วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

พระอารามหลวงในเขตพระนคร
(เปลี่ยนทางจาก วัดสุทัศน์)

วัดสุทัศนเทพวราราม [สุ-ทัด-เทบ-พะ-วะ-รา-ราม] หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า วัดสุทัศน์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทย และถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครชั้นใน และอยู่มีสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นคือ เสาชิงช้า อยู่บริเวณหน้าวัด

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดสุทัศน์เทพวราราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสุทัศน์เทพวราราม
ที่ตั้ง146 ริมถนนตีทอง 1 ถนนบำรุงเมือง หน้าวัดออกทางถนนอุณากรรณ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประเภทเถรวาทมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระพรหมวชิรมุนี (เชิด จิตฺตคุตฺโต)
ความพิเศษพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร 1 ใน 6 ของไทยเลย
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดสุทัศนเทพวราราม
ขึ้นเมื่อ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000005
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

ในต้นยุคกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1[1]โปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างวัดขึ้นในพื้นที่พระนครชั้นใน ในปี พ.ศ. 2350 เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โดยมีพื้นที่ตั้งอยู่ในดงสะแก เป็นที่ลุ่มจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถมที่และสร้างเป็นวัด และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่จะประดิษฐานเป็นสังฆาราม จึงเรียกกันว่า วัดพระโต, วัดพระใหญ่ หรือวัดเสาชิงช้าบ้าง จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ การก่อสร้างวัด มาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2390 และพระราชทานนามว่า "วัดสุทัศน์เทพวราราม" ปรากฏในจดหมายเหตุว่า "วัดสุทัศน์เทพธาราม" และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ให้คล้องกันว่า "พระศรีศากยมุนี", "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" และ "พระพุทธเสรฏฐมุนี"

ภายในวัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี

ต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 กรมศิลปากรได้กำหนดเขตโบราณสถานของวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ให้มีพื้นที่โบราณสถานจำนวน 28 ไร่ 76 ตารางวา[2]

ภาพพระประธานทั้ง 3 องค์และประติมากรรมต่าง ๆ ในวัด

แก้

พระอุโบสถ

แก้
 
พระอุโบสถ

พระอุโบสถของวัดสุทัศน์ จัดว่าเป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย พระประธานภายในพระอุโบสถ คือ พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทั้งพระอุโบสถและพระประธานนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ผนังด้านในของพระอุโบสถมีภาพจิตกรรมฝาผนังฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดมงกุฏ มีลักษณะแปลกตาและงดงามมาก รอบ ๆ พระอุโบสถ มีซุ้มเสมา 8 ซุ้ม ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว เป็นใบเสมาคู่ซึ่งทำจากหินอ่อนสีเทา สลักเป็นภาพช้าง 3 เศียร งวงชูดอกบัวตูมเศียรละ 1 ดอก เบื้องบนมีดอกบัวบาน 3 ดอก บนกำแพงแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีเกยอยู่ด้านละ 4 เกย ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับประทับโปรยทานแก่ประชาชนในงานพระราชพิธี เรียกว่า "เกยโปรยทาน" หน้าบันพระอุโบสถเป็นไม้แกะสลักประดับกระจก หน้าบันด้านหน้าทางทิศตะวันออกเป็นแกะสลักเป็นรูปพระอาทิตย์ทรงราชรถเทียมราชสีห์พื้นหลังประดับกระจกสีแดง หน้าบันด้านหลังทางทิศตะวันตกเป็นรูปพระจันทร์ทรงราชรถเทียมม้าพื้นหลังประดับกระจกสีเงิน[3]

เปรตวัดสุทัศน์

แก้
 
จิตรกรรม พระสงฆ์พิจารณาสังขารเปรต วัดสุทัศนเทพวราราม

ที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร มีเรื่องเล่าขานกันถึงเปรต สัตว์ที่เกิดในอบายภูมิตามความเชื่อของพุทธศาสนาและชาวไทย ว่ามีเปรตเคยปรากฏอยู่ที่นี่ โดยเรื่องนี้อาจมีที่มาจากภายในพระวิหารมีภาพวาดบนเสาด้านข้างขวาขององค์พระศรีศากยมุนี เป็นภาพจิตรกรรมที่วาดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรูปหนึ่งเป็นรูปเปรตตนหนึ่งนอนพาดกายอยู่และมีพระสงฆ์กำลังยืนพิจารณาสังขาร ซึ่งภาพนี้มีชื่อเสียงมากในสมัยอดีต เป็นที่ร่ำลือกันว่าหากใครได้มีโอกาสไปกราบไหว้พระศรีศากยมุนีในพระวิหารหลวง ต้องไปดูรูปจิตรกรรม "เปรตวัดสุทัศน์" ที่ขึ้นชื่อนี้ จนมีคำกล่าวคล้องจองกันว่า "แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์"

นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องเล่ากันจากปากต่อปากว่า ในอดีตที่บริเวณหน้าพระวิหารหลวงนี้ มีผู้พบเห็นเปรตในเวลาค่ำคืนบ่อย ๆ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ขณะที่ยังทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ ในเวลาประมาณ 3 ทุ่ม ยังเคยเปรยกับเปรต ความว่า "อยู่ด้วยกันนะ อย่าให้ชาวบ้านได้เดือดร้อน" จากนั้นเปรตก็ไม่มาปรากฏอีก

และมีความเป็นไปได้ว่า เปรตวัดสุทัศน์ อาจเป็นความเข้าใจผิดของผู้ที่มองเห็นเสาชิงช้าที่อยู่บริเวณหน้าวัดในเวลาเช้ามืดที่หมอกลง หรือทัศนวิสัยไม่ดี แล้วสำคัญผิดว่าเป็นเปรต หรืออาจจะมีที่มาจากพระราชนิพนธ์องค์หนึ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเคยนิพนธ์เรื่อง "เปรตสะพานหัน" ที่ทรงเปรียบขอทานที่สะพานหันว่าเหมือนเปรต และมีการนำไปเปรียบเทียบกับขอทานที่อาศัยอยู่หน้าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ที่อยู่ใกล้เคียง[4]

รูปภาพ

แก้

ลำดับเจ้าอาวาส

แก้
ลำดับ เจ้าอาวาส[5] วาระ (พ.ศ.)
1 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อู่) 2386 — 2401
2 พระพิมลธรรม (อ้น) 2401 — 2420
3 สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) 2420 — 2443*
4 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) 2443* — 2487
5 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โสม ฉนฺโน) 2489 — 2505
6 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ) 2506 — 2527
7 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) 2527 — 2559
8 พระพรหมวชิรมุนี (เชิด จิตฺตคุตฺโต) 2559 — ปัจจุบัน

*เดือนมกราคม พ.ศ. 2443 นับอย่างปัจจุบันเป็นต้นปี พ.ศ. 2444

อ้างอิง

แก้
  1. lovethailand.org
  2. ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน
  3. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2566). ๓๓ คู่มือนำชมพระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.
  4. Lineกนก (2017-07-19). "Lineกนก แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ 16 กรกฎาคม 2560". เนชั่นทีวี. สืบค้นเมื่อ 2018-03-08.
  5. ประวัติวัดสุทัศนเทพวราราม

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°45′04″N 100°30′04″E / 13.751078°N 100.501138°E / 13.751078; 100.501138