ยุทธการที่สเลาส์

(เปลี่ยนทางจาก การรบที่สลุยส์)

ยุทธการสเลาส์ (อังกฤษ: Battle of Sluys) เป็นยุทธนาวีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1340 อันเป็นการเริ่มต้นของสงครามร้อยปี ยุทธการจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายอังกฤษ

ยุทธการสเลาส์
ส่วนหนึ่งของ สงครามร้อยปี
ยุทธการสเลาส์
จุลจิตรกรรม "ยุทธการสเลาส์" จากพงศาวดารฟรัวซาร์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 14
วันที่24 มิถุนายน ค.ศ. 1340
สถานที่
บริเวณท่าเรือสเลาส์ บนพรมแดนระหว่างเซลันด์กับฃแฟลนเดอร์ตะวันตก
51°18′31″N 3°23′17″E / 51.30861°N 3.38806°E / 51.30861; 3.38806พิกัดภูมิศาสตร์: 51°18′31″N 3°23′17″E / 51.30861°N 3.38806°E / 51.30861; 3.38806
ผล อังกฤษชนะ
คู่สงคราม
ราชอาณาจักรอังกฤษ ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ (ได้รับบาดเจ็บในขณะปฎิบัติหน้าที่)
วิลเลียม เดอ คลินตัน เอิร์ลที่ 1 แห่งฮันติงดอน
อูก กีเยเร 
นิโกลา บีอูเช 
กำลัง
400 ลำ (คาดการณ์) 250 ลำ (คาดการณ์)
ความสูญเสีย
น้อย 16,000–20,000 คน
เรือถูกยึดเกือบทั้งหมด

ที่มาที่ไปของสงครามร้อยปี แก้

การถือครองในฝรั่งเศสของกษัตริย์อังกฤษ แก้

นับตั้งแต่การพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มัน พระมหากษัตริยอังกฤษได้ถือครองบรรดาศักดิ์และที่ดินในฝรั่งเศสในฐานะเป็นข้าศักดินาของกษัตริย์ฝรั่งเศส อังกฤษถือครองดินแดนในฝรั่งเศสมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในปี ค.ศ. 1337 อังกฤษถูกริบกัสกอญซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสกับปงตีเยอซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส กัสกอญเป็นแคว้นที่มีภาษาเป็นของตัวเองและเป็นตลาดผลิตและค้าไวน์รายใหญ่ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่กษัตริย์อังกฤษ ด้วยความโกรธพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษจึงประกาศถือสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศส โดยให้เหตุผลว่าทรงมีสิทธิตามสายเลือดมากกว่าพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศส จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามร้อยปี

สิทธิในบัลลังก์ฝรั่งเศสของกษัตริย์อังกฤษ แก้

ทั้งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 และพระเจ้าฟีลิปที่ 6 ต่างสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าฟีลิปที่ 3 แห่งฝรั่งเศส

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เป็นลูกหลานในสายพระราชโอรสคนโต คือ เจ้าชายฟีลิป ในปี ค.ศ. 1285 เจ้าชายฟีลิปได้ขึ้นเป็นพระเจ้าฟีลิปที่ 4 ครองบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา พระองค์มีพระโอรสสามคนกับพระธิดาอีกหนึ่งคน พระโอรสทั้งสามต่างได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสต่อๆกัน เนื่องจากแต่ละคนต่างไม่มีพระราชโอรส ขณะที่เจ้าหญิงอีซาแบล พระธิดาเพียงคนเดียวของพระเจ้าฟีลิปที่ 4 ได้สมรสกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 และมีพระราชโอรสเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3

ส่วนพระเจ้าฟีลิปที่ 6 เป็นลูกหลานในสายพระราชโอรสคนที่สอง คือ เจ้าชายชาร์ลส์แห่งวาลัว ซึ่งมีบุตร 14 คนและฟีลิปเป็นบุตรคนโต

หลังพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 4 พระราชโอรสคนสุดท้ายของพระเจ้าฟีลิปที่ 4 สวรรคตโดยไร้ทายาทชายสืบบัลลังก์ ฟีลิปแห่งวาลัวได้ประกาศตัวท้าชิงบัลลังก์ฝรั่งเศสกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 สุดท้ายขุนนางฝรั่งเศสได้ลงมติเลือกฟีลิปแห่งวาลัวเป็นพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศส

เตรียมพร้อมรบ แก้

ในตอนนั้นฝรั่งเศสมีกองเรือที่เกรียงไกร ทั้งยังมีกำลังเสริมเป็นกองเรือพายโบราณจากเจนัว กองเรือฝรั่งเศสได้เข้าขัดขวางเรือค้าขายอังกฤษที่ข้ามผ่านช่องแคบ โดยเฉพาะเรือที่จะไปค้าขายไวน์กับกัสกอญและค้าขายขนแกะกับแฟลนเดอร์ อังกฤษจึงส่งกองเรือไปฟาดฟันกับกองเรือฝรั่งเศสบริเวณช่องแคบ แต่พลาดท่าจนถูกยึดเรือคริสโตเฟอร์และเรือเอ็ดเวิร์ดซึ่งเป็นเรือลำใหญ่ที่สุดที่มี ต่อมาในปีเดียวกันกองเรือฝรั่งเศสได้บุกเมืองพลิมัท ทำการเผาเมืองและยึดเรือที่จอดเทียบท่า

ในปี ค.ศ. 1340 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เริ่มระดมกองเรือสำหรับโจมตีชายฝั่งทางเหนือของฝรั่งเศส เพื่อตอกย้ำการอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ฝรั่งเศส

อังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ยังไม่มีราชนาวี มีแต่เรือค้าขายที่เรียกว่าเรือค็อก เป็นเรือบตหนึ่งเสา ผ้าใบสี่เหลี่ยมใบเดี่ยว ท้องเรือลึก หัวเรือเพรียว กลางเรือกลมป้อม มีพวงมาลัย ควบคุมทิศทางโดยใช้พายและหางเสือ มีความยาวอยู่ในช่วง 15 ถึง 25 เมตร (49 ถึง 82 ฟุต) กว้าง 5 ถึง 8 เมตร (16 ถึง 26 ฟุต) รับน้ำหนักสูงสุดได้ 200 ตัน พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ได้ระดมเรือค้าขายและเปลี่ยนเป็นเรือรบด้วยการคอกห้องไม้ไว้บริเวณหัวและท้ายเรือและสร้างแท่นยืนบนยอดเสาเรือ เพื่อให้พลธนูยืนประจำยิงธนูและก้อนหินใส่เรือศัตรูที่เทียบข้าง ความสูงพ้นน้ำที่มากกว่าเรือของฝรั่งเศสทำให้เรือค็อกของอังกฤษได้เปรียบในการต่อสู้ระยะประชิด เนื่องจากอยู่เหนือกว่าเรือศัตรู

ขุนนางอังกฤษหลายคนได้รับมอบหมายให้ระดบเรือค้าขายมาจากส่วนต่างๆ ของประเทศเพื่อนำมาให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ตั้งกองเรือ เซอร์โรเบิร์ต มอร์ลีย์นำเรือ 50 ลำมาจากตอนเหนือของอังกฤษ, เอิร์ลแห่งอารันเดลนำกองเรือค้าขายมาจากทางตะวันตกของอังกฤษ และเอิร์ลแห่งฮันติงดอนนำเรือมาจากท่าเรือซิงในเคนต์

ฝ่ายฝรั่งเศสตั้งกองเรือรอตั้งรับที่ท่าเรือสเลาส์ ท่าเรือหน้าด่านในเมืองบรูชซึ่งตั้งอยู่ในกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ (ปัจจุบันอยู่ในเบลเยียม) ในยุคนั้นท่าเรือสเลาส์เป็นท่าเรือใหญ่ สามารถรองรับเรือได้จำนวนมาก ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเซบรูฌา บนปากแม่น้ำชวินซึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นสายน้ำใหญ่ที่ไหลลงสู่ช่องแคบอังกฤษ แต่ไม่ปรากฏในแผนที่ปัจจุบันเนื่องจากถูกถมไปแล้ว

 
โมเดลแสดงตัวอย่างเรือพายโบราณ

กองเรือฝรั่งเศสน่าจะมีเรือประมาณ 200 ลำ ส่วนหนึ่งเป็นกองเรือจากเจนัวซึ่งเป็นกองเรือรับจ้าง ผู้บัญชาการกองเรือเจนัวคือบอคาเนกรา ส่วนผู้บัญชาการกองเรือฝรั่งเศสคือแม่ทัพเรืออูก กีเยเร กับนิโกลา บิอูเช ขุนวังของพระเจ้าฟีลิปที่ 6 เรือของฝรั่งเศสเป็นเรือท้องตื้น ลำเล็ก เคลื่อนไหวคล่องตัวโดยเฉพาะในน้ำตื้น ขณะที่เรือค็อกของอังกฤษเป็นเรือเดินสมุทรลำใหญ่กว่า ท้องลึกกว่า เคลื่อนไหวช้ากว่า ส่วนเรือของเจนัวเป็นเรือพายโบราณ ใช้กำลังจากใบเรือและพาย สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในสงครามโดยเฉพาะ

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 รวมกองเรือที่แม่น้ำออร์เวลล์และแม่น้ำสตาวเออร์ ใกล้กับเมืองแฮริช ทรงตั้งเรือค็อกธอมัสเป็นเรือธงและกางใบเรือออกเดินทางในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1340 กองเรือของพระองค์มีเรือประมาณ 300 ถึง 400 ลำ เป็นเรือขนาดเล็ก ส่วนใหญ่มีลูกเรือ 5 ถึง 6 คนและบรรทุกพลธนู 10 ถึง 15 คนกับทหารติดอาวุธ ทรงไปถึงสเลาส์ในบ่ายวันต่อมา กองเรืออังกฤษทอดสมอที่เมืองบลังกาเบฌาซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเลาส์ เย็นวันนั้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ส่งอัศวินไปสอดแนมกองเรือฝรั่งเศสที่ทอดสมออยู่ตรงทางเข้าปากแม่น้ำชวิน

เริ่มยุทธการ แก้

 
แผนภาพยุทธการสเลาส์ โดยจอห์น ฟอว์กส์

ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1340 กองเรืออังกฤษมุ่งหน้าไปสเลาส์โดยจัดกระบวนทัพเป็นสองแถว กองเรือฝรั่งเศสตั้งกระบวนทัพเป็นสองแถวขนานท่า เรือฝรั่งเศสแต่ละลำมีแผ่นไม้พาดเชื่อมต่อกัน วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไปในทะเลเพื่อให้ทหารสามารถย้ายจากเรือลำหนึ่งไปอีกลำหนึ่งได้ เพื่อไปจัดการกับศัตรูที่ขึ้นมาบนเรือลำใดลำหนึ่งในกระบวนแถว แต่จุดอ่อนของวิธีนี้คือเรือจะไม่เป็นอิสระในการเคลื่อนที่

เรือคริสโตเฟอร์กับเรืออังกฤษลำอื่นๆ ที่ยึดมาได้อยู่จอดอยู่ตรงปลายทางซ้ายของกองเรือที่หนึ่งของฝรั่งเศส ด้วยความกระหายที่จะยึดเรือคืน อังกฤษจึงเริ่มโจมตีกองเรือฝรั่งเศสจากกราบซ้าย

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดแบ่งเรือเป็นสามกลุ่ม สองกลุ่มแรกบรรทุกพลธนู ส่วนกลุ่มที่สามบรรทุกทหารติดอาวุธ เรือบรรทุกพลธนูของอังกฤษเข้าประชิดเรือของฝรั่งเศส พลธนูระดมยิงธนูใส่ดาดฟ้าเรือศัตรู พลธนูของอังกฤษเป็นพลธนูยาว สามารถยิงธนูได้ 20 ลูกต่อนาที มีระยะยิงสูงสุด 270 เมตร (300 หลา) ในขณะที่พลยิงของเจนัวเป็นพลหน้าไม้ สามารถยิงได้เพียง 2 ลูกต่อนาทีและมีระยะยิงน้อยกว่า ระหว่างที่เรือศัตรูกำลังถูกระดมยิง เรือที่บรรทุกทหารติดอาวุธก็เข้าประชิดเพื่อให้ทหารติดอาวุธขึ้นไปยึดเรือศัตรู เนื่องจากเรือของฝรั่งเศสเชื่อมติดกัน ทหารอังกฤษจึงสามารถข้ามจากเรือลำหนึ่งไปยึดเรือลำอื่นๆได้ต่อ

หลังการต่อสู้ระยะอันรุนแรง อังกฤษสามารถยึดเรือฝรั่งเศสได้หลายลำ ส่วนพลหน้าไม้เจนัวสามารถยึดเรืออังกฤษได้สองลำ กองเรือที่สองของฝรั่งเศสจึงแตกกระบวนแถว บางส่วนเข้ามาช่วยรบ อีกส่วนพยายามหนี บอคาเนกรานำกองเรือพายโบราณของเจนัวออกสู่ทะเลด้วยการพายเรือทวนกระแสลม เพื่อสลัดหนีกองกำลังที่ไล่ตามมาของอังกฤษและล่องเรืออกไปทางตะวันตก ทิ้งให้กองเรือฝรั่งเศสป้องกันตัวเองตามยถากรรม

กองเรือฝรั่งเศสถูกทำลายไม่มีเหลือ อัศวิน ทหารติดอาวุธ ทหารทั่วไป และลูกเรือฝรั่งเศสทั้งกระโดดและถูกโยนลงทะเล หลายคนจมน้ำตายเพราะน้ำหนักของอาวุธที่ติดตัว คนที่หนีขึ้นฝั่งถูกสังหารบนฝั่ง

ยุทธการจบลงในช่วงย่ำค่ำด้วยชัยชนะท่วมท้นของอังกฤษ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ได้รับบาดเจ็บ อาจจะด้วยธนูหรือหน้าไม้ของศัตรู

จำนวนผู้บาดเจ็บล้มตาย แก้

ยุทธการยุคกลางทั้งหลายล้วนยากที่จะชี้ชัดจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายได้ แต่คาดว่าฝ่ายฝรั่งเศสคาดว่าน่าจะบาดเจ็บล้มตายราวหมื่นกว่าคน ขณะที่ฝ่ายอังกฤษไม่มีระบุจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตาย ฝรั่งเศสน่าเสียเรือทั้งหมดยกเว้นกองเรือพายโบราณของบอคาเนกราที่หนีไปได้ อูก กีเยเร ผู้บัญชาการฝรั่งเศสถูกสังหาร ส่วนนิโกลา บิอูเชถูกจับกุมและถูกพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 สั่งแขวนคอ

หลังยุทธการ แก้

ยุทธการสเลาส์ทำให้ทัพเรือฝรั่งเศสสิ้นฤทธิ์ไปหลายปี หลังเสร็จสิ้นยุทธการพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดได้นำทัพเข้าปิดล้อมเมืองกรุงตูร์แนของแฟลนเดอร์ซึ่งภักดีต่อพระเจ้าฟีลิปที่ 6 กองทัพของพระองค์ไปถึงตูร์แนในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1340 และเริ่มทำการปิดล้อมเมือง เมื่อเวลาผ่านไปเงินค่าจ้างทหารของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เริ่มหร่อยหรอ ฝ่ายกรุงตูร์แนก็เริ่มขาดแคลนอาหาร ในวันที่ 22 กันยายน ฌานแห่งวาลัว มารดาของพระมเหสีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ได้เดินทางมาหาพระองค์ที่ค่ายเพื่อร้องขอสันติภาพ ก่อนหน้านั้นพระนางได้ร้องขอต่อพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แบบเดียวกัน อังกฤษกับฝรั่งเศสจึงตกลงทำสัญญาพักรบอิสเปลช็องในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1340 การปิดล้อมตูร์เนย์จึงจบลงโดยไม่มีใครเสียหน้า

อ้างอิง แก้