แร้ง

นกกินซากสัตว์
(เปลี่ยนทางจาก นกแร้ง)
แร้ง
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไมโอซีน–ปัจจุบัน
แร้งเทาหลังขาวในอินเดีย
แร้งดำในปานามา
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
Families

Accipitridae (Aegypiinae)
Cathartidae

แร้งสีน้ำตาล (Gyps indicus)

แร้ง หรือ อีแร้ง[1] เป็นนกขนาดใหญ่จำพวกหนึ่ง อยู่ในกลุ่มนกล่าเหยื่อเช่นเดียวกับเหยี่ยว, อินทรี หรือนกเค้าแมว โดยที่แร้งถือว่าเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มนี้

ลักษณะ แก้

แร้ง จะแตกต่างไปจากนกในกลุ่มนี้คือ จะไม่ล่าเหยื่อหรือกินสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นอาหารได้ แต่จะกินเฉพาะซากสัตว์ที่ตายแล้ว อันเนื่องจากอุ้งตีนของแร้งนั้นไม่แข็งแรงพอที่จะขย้ำเหยื่อได้ เพราะได้วิวัฒนาการให้มีอุ้งตีนที่แบนและกรงเล็บที่เล็กสั้นเหมาะกับการอยู่บนพื้นดินมากกว่านกล่าเหยื่อจำพวกอื่น แร้งมีรูปร่างโดยรวมคือ ปีกกว้าง หางสั้น มีคอที่ยาว หัวเล็ก บริเวณต้นคอมีขนสีขาวรอบเหมือนสวมพวงมาลัย มีลักษณะเด่นคือ ขนที่หัวและลำคอแทบไม่มีเลยจนดูเหมือนโล้นเลี่ยน สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะพฤติกรรมการกินซากสัตว์ จึงไม่มีขนเพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของเชื้อโรค และเพื่อความสะดวกในการในการมุดกินซากด้วย มีลิ้นที่มีร่องลึกและเงี่ยงเล็ก ๆ หันไปทางด้านหลังเพื่อช่วยในการกินอาหารคำโต อีกทั้งแร้งยังมีกระเพาะพิเศษขนาดใหญ่ที่เก็บอาหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลอดอาหาร รวมถึงในลำไส้รวมถึงกระเพาะของแร้งก็ยังมีกรดที่มีฤทธิกัดกร่อนสามารถฆ่าแบคทีเรียหรือจุลชีพอื่น ๆ ที่มีอยู่ในซากสัตว์ด้วย จึงทำให้แร้งสามารถกินซากเน่าเปื่อยได้โดยไม่เป็นอันตราย[2] แต่กระนั้นแร้งก็ยังสามารถจับสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงหรือสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก เช่น กิ้งก่า, จิ้งจก หรือไข่นกชนิดอื่น กินเป็นอาหารในบางครั้งได้อีกด้วย

แร้งบางชนิดสามารถกินอาหารที่มีน้ำหนักถึงร้อยละ 20 ของน้ำหนักตัวได้ โดยเก็บไว้ในกระเพาะอาหารพิเศษที่เป็นส่วนหนึ่งของหลอดอาหารเพื่อรอการย่อย[2]

การจำแนก แก้

 
ลักษณะหัวและลำคอพญาแร้ง (Sarcogyps calvus) ที่โล้นเลี่ยน

แร้งแบ่งออกได้เป็น 23 ชนิด ใน 2 วงศ์ใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ

แร้งทั้ง 2 กลุ่ม มีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน คือ กินซากสัตว์หรือซากศพมนุษย์ที่ตายไป โดยมักจะอยู่รวมเป็นฝูง และบินวนไปรอบ ๆ ที่มีซากศพหรือซากสัตว์ตายเพื่อรอจังหวะกิน แร้งจะตะกละตะกลามมากเวลาลงกินอาหาร มักจะจิกตีหรือแย่งชิงกันเสียงดังบ่อย ๆ เวลากิน จึงมีสำนวนในภาษาไทยว่า "แร้งทึ้ง" อันหมายถึง พฤติกรรมการแย่งชิงกันอย่างน่าเกลียด แต่ด้วยความที่เป็นสัตว์กินซาก แร้งจึงใช้เวลาที่นอกเหนือไปจากการกินอาหาร ด้วยการไซ้ขน กางปีก ผึ่งแดด เพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วย[3] โดยแร้งอาจใช้พื้นที่หากินกว้างถึง 480,000 ตารางกิโลเมตร โดยร่อนไปบนกระแสลมร้อนโดยที่ไม่ต้องใช้พลังงานมากเลย เนื่องจากช่วงปีกที่กว้างใหญ่ และถึงแม้ว่าสายตาของแร้งอาจจะดีสู้นกล่าเหยื่อจำพวกอื่นไม่ได้ แต่แร้งก็ยังสามารถมองเห็นได้ไกลถึง 35 กิโลเมตร จากบนท้องฟ้า

แร้งเป็นนกที่ครองคู่เพียงคู่เดียวตลอดทั้งชีวิต ซึ่งอาจจะครองคู่อยู่ด้วยกันนานถึง 30 ปี [2]

ชนิดที่พบในประเทศไทย แก้

สำหรับในประเทศไทยพบแร้งทั้งหมด 5 ชนิด โดยแบ่งเป็นแร้งอพยพ 2 ชนิด คือ แร้งดำหิมาลัย (Aegypius monachus) และ แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย (Gyps himalayensis) แร้งประจำถิ่น 3 ชนิด คือ พญาแร้ง (Sarcogyps calvus), แร้งสีน้ำตาล (Gyps itenuirostris) และแร้งเทาหลังขาว (G. bengalensis) ซึ่งทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ทั้งหมด

แร้งประจำถิ่นไทยในปัจจุบันนี้ มีโครงการเพาะพันธุ์พญาแร้งเพื่อฟื้นฟูประชากรในถิ่นอาศัยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[4] อีกทั้งยังมีการจัดทำแหล่งอาหารโดยจัดหาซากสัตว์ที่ปลอดจากยาต้านอักเสบไดโคลฟีแนค ให้แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยกินเป็นอาหารในฤดูหนาว เรียกว่า "ร้านอาหารแร้ง" (Vulture restaurant หรือ feeding station) ที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดนครนายก โดยกลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีในประเทศไทย[5] และงานวิจัยนกนักล่าและอายุรศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ และกองทุนวิจัยนกนักล่าเพื่อการอนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร ์ ร่วมกับชมรมอนุรักษ์นกเหยี่ยวปากพลี และกลุ่มถ่ายภาพนกและธรรมชาติ Bird Home [6] [7][4]

ในวัฒนธรรมและความเชื่อ แก้

ของไทย แก้

แร้งในความเชื่อของมนุษย์ แทบทุกวัฒนธรรมจะถือว่าเป็นนกที่อัปมงคล เพราะพฤติกรรมที่กินซากศพและรูปร่างหน้าตาที่น่าเกลียดน่ากลัว ในความเชื่อของคนไทย แร้งเป็นนกที่นำมาซึ่งความอัปมงคลเช่นเดียวกับนกแสก เมื่อสมัยอดีต ประเพณีการปลงศพในบางพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญหรือในบางวัฒนธรรม เช่น ทิเบต จะทิ้งซากศพไว้กลางแจ้ง มักจะมีแร้งมาเกาะคอยรอกินศพอยู่บริเวณรอบ ๆ นั้นเสมอ ๆ และเมื่อครั้งที่เกิดอหิวาตกโรคระบาดอย่างร้ายแรง ในปีพุทธศักราช ๒๓๖๓ ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ ๒ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในพระนคร การเผาศพทำไม่ทัน จนต้องมีศพกองสุมกันที่วัดสระเกศ มีแร้งลงมาจิกกินเป็นที่น่าสังเวชแก่ผู้พบเห็น จนมีคำกล่าวว่า "แร้งวัดสระเกศ" คู่กับ "เปรตวัดสุทัศน์" นอกจากนี้ยังมีบันทึกว่าในเช้าของวันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2481 มีแร้งนับจำนวนนับร้อยตัวได้บินมาลงที่ท้องสนามหลวงอย่างไม่ทราบสาเหตุ จากนั้นในเวลาบ่ายของวันเดียวกันก็ได้บินกลับไป ซึ่งต่อมาก็ได้มีเหตุร้ายแรงของบ้านเมืองเกิดขึ้น คือ กบฏพระยาทรงสุรเดช และสงครามอินโดจีน[8]

และชื่อของอำเภอแก่งคอย อำเภอหนึ่งในจังหวัดสระบุรี อันเป็นปากทางเข้าสู่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่หรือ "ดงพญาไฟ" ในอดีต ก็เคยมีชื่อเรียกว่า "แร้งคอย" อันเนื่องมาจากการที่ผู้คนที่สัญจรเข้าไปในป่าแห่งนี้ มักจะตายลงด้วยไข้ป่า จนแร้งต้องมาคอยกินซากศพ จึงเป็นที่มาของชื่ออำเภอ[9]

และด้วยความที่แร้งเป็นนกขนาดใหญ่ที่หัวและคอล้านเลี่ยนดูคล้ายไก่งวง ในอดีตก็เคยมีคนไทยนำแร้งมาขายแก่ชาวต่างชาติเนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า โดยหลอกว่าเป็นไก่งวงมาแล้ว แต่ท้ายที่สุดความก็แตก เนื่องจากแร้งตัวนั้นได้บินหนีไปในที่สุด[10]

ในวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป แก้

แต่ในบางวัฒนธรรม แร้งก็มีความหมายที่แตกต่างออกไป เช่น ในสมัยอียิปต์โบราณ อักษรเฮียโรกริฟฟิกที่เป็นอักษรภาพตัวหนึ่ง (ในภาพ)
A
หมายถึง "แม่" ก็นำมาจากแร้งอียิปต์ (Neophron percnopterus) ซึ่งเป็นแร้งชนิดหนึ่งในวงศ์แร้งโลกเก่าที่พบได้ในประเทศอียิปต์และแอฟริกาตอนเหนือ

ในวัฒนธรรมของทิเบต มีพิธีศพที่เรียกว่า "การฝังศพกับฟากฟ้า" ที่ญาติผู้ตายจะให้สัปเหร่อนำร่างผู้ตาย ไม่ใส่โลง ไม่ใส่เสื้อผ้า ทำพิธีสวดมนต์ส่งวิญญาณ ก่อนที่สัปเหร่อจะหามร่างของผู้ตายขึ้นไปบนภูเขาสูง พร้อมใช้มีดแล่เนื้อของผู้ตายเป็นชิ้น ๆ แล้วให้แร้งกิน เชื่อว่าแร้งจะเป็นผู้นำทางวิญญาณผู้ตายไปสู่สรวงสวรรค์[11]

ในชนเผ่าพื้นเมืองแถบแอฟริกาใต้ มียาพื้นบ้านที่เรียกว่า "มูติ" (Muti) ทำมาจากหัวแร้งตากแห้ง เชื่อว่าหากนำไปเผาไฟ ผู้ที่ได้สูดดมควันที่ลอยขึ้นมาจะเคลิบเคลิ้มทำให้ล่วงรู้อนาคตได้เหมือนการเข้าฌาน [2]

จากบันทึกของชาลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ผู้เป็นที่รู้จักจากการเผยแพร่แนวคิดเรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการและการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ขณะที่โดยสารบนเรือบีเกิลในปี ค.ศ. 1835 ดาร์วินได้บันทึกถึงแร้งไว้ว่า "น่าขยะแขยง", "มีหัวล้าน" และ "เลือกเกลือกกลิ้งบนซากเน่าเหม็น" [2]

สถานะในปัจจุบัน แก้

ปัจจุบัน แร้งแทบทุกชนิดตกอยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์และหายาก เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติถูกรุกราน และสภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนไป ประเพณีการปลงศพก็ไม่ได้ทำอย่างในอดีต ทำให้แร้งจำนวนหนึ่งต้องตายลงเนื่องจากไม่มีอาหารกิน และในอนุทวีปอินเดีย แร้งหลายตัวต้องตายลงเนื่องจากไปกินซากสัตว์ที่ปนเปื้อนสารเคมีและเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ [12]

อ้างอิง แก้

  1. บรรจบ พันธุเมธา, ศาสตราจารย์, ดอกเตอร์. ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2514, หน้า 67
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 หน้า 86-109, วายร้ายแสนดี โดย เอลิซาเบท รอยต์. เนชั่นแนลจีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย ฉบับที่ 174: มกราคม 2559
  3. แร้ง - ชีวิตพิศดารของสัตว์ (๒) โดย ประพันธ์ บุญกลิ่นขจร: ต่วยตูน
  4. 4.0 4.1 ช่วยแร้งเชิงรุก https://www.matichon.co.th/columnists/news_1442482
  5. Thai Raptor Group www.facebook.com/ThaiRaptorGroup.TRG
  6. ร้านอาหารแร้ง https://adaymagazine.com/condor-restuarant/
  7. Feeding stations for near-threatened HImalayan Vultures http://www.birdsofthailand.org/content/feeding-stations-near-threatened-himalayan-vultures เก็บถาวร 2019-04-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. หน้า 19-21, ยุคทมิฬ บันทึกนักโทษฝ่ายกบฏบวรเดช โดย พายัพ โรจนวิภาต (พ.ศ. 2554) ISBN 978-6167146-22-5
  9. [ลิงก์เสีย] สารคดีพิเศษ : แก่งคอย : ผู้คน สายน้ำ ขุนเขา ใต้เงาหมอกควัน จากสารคดี
  10. [ลิงก์เสีย] รายการพินิจนคร ตอน สามแพร่งแห่งคลองรอบกรุง ปริศนารอบป้อมมหากาฬ ออกอากาศเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552
  11. เวหาฌาปนกิจ (Sky Burial) วิธีทำศพแบบ ทิเบต เลือดเนื้อเพื่อสัตว์โลก[ลิงก์เสีย]
  12. นักสิ่งแวดล้อมร่วมด้วยช่วยอีแร้งพม่า เก็บถาวร 2021-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากผู้จัดการออนไลน์

แหล่งข้อมูลอื่น แก้