้นเมื่อ 2008-08-16.
  35. "Beijing's Games kick off with spectacular opening ceremony". AFP. 2008-08-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-03. สืบค้นเมื่อ 2008-08-09.
  36. "Games begin with spectacular show". BBC. 2008-08-08. สืบค้นเมื่อ 2008-08-09.
  37. "Olympic Opening Ceremony spectacular sets the bar high for London 2012". Times Online. 2008-08-08. สืบค้นเมื่อ 2008-08-09.
  38. "China opens its long-sought Olympics spectacularly". Associated Press. 2008-08-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-03. สืบค้นเมื่อ 2008-08-16.
  39. "China opens Olympics with fireworks, pageantry". USA Today. 2008-08-08. สืบค้นเมื่อ 2008-08-09.
  40. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-12. สืบค้นเมื่อ 2008-08-16.
  41. http://www.straitstimes.com/Breaking%2BNews/World/Story/STIStory_266513.html
  42. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-28. สืบค้นเมื่อ 2008-08-16.
  43. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-10. สืบค้นเมื่อ 2008-08-16.
  44. Goldsmith, Belinda (11 August 2008). "Beijing opening night lures 15 percent of world". Reuters. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 August 2008. สืบค้นเมื่อ 11 August 2008.
  45. Dean, Jason; Fong, Mei (9 August 2008). "Opening Ceremonies Aim To Illustrate Rise to Global Power". The Wall Street Journal. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 August 2008. สืบค้นเมื่อ 11 August 2008.
  46. Sweney, Mark (8 August 2008). "Beijing Olympics: UK firm behind TV titles for China state broadcaster". The Guardian. London. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 August 2008. สืบค้นเมื่อ 11 August 2008.
  47. Baynes, Dan (8 August 2008). "China's Hu Opens Beijing Games to Global Audience of Billions". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 11 August 2008.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้