มุฮัมมัด

ผู้นำทางการเมืองอาหรับและผู้ก่อตั้งศาสนาอิสลาม
(เปลี่ยนทางจาก มุฮัมหมัด)

มุฮัมมัด[1][n 1] หรือ มุหัมมัด หรือ พระมะหะหมัด (เกี่ยวกับเสียงนี้ ฟัง ; อาหรับ: محمد แปลว่า ผู้ได้รับการสรรเสริญ; เดือนรอบีอุลเอาวัล คริสต์ทศวรรษ 570 - 8 มิถุนายน ค.ศ. 632)[2] เป็นผู้นำทางศาสนา สังคม และการเมืองชาวอาหรับ และเป็นผู้ก่อตั้งศาสนาอิสลาม[3] ตามหลักความเชื่ออิสลาม ถือว่าท่านเป็นผู้เผยพระวจนะที่ถูกส่งมาเพื่อสั่งสอนและยืนยันความเป็นเอกภาพที่ถูกสอนมาตั้งแต่อาดัม, อิบรอฮีม, มูซา, อีซา และนบีท่านอื่น[3][4][5][6] มุฮัมมัดเป็นนบีคนสุดท้ายของอัลลอฮ์ในอิสลาม และทำให้ประชาชนในคาบสมุทรอาหรับรวมตัวกันเป็นหนึ่ง ท่านมีชื่อเรียกอีกหลายนาม ได้แก่ ศาสนทูตของอัลลอฮ์, ศาสดามุฮัมมัด, ศาสดาคนสุดท้ายของศาสนาอิสลาม เป็นต้น และมีการสะกดชื่อท่านในแบบต่าง ๆ เช่น โมฮาเหม็ด, มะฮะหมัด, มูฮาหมัด เป็นต้น

มูฮัมมัด
مُحَمَّد
Dark vignette Al-Masjid AL-Nabawi Door800x600x300.jpg
"มุฮัมมัด ศาสนทูตของอัลลอฮ์"
ภาพถ่ายที่ประตูมัสยิด อัน-นาบาวีในเมืองมะดีนะฮ์
เกิดมุฮัมมัด อิบน์ อับดุลลอฮ์
(อาหรับ: مُحَمَّد بِن عَبد الله)

เดือนรอบีอุลเอาวัล คริสต์ทศวรรษที่ 570
เสียชีวิต8 มิถุนายน ค.ศ. 632 , 12 รอบีอุลเอาวัล ฮ.ศ.11 (ประมาณ 62 ปี)
มะดีนะฮ์, คาบสมุทรอาหรับ
(ปัจจุบันคือประเทศซาอุดีอาระเบีย)
สุสาน
โดมเขียวที่มัสยิด อัน-นาบาวี, มะดีนะฮ์
(ปัจจุบันคือประเทศซาอุดีอาระเบีย)
ชื่ออื่น
ปีปฏิบัติงาน
ค.ศ. 583–609  เป็นพ่อค้า
ค.ศ. 609–632  เป็นผู้นำทางศาสนา
ผลงานเด่นรัฐธรรมนูญประจำเมืองมะดีนะฮ์
ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนอีซา
ผู้สืบตำแหน่งสิ่งที่สืบทอดจากมุฮัมมัด
คู่สมรส
ภรรยาของมุฮัมมัด แต่งงาน
เคาะดีญะฮ์ บินต์ คุวัยลิด 595–619
เซาดะฮ์ บินติ ซัมอะฮ์ 619–632
อาอิชะฮ์ บินต์ อะบีบักร์ 619–632
ฮัฟเซาะฮ์ บินต์ อุมัร 624–632
ซัยนับ บินต์ คุซัยมะฮ์ 625–627
ฮินด์ บินต์ อบีอุมัยยะฮ์625–632
ซัยนับ บินต์ ญะฮ์ช 627–632
ญุวัยริยยะฮ์ บินต์ อัลฮาริษ 628–632
ร็อมละฮ์ บินต์ อะบีซุฟยาน 628–632
ร็อยฮานะฮ์ บินต์ ซัยด์ 629–631
เศาะฟียะฮ์ บินต์ ฮุยัย 629–632
มัยมูนะฮ์ บินต์ อัลฮาริษ 630–632
มาเรีย อัลกิบตียะฮ์ 630–632
บุตรลูกของมุฮัมมัด
บิดามารดาอับดุลลอฮ์ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ (บิดา)
อามินะฮ์ บินต์ วะฮับ (มารดา)
ญาติพงศาวลีของมุฮัมมัด, อะฮ์ลุลบัยต์
ลายมือชื่อ
Muhammad Seal.svg
ตราของมุฮัมมัด

ชื่อและคำเรียกชื่อในอัลกุรอานแก้ไข

 
ชื่อ มุฮัมมัดที่เขียนในแบบอักษรษุลุษ ซึ่งเป็นแบบอักษรที่ใช้แพร่หลายในลายวิจิตรอิสลาม

ชื่อ มุฮัมมัด (muhammad, /mʊˈhæməd, -ˈhɑːməd/)[7] หมายถึง "ผู้ถูกสรรเสริญ" และปรากฏในอัลกุรอาน 4 ครั้ง[8]

ในอัลกุรอานได้กล่าวถึงท่านในตำแหน่งสรรพนามบุรุษที่สองไว้หลายแบบ เช่น: ศาสดา, ศาสนทูต, ผู้รับใช้พระเจ้า (อับด์), ผู้ประกาศ (บะชีร),[อัลกุรอาน 2:119] ผู้เป็นพยาน (ชะฮีด),[อัลกุรอาน 33:45] ผู้ประกาศข่าวดี (มุบาชิร), ผู้ตักเตือน (นาษิร),[อัลกุรอาน 11:2] ผู้แจ้งเตือน (มุซักกิร),[อัลกุรอาน 88:21] ผู้เรียกร้อง [แด่พระเจ้า] (ดาอี),[อัลกุรอาน 12:108] ผู้เป็นแสงสว่าง (นูร),[อัลกุรอาน 05:15] และผู้ให้แสงสว่าง (ศิรอจ มุนีร).[อัลกุรอาน 33:46]

ประวัติแก้ไข

ชีวิตวัยเด็กและช่วงต้นแก้ไข

อบูกอซิม มุฮัมมัด อิบน์ อับดุลลอฮ์ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ อิบน์ ฮาชิม[9] ถือกำเนิดที่มักกะฮ์[10] ในช่วงประมาณปี ค.ศ. 570[11] และเชื่อว่าวันเกิดของท่านอยู่ในเดือนรอบีอุลเอาวัล.[12] ท่านเป็นส่วนหนึ่งของเผ่าบนูฮาชิมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเผ่ากุเรช และเป็นหนึ่งในครอบครัวที่สำคัญในมักกะฮ์[13][14] ตามธรรมเนียมว่าวันเกิดของมุฮัมมัดตรงกับปีช้าง ซึ่งถูกตั้งชื่อตามความล้มเหลวในการทำลายมักกะฮ์โดยอับรอฮะ กษัตริย์เยเมน ที่นำกองทัพช้างมาที่นี่[15][16][17] นักวิชาการในศตวรรษที่ 20 บางคนได้ตั้งปีเกิดจำเพาะ เช่น ค.ศ. 568 หรือ 569[18]

 
ภาพมุฮัมมัดนำหินดำไปตั้งที่กะอ์บะฮ์ในปีค.ศ. 605 ใน ญามิอ์ อัตตะวาริค โดยเราะชีด-อัล-ดิน-ฮามาดานี (ยุคจักรวรรดิข่านอิล)[19]

อับดุลลอฮ์ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ พ่อของมุฮัมมัด เสียชีวิตก่อนที่ท่านเกิดเกือบ 6 เดือน[20] ตามธรรมเนียมอาหรับในสมัยนั้น หลังจากถือกำเนิดแล้ว ท่านถูกส่งไปอยู่กับพวกครอบครัวเบดูอินในทะเลทราย แต่นักวิชาการตะวันตกบางคนปฏิเสธประวัติความเชื่อนี้[21] มุฮัมมัดอาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงฮะลีมะฮ์ บินต์ อะบีษุอัยบ์กับสามีของเธอจนกระทั่งท่านอายุ 2 ขวบ ตอนอายุ 6 ขวบ อะมีนะฮ์ บินต์ วะฮับ แม่ของมุฮัมมัด ป่วยแล้วเสียชีวิต และทำให้ท่านกลายเป็นเด็กกำพร้า[21][22] จนกระทั่งอายุ 8 ขวบ มุฮัมมัดได้อยู่ในความคุ้มครองของอับดุลมุฏฏอลิบ ผู้นำเผ่าบนูฮาชิม ผู้เป็นปู่ของท่าน จนกระทั่งเขาเสียชีวิต แล้วจึงอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของอบูฏอลิบ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ ลุงของท่าน ผู้เป็นผู้นำคนใหม่ของบนูฮาชิม[18]

ในช่วงวัยรุ่น ท่านได้ช่วยลุงไปค้าขายที่แผ่นดินชาม หรือบริเวณประเทศซีเรียในปัจจุบัน เพื่อเก็บประสบการณ์ทางการค้า[23] ตามธรรมเนียมอาหรับในสมัยนั้นไว้ว่า ตอนที่ท่านนบีมุฮัมมัดอายุ 9 หรือ 12 ขวบ ในตอนที่เดินทางไปกับคาราวานไปที่ซีเรีย ท่านได้พบกับบาดหลวงคริสเตียนหรือฤๅษีนามว่าบะฮีรอ ซึ่งเป็นคนที่เห็นอนาคตของมุฮัมมัดในฐานะศาสนทูตของพระเจ้า[24]

เนื่องจากนิสัยที่ซื่อตรงและซื่อสัตย์ของท่าน ทำให้ท่านได้ชื่อเล่นว่า "อัลอะมีน" (الامين) ที่หมายถึง "ผู้ซื่อสัตย์, เชื่อถือได้" และ "อัศศอดิก" หมายถึง "ผู้มีสัจจะ"[25] ชื่อเสียงของท่านทำให้เคาะดีญะฮ์ บินต์ คุวัยลิด หญิงหม้ายวัย 40 สนใจให้ท่านช่วยในการค้าขาย และภายหลังท่านมุฮัมมัดก็ได้แต่งงานกับนาง ซึ่งทุกสายรายงานบอกว่าเป็นการแต่งงานที่มีความสุขที่สุด[26]

ในปี ค.ศ. 605 ตามรายงานจากอิบน์ อิสฮาก มุฮัมมัดได้เป็นผู้นำหินดำกลับไปตั้งที่กะอ์บะฮ์ หลังจากหินดำถูกนำออกไปเพื่อปรับปรุงกะอ์บะฮ์ ผู้นำมักกะฮ์ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะให้เผ่าไหนนำหินดำกลับไปที่เดิม พวกเขาจึงตกลงว่าวันนั้นใครมาที่ประตูเมืองคนแรก ก็ให้คนนั้นเป็นผู้ตัดสินใจ และผู้ที่มาคนแรกคือมุฮัมมัดในช่วงอายุ 35 ปี ท่านจึงตัดสินใจให้นำหินดำไปตั้งบนผ้า แล้วให้ผู้นำเผ่าต่าง ๆ จับผ้าผืนนั้นพร้อมกัน และท่านจะเป็นคนนำหินตั้งเอง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนการประทานวะฮ์ยูครั้งแรกของท่านเป็นเวลา 5 ปี[27][28]

จุดเริ่มต้นของอัลกุรอานแก้ไข

จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระเจ้าของเจ้าผู้ทรงบังเกิด—ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นผู้ทรงใจบุญยิ่ง—ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา—ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้

— กุรอาน (96:1–5)

 
ถ้ำฮิรอบนภูเขาญะบัลนูร เป็นที่ที่ตามรายงานจากชาวมุสลิมว่า มุฮัมมัดได้รับโองการแรกที่นี่

มุฮัมมัดเริ่มขอพรคนเดียวที่ถ้ำฮิรอบนภูเขาญะบัลนูรใกล้มักกะฮ์ไปหลายสัปดาห์ของทุกปี[29][30] ในธรรมเนียมอิสลามได้กล่าวว่า ในคืนหนึ่งของปีค.ศ. 610 มลาอิกะฮ์ญิบรีลได้ปรากฏตัวและสั่งให้มุฮัมมัดอ่านอายะฮ์แรกของอัลกุรอาน[31] โดยมันอยู่ในช่วงแรกของซูเราะฮ์ที่ 96:1.[32] มุฮัมมัดรู้สึกเป็นทุกข์จากการได้รับโองการแรก หลังจากกลับบ้าน ท่านถูกปลอบโยนและทำให้อุ่นใจโดยเคาะดีญะฮ์กับ วะเราะเกาะฮ์ อิบน์ เนาฟัล ลูกพี่ลูกน้องชาวคริสต์ของเธอ[33] ท่านรู้สึกกลัวว่าคนอื่นจะทิ้งท่านโดยอ้างว่าท่านถูกสะกดจิต[34] แต่ตามธรรมเนียมชีอะฮ์แล้ว มุฮัมมัดไม่ได้รู้สึกประหลาดใจหรือตกใจต่อการปรากฏตัวของญิบรีล แต่ท่านได้ต้อนรับเทวทูตเหมือนกับสิ่งที่ท่านคาดไว้[35] มีฮะดีษจากซอฮิฮ์ อัล-บุคอรีได้บันทึกว่า โองการที่มุฮัมมัดได้รับ "บางครั้งมัน (ตอนเปิดเผยโองการ) เหมือนกับเสียงกรื่งของระฆัง" รายงานจากอาอิชะฮ์ไว้ว่า "ฉันเห็นท่านศาสดาได้รับโองการในช่วงที่อากาศเย็นและสังเกตว่ามีเหงื่อไหลที่หน้าผากของท่าน (หลังประทานเสร็จแล้ว)"[36] ตามรายงานของอัลฟอร์ด ที. เวลช์ ไว้ว่าคำอธิบายนี้เป็นของแท้ เพราะมันไม่ค่อยถูกดัดแปลงโดยมุสลิมในยุคหลัง[13] รายงานจากอัลกุรอาน หนึ่งในบทบาทสำคัญของท่านคือตักเตือนผู้ปฏิเสธศรัทธาสำหรับบทลงโทษทางชีวิตหลังความตาย (กุรอาน 38:70, กุรอาน 6:19) ถึงแม้ว่ากุรอานไม่ได้กล่าวถึงวันกิยามัตโดยตรง แต่มันได้ให้ตัวอย่างของสังคมที่ถูกทำลาย และเตือนคนที่อยู่ในยุคเดียวกันกับมุฮัมมัด (กุรอาน 41:13–16).[37] มุฮัมมัดไม่ได้แค่เตือนผู้ที่ปฏิเสธโองการพระเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่ท่านได้กล่าวถึงข่าวดีแก่ผู้ที่หลีกเลี่ยงสิ่งชั่วร้าย ฟังโองการที่ถูกประทาน และรับใช้พระเจ้า[38]

การเป็นปรปักษ์แก้ไข

 
อายะฮ์สุดท้ายของซูเราะฮ์อันนัจม์: "ดังนั้นพวกเจ้าจงสุญูดต่ออัลลอฮ์เถิดและจงเคารพภักดีต่อพระองค์เถิด" เป็นประโยคที่มุฮัมมัดกล่าวท้าต่อขนบธรรมเนียมดั้งเดิม

รายงานจากธรรมเนียมมุสลิม เคาะดีญะฮ์ บินต์ คุวัยลิดเป็นคนแรกที่เชื่อว่าท่านเป็นศาสดา[39] ตามมาด้วยอะลี ลูกพี่ลูกน้องของท่านตอนอายุ 10 ขวบ เพื่อนใกล้ชิดของอะบูบักร์ และบุตรบุญธรรมซัยด์ อิบน์ ฮาริษะฮ์.[39] ราว ๆ ปีค.ศ. 613 มุฮัมมัดเริ่มเผยแผ่แบบเปิดเผยต่อสาธารณะ (กุรอาน 26:214)[40][41] ชาวมักกะฮ์ส่วนใหญ่ไม่สนใจและล้อเลียนท่าน โดยมีผู้เข้ารับศาสนาไม่กี่คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ: น้องชายและบุตรของพ่อค้า; บุคคลที่ล้มเหลวในการเป็นหัวหน้าเผ่าหรือประสบความล้มเหลว และคนอ่อนแอ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่ไม่ได้รับการป้องกัน[42]

รายงานจากอิบน์ ซะอัด การต่อต้านในมักกะฮ์เริ่มต้นขึ้น เมื่อมุฮัมมัดเริ่มกล่าวโองการที่โจมตีการสักการะรูปปั้นและพหุเทวนิยมที่ถูกสอนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ[43] อย่างไรก็ตาม นักอรรถกถากุรอานยืนยันว่า มันเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่ศาสนาแบบเปิดเผย[44] ในขณะที่ผู้ติดตามเพิ่มขึ้น มุฮัมมัดกลายเป็นภัยต่อชนเผ่าและผู้นำของเมือง พ่อค้าผู้มีอิทธิพลพยายามให้ท่านหยุดสอนเสีย; โดยมีเงื่อนไขหลายประการ แต่ท่านปฏิเสธ[42]

มีรายงานเกี่ยวกับทารุณกรรมต่อมุฮัมมัดและผู้ติดตาม สุมัยยะฮ์ บินต์ ค็อยยาฏ ทาสีของอบูญะฮัลเป็นผู้พลีชีพคนแรกของศาสนาอิสลาม โดยถูกฆ่าด้วยหอกโดยเจ้านายของเธอ บิลาล อิบน์ เราะบาอ์ ทาสอีกคนถูกทรมาณโดยอุมัยยะฮ์ อิบน์ เคาะลัฟ โดยการวางหินขนาดใหญ่บนหน้าอกของเขา[45][46]

ในปีค.ศ. 615 ผู้ติดตามมุฮัมมัดบางส่วนอพยพไปที่อาณาจักรอักซุม โดยอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของจักรพรรดิคริสเตียนนะญาชี[13] อิบน์ สะอัด อัลบัฆดาดี รายงานถึงการอพยพ 2 ครั้ง โดยเขารายงานว่า มุสลิมส่วนใหญ่กลับไปที่มักกะฮ์เพื่อฮิจเราะห์ ในขณะที่อีกกลุ่มร่วมกันไปที่มะดีนะฮ์ แต่อย่างไรก็ตามส่วน อิบน์ ฮิชามกับมุฮัมมัด อิบน์ ญะรีร อัฏเฏาะบะรีย์ กล่าวว่ามีการอพยพแค่ครั้งเดียว รายงานจากจดหมายสำคัญของอุรวะฮ์ อิบน์ ซุบัยร์ มุสลิมส่วนใหญ่กลับมายังบ้านเกิดหลังจากศาสนาอิสลามมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และอุมัรกับฮัมซะฮ์ เข้ารับอิสลาม[47]

ในปีค.ศ. 617 ผู้นำจากเผ่ามัคซูมกับบนูอัดดุชชัมส์ สองเผ่าสำคัญของมักกะฮ์ ได้ลงนามคว่ำบาตรเผ่าบนูฮาชิม โดยมีผลแค่ 3 ปีแต่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง[48][49]

อิสรออ์กับมิอ์รอจญ์แก้ไข

ดูบทความหลักที่: อิสรออ์กับมิอ์รอจญ์
 
มัสยิดอัลอักศอที่ถูกสร้างในปีค.ศ. 705 ถูกเรียกเป็น "มัสยิดที่ไกลที่สุด"[50]

ในธรรมเนียมอิสลามได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า ในปีค.ศ. 620 มุฮัมมัดได้รับประสบการณ์ อิสรออ์กับมิอ์รอจญ์ เป็นการเดินทางในยามค่ำคืนที่เกิดขึ้นพร้อมกับมลาอิกะฮ์ญิบรีล โดย อิสรออ์ คือการเดินทางจากมักกะฮ์บนบุรอกไปถึง "มัสยิดที่ไกลที่สุด." ส่วน มิอ์รอจญ์ คือการเยี่ยมชมสวรรค์และนรก และทักทายกับศาสดาในยุคก่อน เช่น อิบรอฮีม, มูซา และอีซา[51] อิบน์ อิสฮัก กล่าวว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในจิตวิญญาณ หลังจากนั้น นักประวัติศาสตร์ เช่นมุฮัมมัด อิบน์ ญะรีร อัฏเฏาะบะรีย์กับอิบน์กะษีรกล่าวว่าเป็นการเดินทางทั้งร่างกาย[51]

ปีสุดท้ายก่อนฮิจเราะฮ์แก้ไข

 
โดมแห่งศิลา เป็นบริเวณที่มุสลิมเชื่อว่ามุฮัมมัดถูกยกขึ้นไปที่สวรรค์[52]

ในปี ค.ศ. 619 เคาะดีญะฮ์ ภรรยาของมุฮัมมัด และอบูฏอลิบ ลุงของมุฮัมมัด เสียชีวิตลงทั้งคู่ โดยปีนั้นรู้จักกันในชื่อว่า "ปีแห่งความเศร้าโศก" หลังอบูฏอลิบเสียชีวิตแล้ว อบูละฮับ ศัตรูที่ดื้อรั้นของมุฮัมมัด ได้กลายเป็นหัวหน้าเผ่าคนต่อไป แล้วยกเลิกการป้องกันมุฮัมมัด นั่นทำให้ท่านอยู่ในสภาวะอันตราย เพราะการยกเลิกการป้องกันจะทำให้การหลั่งเลือดในการฆ่าท่านได้รับการยกเว้นโทษ ดังนั้น มุฮัมมัดจึงไปที่ฏออิฟ และหาผู้ปกป้อง แต่ล้มเหลวและทำให้ท่านได้รับบาดเจ็บ[49] มุฮัมมัดจึงต้องเข้ามักกะฮ์ โดยชาวมักกะฮ์คนหนึ่งชื่อว่า มุตอิม อิบน์ อะดี (และผู้ปกป้องจากเผ่าบนูเนาฟัล) ได้พยายามทำให้ท่านเข้าเมืองได้อย่างปลอดภัย[49]

หลังจากการเจรจาที่ล้มเหลวหลายครั้ง ท่านให้ความหวังกับกลุ่มผู้ชายจากยัษริบ (หลังจากนั้นคือมะดีนะฮ์) ในเดือนมิถุนายน มีมุสลิม 75 คนมาแสวงบุญและพบกับมุฮัมมัดที่มักกะฮ์ โดยนัดพบกันลับ ๆ ในเวลากลางคืน กลุ่มคนเหล่านั้นได้ทำ "คำมั่นสัญญาครั้งที่สองที่อะกอบะฮ์" หรือในมุมมองของพวกตะวันออกว่า "คำมั่นสัญญาแห่งสงคราม"[53] หลังจากให้คำมั่นสัญญาแล้ว มุฮัมมัดสั่งให้ผู้ติดตามอพยพไปยังยัษริบ พวกกุเรชพยายามที่จะหยุดการอพยพ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มมุสลิมเกือบทั้งหมดออกไปจากมักกะฮ์แล้ว[54]

ฮิจเราะฮ์แก้ไข

ดูบทความหลักที่: ฮิจเราะฮ์
ข้อมูลเพิ่มเติม: อาชีพทางทหารของมุฮัมมัด

ฮิจเราะห์คือการอพยพกของมุฮัมมัดกับผู้ติดตามจากมักกะฮ์ไปที่มะดีนะฮ์ในปีค.ศ. 622 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 622 ได้มีการวางแผนลอบสังหารท่าน มุฮัมมัดได้ออกจากเมืองอย่างลับ ๆ และไปยังมะดีนะฮ์[55] ซึ่งอยู่ห่างจากมักกะฮ์ไป 450 กิโลเมตร (280 ไมล์) ทางตอนเหนือ[56]

อพยพไปมะดีนะฮ์แก้ไข

ดูบทความหลักที่: มุฮัมมัดในมะดีนะฮ์

มีการมอบหมายหน้าที่ในสภาของสิบสองชนเผ่าสำคัญแห่งมะดีนะฮ์ ได้เชิญชวนให้มุฮัมมัดเป็นหัวหน้าของสังคมทั้งหมด เพราะว่าท่านมีสถานะเป็นกลาง[57][58] โดยมีการต่อสู้ในมะดีนะฮ์ ข้อแรกคือความขัดแย้งระหว่างชาวอาหรับกับชาวยิวที่มีมานานกว่าร้อยปี[57]

มุฮัมมัดได้บอกให้ผู้ติดตามให้อพยพไปมะดีนะฮ์ทั้งหมด ตามรายงานธรรมเนียมอิสลามว่า พวกมักกะฮ์วางแผนลอบสังหารมุฮัมมัด แต่ด้วยความช่วยเหลือจากอะลี มุฮัมมัดจึงรอดจากการถูกฆ่า และหนีอออกไปจากเมืองกับอบูบักร์[59] ในปีค.ศ. 622 มุฮัมัมดได้อพยพไปยังมะดีนะฮ์ โดยใครที่อพยพมาจากมักกะฮ์จะถูกเรียกเป็น มุฮาญิรีน (ผู้อพยพ)

ก่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่แก้ไข

สิ่งแรกที่มุฮัมมัดทำเพื่อหยุคการแก้แค้นที่มีมานานระหว่างชนเผ่าในมะดีนะฮ์คือก่อร่างรัฐธรรมนูญประจำเมืองมะดีนะฮ์ หรือ "การสร้างพันธมิตรหรือสหพันธ์" ระหว่าง 8 ชนเผ่ามะดีนะฮ์กับมุสลิมที่อพยพมาจากมักกะฮ์ โดยให้สิทธิแก่ประชาชนทุกคนในมะดีนะฮ์ โดยเฉพาะชาวยิว และ "ชาวคำภีร์"[57][58]

กลุ่มแรกในมะดีนะฮ์ที่เข้ารับอิสลามเป็นชนเผ่าที่ไม่มีหัวหน้า[60] จากนั้นจึงตามมาด้วยการยอมรับศาสนาอิสลามโดยประชากรที่นับถือลัทธินอกศาสนาในมะดีนะฮ์ โดยมีข้อยกเว้น[61] ชาวมะดีนะฮ์ที่เข้ารับอิสลามและช่วยเหลือมุสลิมถูกเรียกว่า อันศอร (ผู้สนับสนุน)

เริ่มการใช้อาวุธในทางทหารแก้ไข

สำหรับบรรดาผู้ (ที่ถูกโจมตีนั้น) ได้รับอนุญาตให้ต่อสู้ได้ เพราะพวกเขาถูกข่มเหง และแท้จริงอัลลอฮ์ทรงสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างแน่นอน บรรดาผู้ที่ถูกขับไล่ออกจากบ้านเรือนของพวกเขา โดยปราศจากความยุติธรรม นอกจากพวกเขากล่าวว่า “อัลลอฮ์คือพระเจ้าของเราเท่านั้น” และหากว่าอัลลอฮ์ทรงขัดขวางมิให้มนุษย์ต่อสู้ซึ่งกันและกันแล้ว บรรดาหอสวด และโบสถ์ (ของพวกคริสต์) และสถานที่สวด (ของพวกยิว) และมัสยิดทั้งหลายที่พระนามของอัลลอฮ์ ถูกกล่าวรำลึกอย่างมากมาย ต้องถูกทำลายอย่างแน่นอน และแน่นอนอัลลอฮ์ จะทรงช่วยเหลือผู้ที่สนับสนุนศาสนาของพระองค์ แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงพลัง ผู้ทรงเดชานุภาพอย่างแท้จริง

— กุรอาน (22:39–40)

หลังการอพยพ ชาวมักกะฮ์ได้ยึดทรัพย์สินของชาวมุสลิมที่อพยพไปยังมะดีนะฮ์[62] และสงครามได้เกิดขึ้นระหว่างชาวมักกะฮ์กับมุสลิม ศาสดาได้บอกโองการจากอัลกุรอานที่อนุญาตให้มุสลิมต่อสู้ได้ (ดูซูเราะฮ์อัลฮัจญ์ กุรอาน 22:39–40).[63]รายงานจากธรรมเนียมมุสลิม ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 624 ในขณะละหมาดที่มัสยิดอัลกิบละตัยน์ในมะดีนะฮ์ มุฮัมมัดได้รับโองการจากอัลลอฮ์ให้เปลี่ยนกิบลัตจากเยรูซาเลมไปยังมักกะฮ์[64]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 624 มุฮัมมัดได้นำทหาร 300 นาย ไปโจมตีกองคาราวานของมักกะฮ์ โดยซุ่มอยู่ที่บัดร์[65] แต่เนื่องจากพวกมักกะฮ์รู้แผนก่อน จึงเลี่ยงเส้นทางนั้น และถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ทำให้เกิดยุทธการที่บะดัรขึ้น[66] แม้ว่าพวกมักกะฮ์มีจำนวนมากกว่ามุสลิมอยู่ 3 ต่อ 1 แต่ฝ่ายมุสลิมก็ชนะสงคราม โดยชาวมักกะฮ์ถูกฆ่าไป 45 คน และฝ่ายมุสลิมถูกฆ่าไป 14 คน และได้ฆ่าหัวหน้าชาวมักกะฮ์คนสำคัญหลายคน เช่น อบูญะฮัล[67] มีการจับนักโทษ 70 คน โดยส่วนใหญ่ถูกไถ่แล้ว[68][69][70] มุฮัมมัดกับผู้ติดตามเห็นชัยชนะครั้งนี้เป็นการยืนยันความศรัทธา และท่านกล่าวว่าชัยชนะนี้เกิดจากกลุ่มเทวทูต อายะฮ์กุรอานในช่วงนั้นกล่าวถึงการจัดการปัญหาของรัฐบาลและปัญหาต่าง ๆ [71]

มุฮัมมัดได้สั่งเนรเทศเผ่าบนูกุร็อยเซาะฮ์ หนึ่งในสามชนเผ่ายิว ออกจากมะดีนะฮ์ แต่นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากท่านเสียชีวิตไปแล้ว[72] รายงานจากอัลวะกีดี หลังจากอับดุลลอฮ์ อิบน์ อุบัยด์พูดกับพวกเขา มุฮัมมัดละเว้นการประหารชีวิต และสั่งให้เนรเทศพวกเขาออกจากมะดีนะฮ์[73] หลังจากสงครามนี้ มุฮัมมัดได้สร้างพันธมิตรกับชนเผ่าเบดูอินหลายเผ่า เพื่อปกป้องสังคมของท่านจากการโจมตีในบริเวณตอนเหนือของฮิญาซ

ความขัดแย้งกับมักกะฮ์แก้ไข

ดูบทความหลักที่: ยุทธการที่อุฮุด
 
"ศาสดามุฮัมมัดกับกองทัพมุสลิมที่ยุทธการที่อุฮุด" จาก Siyer-i Nebi ในปีค.ศ. 1595

ชาวมักกะฮ์ต้องการแก้แค้น เพื่อให้เศรษฐกิจกลับคืนมา พวกเขาต้องฟื้นฟูศักดิ์ศรีที่สูญเสียไปที่บะดัร[74] ไม่กี่เดือนต่อมา พวกมักกะฮ์ส่งหน่วยสอดแนมไปที่มะดีนะฮ์ ในขณะที่มุฮัมมัดเดินทางไปที่ชนเผ่าที่สวามิภักดิ์ต่อมักกะฮ์ และส่งหน่วยจู่โจมไปที่คาราวานมักกะฮ์[75] อบูซุฟยานได้เตรียมกองทัพ 3,000 คนไปโจมตีมะดีนะฮ์[76]

หน่วยสอดแนมได้แจ้งมุฮัมมัดถึงการมาและจำนวนทหารของฝ่ายมักกะฮ์ เช้าวันต่อมาได้มีการประชุมเกี่ยวกับสงคราม มุฮัมมัดกับผู้อาวุโสหลายคนมีมติว่าควรสู้ในมะดีนะฮ์ แต่ฝ่ายมุสลิมโต้แย้งว่าฝ่ายมักกะฮ์จะทำลายพืชผล และการสู้รบในเมืองอาจทำลายศักดิ์ศรีของมุสลิม มุฮัมมัดจึงยอมรับและเตรียมกองทัพไปสู้รบที่ภูเขาอุฮุด (ที่ตั้งของค่ายชาวมักกะฮ์) แล้วสู้รบในสงครามอุฮุด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 625[77][78] ถึงแม้ว่าฝ่ายมุสลิมมีความได้เปรียบในช่วงแรก แต่ความหละหลวมต่อยุทธวิธีของพลธนูทำให้ฝ่ายมุสลิมพ่ายแพ้ โดยถูกฆ่าไป 75 คน ซึ่งรวมถึงฮัมซะฮ์ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ ลุงของมุฮัมมัด พวกมักกะฮ์ไม่ได้ไล่ตามพวกมุสลิม แต่ได้รวมพลกลับมักกะฮ์เพื่อประกาศชัยชนะ เพราะพวกเขาคิดว่ามุฮัมมัดบาดเจ็บและคงตายไปแล้ว เมื่อพวกเขาพบว่ามุฮัมมัดยังไม่ตาย พวกมักกะฮ์จึงล้มเหลวต่อการกำจัดพวกมุสลิมให้สิ้นซาก[79][80] ชาวมุสลิมได้ฝังศพและกลับบ้านในเวลาเย็น แล้วถามถึงสาเหตุความพ่ายแพ้ มุฮัมมัดได้กล่าวอายะฮ์กุรอาน 3:152 ว่าสาเหตุการพ่ายแพ้มีอยู่สองอย่าง คือ: การไม่เชื่อฟัง และการทดสอบความแน่วแน่[81]

อบูซุฟยานได้นำกองทัพอีกกลุ่มไปโจมตีมะดีนะฮ์ โดยได้ผู้สนับสนุนจากชนร่อนเร่ในบริเวณตอนเหนือกับตะวันออกของมะดีนะฮ์ ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับจุดอ่อนของมุฮัมมัด สัญญาที่จะปล้น ความทรงจำในศักดิ์ศรีของเผ่ากุเรช และสินบน[82] มุฮัมมัดรู้ถึงความดื้อดึงต่อผู้คนในมะดีนะฮ์ และตอบสนองอย่างดี[83] ตัวอย่างแรกคือ การลอบสังหารกะอับ อิบน์ อัลอัชรอฟ หัวหน้าเผ่ายิวบนูนาดีร อัลอัชรอฟไปยังมักกะฮ์แล้วเขียนกวีให้ชาวมักกะฮ์แก้แค้นต่อสงครามบะดัร[84][85] ในปีต่อมา มุฮัมมัดได้เนรเทศเผ่าบนูนาดีรไปจากมะดีนะฮ์[86]โดยบังคับให้อพยพไปที่ซีเรีย ซึ่งทำให้ศัตรูรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อทำลายท่านเสีย มุฮัมมัดพยายามหลีกเลี่ยงการรวมตัวของพวกเขาแต่ล้มเหลว ถึงแม้ว่าท่านสามารถเพิ่มจำนวนพลทหารและหยุดชนเผ่าอื่นเข้าร่วมฝ่ายศัตรูก็ตาม[87]

การล้อมมะดีนะฮ์แก้ไข

ดูบทความหลักที่: ยุทธการสนามเพลาะ
 
มัสยิด อัลกิบละตัยน์ เป็นที่ที่มุฮัมมัดได้กิบลัตใหม่

ด้วยความช่วยเหลือจากเผ่าบนูนาดีรที่ถูกเนรเทศ พวกกุเรชที่นำโดยอบูซุฟยานได้นำทหารมาสู้รบ 10,000 คน ในขณะที่มุฮัมมัดมีทหารเพียง 3,000 คนและใช้วิธีการป้องกันที่ผู้คนในอาระเบียยังไม่ค่อยรู้จักกันในเวลานั้น โดยพวกมุสลิมได้ขุดสนามเพลาะรอบบริเวณที่โล่ง โดยได้ความคิดจากซัลมาน ฟารซี ชาวเปอร์เซียผู้เข้ารับอิสลาม ยุทธการสนามเพลาะในมะดีนะฮ์เริ่มขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 627 โดยกินระยะเวลาไป 2 สัปดาห์[88] กองทัพของอบูซุฟยานไม่สามารถเอาชนะยุทธวิธีนี้ หลังจากล้อมอยู่เป็นเวลานาน จึงได้ตัดสินใจถอยทัพกลับ[89] ในกุรอานได้กล่าวไว้ในซูเราะฮ์อัลอะฮ์ซาบ อายะฮ์ที่ 33:9–27.[44] ในระหว่างสงครามนั้น ชนเผ่ายิวแห่งบนูกุร็อยเซาะฮ์ที่อยู่ทางใต้ของมะดีนะฮ์ ได้เข้าร่วมกับฝ่ายมักกะฮ์เพื่อก่อกบฏต่อมุฮัมมัด[90] หลังจากฝ่ายสหพันธ์ล่าถอยแล้ว ฝ่ายมุสลิมได้กล่าวโทษบนูกุร็อยเซาะฮ์ต่อการทรยศ และปิดล้อมป้อมเป็นเวลา 25 วัน บนูกุร็อยเซาะฮ์จึงยอมแพ้ รายงานจากอิบน์ อิสฮาก ผู้ชายทุกคนโดนตัดหัว ยกเว้นคนที่เข้ารับอิสลามบางส่วน ในขณะที่ผู้หญิงและเด็กกลายเป็นทาส[91][92] วาลิด เอ็น. อะรอฟัต กับบะรอกัต อะฮ์มัดได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของรายงานนี้[93] อะรอฟัตเชื่อว่ารายงานนี้ ถูกกล่าวโดยชาวยิวที่บอกเล่ากันเป็นเวลา 100 ปีหลังจากเหตุการณ์ และถือว่า อิบน์ อิสฮาก เป็นนักประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยมาลิก อิบน์ อะนัส[94] อะฮ์มัดได้โต้แย้งว่ามีเผ่าไม่กี่กลุ่มที่ถูกฆ่า ในขณะที่อีกส่วนถูกขายเป็นทาส[95][96]

ในการล้อมมะดีนะฮ์ครั้งนั้น ทำให้พวกมักกะฮ์สูญเสียศักดิ์ศรี และการค้ากับซีเรียได้ล่มสลายลง[97] หลังจากยุทธการสนามเพลาะ มุฮัมมัดได้เดินทางไปทางเหนือสองแห่ง และจบลงโดยไม่มีการต่อสู้ทั้งคู่ ในขณะกลับมานั้น (หรือในปีก่อนตามรายงานบางอัน) ได้มีการใส่ความอาอิชะฮ์ว่าเธอผิดประเวณี แต่เธอรอดพ้นจากข้อกล่าวหาเมื่อมุฮัมมัดประกาศว่า ท่านได้โองการใหม่เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของอาอิชะฮ์ และกฎการเป็นพยานของการล่วงละเมิดประเวณี คือมีพยาน 4 คน (ซูเราะฮ์ที่ 24, อันนูร).[98]

สนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์แก้ไข

ดูบทความหลักที่: สนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์
"ด้วยนามของพระองค์ โอ้อัลลอฮ์!
นี่คือสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างมุฮัมมัด อิบน์ อับดุลลอฮ์ กับสุฮัยล์ อิบน์ อัมร์ เรายินยอมไม่ก่อสงครามไปเป็นเวลา 10 ปี ในช่วงระยะเวลานั้นแต่ละกลุ่มควรได้รับการปกป้อง และห้ามใครก็ตามทำร้ายอีกกลุ่ม... ใครก็ตามในอาระเบียที่ยินยอมที่จะลงนามหรือเข้าร่วมกับมุฮัมมัด สามารถทำได้ และใครก็ตามที่ยินยอมที่จะลงนามหรือเข้าร่วมกับพวกกุเรช ก็สามารถทำได้เช่นกัน และถ้าพวกกุเรชมาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เขาควรถูกส่งกลับไปยังพวกกุเรช แต่ถ้าใครคนหนึ่งจากมุฮัมมัดมายังพวกกุเรช เขาจะไม่ถูกส่งกลับไปยังมุฮัมมัด ณ ปีนี้ มุฮัมมัดกับผู้ติดตาม ต้องถอนตัวออกจากมักกะฮ์ แต่ในปีหน้า พวกท่านสามารถมามักกะฮ์ได้และอยู่ได้เพียงสามวัน โดยห้ามเอาอาวุธใด ๆ มา นอกจากดาบในฝักไว้ป้องกันตัว"

—คำแถลงในสนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์[99]

 
กะอ์บะฮ์ในมักกะฮ์เป็นจุดศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจกับศาสนา หลังจากมุฮัมมัดไปที่มะดีนะฮ์ 17 เดือน มันได้กลายเป็นกิบลัตของชาวมุสลิมสำหรับละหมาด กะอ์บะฮ์ถูกสร้างใหม่หลายรอบ; อาคารหลังปัจจุบันถูกสร้างในปีค.ศ. 1629 ซึ่งเป็นการสร้างทับอาคารหลังเก่าที่สร้างในปีค.ศ. 683.[100]

ถึงแม้ว่ามุฮัมมัดได้กล่าวโองการเกี่ยวกับการทำฮัจญ์[101] ชาวมุสลิมยังคงทำไม่ได้เพราะความเป็นปฏิปักษ์ของพวกกุเรช ในเดือนเชาวาล ค.ศ. 628 มุฮัมมัดได้สั่งให้ผู้ติดตามเตรียมสัตว์ที่จะนำไปเชือดพลี และเตรียมตัวไปแสวงบุญ (อุมเราะฮ์) ที่มักกะฮ์[102]หลังจากได้ยินเสียงชาวมุสลิมประมาณ 1,400 ที่กำลังเดินทางมา พวกกุเรชได้นำทหารม้า 200 คนมาเพื่อหยุดพวกเขา มุฮัมมัดเลี่ยงพวกมักกะฮ์โดยเลือกใช้เส้นทางที่ลำบากกว่า ซึ่งทำให้ผู้ติดตามถึงฮุดัยบิยะฮ์ ซึ่งอยู่แค่รอบนอกมักกะฮ์[103]

ในขณะที่รออยู่ตรงนั้น มีคนบอกข่าวลือว่า อุษมานถูกฆ่าโดยชาวกุเรช มุฮัมมัดจึงเรียกผู้แสวงบุญเพื่อทำสัญญาว่าจะไม่หนีไป (หรืออยู่กับมุฮัมมัด โดยไม่สนว่าจะมีการตัดสินใจเป็นอย่างไร) ถ้าสถานการณ์นำพาไปสู่สงครามกับมักกะฮ์ การปฏิญาณเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ปฏิญาณแห่งการยอมรับ" หรือ "ปฏิญาณใต้ต้นไม้" แล้วมีข่าวว่าอุษมานปลอดภัย และทำสัญญาสงบศึกเป็นเวลา 10 ปีระหว่างพวกกุเรชกับมุสลิม[103][104] จุดประสงค์หลักของสัญญาคือ: การหยุดสงคราม, ให้มุฮัมมัดทำการแสวงบุญในปีหน้า และยอมรับที่จะส่งชาวมักกะฮ์ที่มามะดีนะฮ์โดยไม่ได้รับอนุญาตกลับบ้าน[103]

มุสลิมหลายคนไม่ยินดีกับสัญญานี้ อย่างไรก็ตาม กุรอานซูเราะฮ์ "อัลฟัตฮ์" (ชัยชนะ) (กุรอาน 48:1–29) สร้างความมั่นใจว่าการเดินทางนี้จะต้องเป็นชัยชนะแน่นอน[105]

หลังจากลงนามสัญญาแล้ว มุฮัมมัดได้รวมกองทัพเดินทางไปที่โอเอซิสของชนเผ่ายิวแห่งค็อยบัร ซึ่งทำให้เกิดสงครามค็อยบัร โดยมีสาเหตุจากเผ่าบนูนาดีรที่ถูกเนรเทศโดยมุฮัมมัด หรือเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีในความไม่ลงเอยของสนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์[76][106] รายงานจากธรรมเนียมมุสลิม มุฮัมมัดได้ส่งจดหมายแก่ผู้นำหลายคน เพื่อเชิญชวนให้เข้ารับอิสลาม[107][108] ท่านส่งผู้นำสารพร้อมจดหมาย ไปยังจักรพรรดิเฮราคลิอัสแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ (จักรวรรดิโรมันตะวันออก), คุสโรแห่งเปอร์เซีย, ผู้นำแห่งเยเมน และคนอื่น ๆ [107][108] ในปีต่อมา มุฮัมมัดได้นำกองทัพโจมตีเผ่าอาหรับที่ทรานส์จอร์แดเนียในสงครามมุตอะฮ์[109]

ช่วงปีสุดท้ายแก้ไข

การพิชิตมักกะฮ์แก้ไข

 
มุฮัมมัด (คนที่คลุมหน้า) เดินทางไปมักกะฮ์ โดยมีเทวทูตญิบรีล มิกาอีล อิสรอฟีล อิสรออีลอยู่เหนือท่าน ภาพจาก Siyer-i Nebi ศตวรรษที่ 16

สนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์ถูกใช้แค่ 2 ปี[110][111]เพราะเผ่าบนูคุซาอะฮ์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับมุฮัมมัด ในขณะที่ศัตรูของพวกเขาซึ่งเป็นเผ่าบนูบักร์ได้เป็นพันธมิตรกับมักกะฮ์[110][111] เผ่าบนูบักร์ได้โจมตีเผ่าคุซาอะฮ์ในเวลากลางคืน และฆ่าไปบางคน[110][111] พวกมักกะฮ์ได้ช่วยเหลือบนูบักร์อย่างดี และในบางรายงานกล่าวว่า มีพวกมักกะฮ์บางคนเข้าร่วมด้วย[110] หลังจากเหตุการณ์นั้น มุฮัมมัดได้ส่งจดหมายแก่ชาวมักกะฮ์ โดยมีสามเงื่อนไข และต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ: พวกมักกะฮ์อาจต้องจ่ายด้วยเลือดสำหรับการฆ่าคนจากเผ่าบนูคุซาอะฮ์, ประกาศปฏิเสธการกระทำของพวกบนูบักร์ หรือทำให้สนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์เป็นโมฆะ[112]

พวกมักกะฮ์ได้เลือกข้อสุดท้าย (สัญญาเป็นโมฆะ)[112] จากนั้นพวกเขาจึงรู้ถึงความผิดพลาด และส่งอบูซุฟยานไปเพื่อทำสัญญาใหม่ แต่มุฮัมมัดปฏิเสธ

มุฮัมมัดเรื่มเตรียมการพิชิตขึ้นในปีค.ศ. 630[113] มุฮัมมัดเดินทางไปมักกะฮ์พร้อมกับมุสลิม 10,000 คน แล้วควบคุมมักกะฮ์ได้[114] ท่านประกาศนิรโทษกรรมแก่ทุกคน ยกเว้นชายและหญิง 10 คนที่ "มีความผิดจากการฆ่าคนหรืออื่น ๆ หรือก่อสงครามและทำลายสันติภาพ"[115] บางคนถูกให้อภัยในภายหลัง[116] ชาวมักกะฮ์ส่วนใหญเข้ารับอิสลาม และมุฮัมมัดเริ่มดำเนินการทำลายรูปปั้นเทพเจ้าอาหรับทั้งหมดจากข้างในและรอบกะอ์บะฮ์[117][118] รายงานจากอิบน์อิสฮักกับอัลอัซรอดี มุฮัมมัดที่ได้งดเว้นภาพหรือเฟรสโกของพระแม่มารีย์กับพระเยซู แต่ในรายงานอื่นกล่าวว่า ภาพทุกรูปถูกลบหมด[119] ในอัลกุรอานได้กล่าวถึงเหตุการณ์พิชิตมักกะฮ์[44][120]

การพิชิตคาบสมุทรอาหรับแก้ไข

 
การพิชิตของมุฮัมมัด (เส้นเขียว) กับเคาะลีฟะฮ์อัรรอชิดูน (เส้นดำ) โดยมีจักรวรรดิไบเซนไทน์ (เหนือกับตะวันตก) กับแซดซานิด (ตะวันออกเฉียงเหนือ) อยู่ในแผนที่

หลังจากพิชิตมักกะฮ์แล้ว ฝ่ายสหพันธ์ของเผ่าฮะวาซินที่มีกองทัพมากกว่ามุฮัมมัดถึงสองเท่า ซึ่งเป็นศัตรูเก่าของมักกะฮ์ พวกเขาได้ร่วมกันกับบนูษะกีฟ (ที่อาศัยอยู่ในฏออิฟ) เพื่อทำลายศักดิ์ศรีของชาวมักกะฮ์[121] มุฮัมมัดเอาชนะเผ่าฮะวาซินกับษะกีฟที่สงครามฮุนัยน์

ในปีเดียวกัน มุฮัมมัดได้โจมตีบริเวณอาระเบียตอนเหนือ เพราะพวกเขาพ่ายแพ้ในสงครามมุตอะฮ์กับรายงานความดื้อดึงต่อมุสลิม ที่ต้องนำชาย 30,000 คน; ครึ่งหนึ่งกลับบ้านไปในวันที่สองของการเดินทางโดยอับดุลลอฮ์ อิบน์ อุบัย ถึงแม้ว่ามุฮัมมัดไม่ได้ข้องเกี่ยวกับกองกำลังที่ดื้อดึงที่ตะบูก แต่ท่านได้จดหมายจากผู้นำท้องถิ่นของแคว้นนั้น[122]

ท่านได้สั่งให้ทำลายรูปปั้นในบริเวณตะวันออกของอาระเบีย เมืองสุดท้ายที่ยังมีรูปปั้นในอาระเบียตะวันตกคือฏออิฟ มุฮัมมัดปฏิเสธที่จะให้เมืองหนึ่งยอมแพ้ จนกว่าพวกเขาจะเข้ารับอิสลามและทำลายรูปปั้นของเทพีอัลลาต[123][124][125]

ในปีต่อมาหลังสงครามตะบูก เผ่าบนูษะกีฟได้ส่งทูตมาเพื่อยอมแพ้และเข้ารับอิสลาม ชนเผ่าเบดูอินหลายเผ่าขอให้มุฮัมมัดปกป้องเผ่าของพวกเขา และได้กำไรจากสงคราม แต่อย่างไรก็ตาม เผ่าเบดูอินยังคงแปลกใหม่ต่อระบอบอิสลาม และยังต้องการเป็นอิสระ มุฮัมมัดจึงให้เงื่อนไขทางทหารกับการเมืองว่า "ให้รับรองอำนาจของมะดีนะฮ์ เพื่อละเว้นจากการโจมตีของมุสลิมและพันธมิตร และต้องจ่ายซะกาต"[126]

ฮัจญ์อำลาแก้ไข

ดูบทความหลักที่: ฮัจญ์อำลา
 
ภาพใน The Remaining Signs of Past Centuries ของอะบู เรฮัน อัลบิรูนี แสดงภาพมุฮัมมัดห้ามนะซีอ์ (การเลื่อนเดือน) ในช่วงฮัจญ์อำลาฉบับของออตโตมันในศตวรรษที่ 17 จากฉบับของศตวรรษที่ 14 (เอดินบะระโคเด็กซ์)

ในปีค.ศ. 632 ปลายปีที่ 10 ของการอพยพไปยังมะดีนะฮ์ มุฮัมมัดได้ทำพิธีฮัจญ์อย่างสมบูรณ์ครั้งแรก ณ วันที่ 9 ของซุลหิจญะฮฺ มุฮัมมัดได้กล่าวบทเทศนาสุดท้ายที่เขาอะรอฟาตที่อยู่ทางตะวันออกของมักกะฮ์ ในการเทศนาครั้งนั้น ท่านสั่งให้ผู้ศรัทธาห้ามทำสิ่งที่มีก่อนการมาของอิสลาม อาทิ ท่านกล่าวว่าคนผิวขาวไม่ได้เหนือกว่าคนผิวดำ และคนผิวดำก็ไม่ได้เหนือไปกว่าคนผิวขาว เว้นแต่กตัญญูและการกระทำที่ดี[127] ท่านยกเลิกการล้างแค้นและยกเลิกระบอบชนเผ่า มุฮัมมัดกล่าวแก่ผู้ชายว่า "จงทำดีแก่ผู้หญิง..." ท่านบอกกับพวกเขาว่าจงให้สิทธิแก่ภรรยาแต่ต้องทำด้วยความมีเมตตา ท่านได้ยกย่องถึงความศักดิ์สิทธิ์ของ 4 เดือนต้องห้าม[128][129] รายงานจากตัฟซีรของซุนนี อายะฮ์สุดท้ายของอัลกุรอานถูกประทานว่า: "...วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งศาสนาของพวกเจ้าและข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้าแล้ว..." (กุรอาน 5:3).[13] ส่วนรายงานจากชีอะฮ์ ได้กล่าวถึงการแต่งตั้งอะลีที่บ่อแห่งคุมม์ในฐานะผู้สืบทอดของมุฮัมมัด[130]

เสียชีวิตและที่ฝังศพแก้ไข

ไม่กี่เดือนหลังจากฮัจญ์อำลา มุฮัมมัดได้ป่วยลงและตัวร้อน ปวดหัว และอ่อนแอเป็นเวลาหลายวัน ท่านเสียชีวิตในวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 632 ในมะดีนะฮ์ ตอนอายุ 62 หรือ 63 ปี ในบ้านของอาอิชะฮ์ ภรรยาของท่าน[131] ท่านถูกฝังอยู่ในบ้านของอาอิชะฮ์[132][133]

รายงานจาก สารานุกรมอิสลาม สาเหตุการเสียชีวิตของมุฮัมมัดอาจเกิดจากไข้ในมะดีนะฮ์ที่ทำให้รุนแรงขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ[134]

ต่อมาในรัชสมัยของอัลวะลีดที่ 1 มัสยิดอันนะบะวีถูกขยายจนรวมบริเวณสุสานของมุฮัมมัด[135] ส่วนโดมเขียวเหนือสุสานถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของสุลต่านอัลมันศูร เกาะละวุนในศตวรรษที่ 13 ถึงแม้ว่าสีเขียวของมันจะถูกทาในศตวรรษที่ 16 ในรัชสมัยของสุลต่านสุลัยมานผู้เกรียงไกร.[136] ในสุสานเหล่านั้น มีสหายของท่าน (เศาะฮาบะฮ์) ที่เป็นเคาะลีฟะฮ์สององค์แรกคืออะบูบักร์กับอุมัร และห้องที่ว่างไว้ ซึ่งเชื่อว่าได้เตรียมไว้ให้กับอีซา[133][137][138] เมื่อซะอูด อิบน์ อับดุลอะซีซ อิบน์ มุฮัมมัด อิบน์ ซะอูดยึดครองมะดีนะฮ์ในปี ค.ศ. 1805 เพชรและทองที่ประดับอยู่หน้าสุสานถูกนำออกไป[139] โดยผู้สนับสนุนวะฮาบีย์ได้ทำลายโดมสุสานทั้งหมดในมะดีนะฮ์เพื่อหลีกเลี่ยงความเลื่อมใส[139]และสุสานของมุฮัมมัดรอดได้อย่างหวุดหวิด[140] และเหตุการณ์เดียวกันเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1925 เมื่อกองกำลังติดอาวุธของซาอุยึดเมืองอีกครั้ง[141][142][143] ในครั้งนี้สุสานไม่ได้รับการเขียนชื่อ[140] แต่มันยังคงไม่เป็นดังหวัง เพราะผู้แสวงบุญยังคงมาซิยาเราะฮ์—เยี่ยมชม—ที่สุสานอยู่ดี[144][145]

มัสยิดอันนะบะวี ("มัสยิดของท่านศาสดา") ในมะดีนะฮ์, ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีโดมเขียวถูกสร้างบนสุสานของมุฮัมมัดอยู่ตรงกลางภาพ

หลังมุฮัมมัดเสียชีวิตแก้ไข

 
การขยายตัวของรัฐเคาะลีฟะฮ์ ตั้งแต่ปีค.ศ. 622–750
  มุฮัมมัด ค.ศ. 622–632
  รัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดีน ค.ศ. 632–661
  รัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์ ค.ศ. 661–750

มุฮัมมัดได้รวมชนเผ่าในอาระเบียให้กลายเป็นหนึ่ง หลังจากท่านเสียชีวิตแล้ว ได้มีการโต้แย้งว่าใครควรเป็นผู้สืบทอดคนต่อไป[146] อุมัร เศาะฮาบะฮ์ที่โด่งดัง ได้เลือกอะบูบักร์ เพื่อนของมุฮัมมัด เป็นเคาะลีฟะฮ์คนแรก โดยยังคงโต้แย้งกับผู้ติดตามของมุฮัมมัดที่เลือกอะลี ลูกพี่ลูกน้องของท่าน ให้เป็นผู้สืบทอดโดยอ้างถึงการแต่งตั้งโดยมุฮัมมัดที่ฆอดิรคุมม์

อะบูบักร์ได้โจมตีจักรวรรดิไบเซนไทน์ (หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก) เพราะความพ่ายแพ้ในช่วงแรก ถึงแม้ว่าจะต้องจัดการกับกบฎชาวอาหรับ นักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมกล่าวถึงเหตุการณ์นั้นว่า สงครามริดดะฮ์ หรือ "สงครามต่อผู้ละทิ้งศาสนา"[147]

รูปสัณฐานแก้ไข

 
ฮิลยา ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับรูปพันธ์สัณฐานของมุฮัมมัด โดยฮาฟิซ โอสมัน (ค.ศ. 1642–1698)

ในเศาะฮีฮ์ อัลบุคอรี บทที่ 61, ฮะดีษที่ 57 และ 60 ของมุฮัมมัด อัลบุคอรี[148][149] ได้กล่าวถึงรูปสัณฐานของท่านไว้ว่า:

ศาสนทูตของอัลลอฮ์ไม่ได้สูงหรือเตี้ย ไม่ได้ขาวหรือดำ ผมของท่านไม่ได้หยิกหรือตรง อัลลอฮ์ส่งท่าน (ในฐานะศาสดา) ตอนอายุ 40 ปี หลังจากนั้นท่านอยู่ในมักกะฮ์ 10 ปี และในมะดีนะฮ์อีก 10 ปี ... ตอนนั้นท่านมีหงอกบนเส้นผมกับเคราถึง 20 เส้น

ท่านศาสดามีความสูงระดับปานกลางและมีไหล่กว้าง ผม (ยาว) ถึงติ่งหู ครั้งหนึ่ง ฉันเห็นท่านในผ้าคลุมสีแดง และฉันไม่เคยพบใครหล่อยิ่งไปกว่าท่าน

รายละเอียดในชะมาอิล มุฮัมมะดียะฮ์ ของมุฮัมมัด อิบน์ อีซา อัตติรมีซี มีฮะดีษที่เขียนว่า อะลีและฮินด์ อิบน์ อบีฮาละฮ์ กล่าวว่า:[150][151][152]

มุฮัมมัดมีความสูงระดับปานกลาง ผมท่านไม่ได้เรียบหรือหยิก ไม่อ้วน มีใบหน้ากลมขาว ตาสีดำขนาดกว้าง และมีขนตายาว... ท่านมี "ตราศาสดา" อยู่ระหว่างไหล่ทั้งสองข้าง ...... ท่านมีขนาดใหญ่ ใบหน้าท่านดูเหมือนพระจันทร์... ท่านมีผมหยิกหนา เปียผมของท่านแยกออกจากกัน ผมของท่านยาวถึงปลายติ่งหู... มุฮัมมัดมีหน้าผากกว้าง และขนตายาวที่ไม่ได้ชนกัน ระหว่างขนตามีเส้นเลือดที่เห็นได้ชัดตอนที่ท่านโมโห... ท่านมีเคราหนา แก้มนิ่ม ปากแข็งแรง และฟันตั้งแยก ท่านมีเส้นผมบางบนหน้าอก คอของท่านดูเหมือนกันคอของรูปปั้นงาสัตว์...

ครัวเรือนแก้ไข

ข้อมูลเพิ่มเติม: ภรรยาของมุฮัมมัด และ อะฮ์ลุลบัยต์
 
สุสานของมุฮัมมัดเคยอยู่ในบ้านของอาอิชะฮ์. (มัสยิดอันนะบะวี, มะดีนะฮ์)

ชีวิตของท่านแบ่งออกเป็นสองช่วง คือ: ก่อนฮิจเราะฮ์ (อพยพ) ในมักกะฮ์ (ตั้งแต่ค.ศ. 570 ถึง 622) และหลังฮิจเราะฮ์ในมะดีนะฮ์ (ตั้งแต่ค.ศ. 622 ถึง 632) ท่านมีภรรยาถึง 13 คน (ถึงแม้ว่ายังยืนยันไม่ได้อีกสองคน คือร็อยฮานา บินต์ ซัยด์ และมาเรีย อัลกิบตียะฮ์ ในฐานะภรรยาหรืออยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้สมรส[153][154]) โดยการแต่งงานใน 11 จาก 13 ครั้งเกิดขึ้นหลังจากอพยพไปยังมะดีนะฮ์.

ตอนที่อายุ 25 ปี มุฮัมมัดได้แต่งงานกับเคาะดีญะฮ์ บินต์ คุวัยลิดที่อายุ 40 ปี[155] โดยอยู่ด้วยกันเป็นเวลา 25 ปี[156] ท่านไม่ได้แต่งงานกับใครอีกเลยหลังจากการแต่งงานในครั้งนั้น[157][158] หลังจากเคาะดีญะฮ์เสียชีวิต เคาละฮ์ บินต์ ฮากิม ได้แนะนำให้ท่านแต่งงานกับเซาดะฮ์ บินติ ซัมอะฮ์ หญิงมุสลิมหม้าย หรืออาอิชะฮ์ ลูกสาวของอุมมุรูมานกับอะบูบักร์ ท่านจึงตัดสินใจแต่งงานกับทั้งคู่[98] การแต่งงานของมุฮัมมัดหลังจากเคาะดีญะฮ์เสียชีวิต ส่วนใหญ่มีเหตุผลทางการเมืองหรือมนุษยธรรม โดยสตรีที่ท่านแต่งงานนั้นอาจจะเป็นทั้งหญิงหม้ายของมุสลิมที่ถูกฆ่าในสงคราม และถูกทิ้งไว้โดยไม่มีใครคุ้มครอง หรือเป็นสตรีจากครอบครัวหรือเผ่าสำคัญที่แต่งงานไว้เพื่อยกย่องและทำให้พันธมิตรแข็งแกร่งขั้น[159]

รายงานจากธรรมเนียมว่า อาอีชะฮ์ได้หมั้นกับมุฮัมมัดตอนเธออายุ 6 หรือ 7 ขวบ[98][160][161] โดยการแต่งงานจะไม่สมบูรณ์แบบจนกระทั่งเธอมีประจำเดือนตอนอายุ 9 หรือ 10 ขวบ[98][160][162][163][164][165][166][167][168] เธอยังคงเป็นสาวพรหมจารีในตอนแต่งงาน[160] นักเขียนมุสลิมสมัยใหม่ได้คำนวณอายุของอาอิชะฮ์ตามหลักฐานอื่น เช่นฮะดีษที่กล่าวถึงอายุที่แตกต่างกันระหว่างอาอิชะฮ์ กับอัสมา พี่/น้องสาวของเธอ โดยคาดการณ์ว่าในช่วงที่เธอแต่งงาน เธออาจจะมีอายุมากกว่า 13 ปี หรืออยู่ในช่วงปลายวัยรุ่น[169][170][171][172][173]

หลังจากอพยพไปยังมะดีนะฮ์ มุฮัมมัด ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 50 ปี ได้แต่งงานกับผู้หญิงบางคน

มุฮัมมัดทำงานบ้านต่าง ๆ เช่น เตรียมอาหาร, เย็บเสื้อ และซ่อมรองเท้า ท่านได้ให้ภรรยาคุ้นเคยต่อการพูด ท่านฟังคำแนะนำของพวกเธอ และภรรยาของท่านได้ถกเถียงและแม้แต่โต้แย้งกับท่าน.[174][175][176]

เคาะดีญะฮ์มีลูกสาว 4 คนกับมุฮัมมัด (รุก็อยยะฮ์ บินต์ มุฮัมมัด, อุมมูกัลษุม บินต์ มุฮัมมัด, ซัยนับ บินต์ มุฮัมมัด, ฟาฏิมะฮ์) และลูกชาย 2 คน (อับดุลลอฮ์ อิบน์ มุฮัมมัด กับกอซิม อิบน์ มุฮัมมัด ทั้งคู่เสียชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก) นักวิชาการชีอะฮ์บางคนโต้แย้งว่าฟาฏิมะฮ์เป็นลูกสาวคนเดียวของมุฮัมมัด[177] มาเรีย อัลกิบตียะฮ์ มีลูกชายคนเดียวชื่ออิบรอฮีม อิบน์ มุฮัมมัด แต่ลูกท่านเสียชีวิตตอนอายุ 2 ขวบ[178]

ภรรยาเก้าคนของมุฮัมมัดยังมีชีวิตต่อหลังจากที่ท่านเสียชีวิต[154] อาอิชะฮ์ มีชีวิตอยู่หลังจากท่านนานไปหลายทศวรรษ และช่วยรายงานฮะดีษของศาสดามุฮัมมัด[98]

ลูกหลานของมุฮัมมัดผ่านทางฟาฏิมะฮ์เป็นที่รู้จักกันว่า ชะรีฟ, ชีค หรือ ซัยยิด คำนำหน้าเหล่านี้คือคำกล่าวยกย่องในภาษาอาหรับ โดย ชะรีฟ หมายถึง 'ผู้มีตระกูล' และ ซะยีด หรือ ซัยยิด หมายถึง 'เจ้า' หรือ 'ท่าน' พวกเขาถูกให้เกียรติทั้งนิกายซุนนีและชีอะฮ์ แต่ฝั่งชีอะฮ์จะให้ความสำคัญต่อความแตกต่างมากกว่า[179]

ซัยด์ อิบน์ ฮาริษะฮ์เคยเป็นทาสที่มุฮัมมัดซื้อมาแล้วปล่อยให้เป็นอิสระ และรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมของท่าน[180] รายงานจากผลสรุปของบีบีซีว่า "ท่านศาสดามุฮัมมัดไม่ได้ต้องการเลิกทาส และซื้อ ขาย จับ และครองทาสด้วยตนเอง แต่ท่านได้โต้แย้งว่านายทาสควรดูแลทาสให้ดีและบอกถึงความดีของการปล่อยทาส มุฮัมมัดได้ดูแลทาสเหมือนกับมนุษย์ทั่ว ๆ ไป..."[181]

สิ่งสืบทอดแก้ไข

ธรรมเนียมของมุสลิมแก้ไข

ดูบทความหลักที่: มุฮัมมัดในศาสนาอิสลาม

ความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นศาสดาของมุฮัมมัดเป็นมุมมองหลักในความเชื่อศาสนาอิสลาม มุสลิมทุกคนได้กล่าว ชะฮาดะฮ์: "ข้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และข้าขอปฏิญาณว่ามุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์" ชะฮาดะฮ์นี้เป็นหลักความเชื่อพื้นฐานของศาสนาอิสลาม ซึ่งเชื่อว่าเด็กแรกเกิดจะได้ยินชะฮาดะฮ์เป็นสิ่งแรก เหล่าเด็กจะเรียกคำนี้ทันทีและจะกล่าวถึงมันจนกว่าจะตาย มุสลิมจะกล่าวชะฮาดะฮ์ซ้ำในอะซาน และเวลาละหมาด คนที่ไม่ใช่มุสลิมที่อยากเข้ารับอิสลามจะต้องกล่าวประโยคนี้ก่อน[182]

ในความเชื่อศาสนาอิสลาม มุฮัมมัดถือเป็นศาสดาคนสุดท้ายที่ถูกส่งโดยพระเจ้า[183][184][185][186][187] อัลกุรอาน 10:37 ได้กล่าวว่า "และอัลกุรอานนี้มิใช่จะถูกปั้นแต่งขึ้นโดยผู้ใดนอกจากอัลลอฮ์ แต่เป็นการยืนยันคัมภีร์ที่มีมาก่อน และเป็นการจำแนก ข้อบัญญัติต่าง ๆ ในนั้น ไม่มีข้อสงสัยในคัมภีร์นั้น ซึ่งมาจากพระเจ้าแห่งสากลโลก" เหมือนกันกับ อัลกุรอาน 46:12 ที่กล่าวไว้ว่า "และก่อนหน้านี้ (อัลกุรอาน) มีคัมภีร์ของมูซาเป็นแบบอย่างและความเมตตา และนี่อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่ยืนยันเป็นภาษาอาหรับเพื่อตักเตือนบรรดาผู้กระทำความผิด และเป็นข่าวดีสำหรับผู้กระทำความดี" ในขณะที่ 2:136 มีคำสั่งแก่ผู้ศรัทธาว่า "พวกท่านจงกล่าวเถิด เราได้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เรา และสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่อิบรอฮีม และอิสมาอีล และอิสฮาก และยะอ์กูบ และบรรดาวงศ์วานเหล่านั้น และสิ่งที่มูซา และอีซาได้รับ และสิ่งที่บรรดานะบีได้รับจากพระเจ้าของพวกเขา พวกเรามิได้แบ่งแยกระหว่างท่านหนึ่งท่านใดจากเขาเหล่านั้น"

 
คำกล่าวชะฮาดะฮ์ที่แปลได้ว่า: "ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์" (พระราชวังโทพคาปึ)

ในธรรมเนียมมุสลิมได้ยกย่องมุฮัมมัดด้วยปาฏิหาริย์และเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ[188] เช่น นักวิจารณ์มุสลิมกับนักวิชาการตะวันบางคนได้กล่าวถึงซูเราะฮ์ 54:1–2 ที่กล่าวถึงการแยกดวงจันทร์ของมุฮัมมัด[189][190]

รายงานจากธรรมเนียมของอิสลาม มุฮัมมัดถูกประชาชนในเมืองฏออิฟทำร้าย โดยในเรื่องนั้นถูกกล่าวว่า มีเทวทูตปรากฏต่อหน้าท่านและเสนอให้ทำลายพวกเขาเสีย แต่มุฮัมมัดปฏิเสธคำขอและขอพรให้พวกฏออิฟได้รับทางนำ[191]

ซุนนะฮ์ คือการกระทำ และคำพูดของมุฮัมมัด (ถูกบันทึกไว้ในฮะดีษ) ซึ่งครอบคลุมไปถึงกิจกรรมและความเชื่อตั้งแต่พิธีกรรมทางศาสนา, สุขอนามัยส่วนบุคคล และการฝังศพคนตาย จนถึงคำถามเกี่ยวกับความรักระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า โดยสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสืบทอดของวัฒนธรรมมุสลิม ในการทักทายที่ศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวให้มุสลิมกล่าวเมื่อเจอกันว่า "ขอความสันติสุข จงมีแด่ท่าน" (ภาษาอาหรับ: อัสสลามุอะลัยกุม) ซึ่งถูกใช้โดยชาวมุสลิมทั่วโลก พิธีกรรมสำคัญของอิสลามส่วนใหญ่เช่นการละหมาด 5 เวลาทุกวัน, ถือศีลอด และทำพิธีฮัจญ์ ถูกพบในฮะดีษ แต่ไม่มีในอัลกุรอาน[192]

 
ลายวิจิตรที่แปลว่า "ขอความโปรดปรานแห่งอัลลอฮฺ และความสันติจงมีแด่ท่าน" มักใช้ต่อหลังจากชื่อของนบีมุฮัมมัด ตัวอักษรนี้อยู่ในยูนิโคดจุดที่ U+FDFA.[193] ‎.

มุสลิมมีการกล่าวถึงความรักและความเลื่อมใสของมุฮัมมัด ชีวประวัติของมุฮัมมัด, การอธิษฐานและปาฏิหาริย์ของท่าน (เช่น "การแยกดวงจันทร์") มักถูกกล่าวเป็นบทกวี [194] ในกุรอานกล่าวถึงมุฮัมมัดว่าเป็น "ผู้มีเมตตา (เราะฮ์มัต) แก่มนุษยชาติ" (กุรอาน 21:107).[13] วันเกิดของมุฮัมมัดถูกฉลองกันทั่วโลกอิสลาม ยกเว้นพวกวะฮาบีย์ที่ถือว่าเป็นบิดอะฮ์[195] เมื่อมุสลิมคนใดกล่าวหรือเขียนชื่อของมุฮัมมัด ส่วนใหญ่มักตามดามด้วยคำว่า ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม (ขอความโปรดปรานแห่งอัลลอฮฺ และความสันติจงมีแด่ท่าน)[196] ในการเขียนปกติ บางครั้งถูกย่อเป็น ศ็อลฯ (ภาษาอาหรับ) ส่วนในเอกสาร จะมีการใช้ลายวิจิตรที่มีอยู่คือ ().

การวาดภาพแก้ไข

ดูบทความหลักที่: การวาดภาพมุฮัมมัด
 
มุฮัมมัดเข้าเมืองมักกะฮ์และทำลายรูปปั้น ตัวมุฮัมมัดถูกแสดงเป็นเปลวเพลิง พบในรัฐชัมมูและกัศมีร์, อินเดีย ค.ศ. 1808.

ในฮะดีษได้ห้ามวาดภาพสิ่งมีชีวิต ซึ่งทำให้ในศิลปะอิสลามมักให้ความสนใจกับประโยค[197][198] โดยทั่วไปแล้ว ชาวมุสลิมจะเลี่ยงการวาดภาพมุฮัมมัด และมัสยิดถูกตกแต่งด้วยอักษรวิจิตรและอายะฮ์อัลกุรอาน หรือรูปทรงเรขาคณิต ไม่ใช่ภาพหรือรูปปั้น[197][199] ปัจจุบัน ข้อห้ามเหล่านี้—ถูกก่อร่างไว้เพื่อเลี่ยงไม่ให้ผู้คนสักการะมุฮัมมัดมากกว่าอัลลอฮ์—และพวกซุนนี (85%–90% ของมุสลิมทั้งหมด) กับอะฮ์มะดียะฮ์ (1%) จะเคร่งในเรื่องเหล่านี้มากกว่าชีอะฮ์ (10%–15%)[200] ถึงแม้ว่าทั้งฝ่ายซุนนีและชีอะฮ์วาดภาพมุฮัมมัดก็ตามในอดีต[201] โดยภาพเหล่านั้นหายาก[197] และส่วนใหญ่เป็นภาพที่มุฮัมมัดถูกผ้าคลุมตัว หรือถูกแสดงเป็นเปลวเพลิง[199][202]

ทัศนะของศาสนาอื่นแก้ไข

ชาวคริสต์ในยุคกลางแก้ไข

ในเอกสารที่กล่าวถึงมุฮัมมัดช่วงแรกจากไบเซนไทน์ อธิบายว่าทั้งชาวยิวและชาวคริสต์มองมุฮัมมัดว่าเป็นศาสดาจอมปลอม[203]

รายงานจากโฮสเซน นัสร์ ในวรรณกรรมของชาวยุโรปช่วงแรกไม่ค่อยมองมุฮัมมัดในแง่ดี โดยพวกเขามองท่านตามมุมมองทางศาสนาคริสต์ หนึ่งในนั้นได้กล่าวถึงมุฮัมมัดว่า เป็นบุคคลที่ล่อลวงชาวซาราเซ็นให้อยู่ภายใต้อำนาจที่อยู่ภายใต้หน้ากากทางศาสนา[13] และมักล้อเลียนมุฮัมมัดว่า เป็นบุคคลที่มุสลิมเคารพสักการะ[13]

ในช่วงหลัง มุฮัมมัดถูกมองเป็นพวกนอกศาสนา: ในศตวรรษที่ 13 บรูเนตโต ลาตินี กล่าวถึงท่านในหนังสือ Li livres dou tresor ไว้ว่าท่านเคยเป็นบาทหลวงและคาร์ดินัลมาก่อน[13] และใน ดีวีนากอมเมเดีย ของดันเต อาลีกีเอรี อธิบายว่ามุฮัมมัดกับอะลีอยู่ในนรก"[13]

การยกย่องของชาวยุโรปแก้ไข

 
มุฮัมมัดใน La vie de Mahomet โดย M. Prideaux (1699) ท่านถือดาบและพระจันทร์เสี้ยวในขณะที่เหยียบบนลูกโลก, ไม้กางเขน และบัญญัติ 10 ประการ

หลังจากการปฏิรูปศาสนาแล้ว มุฮัมมัดยังถูกมองแบบเดิม (แง่ลบ)[13][204] กีโยม โปสแตล (Guillaume Postel) เป็นคนแรกที่นำเสนอมุฮัมมัดในแง่บวก ในตอนที่เขาโต้เถียงว่ามุฮัมมัดควรเป็นศาสดาในศาสนาคริสต์[13][205] ก็อทฟรีท วิลเฮ็ล์ม ไลบ์นิทซ์ยกย่องมุฮัมมัดเพราะ "ท่านไม่ได้แบ่งแยกจากศาสนาดั้งเดิม" อ็องรี เดอ โบแล็งวีแลร์ (Henri de Boulainvilliers) กล่าวในหนังสือ Vie de Mahomed ไว้ว่ามุฮัมมัดเป็นผู้นำทางการเมืองและผู้สร้างกฎหมาย เขากล่าวว่าท่านเป็นศาสดาที่พระเจ้าส่งมาเพื่อปลดปล่อยและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความเป็นเอกภาพของพระเจ้าตั้งแต่อินเดียถึงสเปน[206] ฌ็อง-ฌัก รูโซ กล่าวไว้ในหนังสือ เดอะโซเชียลดิสคอนแทร็ก (1762) ว่า "ปัดตำนานอันโหดร้ายของมุฮัมมัดในฐานะผู้หลอกลวงและคนโกงทิ้งไปเสีย จงนำเสนอท่านในฐานะปราชญ์ผู้รอบรู้ที่รวมอำนาจทางศาสนาและการเมือง"[206] โกลด์-เอ็มมานูเอล เดอ ปาสโตเรต กล่าวไว้ในหนังสือ โซโรอัสเตอร์, ขงจื๊อ และมุฮัมมัด โดยกล่าวถึงชายทั้งสามคนว่าเป็น "ชายผู้ยิ่งใหญ่", "ผู้สร้างกฎหมายที่ดีที่สุดของจักรวาล" และเปรียบเทียบอาชีพของพวกท่านในฐานะผู้ปฏิรูปศาสนากับผู้บัญญัติกฎหมาย[206] จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ชื่นชมมุฮัมมัดกับอิสลาม[207] และกล่าวถึงท่านว่าเป็นผู้ออกแบบกฎหมายและชายผู้ยิ่งใหญ่[208][209] ทอมัส คาร์ลีลย์ได้กล่าวถึงท่านในหนังสือ ออนฮีโรส์, ฮีโร-เวิรชิพ, แอนด์เดอะฮีโรอิกอินฮิสทรี (1840) ไว้ว่า "[เป็น] จิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ที่เงียบสงบ; [...] ไม่มีใครทำได้ เว้นแต่ ผู้ที่ทำอย่างจริงจัง".[210] การตีความของคาร์ลีลย์เป็นที่ยอมรับโดยนักวิชาการมุสลิม[211]

ศาสนาบาไฮแก้ไข

พระบะฮาอุลลอฮ์ ศาสดาของศาสนาบาไฮ กล่าวถึงนบีมุฮัมมัดว่าเป็นผู้เผยพระวจนะที่พระเป็นเจ้าทรงส่งมาเพื่อทำหน้าที่นำพาและให้ความรู้แก่มนุษย์ในยุคสมัยหนึ่ง เช่นเดียวกับผู้เผยพระวจนะท่านอื่น ๆ คือ พระกฤษณะ โมเสส ซาราธุสตรา พระพุทธเจ้า พระเยซู พระบาบ[212] โดยบาฮาอุลลอฮ์อ้างว่าตนเองคือผู้เผยพระวจนะที่พระเจ้าส่งมาในยุคปัจจุบัน เป็นนบีอีซาผู้กลับมาบนโลกอีกครั้งตามที่นบีมุฮัมมัดทำนายไว้ในคัมภีร์หะดีษ นอกจากนี้ยังอ้างว่าตนเองคือฮุซัยน์ อิบน์ อะลี ผู้กลับมาตามที่ชาวชีอะฮ์รอคอย[213]

ลัทธิอนุตตรธรรมแก้ไข

ลัทธิอนุตตรธรรมถือว่าอนุตตรธรรมเป็นรากเหง้าของทุกศาสนารวมทั้งศาสนาอิสลาม โดยนบีมุฮัมมัดเป็นศาสดาองค์หนึ่งที่พระแม่องค์ธรรมทรงส่งมาเพื่อโปรดเวไนยในช่วงธรรมกาลยุคแดง เช่นเดียวกับพระโคตมพุทธเจ้าและพระเยซู และยุคแดงได้สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) ปัจจุบันจึงเป็นธรรมกาลยุคขาวซึ่งมีลู่ จงอี เป็นผู้ปกครอง[214]

พระโอวาทพระอนุตตรธรรมมารดาสิบบัญญัติ (จีน: 皇母訓子十誡‏) ซึ่งเป็นคัมภีร์เล่มหนึ่งของลัทธิอนุตตรธรรม อ้างว่านบีมุฮัมมัดได้มาประทับทรงในกระบะทราย แล้วประกาศว่าการไปละหมาดที่มัสยิดนั้นเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า เพราะไม่ได้ช่วยให้เข้าถึงสัจธรรม การปฏิบัติตามอัลกุรอานก็ไม่อาจช่วยให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ แต่ต้องเข้ารับธรรมะจากวิสุทธิอาจารย์ (จีน: 明師) เท่านั้นจึงจะพบหนทางกลับสวรรค์[215][216]

คำวิจารณ์แก้ไข

ดูบทความหลักที่: คำวิจารณ์ต่อมุฮัมมัด

การวิจารณ์มุฮัมมัดเริ่มขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 รายงานจาก The Jewish Encyclopedia (1906) มุฮัมมัดถูกกล่าวว่าเป็นผู้สอนเอกเทวนิยม โดยชนเผ่ายิวในอาระเบียว่าเป็นผู้ไม่รับประกันทั้งในรายงานคัมภีร์, บุคคล และโจมตีความเชื่อของชาวยิว.[217] รายงานจากนักวิจารณ์สมัยใหม่อย่างนอร์แมน สติลล์แมน (1979), แอนดรูว์ จี. บอสตอม (2008) และอิบน์วัรร็อก (นามแฝง, 2007) มุฮัมมัดถูกวิจารณ์ว่าเป็นผู้อ้างตนเองว่าเป็น "ศาสดาองค์สุดท้าย" โดยไม่แสดงปาฏิหาริย์หรือแสดงคุณลักษณะที่มีในคัมภีร์ฮีบรู เพื่อแยกศาสดาที่แท้จริงซึ่งถูกเลือกโดยพระยาห์เวห์ออกจากศาสดาจอมปลอม; ด้วยเหตุผลนี้ พวกเขาได้ให้ชื่อเล่นท่านว่า ฮา-เมชักกาฮ์ (ฮีบรู: מְשֻׁגָּע‬ ha-Meshuggah แปลว่า "คนบ้า" หรือ "ผู้ถูกสะกดจิต")[218][219][220]

ในช่วงยุคมืดและยุคกลาง นักคิดศาสนาคริสต์ทั้งฝั่งตะวันตกและไบแซนไทน์ ได้กล่าวถึงมุฮัมมัดว่าเป็นผู้นำทางที่ผิด, ผู้น่าสังเวช, ศาสดาจอมปลอม และแม้แต่ศัตรูของพระคริสต์ เพราะท่านถูกมองจากโลกคริสเตียนในฐานะพวกนอกรีต หรือถูกครอบงำโดยปีศาจ ตัวอย่างเช่น ทอมัส อไควนัส ได้วิจารณ์มุฮัมมัดว่า ท่านต้องการที่จะเสวยสุขในโลกหน้า[221][222][223][224][225][221][222]

ผู้เคร่งศาสนา[226][227]และฆราวาสสมัยใหม่[228][229][230][231] ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการอ้างตัวเป็นศาสดาของมุฮัมมัด, ศีลธรรม, การครอบครองทาส,[232][233][234] การรักษาศัตรู, การแต่งงานกับสตรีหลายคน[235] และเรื่องหลักคำสอนของท่าน มุฮัมมัดมักถูกวิจารณ์ถึงการไร้ความปราณี (เช่นในช่วงที่บุกรุกต่อชนเผ่าในมะดีนะฮ์[236][237]) และการแต่งงานกับอาอิชะฮ์ โดยอายุของเธอถูกรายงานว่าอยู่ในช่วงระหว่าง 6 ถึง 19 ปี[238][239][240]

ดูเพิ่มแก้ไข

หมายเหตุแก้ไข

  1. ชื่อเต็ม: อบูลกอซิม มุฮัมมัด อิบน์ อับดุลลอฮ์ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ อิบน์ ฮาชิม (อาหรับ: أَبُو ٱلْقَاسِم مُحَمَّد ٱبْن عَبْد ٱلله ٱبْن عَبْد ٱلْمُطَّلِب ٱبْن هَاشِم, แปลตรงตัว: บิดาของกอซิม มุฮัมมัด บุตรของอับดุลลอฮ์ บุตรของอับดุลมุฏฏอลิบ บุตรของฮาชิม)

อ้างอิงแก้ไข

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 267
  2. Elizabeth Goldman (1995), p. 63, gives 8 June 632 CE, the dominant Islamic tradition. Many earlier (primarily non-Islamic) traditions refer to him as still alive at the time of the invasion of Palestine. See Stephen J. Shoemaker,The Death of a Prophet: The End of Muhammad's Life and the Beginnings of Islam, page 248, University of Pennsylvania Press, 2011.
  3. 3.0 3.1 Alford T. Welch; Ahmad S. Moussalli; Gordon D. Newby (2009). "Muḥammad". ใน John L. Esposito (บ.ก.). The Oxford Encyclopedia of the Islamic World. Oxford: Oxford University Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 February 2017. The Prophet of Islam was a religious, political, and social reformer who gave rise to one of the great civilizations of the world. From a modern, historical perspective, Muḥammad was the founder of Islam. From the perspective of the Islamic faith, he was God's Messenger (rasūl Allāh), called to be a "warner," first to the Arabs and then to all humankind.
  4. Esposito (2002b), pp. 4–5.
  5. Peters, F.E. (2003). Islam: A Guide for Jews and Christians. Princeton University Press. p. 9. ISBN 978-0-691-11553-5.
  6. Esposito, John (1998). Islam: The Straight Path (3rd ed.). Oxford University Press. pp. 9, 12. ISBN 978-0-19-511234-4.
  7. "Muhammad" เก็บถาวร 15 ธันวาคม 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Random House Webster's Unabridged Dictionary.
  8. Jean-Louis Déclais, Names of the Prophet, Encyclopedia of the Quran
  9. Muhammad เก็บถาวร 9 กุมภาพันธ์ 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Encyclopedia Britannica Retrieved 15 February 2017
  10. Rodinson, Maxime (2002). Muhammad: Prophet of Islam (ภาษาอังกฤษ). Tauris Parke Paperbacks. p. 38. ISBN 9781860648274. สืบค้นเมื่อ 12 May 2019.
  11. Esposito, John L., บ.ก. (2003). The Oxford Dictionary of Islam. p. 198. ISBN 978-0-19-512558-0. สืบค้นเมื่อ 19 June 2012.
  12. 13.00 13.01 13.02 13.03 13.04 13.05 13.06 13.07 13.08 13.09 13.10 Buhl, F.; Welch, A.T. (1993). "Muḥammad". Encyclopaedia of Islam. Vol. 7 (2nd ed.). Brill. pp. 360–376. ISBN 978-90-04-09419-2.
  13. See also อัลกุรอาน 43:31 cited in EoI; Muhammad
  14. Marr J.S., Hubbard E., Cathey J.T. (2014) : The Year of the Elephant. figshare. doi:10.6084/m9.figshare.1186833 Retrieved 21 October 2014 (GMT)
  15. The Oxford Handbook of Late Antiquity; edited by Scott Fitzgerald Johnson; p. 287
  16. Muhammad and the Origins of Islam; by Francis E. Peters; p. 88
  17. 18.0 18.1 Watt (1974), p. 7.
  18. Ali, Wijdan (August 1999). "From the Literal to the Spiritual: The Development of the Prophet Muhammad's Portrayal from 13th Century Ilkhanid Miniatures to 17th Century Ottoman Art" (PDF). Proceedings of the 11th International Congress of Turkish Art (7): 3. ISSN 0928-6802. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 3 December 2004.
  19. Meri, Josef W. (2004). Medieval Islamic civilization. Vol. 1. Routledge. p. 525. ISBN 978-0-415-96690-0. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 November 2012. สืบค้นเมื่อ 3 January 2013.
  20. 21.0 21.1 Watt, "Halimah bint Abi Dhuayb เก็บถาวร 3 กุมภาพันธ์ 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", Encyclopaedia of Islam.
  21. Watt, Amina, Encyclopaedia of Islam
  22. Watt (1974), p. 8.
  23. Armand Abel, Bahira, Encyclopaedia of Islam
  24. Khan, Majid Ali (1998). Muhammad the final messenger (1998 ed.). India: Islamic Book Service. p. 332. ISBN 978-81-85738-25-3.
  25. Berkshire Encyclopedia of World History (2005), v. 3, p. 1025
  26. Dairesi, Hırka-i Saadet; Aydin, Hilmi (2004). Uğurluel, Talha; Doğru, Ahmet (บ.ก.). The Sacred Trusts: Pavilion of the Sacred Relics, Topkapı Palace Museum, Istanbul. Tughra Books. ISBN 978-1-932099-72-0.
  27. Muhammad Mustafa Al-A'zami (2003), The History of The Qur'anic Text: From Revelation to Compilation: A Comparative Study with the Old and New Testaments, p. 24. UK Islamic Academy. ISBN 978-1-872531-65-6.
  28. Emory C. Bogle (1998), p. 6
  29. John Henry Haaren, Addison B. Poland (1904), p. 83
  30. Brown (2003), pp. 72–73
  31. Wensinck, A.J.; Rippen, A. (2002). "Waḥy". Encyclopaedia of Islam. Vol. 11 (2nd ed.). Brill Academic Publishers. p. 54. ISBN 978-90-04-12756-2.
  32. Esposito (2010), p. 8
  33. John Esposito, Islam, Expanded edition, Oxford University Press, pp. 4–5
  34. See:
    • Emory C. Bogle (1998), p. 7
    • Rodinson (2002), p. 71
  35. "Center for Muslim-Jewish Engagement". Cmje.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 January 2012. สืบค้นเมื่อ 26 January 2012.
  36. Uri Rubin, Muhammad, Encyclopedia of the Qur'an
  37. Daniel C. Peterson, Good News, Encyclopedia of the Quran
  38. 39.0 39.1 Watt (1953), p. 86
  39. Muhammad Mustafa Al-A'zami (2003), The History of The Qur'anic Text: From Revelation to Compilation: A Comparative Study with the Old and New Testaments, pp. 26–27. UK Islamic Academy. ISBN 978-1-872531-65-6.
  40. Ramadan (2007), pp. 37–39
  41. 42.0 42.1 Watt, The Cambridge History of Islam (1977), p. 36
  42. F.E. Peters (1994), p. 169
  43. 44.0 44.1 44.2 Uri Rubin, Quraysh, Encyclopaedia of the Qur'an
  44. Jonathan E. Brockopp, Slaves and Slavery, Encyclopedia of the Qur'an
  45. W. Arafat, Bilal b. Rabah, Encyclopedia of Islam
  46. Horovitz, Josef (1927). "The Earliest Biographies of the Prophet and Their Authors". Islamic Culture. 1 (2): 279–284. doi:10.1163/157005807780220576.{{cite journal}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  47. F.E. Peters (2003b), p. 96
  48. 49.0 49.1 49.2 Moojan Momen (1985), p. 4
  49. Oleg Grabar (1 October 2006). The Dome of the Rock. Harvard University Press. p. 14. ISBN 978-0-674-02313-0. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2013. สืบค้นเมื่อ 26 December 2011.
  50. 51.0 51.1 Encyclopedia of Islam and the Muslim World (2003), p. 482
  51. Jonathan M. Bloom; Sheila Blair (2009). The Grove encyclopedia of Islamic art and architecture. Oxford University Press. p. 76. ISBN 978-0-19-530991-1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2013. สืบค้นเมื่อ 26 December 2011.
  52. Watt (1974), p. 83
  53. Peterson (2006), pp. 86–89
  54. Muhammad Mustafa Al-A'zami (2003), The History of The Qur'anic Text: From Revelation to Compilation: A Comparative Study with the Old and New Testaments, pp. 30–31. UK Islamic Academy. ISBN 978-1-872531-65-6.
  55. Muhammad Mustafa Al-A'zami (2003), The History of The Qur'anic Text: From Revelation to Compilation: A Comparative Study with the Old and New Testaments, p. 29. UK Islamic Academy. ISBN 978-1-872531-65-6.
  56. 57.0 57.1 57.2 Watt, The Cambridge History of Islam, p. 39
  57. 58.0 58.1 Esposito (1998), p. 17
  58. Moojan Momen (1985), p. 5
  59. Watt (1956), p. 175.
  60. Watt (1956), p. 177
  61. Fazlur Rahman (1979), p. 21
  62. John Kelsay (1993), p. 21
  63. William Montgomery Watt (7 February 1974). Muhammad: Prophet and Statesman. Oxford University Press. pp. 112–14. ISBN 978-0-19-881078-0. สืบค้นเมื่อ 29 December 2011.{{cite book}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  64. Rodinson (2002), p. 164
  65. Watt, The Cambridge History of Islam, p. 45
  66. Glubb (2002), pp. 179–86
  67. Lewis (2002), p. 41.
  68. Watt (1961), p. 123
  69. Rodinson (2002), pp. 168–69
  70. Lewis (2002), p. 44
  71. Zeitlin, Irving M. (2007). The Historical Muhammad. John Wiley and Sons. p. 148. ISBN 978-0-7456-5488-1.
  72. Faizer, Rizwi (2010). The Life of Muhammad: Al-Waqidi's Kitab al-Maghazi. Routledge. p. 79. ISBN 978-1-136-92113-1.
  73. Watt (1961), p. 132.
  74. Watt (1961), p. 134
  75. 76.0 76.1 Lewis (1960), p. 45
  76. C.F. Robinson, Uhud, Encyclopedia of Islam
  77. Watt (1964), p. 137
  78. Watt (1974), p. 137
  79. David Cook (2007), p. 24
  80. See:
    • Watt (1981), p. 432
    • Watt (1964), p. 144
  81. Watt (1956), p. 30.
  82. Watt (1956), p. 34
  83. Watt (1956), p. 18
  84. Rubin, Uri (1990). "The Assassination of Kaʿb b. al-Ashraf". Oriens. 32 (1): 65–71. doi:10.2307/1580625. JSTOR 1580625.
  85. Watt (1956), pp. 220–21
  86. Watt (1956), p. 35
  87. Watt (1956), pp. 36, 37
  88. See:
    • Rodinson (2002), pp. 209–11
    • Watt (1964), p. 169
  89. Watt (1964) pp. 170–72
  90. Peterson (2007), p. 126
  91. Ramadan (2007), p. 141
  92. Meri, Medieval Islamic Civilization: An Encyclopedia, p. 754.
  93. Arafat. "New Light on the Story of Banu Qurayza and the Jews of Medina". Journal of the Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland. 1976: 100–07.
  94. Ahmad, pp. 85–94.
  95. Nemoy, "Barakat Ahmad's "Muhammad and the Jews", p. 325. Nemoy is sourcing Ahmad's Muhammad and the Jews.
  96. Watt (1956), p. 39
  97. 98.0 98.1 98.2 98.3 98.4 Watt, Aisha, Encyclopedia of Islam
  98. Learning Islam 8. Islamic Services Foundation. 2009. p. D14. ISBN 978-1-933301-12-9.
  99. F.E. Peters (25 July 2005). The Monotheists: Jews, Christians, and Muslims in Conflict and Competition, Volume I: The Peoples of God. Princeton University Press. p. 88. ISBN 978-0-691-12372-1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2013. สืบค้นเมื่อ 29 December 2011.
  100. อัลกุรอาน 2:196–210
  101. Lings (1987), p. 249
  102. 103.0 103.1 103.2 Watt, al- Hudaybiya or al-Hudaybiyya Encyclopedia of Islam
  103. Lewis (2002), p. 42
  104. Lings (1987), p. 255
  105. Vaglieri, Khaybar, Encyclopedia of Islam
  106. 107.0 107.1 Lings (1987), p. 260
  107. 108.0 108.1 Khan (1998), pp. 250–251
  108. F. Buhl, Muta, Encyclopedia of Islam
  109. 110.0 110.1 110.2 110.3 Khan (1998), p. 274
  110. 111.0 111.1 111.2 Lings (1987), p. 291
  111. 112.0 112.1 Khan (1998), pp. 274–75
  112. Lings (1987), p. 292
  113. Watt (1956), p. 66.
  114. The Message by Ayatullah Ja'far Subhani, chapter 48 เก็บถาวร 2 พฤษภาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน referencing Sirah by Ibn Hisham, vol. II, page 409.
  115. Rodinson (2002), p. 261.
  116. Harold Wayne Ballard, Donald N. Penny, W. Glenn Jonas (2002), p. 163
  117. F.E. Peters (2003), p. 240
  118. Guillaume, Alfred (1955). The Life of Muhammad. A translation of Ishaq's "Sirat Rasul Allah". Oxford University Press. p. 552. ISBN 978-0-19-636033-1. สืบค้นเมื่อ 8 December 2011. Quraysh had put pictures in the Ka'ba including two of Jesus son of Mary and Mary (on both of whom be peace!). ... The apostle ordered that the pictures should be erased except those of Jesus and Mary.
  119. อัลกุรอาน 110:1
  120. Watt (1974), p. 207
  121. M.A. al-Bakhit, Tabuk, Encyclopedia of Islam
  122. Ibn Ishaq (translated by Guillaume, A. 1955) The Life of Muhammad. Oxford University Press, Oxford. pp. 916–18
  123. Haykal, M.H. (1933) The Life of Muhammad, translated by Isma'il Razi A. al-Faruqi. The Supreme Council of Islamic Affairs, Cairo, Egypt and University of Chicago.
  124. Husayn, M.J. Biography of Imam 'Ali Ibn Abi-Talib, Translation of Sirat Amir Al-Mu'minin, Translated by: Sayyid Tahir Bilgrami, Ansariyan Publications, Qum, Islamic Republic of Iran
  125. Lewis (1993), pp. 43–44
  126. Sultan, Sohaib (March 2011). The Koran For Dummies. John Wiley and Sons. ISBN 978-0-7645-5581-7.
  127. Devin J. Stewart, Farewell Pilgrimage, Encyclopedia of the Qur'an
  128. Al-Hibri (2003), p. 17
  129. See:
  130. The Last Prophet เก็บถาวร 23 มกราคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, p. 3. Lewis Lord of U.S. News & World Report. 7 April 2008.
  131. Leila Ahmed (1986), 665–91 (686)
  132. 133.0 133.1 F.E. Peters (2003), p. 90 เก็บถาวร 22 กันยายน 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  133. F. Buhl; A.T. Welch (1993). "Muhammad". ใน P. Bearman; Th. Bianquis; C.E. Bosworth; E. van Donzel; W.P. Heinrichs (บ.ก.). Encyclopaedia of Islam. Vol. 7 (2nd ed.). Brill. p. 374. Then Mumammad suddenly fell ill, presumably of the ordinary Medina fever (al-Farazdak, ix, 13) ; but this was dangerous to a man physically and mentally overwrought.
  134. Ariffin, Syed Ahmad Iskandar Syed (2005). Architectural Conservation in Islam: Case Study of the Prophet's Mosque. Penerbit UTM. p. 88. ISBN 978-983-52-0373-2.
  135. "Prophet's Mosque". Archnet.org. 2 May 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 March 2012. สืบค้นเมื่อ 26 January 2012.
  136. "Isa", Encyclopedia of Islam
  137. Shaykh Adil Al-Haqqani; Shaykh Hisham Kabbani (2002). The Path to Spiritual Excellence. ISCA. pp. 65–66. ISBN 978-1-930409-18-7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 September 2015.
  138. 139.0 139.1 Mark Weston (2008). Prophets and princes: Saudi Arabia from Muhammad to the present. John Wiley and Sons. pp. 102–03. ISBN 978-0-470-18257-4. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2016.
  139. 140.0 140.1 Doris Behrens-Abouseif; Stephen Vernoit (2006). Islamic art in the 19th century: tradition, innovation, and eclecticism. Brill. p. 22. ISBN 978-90-04-14442-2. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2015.
  140. Mark Weston (2008). Prophets and princes: Saudi Arabia from Muhammad to the present. John Wiley and Sons. p. 136. ISBN 978-0-470-18257-4. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2016.
  141. Vincent J. Cornell (2007). Voices of Islam: Voices of the spirit. Greenwood Publishing Group. p. 84. ISBN 978-0-275-98734-3. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2016.
  142. Carl W. Ernst (2004). Following Muhammad: Rethinking Islam in the contemporary world. Univ of North Carolina Press. pp. 173–74. ISBN 978-0-8078-5577-5. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2016.
  143. Clinton Bennett (1998). In search of Muhammad. Continuum International Publishing Group. pp. 182–83. ISBN 978-0-304-70401-9. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 September 2015.
  144. Malcolm Clark (2011). Islam For Dummies. John Wiley and Sons. p. 165. ISBN 978-1-118-05396-6. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 September 2015.
  145. See:
    • Holt (1977a), p. 57
    • Lapidus (2002), pp. 31–32
  146. See:
    • Holt (1977a), p. 57
    • Hourani (2003), p. 22
    • Lapidus (2002), p. 32
    • Esposito (1998), p. 36
    • Madelung (1996), p. 43
  147. "Virtues and Merits of the Prophet (pbuh) and his Companions". Sunnah.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 March 2017. สืบค้นเมื่อ 25 March 2017.
  148. "Virtues and Merits of the Prophet (pbuh) and his Companions". Sunnah.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 March 2017. สืบค้นเมื่อ 25 March 2017.
  149. Ali Sultaan Asani; Kamal Abdel-Malek; Annemarie Schimmel (October 1995). Celebrating Muḥammad: images of the prophet in popular Muslim poetry. University of South Carolina Press. ISBN 978-1-57003-050-5. สืบค้นเมื่อ 5 November 2011.{{cite book}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  150. Annemarie Schimmel (1985). And Muhammad is his messenger: the veneration of the Prophet in Islamic piety. University of North Carolina Press. p. 34. ISBN 978-0-8078-1639-4. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 March 2017. สืบค้นเมื่อ 5 November 2011.
  151. Al-Tirmidhi, Shama'il Muhammadiyah เก็บถาวร 26 มีนาคม 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Book 1, Hadith 5 & Book 1, Hadith 7/8
  152. See for example Marco Schöller, Banu Qurayza, Encyclopedia of the Quran mentioning the differing accounts of the status of Rayhana
  153. 154.0 154.1 Barbara Freyer Stowasser, Wives of the Prophet, Encyclopedia of the Quran
  154. Subhani, Jafar. "Chapter 9". The Message. Ansariyan Publications, Qom. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 October 2010.
  155. Esposito (1998), p. 18
  156. Bullough (1998), p. 119
  157. Reeves (2003), p. 46
  158. Momen (1985), p. 9
  159. 160.0 160.1 160.2 D. A. Spellberg, Politics, Gender, and the Islamic Past: the Legacy of A'isha bint Abi Bakr, Columbia University Press, 1994, p. 40
  160. Karen Armstrong, Muhammad: A Biography of the Prophet, Harper San Francisco, 1992, p. 145
  161. Karen Armstrong, Muhammad: Prophet For Our Time, HarperPress, 2006, p. 105
  162. Muhammad Husayn Haykal, The Life of Muhammad, North American Trust Publications (1976), p. 139
  163. Barlas (2002), pp. 125–26
  164. A.C. Brown, Jonathan (2014). Misquoting Muhammad: The Challenge and Choices of Interpreting the Prophet's Legacy. Oneworld Publications. pp. 143–44. ISBN 978-1-78074-420-9.
  165. A.C. Brown, Jonathan (2014). Misquoting Muhammad: The Challenge and Choices of Interpreting the Prophet's Legacy. Oneworld Publications. p. 316. n° 50. ISBN 978-1-78074-420-9. Evidence that the Prophet waited for Aisha to reach physical maturity before consummation comes from al-Ṭabarī, who says she was too young for intercourse at the time of the marriage contract;
  166. Sahih al-Bukhari, 5:58:234, Sahih al-Bukhari, 5:58:236, Sahih al-Bukhari, 7:62:64, Sahih al-Bukhari, 7:62:65, Sahih al-Bukhari, 7:62:88, Sahih Muslim, 8:3309, 8:3310, 8:3311, 41:4915, Sunan Abu Dawood, 41:4917
  167. Tabari, Volume 9, Page 131; Tabari, Volume 7, Page 7
  168. Barlas, Asma (2012). "Believing Women" in Islam: Unreading Patriarchal Interpretations of the Qur'an. University of Texas Press. p. 126. On the other hand, however, Muslims who calculate 'Ayesha's age based on details of her sister Asma's age, about whom more is known, as well as on details of the Hijra (the Prophet's migration from Mecca to Madina), maintain that she was over thirteen and perhaps between seventeen and nineteen when she got married. Such views cohere with those Ahadith that claim that at her marriage Ayesha had "good knowledge of Ancient Arabic poetry and genealogy" and "pronounced the fundamental rules of Arabic Islamic ethics.
  169. "The Concept of Polygamy and the Prophet's Marriages (Chapter: The Other Wives)". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 February 2011.
  170. Ali, Muhammad (1997). Muhammad the Prophet. Ahamadiyya Anjuman Ishaat Islam. p. 150. ISBN 978-0-913321-07-2. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2016. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  171. Ayatollah Qazvini. "Ayesha married the Prophet when she was young? (In Persian and Arabic)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 September 2010.
  172. A.C. Brown, Jonathan (2014). Misquoting Muhammad: The Challenge and Choices of Interpreting the Prophet's Legacy. Oneworld Publications. pp. 146–47. ISBN 978-1-78074-420-9.
  173. Tariq Ramadan (2007), pp. 168–69
  174. Asma Barlas (2002), p. 125
  175. Armstrong (1992), p. 157
  176. Ordoni (1990), pp. 32, 42–44.
  177. Nicholas Awde (2000), p. 10
  178. "Ali". Encyclopædia Britannica Online.
  179. Ibn Qayyim al-Jawziyya recorded the list of some names of Muhammad's female-slaves in Zad al-Ma'ad, Part I, p. 116
  180. "Slavery in Islam". BBC. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 June 2017. สืบค้นเมื่อ 16 April 2016.
  181. Farah (1994), p. 135
  182. Esposito (1998), p. 12.
  183. Clark, Malcolm (2003). Islam for Dummies. Indiana: Wiley Publishing Inc. p. 100. ISBN 978-1-118-05396-6. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 September 2015.
  184. Nigosian, S. A. (2004). Islam: Its History, Teaching, and Practices. Indiana: Indiana University Press. p. 17. ISBN 978-0-253-21627-4.
  185. Juan E. Campo, บ.ก. (2009). "Encyclopedia of Islam". Encyclopedia of Islam. Facts on File. p. 494. ISBN 978-0-8160-5454-1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2015.
  186. "Muhammad". Encyclopædia Britannica Online. Encyclopædia Britannica, Inc. 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 February 2013. สืบค้นเมื่อ 27 January 2013.
  187. A.J. Wensinck, Muʿd̲j̲iza, Encyclopedia of Islam
  188. Denis Gril, Miracles, Encyclopedia of the Qur'an
  189. Daniel Martin Varisco, Moon, Encyclopedia of the Qur'an
  190. "A Restatement of the History of Islam and Muslims" chapter "Muhammad's Visit to Ta’if เก็บถาวร 26 กันยายน 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" on al-islam.org
  191. Muhammad, Encyclopædia Britannica, p. 9
  192. "Arabic Presentation Forms-A" (PDF). The Unicode Standard, Version 5.2. Mountain View, Ca.: Unicode, Inc. 1 October 2009. สืบค้นเมื่อ 9 May 2010.
  193. Suzanne Pinckney Stetkevych (24 May 2010). The mantle odes: Arabic praise poems to the Prophet Muḥammad. Indiana University Press. p. xii. ISBN 978-0-253-22206-0. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2013. สืบค้นเมื่อ 27 January 2012.
  194. Seyyed Hossein Nasr, Encyclopædia Britannica, Muhammad, p. 13
  195. Ann Goldman, Richard Hain, Stephen Liben (2006), p. 212
  196. 197.0 197.1 197.2 Kees Wagtendonk (1987). "Images in Islam". ใน Dirk van der Plas (บ.ก.). Effigies dei: essays on the history of religions. Brill. pp. 119–24. ISBN 978-90-04-08655-5. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2011.
  197. John L. Esposito (2011). What everyone needs to know about Islam (2 ed.). Oxford University Press. pp. 14–15. ISBN 978-0-19-979413-3. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2015.
  198. 199.0 199.1 F.E. Peters (10 November 2010). Jesus and Muhammad: Parallel Tracks, Parallel Lives. Oxford University Press. pp. 159–61. ISBN 978-0-19-974746-7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 June 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2011.
  199. Safi2010 (2 November 2010). 2 November 2010. HarperCollins. p. 32. ISBN 978-0-06-123135-3. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 June 2013. สืบค้นเมื่อ 29 December 2011.
  200. Safi, Omid (5 May 2011). "Why Islam does (not) ban images of the Prophet". Washington Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 February 2012. สืบค้นเมื่อ 27 December 2011.
  201. Freek L. Bakker (15 September 2009). The challenge of the silver screen: an analysis of the cinematic portraits of Jesus, Rama, Buddha and Muhammad. Brill. pp. 207–09. ISBN 978-90-04-16861-9. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2011.
  202. Walter Emil Kaegi, Jr., "Initial Byzantine Reactions to the Arab Conquest", Church History, Vol. 38, No. 2 (June 1969), pp. 139–42, quoting from Doctrina Jacobi nuper baptizati 86–87
  203. Lewis (2002)
  204. Warraq, Ibn (2007). Defending the West: A Critique of Edward Said's Orientalism. Prometheus Books. p. 147. ISBN 978-1-61592-020-4. Indeed, [Postel's] greater tolerance for other religions was much in evidence in Παvθεvωδια: compostio omnium dissidiorum, where, astonishingly for the sixteenth century, he argued that Muhammad ought to be esteemed even in Christendom as a genuine prophet.
  205. 206.0 206.1 206.2 Brockopp, Jonathan E (2010). The Cambridge Companion to Muḥammad. New York: Cambridge UP. pp. 240–42. ISBN 978-0-521-71372-6.
  206. Talk Of Napoleon At St. Helena (1903), pp. 279–80
  207. Brockopp, Jonathan E., บ.ก. (2010). The Cambridge Companion to Muhammad. Cambridge Companions to Religion. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-71372-6. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 October 2013.
  208. Younos, Farid (2010). Islamic Culture. Cambridge Companions to Religion. AuthorHouse. p. 15. ISBN 978-1-4918-2344-6.
  209. Carlyle, Thomas (1841). On heroes, hero worship and the heroic in history. London: James Fraser. p. 87.
  210. Kecia Ali (2014). The Lives of Muhammad. Harvard UP. p. 48. ISBN 978-0-674-74448-6. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 September 2015.
  211. Smith, Peter (2000). "Manifestations of God". A concise encyclopedia of the Bahá'í Faith. Oxford: Oneworld Publications. p. 231. ISBN 1-85168-184-1.
  212. Buck, Christopher (2004). "The eschatology of Globalization: The multiple-messiahship of Bahā'u'llāh revisited". ใน Sharon, Moshe (บ.ก.). Studies in Modern Religions, Religious Movements and the Bābī-Bahā'ī Faiths. Boston: Brill. pp. 143–178. ISBN 90-04-13904-4. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  213. ปฐมธรรมาจารย์แห่งธรรมกาลยุคขาว, ศุภนิมิต แปลและเรียบเรียง, กรุงเทพฯ : ส่งเสริมคุณภาพชีวิต, ม.ป.ป.
  214. "皇母訓子十誡中英合編". Tao Library. สืบค้นเมื่อ 18 March 2014.
  215. "พระโอวาท"พระอนุตตรธรรมมารดาสิบบัญญัติ"". สังคมธรรมะออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 18 March 2014.
  216. Gottheil, Richard; Montgomery, Mary W.; Grimme, Hubert (1906). Muhammad. Jewish Encyclopedia. Kopelman Foundation.
  217. Ibn Warraq (2007). Defending the West: A Critique of Edward Said's Orientalism. p. 255. ISBN 9781615920204.
  218. Bostom, Andrew G. (2008). The Legacy of Islamic Antisemitism: From Sacred Texts to Solemn History. p. 21. ISBN 9781615920112.
  219. Norman A. Stillman (1979). The Jews of Arab Lands: A History and Source Book. Jewish Publication Society. p. 236. ISBN 978-0-8276-0198-7.
  220. 221.0 221.1 Quinn, Frederick (2008). "The Prophet as Antichrist and Arab Lucifer (Early Times to 1600)". The Sum of All Heresies: The Image of Islam in Western Thought. New York: Oxford University Press. pp. 17–54. ISBN 978-0-19-532563-8.
  221. 222.0 222.1 Goddard, Hugh (2000). "The First Age of Christian-Muslim Interaction (c. 830/215)". A History of Christian-Muslim Relations. Edinburgh]: Edinburgh University Press. pp. 34–41. ISBN 978-1-56663-340-6.
  222. Curtis, Michael (2009). Orientalism and Islam: European Thinkers on Oriental Despotism in the Middle East and India. New York: Cambridge University Press. p. 31. ISBN 978-0-521-76725-5.
  223. {{cite bookJohn of Damascus|title=De Haeresibus|quote=See Migne, Patrologia Graeca, Vol. 94, 1864, cols 763–73. English translation by John W. Voorhis appeared in The Moslem World, October 1954, pp. 392–98}}
  224. Buhl, F.; Welch, A.T. (1993). "Muḥammad". Encyclopaedia of Islam. 7 (2nd ed.). Brill. pp. 360–376. ISBN 90-04-09419-9.
  225. Cimino, Richard (December 2005). ""No God in Common": American Evangelical Discourse on Islam after 9/11". Review of Religious Research. 47 (2): 162–174. doi:10.2307/3512048. JSTOR 3512048.
  226. Dobbins, Mike (13 April 2015). "The Critics of Islam Were Right: An Apology to Ayaan Hirsi Ali, Sam Harris, Bill Maher and Other So-Called Islamophobes". The Christian Post. Washington, D.C. สืบค้นเมื่อ 26 September 2017.
  227. Akyol, Mustafa (13 January 2015). "Islam's Problem With Blasphemy". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 26 September 2017.
  228. Cornwell, Rupert (10 April 2015). "Ayaan Hirsi Ali: Islam's most devastating critic". The Independent. London. สืบค้นเมื่อ 26 September 2017.
  229. Ibn Warraq (2000). The Quest for the Historical Muhammad. Amherst, New York: Prometheus Books. ISBN 978-1-57392-787-1.
  230. Robert Spencer (2006). The Truth About Muhammad. Washington, D.C.: Regnery Publishing. ISBN 978-1-59698-028-0.
  231. Gordon, Murray (1989). "The Attitude of Islam Toward Slavery". Slavery in the Arab World. New York: Rowman & Littlefield. pp. 18–47. ISBN 978-0-941533-30-0.
  232. Willis, John Ralph, บ.ก. (2013). Slaves and Slavery in Muslim Africa: Islam and the Ideology of Enslavement. Vol. 1. New York: Routledge. pp. vii–xi, 3–26. ISBN 978-0-7146-3142-4.; Willis, John Ralph, บ.ก. (1985). Slaves and Slavery in Muslim Africa: The Servile Estate. Vol. 2. New York: Routledge. pp. vii–xi. ISBN 978-0-7146-3201-8.
  233. See also History of slavery in the Muslim world, Arab slave trade, Slavery in the Ottoman Empire, and Slavery in 21st-century Islamism.
  234. John Esposito, Islam the Straight Path, Oxford University Press, pp. 17–18
  235. Watt, W. Montgomery (1 July 1952). "The Condemnation of the Jews of Banu Qurayzah". The Muslim World. 42 (3): 160–171. doi:10.1111/j.1478-1913.1952.tb02149.x. ISSN 1478-1913.
  236. Rahman al-Mubarakpuri, Saifur (2005), The Sealed Nectar, Darussalam Publications, pp. 201–205, They [the Jews killed] numbered 600 or 700—the largest estimate says they were between 800 and 900.[ลิงก์เสีย]
  237. Denise Spellberg (1996), Politics, Gender, and the Islamic Past: The Legacy of 'A'isha Bint Abi Bakr, Columbia University Press, ISBN 978-0-231-07999-0, pp. 39–40.
  238. Turner, Colin (2011). Islam: The Basics (revised and illustrated ed.). Routledge Press. pp. 34–35. ISBN 9781136809637. สืบค้นเมื่อ 15 April 2019.
  239. Barlas, Asma (2002). "Believing Women" in Islam: Unreading Patriarchal Interpretations of the Qur'an. 2012 reprint. University of Texas Press. pp. 125–126.


สารานุกรมแก้ไข

สารานุกรมแก้ไข

หนังสือแก้ไข

ออนไลน์แก้ไข

  • Muḥammad, in The Oxford Encyclopedia of the Islamic World, by Ahmad S. Moussalli, Gordon D. Newby, Ahmad Moussalli
  • Muhammad: Prophet of Islam, in Encyclopædia Britannica Online, by Nicolai Sinai and W. Montgomery Watt

แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข