การประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศ

(เปลี่ยนทางจาก CICA)

การประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย[4] (Conference on Interaction and Confidence-Building Measures in Asia, CICA) เป็นเวทีสนทนาระหว่างรัฐบาลเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในเอเชีย บนพื้นฐานของการยอมรับว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างสันติภาพและความมั่นคงในเอเชียและในส่วนอื่น ๆ ของโลกอย่างใกล้ชิด ประเด็นหลักของการประชุมคือความสำคัญที่แบ่งแยกไม่ได้ของความมั่นคง การริเริ่มร่วมกัน และปฏิสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของรัฐขนาดเล็กและขนาดใหญ่[5]

Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia (CICA)
ตราสัญลักษณ์ของConference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia (CICA)
ตราสัญลักษณ์
ที่ตั้งของConference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia (CICA)
สำนักเลขาธิการคาซัคสถาน อัสตานา, คาซัคสถาน
สมาชิก
  • สมาชิก 28 รัฐ[1]
  • ผู้สังเกตการณ์ 9 รัฐ[2]
  • ผู้สังเกตการณ์ 5 องค์การ[3]
ผู้นำ
• เลขาธิการ
คาซัคสถาน ไครัต ซารืยไบ
สถาปนา14 กันยายน พ.ศ. 2542
เว็บไซต์
www.s-cica.org

แนวคิดในการจัดประชุม CICA ได้รับการเสนอครั้งแรกในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยที่ 47 โดยนูร์ซุลตัน นาซาร์บายิฟ ประธานาธิบดีคาซัคสถานเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2535 และมีกระบวนการฉลองครบรอบ 25 ปีของ CICA เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560[5]

ภูมิหลัง แก้

 
ตราไปรษณียากรของคาซัคสถานในวาระการครบรอบ 15 ปีของ CICA

ข้อเสนอสำหรับการประชุม CICA ได้รับการตอบรับจากหลายประเทศในเอเชีย มีการจัดการประชุมในประเทศต่าง ๆ ที่สนใจในช่วงเวลาเจ็ดปีเพื่อหารือเกี่ยวกับรูปแบบการประชุม CICA และร่างเอกสารพื้นฐาน

การประชุมครั้งแรกของ CICA ในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2542 โดยมีประเทศสมาชิก 15 ประเทศเข้าร่วม ปฏิญญาว่าด้วยหลักการชี้นำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก CICA (The Declaration on Principles Guiding Relations between CICA Member States) ได้รับการรับรองในการประชุมครั้งนี้

การประชุมสุดยอด CICA ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2545 โดยมี 16 ประเทศสมาชิกเข้าร่วม โดยข้อบัญญัติอัลมาเตอ (Almaty Act) ซึ่งเป็นกฎบัตรของ CICA ได้รับการรับรอง แรงผลักดันสำหรับการประชุมครั้งนี้มาจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ 9/11 ในปีก่อนหน้า ดังนั้นการต่อต้านการก่อการร้ายจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการประชุมครั้งนั้นและก็ยังได้ดำเนินการผ่านการประชุมครั้งต่อ ๆ ไป[6]

ในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการนำบัญชีมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และขั้นตอนปฏิบัติของ CICA (CICA Catalogue of Confidence-Building Measures and CICA Rules of Procedures) มาใช้ ในการประชุมสุดยอด CICA ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2549 ที่ประชุมได้มีการยอมรับประเทศไทยและเกาหลีใต้เป็นสมาชิกใหม่ และจัดตั้งสำนักเลขาธิการถาวร ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2551 จอร์แดนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้รับการยอมรับเป็นสมาชิกใหม่ ในการประชุมสุดยอด CICA ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2553 ตุรกีเข้ารับตำแหน่งประธานที่ประชุม CICA ต่อจากคาซัคสถาน การประชุมสุดยอดครั้งที่ 3 ยังยอมรับอิรักและเวียดนามเป็นสมาชิกใหม่และรับรองอนุสัญญา CICA บาห์เรนและกัมพูชาได้รับการยอมรับเข้าร่วม CICA ในปี พ.ศ. 2554 บังกลาเทศและกาตาร์ได้เข้าร่วมในปี พ.ศ. 2557 ศรีลังกาในปี พ.ศ. 2561 และคูเวตในปี พ.ศ. 2565[7]

หลักการพื้นฐาน แก้

ประกอบด้วย ความเท่าเทียมกันและการเคารพในสิทธิอธิปไตยของสมาชิก การยุติความขัดแย้งอย่างสันติ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การไม่แทรกแซงกิจการภายในและเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐสมาชิก การลดอาวุธและการควบคุมอาวุธ การเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน[8]

มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ แก้

ตามข้อบัญญัติอัลมาเตอ[9] การดำเนินการตามมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือหลักในการบรรลุเป้าหมายของ CICA ในบัญชีการดำเนินการแบ่งออกเป็นห้าหมวดหมู่ได้แก่ มิติทางการทหารและการเมือง การต่อสู้กับความท้าทายและภัยคุกคามใหม่ ๆ มิติทางเศรษฐกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อม และมิติด้านมนุษยธรรม ประเทศสมาชิกของ CICA สามารถใช้มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจโดยสมัครใจบนพื้นฐานในระดับทวิภาคีหรือพหุภาคี

วาระการประชุม แก้

การประชุมสุดยอด เป็นองค์กรบริหารสูงสุดของ CICA การประชุมสุดยอดจะจัดขึ้นทุก ๆ สี่ปี[10] เพื่อดำเนินการปรึกษาหารือ ประเมินความคืบหน้า และจัดลำดับความสำคัญของหัวข้อการประชุม

การประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จัดขึ้นทุก ๆ สี่ปี (สองปีหลังจากการประชุมสุดยอด) เป็นเวทีหลักสำหรับการปรึกษาหารือและพิจารณากิจกรรมทุกประเด็นของ CICA

การประชุมของคณะกรรมการเจ้าหน้าที่อาวุโส จะเรียกประชุมตามความจำเป็นแต่อย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะหลังจากมีมติในที่ประชุมระดับรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นของที่ประชุมในปัจจุบัน กำกับดูแลกิจกรรมของคณะทำงานพิเศษ และประสานงานการประชุมระดับอื่น ๆ

การประชุมของคณะทำงานเฉพาะกิจ จะศึกษาประเด็นเฉพาะ ดำเนินงานที่ได้รับมอบหมาย และส่งรายงานไปยังคณะกรรมการเจ้าหน้าที่อาวุโส

การประชุมของผู้เชี่ยวชาญ จะพัฒนาร่างแนวคิดและแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามมาตรการสร้างความเชื่อมั่นเฉพาะของ CICA ตามความจำเป็นโดยการตัดสินใจของรัฐสมาชิก หรือประสานงานมาตรการสร้างความเชื่อมั่นบางอย่างร่วมกัน

การประชุมเฉพาะทาง โดยการมีส่วนร่วมของรัฐมนตรีอื่นหรือหน่วยงานและองค์กรระดับชาติที่มีอำนาจของประเทศสมาชิก ประชุมตามคำแนะนำของคณะกรรมการเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะและปัญหาทางเทคนิค

สมาชิกภาพ แก้

รัฐสมาชิก[1] (28)
รัฐผู้สังเกตการณ์[2] (9)
องค์การผู้สังเกตการณ์[3] (5)
รัฐในเอเชียที่ไม่ใช่สมาชิกและไม่ใช่ผู้สังเกตการณ์ (17)

ประธานที่ประชุม แก้

เลขาธิการ แก้

เลขาธิการ (ผู้อำนวยการบริหาร จนถึงตุลาคม 2565) ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักเลขาธิการ ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[14] มีระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 4 ปี

ผู้อำนวยการบริหาร:

  • จานดอส อาซานอฟ [ru] (Жандос Ануарович Асанов, พ.ศ. 2549–2551)
  • ดุลัต บาคิเชฟ (Бакишев Дулат Хангереевич, พ.ศ. 2551–2553)
  • ชินาร์ อัลเดมีร์ (Mehmet Çınar Aldemir, พ.ศ. 2553–2557)
  • กง เจี้ยนเหว่ย์ (宫建伟, พ.ศ. 2557–2561)
  • ฮาบิบุลโล มีร์โซโซดา (Хабибулло Мирзозода, พ.ศ. 2561–2563)
  • ไครัต ซารืยไบ [ru] (Кайрат Шораевич Сарыбай, พ.ศ. 2563–2565)

เลขาธิการ:

  • ไครัต ซารืยไบ (พ.ศ. 2565– )

องค์การพันธมิตร แก้

ประกอบด้วย สมัชชาประชาชนคาซัคสถาน (АНК), องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ОЭС), องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO), โครงสร้างต่อต้านการก่อการร้ายระดับภูมิภาคขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (RATS SCO) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)[15]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "Official web-sites of the Ministries of Foreign Affairs of the CICA Member States". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 พฤษภาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2021.
  2. 2.0 2.1 "Observer States" (ภาษาอังกฤษ). CICA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 พฤษภาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2021.
  3. 3.0 3.1 Организации-наблюдатели [Observer Organizations] (ภาษารัสเซีย). CICA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 พฤษภาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2021.
  4. "การประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย". กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ. ธันวาคม 2013.
  5. 5.0 5.1 "Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia (CICA): what's in the name?". astanatimes.com.
  6. "What is CICA (and Why Does China Care About It)?". thediplomat.com.
  7. "Qatar, Bangladesh join CICA". People's Daily. 20 พฤษภาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2014.
  8. АӨСШК Сыртқы істер министрлерінің алтыншы кездесуі [The sixth meeting of the Ministers of Foreign Affairs of the CSTO]. Embassy of the Republic of Kazakhstan in the Kingdom of the Netherlands.
  9. Официальные документы СВМДА [CICA official documents]. CICA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 พฤษภาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2021.
  10. Wu Zurong (26 พฤษภาคม 2014). "CICA: Success and Challenge". China-US Focus.
  11. Amreyev, Baghdad. "Kazakhstan launches global initiative". Hurriyet Daily News. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2010.
  12. Kılıç, Gülay. "What can Turkey get out of CICA?". Hurriyet Daily News. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2010.
  13. "Kazakhstan takes over CICA Chairmanship for 2020-2022". KAZINFORM. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2020.
  14. "Secretariat". CICA. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2022.
  15. Партнерские организации [Partner organizations]. CICA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 พฤษภาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้