เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร)

มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ นามเดิม หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร (18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 – 1 มกราคม พ.ศ. 2466) เป็นขุนนางชาวไทย เคยรับราชการในตำแหน่งเช่น ผู้บัญชาการกรมม้าและกรมมหรสพ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ

เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์
(หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร)
เสนาบดีกระทรวงเกษตรธิการ
ดำรงตำแหน่ง
2 กันยายน พ.ศ. 2442 – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2452
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
ถัดไปพระยาวงษานุประพัทธ์
เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
ดำรงตำแหน่ง
19 กันยายน พ.ศ. 2441 – 1 กันยายน พ.ศ. 2442
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา
ถัดไปพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
หม่อมราชวงศ์หลาน

18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2395
เสียชีวิต1 มกราคม พ.ศ. 2466 (70 ปี)
คู่สมรส27 คน
บุตร32 คนรวมหม่อมหลวงขาบ
บุพการี
อาชีพขุนนาง
วิชาชีพข้าราชการพลเรือน

ประวัติ แก้

เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เป็นโอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ กับหม่อมสุด กุญชร ณ อยุธยา[1]เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือนอ้าย ขึ้น 7 ค่ำ ปีชวด ตรงกับวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2395 มีพี่น้องต่างมารดาคือ หม่อมราชวงศ์กระจ่าง เป็นพี่สาว และ หม่อมราชวงศ์กระจัด เป็นน้องสาว

การรับราชการ แก้

เป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 4 แก้

เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เมื่ออายุได้ 13 ปี พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ จัดงานโกนจุกขึ้นที่วังบ้านหม้อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานน้ำสังข์และทรงตัดจุก พระราชทานทองเหรียญเป็นของขวัญ แล้วถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด 10 ตำลึง พออายุได้ 14 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรพชาเป็นสามเณรนาคหลวงในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้พระราชทานบริขารเท่าหม่อมเจ้า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อครั้งยังเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์เป็นพระอุปัชฌาย์ หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิศธาดา (สีขเรศ วุฑฺฒิสฺสโร) ให้ศีล แล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ในสำนักสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน)[2]

รับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 แก้

เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ รับราชการเมื่อปี พ.ศ. 2412 ได้เป็นมหาดเล็กสารถีขับรถพระที่นั่ง ต่อมา พ.ศ. 2413 ได้เป็นนายกวดหุ้มแพรมหาดเล็กเวรฤทธิ์ ต่อมา พ.ศ. 2414 เป็นจ่ายงเวรศักดิ์ รับพระราชทานเบี้ยหวัด 2 ชั่ง แล้วได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด 2 ชั่ง 10 ตำลึง ต่อมา พ.ศ. 2416 ได้รับ 3 ชั่ง เงินเดือน ๆ ละ 10 ตำลึง แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงอุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้รับพระราชทานบริขารเท่าหม่อมเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมพระเป็นพระอุปัชฌาย์ หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิศธาดา (สีขเรศ วุฑฺฒิสฺสโร) กับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เมื่อครั้งเป็นพระสาสนโสภณที่พระธรรมวโรดม เป็นคู่สวด แล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม[2]

ต่อมา พ.ศ. 2421 ได้เป็น หลวงเดชนายเวรมหาดเล็กเวรเดช รับพระราชทานเบี้ยหวัด 3 ชั่ง 10 ตำลึง ต่อมา พ.ศ. 2422 ได้เป็น เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี หัวหมื่นมหาดเล็กเวรศักดิ์ ถือศักดินา 1,000[3]ได้หีบทอง ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด ๔ ชั่ง ต่อมา พ.ศ. 2424 พระองค์เจ้าสิงหนาทฯ สิ้นพระชนม์ ได้ว่าการกรมมหรสพ กรมหุ่น กรมรถ กรมรถม้า แต่ราชการกรมรถม้านั้น ตระกูลนี้ได้ว่ามาแต่รัชกาลที่ 2 ติดเนื่องกัน 4 ชั่วคน ไม่มีตระกูลอื่นแทรกเลย แล้วได้ตรามงกุฏชั้น 4 ต่อมา 2 หรือ 3 ปี ได้โต๊ะทอง กาทอง เป็นองคมนตรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2432 เป็นจางวางมหาดเล็ก ได้พานทองกลม ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด 8 ชั่ง ต่อมาได้ 10 ชั่ง เงินเดือน ๆ ละ 10 ตำลึง[2] ถึง พ.ศ. 2432 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์" จางวางมหาดเล็ก ถือศักดินา 3,000[4]

พ.ศ. 2435 ได้รับพานทองเป็นครั้งที่ 2 เป็นพระอภิบาล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมา พ.ศ. 2436 ได้เป็นข้าหลวงไปปักปันเขตแดนเมืองสงขลากับเมืองพัทลุง ต่อมาเป็นพระยายืนชิงช้า แล้วได้ว่าราชการกรมโขนหุ่น กรมรำโคม กรมพิณพาทย์

เป็นสภานายกรัฐมนตรี แก้

เมื่อ พ.ศ. 2435 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกระทรวงมุรธาธรขึ้นเป็นกระทรวง 1 ใน 12 กระทรวง สำหรับกระทรวงมุรธาธรนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมตำแหน่งสภานายกรัฐมนตรีเข้าอยู่ในกระทรวงมุรธาธรด้วย แต่เนื่องจากต่อมากระทรวงมุรธาธรมีราชการน้อย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบกระทรวงมุรธาธรเสียเมื่อ พ.ศ. 2439 ให้คงมีแต่สภานายกรัฐมนตรีบังคับบัญชาราชการอยู่ทั่วไปตามหน้าที่เสนาบดี กระทรวงมุรธาธรได้เคยบังคับบัญชามาก่อน และให้สภานายกรัฐมนตรีขึ้นอยู่ในกรมราชเลขานุการและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ซึ่งเวลานั้นยังเป็นพระยาอยู่ ดำรงตำแหน่งสภานายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2439[5]

เป็นอธิบดีกรมสุขาภิบาล แก้

เมื่อ พ.ศ. 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เป็นอธิบดีกรมสุขาภิบาล ได้เงินเดือน ๆ ละ 1,000 บาท ต่อมาพ้นจากตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2450 เพราะเนื่องด้วยสุขภาพไม่แข็งแรง ไม่สามารถทำราชการได้ดีอย่างแต่ก่อน[6][7]

เป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ แก้

กระทรวงโยธาธิการ เมื่อแรกตั้งเป็นกระทรวง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการเป็นพระองค์แรก เพราะพระองค์ทรงเป็นอธิบดีกรมโยธาธิการอยู่แต่เดิม ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นได้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการเป็นพระองค์ที่สอง ต่อมากรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เสด็จไปเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ประจำ ณ เมืองอุบลราชธานี เวลานั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ได้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการต่อมาเป็นพระองค์ที่สาม ต่อมาเมื่อย้ายกรมขุนทิพยลาภพฤฒิธาดาไปเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ มาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการเมื่อ พ.ศ. 2441 ต่อมาพ้นจากตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2442 เพื่อไปดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ[8]

เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ แก้

ก่อนตั้งกระทรวงเสนาบดีในรัชกาลที่ 5 นั้น หน้าที่กระทรวงเกษตราธิการอยู่ในจตุสดมภ์กรมนา เมื่อตั้งเป็นกระทรวงเสนาบดีในรัชกาลที่ 5 นั้น เรียกว่า กระทรวงเกษตรพาณิชยการ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เวลานั้นเป็นพระยาได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตร์พาณิชยการเป็นคนแรก ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายท่านไปเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) มาเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตร์พาณิชยการ เป็นคนที่สอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2439 ท่านได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรงเกษตรพาณิชยการ แล้วยกราชการในกระทรวงพาณิชยการไปรวมกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติคราวหนึ่ง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกตั้งเป็นกระทรวงขึ้นใหม่ เรียกว่ากระทรวงเกษตราธิการ มีเสนาบดีบังคับบัญชาการคือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการเป็นคนแรก เมื่อวันที่ 2 กันยายน ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) และพ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) เพราะเนื่องด้วยสุขภาพไม่แข็งแรง ไม่สามารถทำราชการได้ดีอย่างแต่ก่อน[9]

เป็นเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ แก้

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 ขณะเมื่อดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการอยู่นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ขึ้นเป็นเจ้าพระยา ดังประกาศพระบรมราชโองการที่ว่า

“ทรงพระราชดำริว่า พระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์ ได้รับราชการในกรมมหาดเล็ก ได้รับตำแหน่งโดยลำดับจนถึง เป็นจางวาง และเป็นผู้บัญชาการกรมม้าและกรมมหรสพ ราชการในระหว่างนั้นได้มีหน้าที่ต่าง ๆ อันเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยสนิทเป็นอันมาก ได้เป็นกรรมการฎีกาและกรรมการเรื่องที่นา และได้รับราชการไปเจริญทางพระราชไมตรีกรุงรัสเซีย พร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ที่เมืองลิวาเดีย และได้เป็นข้าหลวงไปปักปันเขตแดนเมืองพัทลุง เมืองสงขลา แล้วได้รับตำแหน่งพระอภิบาลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ภายหลังได้เป็นอุปนายกรัฐมนตรีแล้วเลื่อนขึ้นเป็นสภานายก ครั้นเมื่อเริ่มจัดการกรมสุขาภิบาลก็ได้รับตำแหน่งเป็นอธิบดีในกรมนั้น แล้วเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ภายหลังจึงย้ายมาเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ เป็นผู้ได้สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัยตั้งแต่เยาว์มา ประกอบด้วยสติปัญญาสามารถมีปฏิภาณปรีชาว่องไวในราชกิจทั้งปวง เมื่อได้รับราชการในหน้าที่ใดก็ได้ตั้งใจฉลองพระเดชพระคุณ โดยความเอื้อเฟื้อมิได้ย่อหย่อน ได้ดำรงราชการในหน้าที่เสนาบดีมาจนบัดนี้ สมควรที่จะเลื่อนยศบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นเจ้าพระยาผู้หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้สถาปนาพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์ ขึ้นเป็นเจ้าพระยา มีสมญาจารึกในสุพรรณบัฏว่า เจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์ บรมขัติยราชสวามิภักดิ์ สมบูรณศักดิสุขุมชาติ มธุรวาทวิจิตร สรรพราชกิจพิจารณ์ มโหฬารคุญสมบัติ กัลยาณวัตรมหามาตยาธิบดี พุทธาทิศรีรัตนธาดา เมตตาชวาธยาศรัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ นาคนาม ดำรงศักดินา ๑๐๐๐๐ จงเจริญทฤฆชนมายุพรรณ สุขสิริสวัสดิพัฒนมงคล ธนสารสมบัติ บริวารสมบูรณ์ทุกประการ[10]

ว่าราชการกรมมหรสพ กรมโขน กรมพิณพาทย์ กรมรำโคม และกรมหุ่น แก้

นอกจากการรับราชการในตำแหน่งทั่วไปแล้ว เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ยังมีหน้าที่ในการควบคุมกรมที่เกี่ยวกับการแสดงต่าง ๆ ถึง 5 ได้แก่ กรมมหรสพ กรมโขน กรมพิณพาทย์ กรมรำโคม และกรมหุ่น และด้วยในสมัยนั้นมีต่างชาติเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศไทยอยู่เป็นประจำ จึงมีหน้าที่ในการจัดการแสดงสำหรับต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ในการนี้ท่านจึงได้ทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ร่วมเป็นที่ปรึกษาสำหรับจัดการแสดงต้อนรับพระราชอาคันตุกะ โดยพยายามคิดการแสดงใหม่ขึ้น มีการบรรเลงคอนเสิร์ต การแสดงละครดึกดำบรรพ์ โดยเฉพาะละครดึกดำบรรพ์นอกจากจะเล่นสำหรับต้อนรับพระราชอาคันตุกะแล้ว ท่านยังได้ลงทุนทำเป็นกิจการ เปิดการแสดงภายในวังบ้านหม้อของท่านเอง กิจการของท่านดำเนินไปด้วยดีเป็นระยะเวลา 10 ปี ในภายหลังท่านเกิดอาการป่วยจนต้องออกจากราชการ กิจการละครดึกดำบรรพ์และการแสดงอื่น ๆ ที่ท่านดูแลจึงยกเลิกไปหมด

ด้วยราชสกุลของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ท่านสืบเชื้อสายมาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พระราชปัยกา) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ (พระอัยกา) และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ (พระบิดา) ทุกพระองค์ล้วนมีความสนใจในการแสดงละครฟ้อนรำเป็นอย่างมาก มีการจัดตั้งคณะละครขึ้นเล่นและเป็นมรดกตกทอดสืบมาถึงเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ตลอดจนเจ้าจอมมารดาและหม่อม (ภรรยา) ในราชสกุลต่างก็มีความสามารถในการละครฟ้อนรำและดนตรีขับร้อง จึงทำให้ราชสกุลกุญชรเป็นราชสกุลที่มีความสามารถในการละครฟ้อนรำและดนตรีขับร้องเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ มีคณะละครที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ และได้รับราชการในการควบคุมกรมมหรสพหลวง จึงทำให้คณะละครและกรมมหรสพซึ่งท่านเป็นผู้ควบคุมอยู่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีนักดนตรีนักร้องและนักแสดงที่มีชื่อเสียงหลายคน นักดนตรี เช่น พระประดิษฐไพเราะ (ตาด) หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี) หลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตนะวิลัย) พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ฯลฯ นักร้อง เช่น หม่อมเจริญ หม่อมมาลัย หม่อมจันทร์ แม่แป้น วัชโรบล แม่แจ๋ว แม่ชม แม่ชื่น ฯลฯ นักแสดง เช่น หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา คุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต) หม่อมต่วน (ศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก) ฯลฯ[11]

ลาออกจากราชการและถึงอสัญกรรม แก้

ในบั้นปลายชีวิตของท่าน เริ่มป่วยทุพพลภาพ จึงไปรักษาตัวในตำบลต่าง ๆ พักอยู่ที่เมืองชลบุรี สำนักวัดป่า แล้วมาอยู่ที่บ้านคลองเตย จังหวัดนครเขื่อนขันธ์ ครั้น ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) อาการป่วยไม่ทุเลาลง เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ จึงกราบบังคมขอลาออกจากราชการ รับพระราชทานเบี้ยบำนาญเดือนละ 1,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2465 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2466) เวลา 09.25 น. เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ได้ถึงอสัญกรรมลงด้วยโรคหัวใจพิการ ที่บ้านคลองเตย สิริอายุรวมได้ 70 ปีเศษ 1 เดือน 1 วัน ถึงเวลา 21.00 น. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จแทนพระองค์มาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ สวมลอมพอกโหมดพระราชทาน แล้วเจ้าพนักงานยกลองในตั้งบนแท่น 2 ชั้น ประกอบโกศมณฑป มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม 15 วัน[12]

ภรรยาและบุตรธิดา แก้

เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ มีภรรยาและบุตรธิดาหลายคนดังนี้

  1. คุณนายช่วง “เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ได้แต่งงานกับหญิงสาวชื่อช่วง มีเชื้อสายจีน ในบ้านมักจะเล่ากันว่า “เป็นลูกสาวเจ้าสัวโรงกะทะ” คนในบ้านเรียกกันอย่างยกย่องว่า คุณนายช่วง ภรรยาที่แต่งงานนี้ มีบิดามารดาเป็นคนมั่งคั่ง หม่อมสุดมารดาซึ่งมีเชื้อสายจีน เป็นผู้ไปสู่ขอมาให้ลูกชายคนเดียวของท่าน โดยที่เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ มิได้มีความรักแลปรารถนา เมื่อแต่งงานแล้วก็ไม่ค่อยไปเยี่ยมเยือน ต้องให้หม่อมสุดเป็นผู้เตือนอยู่บ่อยๆ คุณนายช่วงเป็นหญิงที่ไม่ค่อยจะมีโชคดีนัก มีลูกหญิงกับเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ คนหนึ่ง แล้วตัวท่านกับลูกท่านก็เสียชีวิตไปในเวลาใกล้เคียงกัน”
  2. หม่อมเผื่อน กุญชร ณ อยุธยา เชื้อสายราชินิกุล ณ บางช้าง มีบุตรธิดา 5 คน คือ
    1. หม่อมหลวงจรูญ กุญชร
    2. หม่อมหลวงเจริญ กุญชร
    3. หม่อมหลวงอึ่งอ่าง กุญชร
    4. พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมหลวงวราห์ กุญชร) (19 ธันวาคม พ.ศ. 2421 – 14 มีนาคม พ.ศ. 2500)[13] มีภรรยาและบุตรธิดาดังนี้
      1. คุณหญิงประยงค์ เทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (สกุลเดิม ไกรฤกษ์) มีธิดา 2 คน คือ
        1. ฉันทนา ศรีศักดิธำรง
        2. นฤมล อัศวฤทธิ์
      2. หม่อมราชวงศ์สุภาธร นพวงศ์ มีบุตรธิดา 3 คน คือ
        1. ศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา
        2. พงษ์สุลี กุญชร ณ อยุธยา
        3. หม่อมอนุวงศ์ จิรประวัติ ณ อยุธยา (หม่อมของหม่อมเจ้านิทัศนาธร จิรประวัติ)
      3. นิน่า หรือ น้อยหน่า (ถึงแก่กรรม) แต่ไม่มีบุตรธิดา
      4. นวล มีธิดา 1 คน คือ
        1. กุญชรี กุญชร ณ อยุธยา
      5. สำเนียง มีธิดา 1 คน คือ
        1. อัมพวัน สุริยกุล ณ อุยธยา[13]
    5. หม่อมหลวงจิตรกุล เพชรดา (หญิง) ได้สมรสกับ มหาอำมาตย์โท พระยาเพชรดา (สะอาด ณ ป้อมเพชร์)[13]
  3. หม่อมนวล กุญชร ณ อยุธยา (ไม่ทราบปีที่เกิด – พ.ศ. 2458) (ปีที่ถึงแก่กรรมคำนวนจากปีที่ หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ กำพร้ามารดา คือตั้งแต่อายุ 4 ปี หรือปี พ.ศ. 2458) หม่อมนวล เป็นนักแสดงตัวนางของวังบ้านหม้อ และเป็นครูของ หลวงไพจิตรนันทการ (ทองแล่ง สุวรรณภารต) มีธิดา 1 คน คือ
    1. หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ (13 ธันวาคม พ.ศ. 2454 – 7 มิถุนายน พ.ศ. 2525) ได้สมรสกับ นายแพทย์ชม เทพยสุวรรณ แต่ไม่มีบุตรและธิดา[14]
  4. หม่อมจันทร์ กุญชร ณ อยุธยา (พ.ศ. 2424 – ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม) น้องสาว หม่อมเนย ซึ่งเป็นหม่อมของ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เช่นกัน หม่อมจันทร์ ได้ฝึกหัดการรำกับ หม่อมวัน และ หม่อมเข็ม ตั้งแต่ยังเล็ก โดยฝึกหัดเป็นตัวพระ รวมทั้งต่อเพลงร้องสำหรับการแสดงละครในและละครดึกดำบรรพ์ จนได้เป็นนักร้องและนักแสดงคนสำคัญของวังบ้านหม้อ มีฝีมือทางด้านการแสดงตัวคาวีเป็นที่ดีเยี่ยม และมีผลงานการบันทึกเสียงมากมาย ภายหลังได้ออกจากวังบ้านหม้อไปอยู่ในราชสำนักของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้วย้ายมาเป็นนักร้องในกรมมหรสพ ต่อมาได้ใช้ชีวิตร่วมกับ ขุนนิมิตราชฐาน[15] มีบุตร 1 คนคือ
    1. พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร (10 ตุลาคม พ.ศ. 2448 – 19 กันยายน พ.ศ. 2529)[16] มีภรรยาและบุตรธิดาดังนี้
      1. เทียบ ฤทธาคนี ธิดา นายพันโท พระยาทัพพสาธก์เสนา (นวม ฤทธาคนี) กับ คุณหญิงเนย มีบุตรธิดา 6 คน คือ
        1. ทวีวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา
        2. พันตำรวจเอก (พิเศษ) วรวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา
        3. อุรัชช์ ลอเรนส์
        4. พลโท วิวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา
        5. กนิษฐา วิลสัน
        6. เทียมแข จรูญโรจน์ ณ อยุธยา[17]
      2. สินีนาฏ โพธิเวช มีธิดา 3 คน คือ
        1. เตือนใจ ดีเทศน์
        2. เพ็ญแข กุญชร ณ อยุธยา
        3. พิมพ์แข กุญชร ณ อยุธยา
  5. หม่อมมาลัย กุญชร ณ อยุธยา (พ.ศ. 2430 – 2465) เป็นนักแสดงและนักร้องเสียงดีของวังบ้านหม้อ มีผลงานการบันทึกเสียงมากมาย เมื่อแสดงละครดึกดำบรรพ์มักได้รับเลือกแสดงเป็นตัวเอกเสมอ ได้ฝึกหัดการรำกับ หม่อมเข็ม หัดร้องเพลงกับ หม่อมเปรม หม่อมใน พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ ต่อเพลงร้องละครกับ สิน สินธุนาคร รวมทั้งได้ต่อเพลงร้องกับ หม่อมเนย และ หม่อมเจริญ ด้วย ต่อมาหนีออกจากวังบ้านหม้อ แล้วไปชอบพอกับนายห้างฝรั่งชื่อ “ริกันตี” จึงกลับไปวังบ้านหม้อเพื่อขอหนังสือหย่า แต่ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ไม่ยินยอม จากนั้นได้เลือกใช้ชีวิตคู่ร่วมกับนายทหารเรือผู้หนึ่งจนมีธิดา 1 คน แต่ญาติฝ่ายชายรังเกียจจึงจัดให้แยกทางกัน ภายหลัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย จัดให้มีคณะละครที่วังเพชรบูรณ์ ทรงทราบว่า หม่อมมาลัย เป็นผู้มีความรู้ความสามารถทั้งกระบวนการร้องและรำจึงให้เข้ามาเป็นครูสอน ในบั้นปลายชีวิตได้ชีวิตร่วมกับ เจริญ ศัพท์โสภณ นักระนาดฝีมือดี หัวหน้านักดนตรีของวังเพชรบูรณ์ แต่ไม่มีบุตรร่วมกัน และป่วยตายด้วยโรควัณโรคที่วังเพชรบูรณ์[15] มีธิดา 1 คน คือ
    1. หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ (17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 – 17 มกราคม พ.ศ. 2506) เจ้าของนามปากกาดอกไม้สด ได้สมรสกับ ศาสตราจารย์ สุกิจ นิมมานเหมินท์ แต่ไม่มีบุตรและธิดา
  6. หม่อมเคลือบ กุญชร ณ อยุธยา เป็นนักร้องของวังบ้านหม้อ ต่อเพลงจาก หม่อมศิลา ใน พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ ลีลาการขับร้องติดตลกคล้ายแหล่เทศน์ของผู้ชาย หม่อมเคลือบ มีธิดา 1 คน คือ
    1. หม่อมหลวงแถม จักรพันธ์ุ ได้สมรสกับ หม่อมเจ้าแววจักร จักรพันธุ์ มีธิดาบุญธรรมคือ แพทย์หญิงระทวย วีระแกล้ว
  7. หม่อมเพื่อน กุญชร ณ อยุธยา เป็นธิดาของ จมื่นราชนาคา (แย้ม) บุตร พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) กับ ป้อม บุตรี พระยามหาอรรคนิกร (เม่น)[18] มีบุตร 1 คน คือ
    1. หม่อมหลวงประยูร กุญชร ถึงแก่กรรม ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อคราวตามเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2440[13]
  8. หม่อมวัน กุญชร ณ อยุธยา ในหนังสืองานศพ หม่อมหลวงวงษ์ กมลาสน์ เขียนไว้ว่า “วรรณ” เป็นตัวละครรุ่นใหญ่ของ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ “ส่วนครูนางนั้น ก็คือหม่อมเลื่อน และหม่อมวัน มีชื่อเสียงว่าเป็นตัวบุษบาที่สวยมากทั้งในขบวนรำและในรูปโฉมทั้งสองคน ”[19] หม่อมวัน มีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงคือ ขุนวาดพิศวง (แถม ศิลปชีวิน) มีบุตรธิดา 2 คน คือ
    1. พระยาวิชิตชลธาร (หม่อมหลวงเวศร์ กุญชร) (27 ธันวาคม พ.ศ. 2431 – 20 ธันวาคม พ.ศ. 2475) ได้สมรสกับ คุณหญิงผิว วิชิตชลธาร[20] มีบุตรธิดาร่วมกัน 5 คน คือ
      1. อาชว์ กุญชร ณ อยุธยา
      2. ศาสตราจารย์ พลตรี กัลย์ กุญชร ณ อยุธยา
      3. พันเอกพิเศษ จินต์ กุญชร ณ อยุธยา
      4. เกศินี เจริญฤทธิศาสตร์
      5. มันฑน ดิศกุล ณ อยุธยา
      6. สุมน กุญชร ณ อยุธยา[21]
    2. หม่อมหลวงวงษ์ กมลาสน์ (17 กันยายน พ.ศ. 2437 – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2473) เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ยกให้เป็นบุตรของ หม่อมเลื่อน หม่อมท่านหนึ่งของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเมตตาประดุจพระธิดามาแต่เล็ก โปรดให้เรียกพระองค์ท่านว่า “เสด็จพ่อ” ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอ หม่อมหลวงวงษ์ ให้แก่ หม่อมเจ้าศุขปรารภ กมลาสน์ มีบุตรชายเพียงคนเดียวคือ หม่อมราชวงศ์ยงสุข กมลาสน์[22]
  9. หม่อมคร้าม กุญชร ณ อยุธยา เดิมเป็นหม่อมใน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ ต่อมาเมื่อสิ้นนพระชนม์ได้เป็นหม่อมของ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์“ผู้ที่มีชื่อเสียงในคณะละครขงพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ ก็มี หม่อมเอม เป็นต้นบท และมีหม่อมชั้นเล็กสองคนที่มีชื่อเสียงปรากฏต่อมาเป็นระยะยาวนานคือ หม่อมเข็ม หม่อมคร้าม คุณหญิงเทศได้เข้าเป็นลูกศิษย์ของหม่อมคร้าม ซึ่งเป็นครูที่สอนการรำได้ทุกทาง แต่ที่มีชื่อเสียงนั้นก็คือ เป็นครูยักษ์ ..... หม่อมคร้ามและหม่อมเข็มต่อมาได้เป็นตัวละครสำคัญในคณะละครของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ รุ่นใหญ่”[19] นอกจากนี้ยังมีความสามารถทางขับร้องด้วย ได้ต่อเพลงจาก หม่อมศิลา ใน พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ หม่อมคร้าม มีบุตรกับ 1 คน คือ
    1. หม่อมหลวงคอย กุญชร (ชาย)
  10. หม่อมเจริญ กุญชร ณ อยุธยา (วันจันทร์ เดือน 8 ปีขวด พ.ศ. 2419 – 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2498) นักร้องเสียงดีของวังบ้านหม้อ มีผลงานการบันทึกเสียงไว้มากมาย ภายหลังได้ออกจากวังบ้านหม้อไปใช้ชีวิตร่วมกับ จางวางทั่ว พาทยโกศล มีธิดา 2 คนคือ
    1. หม่อมหลวงเล็ก กุญชร (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2439 – 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2505) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอ หม่อมหลวงเล็ก จาก พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมหลวงวราห์ กุญชร) ผู้เป็นพี่ชาย ให้สมรสกับ พระยาราชมานู (ถั่ว อัศวเสนา) มีบุตรธิดาร่วมกัน 3 คน และภายหลังเมื่อพระยาราชมานูถึงแก่กรรม ได้สมรสกับ เพี้ยน โล่ห์สุวรรณ มีธิดาร่วมกัน 1 คน[23]
    2. ท่านผู้หญิงแฉล้ม กุญชร (หม่อมหลวงแฉล้ม กุญชร) (20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 – 4 กันยายน พ.ศ. 2538)[24]
  11. หม่อมแจ่ม กุญชร ณ อยุธยา (พ.ศ. 2411 – 2482)[25] “เป็นญาติกับเจ้าจอมมารดาศิลา นับว่าเป็นเชื้อสาย ราชินีกูลบางช้าง”[26] และ “หม่อมแจ่ม เป็นนักร้องคนหนึ่ง เป็นคนมีความจำแม่นยำ และชอบในทางเพลงที่เรียกว่า เพลงภาษาคือเพลงที่ดัดแปลงมาจากทำนองแปลก ๆ ที่เป็นเพลง “ลาว” “เขมร” “ญวน” “จีน” ซึ่งพระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) กับ พระเสนาะดุริยางค์ (ทองดี) ช่วยกันปรับปรุง ในความควบคุมของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯรานุวัดติวงศ์ หม่อมแจ่มจึงมักรับบทที่ต้องร้องเพลงที่แสดงความรู้สึก และรำพร้อมไปกันได้อย่างว่องไว เช่นเป็นท้าวสามล ท้าวเสนากุฏ ล้วนแต่เป็นตัวที่ต้องแสดงบททำให้ขบขัน”[26] มีธิดา 1 คน คือ
    1. หม่อมหลวงสำลี อิศรพงศ์พิพัฒน์ (20 กันยายน พ.ศ. 2445 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2516) ได้สมรสกับ พระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมหลวงศิริ อิศรเสนา) มีบุตร 3 คน คือ
      1. พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา
      2. นุรักษ อิศรเสนา ณ อยุธยา
      3. นัดดา อิศรเสนา ณ อยุธยา[26]
  12. หม่อมบัว กุญชร ณ อยุธยา มีบุตร 1 คน คือ
    1. หลวงวัยวุฒิปรีชา (หม่อมหลวงไวยวัฒน์ กุญชร) (3 มิถุนายน พ.ศ. 2439 – 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499)[27] มีภรรยาและบุตรธิดา ดังนี้
    2. เชื้อ โรจนประดิษฐ์ [ธิดาพระยาวรุณฤทธีศรีสมุทปราการ (แช่ม โรจนประดิษฐ์)] มีบุตรธิดา 2 คน คือ
      1. ศุกรวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา
      2. ศิริวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา
    3. ชิน โรจนประดิษฐ์ มีบุตร 1 คน คือ
      1. ปิยวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา
    4. หม่อมหลวงพัทรจิตร สุทัศน์ มีบุตร 2 คน
      1. จิราวุธ กุญชร ณ อยุธยา
      2. วิทยาวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา[27]
  13. หม่อมเนย กุญชร ณ อยุธยา พี่สาว หม่อมจันทร์ กุญชร ณ อยุธยา (หม่อมของ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เช่นกัน) หม่อมเนย มีความรู้ความสามารถทั้งกระบวนการร้องและกระบวนการรำ ทั้งที่อ่านหนังสือไม่ออก แต่มีความจำดี สามารถจำบทร้องได้อย่างแม่นยำ เมื่อมีบุตรธิดาแล้วจึงเลิกแสดงละครและขับร้อง หม่อมเนย เป็นผู้มีอุปนิสัยดีเป็นที่เคารพนับถือของบรรดาลูกของ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ทุกคน[15] หม่อมเนย มีบุตรธิดา 3 คน คือ
    1. หม่อมหลวงปาด กุญชร
    2. หม่อมหลวงแขก กุญชร (พ.ศ. 2433 – 2477)[28] เคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงพิจารณ์นนทิศาสตร์
    3. หม่อมหลวงไข่ กุญชร
  14. หม่อมแช่ม กุญชร ณ อยุธยา เป็นหม่อมรุ่นใหญ่ของ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ มีบุตรกับ 1 คน คือ
    1. พระยาอาทรธุรศิลป์ (หม่อมหลวงช่วง กุญชร)(2 มีนาคม พ.ศ. 2417 – 29 กันยายน พ.ศ. 2473) เป็นบุตรชายคนแรกของ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ได้สมรสกับ ชม หุตะสิงห์ พี่สาวของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) มีบุตรธิดาร่วมกัน 3 คน
      1. คุณหญิงเชย กฤตราชทรงสวัสดิ์
      2. วิชิต กุญชร ณ อยุธยา
      3. วิเชียร กุญชร ณ อยุธยา[29]
  15. หม่อมพริ้ง (ไม่ทราบวันเดือนปีที่เกิดและถึงแก่กรรม) มีบุตร 1 คน คือ
    1. ร้อยโท หม่อมหลวงพร้อม กุญชร ได้สมรสกับ ทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา มีบุตร 1 คน คือ พลอากาศตรี กงทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา[30]
  16. หม่อมลมัย ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “คุณหญิงเทศตั้งแต่เริ่มฝึกหัดละคร ก็มีท่วงทีว่าจะเป็นตัวเอก เป็นลูกศิษย์คนสำคัญของหม่อมคร้าม ได้ฝึกหัดเป็นยักษ์จนชำนิชำนาญ เมื่อเป็นสาวรุ่นอยู่มักจะแสดงเป็นตัวรามสูรร่วมกันกับหม่อมละมัย กุญชร ณ อยุธยา ซึ่งเป็นหม่อมที่ยังมีชีวิตอยู่คนหนึ่งของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ในขณะนี้ และหม่อมต่วน ผู้ซึ่งได้มาร่วมงานกับคุณหญิงเทศ ในปั้นปลายของชีวิตในกรมศิลปากร หม่อมละมัยเป็นตัวอรชุน และหม่อมต่วนเป็นนางเมฆขลา คุณหญิงเทศเป็นตัวละครที่มีวัยสูงกว่าหม่อมละมัยและหม่อมต่วนเล็กน้อย”[19]' หม่อมลมัย ผู้นี้เป็นผู้มีอายุยืน เพราะข้อความข้างต้นตอนหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อเป็นสาวรุ่นอยู่มักจะแสดงเป็นตัวรามสูรร่วมกันกับหม่อมละมัย กุญชร ณ อยุธยา ซึ่งเป็นหม่อมที่ยังมีชีวิตอยู่คนหนึ่งของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ในขณะนี้” ซึ่งหนังสือนี้พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต) เมื่อ พ.ศ. 2511 ถ้ามีชีวิตไม่ถึง พ.ศ. 2511 ก็น่าจะมีชีวิตถึง พ.ศ. 2510 เพราะไม่ทราบแน่ชัดว่าระหว่างที่ติพิมพ์หนังสือนี้อยู่ท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรืออาจมีชีวิตเลย พ.ศ. 2511 ก็เป็นได้ หม่อมลมัย มีธิดากับ 1 คนคือ
    1. หม่อมหลวงอาภา อภัยวงศ์วรเศรษฐ[14] ได้สมรสกับ พระอภัยวงศ์วรเศรษฐ (ช่วง อภัยวงศ์) บุตร เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) กับ คุณหญิงสอิ้ง คฑาธรธรณินทร์ มีธิดาร่วมกัน 3 คน คือ
      1. วนิดา แก่อบเชย
      2. จิตราภา วรทัต
      3. คธาลัย พาณิชกุล[31]

หม่อมลมัย หลังออกจากวังบ้านหม้อ ได้มาปลูกบ้านอยู่ที่บ้านขมิ้นฝั่งธนบุรี และเปิดกิจการโรงภาพยนต์บ้านขมิ้น ซึ่งเป็นแหล่งความบันเทิงที่มีชื่อเสียงในย่านแถบนั้น[32]

  1. หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา เดิมเป็นหม่อมใน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ ต่อมาเมื่อสิ้นพระชนม์ได้เป็นหม่อมของ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ “ผู้ที่มีชื่อเสียงในคณะละครของพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ ก็มี หม่อมเอม เป็นต้นบท และมีหม่อมชั้นเล็กสองคนที่มีชื่อเสียงปรากฏต่อมาเป็นระยะยาวนานคือ หม่อมเข็ม หม่อมคร้าม ..... ส่วนหม่อมเข็มนั้นเป็นผู้มีชื่อเสียงในทางเป็นครูพระ หม่อมคร้ามและหม่อมเข็มต่อมาได้เป็นตัวละครสำคัญในคณะละครของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ รุ่นใหญ่”[19] และยังเป็นผู้คิดค้นกระบวนการรำและฝึกหัดละครดึกดำบรรพ์ของวังบ้านหม้อ “หม่อมเข็ม กุญชร มีหน้าที่คิดการรำและหัด”[33] ไม่ทราบวันเดือนปีเกิดและถึงแก่กรรมชัดเจน แต่ท่านเป็นคนอายุยืน “มีหม่อมเข็มคนเดียวที่มีชีวิตอยู่มาจนกระทั่งเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เลิกการละครในตอนปลายรัชกาลที่ 5”[19] และทราบแน่ชัดว่าในปี พ.ศ. 2480 ยังมีชีวิตอยู่ เพราะปรากฏหลักฐานในจดหมายใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ทรงประทานแด่ พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวถึง หม่อมเข็ม ไว้ตอนหนึ่งว่า “คนทั้ง 5 ซึ่งช่วยกันทำในเวลานั้น ต่างก็ตายไปแล้วสามคนเหลือแต่ฉันกับหม่อมเข็มสองคน”[33] ซึ่งจดหมายดังกล่าวลงวันที่ไว้เป็นวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2480 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 8 แต่ท่านจะมีอายุต่อมาอีกกี่ปีก็ยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด
  2. หม่อมพร้อม เป็นละครรุ่นใหญ่ของ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ “ก็มีหม่อมพร้อม ผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นอิเหนา ที่กล่าวกันว่าเวลา “เข้าเครื่อง” แล้ว งามไม่มีผู้ใดเปรียบ เป็นที่โปรดปรานของพระบรมวงศานุวงศ์และเป็นที่นิยมของคนดูทั่วไป”[19]
  3. หม่อมเลื่อน เป็นละครรุ่นใหญ่ของ เจ้าพระยาเทวศร์วงศ์วิวัฒน์ “ส่วนครูนางนั้น ก็คือหม่อมเลื่อน และหม่อมวัน มีชื่อเสียงว่าเป็นตัวบุษบาที่สวยมากทั้งในขบวนรำและในรูปโฉมทั้งสองคน หม่อมเลื่อนนั้นสวยโดยธรรมชาติด้วย”[19]
  4. หม่อมต่วน หรือ ศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก (5 กรกฏาคม พ.ศ. 2426 – 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499) เป็นนักแสดงตัวนางของวังบ้านหม้อ ในสมัยรัชกาลที่ 7 คุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทส สุวรรณภารต) ได้ชวนมาเป็นครูสอนละครในวังหลวง เมื่อครั้งมีการรื้อฟื้นละครดึกดำบรรพ์ในราชสำนัก ต่อภายหลังได้เป็นครูสอนที่วิทยาลัยนาฏศิลป

นอกจากนี้ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ยังมีหม่อมท่านอื่น ๆ อีกที่ไม่ทราบประวัติแน่ชัด ได้แก่

  1. หม่อมทับทิม น้องสาว หม่อมบัวเผื่อน[34]
  2. หม่อมตลับ ลูกของป้า หม่อมเจริญ เป็นคนพา หม่อมเจริญ มาอยู่วังบ้านหม้อ[15]
  3. หม่อมแดง เป็นนักร้อง
  4. หม่อมทิม
  5. หม่อมจันทร์
  6. หม่อมคร้าม
  7. หม่อมเปรม

และยังมีบุตรธิดาอีกหลายคนที่ไม่ทราบว่าเกิดจากหม่อมท่านใด ได้แก่

  1. หม่อมหลวงสารี กุญชร (ศิริวงศ์) ได้สมรสกับ หม่อมหลวงพันธ์ ศิริวงศ์ (พ.ศ. 2479 - 2481)
  2. หม่อมหลวงแม้น กุญชร
  3. หม่อมหลวงจรัส กุญชร
  4. หม่อมหลวงเครือวัลย์ กุญชร
  5. หม่อมหลวงลำใย กุญชร (ไม่ทราบวันเดือนปีเกิด – 17 กันยายน พ.ศ. 2461) รับราชการเป็นมหาดเล็กวิเศษ กรมมหาดเล็ก
  6. พระยาศรีกฤดากร (หม่อมหลวงตุ่ม กุญชร)
  7. หม่อมหลวงปุย กุญชร ได้สมรสกับ พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) มีธิดาร่วมกัน 1 คน คือ
    1. ดวงแข วิบูลแพทยาคม (ดวงแข เลาหะคามิน) (พ.ศ. 2451 – 2532) ซึ่งต่อมาได้สมรสกับ พันเอก ขุนวิบูลแพทยาคม (เลื่อน เลาหะคามิน) (พ.ศ. 2446 - 2532) มีบุตรธิดาร่วมกัน 7 คน คือ
      1. พวงวัลลิ์ ไกรฤกษ์
      2. พลโท มรุต เลาหะคามิน
      3. เสมอแข บุนนาค
      4. วงแข ศิริสรณ์
    2. ณ.เณร เลาหะคามิน
      1. ยิ่งแข เลาหะคามิน
      2. วรรณแข เลาหะคามิน[35]
  8. หม่อมหลวงพริ้ม กุญชร (หญิง)
  9. ขุนชิตรักต์ประกอบ (หม่อมหลวงปุ๊ กุญชร) (24 เมษายน พ.ศ. 2433 – 29 มกราคม พ.ศ. 2473)
  10. หม่อมหลวงแต๋ว กุญชร
  11. หม่อมหลวงเภา กุญชร

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งสยามและต่างประเทศ ดังนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์สยาม แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวตาย, เล่ม ๔ ตอนที่ ๓๔ หน้า ๒๗๑, ๗ ธันวาคม ๑๒๔๙
  2. 2.0 2.1 2.2 เทศนาฉลองอายุ เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ 15 กัณฑ์. [ม.ป.ท.]:โรงพิมพ์พิศาลบรรณนิติ, [ม.ป.ป.]. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:163870.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งหัวเมือง, เล่ม ๑ ตอนที่ ๖ หน้า ๕๓, ๑๕ มีนาคม ๑๒๔๖
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตร, เล่ม ๖ ตอนที่ ๑๕ หน้า ๑๒๖, ๑๔ กรกฎาคม ๑๐๘
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศยกเลิกตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงมุรธาธร, เล่ม ๑๓ ตอนที่ ๒๖ หน้า ๒๘๐, ๒๗ กันยายน ๑๑๕
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งผู้บัญชาการกรมสุขาภิบาล, เล่ม ๑๔ ตอนที่ ๔๔ หน้า ๗๖๓, ๑ กุมภาพันธ์ ๑๑๖
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เปลี่ยนตำแหน่งเสนาบดี, เล่ม ๒๔ ฉบับพิเศษ หน้า ๘๘๐, ๒๙ พฤศจิกายน ๑๒๖
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เปลี่ยนตำแหน่งเสนาบดี, เล่ม ๑๕ ตอนที่ ๒๖ หน้า ๒๗๑, ๒๕ กันยายน ๑๑๗
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ตั้งกระทรวงเกษตราธิการและเปลี่ยนตำแหน่งเสนาบดี, เล่ม ๑๖ ตอนที่ ๒๓ หน้า ๓๐๓, ๓ กันยายน ๑๑๘
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศเลื่อนกรมแลตั้งกรมพระองค์เจ้า เจ้าพระยา, เล่ม ๑๗ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๔๘๗, ๒๕ พฤศจิกายน ๑๑๙
  11. วีรศิลป์ ห่วงประเสริฐ. การบรรจุในละครดึกดำบรรพ์ เรื่องอิเหนา พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. งานวิจัยหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต, ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557.
  12. "ข่าวอสัญกรรม" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 39 (0 ง): 2780. 7 มกราคม พ.ศ. 2465. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2560. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 เทเวศวงศวิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร), เจ้าพระยา. ข้อราชการในกรมมหาดเล็ก. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหารบก, 2500. [ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ล.วราห์ กุญชร)] สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:1390.
  14. 14.0 14.1 อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ. [ม.ป.ท.]: บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์, 2527. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:141499.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 พูนพิศ อมาตยกุล และคณะ. นามานุกรมศิลปินเพลงไทยในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร: เรือนแก้ว, 2532.
  16. ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร. [ม.ป.ท.]: อินเตอร์ฮ่องกงพริ้นติ้ง, 2530. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:190864.
  17. เทียบ กุญชร ณ อยุธยา อนุสรณ์. [ม.ป.ท.]: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยสงเคราะห์ไทย, 2512. (ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นางเทียบ กุญชร ณ อยุธยา) สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:1736.
  18. สัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ), พระยา. เล่าให้ลูกฟัง. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์กรมมหาดไทย, 2502. [ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ)] สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:844.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 19.5 19.6 อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์สถานสงเคราะห์หญิงปากเกร็ด, 2511. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:3645.
  20. เอกสารสาธารณสุข เรื่องปฐมพยาบาลและวิธีใช้ยาตำราหลวง กับ, การสุขาภิบาลในบริเวณบ้าน. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์เปงเฮง (กิมหลีหงวน), 2476. [ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกตรี พระยาวิชิตชลธาร (ม.ล.เวศร์ กุญชร)] สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:142079.
  21. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี กัลย์ กุญชร ณ อยุธยา. [ม.ป.ท.]: ห้างหุ้นส่วนจำกัด รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์, 2538. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:178979.
  22. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยา, 2406-2490. บทละครดึกดำบรรพ์ ฉบับเพิ่มเติม. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2496. (ที่ระลึกในงานศพ หม่อมหลวงวงษ์ กมลาสน์) สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:137496
  23. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยา, 2406-2490. บทร้องรำ. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์ ร.ส.พ., 2505. (ที่ระลึกในงานศพ หม่อมหลวงเล็ก กุญชร) สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:137226.
  24. อนุสรณ์การพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงแฉล้ม กุญชร. (ม.ป.พ), 2538. [ที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงแฉล้ม กุญชร (ม.ล. แฉล้ม กุญชร)]
  25. สำลี อิศรพงศ์พิพัฒน์, ม.ล. จินดาภาษิต. พระนคร: ยิ้มศรี, 2482. (ที่ระลึกในงานฌาปนกิจ หม่อมแจ่ม กุญชร ณ อยุธยา)
  26. 26.0 26.1 26.2 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ :0
  27. 27.0 27.1 อนุมานราชธน, พระยา.  ร้อง รำ ทำเพลง.  กรุงเทพมหานคร: มิตรไชย, 2500. [ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงวัยวุฒิปรีชา (ม.ล.ไวยวัฒน์ กุญชร)]
  28. ไม่ทราบนามผู้แต่ง. เครื่องช่วยตัว. พระนคร: ไทยเขษม, 2481. (ที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ หม่อมหลวงแขก กุญชร)
  29. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 37 เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเจ้าเสือและพระเจ้าท้ายสระ. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2473. [ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกตรี พระยาอาทรธุรศิลป์ (หม่อมหลวงช่วง กุญชร)] สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:240816.
  30. เเบนสัน, ฮิว, บอร์เจีย, แอนโธนี, Benson, Robert Hugh และ Borgia, Anthony V. โลกทิพย์. ภาค 2. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารอากาศ, 2509. (ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศตรี กงทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา) สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:5474.
  31. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี ควง อภัยวงศ์. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์, 2511. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:3275.
  32. อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางวนิดา แก่นอบเชย. [ม.ป.ท.] 2545.
  33. 33.0 33.1 พูนพิศ อมาตยกุล, บรรณาธิการ. เพลง ดนตรี : จากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ถึง พระยาอนุมานราชธน. กรุงเทพมหานคร: เรือนแก้วการพิมพ์, 2552.
  34. กันต์ อัศวเสนา. ดุริยวรรณกรรมเพลงตับเรื่องอิเหนาจากต้นฉบับแผ่นเสียงเก่าของวังบ้านหม้อ. ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ดนตรี), วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2559.
  35. เรื่องของเจ้าคุณประดิพัทธ ฯ. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2508. [ที่ระลึกในงานสตมวารศพ พระยาประดิพัทธภูบาล (คอ ยู่เหล ณ ระนอง)] สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:1793.
  36. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้า และ ฝ่ายใน, เล่ม ๑๗ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๕๐๐, ๒๕ พฤศจิกายน ๑๑๙
  37. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๖ ตอนที่ ๒๖ หน้า ๓๖๒, ๒๔ กันยายน ๑๑๘
  38. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐ ตอนที่ ๓๗ หน้า ๔๐๓, ๑๐ ธันวาคม ๑๑๒
  39. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ, เล่ม ๑๔ ตอนที่ ๒๖ หน้า ๓๗๐, ๒๙ กันยายน ๑๑๔
  40. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๕ ตอนที่ ๒๖ หน้า ๒๘๑, ๒๕ กันยายน ๑๑๗
  41. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๔, เล่ม ๒๑ ตอนที่ ๓๒ หน้า ๕๖๘, ๖ พฤศจิกายน ๑๒๓
  42. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ออสเตรีย, เล่ม ๖ ตอนที่ ๒๑ หน้า ๑๗๕, ๒๕ สิงหาคม ๑๐๘
  43. 43.0 43.1 43.2 43.3 43.4 43.5 43.6 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๙ ตอนที่ ๒ หน้า ๑๒, ๑๐ เมษายน ๑๑๑
  44. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๙ ตอนที่ ๑๔ หน้า ๘๖, ๓ กรกฎาคม ๑๑๑
  45. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาต เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๑๑ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๒๗๒, ๒๕ พฤศจิกายน ๑๑๓
ก่อนหน้า เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) ถัดไป
พระยาสุรศักดิ์มนตรี
(เจิม แสง-ชูโต)
   
เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ คนที่ 3
(2 กันยายน พ.ศ. 2442 – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2452)
  พระยาวงษานุประพัทธ์
(หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์)