นกแสก

สปีชีส์ของนก
นกแสก
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ยุคควอเทอร์นารี–ปัจจุบัน
นกแสกชนิดย่อย T. a. alba ขนาดโตเต็มที่
ขณะบิน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Strigiformes
วงศ์: Tytonidae
วงศ์ย่อย: Tytoninae
สกุล: Tyto
สปีชีส์: T.  alba
ชื่อทวินาม
Tyto alba
(Scopoli, 1769)
ชนิดย่อย[2]
32 ชนิดย่อย
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของนกแสก
ชื่อพ้อง

นกแสก นกแฝก หรือ นกเค้าหน้าลิง เป็นนกเค้าแมวชนิดหนึ่งในวงศ์นกแสก (Tytonidae) วงศ์ย่อย Tytoninae

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tyto alba จัดเป็น 1 ชนิดในจำนวน 19 ชนิดของนกในอันดับนกเค้าแมวที่พบได้ในประเทศไทย และนับเป็นนกแสกชนิดหนึ่งที่พบได้ในประเทศไทย (อีก 1 ชนิดนั้นคือ นกแสกแดง)

ลักษณะ แก้

นกแสก มีลักษณะใบหน้าเป็นรูปหัวใจ ตาใหญ่ ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของหัว คอสั้น ปีกยาว หางค่อนข้างสั้น ขาและนิ้วแข็งแรง มีขนปกคลุมแข้งเกือบถึงนิ้ว ปลายนิ้วเป็นกรงเล็บ โดยกรงเล็บของนิ้วที่ 3 มีลักษณะหยักคล้ายซี่หวีทางด้านขอบด้านใน ทั้ง 2 เพศมีลักษณะเหมือนกัน แต่เพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย สีทางด้านล่างลำตัวและใต้ปีกเป็นสีน้ำตาลอ่อนเกือบเป็นสีขาว มีจุดลักษณะกลมรีสีน้ำตาล หรือสีเทากระจายอยู่ทั่วไป ทางด้านบนลำตัวและขนปกคลุมปีกสีเหลืองทอง มีจุดสีน้ำตาลเข้มกระจายอยู่ทั่วไปเช่นเดียวกัน บริเวณใบหน้ามีสีขาว ไม่มีจุดใด ๆ มีขนสีน้ำตาลเข้มเป็นขอบอยู่รอบนอก ม่านตาสีดำ ใบหน้าเป็นสีขาว ปากเรียว แหลม และจะงอยปากเป็นปากขอ

ขนาดโตเต็มที่สูงประมาณ 1 ฟุต

พฤติกรรมและการขยายพันธุ์ แก้

นกแสกเป็นนกที่หากินในเวลากลางคืน โดยมากพบในถิ่นที่ใกล้กับชุมชนของมนุษย์ โดยจะอาศัยอยู่ตามสิ่งก่อสร้างที่มีความสงบ เช่น หลังคาโบสถ์ในวัดวาต่าง ๆ หรือบ้านร้าง, ซอกมุมตึกหรือโพรงไม้ จึงนับได้ว่าเป็นนกจำพวกนกเค้าแมวที่มีความใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด ในป่าพบตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่โดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือเป็นครอบครัว ไม่ค่อยที่อยู่เป็นฝูงใหญ่ ในตอนกลางวันหากมีสิ่งรบกวนจะพยายามหลบไปหามุมมืดของแต่ละแหล่งที่อยู่อาศัยนั้น ๆ บางครั้งก็บินไปยังที่อื่น ๆ ซึ่งก็ห่างไกลพอสมควรเมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะบินกลับมายังที่เดิม ในตอนพลบค่ำหรือตอนกลางคืน นกแสกจะมีความคล่องแคล่วว่องไวพอสมควร เมื่อเทียบกับตอนกลางวัน นกแสกออกหากินในตอนกลางคืน กลับเข้ามายังที่พักอาศัยในตอนรุ่งสาง นกแสกร้องเป็นเสียงดังกังวานโดยออกเป็นเสียง "แสก–แสก" อันเป็นที่มาของชื่อ จะได้ยินเสียงร้องเฉพาะในตอนกลางคืนเท่านั้น โดยจะร้องเพื่อเตือนนกตัวอื่นมิให้เข้ามาในอาณาเขตหาอาหารของตัว นกแสกโดยปกติจะมีอาณาเขตหาอาหารประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร[3] แต่ตัวผู้บางตัวอาจจะมีอาณาเขตหาอาหารกว้างได้ถึง 40 ตารางกิโลเมตร

อาหารหลักโดยปกติจะเป็นหนู โดยนกแสกไม่ได้เป็นนกมีนิสัยก้าวร้าวดุร้ายแต่อย่างใด เมื่อโฉบเหยื่อจะบินด้วยความว่องไวและเงียบกริบ ตะครุบเหยื่อด้วยกรงเล็บที่แหลมคมและจะงอยปาก จะกลืนอาหารเข้าไปทั้งตัว แต่ไม่อาจย่อยในส่วนที่เป็นขนหรือกระดูกแข็ง ๆ ได้ ดังนั้นจึงจะสำรอกออกมาทางปากไว้ในรัง ลักษณะเป็นก้อนขน

นกแสกเริ่มขยายพันธุ์ได้เมื่อมีอายุได้ 4–5 ปี[3] มีฤดูผสมพันธุ์ในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน โดยเดือนกันยายนเป็นช่วงที่จับคู่และเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงของการวางไข่ ปรกติจะไม่มีการก่อสร้างรังใด ๆ แต่จะวางไข่ตามโพรงไม้ หรือตามชายคาโบสถ์, กุฏิ หรือบริเวณที่ใช้เป็นแหล่งอาศัยหลับนอนดังกล่าวแล้ว ไข่มีรูปร่างเป็นรูปไข่ค่อนข้างกลม ขนาดโดยเฉลี่ย 32.5 x 40.7 มิลลิเมตร ไข่สีขาว ไม่มีจุดหรือลาย รังมีไข่ 4–7 ฟอง โดยพบ 5 ฟองมากที่สุด ตัวเมียตัวเดียวที่ทำการฟักไข่ โดยเริ่มฟักตั้งแต่ออกไข่ฟองแรก ใช้ระยะเวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 32–34 วัน ลูกนกแสกที่ออกจากไข่ใหม่ ๆ ยังไม่ลืมตา มีขนอุยสีขาวปกคลุมลำตัวห่าง ๆ ขาและนิ้วยังไม่แข็งแรง ทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันกกลูก และหาอาหารมาป้อน ลูกนกจะออกจากไข่ไม่พร้อมกัน ทำให้มีขนาดแตกต่างกันเล็กน้อย ลูกจะเจริญเติบโตและพัฒนาขนปกคลุมร่างกายอย่างรวดเร็ว เมื่ออายุได้ 2 สัปดาห์ ขนาดจะโตขึ้นมาก มีขนอุยสีขาวปกคลุมทั่วร่างกาย อายุ 3 สัปดาห์ เริ่มแข็งแรงพอที่จะเดินภายในรังได้ อายุ 4 สัปดาห์ มีขนแข็งปกคลุมลำตัวแทนขนอุย และเริ่มหัดบิน อายุ 5 สัปดาห์ขึ้นไปจะบินได้แข็งแรงและหากินเองได้ ในขณะที่ลูก ๆ ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ช่วยกันหาอาหารมาป้อน อาหารที่นำมาป้อนนั้นพ่อแม่จะฉีกเป็นชิ้น ๆ เสียก่อน แต่เมื่อลูกนกโตพอประมาณและแข็งแรงบ้างแล้ว พ่อแม่จะนำเหยื่อทั้งตัวมาให้ ซึ่งบางครั้งเหยื่อยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อฝึกให้ลูก ๆได้เรียนรู้ถึงวิธีการจับเหยื่อตั้งแต่ยังเล็กอยู่ [4] โดยปีหนึ่ง นกแสกสามารถมีลูกได้ 2 ครอก[3]

การกระจายพันธุ์ แก้

นกแสกนับได้ว่าเป็นนกที่มีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางมาก โดยพบได้แทบทุกมุมโลก ยกเว้นในทวีปอเมริกาเหนือในส่วนของรัฐอะแลสกาและประเทศแคนาดา บางส่วนของทวีปแอฟริกาทางตอนเหนือ และทวีปเอเชียในส่วนของภูมิภาคเอเชียเหนือ, เอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเท่านั้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ในทุกภาค จึงทำให้นกแสกมีชนิดย่อยมากมายถึง 32 ชนิดย่อยด้วยกัน[2] เช่น T. a. alba พบในทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกาบริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์, T. a. javanica พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น

ชนิดย่อย แก้

  • Tyto alba affinis (Blyth, 1862)
  • Tyto alba alba (Scopoli, 1769)–พบในทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกาบริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์
  • Tyto alba bargei (Hartert, 1892)
  • Tyto alba bondi Parkes & Phillips, 1978
  • Tyto alba contempta (Hartert, 1898)
  • Tyto alba crassirostris Mayr, 1935
  • Tyto alba delicatula (Gould, 1837)
  • Tyto alba deroepstorffi (Hume, 1875)
  • Tyto alba detorta Hartert, 1913
  • Tyto alba erlangeri Sclater, 1921
  • Tyto alba ernesti (Kleinschmidt, 1901)
  • Tyto alba furcata (Temminck, 1827)
  • Tyto alba gracilirostris (Hartert, 1905)
  • Tyto alba guatemalae (Ridgway, 1874)
  • Tyto alba guttata (Brehm, 1831)–นกแสกยุโรป
  • Tyto alba hellmayri Griscom & Greenway, 1937
  • Tyto alba hypermetra Grote, 1928
  • Tyto alba insularis (Pelzeln, 1872)
  • Tyto alba javanica (Gmelin, 1788)–พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • Tyto alba lucayana Riley, 1913
  • Tyto alba meeki (Rothschild & Hartert, 1907)
  • Tyto alba nigrescens (Lawrence, 1878)
  • Tyto alba niveicauda Parkes & Phillips, 1978
  • Tyto alba poensis (Fraser, 1843)
  • Tyto alba pratincola (Bonaparte, 1838)
  • Tyto alba punctatissima (Gould & Gray, 1838)
  • Tyto alba schmitzi (Hartert, 1900)
  • Tyto alba stertens Hartert, 1929
  • Tyto alba subandeana Kelso, 1938
  • Tyto alba sumbaensis (Hartert, 1897)
  • Tyto alba thomensis (Hartlaub, 1852)
  • Tyto alba tuidara (Gray, 1829)

ความเชื่อและความสัมพันธ์กับมนุษย์ แก้

นกแสกนับว่าเป็นนกจำพวกนกเค้าแมวที่อาจนับได้ว่าใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด ด้วยความที่มีถิ่นอาศัยใกล้หรืออยู่ในชุมชนของมนุษย์ จึงทำให้มีความเชื่อในบางวัฒนธรรมว่า เป็นนกที่ส่งสัญญาณเตือนถึงความตาย เช่น ในความเชื่อของไทย เชื่อว่า หากนกแสกบินข้ามหลังคาบ้านผู้ใดหรือไปเกาะที่หลังคาบ้านใคร หรือส่งเสียงร้องด้วย จะต้องมีบุคคลในที่แห่งนั้นถึงแก่ความตาย จึงทำให้เชื่อกันว่าเป็นนกผีหรือนกปีศาจ

ซึ่งในเรื่องนี้ ได้ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมผ่านหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 ว่าที่วัดแห่งหนึ่งที่อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านและพระที่จำวัด ณ วัดแห่งนั้น เชื่อว่าเมื่อใดที่นกแสกที่วัดส่งเสียงร้องดัง หรือเสียงแปลก ๆ จะมีคนตายส่งมาฌาปนกิจเสมอ โดยในช่วงเวลาที่เป็นข่าวก็มีคนตายไปแล้วถึง 6 คนด้วยกัน[5]

แต่สำหรับในบางที่เช่น คนอินเดียกลับเชื่อว่าแสกเป็นนกของพระลักษมีผู้เป็นเทวีแห่งโภคทรัพย์และความเจริญงอกงามทางการเกษตร ชาวฮินดูในแคว้นเบงกอลเชื่อว่าถ้านกแสกมาทำรังที่บ้านใคร จะนาโชคดีมาให้ เจ้าของบ้านจะได้รับทรัพย์สินเงินทอง[6] หรือในจังหวัดชุมพร เกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันได้ใช้นกแสกในการกำจัดศัตรูพืช คือ หนู โดยเฉพาะหนูท้องขาว โดยจะปลูกรังให้นกแสกอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่สวน ปรากฏว่านกแสกสามารถกำจัดหนูท้องขาวได้ดีกว่าการใช้ยาเบื่อหรือวิธีการทางธรรมชาติใด ๆ ทั้งมวล[7]

รูปภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. BirdLife International (2012). "Tyto alba". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.2. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
  2. 2.0 2.1 จาก itis.gov (อังกฤษ)
  3. 3.0 3.1 3.2 สะ-เล-เต (June 30, 2016). "นกแสกเพิ่มผลผลิตปาล์ม". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ July 1, 2016.
  4. นกแสก
  5. ผวา! อาถรรพณ์นกแสกดับ100ศพ
  6. "นกแสกผู้น่าสงสารกับความเชื่อแบบไทยๆ". สารคดี (ภาษาอังกฤษ). 2018-09-10.
  7. "นกแสก มิติใหม่ของการปราบหนู ในสวนปาล์มน้ำมัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-21. สืบค้นเมื่อ 2009-09-15.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ นกแสก
  •   ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ นกแสก ที่วิกิสปีชีส์