คลองรอบกรุง
คลองรอบกรุง (อักษรโรมัน: Khlong Rop Krung) เป็นคลองขุดรอบพระนครชั้นกลาง (ชั้นที่สอง) ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2326 เมื่อครั้งย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมาอยู่ฝั่งพระนคร โดยแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณข้างป้อมพระสุเมรุ และไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณข้างสะพานพุทธยอดฟ้า
คลองรอบกรุง | |
---|---|
คลองรอบกรุงและป้ายในปัจจุบัน | |
ตำแหน่ง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ข้อมูลจำเพาะ | |
ความยาว | 3.426 km (2.129 ไมล์) |
ประตูกั้นน้ำ | 2 |
ประวัติ | |
วันที่อนุมัติ | พ.ศ. 2396 |
เริ่มก่อสร้าง | พ.ศ. 2396 |
ข้อมูลภูมิศาสตร์ | |
ทิศ | ตะวันตกเฉียงใต้ |
จุดเริ่มต้น | แม่น้ำเจ้าพระยา แขวงชนะสงคราม และแขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร |
จุดสิ้นสุด | แม่น้ำเจ้าพระยา แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร และแขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ |
สาขา | คลองมหานาค |
สาขาของ | แม่น้ำเจ้าพระยา |
เชื่อมต่อกับ | แม่น้ำเจ้าพระยา |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | คลองรอบกรุง |
ขึ้นเมื่อ | 29 เมษายน พ.ศ. 2519 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร |
เลขอ้างอิง | 0000016 |
ในครั้งนั้นพระนครฝั่งตะวันออก มีภูมิประเทศเป็นแหลมโค้ง มีลำน้ำโอบอยู่สามด้าน ส่วนด้านในซึ่งติดกับผืนแผ่นดิน ได้ขุดเป็นคูเมืองไว้ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี จึงมีสัณฐานคล้ายเกาะ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อซากป้อมบางกอกเดิมกับกำแพงเมืองครั้งกรุงธนบุรี เพื่อขยายกำแพงและคูพระนครใหม่ให้กว้างออกไป คูพระนครใหม่นี้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดขนานไปกับแนวคูเมืองเดิม เริ่มจากริมแม่น้ำตอนบางลำพู วกไปออกแม่น้ำข้างใต้ บริเวณเหนือวัดสามปลื้ม ยาว 85 เส้น 13 วา กว้าง 10 วา ลึก 5 ศอก พระราชทานนามว่า "คลองรอบกรุง"
ประชาชนโดยมากมักเรียกชื่อคลองแตกต่างตามสถานที่ที่คลองผ่าน เช่น ช่วงต้นที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาข้างป้อมพระสุเมรุเรียก "คลองบางลำพู" ตามชื่อตำบล เมื่อผ่านสะพานหันเรียก "คลองสะพานหัน" เมื่อผ่านวัดเชิงเลน เรียก "คลองวัดเชิงเลน" และช่วงสุดท้ายก่อนออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณข้างสะพานพุทธเรียก "คลองโอ่งอ่าง" เพราะเคยเป็นแหล่งค้าขายเครื่องดินเผาของชาวมอญและชาวจีน เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ให้เรียกชื่อคลองนี้ให้ถูกต้องว่า "คลองรอบกรุง"[1][2]
ดูเพิ่ม
แก้- คลองคูเมืองเดิม คลองรอบกรุงชั้นแรก ขุดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
- คลองผดุงกรุงเกษม คลองรอบกรุงชั้นที่สาม ขุดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อ้างอิง
แก้- ↑ "ไฮไลต์ใหม่ที่คลองโอ่งอ่าง". ไทยรัฐ. 26 November 2015. สืบค้นเมื่อ 26 November 2015.
- ↑ "คลองรอบกรุง". ไทยรัฐ. 5 November 2011. สืบค้นเมื่อ 26 November 2015.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ คลองรอบกรุง
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
13°44′45″N 100°30′13″E / 13.745858°N 100.503702°E