สงครามร้อยปี
สงครามร้อยปี (ฝรั่งเศส: Guerre de Cent Ans อังกฤษ: Hundred Years' War) เป็นชุดความขัดแย้งระหว่าง ค.ศ. 1337 ถึง 1453 ระหว่างราชวงศ์แพลนแทเจเนต ผู้ปกครองราชอาณาจักรอังกฤษ กับราชวงศ์วาลัว เพื่อแย่งการควบคุมราชอาณาจักรฝรั่งเศส ต่างฝ่ายดึงพันธมิตรมากมายเข้าสู่สงคราม
สงครามร้อยปี | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามอังกฤษ - ฝรั่งเศส | |||||||||
ตามเข็มนาฬิกา จากบนซ้าย: กองเรืออังกฤษและฝรั่งเศส-กัสติยาในยุทธนาวีที่ลาโรเชล, ยุทธการที่อาแซ็งกูร์ ยุทธการปาแตย โจนออฟอาร์กปลุกขวัญกำลังฝรั่งเศสในการล้อมออร์เลอ็อง | |||||||||
| |||||||||
คู่สงคราม | |||||||||
|
| ||||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||||
|
|
สงครามนี้มีที่มาจากความไม่ลงรอยระหว่างราชวงศ์ย้อนไปถึงสมัยพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต ผู้กลายเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษใน ค.ศ. 1066 ระหว่างยังครอบครองดัชชีนอร์ม็องดีในฝรั่งเศส ในฐานะผู้ปกครองนอร์ม็องดีและดินแดนอื่นบนทวีป พระมหากษัตริย์อังกฤษจึงเป็นหนี้บังคม (homage) ระบบฟิวดัลต่อพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1337 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษทรงปฏิเสธถวายบังคมต่อพระเจ้าฟิลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศส ทำให้พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสทรงยึดที่ดินของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดในอากีแตน
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงตอบโต้โดยประกาศพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสโดยชอบ มิใช่พระเจ้าฟิลิป เป็นการอ้างสิทธิ์ย้อนไปใน ค.ศ. 1328 เมื่อพระเจ้าชาร์ลที่ 4 แห่งฝรั่งเศส พระปิตุลา (ลุง) ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด เสด็จสวรรคตโดยไม่มีทายาทชายโดยตรง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงเป็นพระญาติชายที่ใกล้ชิดที่สุดของอดีตพระมหากษัตริย์ ในฐานะพระโอรสในอิซาเบลลาแห่งฝรั่งเศส พระธิดาในพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส และพระขนิษฐาในพระเจ้าชาร์ลที่ 4 ฝ่ายพระเจ้าฟิลิปที่ 6 ทรงเป็นพระภราดร (ลูกพี่ลูกน้อง) ในอดีตพระมหากษัตริย์ พระโอรสในชาร์ล เคานต์แห่งวาลัว พระอนุชาในพระเจ้าฟิลิปที่ 4 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสตามกฎหมายแซลิก ซึ่งตัดสิทธิการสืบราชสันตติวงศ์ชายผ่านสายหญิง ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์ราชบัลลังก์ฝรั่งเศสตามกฎหมายเป็นใจหลักของสงครามเหนือผู้อ้างสิทธิ์ชาวอังกฤษและฝรั่งเศสหลายรุ่น
โดยทั่วไปนักประวัติศาสตร์แบ่งสงครามเป็นสามระยะคั่นด้วยการพักรบดังนี้ 1) สงครามสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด (ค.ศ. 1337–1360); 2) สงครามแคโรไลน์ (ค.ศ. 1369–1389) และ 3) สงครามแลงคาสเตอร์ (ค.ศ. 1415–1453)
ความขัดแย้งร่วมสมัยในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้โดยตรง รวมทั้งสงครามสืบราชบัลลังก์บริตานี, สงครามกลางเมืองกัสติยา และสงครามสองปีเตอร์ คำว่า “สงครามร้อยปี” เป็นคำที่นักประวัติศาสตร์ในสมัยต่อมาประดิษฐ์ขึ้นเพื่อกำหนดยุคให้ครอบคลุมทุกเหตุการณ์เหล่านี้
สงครามมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายประการ แม้ว่าจะเป็นสงครามของความขัดแย้งกันหลายด้านแต่ก็เป็นสงครามที่ที่ทำให้ทั้งฝ่ายอังกฤษเริ่มมีความรู้สึกถึงความเป็นชาตินิยม ทางด้านการทหารก็มีการนำอาวุธและยุทธวิธีใหม่ ๆ มาใช้ที่ทำให้ระบบศักดินาที่ใช้การต่อสู้บนหลังม้าเป็นหลักเริ่มหมดความสำคัญลง ในด้านระบบการทหารก็มีการริเริ่มการใช้ทหารประจำการที่เลิกใช้กันไปตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทของเกษตรกร ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การสงครามของยุคกลาง ในฝรั่งเศสการรุกรานของฝ่ายอังกฤษ, สงครามกลางเมือง, การระบาดของเชื้อโรค, ความอดอยาก และการเที่ยวปล้นสดมของทหารรับจ้างและโจรทำให้ประชากรลดจำนวนลงไปถึงสองในสามในช่วงเวลานี้[1] เมื่อต้องออกจากแผ่นดินใหญ่ยุโรปอังกฤษก็กลายเป็นชาติเกาะที่มีผลต่อนโยบายและปรัชญาของอังกฤษต่อมาถึง 500 ปี[2]
ที่มาของสงคราม
แก้สาเหตุของความขัดแย้งเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1066 เมื่อ ดยุควิลเลียมแห่งนอร์ม็องดียกกองทัพมารุกรานอังกฤษ พระองค์ทรงไดัรับชัยชนะต่อพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสันในยุทธการเฮสติงส์ และขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษ ในฐานะดยุคแห่งนอร์ม็องดี วิลเลียมยังคงขึ้นอยู่กับกษัตริย์ฝรั่งเศส ซึ่งต้องทรงสาบานความสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์ฝรั่งเศส การแสดงความสวามิภักดิ์ของกษัตริย์องค์หนึ่งต่อกษัตริย์อีกองค์หนึ่งเป็นการกระทำที่เหมือนเป็นการหยามศักดิ์ศรี พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษจึงพยายามเลี่ยง ทางฝ่ายราชวงศ์กาเปเซียงที่ปกครองฝรั่งเศสเองก็ไม่พอใจที่มีกษัตริย์ประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเจ้าของดินแดนภายในราชอาณาจักรฝรั่งเศส และพยายามหาทางลดความเป็นอันตรายของฝ่ายอังกฤษต่อความมั่นคงของฝรั่งเศส
หลังจากสมัยของสงครามกลางเมืองที่เรียกว่าดิแอนะคี (The Anarchy) ในอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1135 ถึงปี ค.ศ. 1154 ราชวงศ์อ็องฌูก็ขึ้นมามีอำนาจแทนราชวงศ์นอร์มัน สมัยที่รุ่งเรืองที่สุดราชวงศ์อ็องฌูก็ปกครองทั้งอังกฤษ และดินแดนในฝรั่งเศสที่รวมทั้งนอร์ม็องดี,ไมน์, อ็องฌู, ทูแรน, ปัวตูร์, แกสโคนี, แซงตง, และอากีแตน ซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่มีเนื้อที่มากกว่าพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสเอง ดินแดนเหล่านี้เรียกรวม ๆ ว่าจักรวรรดิอ็องณู (Angevin Empire) การที่พระมหากษัตริย์อังกฤษแห่งราชวงศ์อ็องณูต้องแสดงความสวามิภักดิ์ต่อพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสผู้อ่อนแอกว่าเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งตลอดมา
พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษทรงได้รับดินแดนมากมายจากพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ แต่พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศสทรงใช้ความอ่อนแอของพระเจ้าจอห์นทั้งทางกฎหมายและทางการทหาร และเมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1204 พระองค์ก็ทรงยึดดินแดนต่าง ๆ มาเป็นของฝรั่งเศส ยุทธการบูแวงส์ (Battle of Bouvines) ในปี ค.ศ. 1214, ยุทธการแซงตง (Saintonge War) ในปี ค.ศ. 1242 และยุทธการแซงต์ซาร์โดส์ (War of Saint-Sardos) ในปี ค.ศ. 1324) ทำให้ราชวงศ์อ็องณูสูญเสียดินแดนนอร์ม็องดีทั้งหมดและลดเนื้อที่ครอบครองในฝรั่งเศสลงเหลือเพียงในบริเวณบางส่วนของแกสโคนีเท่านั้น
เมื่อมาถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ขุนนางอังกฤษก็ยังรำลึกถึงเวลาที่บรรพบุรุษมีอำนาจครอบครองดินแดนมากมายบนแผ่นดินใหญ่ยุโรปเช่นในนอร์ม็องดีซึ่งฝ่ายอังกฤษถือว่าเป็นดินแดนของบรรพบุรุษ และเป็นแรงบันดาลใจในความพยายามที่ยึดดินแดนเหล่านี้คืนมาในครอบครองอีกครั้งหนึ่ง
สาเหตุแห่งสงคราม
แก้ในค.ศ. 1324 พระเจ้าชาร์ลที่ 4 แห่งฝรั่งเศส สิ้นพระชนม์โดยไม่มีทายาท ทำให้ราชวงศ์กาเปเชียงสายตรงต้องสิ้นสุดลง พระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษเป็นพระนัดดาของพระเจ้าชาลส์ที่ 4 เป็นพระญาติชายที่ใกล้ชิดที่สุดทางสายพระโลหิต จึงเป็นผู้มีสิทธิจะครองบัลลังก์มากที่สุด แต่ขุนนางฝรั่งเศส ไม่ต้องการให้กษัตริย์อังกฤษมาปกครองฝรั่งเศส จึงอ้างกฎบัตรซาลลิคของชนแฟรงก์โบราณว่า การสืบสันติวงศ์จะต้องผ่านทางผู้ชายเท่านั้น และให้ฟิลิปเคานท์แห่งวาลัวส์ ที่สืบเชื้อสายจากพระเจ้าฟิลิปที่ 3 ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าฟิลิปที่ 6 เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์วาลัวส์ ซึ่งเป็นสาขาของราชวงศ์กาเปเชียง ในค.ศ. 1331 พระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ 3 ทรงยินยอมที่จะสละสิทธิ์ในบัลลังก์ฝรั่งเศสทั้งมวลแต่ครองแคว้นกาสโคนี
ในค.ศ. 1333 พระเจ้าเอ็ดวาร์ดทรงทำสงครามกับสกอตแลนด์ โดยมีการส่งนักสืบเอกชนลอบเข้าไปสืบราชการลับ ซึ่งตอนนั้นเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสตามสัญญาพันธมิตรเก่า (Auld Alliance) ทำให้พระเจ้าฟิลิปที่ 6 ทรงเห็นเป็นโอกาสจึงนำทัพบุกยึดแคว้นกาสโคนี แต่พระเจ้าเอ็ดวาร์ดทรงปราบปรามสกอตแลนด์อย่างรวดเร็ว และหันมาตอบโต้พระเจ้าฟิลิปได้ทัน
สงคราม
แก้สงครามของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดแห่งอังกฤษ (ค.ศ. 1337 ถึง ค.ศ. 1360)
แก้สงครามร้อยปีเริ่มต้นใน ค.ศ. 1337 ในตอนแรกทัพเรือฝรั่งเศสสามารถโจมตีเมืองท่าอังกฤษได้หลายที่ แต่ลมก็เปลี่ยนทิศเมื่อทัพเรือฝรั่งเศสถูกทำลายล้างในการรบที่สลุยส์ (Sluys) ในค.ศ. 1341 ตระกูลดรือซ์แห่งแคว้นบรีตตานีสูญสิ้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและพระเจ้าฟิลิปจึงสู้รบกันเพื่อให้คนของตนได้ครองแคว้นบรีตตานี ใน ค.ศ. 1346 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงสามารถขึ้นบกได้ที่เมืองคัง (Caen) ในนอร์ม็องดี เป็นที่ตกใจแก่ชาวฝรั่งเศส พระเจ้าฟิลิปแต่งทัพไปสู้ แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงหลบหนีไปประเทศภาคต่ำ (Low Countries) ทัพฝรั่งเศสตามมาทัน แต่พ่ายแพ้ยับเยินที่การรบที่เครซี (Crécy) ทำให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดต่อไปยึดเมืองท่าคาเลส์ของฝรั่งเศสและยึดเป็นที่มั่นบนแผ่นดินฝรั่งเศสได้ในค.ศ. 1347
ใน ค.ศ. 1348 ระหว่างที่ฝรั่งเศสกำลังลุกเป็นไฟด้วยสงคราม กาฬโรคก็ระบาดมาถึงฝรั่งเศสคร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก เจ้าชายดำพระโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด บุกอังกฤษจากกาสโคนี ชนะฝรั่งเศสในศึกปัวติเยร์ (Poitiers) จับพระเจ้าฌ็องที่ 2 แห่งฝรั่งเศสได้ ด้วยอำนาจของฝรั่งเศสที่อ่อนแอลง ทำให้ตามชนบทไม่มีขื่อแปโจรอาละวาด ทำให้ชาวบ้านก่อจลาจลกันมากมาย พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเห็นโอกาสจึงทรงบุกอีกครั้ง แต่ถูกองค์รัชทายาทแห่งฝรั่งเศสต้านไว้ได้ จนทำสนธิสัญญาบรีติญญี (Bretigny) ในค.ศ. 1360 อังกฤษได้อากีแตน บรีตตานีครึ่งนึง และเมืองท่าคาเลส์
สงครามของพระเจ้าชาร์ลส์แห่งฝรั่งเศส (ค.ศ. 1369 ถึง ค.ศ. 1389)
แก้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 ทรงสามารถบุกยึดดินแดนคืนจากอังกฤษได้ ด้วยความช่วยเหลือของขุนพลแบร์ทรันด์ เดอ เกอสแคลง (Bertrand de Guesclin) องค์ชายเอ็ดเวิร์ดทรงติดพันอยู่กับสงครามในสเปน จนทรงปลีกพระองค์มาฝรั่งเศสได้ในค.ศ. 1371 ฝ่ายอังกฤษตอบโต้โดย Chevauchée เมืองต่าง ๆ ของฝรั่งเศส แต่เดอเกอสแคลงก็ไม่หลงกล
องค์ชายเอ็ดเวิร์ดสิ้นพระชนม์ในค.ศ. 1376 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดสิ้นพระชนม์ในค.ศ. 1377 และเดอเกอสแคลงสิ้นชีวิตในค.ศ. 1380 เมื่อผู้นำทัพสิ้นชีวิตไปหมดแล้ว สงครามก็สงบลงอีกครั้ง จนทำสัญญาสงบศึกในค.ศ. 1389
สงครามพระเจ้าเฮนรีแห่งอังกฤษ (ค.ศ. 1415 ถึง ค.ศ. 1429)
แก้สงครามร้อยปีหยุดยาวเพราะฝรั่งเศสตกอยู่ในสงครามกลางเมืองระหว่างตระกูลอาร์มันญัค (Armagnac) และดยุคแห่งเบอร์กันดี เพราะพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 มีพระสติไม่สมประกอบ ทำให้แย่งอำนาจกันปกครองบ้านเมือง และขอให้อังกฤษช่วย แต่อังกฤษเองก็กำลังมีสงครามกลางเมือง และเวลส์และไอร์แลนด์ก่อกบฏ สกอตแลนด์บุก
เมื่ออังกฤษสงบแล้ว พระเจ้าเฮนรีที่ 5 ก็ทรงนำทัพบุกฝรั่งเศสในค.ศ. 1415 และชนะฝรั่งเศสขาดรอยที่ยุทธการอาแฌงคูร์ต ได้ดยุคแห่งเบอร์กันดีมาเป็นพวก และยึดฝรั่งเศสตอนเหนือไว้ได้ทั้งหมดในค.ศ. 1419 พระเจ้าเฮนรีทรงเฝ้าพระเจ้าชาลส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศสซึ่งทรงพระสติไม่สมประกอบ ทำสัญญาให้พระโอรสพระเจ้าเฮนรีขึ้นครองฝรั่งเศสเมื่อพระเจ้าชาลส์สิ้นพระชนม์ แต่ทัพสกอตแลนต์ก็มาช่วยขัดขวางเอาไว้ เมื่อพระเจ้าชาลส์สิ้นพระชนม์ พระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่งอังกฤษ ก็ขึ้นเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศส แต่ตระกูลอาร์มันญัคยังคงจงรักภัคดีต่อองค์รัชทายาทฝรั่งเศส
ชัยชนะของฝรั่งเศส (ค.ศ. 1429 ถึง ค.ศ. 1453)
แก้ใน ค.ศ. 1428 อังกฤษล้อมเมืองออร์เลอองส์ แต่โจนออฟอาร์ก (ฌาน ดาร์ก) เสนอตัวขับไล่ทัพอังกฤษกล่าวว่านางเห็นนิมิตว่าพระเจ้าให้เธอปลดปล่อยฝรั่งเศสจากอังกฤษ จนสามารถขับไล่ทัพอังกฤษออกไปได้ใน ค.ศ. 1429 และยังสามารถเปิดทางให้องค์รัชทายาทสามารถยึดเมืองแรงส์เพื่อราชาภิเษกพระเจ้าชาลส์ที่ 7 นับเป็นจุดเปลี่ยนในสงครามร้อยปี แต่โจนออฟอาร์กถูกพวกเบอร์กันดีจับได้และส่งให้อังกฤษ และถูกเผาทั้งเป็น ใน ค.ศ. 1435 แคว้นเบอร์กันดีหันมาเป็นพวกฝรั่งเศส แม้ฝ่ายอังกฤษจะมีจอห์น ทัลบอต ที่ดุร้าย แต่พระเจ้าชาลส์ที่ 7ก็ทรงสามารถยึดฝรั่งเศสคืนได้เกือบหมดใน ค.ศ. 1453 (ยกเว้นคาเลส์) ในการรบที่คาสตีลโลญ (Castillogne) ซึ่งฝรั่งเศสใช้ปืนเป็นครั้งแรก เป็นอันสิ้นสุดสงครามร้อยปี
หมายเหตุ
แก้- ↑ ต่อสู้กับฝ่ายอังกฤษใน ครูเสดเดสเปนเซอร์
- ↑ ต่อสู้ร่วมกับฝ่ายอังกฤษใน ครูเสดเดสเปนเซอร์
- ↑ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1337 คือวันที่ พระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศส ทรงริบ อากีแตน จาก พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ ผู้ซึ่งตอบโต้ด้วยการอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ฝรั่งเศส 19 ตุลาคม ค.ศ. 1453 คือวันที่ เมืองบอร์โด เสียแก่ฝ่ายฝรั่งเศส ไม่มีการปะทะกันอีกหลังจากนั้น
อ้างอิง
แก้- ↑ Don O'Reilly. "Hundred Years' War: Joan of Arc and the Siege of Orléans เก็บถาวร 2006-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". TheHistoryNet.com.
- ↑ As noted in, e.g., Gregory D. Cleva, Henry Kissinger and the American Approach to Foreign Policy, Bucknell University Press, 1989; p. 87 ("the English Channel gave the nation a sense of geographical remoteness" while its "navy fostered a sense of physical unassailability" that lasted until the early 20th century).