วงศ์ (อังกฤษ: family, ละติน: familia, รูปพหูพจน์ familiae) เป็นขั้นอนุกรมวิธานขั้นหนึ่งในการจำแนกสิ่งมีชีวิตในทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นลำดับขั้นสูงที่เล็กที่สุด มีการแบ่งเฉพาะเจาะจงในรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น อยู่ระหว่างขั้นอันดับและขั้นสกุล วงศ์หนึ่งอาจจำแนกเป็นวงศ์ย่อยหลายวงศ์ ซึ่งเป็นขั้นที่อยู่ระหว่างขั้นวงศ์และขั้นสกุล

The various levels of the scientific classification system.สปีชีส์สกุลวงศ์อันดับชั้นไฟลัมส่วนอาณาจักรโดเมนชีวิต
The various levels of the scientific classification system.

แปดลำดับขั้นสำคัญ ๆ ของการจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ ในหนึ่งอันดับประกอบด้วยหนึ่งวงศ์ขึ้นไป ตามแผนภาพไม่ได้แสดงลำดับขั้นที่อยู่อื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างนี้

ชื่อของวงศ์จะใช้ภาษาละติน โดยมักลงท้ายด้วย -aceae ในพืช โครมาลวีโอลาตา ฟังไจ และแบคทีเรีย ส่วนในอาณาจักรสัตว์จะลงท้ายด้วย -idae สิ่งมีชีวิตในแต่ละวงศ์ประกอบด้วยสมาชิกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน นั่นคือ สิ่งมีชีวิตในสกุลต่างกัน แต่อยู่ในวงศ์เดียวกันจะมีส่วนที่ใกล้เคียงกัน มักเป็นลักษณะตามระบบธรรมชาติที่แสดงความเกี่ยวพันทางวิวัฒนาการ แต่บางวงศ์เป็นลักษณะตามระบบเสริมธรรมชาติ เพียงอาศัยความสะดวกในการจัดเท่านั้น

ในพืชชั้นสูงอาศัยลักษณะที่ใช้ในการจัดวงศ์ จากลักษณะโครงสร้างทางลำต้น และทางการสืบพันธุ์ที่สามารถถ่ายทอดได้ ได้แก่ นิสัยการเจริญเติบโต การเรียงใบ การเกิดเพศดอกบนต้น ชนิดช่อดอก สมมาตรดอก จำนวนกลุ่มของเกสรตัวผู้ จำนวนและการเชื่อมติดกันของเกสรตัวเมีย ตำแหน่งรังไข่ ตำแหน่งไข่อ่อน ชนิดรก ชนิดผลไม้ และคัพภวิทยา

พืชบางตระกูลมีลักษณะบางประการที่บ่งชี้ชัดเจน เช่น วงศ์ทานตะวัน (Compositae) มีช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น (head, capitulum) ส่วนในวงศ์ผักชี (Umbelliferae) มีช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม (umbel) และผลแยกแล้วแตก (schizocarp) และวงศ์ก่วม (Aceraceae) มีผลแยกแล้วแตกและมีปีก (winged schizocarp) แต่ในวงศ์กุหลาบ (Rosaceae) มีผลแตกต่างไปตามวงศ์ย่อย

สิ่งมีชีวิตแต่ละตระกูลอาจมีสมาชิกมากน้อยเพียงใดก็ได้ เช่น วงศ์ทานตะวัน วงศ์กล้วยไม้ เป็นวงศ์ใหญ่ที่สุดวงศ์หนึ่งของอาณาจักรพืช มีสมาชิกประมาณ 22,000 ชนิด ส่วนวงศ์ Leitneriaceae มีสมาชิก 1 สกุล และ 1 ชนิด บางครั้งนำไปรวมไว้กับวงศ์มะยมป่า (Simaroubaceae) และในบางครั้งที่สกุลใด ๆ มีลักษณะอันแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจนกับวงศ์ที่สังกัดอยู่ ก็จะมีการแบ่งวงศ์ออกมาใหม่ เช่น วงศ์นกเขียวก้านตอง (Chloropsis) และวงศ์นกแว่นตาขาว แยกออกมาจากวงศ์นกเขียวคราม