เต่าหับ
เต่าหับชนิด C. a. kamaroma เป็นชนิดที่ได้ในประเทศไทย
ใต้ท้องที่หับสนิท
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Sauropsida
อันดับ: Testudines
อันดับย่อย: Cryptodira
วงศ์: Geoemydidae
สกุล: Cuora
สปีชีส์: C.  amboinensis
ชื่อทวินาม
Cuora amboinensis
(Daudin, 1802)
ชนิดย่อย
ดูในเนื่อหา
ชื่อพ้อง[1]
  • Testudo amboinensis Daudin, 1801

เต่าหับ (อังกฤษ: Asian box turtle, Siamese box terrapin; ชื่อวิทยาศาสตร์: Cuora amboinensis) สัตว์เลื้อยคลานจำพวกเต่าชนิดหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายเต่านา แต่มีกระดองโค้งนูนสูงกว่า กระดองราบเรียบ ใต้ท้องแบ่งเป็น 2 ตอน ซึ่งเรียกว่า "แผ่น" หรือ "หับ" หรือ "ขีด"[2] สามารถเก็บขา หัว และหางเข้ากระดองได้มิดชิด อันเป็นที่มาของชื่อ หัวมีขนาดเล็กสีเหลืองมีลวดลายสีดำ กระดองสีน้ำตาลเข้ม ใต้ท้องสีขาวหรือสีเหลือง ขามีผังผืด โตได้เต็มที่ประมาณ 25 เซนติเมตร

สามารถพบได้ในแหล่งน้ำทุกภาคของประเทศไทยโดยเฉพาะภาคกลางและภาคใต้ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน, พม่า, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์

เป็นเต่าที่สามารถว่ายน้ำได้ดี แต่ชอบอยู่บนบกที่มีความชื้นมากกว่าลงน้ำ ผสมพันธุ์ในน้ำ แต่วางไข่บนบก ปีหนึ่งวางไข่หลายครั้ง ทว่าวางไข่เพียงครั้งละ 2-3 ฟองเท่านั้น อาหารสามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์

มีชนิดย่อย ถึง 4 ชนิด ได้แก่ C. a. lineata พบในพม่า, C. a. amboinensis พบในอินโดนีเซีย, ซูลาเวสี, C. a. couro พบในสุมาตรา, ชวา, บาหลี และ C. a. kamaroma พบในไทย, มาเลเซีย

นอกจากนี้แล้ว เต่าหับยังมีความแตกต่างหากหลายทางสีสันและลวดลายต่าง ๆ ออกไปอีก[3]

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 โดยจากสถิติในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าเต่าหับนับเป็นสัตว์ที่มีการลักลอบซื้อขายกันมากที่สุดในตลาดค้าสัตว์ป่าร่วมกับลิ่น โดยเต่าที่เข้ามาในประเทศไทย ส่วนมากจะถูกนำเข้ามาทางอินโดนีเซียผ่านมาทางมาเลเซีย และเข้ามาทางภาคใต้ของไทย ก่อนจะนำออกต่อไปยังประเทศจีนและเวียดนาม [4] โดยเต่าหับนอกจากได้รับความนิยมในแง่ของการเป็นสัตว์เลี้ยงแล้ว ยังถือว่าเป็นสัตว์นำโชคอีกด้วย เชื่อว่าจะนำโชคลาภมาสู่ผู้เป็นเจ้าของ โดยเฉพาะหากเต่าหับตัวใดมีหับที่ใต้ท้องมากกว่า 2 ตอน หรือ 3 ตอน และยังนำกระดองไปทำเป็นเครื่องรางของขลังได้อีกด้วย[2]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Asian Turtle Trade Working Group) (2000). "Cuora amboinensis". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.1. สืบค้นเมื่อ 30 June 2000. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  2. 2.0 2.1 "เต่าหับเดินเข้าบ้านสาวใหญ่ ชาวบ้านแห่ดู เชื่อเกิดสิริมงคลและโชคลาภ เจ้าของระบุวันเดียวกันปีก่อนได้เดินเข้าบ้านมาครั้งหนึ่งแล้วแต่นำไปปล่อย ครบปีกลับ". สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช. 21 August 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-10. สืบค้นเมื่อ 8 June 2016.
  3. "เต่าหับ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-21. สืบค้นเมื่อ 2009-05-31.
  4. หน้า 9 ต่อหน้า 1, เส้นทางทารุณ 'เต่า' สัตว์มงคล. มติชนปีที่ 39 ฉบับที่ 13968: วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Cuora amboinensis ที่วิกิสปีชีส์