ระบบสุริยะ
ระบบสุริยะ (อังกฤษ: Solar System) คือระบบดาวซึ่งประกอบด้วยดวงอาทิตย์และวัตถุอื่น ๆ ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์เนื่องจากแรงโน้มถ่วง ได้แก่ ดาวเคราะห์ 8 ดวงกับดวงจันทร์บริวารที่ค้นพบแล้ว 279 ดวง[4] ดาวเคราะห์แคระ 5 ดวงกับดวงจันทร์บริวารที่ค้นพบแล้ว 4 ดวง กับวัตถุขนาดเล็กอื่น ๆ อีกนับล้านชิ้น ซึ่งรวมถึง ดาวเคราะห์น้อย วัตถุในแถบไคเปอร์ ดาวหาง สะเก็ดดาว และฝุ่นระหว่างดาวเคราะห์
อายุ | 4.568 พันล้านปี |
---|---|
ที่ตั้ง | |
มวลของระบบ | 1.0014 มวลดวงอาทิตย์ |
ดาวฤกษ์ที่ใกล้ที่สุด |
|
ระบบดาวเคราะห์ใกล้สุดที่ทราบ | ระบบพร็อกซิมาคนครึ่งม้า (4.2441 ปีแสง) |
ระบบดาวเคราะห์ | |
กึ่งแกนเอกของดาวเคราะห์นอกสุดที่ทราบ (ดาวเนปจูน) | 30.11 หน่วยดาราศาสตร์ (4.5 พันล้าน กม.; 2.8 พันล้าน ไมล์) |
ระยะห่างจากแถบไคเปอร์หน้าผา | ~50 หน่วยดาราศาสตร์ |
จำนวนดาวฤกษ์ | 1 ดวง (ดวงอาทิตย์) |
จำนวนดาวเคราะห์ที่ทราบ |
|
จำนวนดาวเคราะห์แคระที่ทราบ | |
จำนวนบริวารที่รู้จักกัน |
|
จำนวนดาวเคราะห์น้อยที่ทราบ | 1,199,224 ดวง[b][2] |
จำนวนดาวหางที่ทราบ | 4,402 ดวง[b][2] |
จำนวนวัตถุกลมที่ระบุได้ | 19 |
วงโคจรเกี่ยวกับศูนย์กลางดาราจักร | |
ความเอียงของระนาบแปรผันไม่ได้ถึงระนาบดาราจักร | 60.19° (สุริยวิถี) |
ระยะทางถึงศูนย์กลางดาราจักร | 27,000 ± 1,000 ปีแสง |
ความเร็วโคจร | 220 กม./วินาที; 136 ไมล์/วินาที |
ระยะเวลาการโคจร | 225–250 ล้านปี |
คุณสมบัติระดับที่เกี่ยวข้อง | |
ชนิดสเปกตรัม | ดาวแคระเหลือง |
แถวน้ำแข็ง | ≈5 หน่วยดาราศาสตร์[3] |
Distance to heliopause | ≈120 หน่วยดาราศาสตร์ |
รัศมีทรงกลมเนินเขา | ≈1–3 ปีแสง |
โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งย่านต่าง ๆ ของระบบสุริยะ นับจากดวงอาทิตย์ออกมาดังนี้คือ ดาวเคราะห์ชั้นในจำนวน 4 ดวง แถบดาวเคราะห์น้อย ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่รอบนอกจำนวน 4 ดวง และแถบไคเปอร์ซึ่งประกอบด้วยวัตถุที่เย็นจัดเป็นน้ำแข็ง พ้นจากแถบไคเปอร์ออกไปเป็นเขตแถบจานกระจาย ขอบเขตเฮลิโอพอส (เขตแดนตามทฤษฎีที่ซึ่งลมสุริยะสิ้นกำลังลงเนื่องจากมวลสารระหว่างดวงดาว) และพ้นไปจากนั้นคือย่านของเมฆออร์ต
กระแสพลาสมาที่ไหลออกจากดวงอาทิตย์ (หรือลมสุริยะ) จะแผ่ตัวไปทั่วระบบสุริยะ สร้างโพรงขนาดใหญ่ขึ้นในสสารระหว่างดาวเรียกกันว่า เฮลิโอสเฟียร์ ซึ่งขยายออกไปจากใจกลางของแถบจานกระจาย
ดาวเคราะห์ชั้นเอกทั้ง 8 ดวงในระบบสุริยะ เรียงลำดับจากใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดออกไป มีดังนี้คือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน
นับถึงกลางปี ค.ศ. 2008 วัตถุขนาดย่อมกว่าดาวเคราะห์จำนวน 5 ดวง ได้รับการจัดระดับให้เป็นดาวเคราะห์แคระ ได้แก่ ซีรีสในแถบดาวเคราะห์น้อย กับวัตถุอีก 4 ดวงที่โคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ในย่านพ้นดาวเนปจูน คือ ดาวพลูโต (ซึ่งเดิมเคยถูกจัดระดับไว้เป็นดาวเคราะห์) เฮาเมอา มาคีมาคี และ เอริส
มีดาวเคราะห์ 6 ดวงและดาวเคราะห์แคระ 3 ดวงที่มีดาวบริวารโคจรอยู่รอบ ๆ เราเรียกดาวบริวารเหล่านี้ว่า "ดวงจันทร์" ตามอย่างดวงจันทร์ของโลก นอกจากนี้ดาวเคราะห์ชั้นนอกยังมีวงแหวนดาวเคราะห์อยู่รอบตัวอันประกอบด้วยเศษฝุ่นและอนุภาคขนาดเล็ก
สำหรับคำว่า ระบบดาวเคราะห์ ใช้เมื่อกล่าวถึงระบบดาวโดยทั่วไปที่มีวัตถุต่าง ๆ โคจรรอบดาวฤกษ์ คำว่า "ระบบสุริยะ" ควรใช้เฉพาะกับระบบดาวเคราะห์ที่มีโลกเป็นสมาชิก และไม่ควรเรียกว่า "ระบบสุริยจักรวาล" อย่างที่เรียกกันติดปาก เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับคำว่า "จักรวาล" ตามนัยที่ใช้ในปัจจุบัน
ประวัติการค้นพบและการสำรวจ
แก้นับเป็นเวลาหลายพันปีในอดีตกาลที่มนุษยชาติไม่เคยรับรู้มาก่อนว่ามีสิ่งที่เรียกว่า "ระบบสุริยะ" แต่เดิมมนุษย์นั้นเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาลที่อยู่นิ่ง มีดวงดาวต่าง ๆ โคจรไปรอบ ๆ โลกผ่านไปบนท้องฟ้า แม้ว่านักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชาวอินเดีย อารยภัฏ (สันสกฤต: आर्यभट) และนักปรัชญาชาวกรีก แอริสตาร์คัส (กรีก: Ἀρίσταρχος ὁ Σάμιος) เคยมีแนวคิดเกี่ยวกับการที่ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล และจัดลำดับจักรวาลเสียใหม่ แต่ผู้ที่สามารถคิดค้นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อพิสูจน์แนวคิดนี้ได้สำเร็จเป็นคนแรกคือ นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีผู้สืบทอดแนวทางการศึกษาของเขาต่อมา คือ กาลิเลโอ กาลิเลอี, โยฮันเนิส เค็พเพลอร์ และไอแซค นิวตัน พวกเขาพยายามทำความเข้าใจระบบทางฟิสิกส์และเสาะหาหลักฐานการพิสูจน์ยืนยันว่า โลกเคลื่อนไปรอบ ๆ ดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์ทั้งหลายต่างก็ดำเนินไปภายใต้กฎทางฟิสิกส์แบบเดียวกันนี้ ในยุคหลังต่อมาจึงเริ่มมีการสืบสวนค้นหาปรากฏการณ์ทางภูมิธรณีต่าง ๆ เช่น เทือกเขา แอ่งหิน ปรากฏการณ์สภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนตามฤดูกาล การศึกษาเกี่ยวกับเมฆ พายุทราย และยอดเขาน้ำแข็งบนดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ
การสำรวจยุคแรก
แก้การสำรวจระบบสุริยะในยุคแรกดำเนินไปได้โดยอาศัยกล้องโทรทรรศน์ เพื่อช่วยนักดาราศาสตร์จัดทำแผนภาพท้องฟ้าแสดงตำแหน่งของวัตถุที่จางเกินกว่าจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
กาลิเลโอ กาลิเลอี คือผู้แรกที่ค้นพบรายละเอียดทางกายภาพของวัตถุในระบบสุริยะ เขาค้นพบว่าผิวดวงจันทร์นั้นขรุขระ ส่วนดวงอาทิตย์ก็มีจุดด่างดำ และดาวพฤหัสบดีมีดาวบริวารสี่ดวงโคจรไปรอบ ๆ[5] คริสตียาน เฮยเคินส์ เจริญรอยตามกาลิเลโอโดยค้นพบ ดาวไททัน ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ รวมถึงวงแหวนของดาวเสาร์ด้วย[6] ในเวลาต่อมา จิโอวันนี โดเมนิโก กัสสินี ค้นพบดวงจันทร์ของดาวเสาร์เพิ่มอีก 4 ดวง ช่องว่างในวงแหวนของดาวเสาร์ รวมถึงจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี[7]
ปี ค.ศ. 1705 เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ ค้นพบว่าดาวหางหลายดวงในบันทึกประวัติศาสตร์ที่จริงเป็นดวงเดิมกลับมาปรากฏซ้ำ ถือเป็นการพบหลักฐานชิ้นแรกสำหรับการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของวัตถุอื่นนอกเหนือจากดาวเคราะห์[8] ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้จึงเริ่มมีการใช้คำว่า "ระบบสุริยะ" ขึ้นเป็นครั้งแรก[9]
ค.ศ. 1781 วิลเลียม เฮอร์เชล ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่คือ ดาวยูเรนัส โดยที่ในตอนแรกเขาคิดว่าเป็นดาวหาง[10] ต่อมาในปี ค.ศ. 1801 จูเซปเป ปีอัซซี ค้นพบวัตถุโคจรอยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ในตอนแรกเขาคิดว่าเป็นดาวเคราะห์ แต่ต่อมาจึงมีการค้นพบวัตถุขนาดเล็กนับเป็นพันดวงในย่านอวกาศนั้น ซึ่งในเวลาต่อมาจึงเรียกวัตถุเหล่านั้นว่า ดาวเคราะห์น้อย[11]
ไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่า ระบบสุริยะถูก "ค้นพบ" เมื่อใดกันแน่ แต่การสังเกตการณ์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สามรายการสามารถบรรยายลักษณะและตำแหน่งของระบบสุริยะในเอกภพได้อย่างไม่มีข้อสงสัย รายการแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1838 เมื่อฟรีดดริค เบสเซล สามารถวัดพารัลแลกซ์ของดาวได้ เขาพบว่าตำแหน่งปรากฏของดาวเปลี่ยนแปลงไปตามการเคลื่อนที่ของโลกที่โคจรไปรอบดวงอาทิตย์ นี่ไม่เพียงเป็นข้อพิสูจน์ทางตรงต่อแนวคิดดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล แต่ยังได้เปิดเผยให้ทราบถึงระยะทางมหาศาลระหว่างระบบสุริยะของเรากับดวงดาวอื่นเป็นครั้งแรก ต่อมาในปี ค.ศ. 1859 โรเบิร์ต บุนเซน และ กุสตาฟ เคอร์ชอฟฟ์ ได้ใช้สเปกโตรสโคปที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตรวจวัดค่าสเปกตรัมจากดวงอาทิตย์ และพบว่ามันประกอบด้วยธาตุชนิดเดียวกันกับที่มีอยู่บนโลก นับเป็นครั้งแรกที่พบข้อมูลทางกายภาพที่เกี่ยวโยงกันระหว่างโลกกับสวรรค์[12] หลังจากนั้น บาทหลวงแองเจโล เซคคี เปรียบเทียบรายละเอียดสเปกตรัมของดวงอาทิตย์กับดาวฤกษ์ดวงอื่น และพบว่ามันเหมือนกันทุกประการ ข้อเท็จจริงที่พบว่าดวงอาทิตย์ก็เป็นดาวฤกษ์ดวงหนึ่งนำไปสู่ข้อสมมุติฐานว่าดาวฤกษ์ดวงอื่นก็อาจมีระบบดาวเคราะห์ของมันเองเช่นกัน แม้ว่ากว่าจะค้นพบหลักฐานสำหรับข้อสมมุติฐานนี้จะต้องใช้เวลาต่อมาอีกกว่า 140 ปี
ค.ศ. 1992 มีการค้นพบหลักฐานแรกที่ส่อถึงระบบดาวเคราะห์แห่งอื่นนอกเหนือจากระบบของเรา โคจรอยู่รอบดาวพัลซาร์ พีเอสอาร์ บี1257+12 สามปีต่อมาจึงพบดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกคือ 51 เพกาซี บี โคจรรอบดาวฤกษ์ลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ ตราบจนถึงปี ค.ศ. 2008 มีการค้นพบระบบดาวเคราะห์อื่นแล้วกว่า 221 ระบบ[13]
การสำรวจด้วยยานอวกาศ
แก้ยุคของการสำรวจอวกาศด้วยยานอวกาศเริ่มต้นขึ้นนับแต่สหภาพโซเวียต (ปัจจุบันคือประเทศรัสเซีย) ส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 ขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกเมื่อปี ค.ศ. 1957 โดยได้โคจรอยู่เป็นเวลา 1 ปี ต่อมายานเอกซ์พลอเรอร์ 6 ของสหรัฐอเมริกา ขึ้นสู่วงโคจรในปี 1959 และสามารถถ่ายภาพโลกจากอวกาศได้เป็นครั้งแรก
ยานสำรวจลำแรกที่เดินทางไปถึงวัตถุอื่นในระบบสุริยะ คือยานลูนา 1 ซึ่งเดินทางผ่านดวงจันทร์ในปี ค.ศ. 1959 ในตอนแรกตั้งใจกันว่าจะให้มันตกลงบนดวงจันทร์ แต่ยานพลาดเป้าหมายแล้วจึงกลายเป็นยานที่สร้างโดยมนุษย์ลำแรกที่ได้โคจรรอบดวงอาทิตย์ ยานมาริเนอร์ 2 เป็นยานอวกาศลำแรกที่เดินทางไปถึงดาวเคราะห์อื่นในระบบสุริยะ คือไปเยือนดาวศุกร์ในปี ค.ศ. 1962 ต่อมายานมาริเนอร์ 4 ได้ไปถึงดาวอังคารในปี ค.ศ. 1965 และมาริเนอร์ 10 ไปถึงดาวพุธในปี ค.ศ. 1974
ยานอวกาศลำแรกที่ลงจอดบนวัตถุอื่นในระบบสุริยะได้คือยานลูนา 2 ของสหภาพโซเวียต ซึ่งลงจอดบนดวงจันทร์ได้ในปี ค.ศ. 1959 หลังจากนั้นก็มียานลงจอดบนดาวอื่นได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ยานเวเนรา 3 ลงจอดบนพื้นผิวดาวศุกร์ในปี 1966 ยานมาร์ส 3 ลงถึงพื้นดาวอังคารในปี 1971 (แต่การลงจอดที่สำเร็จจริง ๆ คือยานไวกิ้ง 1 ในปี 1976) ยานเนียร์ชูเมกเกอร์ไปถึงดาวเคราะห์น้อย 433 อีรอส ในปี 2001 และยานดีปอิมแพกต์ไปถึงดาวหางเทมเพล 1 ในปี 2005
ยานสำรวจลำแรกที่ไปถึงระบบสุริยะชั้นนอกคือยานไพโอเนียร์ 10 ที่เดินทางผ่านดาวพฤหัสบดีในปี ค.ศ. 1973 ต่อมาในปี ค.ศ. 1977 ยานสำรวจอวกาศในโครงการวอยเอจเจอร์จึงได้เริ่มต้นการเดินทางครั้งใหญ่ โดยเดินทางผ่านดาวพฤหัสบดีในปี 1979 ผ่านดาวเสาร์ในปี 1980-1981 ยานวอยเอจเจอร์ 2 ได้เข้าใกล้ดาวยูเรนัสในปี 1986 และเข้าใกล้ดาวเนปจูนในปี 1989 ปัจจุบันนี้ ยานสำรวจวอยเอจเจอร์ทั้ง 2 ลำได้เดินทางออกพ้นวงโคจรของดาวเนปจูนไปไกลแล้ว และมุ่งไปบนเส้นทางเพื่อค้นหาและศึกษากำแพงกระแทก เฮลิโอชีท และเฮลิโอพอส ข้อมูลล่าสุดจากองค์การนาซาแจ้งว่า ยานวอยเอจเจอร์ทั้ง 2 ลำได้เดินทางผ่านกำแพงกระแทกไปแล้วที่ระยะห่างประมาณ 93 หน่วยดาราศาสตร์จากดวงอาทิตย์[14]
วันที่ 19 มกราคม 2006 นาซาส่งยานสำรวจแบบบินผ่าน นิวฮอไรซันส์ ขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งเป็นยานสำรวจอวกาศแบบไร้คนขับลำแรกที่จะเดินทางไปสำรวจแถบไคเปอร์ ยานมีกำหนดบินผ่านดาวพลูโตในเดือนกรกฎาคม 2015 จากนั้นจะเดินทางเข้าสู่แถบไคเปอร์เพื่อสำรวจวัตถุในพื้นที่นั้นต่อไป[15]
กำเนิดและวิวัฒนาการ
แก้ระบบสุริยะถือกำเนิดขึ้นจากการแตกสลายด้วยแรงโน้มถ่วงภายในของเมฆโมเลกุลขนาดยักษ์เมื่อกว่า 4,600 ล้านปีมาแล้ว เมฆต้นกำเนิดนี้มีความกว้างหลายปีแสง และอาจเป็นต้นกำเนิดของดาวฤกษ์อื่นอีกจำนวนมาก[16]
เมื่อย่านเนบิวลาก่อนสุริยะ ซึ่งน่าจะเป็นจุดกำเนิดของระบบสุริยะ[17]เกิดแตกสลายลง โมเมนตัมเชิงมุมที่มีอยู่ทำให้มันหมุนตัวไปเร็วยิ่งขึ้น ที่ใจกลางของย่านซึ่งเป็นศูนย์รวมมวลอันหนาแน่นมีอุณหภูมิเพิ่มสูงมากขึ้นกว่าแผ่นจานที่หมุนอยู่รอบ ๆ[16] ขณะที่เนบิวลานี้หดตัวลง มันก็เริ่มมีทรงแบนยิ่งขึ้นและค่อย ๆ ม้วนตัวจนกลายเป็นจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 200 AU[16] พร้อมกับมีดาวฤกษ์ก่อนเกิดที่หนาแน่นและร้อนจัดอยู่ ณ ใจกลาง[18][19] เมื่อการวิวัฒนาการดำเนินมาถึงจุดนี้ เชื่อว่าดวงอาทิตย์ได้มีสภาพเป็นดาวฤกษ์ชนิด T Tauri ผลจากการศึกษาดาวฤกษ์ชนิด T Tauri พบว่ามันมักมีแผ่นจานของมวลสารดาวเคราะห์ก่อนเกิดที่มีมวลประมาณ 0.001-0.1 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ กับมวลของเนบิวลาในตัวดาวฤกษ์เองอีกเป็นส่วนใหญ่จำนวนมหาศาล[20] ดาวเคราะห์ก่อตัวขึ้นจากแผ่นจานรวมมวลเหล่านี้[21]
ภายในช่วงเวลา 50 ล้านปี ความดันและความหนาแน่นของไฮโดรเจนที่ใจกลางของดาวฤกษ์ก่อนเกิดก็มีมากพอจะทำให้เกิดปฏิกิริยาการหลอมนิวเคลียสขึ้นได้[22] ทั้งอุณหภูมิ อัตราการเกิดปฏิกิริยา ความดัน ตลอดจนความหนาแน่นต่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงสภาวะสมดุลอุทกสถิต โดยมีพลังงานความร้อนที่มากพอจะต้านทานกับการหดตัวของแรงโน้มถ่วงได้ ณ จุดนี้ดวงอาทิตย์จึงได้วิวัฒนาการเข้าสู่แถบลำดับหลักอย่างสมบูรณ์[23]
ระบบสุริยะจะดำรงสภาพอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ไปตราบจนกระทั่ง ดวงอาทิตย์ได้วิวัฒนาการจนออกพ้นจากแถบลำดับหลักบนไดอะแกรมของเฮิร์ตสปรัง-รัสเซลล์ เมื่อดวงอาทิตย์เผาผลาญเชื้อเพลิงไฮโดรเจนภายในไปเรื่อย ๆ พลังงานที่คอยค้ำจุนแกนกลางของดาวอยู่ก็จะลดน้อยถอยลง ทำให้มันหดตัวและแตกสลายลงไป การหดตัวจะทำให้แรงดันความร้อนในแกนกลางเพิ่มมากขึ้น และทำให้มันยิ่งเผาผลาญเชื้อเพลิงเร็วขึ้น ผลที่เกิดคือดวงอาทิตย์จะส่องสว่างมากยิ่งขึ้นโดยมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ในทุก ๆ 1,100 ล้านปี[24]
ในอีกประมาณ 5,400 ล้านปีข้างหน้า ไฮโดรเจนในแกนกลางของดวงอาทิตย์จะเปลี่ยนไปเป็นฮีเลียมทั้งหมด ซึ่งเป็นอันจบกระบวนการวิวัฒนาการบนแถบลำดับหลัก ในเวลานั้น ชั้นผิวรอบนอกของดวงอาทิตย์จะขยายใหญ่ขึ้นประมาณ 260 เท่าของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางในปัจจุบัน ดวงอาทิตย์จะกลายเป็นดาวยักษ์แดง การที่พื้นผิวของดวงอาทิตย์ขยายตัวขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้อุณหภูมิที่พื้นผิวของมันเย็นลงยิ่งกว่าที่เคยเป็นเมื่ออยู่บนแถบลำดับหลัก (ตำแหน่งเย็นที่สุดคือ 2600 K) [25]
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ชั้นผิวนอกของดวงอาทิตย์จะแตกสลาย กลายไปเป็นดาวแคระขาว คือวัตถุที่มีความหนาแน่นอย่างยิ่งยวด มวลประมาณครึ่งหนึ่งของมวลดั้งเดิมของดวงอาทิตย์จะอัดแน่นอยู่ในพื้นที่ของวัตถุขนาดประมาณเท่ากับโลก[26] การแตกสลายของชั้นผิวรอบนอกของดวงอาทิตย์จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เนบิวลาดาวเคราะห์ ซึ่งเป็นการส่งคืนสสารต่าง ๆ อันประกอบขึ้นเป็นดวงอาทิตย์กลับคืนให้แก่สสารระหว่างดาว
โครงสร้างและองค์ประกอบ
แก้องค์ประกอบหลักที่สำคัญของระบบสุริยะคือ ดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์ในแถบลำดับหลักประเภท G2 ซึ่งมีมวลคิดเป็น 99.86% ของมวลรวมทั้งระบบเท่าที่เป็นที่รู้จัก และเป็นแหล่งแรงโน้มถ่วงหลักของระบบ[27] โดยมีดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ซึ่งเป็นวัตถุในวงโคจรใหญ่ที่สุดสองดวงครอบครองมวลอีก 90% ของมวลส่วนที่เหลือ
วัตถุใหญ่ ๆ ในวงโคจรรอบดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่อยู่บนระนาบใกล้เคียงกับระนาบโคจรของโลก ที่เรียกว่า ระนาบสุริยวิถี ดาวเคราะห์ทั้งหมดจะเคลื่อนที่ใกล้เคียงกับระนาบนี้ ขณะที่ดาวหางและวัตถุในแถบไคเปอร์มักเคลื่อนที่ทำมุมกับระนาบค่อนข้างมาก
ดาวเคราะห์ทั้งหมดและวัตถุส่วนใหญ่ในระบบยังโคจรไปในทิศทางเดียวกับการหมุนรอบตัวเองของดวงอาทิตย์ (ทวนเข็มนาฬิกา เมื่อมองจากมุมมองด้านขั้วเหนือของดวงอาทิตย์) มีเพียงบางส่วนที่เป็นข้อยกเว้นไม่เป็นไปตามนี้ เช่น ดาวหางฮัลเลย์ เป็นต้น
ตามกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ของเค็พเพลอร์ อธิบายถึงลักษณะการโคจรของวัตถุต่าง ๆ รอบดวงอาทิตย์ กล่าวคือ วัตถุแต่ละชิ้นจะเคลื่อนที่ไปตามแนวระนาบรอบดวงอาทิตย์โดยมีจุดโฟกัสหนึ่งจุด วัตถุที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่า (มีค่ากึ่งแกนเอกน้อยกว่า) จะใช้เวลาโคจรน้อยกว่า บนระนาบสุริยวิถีหนึ่ง ๆ ระยะห่างของวัตถุกับดวงอาทิตย์จะแปรผันไปตามเส้นทางบนทางโคจรของมัน จุดที่วัตถุอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเรียกว่า "จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด" (perihelion) ขณะที่ตำแหน่งซึ่งมันอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ที่สุด เรียกว่า "จุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุด" (aphelion) วัตถุจะเคลื่อนที่ได้ความเร็วสูงที่สุดเมื่ออยู่ในตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำสุดเมื่ออยู่ในตำแหน่งไกลดวงอาทิตย์ที่สุด ลักษณะของวงโคจรของดาวเคราะห์มีรูปร่างเกือบจะเป็นวงกลม ขณะที่ดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย และวัตถุในแถบไคเปอร์ มีวงโคจรค่อนข้างจะเป็นวงรี
เมื่อศึกษาถึงระยะห่างระหว่างดาวเคราะห์ในที่ว่างมหาศาลของระบบ เราพบว่า ยิ่งดาวเคราะห์หรือแถบต่าง ๆ อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์เท่าไร มันก็จะยิ่งอยู่ห่างจากวัตถุอื่นใกล้เคียงมากเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ดาวศุกร์มีระยะห่างจากดาวพุธประมาณ 0.33 หน่วยดาราศาสตร์ ส่วนดาวเสาร์อยู่ห่างจากดาวพฤหัสบดีไป 4.3 หน่วยดาราศาสตร์ และดาวเนปจูนอยู่ห่างจากดาวยูเรนัสออกไปถึง 10.5 หน่วยดาราศาสตร์ เคยมีความพยายามศึกษาและอธิบายถึงระยะห่างระหว่างวงโคจรของดาวต่าง ๆ (ดูรายละเอียดใน กฎของทีทซีอุส–โบเดอ) แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีทฤษฎีใดเป็นที่ยอมรับ
ดาวเคราะห์ส่วนมากในระบบสุริยะจะมีระบบเล็ก ๆ ของตัวเองด้วย โดยจะมีวัตถุคล้ายดาวเคราะห์ขนาดเล็กโคจรไปรอบตัวเองเป็นดาวบริวาร หรือดวงจันทร์ ดวงจันทร์บางดวงมีขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์เสียอีก ดาวบริวารขนาดใหญ่เหล่านี้จะมีวงโคจรที่สอดคล้องกันเป็นส่วนใหญ่ คือจะหันหน้าด้านหนึ่งของดาวเข้าหาดาวเคราะห์ดวงแม่ของมันเสมอ ดาวเคราะห์ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ 4 ดวงยังมีวงแหวนดาวเคราะห์อยู่รอบตัวด้วย เป็นแถบบาง ๆ ที่ประกอบด้วยเศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ โคจรไปรอบ ๆ อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
คำจำกัดความ
แก้ระบบสุริยะสามารถแบ่งออกเป็นย่านต่าง ๆ ได้แบบไม่เป็นทางการ ระบบสุริยะส่วนในประกอบด้วยดาวเคราะห์ 4 ดวงกับแถบดาวเคราะห์น้อย ระบบสุริยะส่วนนอกคือส่วนที่อยู่พ้นแถบดาวเคราะห์น้อยออกไป ประกอบด้วยดาวแก๊สยักษ์ 4 ดวง[28] ต่อมาเมื่อมีการค้นพบแถบไคเปอร์ จึงจัดเป็นย่านไกลที่สุดของระบบสุริยะ เรียกรวม ๆ ว่าเป็นวัตถุพ้นดาวเนปจูน[29]
เมื่อพิจารณาจากทั้งแง่กายภาพและการเคลื่อนที่ วัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์สามารถแบ่งออกได้เป็นสามประเภทคือ ดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์แคระ และ วัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ ดาวเคราะห์ไม่ว่าจะมีขนาดใดก็ตามที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ จะมีมวลมากพอจะสร้างตัวเองให้มีรูปร่างเป็นสัณฐานกลม และขับไล่ชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่อยู่รอบตัวเองให้ออกไปให้พ้นระยะ จากคำจำกัดความนี้ ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจึงมี 8 ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ส่วนดาวพลูโตถูกปลดออกจากตำแหน่งดาวเคราะห์เนื่องจากมันไม่สามารถขับไล่วัตถุเล็ก ๆ อื่น ๆ ในบริเวณแถบไคเปอร์ออกไปพ้นวงโคจรของมันได้[30]
ดาวเคราะห์แคระ คือวัตถุท้องฟ้าที่โคจรรอบดวงอาทิตย์และมีมวลมากพอจะทำให้ตัวเองมีสัณฐานกลมเนื่องจากแรงโน้มถ่วง แต่ไม่สามารถขจัดชิ้นส่วนก่อนเกิดดาวเคราะห์ออกไป ทั้งไม่สามารถเป็นดาวบริวาร[30] จากคำจำกัดความนี้ ระบบสุริยะจึงมีดาวเคราะห์แคระที่รู้จักแล้ว 5 ดวงคือ ซีรีส พลูโต เฮาเมอา มาคีมาคี และ เอริส[31] วัตถุอื่น ๆ ที่อาจสามารถจัดประเภทเป็นดาวเคราะห์แคระได้ ได้แก่ เซดนา ออร์กัส และควาอัวร์ ดาวเคราะห์แคระที่โคจรอยู่ในย่านพ้นดาวเนปจูนเรียกชื่อรวม ๆ ว่า "พลูตอยด์"[32] นอกเหนือจากนี้ วัตถุขนาดเล็กอื่น ๆ ที่โคจรไปรอบดวงอาทิตย์จัดว่าเป็นวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ[30]
นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ใช้คำศัพท์ แก๊ส น้ำแข็ง และ หิน เพื่ออธิบายถึงประเภทองค์ประกอบสสารต่าง ๆ ที่พบตลอดทั่วระบบสุริยะ หิน จะใช้ในการอธิบายองค์ประกอบที่มีจุดหลอมเหลวสูง (สูงกว่า 500 เคลวิน) เช่นพวก ซิลิเกต องค์ประกอบหินมักพบได้มากในกลุ่มระบบสุริยะชั้นใน เป็นส่วนประกอบหลักของดาวเคราะห์และดาวเคราะห์น้อย แก๊ส เป็นสสารที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ เช่นอะตอมไฮโดรเจน ฮีเลียม และแก๊สมีสกุล มักพบในย่านกึ่งกลางระบบสุริยะ เป็นส่วนประกอบส่วนใหญ่ของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ น้ำแข็ง ซึ่งประกอบด้วยน้ำ มีเทน แอมโมเนีย และคาร์บอนไดออกไซด์[33] มีจุดหลอมเหลวเพียงไม่กี่ร้อยเคลวิน เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่อยู่ในดาวบริวารของบรรดาดาวแก๊สยักษ์ รวมถึงเป็นองค์ประกอบอยู่ในดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน (บางครั้งเรียกดาวทั้งสองนี้ว่า "ดาวน้ำแข็งยักษ์") และในวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากที่อยู่พ้นจากวงโคจรดาวเนปจูนออกไป[34]
ดวงอาทิตย์
แก้ดวงอาทิตย์ คือดาวฤกษ์ดวงแม่ที่เป็นหัวใจของระบบสุริยะ มีขนาดประมาณ 332,830 เท่าของมวลของโลก ด้วยปริมาณมวลที่มีอยู่มหาศาลทำให้ดวงอาทิตย์มีความหนาแน่นภายในที่สูงมากพอจะทำให้เกิดปฏิกิริยาการหลอมนิวเคลียสอย่างต่อเนื่อง และปลดปล่อยพลังงานมหาศาลออกมา โดยมากเป็นพลังงานที่แผ่ออกไปในลักษณะของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น แสง
ดวงอาทิตย์จัดว่าเป็นดาวแคระเหลืองขนาดใหญ่ปานกลาง ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับดาวฤกษ์อื่น ๆ ที่อยู่ในดาราจักรของเรา ถือได้ว่าดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่และสว่างมาก การจัดประเภทของดาวฤกษ์นี้เป็นไปตามไดอะแกรมของเฮิร์ตสปรัง-รัสเซลล์ ซึ่งเป็นแผนภูมิของกราฟระหว่างความสว่างของดาวฤกษ์เทียบกับอุณหภูมิพื้นผิว โดยทั่วไปดาวฤกษ์ที่มีอุณหภูมิสูงกว่ามักจะสว่างกว่า ซึ่งดาวฤกษ์ใด ๆ ที่มีคุณสมบัติเป็นไปดังที่ว่ามานี้ก็จะเรียกว่าเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ในแถบลำดับหลัก ดวงอาทิตย์ของเราก็อยู่บนแถบลำดับหลักโดยอยู่ในช่วงกึ่งกลางทางด้านขวา แต่มีดาวฤกษ์จำนวนไม่มากนักที่จะสว่างกว่าและมีอุณหภูมิสูงกว่าดวงอาทิตย์ของเรา ส่วนมากจะอ่อนแสงกว่าและมีอุณหภูมิต่ำกว่าทั้งนั้น[35]
เชื่อว่าตำแหน่งของดวงอาทิตย์บนแถบลำดับหลักนั้นจัดได้ว่าอยู่ใน "ช่วงรุ่งโรจน์ของยุค" ของอายุดาวฤกษ์ มันยังมีไฮโดรเจนมากเพียงพอที่จะสร้างปฏิกิริยาการหลอมนิวเคลียสไปอีกนาน ดวงอาทิตย์กำลังเพิ่มพูนความสว่างมากขึ้น ในอดีตดวงอาทิตย์เคยมีความสว่างเพียงแค่ 70% ของความสว่างอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน[36]
ดวงอาทิตย์จัดเป็นดาวฤกษ์ชนิดดารากร 1 ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลาย ๆ ของวิวัฒนาการของเอกภพ มีองค์ประกอบธาตุหนักที่หนักกว่าไฮโดรเจนและฮีเลียม (ในภาษาดาราศาสตร์จะเรียกว่า "โลหะ") มากกว่าดาวฤกษ์ชนิดดารากร 2 ซึ่งมีอายุมากกว่า[37] ธาตุหนักเหล่านี้ก่อกำเนิดขึ้นจากแก่นกลางของดาวฤกษ์โบราณที่ระเบิดออก ดังนั้นดาวฤกษ์ในยุคแรกเริ่มจึงต้องแตกดับไปเสียก่อนจึงจะทำให้เอกภพเต็มไปด้วยอะตอมธาตุเหล่านี้ได้ ดาวฤกษ์ที่มีอายุเก่าแก่มาก ๆ จะไม่ค่อยมีองค์ประกอบโลหะมากนัก ขณะที่ดาวฤกษ์ที่เกิดในยุคหลังจะมีโลหะมากกว่า สันนิษฐานว่า การมีองค์ประกอบโลหะจำนวนมากนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดวงอาทิตย์สามารถสร้างระบบดาวเคราะห์ของตัวเองขึ้นมาได้ เพราะดาวเคราะห์ก่อตัวขึ้นมาจากการรวมตัวกันของธาตุหนักเหล่านั้น[38]
สสารระหว่างดาวเคราะห์
แก้นอกเหนือจากแสง ดวงอาทิตย์ยังแผ่รังสีที่ประกอบด้วยกระแสของประจุอนุภาคจำนวนมากต่อเนื่องกัน (เป็นพลาสมาชนิดหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อ ลมสุริยะ) กระแสประจุนี้แผ่ออกไปด้วยความเร็วประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง[39] ทำให้เกิดชั้นบรรยากาศบาง ๆ ขึ้น เรียกว่า เฮลิโอสเฟียร์ ที่แผ่ปกคลุมทั่วระบบสุริยะออกไปเป็นระยะทางอย่างน้อย 100 หน่วยดาราศาสตร์ (ดูเพิ่มที่ เฮลิโอพอส) ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เรียกกันว่า สสารระหว่างดาวเคราะห์ พายุแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวดวงอาทิตย์เช่น โซลาร์แฟลร์ หรือลำอนุภาคโคโรนา จะทำให้เกิดการรบกวนต่อเฮลิโอสเฟียร์ และสร้างสภาวะที่เรียกว่า space weather ขึ้น[40] สนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ที่หมุนวนไปสร้างผลกระทบต่อสสารระหว่างดาวเคราะห์ ทำให้เกิดแผ่นกระแสเฮลิโอสเฟียร์ (heliospheric current sheet) ขึ้น ซึ่งถือเป็นโครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ[41]
สนามแม่เหล็กของโลกช่วยป้องกันชั้นบรรยากาศเอาไว้มิให้เกิดปฏิกิริยากับลมสุริยะ ขณะที่ดาวศุกร์กับดาวอังคารไม่มีสนามแม่เหล็ก ลมสุริยะจึงสามารถขับไล่ชั้นบรรยากาศของดาวทั้งสองออกสู่อวกาศไปทีละน้อยได้[42] การปะทะระหว่างลมสุริยะกับสนามแม่เหล็กของโลกทำให้เกิดปรากฏการณ์ออโรรา หรือแสงเหนือ-แสงใต้ ที่พบเห็นบริเวณใกล้ขั้วโลก
รังสีคอสมิก มีกำเนิดมาจากห้วงอวกาศอื่นนอกระบบสุริยะ เฮลิโอสเฟียร์ทำหน้าที่ปกป้องระบบสุริยะเอาไว้ส่วนหนึ่ง โดยสนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์ (สำหรับดวงที่มี) ก็ช่วยทำหน้าที่ป้องกันรังสีด้วยอีกส่วนหนึ่ง ความหนาแน่นของรังสีคอสมิกในสสารระหว่างดาวกับความเข้มของสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ ดังนั้นระดับของการแผ่รังสีคอสมิกในระบบสุริยะจึงไม่แน่ไม่นอน แต่จะมีอยู่เป็นปริมาณเท่าใดไม่อาจระบุได้[43]
สสารระหว่างดาวเคราะห์เป็นแหล่งกำเนิดของย่านแผ่นจานฝุ่นคอสมิกอย่างน้อย 2 แห่ง แห่งแรกคือเมฆฝุ่นจักรราศี ซึ่งอยู่ในระบบสุริยะชั้นในและเป็นต้นเหตุการเกิดแสงจักรราศี โดยมากเป็นเศษชิ้นส่วนในแถบดาวเคราะห์น้อยที่เกิดขึ้นจากการปะทะกับดาวเคราะห์[44] แผ่นจานฝุ่นแห่งที่สองแผ่ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ระยะ 10 หน่วยจนถึง 40 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากการปะทะในลักษณะเดียวกันในแถบไคเปอร์[45][46]
ระบบสุริยะชั้นใน
แก้ระบบสุริยะชั้นใน เป็นชื่อดั้งเดิมของย่านอวกาศที่ประกอบด้วยกลุ่มดาวเคราะห์ใกล้โลกและแถบดาวเคราะห์น้อย มีส่วนประกอบหลักเป็นซิลิเกตกับโลหะ วัตถุท้องฟ้าในระบบสุริยะชั้นในจะเกาะกลุ่มอยู่ด้วยกันและใกล้กับดวงอาทิตย์มาก รัศมีของย่านระบบสุริยะชั้นในนี้ยังสั้นกว่าระยะห่างจากดาวพฤหัสบดีไปดาวเสาร์เสียอีก
ดาวเคราะห์ชั้นใน
แก้ดาวเคราะห์ชั้นในหรือดาวเคราะห์ใกล้โลก มี 4 ดวง โดยมากประกอบด้วยส่วนประกอบหิน มีความหนาแน่นสูง มีดวงจันทร์น้อยหรืออาจไม่มีเลย และไม่มีระบบวงแหวนรอบตัวเอง สสารที่เป็นองค์ประกอบมักเป็นแร่ธาตุที่มีจุดหลอมเหลวสูง เช่นซิลิเกตที่ชั้นเปลือกและผิว หรือโลหะ เหล็ก นิเกิล ที่เป็นแกนกลางของดาว สามในสี่ของดาวเคราะห์กลุ่มนี้ (ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร) มีชั้นบรรยากาศที่เห็นได้ชัด พื้นผิวมีร่องรอยของหลุมบ่อที่เกิดจากการปะทะโดยชิ้นส่วนจากอวกาศ และมีความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่พื้นผิวด้วยเช่น การแยกตัวของร่องหุบเขาและภูเขาไฟ
ดาวพุธ
แก้- ดาวพุธ (0.4 AU) คือดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด และเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดเล็กที่สุด (0.055 เท่าของมวลโลก) ดาวพุธไม่มีดาวบริวารของตัวเอง สภาพพื้นผิวที่มีนอกเหนือจากหลุมบ่อจากการปะทะ ก็จะเป็นสันเขาสูงชัน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงยุคการก่อตัวในช่วงเริ่มแรกของประวัติศาสตร์[47] ชั้นบรรยากาศของดาวพุธเบาบางมากจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีบรรยากาศ ประกอบด้วยอะตอมที่ถูกลมสุริยะพัดพาขับไล่ไปจนเกือบหมด[48] แกนกลางของดาวเป็นเหล็กที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่มาก ต่อมาเป็นชั้นเปลือกบาง ๆ ที่ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน ทฤษฎีเกี่ยวกับชั้นเปลือกของดาวจำนวนหนึ่งอธิบายถึงชั้นผิวรอบนอกที่ถูกฉีกออกด้วยการปะทะครั้งใหญ่ บ้างก็ว่ามันถูกกีดกันจากการพอกรวมของชั้นผิวเนื่องจากพลังงานมหาศาลของดวงอาทิตย์อันเยาว์[49][50]
ดาวศุกร์
แก้- ดาวศุกร์ (0.7 AU) มีขนาดใกล้เคียงกับโลก (0.815 เท่าของมวลโลก) และมีลักษณะคล้ายโลกมาก มีชั้นเปลือกซิลิเกตอย่างหนาปกคลุมรอบแกนกลางของดาวซึ่งเป็นเหล็ก มีชั้นบรรยากาศ และมีหลักฐานแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาภายในของดาว ทว่าดาวศุกร์แห้งแล้งกว่าโลกมาก ชั้นบรรยากาศของมันก็หนาแน่นกว่าโลกถึงกว่า 90 เท่า ดาวศุกร์ไม่มีดาวบริวารของตัวเอง กล่าวได้ว่า ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่ร้อนที่สุด ด้วยอุณหภูมิพื้นผิวสูงถึงกว่า 400 °C ซึ่งเป็นผลจากปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในชั้นบรรยากาศ[51] ในปัจจุบันไม่มีการตรวจพบการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาใหม่ ๆ บนดาวศุกร์อีกแล้ว แต่ดาวศุกร์ไม่มีสนามแม่เหล็กของตัวเองที่จะช่วยป้องกันการสูญเสียชั้นบรรยากาศ ดังนั้นการที่ดาวศุกร์ยังรักษาชั้นบรรยากาศของตัวเองไว้ได้จึงคาดว่าน่าจะเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ[52]
โลก
แก้- โลก (1.0 AU) เป็นดาวเคราะห์ที่ค่อนข้างใหญ่และมีความหนาแน่นมากที่สุดในกลุ่มดาวเคราะห์ชั้นใน เป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวที่พบว่ายังมีปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาอยู่ และเป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวเท่าที่ทราบว่ามีสิ่งมีชีวิต โลกเป็นดาวเคราะห์ที่มีน้ำมาก เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากกลุ่มดาวเคราะห์ใกล้โลกทั้งหมด และยังเป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกอยู่ ชั้นบรรยากาศของโลกค่อนข้างจะแตกต่างกับดาวเคราะห์ดวงอื่น เนื่องจากการที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในบรรยากาศจึงมีออกซิเจนอิสระอยู่ถึง 21%[53] โลกมีดาวเคราะห์บริวารหนึ่งดวง คือ ดวงจันทร์ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์บริวารขนาดใหญ่เพียงดวงเดียวในเขตระบบสุริยะชั้นใน
ดาวอังคาร
แก้- ดาวอังคาร (1.5 AU) มีขนาดเล็กกว่าโลกและดาวศุกร์ (0.107 เท่าของมวลโลก) มีชั้นบรรยากาศเจือจางที่เต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ พื้นผิวของดาวอังคารระเกะระกะด้วยภูเขาไฟจำนวนมาก เช่น ภูเขาไฟโอลิมปัส และหุบเขาลึกชันมากมายเช่น Valles Marineris แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ สีของดาวอังคารที่เราเห็นเป็นสีแดง เป็นเพราะสนิมที่มีอยู่ในพื้นดินอันเต็มไปด้วยเหล็ก[54] ดาวอังคารมีดวงจันทร์บริวารขนาดเล็กสองดวง (คือ ไดมอส กับ โฟบอส) ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นดาวเคราะห์น้อยที่บังเอิญถูกแรงดึงดูดของดาวอังคารจับตัวเอาไว้[55]
แถบดาวเคราะห์น้อย
แก้ดาวเคราะห์น้อย คือวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะที่ประกอบด้วยหินและธาตุโลหะที่ไม่ระเหย
แถบดาวเคราะห์น้อยหลักกินพื้นที่วงโคจรที่อยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ประมาณ 2.3 ถึง 3.3 หน่วยดาราศาสตร์จากดวงอาทิตย์ เชื่อกันว่าน่าจะเป็นเศษชิ้นส่วนจากการก่อตัวของระบบสุริยะในช่วงแรกที่ก่อตัวไม่สำเร็จ เนื่องจากแรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวพฤหัสบดี
ดาวเคราะห์น้อยมีขนาดต่าง ๆ กันตั้งแต่หลายร้อยกิโลเมตรไปจนถึงเศษหินเล็ก ๆ เหมือนฝุ่น ดาวเคราะห์น้อยทั้งหมดนอกเหนือจากดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่สุด คือซีรีส จัดว่าเป็นวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ แต่ดาวเคราะห์น้อยบางดวงเช่น เวสต้า และ ไฮเจีย อาจจัดว่าเป็นดาวเคราะห์แคระได้ ถ้ามีหลักฐานว่ามันมีความสมดุลของความกดของน้ำมากเพียงพอ
แถบดาวเคราะห์น้อยประกอบด้วยวัตถุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 1 กิโลเมตรเป็นจำนวนหลายหมื่นดวง หรืออาจจะถึงล้านดวง[56] ถึงกระนั้น มวลรวมทั้งหมดของแถบหลักก็ยังมีเพียงประมาณหนึ่งในพันของมวลโลกเท่านั้น[57] แถบหลักมีประชากรอยู่อย่างค่อนข้างเบาบาง ยานอวกาศหลายลำได้เดินทางผ่านแถบนี้ไปได้โดยไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเลย ดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 10 ถึง 10-4 เมตร จะเรียกว่า สะเก็ดดาว[58]
ซีรีส
แก้- ซีรีส (2.77 AU) เป็นวัตถุขนาดใหญ่ที่สุดในแถบดาวเคราะห์น้อย และได้รับการจัดประเภทให้เป็นดาวเคราะห์แคระ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณเกือบ ๆ 1,000 กิโลเมตร ซึ่งใหญ่พอจะสร้างแรงโน้มถ่วงของตัวเองเพื่อสร้างรูปทรงให้เป็นทรงกลมได้ ในตอนที่ค้นพบครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซีรีสถูกเข้าใจว่าเป็นดาวเคราะห์ แต่ต่อมาได้รับการจัดประเภทใหม่ให้เป็นดาวเคราะห์น้อยในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1850 เมื่อการสังเกตการณ์เพิ่มเติมพบดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น ๆ อีก[59] ครั้นถึงปี ค.ศ. 2006 จึงได้รับการจัดประเภทใหม่ให้เป็นดาวเคราะห์แคระ
ตระกูลดาวเคราะห์น้อย
แก้- ดาวเคราะห์น้อยในแถบหลักจะแบ่งออกเป็นกลุ่มและตระกูลต่าง ๆ โดยพิจารณาจากคุณลักษณะการโคจรของพวกมัน ดวงจันทร์ดาวเคราะห์น้อย คือดาวเคราะห์น้อยที่โคจรรอบดาวเคราะห์น้อยดวงอื่นที่ใหญ่กว่า มันไม่ได้ถูกจัดประเภทให้เป็นดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ เพราะบางครั้งมันมีขนาดใหญ่เกือบเท่าดาวเคราะห์น้อยดวงแม่ของมันด้วยซ้ำ ในบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อยยังมีดาวหางในแถบหลักซึ่งอาจเป็นต้นกำเนิดของน้ำมหาศาลบนโลกก็ได้[60]
- ดาวเคราะห์น้อยโทรจันตั้งอยู่ใกล้เคียงกับตำแหน่งลากรองจ์ L4 หรือ L5 ของดาวพฤหัสบดี (คือย่านที่แรงโน้มถ่วงค่อนข้างเสถียร ทำให้ดาวเคราะห์น้อยในบริเวณนี้สามารถอยู่ในวงโคจรได้) คำว่า "โทรจัน" หรือ "แห่งทรอย" นี้ยังใช้กับวัตถุขนาดเล็กในระบบดาวเคราะห์หรือระบบบริวารอื่นที่อยู่ในตำแหน่งลากรองจ์ด้วย ดาวเคราะห์น้อยตระกูลฮิลดาอยู่ที่ระยะการสั่นพ้อง 2:3 กับดาวพฤหัสบดี นั่นหมายถึง มันจะโคจรรอบดวงอาทิตย์ 3 รอบ ต่อการโคจรของดาวพฤหัสบดี 2 รอบ
- ระบบสุริยะชั้นในนี้ยังหมายรวมถึงวัตถุอื่น ๆ เช่น ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก ซึ่งดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มนี้จำนวนมากมีวงโคจรที่ตัดกับวงโคจรของดาวเคราะห์ชั้นในด้วย
ระบบสุริยะชั้นนอก
แก้บริเวณรอบนอกของระบบสุริยะเป็นถิ่นที่อยู่ของดาวแก๊สยักษ์และบรรดาดาวบริวารของมันที่มีขนาดใหญ่พอจะเป็นดาวเคราะห์ได้ นอกจากนี้ยังมีดาวหางคาบสั้น และเซนทอร์ ที่โคจรอยู่ในย่านนี้เช่นกัน วัตถุตันที่อยู่ในย่านนี้จะมีองค์ประกอบของสสารที่ระเหยง่าย (เช่น น้ำ แอมโมเนีย มีเทน ในทางวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จะเรียกว่าเป็น น้ำแข็ง) ไม่ค่อยมีส่วนประกอบของสสารประเภทหินเหมือนอย่างวัตถุท้องฟ้าในระบบสุริยะชั้นใน
ดาวเคราะห์ชั้นนอก
แก้ดาวเคราะห์ชั้นนอก 4 ดวง หรือดาวแก๊สยักษ์ (บางครั้งเรียกว่า ดาวเคราะห์โจเวียน) มีมวลรวมกันถึงกว่า 99% ของมวลสารทั้งหมดที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ดาวพฤหัสบดีกับดาวเสาร์มีองค์ประกอบเต็มไปด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียม ดาวยูเรนัสกับดาวเนปจูนมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็ง นักดาราศาสตร์จำนวนหนึ่งเห็นว่าดาวสองดวงหลังนี้ควรจัดเป็นประเภทเฉพาะของมันเอง คือ "ดาวน้ำแข็งยักษ์"[61] ดาวแก๊สยักษ์ทั้งสี่มีวงแหวนอยู่รอบตัว แม้เมื่อมองจากโลกจะเห็นได้ชัดแต่เพียงวงแหวนของดาวเสาร์เท่านั้น
ดาวพฤหัสบดี
แก้- ดาวพฤหัสบดี (5.2 AU) มีมวลประมาณ 318 เท่าของมวลโลก นับเป็นมวลมหาศาลถึง 2.5 เท่าของมวลรวมทั้งหมดของดาวเคราะห์ที่เหลือรวมกัน ประกอบด้วยก๊าซไฮโดรเจนและฮีเลียมจำนวนมาก ความร้อนที่สูงมากภายในของดาวทำให้เกิดคุณลักษณะแบบกึ่งถาวรหลายประการในสภาพบรรยากาศของดาว เช่นแถบเมฆ และจุดแดงใหญ่ ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวารที่รู้จักแล้วทั้งสิ้น 67 ดวง ดวงที่ใหญ่ที่สุด 4 ดวงคือ แกนิมีด คัลลิสโต ไอโอ และยูโรปา มีลักษณะคล้ายคลึงกับลักษณะของดาวเคราะห์ใกล้โลก เช่นมีภูเขาไฟ และมีกระบวนการความร้อนภายในของดาว[62] ดวงจันทร์แกนิมีดเป็นดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธเสียอีก
ดาวเสาร์
แก้- ดาวเสาร์ (9.5 AU) เป็นดาวเคราะห์ที่โดดเด่นเนื่องจากระบบวงแหวนขนาดใหญ่ที่เห็นได้ชัด ลักษณะของดาวรวมถึงสภาพบรรยากาศคล้ายคลึงกับดาวพฤหัสบดี แต่มีมวลน้อยกว่ามาก โดยมีมวลโดยประมาณ 95 เท่าของมวลโลก ดาวเสาร์มีดวงจันทร์บริวารที่รู้จักแล้ว 63 ดวง ในจำนวนดวงจันทร์ทั้งหมดมีอยู่ 2 ดวงคือ ไททันและเอนเซลาดัส แสดงให้เห็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา แม้ว่าองค์ประกอบส่วนใหญ่จะเป็นน้ำแข็งก็ตาม[63] ดวงจันทร์ไททันมีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธ และเป็นดวงจันทร์บริวารเพียงดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีชั้นบรรยากาศ
ดาวยูเรนัส
แก้- ดาวยูเรนัส (19.6 AU) มีขนาดประมาณ 14 เท่าของมวลโลก เป็นดาวเคราะห์มวลน้อยที่สุดในระบบสุริยะชั้นนอก ลักษณะการโคจรของดาวยูเรนัสไม่เหมือนดาวเคราะห์ดวงอื่น มันจะโคจรรอบดวงอาทิตย์แบบตะแคงข้าง โดยมีความเอียงของแกนมากกว่า 90 องศาเมื่อเทียบกับระนาบสุริยวิถี ทำให้ดูเหมือนดาวยูเรนัสกลิ้งไปบนทางโคจร แกนกลางของดาวค่อนข้างเย็นกว่าดาวแก๊สยักษ์ดวงอื่น ๆ และแผ่ความร้อนออกมาสู่อวกาศภายนอกเพียงน้อยนิด[64] ดาวยูเรนัสมีดวงจันทร์บริวารที่รู้จักแล้ว 27 ดวง กลุ่มของดวงจันทร์ขนาดใหญ่ได้แก่ ไททาเนีย โอบิรอน อัมเบรียล เอเรียล และมิรันดา
ดาวเนปจูน
แก้- ดาวเนปจูน (30 AU) แม้จะมีขนาดเล็กกว่าดาวยูเรนัส แต่มีมวลมากกว่า คือประมาณ 17 เท่าของมวลโลก ดังนั้นมันจึงเป็นดาวที่มีความหนาแน่นมาก ดาวเนปจูนแผ่รังสีความร้อนจากแกนกลางออกมามาก แต่ก็ยังน้อยกว่าดาวพฤหัสบดีหรือดาวเสาร์[65] เนปจูนมีดวงจันทร์บริวารที่รู้จักแล้ว 13 ดวง ดวงที่ใหญ่ที่สุดคือ ไทรทัน มีสภาพการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาอยู่ เช่นมีน้ำพุร้อนไนโตรเจนเหลว[66] และเป็นดาวบริวารขนาดใหญ่เพียงดวงเดียวที่มีวงโคจรย้อนถอยหลัง ดาวเนปจูนยังส่งดาวเคราะห์เล็ก ๆ จำนวนหนึ่งหรือเนปจูนโทรจัน เข้าไปในวงโคจรของดวงจันทร์ไทรทันด้วย โดยมีการสั่นพ้องของวงโคจรแบบ 1:1 กับดวงจันทร์
ดาวหาง
แก้ดาวหาง เป็นวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ โดยมากมีขนาดเพียงไม่กี่กิโลเมตรในแนวขวาง ประกอบด้วยสสารจำพวกน้ำแข็งระเหยง่ายเป็นส่วนใหญ่ วงโคจรของดาวหางจะเบี้ยวมาก จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดมักเข้าไปถึงชั้นวงโคจรของดาวเคราะห์ชั้นใน ส่วนจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดอาจออกไปไกลพ้นจากดาวพลูโต เมื่อดาวหางโคจรผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน ผลกระทบจากดวงอาทิตย์ทำให้พื้นผิวน้ำแข็งของมันระเหยและแตกตัวเป็นประจุ ทำให้เกิดเป็นโคมา คือหางขนาดยาวประกอบด้วยแก๊สและฝุ่นที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ดาวหางคาบสั้นมีวงโคจรประมาณไม่ถึง 200 ปี ส่วนดาวหางคาบยาวมีวงโคจรนานถึงหลายพันปี เชื่อว่าดาวหางคาบสั้นมีกำเนิดมาจากแถบไคเปอร์ ขณะที่ดาวหางคาบยาวเช่นดาวหางเฮล-บอปป์ น่าจะมีกำเนิดมาจากแถบเมฆออร์ต มีตระกูลของดาวหางอยู่หลายตระกูล เช่น ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ตระกูล Kreutz เกิดขึ้นจากการแตกตัวออกมาของดาวหางดวงแม่[67] ดาวหางบางดวงที่มีวงโคจรแบบไฮเพอร์โบลิกอาจจะมีกำเนิดมาจากห้วงอวกาศภายนอกของระบบสุริยะ แต่การคำนวณเส้นทางโคจรที่แน่นอนของพวกมันทำได้ยากมาก[68] ดาวหางโบราณที่องค์ประกอบอันระเหยได้ได้ถูกขับออกไปจนหมดเนื่องจากความร้อนของดวงอาทิตย์ อาจกลายสภาพไปเป็นดาวเคราะห์น้อยได้[69]
เซนทอร์
แก้เซนทอร์ คือวัตถุน้ำแข็งคล้ายดาวหางที่มีค่ากึ่งแกนเอกมากกว่าดาวพฤหัสบดี (5.5 AU) แต่น้อยกว่าดาวเนปจูน (30 AU) เซนทอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่รู้จัก คือ 10199 ชาริโคล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 250 กิโลเมตร[70] เซนทอร์ชิ้นแรกที่ค้นพบคือ 2060 ไครอน ซึ่งเมื่อแรกถูกจัดประเภทว่าเป็นดาวหาง (95P) เพราะมันมีหางโคมาเหมือนกับที่ดาวหางเป็นเมื่อเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์[71] นักดาราศาสตร์บางกลุ่มจัดประเภทเซนทอร์ให้เป็นวัตถุในแถบไคเปอร์ที่กระจายตัวอยู่รอบใน โดยมีวัตถุแถบไคเปอร์อีกจำนวนหนึ่งกระจายตัวทางรอบนอกออกไปจนถึงแถบหินกระจาย[72]
ย่านพ้นดาวเนปจูน
แก้ย่านอวกาศที่อยู่เลยดาวเนปจูนออกไป หรือ "ย่านพ้นดาวเนปจูน" ยังเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยได้รับการสำรวจมากนัก เท่าที่ทราบดูเหมือนจะเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยโลกเล็ก ๆ (วัตถุขนาดใหญ่ที่สุดในย่านนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางราวหนึ่งในห้าของโลก และมีมวลน้อยกว่ามวลของดวงจันทร์) ที่ประกอบขึ้นด้วยหินกับน้ำแข็ง บางครั้งก็เรียกย่านนี้ว่า "ย่านระบบสุริยะรอบนอก" ซึ่งจะคล้ายกับความหมายของวัตถุที่อยู่เลยจากแถบดาวเคราะห์น้อย
แถบไคเปอร์
แก้แถบไคเปอร์ คือบริเวณของการก่อตัวครั้งแรกในระบบ มีลักษณะเป็นแถบวงแหวนมหึมาของเศษวัตถุกระจัดกระจายคล้ายกับแถบดาวเคราะห์น้อย แต่ส่วนมากวัตถุเหล่านั้นเป็นน้ำแข็ง ครอบคลุมพื้นที่ช่วงที่ห่างดวงอาทิตย์ออกมาตั้งแต่ 30-50 หน่วยดาราศาสตร์ สมาชิกในแถบไคเปอร์ส่วนมากเป็นวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ แต่ก็มีวัตถุขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งในแถบไคเปอร์ เช่น ควาอัวร์ วารูนา และ ออร์กัส ที่สามารถจัดประเภทเป็นดาวเคราะห์แคระ ประมาณว่า มีวัตถุในแถบไคเปอร์มากกว่า 100,000 ชิ้นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 50 กิโลเมตร แต่มวลรวมของวัตถุในแถบไคเปอร์ทั้งหมดมีเพียงประมาณ 1 ใน 10 หรืออาจเพียง 1 ใน 100 เท่าของมวลโลกเท่านั้น[73] วัตถุในแถบไคเปอร์จำนวนมากที่มีดาวบริวารของตัวเองหลายดวง และส่วนใหญ่จะมีวงโคจรที่อยู่นอกระนาบสุริยวิถี
วัตถุในแถบไคเปอร์สามารถแบ่งได้อย่างหยาบ ๆ เป็น 2 พวก คือ "แถบดั้งเดิม" และ "กลุ่มสั่นพ้อง" กลุ่มสั่นพ้องมีวงโคจรที่เชื่อมโยงกับดาวเนปจูน (เช่น 2 รอบต่อ 3 รอบโคจรของเนปจูน หรือ 1 รอบต่อ 2) โดยที่การสั่นพ้องของวงโคจรครั้งแรกเกิดขึ้นในวงโคจรของดาวเนปจูนเอง แถบดั้งเดิมประกอบด้วยวัตถุที่ไม่มีการสั่นพ้องของวงโคจรกับดาวเนปจูน มีย่านโคจรอยู่ระหว่าง 39.4 - 47.7 หน่วยดาราศาสตร์.[74] การจัดประเภทสมาชิกแถบไคเปอร์ดั้งเดิมว่าเป็นพวกคิวบิวาโน เกิดขึ้นหลังจากมีการพ้นพบสมาชิกดวงแรกในกลุ่มนี้ คือ 15760 1992 QB1 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1992[75]
พลูโตกับคารอน
แก้- ดาวพลูโต (39 AU โดยเฉลี่ย) เป็นดาวเคราะห์แคระ และเป็นวัตถุในแถบไคเปอร์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เป็นที่รู้จัก เมื่อแรกที่ค้นพบดาวพลูโตในปี ค.ศ. 1930 มันถูกจัดว่าเป็นดาวเคราะห์ดวงที่เก้า แต่ในปี ค.ศ. 2006 มีการจัดประเภทใหม่หลังจากที่มีการกำหนดคำจำกัดความของ "ดาวเคราะห์" อย่างเป็นทางการ ดาวพลูโตมีความเยื้องศูนย์กลางของวงโคจรประมาณ 17 องศาเทียบกับระนาบสุริยวิถี มีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดที่ 29.7 AU (ในระดับวงโคจรของดาวเนปจูน) และมีจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดที่ 49.5 AU
- คารอน เป็นดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ที่สุดของดาวพลูโต แต่ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่ามันจะยังสามารถจัดประเภทเป็นดาวเคราะห์แคระได้หรือไม่ ทั้งพลูโตและคารอนมีจุดศูนย์รวมแรงโน้มถ่วงในการโคจรอยู่ระหว่างกันและกัน ทำให้ดูเหมือนว่า พลูโตกับคารอนเป็นระบบดาวคู่ ยังมีดวงจันทร์ขนาดย่อมกว่าอีก 2 ดวงคือ นิกซ์ และ ไฮดรา โคจรรอบพลูโตกับคารอน
- วงโคจรของดาวพลูโตอยู่ในแถบการสั่นพ้อง มีค่าสั่นพ้องวงโคจรกับดาวเนปจูนที่ 3:2 หมายความว่า พลูโตโคจรรอบดวงอาทิตย์ 2 รอบต่อการโคจรของดาวเนปจูน 3 รอบ วัตถุในแถบไคเปอร์ที่ร่วมอยู่ในวงโคจรการสั่นพ้องจะเรียกว่าเป็นพวก พลูติโน[76]
เฮาเมอากับมาคีมาคี
แก้- เฮาเมอา (43.34 AU โดยเฉลี่ย) และมาคีมาคี (45.79 AU โดยเฉลี่ย) เป็นวัตถุดั้งเดิมในแถบไคเปอร์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เป็นที่รู้จัก เฮาเมอามีรูปสัณฐานเหมือนไข่ มีดวงจันทร์บริวาร 2 ดวง มาคีมาคีเป็นวัตถุสว่างที่สุดในแถบไคเปอร์รองจากดาวพลูโต แต่เดิมดาวทั้งสองมีชื่อรหัสว่า 2003 EL61 และ 2005 FY9 ตามลำดับ ต่อมาจึงมีการตั้งชื่อดาว (พร้อมทั้งยกสถานะเป็นดาวเคราะห์แคระ) ในปี ค.ศ. 2008 วงโคจรของดาวทั้งสองยิ่งมีความเยื้องมากกว่าดาวพลูโตเสียอีก (ที่ 28° และ 29°) [77] แต่ดาวทั้งสองนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากวงโคจรของดาวเนปจูน เพราะอยู่ในย่านที่เป็นสมาชิกดั้งเดิมของแถบไคเปอร์
แถบหินกระจาย
แก้แถบหินกระจายมีย่านคาบเกี่ยวกันกับแถบไคเปอร์ แต่แผ่ตัวออกไปทางด้านนอกของระบบเป็นบริเวณกว้าง เชื่อว่าในแถบหินกระจายนี้เป็นต้นกำเนิดของบรรดาดาวหางคาบสั้น วัตถุในแถบหินกระจายถูกแรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวเนปจูนในยุคต้น ๆ ผลักไปมาจนทำให้มีวงโคจรที่ไม่แน่นอน โดยมากจะมีจุดโคจรใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ในย่านของแถบไคเปอร์ ส่วนจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดอาจอยู่ห่างออกไปถึง 150 หน่วยดาราศาสตร์ วงโคจรของวัตถุในแถบหินกระจายยังมีความเอียงระนาบสูงมากเมื่อเทียบกับระนาบสุริยวิถี บางครั้งถึงกับตั้งฉากกับระนาบนี้เลยก็เป็นได้ นักดาราศาสตร์บางกลุ่มจัดให้แถบหินกระจายเป็นอีกย่านหนึ่งของแถบไคเปอร์ และเรียกวัตถุในแถบหินกระจายว่า "วัตถุกระจายในแถบไคเปอร์"[78]
เอริส
แก้- เอริส (68 AU โดยเฉลี่ย) เป็นวัตถุในแถบหินกระจายขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่รู้จัก เป็นต้นเหตุของการถกเถียงกันเรื่องคุณสมบัติของการเป็นดาวเคราะห์ เพราะมันมีขนาดใหญ่กว่าดาวพลูโตอย่างน้อย 5% โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2,400 กิโลเมตร (1,500 ไมล์) ถือเป็นดาวเคราะห์แคระขนาดใหญ่ที่สุดที่เป็นที่รู้จัก[79] เอริสมี ลักษณะวงโคจรมีค่าความเยื้องศูนย์กลางค่อนข้างสูงเหมือนกับดาวพลูโต จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ที่ประมาณ 38.2 AU (ประมาณระยะวงโคจรของดาวพลูโต) ส่วนจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ประมาณ 97.6 AU มีความเอียงกับระนาบสุริยวิถีสูงมาก
ย่านไกลที่สุดของระบบ
แก้เราไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่า ระบบสุริยะสิ้นสุดที่จุดไหน หรืออวกาศระหว่างดาวเริ่มต้นขึ้นที่จุดไหน เพราะขอบเขตรอบนอกของระบบเป็นไปด้วยอิทธิพลของแรง 2 ชนิดที่แตกต่างกัน คือ ลมสุริยะ และแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ อิทธิพลด้านนอกสุดของลมสุริยะกินเนื้อที่ออกไปประมาณ 4 เท่าของระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพลูโต เรียกว่าขอบเขตเฮลิโอพอส ซึ่งอาจนับเป็นจุดเริ่มต้นของสสารระหว่างดาวก็ได้[80] อย่างไรก็ดี เชื่อว่าทรงกลมรอชของดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นเนื้อที่ภายใต้อิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ กินพื้นที่ไกลออกไปมากกว่านั้นถึงกว่าหนึ่งพันเท่า
เฮลิโอพอส
แก้บริเวณของเฮลิโอสเฟียร์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ย่าน ลมสุริยะเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วประมาณ 40,000 กิโลเมตร/วินาที จนกระทั่งมันสลายตัวลงด้วยกระแสของพลาสมาในสสารระหว่างดาว การสลายตัวนี้เกิดขึ้นที่กำแพงกระแทกซึ่งอยู่ที่ระยะประมาณ 80-100 AU จากดวงอาทิตย์ในทิศทางย้อนกระแสลม และประมาณ 200 AU จากดวงอาทิตย์ในทิศทางตามกระแสลม[81] ที่บริเวณนี้กระแสของลมจะอ่อนลง มวลสารเกาะกลุ่มหนาแน่นขึ้นแล้วกลายเป็นลมหมุน[81] ทำให้เกิดโครงสร้างรูปไข่ขนาดใหญ่เรียกว่า เฮลิโอชีท (heliosheath) หรือ ฝักสุริยะ ซึ่งมีหน้าตาและพฤติกรรมคล้ายคลึงกับหางของดาวหาง คือทอดแผ่ตัวออกไปไกลถึง 40 AU ทางฝั่งทวนกระแสลม ถ้าเป็นด้านตามกระแสลมจะยิ่งแผ่ออกไปไกลกว่านั้น ทั้งยานวอยเอจเจอร์ 1 และ วอยเอจเจอร์ 2 ต่างรายงานกลับมาว่าได้ผ่านบริเวณกำแพงกระแทกไปแล้วและได้เข้าสู่บริเวณเฮลิโอชีท ที่ระยะประมาณ 94 และ 84 AU ตามลำดับ.[14][82] ขอบด้านนอกสุดของทรงกลมเฮลิโอสเฟียร์ หรือ เฮลิโอพอส เป็นจุดที่กระแสของลมสุริยะสิ้นกำลังลง และเป็นจุดเริ่มต้นย่านอวกาศระหว่างดาว[80]
ลักษณะรูปร่างและทรงของขอบนอกของเฮลิโอสเฟียร์เป็นผลจากการถูกกระทบด้วยปฏิกิริยาพลศาสตร์ของไหลจากสสารระหว่างดาว[81] และจากสนามแม่เหล็กสุริยะที่มีอยู่อย่างมากในทางตอนใต้ ทางซีกด้านบนจะเป็นทรงมนมีความกว้างประมาณ 9 AU (ราว 900 ล้านไมล์) ซึ่งกว้างกว่าครึ่งซีกล่าง พ้นจากเขตแดนเฮลิโอพอส ที่ระยะประมาณ 230 AU เป็นตำแหน่งโบว์ชอค ซึ่งพลาสมาจากดวงอาทิตย์จะละทิ้งระบบและเดินทางไปในดินแดนอื่นในทางช้างเผือก[83]
ยังไม่เคยมียานอวกาศลำใดเดินทางพ้นออกไปจากเฮลิโอพอสเลย จึงไม่อาจรู้ได้แน่ชัดถึงสภาวะเงื่อนไขในอวกาศระหว่างดาว คาดว่ายานอวกาศวอยเอจเจอร์ขององค์การนาซาจะเดินทางออกจากเฮลิโอพอสในราวหนึ่งทศวรรษข้างหน้า และจะส่งข้อมูลอันมีค่าเกี่ยวกับระดับของรังสีและลมสุริยะกลับมายังโลก[84] เพราะความเข้าใจเกี่ยวกับการที่เกราะเฮลิโอสเฟียร์ ช่วยปกป้องระบบสุริยะเอาไว้จากรังสีคอสมิกยังมีอยู่น้อยมาก ทีมงานหนึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากนาซาได้พัฒนาแนวคิดโครงการ "Vision Mission" ขึ้น มีภารกิจหลักเกี่ยวกับการส่งยานอวกาศไปในเฮลิโอสเฟียร์[85][86]
เมฆออร์ต
แก้เมฆออร์ต เป็นข้อสมมุติฐานถึงกลุ่มมวลขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยวัตถุน้ำแข็งนับล้านล้านชิ้น ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดของดาวหางคาบยาว และครอบคลุมบริเวณรอบนอกของระบบสุริยะเอาไว้ในระยะทางประมาณ 50,000 AU (ประมาณ 1 ปีแสง) หรืออาจกว้างได้ถึง 100,000 AU (1.87 ปีแสง) เชื่อว่าองค์ประกอบของมันคือดาวหางที่ถูกดีดออกมาจากระบบสุริยะชั้นใน ด้วยปฏิกิริยาแรงโน้มถ่วงกับดาวเคราะห์ชั้นนอก วัตถุในเมฆออร์ตมีการเคลื่อนที่ต่ำมาก และอาจถูกกระทบกระทั่งเส้นทางด้วยเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก เช่นการปะทะ แรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวที่เคลื่อนผ่าน หรือแรงดึงดูดระหว่างดาราจักร เช่นแรงไทดัลของทางช้างเผือก[87][88]
เซดนา
แก้90377 เซดนา (525.86 AU โดยเฉลี่ย) เป็นวัตถุขนาดใหญ่คล้ายดาวพลูโต มีสีแดง และมีวงโคจรวงรีขนาดใหญ่มากที่มีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดที่ 76 AU ส่วนจุดไกลที่สุดอยู่ที่ 928 AU ใช้เวลาในการโคจรรอบละ 12,050 ปี ไมเคิล อี. บราวน์ เป็นผู้ค้นพบดาวนี้เมื่อปี ค.ศ. 2003 เขาคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นสมาชิกทั้งของแถบหินกระจายหรือแถบไคเปอร์ เพราะจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดยังอยู่ห่างเกินกว่าจะเป็นวัตถุที่ถูกดีดออกมาด้วยแรงโน้มถ่วงของดาวเนปจูน เขากับนักดาราศาสตร์คนอื่น ๆ เห็นว่ามันน่าจะเป็นวัตถุชิ้นแรกในกลุ่มประชากรใหม่ของระบบ ซึ่งน่าจะรวมถึง 2000 CR105 ซึ่งมีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดที่ 45 AU และจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดที่ 415 AU มีรอบการโคจร 3,420 ปี[89] บราวน์เรียกประชากรใหม่ของระบบเหล่านี้ว่า "เมฆออร์ตกลุ่มใน" เพราะมันอาจมีลักษณะเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าก็ตาม[90] มีความเป็นไปได้ที่เซดนาจะเป็นดาวเคราะห์แคระ แม้จะยังต้องพิสูจน์ถึงสัณฐานของมันเสียก่อน
ขอบนอก
แก้ยังมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายในระบบสุริยะที่เรายังไม่รู้จัก ประมาณว่า สนามแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์มีอิทธิพลครอบคลุมดาวฤกษ์ต่าง ๆ ในย่านใกล้เคียงเป็นระยะทางราว 2 ปีแสง (125,000 AU) รัศมีต่ำสุดของเมฆออร์ตที่ประมาณกันไว้น่าจะไม่ต่ำกว่า 50,000 AU[91] แม้จะมีการค้นพบที่น่าประหลาดใจเช่นการค้นพบเซดนา แต่ย่านอวกาศระหว่างแถบไคเปอร์กับเมฆออร์ต ซึ่งกินเนื้อที่กว้างในรัศมีหลายหมื่นหน่วยดาราศาสตร์ก็ยังไม่สามารถสำรวจและจัดทำแผนผังออกมาได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาสำรวจเพิ่มเติมสำหรับดินแดนระหว่างดาวพุธกับดวงอาทิตย์[92] เราอาจจะได้ค้นพบวัตถุต่าง ๆ อีกมากในย่านต่าง ๆ ของระบบสุริยะที่ยังไม่ได้จัดทำแผนผังเอาไว้
บริบทเชิงดาราจักร
แก้ระบบสุริยะตั้งอยู่ในดาราจักรทางช้างเผือก ซึ่งเป็นดาราจักรชนิดก้นหอยมีคาน มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 100,000 ปีแสง มีดาวฤกษ์สมาชิกประมาณ 200,000 ล้านดวง[93] ดวงอาทิตย์ของเราเป็นดาวฤกษ์สมาชิกดวงหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางแขนก้นหอยด้านนอกของทางช้างเผือก ในส่วนที่เรียกกันว่า แขนโอไรออน หรือสเปอร์ท้องถิ่น[94] ห่างจากบริเวณศูนย์กลางของดาราจักรประมาณ 25,000 ถึง 28,000 ปีแสง ความเร็วที่เคลื่อนที่ภายในดาราจักรอยู่ที่ประมาณ 220 กิโลเมตรต่อวินาที ดังนั้นมันจะเคลื่อนที่วนครบหนึ่งรอบในเวลา 225-250 ล้านปี การวนครบรอบนี้เรียกกันว่าเป็น ปีดาราจักร ของระบบสุริยะ[95]
ตำแหน่งของระบบสุริยะในดาราจักรน่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก เพราะวงโคจรของมันจะค่อนข้างเป็นวงกลม และมีระดับความเร็วพอกันกับแขนก้นหอยของดาราจักร ซึ่งแสดงว่ามันไม่ได้เคลื่อนผ่านไปในดาราจักรมากนัก แขนก้นหอยนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของวัตถุท้องฟ้าที่กว่าจะกลายเป็นซูเปอร์โนวาก็ต้องใช้เวลาอีกนาน ทำให้โลกมีเวลาอันยาวนานที่จะสร้างสภาวะเสถียรภาพมากพอสำหรับการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต[96] นอกจากนี้ระบบสุริยะยังตั้งอยู่นอกเขตแดนอันหนาแน่นของดาวฤกษ์ในใจกลางดาราจักร ที่บริเวณใจกลางนั้นจะมีแรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวฤกษ์ใกล้เคียงสูงมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวัตถุในเขตเมฆออร์ต อันจะทำให้เกิดดาวหางมากมายพุ่งเข้าสู่ระบบสุริยะชั้นในได้ ทำให้เกิดการปะทะที่อาจสร้างสภาวะอันไม่เหมาะสมต่อชีวิต ปริมาณรังสีเข้มข้นที่ใจกลางดาราจักรก็อาจส่งผลรบกวนต่อวิวัฒนาการของชีวิตอันซับซ้อนด้วย[96] ถึงกระนั้นในตำแหน่งของระบบสุริยะปัจจุบัน ก็มีนักวิทยาศาสตร์บางส่วนตั้งทฤษฎีว่าเคยเกิดซูเปอร์โนวามาก่อน และส่งผลกระทบในทางกลับกันกับข้อสมมุติฐานก่อนหน้านั้น คือในช่วง 35,000 ปีสุดท้ายมานี้แรงระเบิดจากซูเปอร์โนวา ได้แพร่กระจายสสารในแกนกลางของมันออกมายังดวงอาทิตย์ในรูปของฝุ่นกัมมันตรังสี รวมถึงชิ้นส่วนขนาดใหญ่ที่คล้ายดาวหาง[97]
ย่านใกล้เคียง
แก้ย่านใกล้เคียงในดาราจักรที่อยู่ติดกันกับดาราจักรของเรา มีชื่อเรียกว่า เมฆระหว่างดาวท้องถิ่น (Local Intersteller Cloud) หรือ ฟลัฟฟ์ท้องถิ่น (Local Fluff) เป็นบริเวณที่มีเมฆหนาแน่นซึ่งตั้งอยู่ใน ฟองท้องถิ่น อันเป็นห้วงอวกาศที่ค่อนข้างโปร่งรูปร่างคล้ายนาฬิกาทรายอยู่ในสสารระหว่างดาว กินเนื้อที่กว้างประมาณ 300 ปีแสง ในฟองท้องถิ่นนี้เต็มไปด้วยพลาสมาอุณหภูมิสูงซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นส่วนที่หลงเหลืออยู่จากซูเปอร์โนวาครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น[98]
ทิศทางที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนไปในอวกาศระหว่างดาวเรียกว่า โซลาร์เอเพกซ์ (solar apex) อยู่ใกล้กับกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีสในทิศทางเดียวกับตำแหน่งปัจจุบันของดาวเวกา[99]
มีดาวฤกษ์อยู่ค่อนข้างน้อยในช่วงระยะ 10 ปีแสง (ประมาณ 95 ล้านล้านกิโลเมตร) จากดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ที่สุดคือระบบดาวสามดวง แอลฟาคนครึ่งม้า ซึ่งอยู่ห่างออกไป 4.4 ปีแสง แอลฟาคนครึ่งม้า เอ และ บี เป็นดาวคู่ที่มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ มีดาวแคระแดงขนาดเล็กชื่อ แอลฟาคนครึ่งม้า ซี (หรือดาวพร็อกซิมาคนครึ่งม้า) โคจรรอบดาวคู่ทั้งสองนั้นที่ระยะห่าง 0.2 ปีแสง ดาวฤกษ์อื่นที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ในลำดับถัดออกไปได้แก่ดาวแคระแดงบาร์นาร์ด (5.9 ปีแสง) ดาววูลฟ์ 359 (7.8 ปีแสง) และ ดาวลาลังเดอ 21185 (8.3 ปีแสง) ดาวฤกษ์ดวงใหญ่ที่สุดในระยะ 10 ปีแสงจากดวงอาทิตย์ได้แก่ ดาวซิริอุส เป็นดาวฤกษ์สว่างบนแถบลำดับหลักที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ราว 2 เท่า มีดาวแคระขาวชื่อ ซิริอุส บี โคจรอยู่รอบ ๆ ห่างจากดวงอาทิตย์ของเราไป 8.6 ปีแสง ระบบอื่น ๆ ที่มีอยู่ในระยะ 10 ปีแสงได้แก่ ระบบดาวแคระแดงคู่ ลูยเทน 726-8 (8.7 ปีแสง) ดาวแคระแดงเดี่ยว รอส 154 (9.7 ปีแสง) [100] สำหรับดาวฤกษ์เดี่ยวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์ที่อยู่ใกล้ที่สุดคือ เทาวาฬ อยู่ห่างออกไป 11.9 ปีแสง มันมีมวลประมาณ 80% ของมวลดวงอาทิตย์ แต่มีความส่องสว่างเพียง 60% ของดวงอาทิตย์เท่านั้น[101] ดาวเคราะห์นอกระบบที่อยู่ใกล้ที่สุดเท่าที่รู้จัก เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ในระบบดาวของ เอปไซลอนแม่น้ำ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่ค่อนข้างหรี่จางและมีสีแดงกว่าดวงอาทิตย์ อยู่ห่างออกไป 10.5 ปีแสง มีดาวเคราะห์ในระบบที่ได้รับการยืนยันแล้ว 1 ดวง คือ เอปไซลอนแม่น้ำ บี มีขนาดราว 1.5 เท่าของมวลของดาวพฤหัสบดี คาบโคจรรอบดาวฤกษ์แม่ของมันใช้เวลา 6.9 ปี[102]
ดูเพิ่ม
แก้- สัญลักษณ์ทางดาราศาสตร์
- เซเลสเทีย - ซอฟต์แวร์เสรีสำหรับใช้จำลองวัตถุทางดาราศาสตร์แบบ 3 มิติ
- เส้นเวลาการสำรวจระบบสุริยะ
- เส้นเวลาการค้นพบดาวเคราะห์และดวงจันทร์ในระบบสุริยะ
- รายชื่อวัตถุในระบบสุริยะ
- การสำรวจอวกาศ
- อาณานิคมในอวกาศ
เชิงอรรถ
แก้- ↑ ในภาพไม่มีการเพิ่มแถบดาวเคราะห์น้อยและแถบไคเปอร์ เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยแต่ละดวงมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะแสดงบนแผนภาพได้
- ↑ 2.0 2.1 เมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2022
อ้างอิง
แก้- ↑ "Solar System Objects". NASA/JPL Solar System Dynamics. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 July 2021. สืบค้นเมื่อ 2 April 2022.
- ↑ 2.0 2.1 "Latest Published Data". The International Astronomical Union Minor Planet Center. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 March 2019. สืบค้นเมื่อ 2 April 2022.
- ↑ Mumma, M. J.; Disanti, M. A.; Dello Russo, N.; Magee-Sauer, K.; Gibb, E.; Novak, R. (2003). "Remote infrared observations of parent volatiles in comets: A window on the early solar system". Advances in Space Research. 31 (12): 2563–2575. Bibcode:2003AdSpR..31.2563M. CiteSeerX 10.1.1.575.5091. doi:10.1016/S0273-1177(03)00578-7. ISSN 0273-1177.
- ↑ สก็อตต์ เอส. เชพพาร์ด. The Jupiter Satellite Page. Carnegie Institution for Science, Department of Terrestrial Magnetism.
- ↑ Eric W. Weisstein (2006). "Galileo Galilei (1564–1642)". Wolfram Research. เก็บข้อมูลเมื่อ 2006-11-08.
- ↑ "Discoverer of Titan: Christiaan Huygens". ESA Space Science. 2005. เก็บข้อมูลเมื่อ 2006-11-08.
- ↑ "Giovanni Domenico Cassini (June 8, 1625–September 14, 1712)". SEDS.org. เก็บข้อมูลเมื่อ 2006-11-08.
- ↑ "Comet Halley". University of Tennessee. เก็บข้อมูลเมื่อ 2006-12-27.
- ↑ "Etymonline: Solar System". เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-01-24.
- ↑ "Herschel, Sir William (1738–1822)". enotes.com. เก็บข้อมูลเมื่อ 2006-11-08.
- ↑ "Discovery of Ceres: 2nd Centenary, January 1, 1801–January 1, 2001" เก็บถาวร 2015-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. astropa.unipa.it. 2000. เก็บข้อมูลเมื่อ 2006-11-08.
- ↑ "Spectroscopy and the Birth of Astrophysics" เก็บถาวร 2015-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Center for History of Physics, a Division of the American Institute of Physics. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-04-30.
- ↑ "Extrasolar Planets Encyclopedia". Paris Observatory. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-01-24.
- ↑ 14.0 14.1 Stone EC, Cummings AC, Mcdonald FB, Heikkila BC, Lal N, Webber WR (September 2005). "Voyager 1 explores the termination shock region and the heliosheath beyond". Science (New York, N.Y.). 309 (5743): 2017–20. doi:10.1126/science.1117684. ISSN 0036-8075. PMID 16179468.
- ↑ "New Horizons NASA's Pluto-Kuiper Belt Mission". 2006. สืบค้นเมื่อ 2006-07-01.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 "Lecture 13: The Nebular Theory of the origin of the Solar System". University of Arizona. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-22. สืบค้นเมื่อ 2006-12-27.
- ↑ Irvine, W. M. "The chemical composition of the pre-solar nebula". Amherst College, Massachusetts. สืบค้นเมื่อ 2007-02-15.
- ↑ Greaves, Jane S. (2005-01-07). "Disks Around Stars and the Growth of Planetary Systems". Science 307 (5706) : 68–71. DOI:10.1126/science.1101979 abstract full text.
- ↑ "Present Understanding of the Origin of Planetary Systems". National Academy of Sciences. 2000-04-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-03. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
- ↑ M Momose; Y Kitamura; S Yokogawa; R Kawabe; M Tamura; S Ida (2003). Ikeuchi, S.; Hearnshaw, J.; Hanawa, T. (บ.ก.). Investigation of the Physical Properties of Protoplanetary Disks around T Tauri Stars by a High-resolution Imaging Survey at lambda = 2 mm (PDF). The Proceedings of the IAU 8th Asian-Pacific Regional Meeting, Volume I. Vol. 289. Astronomical Society of the Pacific Conference Series. p. 85.
- ↑ Boss, A. P. (2005). "Chondrule-forming Shock Fronts in the Solar Nebula: A Possible Unified Scenario for Planet and Chondrite Formation". The Astrophysical Journal. 621: L137. doi:10.1086/429160.
- ↑ Sukyoung Yi; Pierre Demarque; Yong-Cheol Kim; Young-Wook Lee; Chang H Ree; Thibault Lejeune; Sydney Barnes (2001). "Toward Better Age Estimates for Stellar Populations: The Isochrones for Solar Mixture". Astrophysical Journal Supplement. 136: 417. doi:10.1086/321795. arXiv astro-ph/0104292
- ↑ A. Chrysostomou; P. W. Lucas (2005). "The Formation of Stars". Contemporary Physics. 46: 29. doi:10.1080/0010751042000275277.
- ↑ Jeff Hecht (1994). "Science: Fiery future for planet Earth". NewScientist. สืบค้นเมื่อ 2007-10-29.
- ↑ K. P. Schroder; Robert Cannon Smith (2008). "Distant future of the Sun and Earth revisited". Monthly Notices of the Royal Astronomical Society. 386: 155–163. doi:10.1111/j.1365-2966.2008.13022.x.
- ↑ Pogge, Richard W. (1997). "The Once & Future Sun". New Vistas in Astronomy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 May 2005. สืบค้นเมื่อ 2005-12-07.
- ↑ M Woolfson (2000). "The origin and evolution of the solar system". Astronomy & Geophysics. 41: 1.12. doi:10.1046/j.1468-4004.2000.00012.x.
- ↑ nineplanets.org. "An Overview of the Solar System". เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-02-15.
- ↑ Amir Alexander (2006). "New Horizons Set to Launch on 9-Year Voyage to Pluto and the Kuiper Belt" เก็บถาวร 2006-02-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Planetary Society. เก็บข้อมูลเมื่อ 2006-11-08.
- ↑ 30.0 30.1 30.2 "The Final IAU Resolution on the definition of "planet" ready for voting" เก็บถาวร 2009-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, IAU (2006-08-24). เก็บข้อมูลเมื่อ 2 มีนาคม 2007.
- ↑ "Dwarf Planets and their Systems". Working Group for Planetary System Nomenclature (WGPSN). U.S. Geological Survey (2008-11-07). เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-07-13.
- ↑ "Plutoid chosen as name for Solar System objects like Pluto" เก็บถาวร 2008-06-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. International Astronomical Union (News Release - IAU0804) (June 11, 2008, Paris). เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-06-11.
- ↑ Feaga, L (2007). "Asymmetries in the distribution of H2O and CO2 in the inner coma of Comet 9P/Tempel 1 as observed by Deep Impact". Icarus. 190: 345. Bibcode:2007Icar..190..345F. doi:10.1016/j.icarus.2007.04.009.
- ↑ Michael Zellik (2002). Astronomy: The Evolving Universe (9th ed.). Cambridge University Press. p. 240. ISBN 978-0-521-80090-7. OCLC 223304585.
- ↑ Smart, R. L.; Carollo, D.; Lattanzi, M. G.; McLean, B.; Spagna, A. (2001). "The Second Guide Star Catalogue and Cool Stars". Perkins Observatory. เก็บข้อมูลเมื่อ 2006-12-26.
- ↑ Nir J. Shaviv. "Towards a Solution to the Early Faint Sun Paradox: A Lower Cosmic Ray Flux from a Stronger Solar Wind". Journal of Geophysical Research. doi:10.1029. เก็บข้อมูลเมื่อ 26 มกราคม 2009.
- ↑ T. S. van Albada; Norman Baker (1973). "On the Two Oosterhoff Groups of Globular Clusters". Astrophysical Journal. 185: 477–498. doi:10.1086/152434.
- ↑ Charles H. Lineweaver (2001-03-09). "An Estimate of the Age Distribution of Terrestrial Planets in the Universe: Quantifying Metallicity as a Selection Effect". University of New South Wales. สืบค้นเมื่อ 2006-07-23.
- ↑ "Solar Physics: The Solar Wind". Marshall Space Flight Center. 2006-07-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-13. สืบค้นเมื่อ 2006-10-03.
- ↑ Phillips, Tony (2001-02-15). "The Sun Does a Flip". Science@NASA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-12. สืบค้นเมื่อ 2007-02-04.
- ↑ "Artist's Conception of the Heliospheric Current Sheet". Wilcox Solar Observatory. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-01. สืบค้นเมื่อ 2006-06-22.
- ↑ Lundin, Richard (2001-03-09). "Erosion by the Solar Wind". Science 291 (5510) : 1909. DOI:10.1126/science.1059763 abstract เก็บถาวร 2009-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน full text เก็บถาวร 2007-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ Langner, U. W.; Potgieter, M. S. (2005). "Effects of the position of the solar wind termination shock and the heliopause on the heliospheric modulation of cosmic rays". Advances in Space Research. 35 (12): 2084–2090. doi:10.1016/j.asr.2004.12.005. สืบค้นเมื่อ 2007-02-11.
- ↑ "Long-term Evolution of the Zodiacal Cloud". 1998. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-02-03.
- ↑ "ESA scientist discovers a way to shortlist stars that might have planets". ESA Science and Technology. 2003. สืบค้นเมื่อ 2007-02-03.
- ↑ Landgraf, M.; Liou, J.-C.; Zook, H. A.; Grün, E. (May 2002). "Origins of Solar System Dust beyond Jupiter". The Astronomical Journal. 123 (5): 2857–2861. doi:10.1086/339704. สืบค้นเมื่อ 2007-02-09.
- ↑ Schenk P., Melosh H.J. (1994) , Lobate Thrust Scarps and the Thickness of Mercury's Lithosphere, Abstracts of the 25th Lunar and Planetary Science Conference, 1994LPI....25.1203S
- ↑ Bill Arnett (2006). "Mercury". The Nine Planets. สืบค้นเมื่อ 2006-09-14.
- ↑ Benz, W., Slattery, W. L., Cameron, A. G. W. (1988) , Collisional stripping of Mercury's mantle, Icarus, v. 74, p. 516–528.
- ↑ Cameron, A. G. W. (1985) , The partial volatilization of Mercury, Icarus, v. 64, p. 285–294.
- ↑ Mark Alan Bullock. "The Stability of Climate on Venus" เก็บถาวร 2007-06-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (PDF). Southwest Research Institute. เก็บข้อมูลเมื่อ 2006-12-26.
- ↑ Paul Rincon (1999). "Climate Change as a Regulator of Tectonics on Venus" (PDF). Johnson Space Center Houston, TX, Institute of Meteoritics, University of New Mexico, Albuquerque, NM. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-06-14. สืบค้นเมื่อ 2006-11-19.
- ↑ Anne E. Egger (M.A./M.S.). "Earth's Atmosphere: Composition and Structure". VisionLearning.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-21. สืบค้นเมื่อ 2006-12-26.
- ↑ David Noever (2004). "Modern Martian Marvels: Volcanoes?". NASA Astrobiology Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-13. สืบค้นเมื่อ 2006-07-23.
- ↑ Scott S. Sheppard; David Jewitt; Jan Kleyna (2004). "A Survey for Outer Satellites of Mars: Limits to Completeness". The Astronomical Journal. สืบค้นเมื่อ 2006-12-26.
- ↑ "New study reveals twice as many asteroids as previously believed". ESA. 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-13. สืบค้นเมื่อ 2006-06-23.
- ↑ Krasinsky, G. A.; Pitjeva, E. V.; Vasilyev, M. V.; Yagudina, E. I. (July 2002). "Hidden Mass in the Asteroid Belt". Icarus. 158 (1): 98–105. doi:10.1006/icar.2002.6837.
- ↑ Beech, M.; Steel, Duncan I. (September 1995). "On the Definition of the Term Meteoroid". Quarterly Journal of the Royal Astronomical Society. 36 (3): 281–284. สืบค้นเมื่อ 2006-08-31.
- ↑ "History and Discovery of Asteroids" (DOC). NASA. สืบค้นเมื่อ 2006-08-29.
- ↑ Phil Berardelli (2006). "Main-Belt Comets May Have Been Source Of Earths Water". SpaceDaily. สืบค้นเมื่อ 2006-06-23.
- ↑ Jack J. Lissauer; David J. Stevenson (2006). "Formation of Giant Planets" (PDF). NASA Ames Research Center; California Institute of Technology. คลังข้อมูลเก่าเก็บจาก(PPV).pdf แหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-03-26. สืบค้นเมื่อ 2006-01-16.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่า|url=
(help) - ↑ Pappalardo, R T (1999). "Geology of the Icy Galilean Satellites: A Framework for Compositional Studies". Brown University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2006-01-16.
- ↑ J. S. Kargel (1994). "Cryovolcanism on the icy satellites". U.S. Geological Survey. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2022.
- ↑ Hawksett, David; Longstaff, Alan; Cooper, Keith; Clark, Stuart (2005). "10 Mysteries of the Solar System". Astronomy Now. สืบค้นเมื่อ 2006-01-16.
- ↑ Podolak, M.; Reynolds, R. T.; Young, R. (1990). "Post Voyager comparisons of the interiors of Uranus and Neptune". NASA, Ames Research Center. สืบค้นเมื่อ 2006-01-16.
- ↑ Duxbury, N.S.; Brown, R.H. (1995). "The Plausibility of Boiling Geysers on Triton". Beacon eSpace. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-26. สืบค้นเมื่อ 2006-01-16.
- ↑ Sekanina, Zdenek (2001). "Kreutz sungrazers: the ultimate case of cometary fragmentation and disintegration?". Publications of the Astronomical Institute of the Academy of Sciences of the Czech Republic. 89: 78–93.
- ↑ Królikowska, M. (2001). "A study of the original orbits of hyperbolic comets". Astronomy & Astrophysics. 376 (1): 316–324. doi:10.1051/0004-6361:20010945. สืบค้นเมื่อ 2007-01-02.
- ↑ Fred L. Whipple (เมษายน 1992). "The activities of comets related to their aging and origin". สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2022.
- ↑ John Stansberry; Will Grundy; Mike Brown; Dale Cruikshank; John Spencer; David Trilling; Jean-Luc Margot (2007). "Physical Properties of Kuiper Belt and Centaur Objects: Constraints from Spitzer Space Telescope". สืบค้นเมื่อ 2008-09-21.
- ↑ Patrick Vanouplines (1995). "Chiron biography". Vrije Universitiet Brussel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-02. สืบค้นเมื่อ 2006-06-23.
- ↑ "List Of Centaurs and Scattered-Disk Objects". IAU: Minor Planet Center. สืบค้นเมื่อ 2007-04-02.
- ↑ Audrey Delsanti; David Jewitt (2006). "The Solar System Beyond The Planets" (PDF). Institute for Astronomy, University of Hawaii. สืบค้นเมื่อ 2007-01-03.
- ↑ M W Buie; R L Millis; L H Wasserman; J L Elliot; S D Kern; K B Clancy; E I Chiang; A B Jordan; K J Meech; R M Wagner; D E Trilling (2005). "Procedures, Resources and Selected Results of the Deep Ecliptic Survey". Lowell Observatory, University of Pennsylvania, Large Binocular Telescope Observatory, Massachusetts Institute of Technology, University of Hawaii, University of California at Berkeley. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-18. สืบค้นเมื่อ 2006-09-07.
- ↑ E. Dotto; M.A. Barucci; M. Fulchignoni (2006-08-24). "Beyond Neptune, the new frontier of the Solar System" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-08-25. สืบค้นเมื่อ 2006-12-26.
- ↑ Fajans, J.; L. Frièdland (13 September 2001). "Autoresonant (nonstationary) excitation of pendulums, Plutinos, plasmas, and other nonlinear oscillators" (PDF). American Journal of Physics. 69 (10): 1096–1102. doi:10.1119/1.1389278.
- ↑ Marc W. Buie (2008-04-05). "Orbit Fit and Astrometric record for 136472". SwRI (Space Science Department). สืบค้นเมื่อ 2008-07-13.
- ↑ David Jewitt (2005). "The 1000 km Scale KBOs". University of Hawaii. สืบค้นเมื่อ 2006-07-16.
- ↑ Mike Brown (2005). "The discovery of
2003 UB313Eris, the10th planetlargest known dwarf planet". CalTech. สืบค้นเมื่อ 2006-09-15. - ↑ 80.0 80.1 "Voyager Enters Solar System's Final Frontier". NASA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-05-16. สืบค้นเมื่อ 2007-04-02.
- ↑ 81.0 81.1 81.2 Fahr, H. J.; Kausch, T.; Scherer, H. (2000). "A 5-fluid hydrodynamic approach to model the Solar System-interstellar medium interaction". Astronomy & Astrophysics. 357: 268. Bibcode:2000A&A...357..268F. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-01-07. สืบค้นเมื่อ 2009-02-01. See Figures 1 and 2.
- ↑ Stone EC, Cummings AC, Mcdonald FB, Heikkila BC, Lal N, Webber WR (July 2008). "An asymmetric solar wind termination shock". Nature. 454 (7200): 71–4. doi:10.1038/nature07022. ISSN 0028-0836. PMID 18596802.
- ↑ P. C. Frisch (University of Chicago) (2002-06-24). "The Sun's Heliosphere & Heliopause". Astronomy Picture of the Day. สืบค้นเมื่อ 2006-06-23.
- ↑ "Voyager: Interstellar Mission". NASA Jet Propulsion Laboratory. 2007. http://voyager.jpl.nasa.gov/mission/interstellar.html. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-05-08.
- ↑ R. L. McNutt, Jr.; และคณะ (2006). Innovative Interstellar Explorer. Physics of the Inner Heliosheath: Voyager Observations, Theory, and Future Prospects. Vol. 858. AIP Conference Proceedings. pp. 341–347. doi:10.1063/1.2359348.
- ↑ Anderson, Mark (2007-01-05). "Interstellar space, and step on it!". New Scientist. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-16. สืบค้นเมื่อ 2007-02-05.
- ↑ Stern SA; Weissman PR (2001). "Rapid collisional evolution of comets during the formation of the Oort cloud". Space Studies Department, Southwest Research Institute, Boulder, Colorado. สืบค้นเมื่อ 2006-11-19.
- ↑ Bill Arnett (2006). "The Kuiper Belt and the Oort Cloud". nineplanets.org. สืบค้นเมื่อ 2006-06-23.
- ↑ David Jewitt (2004). "Sedna – 2003 VB12". University of Hawaii. สืบค้นเมื่อ 2006-06-23.
- ↑ Mike Brown. "Sedna". CalTech. สืบค้นเมื่อ 2007-05-02.
- ↑ T Encrenaz; JP Bibring; M Blanc; MA Barucci; F Roques; PH Zarka (2004). The Solar System: Third edition. Springer. p. 1.
- ↑ Durda DD, Stern SA, Colwell WB, Parker JW, Levison HF, Hassler DM (2004). "A New Observational Search for Vulcanoids in SOHO/LASCO Coronagraph Images". สืบค้นเมื่อ 2006-07-23.
- ↑ A.D. Dolgov (2003). "Magnetic fields in cosmology". สืบค้นเมื่อ 2006-07-23.
- ↑ R. Drimmel; D. N. Spergel (2001). "Three Dimensional Structure of the Milky Way Disk". สืบค้นเมื่อ 2006-07-23.
- ↑ Leong, Stacy (2002). "Period of the Sun's Orbit around the Galaxy (Cosmic Year". The Physics Factbook. สืบค้นเมื่อ 2007-04-02.
- ↑ 96.0 96.1 Leslie Mullen (2001). "Galactic Habitable Zones". Astrobiology Magazine. สืบค้นเมื่อ 2006-06-23.
- ↑ "Supernova Explosion May Have Caused Mammoth Extinction". Physorg.com. 2005. สืบค้นเมื่อ 2007-02-02.
- ↑ "Near-Earth Supernovas". NASA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-13. สืบค้นเมื่อ 2006-07-23.
- ↑ C. Barbieri (2003). "Elementi di Astronomia e Astrofisica per il Corso di Ingegneria Aerospaziale V settimana". IdealStars.com. สืบค้นเมื่อ 2007-02-12.
- ↑ "Stars within 10 light years". SolStation. สืบค้นเมื่อ 2007-04-02.
- ↑ "Tau Ceti". SolStation. สืบค้นเมื่อ 2007-04-02.
- ↑ "HUBBLE ZEROES IN ON NEAREST KNOWN EXOPLANET". Hubblesite. 2006. สืบค้นเมื่อ 2008-01-13.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- "ระบบสุริยะ" เก็บถาวร 1 กรกฎาคม 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข้อมูลจากโครงการสำรวจระบบสุริยะขององค์การนาซา (ในภาษาอังกฤษ)
- แบบจำลองระบบสุริยะขององค์การนาซา (ในภาษาอังกฤษ)
- "ระบบสุริยะ" เก็บถาวร 17 ธันวาคม 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากโครงการ NASA/JPL (ในภาษาอังกฤษ)
- รายงานพิเศษ : การประชุมกำหนดนิยาม "ดาวเคราะห์" จากเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย
- "ระบบสุริยะ" เก็บถาวร 23 มีนาคม 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)