คณะราษฎร
คณะราษฎร[ก] หรือ สมาคมคณะราษฎร หรือต่อมาใช้ว่า สโมสรราษฎร์สราญรมย์ เป็นกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 บ้างยกให้เป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของไทย แม้ไม่ได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการ
คณะราษฎร | |
---|---|
หมุดคณะราษฎรก่อนหายไปในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2560 | |
ผู้นำฝ่ายทหาร | พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงสินธุสงครามชัย |
ผู้นำฝ่ายพลเรือน | หลวงประดิษฐ์มนูธรรม |
นายกสมาคม | พระยานิติศาสตร์ไพศาล |
ก่อตั้ง | 5 กุมภาพันธ์ 2469 |
ถูกยุบ | 8 พฤศจิกายน 2490 (21 ปี)[a] |
ที่ทำการ | พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต (2475–2482) พระตำหนักวังสวนกุหลาบ พระราชวังดุสิต (หลังจาก 2482) |
หนังสือพิมพ์ | สนับสนุนคณะราษฎร
|
สมาชิกภาพ (ปี 2475) | 102 คน (ผู้ก่อการ) 10,000 คน[3]: 132 |
อุดมการณ์ | หลัก 6 ประการ ชาตินิยม เสรีนิยม รัฐธรรมนูญนิยม |
การเมืองไทย รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
คณะราษฎรเกิดขึ้นจากการประชุมของคณะผู้ก่อการในเดือนกุมภาพันธ์ 2469 จากนั้นมีการสมัครสมาชิกเพิ่ม จนในปี 2475 ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยาม จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้ว่าพระมหากษัตริย์และฝ่ายกษัตริย์นิยมจะต่อต้านคณะราษฎรทุกวิถีทางก็ตาม เช่น การปิดสภาฯ กบฏบวรเดช และกบฏพระยาทรงสุรเดช แต่คณะราษฎรเป็นฝ่ายชนะ และมีบทบาทอย่างสูงในการเมืองไทยแทนสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงปี 2481–90 อย่างไรก็ดี บรรยากาศหลังสงครามโลกครั้งที่สองและการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลทำให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมสบช่องทวงอำนาจคืน จนสำเร็จในรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 ซึ่งสมาชิกคณะราษฎรหมดอำนาจไปโดยสิ้นเชิง คงเหลือเพียงจอมพล ป. พิบูลสงครามซึ่งไม่มีอำนาจดังเก่าแล้ว
มรดกของคณะราษฎรถูกโจมตีในเวลาต่อมาว่าเป็นเผด็จการทหารและ "ชิงสุกก่อนห่าม" และมีการยกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น "บิดาแห่งประชาธิปไตยไทย" แทน[5]: 54
การก่อตั้ง
แก้ราชอาณาจักรสยามปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาติได้ประสบกับปัญหาซึ่งเกิดจากรัฐบาลต้องรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่ร้ายแรงและภัยคุกคามจากต่างชาติ (จักรวรรดิบริติชและจักรวรรดิฝรั่งเศส) นอกจากนี้ ประเทศยังประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนานใหญ่เมื่อชาวเมืองและชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครเริ่มขยายจำนวนขึ้น และเริ่มแสดงความต้องการสิทธิเพิ่มมากขึ้นจากรัฐบาล และวิจารณ์ว่ารัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ
คณะราษฎรประกอบด้วยกลุ่มบุคคลผู้ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักเรียนทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในทวีปยุโรป โดยเริ่มต้นจากปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย และประยูร ภมรมนตรี[b] นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ก่อนที่จะหาสมาชิกที่มีความคิดแบบเดียวกันเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่ [6]
- ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส
- ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศฝรั่งเศส
- ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส
- ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส
- ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
- จรูญ สิงหเสนี[c] ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส
- แนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศอังกฤษ
มีการประชุมครั้งแรกที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอเมอราร์ (Rue Du Sommerard) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ซึ่งติดต่อกันนานถึง 5 วัน[7] ที่ประชุมมีมติตกลงเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยตกลงที่ใช้วิธีการ "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการนองเลือด เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติรัสเซีย[8] ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงจากมหาอำนาจบริเตนและฝรั่งเศสที่มีดินแดนติดกับสยามในเวลานั้น[9]
กลุ่มผู้ก่อการยังตั้งปณิธานในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อให้สยามบรรลุเป้าหมาย 6 ประการ[9] ซึ่งต่อมาหลังจากปฏิวัติยึดอำนาจได้แล้ว ก็ได้ประกาศเป้าหมาย 6 ประการนี้ไว้ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 และต่อมาได้เรียกว่าเป็น "หลัก 6 ประการของคณะราษฎร" ประกอบด้วย[9]
- จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
- จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
- จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
- จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
- จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
- จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
สุดท้ายที่ประชุมได้ลงมติให้ ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าไปพลางก่อน[6]
การสมัครสมาชิก
แก้สำหรับระยะเวลาเตรียมการนั้นบอกไว้ไม่ตรงกัน นายทหารระดับสูงที่มีแนวความคิดอย่างเดียวกันมานานก่อนหน้านี้ 4–5 ปีแล้ว[10] ส่วนพระยาพหลพลพยุหเสนาเคยให้สัมภาษณ์ว่า สายทหารมีความคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว 2–3 ปี และสายพลเรือนมีความคิดมาแล้ว 6–7 ปี[3]: 48 จากข้อมูลดังกล่าวทำให้น่าเชื่อว่าสายทหารน่าจะรวมกันในสยามแล้วในปี 2472–73[3]: 48–9
ระหว่างปี 2470–72 ร้อยโทประยูรสามารถหาสมาชิกเพิ่มได้อีก 8 นาย รวมทั้งพระยาทรงสุรเดชขณะเดินทางไปดูงานที่ประเทศฝรั่งเศส และหลวงสินธุสงครามชัยซึ่งเป็นนักเรียนนายเรือที่ประเทศเดนมาร์ก นอกจากนี้ยังมีควง อภัยวงศ์และทวี บุณยเกตุด้วย[3]: 50 การก่อตัวของคณะดังกล่าว 15 คนแรกมาจากความสัมพันธ์ส่วนตัว คือเป็นศิษย์ร่วมสถาบันหรือเป็นเครือญาติกัน[3]: 50–1 แม้สมาชิกคณะราษฎรจะเป็นนักเรียนนอกหลายคน แต่บางคนก็ไม่เคยศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ เช่น พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)[3]: 51
การสมัครสมาชิกของคณะราษฎรนั้นถือว่ารัดกุมกว่าเมื่อเทียบกับเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 เนื่องจากไม่ปรากฏว่าข่าวรั่วไหลจนถูกจับได้ มีหลักฐานว่าบางคนปฏิเสธเข้าร่วมแต่สัญญาว่าจะไม่บอกรัฐบาล[3]: 52
การแบ่งสายของคณะราษฎรนั้นมีสองแบบ ดังนี้
หลักฐานชี้ว่าคณะราษฎรแบ่งสมาชิก 102 นายเป็นสามสายคือ สายทหารบก สายทหารเรือ สายพลเรือน โดยสมาชิกที่สำคัญในการก่อตั้งคณะราษฎร ในแต่ละสาย ได้แก่
|
สำหรับคำบอกเล่าของพระยาทรงสุรเดช แบ่งออกเป็นสี่พวก
พระยาทรงสุรเดชเล่าว่า เกิดจากสายพลเรือนหาทหารไว้เป็นพวกด้วยแต่เป็นพวกยศน้อยจึงทำให้เกิดการแบ่งเป็นสายที่สี่[3]: 48 |
ทุกสายตกลงให้พระยาพหลพลพยุหเสนาที่มีอายุมากที่สุด (45 ปี) เป็นหัวหน้า[3]: 47 สำหรับการประสานงานข้ามสายเป็นบทบาทของร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี[3]: 47 คณะราษฎรยังตกลงกันว่า ในเรื่องของการปฏิวัติ ตลอดจนสถาปนาความมั่นคง และความปลอดภัยของบรรดาสมาชิก และของประเทศ เป็นหน้าที่ของฝ่ายทหาร และในส่วนของการร่างคำประกาศ ตลอดจนการร่างกฎหมาย และการวางเค้าโครงต่าง ๆ ของประเทศ เป็นหน้าที่ของฝ่ายพลเรือน[8][11]
การเตรียมการ
แก้การประชุมเพื่อเตรียมลงมือนั้นเกิดขึ้นเพียง 4 เดือนก่อนวันที่ 24 มิถุนายน รวม 7 ครั้ง เหตุการณ์ช่วงนั้นประจวบกับความอ่อนแอของรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและความขัดแย้งในหมู่เสนาบดี ด้านชาญวิทย์ เกษตรศิริสันนิษฐานว่าเนื่องจากมีการหารือเรื่องแนวทางการปกครองสยามโดยทั่วไปในหมู่ปัญญาชน ทำให้การประชุมของคณะราษฎรดูเกือบไม่ผิดปกติ[3]: 52–3 ประกอบกับสมาชิกผู้ก่อการอยู่ในแวดวงแห่งอำนาจ และผู้ใหญ่ในรัฐบาลชะล่าใจด้วยเห็นว่าคุ้นเคยกันอยู่[3]: 53–4 พระยาทรงสุรเดชได้ชื่อว่าเป็นมันสมองเบื้องหลังการปฏิวัติสยาม[3]: 47 โดยภายหลังการปฏิวัตินั้นคณะราษฎรได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีหนังสือขออภัยโทษที่คณะราษฎรได้ใช้ถ้อยคำรุนแรงในป่าวประกาศการปฏิวัติ สยามครั้งนั้น[12]
อุดมการณ์
แก้สมาชิกผู้ก่อการมีอุดมการณ์ชาตินิยมที่ตกทอดมาจากการตั้งรัฐชาติในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เล็งเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ เป็นระบอบที่ทำให้ประเทศชาติล้าหลังไม่เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ นอกจากนี้ยังตระหนักถึงภัยจากจักรวรรดินิยมจากบริเตนใหญ่และฝรั่งเศสที่มีดินแดนติดกับสยามทั้งสองทิศ[3]: 71–3 นอกจากนี้ยังมีความเห็นนิยมระบอบรัฐธรรมนูญด้วย และมองว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองเดียวที่ได้รับความนับถือในประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า[3]: 79 โดยมองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ใช้เวลานานในการก่อให้เกิดประชาธิปไตย คือมีการประวิงเวลามาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[3]: 80
คณะราษฎรระบุเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเบื้องต้นจะให้เป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญดังข้อความ
ต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึ่งได้ขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงค์ตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
แต่หากไม่ทรงยินยอม ได้ระบุต่อไปว่า
ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่า จะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะชื่อว่า ทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปตัย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา"
จากบทนิยามของ "ประชาธิปตัย" ในประกาศจะเห็นว่าเป็นความหมายของสาธารณรัฐ[13]: 11
หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
แก้การปฏิวัติสยามในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนที่สำคัญและยิ่งใหญ่ก็ตาม แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่งดงามที่สุด คือไม่มีการต่อสู้ ไม่มีการเสียเลือดเนื้อแต่ประการใด ผู้ก่อการคือ คณะราษฎร ได้ประกาศแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 1 ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยกล่าวถึงหลักในการบริหารประเทศของคณะราษฎร เพื่อการทำประโยชน์ให้แก่ประเทศและประชาชน และเพื่อความสุขสมบูรณ์ของประชาชน นั่นคือ หลัก 6 ประการของคณะราษฎร[14]
- จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
- จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
- ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
- จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิมากกว่าเช่นที่เป็นอยู่)
- จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
- จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
สถานภาพ
แก้หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 คณะราษฎรมีการจัดตั้งเป็น "สมาคมคณะราษฎร" ซึ่งมีลักษณะเป็นพรรคการเมือง มีพระยานิติศาสตร์ไพศาลเป็นนายกสมาคม มีประกาศรับสมาชิกทั่วประเทศจนมีรายงานว่ามีสมาชิก 10,000 คน[3]: 132 อย่างไรก็ดี หลังรัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ประกาศห้ามตั้งสมาคมการเมือง จึงเท่ากับเป็นการยุบสมาคมคณะราษฎรตามไปด้วย แม้หลังพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็ยังไม่ยกเลิกการห้ามจัดตั้งพรรคการเมือง สมาคมคณะราษฎรจึงเปลี่ยนบทบาทเป็น "สโมสรราษฎร์สราญรมย์" ที่มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นองค์การการเมืองโดยตรง[3]: 133–4
บทบาทในการเมืองไทย
แก้ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว นับว่าคณะราษฎรได้มีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงในทางการเมืองและสังคมของประเทศไทย เป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี จนกระทั่งมาหมดบทบาทอย่างสิ้นเชิงในปลายปี พ.ศ. 2490 จากการรัฐประหารของคณะนายทหาร ภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณ และจากนั้นได้ให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงแม้จอมพล ป. จะเป็นสมาชิกคณะราษฎรก็ตาม แต่สมาชิกและบุคคลร่วมคณะในรัฐบาลก็มิได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรเลย โดยรัฐประหารครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นการล้างอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรเสียสิ้น[9] และจากนั้นต่อมาแม้สมาชิกคณะราษฎรหลายคนจะยังมีชีวิตอยู่ และยังอยู่ในเส้นทางสายการเมืองก็ตาม แต่ก็มิได้มีบทบาทอย่างสูงเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว[15][6]
ปี 2476 แผนเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์หรือเรียก "สมุดปกเหลือง" นั้นได้วางแนวทางให้รัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดิน และให้ประชาชนเป็นลูกจ้างของรัฐ[16] ผลจากแผนดังกล่าวทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในหมู่คณะราษฎรระหว่างสมาชิกสายทหารบกที่คัดค้าน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มหนุ่มพลเรือนที่สนับสนุน[17] ปรากฏว่าในการสั่งปิดสภาในเดือนเมษายน 2476 มีสมาชิกคณะราษฎรแยกตัวไปเข้ากับระบอบเก่าด้วย เช่น พระยาทรงสุรเดช และประยูร ภมรมนตรี[18]
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการและทีนิวส์อ้างว่า สมาชิกคณะราษฎรเข้ามาจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฉวยโอกาส ก่อให้เกิดสิ่งของมีค่าสูญหายไปจากพระบรมมหาราชวัง และวัดพระแก้ว โดยมีหลักฐานที่บ่งบอกถึงกลุ่มคณะราษฎร ด้วยการสมคบคิดกับผู้แทนราชการพระองค์ นำที่ดินของพระมหากษัตริย์มาซื้อเองในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด และนำขายต่อ หรือขายคืนพระราชสำนักในราคาแพง[19][20]
พ.ศ. (นับแบบเก่า) |
นายกรัฐมนตรี | ทหารบก | ทหารเรือ | ทหารอากาศ | ตำรวจ |
---|---|---|---|---|---|
2475 | — | พระยาพหลพลพยุหเสนา | — | — | — |
2476 | พระยาพหลพลพยุหเสนา | — | — | ||
2477 | — | — | |||
2478 | — | — | |||
2479 | — | อดุล อดุลเดชจรัส | |||
2480 | — | — | |||
2481 | หลวงพิบูลสงคราม (ป. พิบูลสงคราม) |
หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) |
— | ||
หลวงพิบูลสงคราม (ป. พิบูลสงคราม) |
— | ||||
2482 | — | ||||
2483 | — | ||||
2484 | — | ||||
2485 | — | ||||
2486 | — | ||||
2487 | — | ||||
ควง อภัยวงศ์ | พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) |
— | |||
2488 | — | ||||
ทวี บุณยเกตุ | — | — | — | ||
— | — | — | — | ||
2489 | — | — | — | — | |
ปรีดี พนมยงค์ | อดุล อดุลเดชจรัส | — | — | — | |
ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ | — | — | — | ||
2490 | — | — | — |
ปัจจุบันสมาชิกคณะราษฎรทั้งหมดเสียชีวิตแล้ว โดยคนสุดท้ายที่เสียชีวิตคือ ร้อยโท กระจ่าง ตุลารักษ์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ด้วยอายุ 96 ปี[21]
การเลือกตั้ง
แก้ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2476 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในสยาม เพื่อเลือก ส.ส. จำนวน 78 ที่นั่ง จาก 156 ที่นั่งของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนอีก 78 ที่นั่ง ได้รับการแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมโดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกผู้แทนตำบล
ต่อมา ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2480 เป็นการเลือกตั้งทางตรงครั้งแรก เพื่อเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 91 ที่นั่ง จาก 182 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนอีก 91 ที่นั่งแต่งตั้งโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
ผลการเลือกตั้ง
แก้ผลการเลือกตั้ง | จำนวนที่นั่ง | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ที่นั่งเปลี่ยน | สถานภาพ | ผู้นำเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|---|---|
2476 | 78 / 78
|
78 | จัดตั้งรัฐบาล | พระยาพหลพลพยุหเสนา | ||
2480 | 91 / 91
|
13 | ||||
2481 | 91 / 91
|
แปลก พิบูลสงคราม |
ปรปักษ์
แก้กลุ่มต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์และกลุ่มกษัตริย์นิยมสมคบกันบ่อนทำลายขัดขวางคณะราษฎรเกิดเป็น "คณะชาติ" เริ่มจากการต่อรองรัฐธรรมนูญ จนมีการเพิ่มพระราชอำนาจและชะลอการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไป 10 ปี[5]: 17–8 นำไปสู่กฎหมายปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญเพื่อขัดขวางกระบวนการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ พ.ศ. 2475 (สมุดปกเหลือง) ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่[5]: 19 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงตำหนินายกรัฐมนตรีว่าจัดการกับคณะราษฎรได้ไม่เด็ดขาดพอ และลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการประหารชีวิต สมาชิกคณะราษฎรไว้ล่วงหน้า[5]: 21 ทรงตั้งหน่วยสืบราชการลับส่วนพระองค์เพื่อถวายรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ[5]: 23–4 เกิดเป็นเครือข่ายต่อต้านการปฏิวัติใต้ดินระหว่างกลุ่มกษัตริย์นิยม พรรคการเมือง และหนังสือพิมพ์ที่มีวังไกลกังวลเป็นศูนย์กลาง[5]: 27 ในการเตรียมการกบฏบวรเดชนั้นมีเช็คสั่งจ่ายเงินของพระคลังข้างที่แก่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชจำนวน 200,000 บาท[5]: 27 นอกจากนี้ สายลับส่วนพระองค์ยังลงมือลอบสังหารผู้นำคณะราษฎรหลายครั้งระหว่างปี 2476–78 รวมทั้งมีคำสั่งฆ่าตัดตอนมือปืนชุดหนึ่งเพื่อไม่ให้สืบสาวมาถึงสายลับด้วย[5]: 32–3 หลังจากทรงเพลี่ยงพล้ำหลายครั้งแก่คณะราษฎร ทรงเปลี่ยนกลับมาแสดงท่าทีสนับสนุนประชาธิปไตยเพื่อให้เข้าใจว่ากฎหมายต่าง ๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่พระราชประสงค์[5]: 35–6 [22]
พระยาทรงสุรเดชซึ่งได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสี่ทหารเสือของคณะราษฎร และเป็นผู้ร่วมวางแผนการปฏิวัติสยาม ได้กล่าวในภายหลังว่าความผิดอันใหญ่หลวงของตน[23] ซึ่งต่อมาพระยาทรงสุรเดชก่อกบฏต่อรัฐบาลคณะราษฎร ในปี 2481 และหลังจากนั้นรัฐบาลคณะราษฎรสามารถกวาดล้างขบวนการกษัตริย์นิยมได้ขนานใหญ่ หนึ่งในนั้นมีเจ้านายชั้นสูง คือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ในเอกสารของศาลพิเศษกล่าวถึงความเคลื่อนไหวในการเข้าเฝ้าอดีตพระมหากษัตริย์ที่กรุงลอนดอน และกรมนครสวรรค์วรพินิตที่อินโดนีเซียเพื่อจัดหาทุนสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง[5]: 39 หลังการกวาดล้างใหญ่นี้ทำให้ขบวนการดังกล่าวเสื่อมลงไปช่วงหนึ่ง
มาจนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บรรยากาศการเมืองไทยขณะนั้นเอื้อต่อการประนีประนอม ทำให้ขบวนการกษัตริย์นิยมกลับคืนมาอีกครั้ง มีการนิรโทษกรรมกบฏต่อรัฐบาลคณะราษฎร เครือข่ายกษัตริย์นิยมตั้งพรรคประชาธิปัตย์[5]: 42 แต่หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลในปี 2489 กลุ่มกษัตริย์นิยมสบช่องทวงคืนอำนาจ[5]: 43 และคิดอ่านกำจัดผู้นำคณะราษฎรคนสำคัญสองคน คือ ปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม สุดท้ายรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 เกิดขึ้น โดยได้รับพระราชหัตถเลขาแสดงความพอพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช[5]: 44
กล่าวโดยสรุปว่า กลุ่มต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์มีความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์และกลุ่มกษัตริย์นิยมสร้างพันธมิตรกับหลายกลุ่ม บางครั้งร่วมกับพลเรือน บางครั้งร่วมกับทหาร บางครั้งร่วมกับทหารใหม่เพื่อล้มทหารเก่า จนสุดท้ายสามารถกำจัดคณะราษฎรและสถาปนาคติ "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" กับระบอบเผด็จการทหาร ภายใต้ชื่อ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข[5]: 62–3
มรดก
แก้มรดกคณะราษฎรด้านต่าง ๆ เช่น[24]
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[25][26]
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- สถาปัตยกรรมคณะราษฎร
- คุรุสภา[27]
- วัดประชาธิปไตย (ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระศรีมหาธาตุ)
- โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุงปทุมธานี[28]
มรดกที่สูญหายหรือเปลี่ยนสภาพไปแล้ว
แก้มรดกคณะราษฎรที่สูญหาย ถูกรื้อถอน หรือเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนสภาพ มีดังนี้[29]
- หมุดคณะราษฎร (ถูกรื้อถอนเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2560)[30]
- อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (ถูกรื้อถอนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2561)[31][32]
- อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จังหวัดบุรีรัมย์ (ถูกรื้อถอนเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557)
- อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จังหวัดอุดรธานี
- อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา ค่ายพหลโยธิน (ถูกย้ายออกเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563)
- ค่ายพหลโยธิน (ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ค่ายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือค่ายภูมิพล)[33]
- ค่ายกองพลทหารปืนใหญ่ ค่ายพิบูลสงคราม (ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ค่ายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือค่ายสิริกิติ์)
- อนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (ถูกย้ายออกเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563)
การโจมตีมรดกคณะราษฎร
แก้ฝ่ายกษัตริย์นิยมโจมตีคณะราษฎรว่า การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เป็นจุดเริ่มต้นของเผด็จการทหาร เป็นการ "ชิงสุกก่อนห่าม" เพราะตัดหน้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว อีกทั้งพรรณนาว่าพระองค์ทรงเป็น "บิดาแห่งประชาธิปไตยไทย" ด้วย[5]: 54 นอกจากนี้ยังเล่าว่าฝ่ายตนต่างหากที่เป็นผู้ต่อสู้เพื่อทวงคืนประชาธิปไตยจากเผด็จการคณะราษฎร[5]: 55 มีการเผยแพร่งานเขียนว่าหน้าที่ของราษฎรไทยคือการปฏิบัติตามพระราชประสงค์[5]: 57 มีการใส่ความว่าสมาชิกคณะราษฎรมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุรัชกาลที่ 8 สวรรคต สร้างภาพว่ายุคสมัยของคณะราษฎร การเมืองไทยมีแต่ความแตกแยก ปราศจากศีลธรรม และมีแต่วิปโยคจากสงครามและการสูญเสียพระมหากษัตริย์[5]: 60–1 นวนิยาย สี่แผ่นดิน มุ่งสร้างภาพถวิลหาอดีตและสภาพสังคมที่เสื่อมลงหลังการปฏิวัติ[5]: 61
วาทกรรมต่าง ๆ ข้างต้นมีการผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องยาวนานจนกลายเป็นเรื่องเล่ากระแสหลัก จนมีการขยายความรวมถึงความล้มเหลวของการปฏิวัติสยาม นอกจากนี้ยังใช้เป็นแนวทางศึกษาทางวิชาการด้วย ทำให้มองข้ามบทบาทของพระมหากษัตริย์และพวกกษัตริย์นิยม[5]: 61–2
21 พฤษภาคม 2503 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันชาติแทน[34]
วันที่ 14 เมษายน 2560 หมุดคณะราษฎรถูกเปลี่ยน โดยหมุดใหม่มีข้อความว่า "ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน"[35]
ในปี 2563 มีการเปลี่ยนชื่อค่ายพหลโยธินและค่ายพิบูลสงคราม ซึ่งได้ชื่อตามผู้นำคณะราษฎร เป็น "ค่ายภูมิพล" และ "ค่ายสิริกิติ์" ตามลำดับ[36]
ดูเพิ่ม
แก้เชิงอรรถ
แก้- ↑ รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490
- ↑ ใช้คำนำหน้านามตามประกาศและแถลงการณ์ของคณะราษฎรในขณะนั้น ใช้คำนำหน้านามว่า นาย เนื่องจากขณะนั้นออกจากราชการทหารแล้ว และได้รับราชการในกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือน
- ↑ ขณะนั้นยังมิได้รับบรรดาศักดิ์และราชทินนาม
อ้างอิง
แก้- ↑ ใจจริง, ณัฐพล (5 May 2021). "สมาคมคณะชาติ : 'The Conservative Party' พรรคแรกแห่งสยาม" (ออนไลน์). มติชนสุดสัปดาห์. กรุงเทพมหานคร: มติชน. สืบค้นเมื่อ 7 February 2023.
การเสนอจัดตั้งสมาคมคณะชาติ นำไปสู่การโต้เถียงกันบนหน้าหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายนิยมคณะราษฎร เช่น 24 มิถุนา สัจจัง และกรรมกร กับฝ่ายนิยมคณะชาติ เช่น ไทยใหม่ ช่วยกรรมกร และกรุงเทพฯ เดลิเมล์ กลุ่มแรกวิจารณ์ว่า สมาคมคณะชาติเป็นกลุ่มการเมืองของชนชั้นสูง ผู้มีทรัพย์ซึ่งเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก และเกลียดชังคณะราษฎร ดำเนินโนยบายต่อต้านรัฐบาลคณะราษฎร และมีเจ้านายอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น ไม่สมควรให้จัดทะเบียนจัดตั้ง ส่วนกลุ่มหลังเสนอว่า ต้องมีพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
- ↑ เสมียนอารีย์ (24 June 2022). "ศรีกรุง ออร์แกนของคณะราษฎร หนังสือพิมพ์ที่ช่วยโหมโรงการปฏิวัติ 2475". มติชน. สืบค้นเมื่อ 11 March 2023.
เพราะเวลานั้นศรีกรุงกำลังโหมโรงโดยได้รับหน้าที่เป็นออร์แกน (Organ) ของคณะราษฎรอยู่แทบตลอดเวลา หากคราวใดแสดงความเห็นและภาพรุนแรงจนรัฐบาลหรือราชบัลลังก์สั่น และพอเจ้าของโรงพิมพ์ได้รับคำตักเตือนมาจากบุคคลชั้นสูง ศรีกรุงก็เพลามือไปชั่วขณะ แล้วก็ค่อย ๆ แรงขึ้น ๆ ต่อไปอีกใหม่
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 เกษตรศิริ, ชาญวิทย์ (2008). ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475–2500. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ISBN 978-974-372-972-0.
- ↑ ราชบัณฑิตยสภา (2017-04-25). "เรื่องการอ่านคำว่า "คณะราษฎร"". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. สืบค้นเมื่อ 2017-05-10.
เรื่องการอ่านคำว่า “คณะราษฎร” ตามที่มีประชาชนสอบถามการอ่านคำว่า “คณะราษฎร” นั้น สำนักงานราชบัณฑิตยสภา โดยคณะกรรมการชำระพจนานุกรมและคณะกรรมการศึกษาและพัฒนาความรู้ประวัติศาสตร์ไทย ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ในทางภาษา คำว่า “คณะราษฎร” ออกเสียงตามรูปเขียนว่า [คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน] และปรากฏหลักฐานจากการให้สัมภาษณ์ของ นายปรีดี พนมยงค์ แก่สถานีวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. 2525 นายปรีดี พนมยงค์ ออกเสียงคำว่า “คณะราษฎร” ว่า [คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน]
- ↑ 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 5.11 5.12 5.13 5.14 5.15 5.16 5.17 5.18 5.19 5.20 ใจจริง, ณัฐพล (2013). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) (1 ed.). ฟ้าเดียวกัน. ISBN 9786167667188.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 รุ่งมณี เมฆโสภณ. อำนาจ 2 : ต่อสู้กู้ชาติ เอกราษฎร์ อธิปไตย. กรุงเทพฯ : บ้านพระอาทิตย์, 2555. 183 หน้า. ISBN 9786165360791
- ↑ หน้า 163, เจ้าฟ้าประชาธิปกราชันผู้นิราศ โดย นายหนหวย (พ.ศ. 2530, จัดพิมพ์จำหน่ายโดยตัวเอง)
- ↑ 8.0 8.1 สองฝั่งประชาธิปไตย, "2475" .สารคดีทางไทยพีบีเอส: 26 กรกฎาคม 2555
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 สารคดี, ยุทธการยึดเมือง 24 มิถุนายน 2475, นิตยสารสารคดี, ปรับปรุงล่าสุด 21 มิถุนายน พ.ศ. 2549
- ↑ นายหนหวย. ทหารเรือปฏิวัติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, พฤศจิกายน 2555 (พิมพ์ครั้งที่ 3). 124 หน้า. ISBN 9789740210252
- ↑ คณะราษฎร : ย้อนเหตุการณ์สำคัญของไทย 88 ปี บนเส้นทางประชาธิปไตยหลังปฏิวัติสยาม
- ↑ วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย. (2555). เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ 1.กรุงเทพฯ: มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
- ↑ Patrick Jory. "Republicanism in Thai History". สืบค้นเมื่อ 20 June 2020.
- ↑ "คณะราษฎร". parliamentmuseum.go.th.
- ↑ เอกกษัตริย์ ใต้รัฐธรรมนูญ, บทที่ ๒๙ : ก่อนสฤษดิ์ปฏิวัติ (ต่อ) โดย วิมลพรรณ ปิติธวัชชัย : หน้า 2 เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
- ↑ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2544) หน้า 5.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475 – 2500, หน้า 138–9.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475 – 2500, หน้า 145.
- ↑ ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ!? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง?/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
- ↑ แฉ.."คณะราษฎร ยึดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เข้าพกเข้าห่อ!? ขายที่ดินแบบผ่อนส่งในราคาถูก ๆ พบกลุ่มพรรคพวกรัฐบาล สมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา!?
- ↑ ประชาไท, คณะราษฎรคนสุดท้ายเสียชีวิตแล้ว เก็บถาวร 2015-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 24 มิ.ย. 52
- ↑ พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7. หนังสืองานพระบรมศพ สมเด็จพระนางรำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7. 9 เมษายน 2528
- ↑ นรนิติ เศรษฐบุตร , ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ผู้แต่งร่วม. (2527).บันทึกพระยาสุรเดช เมื่อวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475. กรุงเทพฯ: แพร่วิทยา.
- ↑ "แผนที่มรดกคณะราษฎร". elect.in.th.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พุทธศักราช ๒๔๘๖ เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ ‘มรดกคณะราษฏร’ โซนบางเขน ‘อ.ปราบกบฏ-วัดพระศรี-ม.เกษตร’ ผ่านมุมนักสถาปัตย์-ประวัติศาสตร์ ประชาไท สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2020
- ↑ พระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488
- ↑ "ประวัติความเป็นมา - kp". sites.google.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-21. สืบค้นเมื่อ 2023-11-21.
- ↑ "ย้อนรอยมรดกคณะราษฎร ประวัติศาสตร์ที่ถูก (บังคับ) ให้ลืม". THE STANDARD. 2022-06-24.
- ↑ แชร์ว่อน! หมุดคณะราษฎรถูกเปลี่ยน ผอ.เขตดุสิตปัดเกี่ยว กรมศิลป์แจงไม่อยู่ในความรับผิดชอบ
- ↑ "พบอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหายไปจากวงเวียนหลักสี่ ไม่ทราบอยู่ไหน". prachatai.com.
- ↑ "อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โบราณสถานที่สูญหาย". prachatai.com.
- ↑ "โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนาม "ค่ายพหลโยธิน", "ค่ายพิบูลสงคราม" ตั้งแต่ 29 ธ.ค. 2562". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-11-21.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพ เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย; ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 77 ตอน 43 24 พฤษภาคม 2503 หน้า 1452
- ↑ แชร์ว่อน! หมุดคณะราษฎรถูกเปลี่ยน ผอ.เขตดุสิตปัดเกี่ยว กรมศิลป์แจงไม่อยู่ในความรับผิดชอบ
- ↑ คณะราษฎร : โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนาม "ค่ายพหลโยธิน" และ "ค่ายพิบูลสงคราม" เป็น "ค่ายภูมิพล" และ "ค่ายสิริกิติ์"
บรรณานุกรม
แก้- สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมืองการปกครองไทย: พ.ศ. 1762–2500. สำนักพิมพ์เสมาธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 4. พ.ศ. 2549.