แคราแคล

(เปลี่ยนทางจาก Caracal)

แคราแคล หรือ ลิงซ์เปอร์เซีย หรือ ลิงซ์อียิปต์ หรือ ลิงซ์แอฟริกา หรือ ลิงซ์ทะเลทราย (อังกฤษ: caracal, Persian lynx, Egyptian lynx, African lynx, desert lynx) เป็นแมวขนาดกลาง มีการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันตก, เอเชียใต้ และทวีปแอฟริกา

แคราแคล
แคราแคลที่อุทยานข้ามพรมแดนฆาลาฆาดี
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
อันดับ: อันดับสัตว์กินเนื้อ
อันดับย่อย: เฟลิฟอเมีย
วงศ์: เสือและแมว
วงศ์ย่อย: วงศ์ย่อยแมว
สกุล: แคราแคล
(Schreber, 1776)
สปีชีส์: Caracal caracal
ชื่อทวินาม
Caracal caracal
(Schreber, 1776)
ชนิดย่อย

ดูข้างล่าง

แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของแคราแคลใน ค.ศ. 2016[1]
ชื่อพ้อง[2]
  • C. bengalensis (J. B. Fischer, 1829)
  • C. melanotis Gray, 1843
  • C. melanotix Gray, 1843
  • C. berberorum Matschie, 1892
  • C. corylinus (Matschie, 1912)
  • C. medjerdae (Matschie, 1912)
  • C. aharonii (Matschie, 1912)
  • C. spatzi (Matschie, 1912)
  • C. roothi (Roberts, 1926)
  • C. coloniae Thomas, 1926
  • C. michaelis Heptner, 1945

คำว่า "แคราแคล" มาจากคำในภาษาตุรกีว่า "karakulak" ซึ่งแปลว่า "หูสีดำ"[3] ในอินเดียเหนือและประเทศปากีสถาน แคราแคลเป็นที่รู้จักกันในชื่อ syahgosh (स्याहगोष/سیاه گوش) หรือ shyahgosh ซึ่งในคำในภาษาปากีสถานแปลว่า หูสีดำ เช่นกัน[4] ในภาษาอาฟรีกานส์เรียกแคราแคลว่า Rooikat ซึ่งแปลว่า "แมวแดง"

มีการนำแคราแคลมาเลี้ยงไว้ล่าสัตว์ในอินเดีย, เปอร์เซีย และอียิปต์[5][6]

ลักษณะ แก้

แคราแคล มีน้ำหนักเต็มที่ในตัวผู้ 10 - 18 กิโลกรัม ความสูงจากอุ้งเท้าถึงหัวไหล่ประมาณ 40 - 50 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 55 - 90 เซนติเมตร ความยางหาง 25 - 40 เซนติเมตร อายุโดยเฉลี่ย 8 - 10 ปี

มีลักษณะของตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน ในตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้ากว้างใหญ่และมีโขดหิน ล่าเหยื่อได้หลากหลายชนิดรวมถึงสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ในบางครั้ง เช่น อิมพาลาด้วย แต่โดยทั่วไปจะล่าไฮแรกซ์, กระต่ายป่า, หมูป่า, นกกระทา, ไก่ต๊อก, นกพิราบและนกเขา รวมถึงแอนทีโลปขนาดเล็กด้วย แคราแคล สามรถกระโดดได้สูง และล่าสัตว์ที่มีน้ำหนักมากกว่าตัวเองได้ถึง 2 - 3 เท่า โดยก่อนกินจะใช้ฟันถอนขนของเหยื่อออกให้หมดก่อน ในกรณีที่อาหารมีขนปกคลุมหนาแน่น[7]

แต่ตัวของแคราแคลเองก็ถูกล่าเช่นกันจากเสือดาวหรือสิงโต แคราแคลที่ยังไม่โตเต็มวัยอาจถูกล่าได้จากอินทรีขนาดใหญ่ แคราแคลปีนต้นไม้ได้เก่งและจะหนีขึ้นต้นไม้เมื่อถูกล่าหรือถูกคุกคาม[8]

อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ แก้

Felis caracal เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ที่Johann Christian Daniel von Schreberใช้อธิบายหนังแคราแคลจากแหลมกู๊ดโฮปใน ค.ศ. 1776[9] ต่อมาใน ค.ศ. 1843 จอห์น เอ็ดเวิร์ด เกรย์จัดให้มันอยู่ในสกุล Caracal[10] ในวงศ์ Felidae และวงศ์ย่อย Felinae[2]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึง 20 มีการกล่าวถึงและเสนอตัวอย่างแคราแคลบางชนิดให้เป็นชนิดย่อย นับตั้งแต่ ค.ศ. 2017 มี 3 ชนิดย่อยเท่านั้นที่ยอมรับว่าถูกต้อง:[11]

ถิ่นที่อยู่อาศัย แก้

แคราแคลอาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง อดทนต่อสภาพที่อยู่อาศัยหลายประเภท พบในป่าวูดแลนด์ ซะวันนา และป่าละเมาะอะคาเซียทั่วทวีปแอฟริกา พบได้บ่อยในป่าที่ชุ่มชื่นใกล้ชายฝั่งเหนือทะเลทรายซาฮารา และยังพบในทะเลทรายของอินเดียด้วย แต่ไม่พบในป่าฝนเขตร้อน อยู่ได้สูงถึง 3,000 เมตร ในแอฟริกาใต้ แคราแคลอยู่ในป่าดิบและป่าบนเขาสูงทางใต้ของจังหวัดเคป ในเอธิโอเปีย แคราแคลพบได้สูงถึง 2,500 เมตร ในเทือกเขาเบลีและไซเมียน

อุปนิสัย แก้

แคราแคลอดน้ำได้เก่ง เพียงน้ำจากตัวเหยื่อก็ดำรงชีวิตได้แล้ว ตอนกลางวันอันร้อนระอุจะพักอยู่ตามหลืบหิน หากินเฉพาะตอนเช้าและตอนเย็นที่อากาศเย็น

การล่าของแคราแคลจะใช้วิธีย่องเข้าหาและพุ่งตะครุบเช่นเดียวกับแมวบ้าน ตัวผู้มีอาณาเขตหากินซ้อนทับพื้นที่ของตัวเมียหลายตัว หากินโดยลำพัง จะหากินด้วยกันก็ต่อเมื่อต้องการผสมพันธุ์เท่านั้น

ในประเทศแอฟริกาใต้แมวแคราแคลตัวผู้มีอาณาเขต 31 - 65 ตารางกิโลเมตร ส่วนตัวเมียใช้พื้นที่เพียง 4 - 31 ตารางกิโลเมตร แคราแคลตัวผู้เดินทางเฉลี่ยวันละ 10.4 + 5.2 กิโลเมตร ส่วนตัวเมียเดินทางเฉลี่ยวันละ 6.6 + 4.1 กิโลเมตร เคยมีการแกะรอยแคราแคลตัวหนึ่งในทะเลทรายคารากัมในเติร์กเมนิสถานพบว่ามันเดินทางในเวลากลางคืนเป็นระยะทางถึง 20 กิโลเมตร

แคราแคลกินสัตว์ฟันแทะเป็นอาหารหลัก เช่น เจอร์บัว หนูทราย กระรอกดิน นอกจากนี้ยังกิน นก ร็อกไฮแรก กระต่ายป่า สัตว์เลื้อยคลาน งูพิษ และแอนติโลปขนาดเล็กอย่างรีดบัก ดุยเกอร์ สปริงบอก กูดู

แคราแคลที่อยู่ในทะเลทรายของเติร์กเมนิสถาน กินกระต่ายป่าโทไลเป็นอาหารหลัก บางครั้งก็จับสัตว์ใหญ่ได้เหมือนกัน เช่นกาเซลล์กอยเตอร์ ในอาหรับก็เคยพบแคราแคลฆ่าตัวโอริกซ์ และยังเคยพบรอยแคราแคลติดตามตัวกาเซลล์ดอร์คัสในแอลจีเรีย โดยเฉพาะแคราแคลในตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบชาด ขึ้นชื่อในเรื่องการจับกาเซลล์กอยเตอร์ จึงมีชื่อเรียกในภาษาตูบูที่มีความหมายว่าแมวกาเซลล์ ในปากีสถานก็เคยมีคนเห็นแคราแคลย่องตามฝูงแกะป่ามูฟลอนตอนกลางวัน

บางครั้งแคราแคลก็กินซากด้วยแม้ไม่บ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งในอุทยานแห่งชาติอิโตชาในนามิเบีย แคราแคลตัวเมียตัวหนึ่งรอให้เสือชีตาห์กินเหยื่อจนเสร็จจนจากไปแล้วค่อยไปกินซากที่เหลือ บางครั้งก็กินหญ้าและผลไม้ คาดว่าแคราแคลกินหญ้าและผลไม้เพื่อต้องการน้ำจากภายในเท่านั้น เมื่อจับเหยื่อได้จะลากไปในที่ลับตาเพื่อหลีกเลี่ยงสัตว์อื่นมารบกวน ถ้าเหยื่อตัวใหญ่กินคราวเดียวไม่หมด ก็จะคลุมเหยื่อด้วยหญ้าเพื่อกลับมากินคราวหลัง บางครั้งแคราแคลก็ลากเหยื่อขึ้นไปกินบนต้นไม้แบบเดียวกับเสือดาว ในการกินนก หากเป็นนกตัวใหญ่แคราแคลจะถอนขนก่อนกิน แต่ถ้าเป็นนกตัวเล็กจะกลืนเข้าไปทั้งตัว

ท่าเดินของแคราแคลคล้ายชีตาห์ แต่แมวชนิดนี้ไม่ใช่นักวิ่งเร็ว แม้จะวิ่งเร็วกว่าแมวชนิดอื่นที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน เมื่อถูกหมาวิ่งไล่จะวิ่งขึ้นต้นไม้

แคราแคลมีฝีมือเด่นด้านการกระโดด มันกระโดดได้สูงจากพื้นหลายฟุตขึ้นไปตบนก มันอาจจับนกพิราบได้คราวละราวสิบตัวในคราวเดียว ในอดีตในประเทศอินเดียและอิหร่าน เคยมีการฝึกแคราแคลให้ล่านกด้วย และนี่เป็นที่มาของสำนวนภาษาอังกฤษ ว่า 'to put a cat amongst the pigeons' แคราแคลจะถูกนำไปไว้ในเวทีที่เต็มไปด้วยฝูงนกพิราบเพื่อแข่งขันกันว่าแมวตัวไหนจะฆ่านกได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงไว้เพื่อล่าแอนติโลป กระต่าย และหมาจิ้งจอกอีกด้วย

แคราแคลหากินตอนกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แต่ละคืนอาจเดินหากินเป็นระยะทางถึง 20 กิโลเมตร หลับพักผ่อนในโพรง หลืบหิน หรือพุ่มไม้ทึบ หรือบางครั้งก็บนต้นไม้ แมวชนิดนี้มักไม่ค่อยส่งเสียงนัก ส่วนใหญ่มักเป็นการ ส่งเสียงครางต่ำ ๆ และทำเสียงฟุดฟิดเมื่อฉุนเฉียว เสียงร้องเรียกคู่คล้ายเสียงเห่าและดัง สายตาและหูดีมาก แต่ความไวจมูกปานกลาง

แคราแคลตัวผู้มีพื้นที่หากินเฉลี่ยประมาณ 221 ตารางกิโลเมตร ตัวเมียประมาณ 57 ตารางกิโลเมตร ยิ่งตัวใหญ่ก็ยิ่งมีพื้นที่หากินกว้าง อาณาเขตของตัวผู้จะซ้อนทับกันค่อนข้างมาก (ราว 50 เปอร์เซ็นต์) และซ้อนทับกับพื้นที่ของตัวเมียหลายตัว เคยพบแคราแคลตัวผู้ที่เดินทางไกลถึง 90 กิโลเมตรเพื่อแสวงหาอาณาเขต ส่วนตัวเมียจะใช้พื้นที่ไม่ไกลจากแหล่งกำเนิดเป็นอาณาเขตและพื้นที่ของตัวเมียซ้อนทับกับพื้นที่ของแม่ ส่วนแคราแคลในทะเลทรายเนเกฟในอิสราเอล ใช้พื้นที่หากินกว้างกว่าพวกที่อยู่ในแอฟริกาใต้ แม้จะมีเหยื่อให้กินมากอันเนื่องมาจากระชลประทานที่ดีก็ตาม

ชีววิทยา แก้

คาดว่าแคราแคลผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ในแถบซาฮารามักผสมพันธุ์ในเดือนมกราคมซึ่งเป็นกลางฤดูหนาว มีช่วงเวลาเป็นสัดนาน 5 - 6 วัน และมีคาบการเป็นสัด 14 วัน ในช่วงเป็นสัดแมวตัวเมียอาจจับคู่กับตัวผู้ได้มากถึงสามตัว โดยจับคู่ตามลำดับบรรดาศักดิ์ของตัวผู้ ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุและขนาด แม่แมวตั้งท้องนาน 71 - 81 วัน ออกลูกครอกละ 1 - 4 ตัว บางครั้งอาจมากถึง 6 ตัว ทำรังเลี้ยงลูกในโพรงหรือหลืบหินหรือพุ่มทึบ พื้นรังปูด้วยขน ลูกแมวแรกเกิดสีเข้มกว่าตัวผู้ใหญ่ ท้องมีจุดสีอมแดง จุดนี้จะจางหายไปเมื่อโตขึ้น ลืมตาได้ตั้งแต่วันแรก แต่จะเปิดเต็มที่ได้เมื่ออายุได้ 6 - 10 วัน ช่วงแรกลูกแมวจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นวันละ 21 กรัม เมื่ออายุได้สามสัปดาห์ แม่จะพาออกมาจากรังเพื่อย้ายรังเป็นครั้งแรก เมื่อลูกแมวอายุได้ 4 - 5 สัปดาห์ก็จะซุกซนมากและส่งเสียงร้องจิ๊บเหมือนนก เมื่ออายุได้ 10 สัปดาห์ก็หย่านม แต่จะยังคงอยู่กับแม่จนกระทั่งอายุครบขวบ แมวตัวผู้จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 12.5 - 15 เดือน ส่วนตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 14 - 16 เดือน และคาดว่ามีลูกได้ทุกปี ตั้งท้องครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ 18 ปี ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุได้ถึง 19 ปี

แมวชนิดนี้เพาะพันธุ์ได้ง่าย มีการเลี้ยงในสวนสัตว์หลายแห่ง[ต้องการอ้างอิง]

ภัยคุกคาม แก้

แคราแคลมักถูกล่าจากข้อหาว่าไปฆ่าสัตว์เลี้ยงขนาดเล็กในฟาร์มของชาวบ้าน ข้อกล่าวหานี้มีส่วนจริง จากการวิเคราะห์กระเพาะและขี้ของแคราแคลนอกเขตคุ้มครอง พบว่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านเป็นเหยื่อประจำของแคราแคลจริงและมีอยู่ปริมาณพอสมควร (17 - 55%) อัตราสูญเสียสัตว์เลี้ยงมีมากถึง 5.3 ตัว ต่อ 10 ตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ตามปัญหานี้เกิดขึ้นเฉพาะในแอฟริกาใต้และนามิเบียเท่านั้น ในระหว่างปี 2474 - 2495 มีปฏิบัติการควบคุมจำนวนแคราแคลในพื้นที่คารู จากรายงานระบุว่ามีแคราแคลถูกฆ่าตายไปเฉลี่ย 2,219 ตัวต่อปี ในปี 2532 มีการสำรวจกลุ่มนักล่าที่คอยล่าสัตว์ที่ก่อปัญหาในจังหวัดเคป พบว่า จำนวนของแคราแคลที่ถูกกำจัดและจับมีราว 0.02 - 1.6 ต่อ 10 ตารางกิโลเมตรต่อปี ในปี 2524 มีการสำรวจพบว่าแคราแคลถูกชาวบ้านฆ่าตายรวม 2,800 ตัว อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะควบคุมจำนวนแคราแคลนี้ดูเหมือนจะมีผลต่อจำนวนประชากรไม่มากนัก เพราะมักพบว่าหลังจากที่แคราแคลถูกกำจัดไปจากพื้นที่หนึ่ง แคราแคลตัวอื่นก็เข้ามาครอบครองพื้นที่แทน

การล่าเพื่อเอาหนังและเพื่อการเปิบพิสดารก็มีรายงานในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางเช่นกัน ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีประชากรแคราแคลไม่หนาแน่นมากนัก

ภัยคุกคามอีกอย่างอย่างหนึ่งคือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย เพราะชุมชนมนุษย์เริ่มรุกล้ำพื้นที่หากินของแคราแคล และสัตว์เหยื่อของแคราแคลก็ถูกกำจัดออกไปด้วย

สถานภาพ แก้

จำนวนประชากรของแคราแคลในธรรมชาติยังไม่ทราบแน่ชัด ในเอเชียและตอนเหนือของทวีปแอฟริกาเหลือน้อยและถูกคุกคาม พันธุ์แอฟริกาใต้ (C.c. caracal) ที่อยู่ในแอฟริกาตอนใต้ยังมีอยู่มาก พบมากที่สุดในประเทศแอฟริกาใต้และนามิเบีย และเขตกระจายพันธุ์ในส่วนนี้ยังคงขยายออกไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่หมาจิ้งจอกหลังดำถูกชาวไร่กำจัดออกไปจากพื้นที่ สถานภาพโดยรวมของแมวชนิดนี้ในทวีปแอฟริกาถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ตรงข้ามกับชนิดย่อยที่อยู่ในเอเชียถูกคุกคามอย่างหนัก ในปี 2536 พบว่าในเติร์กเมนิสถานเหลือแคราแคลอยู่เพียง 250 - 300 ตัว ส่วนในอินเดียก็ถือเป็นสัตว์หายาก

ไซเตสจัดแมวแคราแคลในแอฟริกาไว้ในบัญชีหมายเลข 2 ส่วนพันธุ์ที่อยู่ในเอเชียอยู่ในบัญชีหมายเลข 1

ประเทศที่ห้ามล่า แก้

ประเทศที่ไม่มีการคุ้มครอง แก้

ไม่มีข้อมูล แก้

ประเทศที่ควบคุมการล่าและการค้า แก้

หมายเหตุ แก้

  1. ประชากรทั้งหมดอยู่ใน Appendix II ยกเว้นประชากรในทวีปเอเชีย

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 Avgan, B.; Henschel, P. & Ghoddousi, A. (2016) [errata version of 2016 assessment]. "Caracal caracal". IUCN Red List of Threatened Species. 2016: e.T3847A102424310. doi:10.2305/IUCN.UK.2016-2.RLTS.T3847A50650230.en. สืบค้นเมื่อ 15 January 2022.
  2. 2.0 2.1 Wozencraft, W. C. (2005). "Species Carcal caracal". ใน Wilson, D. E.; Reeder, D. M. (บ.ก.). Mammal Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference (3rd ed.). Johns Hopkins University Press. p. 533. ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494.
  3. "SCI recordbook -Caracal". Safari Club International. สืบค้นเมื่อ 2009-06-10.
  4. D.L. Drake-Brockman; Drake-Brockman, D.L (1909). "Volume 1 of District Gazetteers of the United Provinces of Agra and Oudh". Government Press, United Provinces, India: 552. ... The caracal (felia caracal) or syahgosh is also found in the Dun ... {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  5. Heptner, V. G. (1989). Mammals of the Soviet Union. Vol. 2 Part 2 Carnivora (Hyenas and Cats) (illustrated ed.). BRILL. p. 524. ISBN 978-90-04-08876-4.
  6. Budiansky, S. (2015). The Character of Cats (illustrated ed.). Hachette UK. p. 21. ISBN 978-1-4746-0321-8.
  7. Snow Leopards of Leafy London. สารคดีทางแอนนิมอลแพลนเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: พุธที่ 25 ธันวาคม 2556
  8. แม้จะได้ชื่อว่าเป็นลิงซ์ แต่แคราแคลก็ไม่ได้จัดว่าเป็นลิงซ์แต่อย่างใด แต่เชื่อกันว่า แคราแคลเป็นญาติใกล้ชิดกับเสือไฟแอฟริกาและเซอร์วัล แคราแคลถูกจัดว่าเป็นแมวขนาดเล็ก แต่ก็เป็นแมวขนาดเล็กที่หนักที่สุด รวดเร็วที่สุด เร็วใกล้เคียงกับเซอร์วัล ปองพล อดิเรกสาร. สัตว์ป่าแอฟริกา. กรุงเทพฯ : เอเรียสบุ๊คส์, 2553. 272 หน้า. ISBN 978-616-90508-0-3
  9. Schreber, J. C. D. (1777). "Der Karakal". Die Säugethiere in Abbildungen nach der Natur mit Beschreibungen. Erlangen: Wolfgang Walther. pp. 413–414.
  10. Gray, J. E. (1843). "The Caracal". List of the specimens of Mammalia in the collection of the British Museum. London: The Trustees of the British Museum. p. 46.
  11. Kitchener, A. C.; Breitenmoser-Würsten, C.; Eizirik, E.; Gentry, A.; Werdelin, L.; Wilting, A.; Yamaguchi, N.; Abramov, A. V.; Christiansen, P.; Driscoll, C.; Duckworth, J. W.; Johnson, W.; Luo, S.-J.; Meijaard, E.; O’Donoghue, P.; Sanderson, J.; Seymour, K.; Bruford, M.; Groves, C.; Hoffmann, M.; Nowell, K.; Timmons, Z. & Tobe, S. (2017). "A revised taxonomy of the Felidae: The final report of the Cat Classification Task Force of the IUCN Cat Specialist Group" (PDF). Cat News (Special Issue 11): 62−63.
  12. Fischer, J. B. (1829). "F. caracal Schreb.". Synopsis Mammalium. Stuttgart: J. G. Cottae. p. 210.
  13. Matschie, P. (1912). "Über einige Rassen des Steppenluchses Felis (Caracal) caracal (St. Müll.)". Sitzungsberichte der Gesellschaft Naturforschender Freunde zu Berlin. 1912 (2a): 55–67.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้