หนูท้องขาว
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Rodentia
วงศ์: Muridae
สกุล: Rattus
สปีชีส์: R.  rattus
ชื่อทวินาม
Rattus rattus
(Linnaeus, 1758)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของหนูท้องขาว

หนูท้องขาว หรือ หนูดำ หรือ หนูนาท้องขาว (อังกฤษ: Roof rat, Black rat) เป็นหนูที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rattus rattus อยู่ในวงศ์ Muridae

จัดเป็นหนูที่พบได้ในบ้านเรือนของมนุษย์หนึ่งในสามชนิด ร่วมกับ หนูบ้าน (R. norvegicus) และหนูจี๊ด (R. exulans) เป็นหนูขนาดกลาง ใบหูใหญ่ ขนตามลำตัวด้านสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลแดงหรือสีดำ ขนท้องสีขาว มีลายสีดำเล็ก ๆ ที่หน้าอก หางสีดำมีความยาวพอ ๆ หรือยาวกว่าความยาวลำตัวและหัว มีเกล็ดตลอดทั้งหาง จมูกแหลมกว่าหนูบ้าน มีความยาวลำตัวและหัวประมาณ 18 เซนติเมตร ส่วนหางก็มีความยาวพอ ๆ กัน ตัวเมียมีเต้านมที่หน้าอก 2 คู่ ออกลูกปีละ 4-6 ครอก ลูกหนึ่งครอกมีจำนวน 6-8 ตัว มีระยะทางหากิน 100-150 ฟุต[1]

เป็นหนูที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย และพบกระจายพันธุ์ไปไกลจนถึงทิศตะวันออกของโรมาเนีย เป็นหนูที่ปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ชอบขึ้นและหากินบนต้นไม้ เพราะชอบกินเมล็ดพืชมากที่สุด จึงมักพบในพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยเฉพาะในสวนมะพร้าวหรือปาล์มน้ำมันในภาคใต้ จัดเป็นศัตรูพืชของพืชจำพวกนี้ เกษตรกรจึงใช้วิธีตามธรรมชาติกำจัดหนูเหล่านี้ โดยสร้างรังนกแสก (Tyto alba) ให้อยู่ท้ายสวน เพราะนกแสกจะกินหนูโดยเฉพาะหนูท้องขาวเป็นอาหารหลัก[2] ถ้าอาศัยอยู่ในบ้านก็มักจะสร้างรังบนเพดานบ้าน[3]

อ้างอิง แก้

  1. "หนู : Rodents". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-19. สืบค้นเมื่อ 2011-01-17.
  2. "นกแสก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-16. สืบค้นเมื่อ 2011-01-17.
  3. หนูท้องขาว

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Rattus rattus ที่วิกิสปีชีส์