สัตว์เลื้อยคลาน

สัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง
สัตว์เลื้อยคลาน
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 320–0Ma ยุคคาร์บอนิเฟอรัส - ปัจจุบัน
ตามเข็มนาฬิกาจากบนซ้าย: เต่าตนุ, ทัวทารา, จระเข้แม่น้ำไนล์, และ Sinai agama.
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ไฟลัมย่อย: Sauropsida
ชั้น: Reptilia
Laurenti, 1768
อันดับ
แผนที่การกระจายพันธุ์ของสัตว์เลื้อยคลานทั่วโลก

สัตว์เลื้อยคลาน (อังกฤษ: reptile) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง โดยคำว่า Reptilia มาจากคำว่า Repera ที่มีความหมายว่า "คลาน" เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่จัดเป็นสัตว์ในกลุ่มแรก ๆ ของโลกที่มีการดำรงชีวิตบนบกอย่างแท้จริง สัตว์เลื้อยคลานในยุคดึกดำบรรพ์ที่รอดชีวิตจากการสูญพันธุ์และยังดำรงชีวิตในปัจจุบัน มีจำนวนมากถึง 7,000 ชนิด[1] กระจายอยู่ทั่วโลกทั้งชนิดอาศัยในแหล่งน้ำและบนบก จัดเป็นกลุ่มของสัตว์ที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายในการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์หินอุกกาบาตพุ่งชนโลกมามากกว่า 100 ล้านปีมาแล้ว

ในยุคจูแรสซิกที่อยู่ในมหายุคมีโซโซอิก ซึ่งมีอายุของยุคที่ยาวนานถึง 100 ล้านปี จัดเป็นยุคที่สัตว์เลื้อยคลานมีวิวัฒนาการจนถึงขีดสุด[2] มีสัตว์เลื้อยคลานมากมายหลากหลายขนาด ตั้งแต่กิ้งก่าตัวเล็ก ๆ จนถึงไทรันโนซอรัส เร็กซ์ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนมากมายครอบครองพื้นที่ทั่วทุกแห่งในโลก ยุคจูแรสซิกจึงถือเป็นยุคของสัตว์เลื้อยคลานอย่างแท้จริง ต่อมาภายหลังเกิดเหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งชนโลก ทำให้กลุ่มสัตว์บกที่อาศัยในยุคจูแรสซิก เกิดล้มตายและสูญพันธุ์อย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุของการสูญพันธุ์ที่ชัดเจนและแน่นอน

การสูญพันธุ์และการปรับตัว

แก้

จากเหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งชนโลกเมื่อ 100 ล้านปีมาแล้ว ทำให้สัตว์เลื้อยคลานในยุคจูแรสซิกเกิดการสูญพันธุ์อย่างกะทันหัน จำนวนที่เคยมีมากถึง 12 กลุ่ม ได้ลดจำนวนลงเหลืออยู่เพียง 4 กลุ่มเท่านั้น ซึ่งกลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ดีที่สุดคืองู และสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดได้แก่ จิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งก่า จิ้งเหลน และรองลงมาเป็นจระเข้และแอลลิเกเตอร์ สำหรับสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มที่ยังคงลักษณะทางกายภาพแบบโบราณ ที่ไม่มีการปรับตัวให้แตกต่างไปจากบรรพบุรุษคือเต่า และสัตว์เลื้อยคลานในกลุ่มสุดท้ายคือทัวทารา ซึ่งมีเพียงชนิดเดียวและสามารถพบเห็นได้ที่นิวซีแลนด์เพียงประเทศเดียวเท่านั้น[3]

สัตว์เลื้อยคลาน มีการปรับสภาพร่างกายที่แตกต่างไปจากสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกหลายอย่าง ซึ่งทำให้สัตว์เลื้อยคลานนั้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพภูมิอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งในทะเลทรายได้ แต่สำหรับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกไม่สามารถดำรงชีวิตในทะเลทรายได้ เนื่องจากเวลาผสมพันธุ์ จะต้องอาศัยแหล่งน้ำเป็นตัวกลางในการผสมพันธุ์ ผิวหนังของสัตว์เลื้อยคลานมีความแห้ง หยาบกระด้างกว่าผิวหนังที่ลื่น และเป็นเมือกของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งจะช่วยป้องกันการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย และช่วยป้องกันอันตรายให้แก่ผิวหนังรวมทั้งไม่มีต่อมเหงื่อและต่อมน้ำมันอยู่ใต้ชั้นของผิวหนัง ซึ่งช่วยทำให้ป้องกันการสูญเสียน้ำและการระเหยของน้ำได้เป็นอย่างดี

สิ่งสำคัญที่สุดคือ สัตว์เลื้อยคลานนั้นจะวางไข่บนพื้นดิน และมีการวิวัฒนาการให้มีการปฏิสนธิของตัวอ่อนภายในเปลือกไข่ ซึ่งเป็นการปรับตัวตามสภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีการดำรงชีวิตให้รอดพ้นจากแหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังมีการวิวัฒนาการของเปลือกไข่ เพื่อช่วยให้ตัวอ่อนภายในไข่มีชีวิตรอดออกมาเป็นตัว เปลือกไข่ของสัตว์เลื้อยคลานทำให้สามารถวางไข่บนพื้นดินแห้งได้ เอมบริโอจะเจริญเติบโตและลอยตัวอยู่ในของเหลวภายใน ที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มเยื่อหุ้มไข่ (Amnion) เอมบริโอจึงมีของเหลวล้อมรอบเช่นเดียวกับการวางไข่ในแหล่งน้ำ นอกจากนี้เอมบริโอยังมีถุงอาหารที่มีเยื่ออัลแลนทอยส์ (Allantois) ซึ่งเป็นเยื่อสำหรับการแลกเปลี่ยนแก๊สผ่านเปลือกไข่ ที่เยื่ออัลแลนทอยส์ จะมีถุงสำหรับสะสมของเสียที่เกิดขึ้นในระหว่างการเจริญเติบโต จนเป็นตัวเต็มวัยก่อนออกจากเปลือกไข่ ซึ่งการที่สัตว์เลื้อยคลานสามารถวางไข่บนบกได้นั้น จึงเป็นผลของการวิวัฒนาการร่างกายที่ดีกว่าสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก

วิวัฒนาการ

แก้
 
สัตว์ต้นตระกูลขนาดเล็ก ต้นตระกูลของสัตว์เลื้อยคลาน

สัตว์เลื้อยคลาน มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในกลุ่ม Labyrinthodont ที่นักชีววิทยาต่างยอมรับในด้านของการวิวัฒนาการ เป็นสัตว์ที่มีเกล็ดปกคลุมผิวหนังทั่วทั้งลำตัวเช่นเดียวกับปลาที่มีชีวิตอยู่ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous period) ในมหายุคพาลีโอโซอิก (Palaeozoic era) หรือเมื่อประมาณ 280 ล้านปีมาแล้ว สัตว์เลื้อยคลานที่เป็นต้นตระกูลของสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมดคือ Captorhinomorphs ซึ่งมีรูปร่างและลักษณะคล้ายคลึงกับสัตว์จำพวกกิ้งก่า สัตว์ต้นตระกูลของสัตว์เลื้อยคลาน จัดเป็นสัตว์ขนาดที่มีขนาดลำตัวเล็ก อาหารส่วนใหญ่จึงเป็นแมลง

จากสัตว์ต้นตระกูลขนาดเล็ก ได้มีการวิวัฒนาการทางด้านกายภาพอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสัตว์เลื้อยคลานในกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในการวิวัฒนาการ มีด้วยกันทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ไดโนเสาร์ (Dinosaurs) สัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ในทะเล (Marinereptiles - euryapsida) สัตว์เลื้อยคลานที่สามารถบินได้ (Flying reptiles - pterisaurs) และสัตว์เลื้อยคลานที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายคลึงกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (Mammal reptiles - therapsida)

สัตว์เลื้อยคลานมีการปรับสภาพร่างกายตั้งแต่ในยุคไทรแอสซิก และมีวิวัฒนาการในการด้านปรับสภาพร่างกายจนถึงขีดสุดในยุคต่อมาคือยุคจูแรสซิก ซึ่งเป็นยุคที่มีสัตว์เลื้อยคลานมากที่สุดในขณะนั้นคือไดโนเสาร์และเทอโรซอส์ จนได้รับการขนานนามสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ว่า "สัตว์เลื้อยคลานเจ้าโลก" (Ruling eptile) เนื่องจากในยุคนั้น เป็นยุคที่มีสัตว์เลื้อยคลานครอบครองโลก แต่เมื่อถึงปลายยุคครีเทเซียส หรือเมื่อประมาณ 65 - 80 ล้านปีมาแล้ว สัตว์เลื้อยคลานทั้ง 2 กลุ่มได้เกิดการสูญพันธุ์ ล้มตายลงเป็นจำนวนมากอย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุของการสูญพันธุ์ และในตอนปลายของยุคครีเทเซียส ได้เกิดการเปลี่ยนปลงต่าง ๆ จำนวนมากเช่น เกิดพืชและไม้ดอกในยุคปัจจุบัน

ภายหลังจากสัตว์เลื้อยคลานเริ่มสูญพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเริ่มมีการแพร่กระจายเผ่าพันธุ์อย่างรวดเร็ว จนครอบครองโลกแทนสัตว์เลื้อยคลาน สภาพภูมิอากาศจากที่ร้อนจัดจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ เริ่มเย็นลงตามลำดับและมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่ปรากฏในยุคปัจจุบันเริ่มถือกำเนิดขึ้น แต่ไดโนเสาร์และเทอโรซอส์ไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน หรืออาจสูญพันธุ์จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปร่วมกับปัจจัยในด้านนิเวศวิทยา

แต่ยังมีสัตว์เลื้อยคลาน 4 กลุ่มและบางชนิด ที่สามารถเอาตัวรอดจากการสูญพันธุ์ได้ จนมีชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบันเช่นเต่าที่จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานในยุคโบราณ ที่ยังมีชีวิตรอดมาได้เนื่องจากมีกระดองสำหรับป้องกันตัวเอง งูและสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ด อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณที่เป็นป่าโปร่ง และตามซอกหิน ช่วยทำให้รอดพ้นจากศัตรู จระเข้และแอลลิเกเตอร์มีขนาดร่างกายที่ใหญ่และดูน่ากลัว รวมทั้งพละกำลังมหาศาลทำให้มีศัตรูน้อย เป็นต้น

ลักษณะทั่วไป

แก้
 
รยางค์และนิ้วเท้าของแอลลิเกเตอร์ มักแผ่ออกเพื่อช่วยในการเคลื่อนไหว
 
ลักษณะกระดองของเต่า ที่เป็นผิวหนังชั้นเยื่อบุผิว

สัตว์เลื้อยคลานโดยทั่วไป จะมีรยางค์เป็นคู่และมักจะมีนิ้วเท้าทั้งหมด 5 นิ้วเสมอ[4] เพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ไปมาได้อย่างรวดเร็ว โครงร่างโดยทั่วไปประกอบด้วยกระดูกที่มีการเจริญเติบโตเป็นอย่างดี ในการจำแนกสัตว์เลื้อยคลาน จะใช้วิธีการอาศัยลักษณะของกะโหลก ซึ่งมีความแตกต่างกันในสัตว์เลื้อยคลานแต่ละกลุ่มเป็นตัวจำแนกเช่น งูมีข้อกระดูกสันหลังจำนวนมาก ไม่มีกระดูกอกและไม่มีกระดูกรองรับแขนขา

มีการปรับโครงสร้างและสภาพร่างกายเพื่อรองรับการปีนป่าย การวิ่ง รวมทั้งการว่ายน้ำ ซึ่งการปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายของสัตว์เลื้อยคลาน จะไม่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่จะมีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นเช่น งู และสัตว์จำพวกกิ้งก่าบางชนิดที่ไม่มีรยางค์ มีผิวหนังหรือระบบเครื่องห่อหุ้ม (Integumentary system) ซึ่งจะแตกต่างกันตามรูปร่างและลักษณะของสัตว์เลื้อยคลาน ที่มีความแตกต่างกันไปในกลุ่มต่าง ๆ ผิวหนังและตลอดทั่วทั้งลำตัวมีเกล็ดแข็งขึ้นปกคลุม ซึ่งเป็นเกล็ดที่เกิดจากอิพิเดอร์มิส (Horny epidermal scale) และอาจจะมีแผ่นกระดูกจากชั้นของผิวหนังเดอร์มิส (Dermal plate) ร่วมอยู่ด้วย

มีต่อมที่บริเวณผิวหนังน้อยมากหรือไม่มีเลยในบางกลุ่มและบางชนิด สัตว์เลื้อยคลานมีผิวหนังที่ประกอบด้วยอิพิเดอร์มิสที่บางและหนา มีเดอร์มิสที่มีเซลล์เม็ดสี (Chromatophore) ช่วยทำให้ผิวหนังของสัตว์เลื้อยคลานมีสีสันต่าง ๆ เช่น สีเกล็ดของงูชนิดต่าง ๆ สีเกล็ดของจระเข้ หรือสีเกล็ดของกิ้งก่า จิ้งเหลน เป็นต้น เกล็ดของสัตว์เลื้อยคลานส่วนใหญ่เกิดจากอิพิเดอร์มิส ซึ่งในบางชนิดจะมีเกล็ดถาวรตลอดชีวิต ตั้งแต่ออกจากไข่จนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยเช่น จระเข้ เหี้ย มังกรโคโมโด แอลลิเกเตอร์ ฯลฯ

แต่สำหรับสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดเช่นจิ้งจก งู หรือกิ้งก่า จะทำการสร้างเกล็ดขึ้นมาใหม่ภายใต้ชั้นผิวหนังที่มีเกล็ดเดิมปกคลุมอยู่ การสร้างเกล็ดใหม่จะช่วยทำให้เกล็ดเดิมที่บริเวณชั้นผิวหนังของสัตว์เลื้อยคลาน เกิดการลอกหลุดออกทั้งชั้นเช่นการลอกคราบของงู โดยงูจะทิ้งเกล็ดเดิมเอาไว้ทั้งหมดด้วยวิธีการปลิ้นออกจากร่างกายตั้งแต่หัวจรดหาง โดยที่คราบจะยังคงรูปเดิมเอาไว้และไม่ฉีกขาด แต่สำหรับลิซาร์ดหรือสัตว์จำพวกกิ้งก่า จะใช้วิธีการทำให้เกล็ดที่ปกคลุมผิวหนังอยู่เดิมนั้นเกิดการแตกแยกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วเกล็ดใหม่จะขึ้นมาแทนที่เกล็ดเดิมที่หลุดออกไป

เต่าจะมีกระดองที่เป็นผิวหนังชั้นเยื่อบุผิว ซึ่งกระดองเต่านั้นจะเป็นแผ่นเกล็ดปกคลุมร่างกาย (Epidermal horny shield scutes) และผิวหนังชั้นในที่มีแผ่นกระดูก (Dermal hony plate) ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระดูก มีลักษณะติดอยู่กับด้านในของแผ่นเกล็ด ซ้อนกันเป็นชั้นจนกลายเป็นกระดองของเต่าที่มีความแข็งแรงคงทน สำหรับช่วยป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้แก่เต่า กระดองเต่าบริเวณด้านหลังเรียกว่าคาราเพส (Carapace) มีลักษณะเหมือนกับรูปโดม ขนาดเล็กหรือใหญ่ของกระดองเต่าจะขึ้นอยู่กับลักษณะภายนอกและขนาดของเต่าเป็นสำคัญ

กระดูกสันหลังและกระดูกซี่โครงของเต่า จะขยายตัวออกและเชื่อมติดกันเป็นเนื้อเดียว ติดกับบริเวณผิวด้านในของเกล็ด สำหรับกระดองเต่าบริเวณด้านท้องเรียกว่าพลาสทรอน (Plastron) จะมีกระดูกรองรับบริเวณแขน ขา และส่วนกระดูกบริเวณอกที่แบนลงไปจะเกาะติดกับบริเวณด้านในของเกล็ดบริเวณด้านท้องของกระดองเต่า แผ่นเกล็ดและแผ่นกระดูกจะมีการเรียงตัวอย่างสวยงามและเหลื่อมซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งระหว่างกระดองเต่าบริเวณด้านหลังและกระดองเต่าบริเวณด้านท้อง จะมีเยื่อหรือกระดูกที่เชื่อมต่อทางด้านข้าง แต่สำหรับเต่าบางชนิดนั้นจะไม่มีแผ่นเกล็ด ผิวหนังบริเวณลำตัวจะมีความอ่อนนุ่มและเหนียวคล้ายคลึงกับผิวหนังแทน

การจำแนกหมวดหมู่สัตว์เลื้อยคลาน

แก้

การจำแนกหมวดหมู่ของสัตว์เลื้อยคลานในปัจจุบัน จากเดิมที่เคยมีมากถึง 12 กลุ่ม แต่ภายหลังจากการสูญพันธุ์อย่างกะทันหันของไดโนเสาร์ จึงเหลือกลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานเพียงแค่ 4 กลุ่มเท่านั้น และเป็นการจัดอันดับของสัตว์เลื้อยคลานตามแบบของ Hickman et al., 198 ดังนี้[5]

สัตว์เลื้อยคลานในอันดับนี้ มีผิวหนังเป็นเกล็ดปกคลุมร่างกายสำหรับป้องกันตัว มีฟันเกาะอยู่กับขากรรไกร มีกระดูกสันหลังที่เว้าบริเวณด้านหน้า ทวารหนักเป็นช่องตามแนวขวาง ได้แก่งูซึ่งมีจำนวนประมาณ 3,000 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดหรือกิ้งก่าและงู ซึ่งมีจำนวนประมาณ 3,800 ชนิด

สัตว์เลื้อยคลานในอันดับนี้ มีร่างกายที่มีสิ่งห่อหุ้ม มีลักษณะเป็นแผ่นกระดูกที่เกิดจากชั้นผิวหนังเดอร์มิส ขากรรไกรไม่มีฟัน กระดูกสันหลังและกระดูกซี่โครงเชื่อมต่อกันเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นโครงร่างหรือกระดองภายใน ทารหนักเป็นช่องตามแนวยาว ได้แก่เต่าซึ่งมีจำนวนประมาณ 250 ชนิด

สัตว์เลื้อยคลานในอันดับนี้ มีกระดูกสันหลังที่มีลักษณะเว้าบริเวณด้านหน้า ขาคู่หน้ามักจะมีนิ้วเท้า 5 นิ้ว และขาคู่หลังมี 4 นิ้วเสมอ ทวารหนักเป็นช่องตามแนวยาว ได้แก่จระเข้และแอลลิเกเตอร์ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 25 ชนิด

สัตว์เลื้อยคลานในอันดับนี้ มีกระดูกสันหลังที่เว้าทั้ง 2 ด้าน มีนัยน์ตาอยู่บริเวณกลางศีรษะ (Parietal eye) ทวารหนักเป็นช่องตามแนวขวาง ได้แก่ทัวทาราซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานเพียงชนิดเดียวในอันดับนี้

Amniota

Synapsida (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และญาติที่สูญพันธุ์ไปแล้ว)  

Reptilia
Eureptilia
(total group)

สัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดและงู

แก้
 
กิ้งก่า สัตว์ในอันดับ อันดับ Squamata
 
ตุ๊กแก สัตว์ในอันดับ อันดับ Squamata
 
งู สัตว์ในอันดับ อันดับr Squamata

สัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดได้แก่กิ้งก่าชนิดต่าง ๆ และงู ถือเป็นผลจากการวิวัฒนาการร่างกายในระดับสูงสุด มีจำนวนประมาณร้อยละ 95 ของสัตว์เลื้อยคลานที่สามารถรอดชีวิตจากการสูญพันธุ์ในยุคครีเทเซียส ในขณะที่ไดโนเสาร์มีวิวัฒนาการที่เจริญอย่างถึงขีดสุด ความสำเร็จในการเอาตัวรอดของสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ด เกิดจากการวิวัฒนาการขากรรไกร ทำให้เกิดความคล่องตัวและการเคลื่อนไหวไปมา งูมีการวิวัฒนาการจนถึงขีดสุดในยุคครีเทเซียสตอนปลาย ซึ่งอาจจะเป็นการวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ด ทำให้มีขากรรไกรที่คล่องตัวเช่นเดียวกัน แต่สำหรับงูที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ฝังตัวเองภายในดิน ได้มีการพัฒนาการตัวเองให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ทำให้สามารถกินเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเองได้หลายเท่า

สัตว์เลื้อยคลานมีถิ่นที่อยู่อาศัยและแพร่กระจายในวงกว้าง สามารถดำรงชีวิตบนบกหรือฝังตัวเองอยู่ใต้ดิน อาศัยในแหล่งน้ำ พุ่มไม้ และมีบางกลุ่มที่สามารถร่อนไปมาระหว่างต้นไม้ได้ ซึ่งสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดที่หลงเหลือในปัจจุบันได้แก่จิ้งจก ตุ๊กแก ที่จัดเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ปราดเปรียวว่องไว ออกหากินในเวลากลางคืน นิ้วเท้ามี 5 นิ้วและแผ่ออก สามารถไต่และยึดเกาะกับผนังและเพดานได้ดี อิกัวนาในนิวซีแลนด์จะมีเกล็ดที่ปกคลุมผิวหนังที่มีสีสันสดใส มีแผงหลังเป็นสันตามยาว บริเวณแผงคอแผ่ออกคล้ายกับพัด จิ้งเหลนจะมีลำตัวยาว ขามีขนาดเล็ก

สัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดเช่น กิ้งก่า ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ตามพุ่มไม้ในทวีปแอฟริกาและเกาะมาดากัสการ์ มีลักษณะที่แตกต่างไปจากกิ้งก่าที่อาศัยในแถบทวีปอื่นเล็กน้อย ปลายลิ้นจะมีสารเหนียวสำหรับจับแมลง ซึ่งลักษณะตามถิ่นที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม จะเป็นตัวกำหนดให้ต้องมีการปรับตัวเฉพาะอย่างเช่น ในประเทศอินเดียมีกิ้งก่าบินสีฟ้า ที่มีผนังข้างลำตัวแผ่ออกเป็นปีกบาง ๆ ทำให้สามารถร่อนไปมาระหว่างต้นไม้ได้ หรือมังกรโคโมโดที่ปัจจุบันมีอยู่เฉพาะที่ประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดที่มีขนาดรูปร่างใหญ่โตที่สุด โดยทั่วไปขนาดลำตัวยาวประมาณ 3 เมตร กินกวางขนาดเล็ก หมูป่าและแกะเป็นอาหาร หรือตุ๊ดตู่ที่พบได้ตามหมู่เกาะมาลายู สุมาตรา บอร์เนียว พม่าและไทย

สัตว์เลื้อยคลานชนิดที่มีพิษได้แก่ Beaded lizard จะมีเกล็ดปกคลุมผิวหน้าที่มีลักษณะคล้ายลูกปัด มีอยู่ 2 ชนิดคือ Gila monsters ชนิด Heloderma suspectum อาศัยอยู่ในแถบทะเลทรายทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐ เป็นชนิดที่สามารถสะสมไขมันไว้ที่บริเวณปลายหาง และ Heloderma horridum ในเม็กซิโกและอเมริกากลาง สัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดทั้ง 2 ชนิด จะเปลี่ยนแปลงต่อมบริเวณผนังขากรรไกรด้านล่าง ให้สามารถสร้างพิษแล้วส่งมาตามร่องฟันในเวลากัดเหยื่อ ซึ่งลักษณะของวิธีการส่งพิษแบบนี้จะไม่มีประสิทธิภาพมากนักและไม่เป็นอันตรายร้ายแรงเหมือนถูกงูกัด บาดแผลจะหายเป็นปกติในระยะเวลาอันสั้น

สัตว์เลื้อยคลานชนิดที่ดำรงชีวิตอยู่ในทะเลทราย จะมีวิธีการรักษาอุณหภูมิของสภาพร่างกายให้ทนต่อสภาพอากาศร้อนจัดตามธรรมชาติ โดยสร้างพฤติกรรมในการรักษาอุณหภูมิของร่างกายด้วยการออกจากที่ฝังตัวเพื่อมานอนอาบแดดในตอนเช้าในขณะที่อากาศเริ่มอุ่น ลักษณะลำตัวเฉพาะที่แผ่แบนจะช่วยดูดซึมเอาความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี เมื่ออากาศเริ่มร้อนขึ้นตามลำดับ จะหันหัวเข้าหาดวงอาทิตย์เพื่อให้บริเวณลำตัวถูกแสงแดดให้น้อยที่สุด เมื่ออากาศเปลี่ยนเป็นร้อนจัดในตอนเที่ยงก็จะกลับเข้าไปอยู่ในรู และเมื่อดวงอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า อากาศเริ่มเย็นลงก็จะออกมานอนอาบแดดใหม่อีกครั้งจนกว่าแสงแดดจะหมด จึงจะกลับเข้าไปฝังตัวในรูอีกครั้ง

พฤติกรรมดังกล่าว จะช่วยให้สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่อยู่ในระหว่าง 36 - 39 องศาเซลเซียส ในขณะที่สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิตลอดเวลา คืออยู่ในระหว่าง 29 - 44 องศาเซลเซียส แต่มีบางชนิดที่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิที่ร้อนจัดได้เช่น เหี้ยที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐ ต้องการรักษาอุณหภูมิร่างกายอยู่ที่ 42 องศาเซลเซียส แต่สามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนจัดได้ถึง 47 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมไม่สามารถทนได้

สัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดเช่น กิ้งก่าจำนวนมากที่มีความสามารถในการเอาตัวรอดด้วยการสลัดหางทิ้งในเวลาถูกจับตัว เป็นลักษณะหนึ่งของการเอาตัวรอดด้วยการดัดแปลงส่วนบริเวณโคนหาง ให้สามารถหลุดขาดออกจากลำตัวได้อย่างง่ายดาย โดยที่กระดูกปลายหางตอนกลางจะมีร่องตามขวาง เมื่อถูกศัตรูจับหรือตะปบได้ รอยต่อตรงร่องกระดูกจะขาดออกแล้วสลัดหางทิ้งเพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจก่อนจะหลบหนีไป หลังจากนั้นร่างกายจะสร้างกระดูกบริเวณส่วนหางและกล้ามเนื้อขึ้นมาแทนใหม่อีกครั้ง

สำหรับงูซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ไม่มีขา เป็นเพียงชนิดเดียวที่ไม่มีกระดูกรองรับแขน (Pectoral girdle) และไม่มีกระดูกเชิงกราน (Pelvic girdle) แต่สำหรับงูที่มีขนาดลำตัวใหญ่โตเช่น งูเหลือม งูหลามหรืออนาคอนดา ยังคงหลงเหลือร่องรอยของกระดูกเชิงกรานอยู่ มีข้อของกระดูกสันหลังที่สั้นและมีความกว้างมากกว่าสัตว์สี่เท้าชนิดอื่น ๆ ทำให้สามารถเคลื่อนไหวลำตัวแบบลูกคลื่นได้ งูเป็นสัตว์ที่มีกระดูกซี่โครงแข็งแรงกว่าแท่งกระดูกสันหลัง ทำให้สามารถทนแรงกดดันทางด้านข้างได้มากกว่า

การเคลื่อนที่ขึ้นลงของกระดูกสันหลังของงู จะทำให้กล้ามเนื้อถูกยกขึ้นลงไปด้วย กะโหลกศีรษะมีลักษณะเฉพาะตัว หนังตาไม่เคลื่อนไหว นัยน์ตาไม่กะพริบ งูมีหนังตาบนและล่างที่ยาวเชื่อมติดกันไว้อย่างถาวร ไม่มีหูตอนนอกและแก้วหู (Tympanum) จึงไม่ได้ยินเสียงรอบข้าง แต่มีความไวต่อการสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นเช่น เสียงเดินบนพื้น นอกจากนี้งูยังมีประสิทธิภาพในด้านการมองเห็นที่ต่ำ ยกเว้นงูที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตร้อน ตามต้นไม้จะมีงูที่มีนัยน์ตาดีเยี่ยมอาศัยอยู่ ทำให้สามารถติดตามเหยื่อที่แฝงตัวและหลบซ่อนตามกิ่งก้านของต้นไม้ได้เป็นอย่างดี งูส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ตามพื้นดิน ใช้การรับรู้ทางด้านความรู้สึกทางเคมีเช่น ความร้อนของร่างกายช่วยในการล่าเหยื่อ

งูในตระกูล Viperidae คือกลุ่มงู Vipers ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ มีลักษณะเฉพาะคือบริเวณส่วนของตาและจมูกจะมีแอ่งบุ๋มลึกลงไป สำหรับทำหน้าที่รับความรู้สึกและความร้อนจากร่างกายของเหยื่อ มีฟันที่ขากรรไกรด้านบน 1 คู่ ที่จะแปรเปลี่ยนไปเป็นเขี้ยวงู เมื่อเวลาหุบปากและขดตัวอยู่นิ่ง ๆ เขี้ยวที่อยู่ด้านบนจะวางนอนอยู่บนเยื่อหุ้ม (Membrana sheath) เมื่อโจมตีเหยื่อ ระบบกล้ามเนื้อในร่างกายจะทำงานร่วมกับกระดูกในการง้างเขี้ยวให้ตั้งฉากกับเพดานปากเมื่องูฉกกัด เมื่อเขี้ยวเจาะผ่านเข้าไปในร่างกายของเหยื่อ พิษงูจะไหลมาตามท่อในเขี้ยวตรงไปยังบาดแผล หลังจากนั้นงูจะปล่อยเหยื่อทันทีและจะเฝ้าติดตามจนกว่าเหยื่อจะสลบหรือขาดใจตาย จึงจะกลืนกินเหยื่อเข้าไปทั้งตัว

ส่วนใหญ่งูชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษ จะอาศัยอยู่ในเขตร้อนหรือใกล้กับเขตร้อนของโลก งูไม่มีพิษจะใช้วิธีฆ่าเหยื่อด้วยการรัดหรือกัดให้ตายแล้วกลืนกิน ซึ่งอาหารส่วนใหญ่คือหนู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก รวมถึงสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น ปลา กบและแมลง บางชนิดกินไข่ของสัตว์อื่นเป็นอาหาร งูพิษมีประมาณไม่ถึง 1 ใน 3 ของงูทั้งหมด แบ่งตามลักษณะของเขี้ยวออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. เขี้ยวแบบพับเก็บได้ ลักษณะเขี้ยวแบบพับเก็บได้ จะพบได้ในสกุลงูแมวเซา สกุลงูกะปะและสกุลงูเขียวหางไหม้ ลักษณะของเขี้ยวจะอยู่ที่ด้านหน้าของปาก สามารถพับเก็บเขี้ยวเข้าไปในปากได้
  2. เขี้ยวแบบพับเก็บไม่ได้ ลักษณะเขี้ยวแบบพับเก็บไม่ได้ จะพบได้ในสกุลงูเห่า สกุลงูปล้องหวาย สกุลงูสามเหลี่ยมและสกุลงูทับสมิงคลา ลักษณะของเขี้ยวจะสั้นไม่เคลื่อนไหว ยื่นตั้งฉากกับขากรรไกรอย่างถาวร เมื่อฉกกัดเหยื่อจะปล่อยพิษออกมาทางเขี้ยว
  3. เขี้ยวที่อยู่ทางตอนท้ายของขากรรไกร ลักษณะเขี้ยวที่อยู่ทางตอนท้ายของขากรรไกร จะพบได้ในสกุลงูเขียวกาบหมาก สกุลงูทางมะพร้าว สกุลงูสิง สกุลงูปล้องฉนวน สกุลงูปี่แก้ว สกุลงูสายทอง สกุลงูหัวศร สกุลงูพงอ้อและสกุลงูสายม่าน

ลักษณะของพิษงูแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ มีพิษต่อระบบประสาทและมีพิษต่อเลือด พิษต่อระบบประสาทจะมีผลต่อเส้นประสาทตา เมื่อได้รับพิษจะทำให้ตาบอดหรือมีผลต่อเส้นประสาทของกะบังลม ทำให้ระบบหายใจล้มเหลว พิษต่อเลือดจะทำให้เม็ดเลือดแดงและเส้นเลือดแดงแตก ส่งผลให้เลือดกระจายตัวเข้าสู่เนื้อเยื่อ งูพิษขนาดใหญ่ที่มีผลต่อร่างกายทั้ง 2 ประเภทคือ งูจงอางและงูทะเลที่จัดว่าเป็นงูพิษที่มีพิษร้ายแรงที่สุด

ตามธรรมชาติในระบบสืบพันธุ์ของงู เมื่อมีการผสมพันธุ์และวางไข่ก่อนฟักเป็นตัวอ่อนและเจริญเติบโตเป็นตัวโตเต็มวัย เปลือกไข่สีขาว ยาวรี มักวางไข่ตามท่อนไม้หรือตามรูบนพื้นดิน บางชนิดมักวางไข่ในพงหญ้าและเศษใบไม้แห้ง แต่มีบางชนิดที่ออกลูกเป็นตัว มีรกแบบโบราณสำหรับแลกเปลี่ยนสารระหว่างเอมบริโอกับกระแสเลือดของแม่ งูตัวเมียบางชนิดจะสามารถเก็บรักษาน้ำเชื้อของงูตัวผู้ไว้ในร่างกายและสามารถวางไข่ได้หลายครั้งหลังจากจับคู่ผสมพันธุ์

เต่า

แก้
 
การวิวัฒนาการเท้าให้กลายเป็นพายสำหรับว่ายน้ำ
 
เกล็ดบนผิวตัว แสดงแผ่นกระดูกของกระดองเต่า

เต่าจัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานเพียงกลุ่มเดียว ที่ยังคงลักษณะเฉพาะของสัตว์เลื้อยคลานในยุคโบราณอยู่หลายอย่าง เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีชีวิตตั้งแต่ในยุคไทรแอสซิกจนถึงยุคปัจจุบัน โดยมีการปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายที่น้อยมาก มีกระดองซึ่งแปรเปลี่ยนสภาพจากกระดูกเกล็ดที่ห่อหุ้มร่างกาย เป็นแผ่นเกล็ดที่สำหรับปกป้องตัวเองจากศัตรู สามารถหดหัวและขาเข้าไปหลบซ่อนภายในกระดองได้ ซึ่งลักษณะของการหดหัวของเต่า ส่วนใหญ่เต่าจะหดหัวเข้าไปภายในกระดองในลักษณะรูปตัว S คือการหดหัวในแนวตั้ง แต่มีเต่าที่อาศัยในแถบอเมริกาใต้และออสเตรเลียกลุ่มหนึ่ง จะหดหัวเข้ากระดองในลักษณะของการหดหัวแบบขวาง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าเต่าหัวข้างเช่น เต่าคอยาวที่อาศัยในออสเตรเลีย

แต่สำหรับเต่าที่อาศัยในยุคไทรแอสซิก จะมีส่วนคอที่มีความแข็งทำให้ไม่สามารถหดหัวเข้าไปภายในกระดองได้ นัยน์ตามองเห็นได้ดี มีหนังตาและผนังเยื่อใส ๆ ห่อหุ้มดวงตา ไม่สามารถกะพริบตาและกลอกตาไปมาได้อย่างมนุษย์ มีหูสำหรับรับฟังเสียงสั่นสะเทือนบนพื้น หูของเต่าไม่มีช่องทะลุเป็นรู ทำให้มองดูคล้ายกับไม่มีหู ขากรรไกรไม่มีฟัน แต่จะมี Horny cutting surface ที่มีความคมอยู่แทน มีลิ้นสั้น ๆ ติดอยู่กับพื้นปาก มีนิ้วเท้าที่มีเล็บไว้สำหรับขุดและคุ้ยทรายในฤดูวางไข่ แต่บางชนิดมีการปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายจากเท้าทั้ง 4 ให้กลายสภาพเป็นพายสำหรับว่ายน้ำเช่น เต่าทะเล เป็นต้น

มีฟีนิสหรืออวัยวะเพศที่โคลเอดา (Cloacal penis) ในการปฏิสนธิภายใน เต่าทุกชนิดจะวางไข่เพื่อฟักออกมาเป็นตัวก่อนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย ไข่เต่ามีลักษณะกลม ยาวและรี เปลือกนอกนิ่ม และมีสารหินปูนเป็นเยื่อคล้ายกับแผ่นหนังห่อหุ้มอยู่ เต่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งบนบก ในแหล่งน้ำจืดและทะเล ซึ่งมีคำที่ใช้เรียกเต่าโดยเฉพาะด้วยกัน 4 คำ ซึ่งจะใช้ในคามหมายที่มีความแตกต่างกันคือ Turtles, Terrapins, Tortoise และ Soft-shelled turtles โดยมีรายละเอียดเฉพาะ ดังนี้

  1. เทอร์เทิล (Turtles) เป็นคำที่ใช้เรียกเต่าที่จัดอยู่ในประเภทสะเทินน้ำสะเทินบกด้วย เรียกว่า Amphibous turtles ซึ่งอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด ตามบึง บ่อคลองและในทะเล
  2. เทอร์ราพิน (Terrapins) เป็นคำที่ใช้เรียกเต่าที่มีกระดองแข็ง และใช้เรียกเต่าน้ำจืด
  3. เทอร์ทอยส์ (Tortoise) เป็นคำที่ใช้เรียกเต่าที่อาศัยบนบก
  4. เทอร์เทิลเปลือกอ่อนนุ่ม (Soft-shelled turtles เป็นคำที่ใช้เรียกตะพาบน้ำ ลักษณะลำตัวไม่มีเกล็ด จึงมีผิวหนังที่ปกคลุมกระดอง ที่มีความเหนียวคล้ายกับหนัง

เต่าน้ำจืด เป็นเต่าสะเทินน้ำสะเทินบก อาศัยตามห้วยหนองคลองบึงหรือตามแม่น้ำ ชอบขึ้นมานอนผึ่งแสงแดดตามบริเวณชายฝั่งเช่น Snapping แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ Chelydra serpentina และ Macroclemys temminckii จัดเป็นเต่าขนาดใหญ่ที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร มีนิสัยดุร้ายและแข็งแรง ขากรรไกรมีความคมแข็งแรง ใช้สำหรับงับเหยื่อ Sternotherus เป็นเต่าที่อาศัยอยู่ตามหนองและบึง ลักณะเฉพาะคือเมื่อถูกจับได้จะปล่อยกลิ่นเหม็นออกมาตามร่างกาย เพื่อป้องกันอันตรายและเอาตัวรอด ฝังตัวอยู่ตามโคลนตมตามพื้นท้องน้ำตามธรรมชาติ

ลักษณะเฉพาะของเต่าน้ำจืดคือ มีกระดองเป็นแผ่นเกล็ดปกคลุมร่างกาย มีความหนา แข็งแรง ส่วนใหญ่อาศัยตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป มีหลายชนิดที่อาศัยบนบกมากกว่าในน้ำ ในประเทศไทยพบเต่ากระอานที่เป็นเต่าบกเพียงแห่งเดียวที่ทะเลสาบสงขลา กินหอยทากและปูเป็นอาหาร แต่ถ้าขาดแคลนก็จะกินพืชน้ำแทน เต่าบกเช่นเต่าหับเมื่อออกจากไข่และเป็นตัวอ่อนจะอาศัยใกล้กับแหล่งน้ำจืด เมื่อเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยจะออกห่างจากแหล่งน้ำ มีลักษณะเด่นคือบริเวณตอนกลางของกระดองด้านท้อง จะมีบานพับตามขวาง แบ่งกระดองด้านท้องออกเป็น 2 ส่วน เวลาถูกรบกวนหรือพบเห็นศัตรู จะพับกระดองด้านท้องเข้าหากัน อาศัยตามชายฝั่งทะเล ลักษณะกระดองมีความแข็งแรง มีลวดลายของกระดองสวยงามเป็นวงแหวนบนแผ่นเกล็ด

เต่าทะเล เป็นสัตว์เลื้อยคลานในยุคไทรแอสซิกอีกชนิดหนึ่ง ดำรงชีวิตอยู่ในทะเลเขตร้อนและในบริเวณใกล้เคียงกับเขตร้อน เต่าทะเลจะอาศัยในทะเลเกือบตลอดชีวิต ยกเว้นฤดูวางไข่ที่จะขึ้นบกเพื่อวางไข่ตามชายหาดเท่านั้น ขาและรยางค์มีการเปลี่ยนแปลงจากสัตว์ที่อาศัยบนบก เปลี่ยนเป็นขาที่มีลักษณะเหมือนใบพายของเรือเพื่อใช้ชีวิตในท้องทะเล เต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือเต่ามะเฟือง ขนาดลำตัวยาวประมาณ 2 เมตร น้ำหนักตัวประมาณ 725 กิโลกรัม อิพิเดอร์มิสที่คลุมบริเวณกระดองมีลักษณะเหนียวนุ่ม ไม่มีเกล็ด มีสันตามยาวทางด้านหลัง เต่าตนุเป็นเต่าทะเลที่ถูกไล่ล่าจนใกล้จะสูญพันธุ์ในปัจจุบัน ลำตัวมีสีเขียวจากไขมันบนลำตัว ขาคู่หน้าทำหน้าที่เป็นพายสำหรับว่ายน้ำ ขาคู่หลังทำหน้าที่เป็นหางเสือในการเลี้ยวซ้ายขวา รวมทั้งใช้ในการถีบน้ำ น้ำหนักตัวประมาณ 180 กิโลกรัม จัดเป็น 1 ใน 5 ของเต่าทะเลของไทยเช่นเดียวกับเต่ามะเฟือง

เต่าบก เป็นเต่าขนาดกลางและใหญ่ตามลำดับ เต่าบกที่อาศัยในหมู่เกาะกาลาปากอส จัดเป็นเต่าบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด น้ำหนักตัวประมาณ 230 กิโลกรัม อายุมากกว่า 200 ปี เคลื่อนที่ช้ามากด้วยอัตราความเร็ว 300 เมตร/ชั่วโมง ในประเทศไทยพบเต่าบกได้ทุกแห่งของภูมิภาค เช่นเต่าหกที่อาศัยตามเขาสูงในป่าดงดิบ พบได้ในแถบไทรโยค เขาวังหิน นครศรีธรรมราช เต่าเขาสูบที่อาศัยอยู่ตามภูเขาสูงในประเทศไทย เต่าเหลืองที่มีกระดองสีเหลือง ชอบอาศัยตามภูเขาสูงหรือเนินเขาที่แห้งแล้งในป่าผลัดใบ

ตะพาบน้ำ เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีกระดองห่อหุ้มร่างกายเช่นเดียวกับเต่า ลำตัวประกอบด้วยกระดองบนและกระดองล่าง ลักษณะกระดองอ่อนนุ่มกว่า ผิวหนังที่ปกคลุมกระดองเหนียวคล้ายหนัง ทำให้มองดูเหมือนกับไม่มีเกล็ดแผ่ปกคลุม ขาคู่หน้ามีแผ่นพังผืดกว้าง มีเล็บเพียง 2-3 นิ้ว คอและขาหดได้มิดในกระดอง อาศัยอยู่ได้เกือบทุกสภาพแวดล้อม พบได้ในทางภาคใต้ของประเทศไทย บางชนิดมีนิสัยดุร้ายและมีกำลังมาก ต่อสู้แย่งชิงเพศเมียด้วยการกัดอย่างรุนแรง ปัจจุบันตะพาบเป็นที่นิยมนำมาประกอบเป็นอาหารของมนุษย์

จระเข้และแอลลิเกเตอร์

แก้
 
จระเข้ สัตว์ในอันดับ Crocodilia
 
แอลลิเกเตอร์ สัตว์ในอันดับ Crocodilia

จระเข้และแอลลิเกเตอร์ จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมด 4 กลุ่ม[6] สืบสายพันธุ์ยาวนานมาตั้งแต่ยุคจูแรสซิกและครีเทเซียสจนถึงยุคปัจจุบัน[7] มีความสามารถในการปรับสภาพร่างกายในการอยู่รอดจากภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากว่า 160 ล้านปี คงลักษณะโบราณทางด้านกายวิภาคเกือบทั้งหมดของร่างกาย ตั้งแต่ปลายจมูกจรดปลายหาง ไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้แตกต่างไปจากบรรพบุรุษในยุคโบราณ ปัจจุบันเหลือเพียง 21 ชนิดในโลก

จระเข้ส่วนใหญ่จะมีจมูกที่ยาวเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ แตกต่างจากแอลลิเกเตอร์ที่มีจมูกที่สั้นและป้านกว่ามาก มีขากรรไกรที่แข็งแรงรวมทั้งฟันที่แหลมคม ขนาดความยาวประมาณ 3 - 4 เมตร ลักษณะลำตัวใหญ่โตและดุร้าย ทำให้แลดูน่ากลัวและน่าเกรงขามต่อผู้พบเห็น ผิวหนังแข็งเป็นเกล็ดปกคลุมตลอดลำตัว ปากยาวและปลายปากนูนสูงขึ้นเป็นช่องเปิดของรูจมูก ออกลูกเป็นไข่ครั้งละประมาณ 20 - 28 ฟอง[8] จัดอยู่ในประเภทสัตว์กินเนื้อทุกชนิดซึ่งรวมทั้งมนุษย์ด้วย มีแหล่งอาศัยในแถบทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย สำหรับในประเทศไทยมีอยู่ 3 ชนิดได้แก่จระเข้น้ำจืด ( Crocodylus siamensis), จระเข้น้ำเค็ม (C. porosus) และตะโขงหรือจระเข้ปากกระทุงเหว (Tomistoma schlegeli) ที่มีปากแหลมยาวแตกต่างจากจระเข้ทั่วไป[9]

สำหรับจระเข้น้ำกร่อย (Estuarine crocodila Crocodylus porosus) สามารถพบเห็นได้ในทางเอเชียใต้ จัดเป็นจระเข้ขนาดใหญ่มาก มักขึ้นฝั่งเพื่อล่าเหยื่อในกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเช่น แพะ แกะ กวาง และนกเป็นอาหาร เมื่อล่าเหยื่อได้จะงับและลากลงไปใต้น้ำ จนกระทั่งเหยื่อขาดอากาศหายใจและตายจึงฉีกกินเป็นอาหาร ในขณะที่แอลลิเกเตอร์ ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดคล้ายจระเข้ แต่มีความดุร้ายน้อยกว่า มักพยายามขึ้นฝั่งเพื่อที่จะส่งเสียงร้องซึ่งเป็นลักษณะที่มีความแตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลานประเภทอื่น เช่น มาเลเซีย

แอลลิเกเตอร์ตัวผู้จะสามารถส่งเสียงร้องที่ดังมากในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เพื่อเป็นการสื่อสารสัญญาณระหว่างแอลลิเกเตอร์ตัวเมีย และจะพบ Vocal sac ที่บริเวณสองข้างของลำคอซึ่งจะโป่งพองออกในขณะที่ส่งเสียงร้อง วางไข่ครั้งละประมาณ 20 - 50 ฟอง ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าจำนวนไข่ของจระเข้ เมื่อแอลลิเกเตอร์ตัวเมียพร้อมที่จะวางไข่ จะเลือกวางไข่ตามซากพืช

ทัวทารา

แก้
 
ทัวทารา สัตว์ในอันดับ อันดับ Rhynchocephalia

ทัวทารา เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่มหายุคมีโซโซอิก ซึ่งเป็นยุคเดียวกับไดโนเสาร์ ทัวทารามีแผงหนามที่ต้นคอไปจนถึงถึงแนวกระดูกสันหลัง มีตา 3 ดวง ซึ่งดวงที่ 3 อยู่กลางหัวเหนือดวงตาทั้ง 2 ข้าง ในอดีตเคยเป็นสัตว์ที่หาดูได้ง่ายในประเทศนิวซีแลนด์ แต่ปัจจุบันถือเป็นสัตว์หายาก พบได้แค่ในบางเกาะของนิวซีแลนด์เท่านั้น เป็นกลายเป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมายไปแล้ว

อาหารและการล่าเหยื่อ

แก้
  • คามีเลียน ล่าเหยื่อโดยพรางตัวให้เข้ากับธรรมชาติเพื่อป้องกันศัตรู และล่าเหยื่อได้ง่าย
  • กิ้งก่าบาซิลิสก์ ล่าเหยื่อบนน้ำ
  • งูกินไข่ จะขโมยกินไข่ของนกตัวอื่นเป็นอาหาร
  • งูแซลโมซา จะจับเหยื่อในที่มืด อย่างถ้ำ ได้
  • งูกินหนู เป็นงูเพื่อนของมนุษย์ จับหนูกินเป็นอาหาร
  • งูทะเล จะจับเหยื่อใต้ทะเล
  • ตะโขง ล่าเหยื่อโดยใช้ปากฟาดเหยื่อ
  • เต่าจระเข้ยักษ์ ล่าเหยื่อโดยใช้ลิ้นออกมาให้เหยื่อหลงกลว่าเป็นไส้เดือน

การสืบสายพันธุ์

แก้
 
การสืบสายพันธุ์ของเต่า
  • ขั้นที่ 1 การผสมพันธุ์ ใน 1 ปี งูจะหาคู่และผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว
  • ขั้นที่ 2 ไข่ แม่งูจะวางไข่ครั้งละประมาณ 10 ฟอง
  • ขั้นที่ 3 การฟักไข่ ไข่สามารถฟักตัวเร็วที่สุดภายใน 1 วัน และช้าที่สุดภายใน 80 วัน
  • ขั้นที่ 4 ตัวเต็มวัย

กิ้งก่า

แก้
  • ขั้นที่ 1 การผสมพันธุ์ การผสมพันธุ์เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเพศผู้จะต่อสู่กัน เพื่อแย่งชิงเพศเมีย
  • ขั้นที่ 2 ไข่ ทั้งวางไข่ครั้งละ 1 ฟอง และวางไข่ครั้งละเป็นกอง
  • ขั้นที่ 3 การฟักไข่ เพศเมียจะกกไข่หรือคอยดูแลไข่จนกว่าจะฟักตัว
  • ขั้นที่ 4 ตัวเต็มวัย

อ้างอิง

แก้
  1. ชนิดของสัตว์เลื้อยคลาน, สัตววิทยา, บพิธ-นันทพร จารุพันธุ์, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2547, หน้า 364
  2. มีโซโซอิก: มหายุคแห่งสัตว์เลื้อยคลานและไดโนเสาร์[ลิงก์เสีย]
  3. ประเภทของสัตว์เลื้อยคลาน, สัตววิทยา, บพิธ-นันทพร จารุพันธุ์, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2547, หน้า 365-366
  4. "ลักษณะทั่วไปของสัตว์เลื้อยคลาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-01. สืบค้นเมื่อ 2010-06-23.
  5. การจำแนกหมวดหมู่สัตว์เลื้อยคลาน, สัตววิทยา, บพิธ-นันทพร จารุพันธุ์, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2547, หน้า 365
  6. จระเข้ สัตว์เลื้อยคลานที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  7. จระเข้ สัตว์เลื้อยคลานจากยุคไดโนเสาร์
  8. "ลักษณะเฉพาะของจระเข้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-30. สืบค้นเมื่อ 2010-07-27.
  9. สายพันธุ์ในประเทศไทย