หลวงทัศนัยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี)

พันตรี หลวงทัศนัยนิยมศึก นามเดิม ทัศนัย มิตรภักดี (22 กันยายน พ.ศ. 2443 – 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2476) อดีตนายทหารม้าชาวไทย และผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎรชุดแรก (7 คนแรก) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และทำการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475

หลวงทัศนัยนิยมศึก
(ทัศนัย มิตรภักดี)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด22 กันยายน พ.ศ. 2443
เมืองนครราชสีมา ประเทศสยาม
เสียชีวิต10 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 (32 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
พรรคการเมืองคณะราษฎร
คู่สมรสหม่อมหลวงเวก ทัศนัยนิยมศึก
บุตร1 คน
บุพการี
อาชีพทหาร
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
สังกัดกองทัพบกสยาม
ประจำการพ.ศ. 2465 – พ.ศ. 2476
ยศ พันตรี
หน่วยทหารม้า

ประวัติ แก้

หลวงทัศนัยนิยมศึก เป็นบุตรของเสวกเอก นายพันเอก พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) กับคุณหญิงเจิม นรินทรราชเสนี (นามสกุลเดิม นาครทรรพ) เกิดที่บ้านพักในจังหวัดนครราชสีมาของบิดา ตรงกับวันเสาร์ที่ 22 กันยายน รัตนโกสินทร์ศก 119 (พ.ศ. 2443) เมื่อแรกเกิด พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ในฐานะที่ทรงเป็นเจ้านายของ พระยานรินทร์ฯ บิดาของหลวงทัศนัยฯ ทรงประทานนามว่า "ทัศนัย" ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติขนานนามสกุลในรัชกาลที่ 6 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ก็ได้ประทานนามสกุลให้แก่ พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) ว่า "มิตรภักดี" พระองค์ยังได้มีรับสั่งด้วยเหตุที่ประทานนามสกุลนี้ให้สืบเนื่องจากบรรพบุรุษของพระยานรินทรฯ ย้อนกลับไปได้ถึงการรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 4

หลวงทัศนัยนิยมศึก ได้เข้าศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนวัดสุทัศน์เทพวราราม จากนั้นจึงได้ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เป็นเวลาราว 3-4 ปี จากนั้นบิดาได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้า เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ จากนั้นพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก จนกระทั่งจบการศึกษาและได้รับพระราชทานยศร้อยตรีเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2465[1]โดยรับราชการเป็นนายทหารเหล่าทหารม้าที่จังหวดนครราชสีมา จากนั้นในปี พ.ศ. 2467 จึงได้ลาออกไปเพื่อศึกษาต่อยังประเทศฝรั่งเศส ด้วยทุนของบิดา โดยเดินทางออกจากพระนครทางรถไฟพร้อมกับร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ ในวันที่ 18 พฤษภาคม แล้วลงเรือชื่อโปลคาร์ต ณ เมืองสิงคโปร์ ถึงกรุงปารีสในวันที่ 20 มิถุนายน ปีเดียวกัน

หลวงทัศนัยนิยมศึก เข้าศึกษายังโรงเรียนทหารม้าโซมูร์ ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนทหารม้าที่ขึ้นชื่อในระดับนานาชาติ ซึ่งในระหว่างที่ศึกษาอยู่นี้นั้นได้รับคำชมเชยและเกียรติบัตรต่าง ๆ จากทางโรงเรียน รวมถึงเคยเข้าแข่งขันการขี่ม้าได้อันดับหนึ่ง

ซึ่งในระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสนี้ หลวงทัศนัยนิยมศึก และ ร.ท.แปลก เพื่อนนักเรียนทหารด้วยกัน ได้เข้าร่วมกับนักเรียนฝ่ายพลเรือน 2 คน คือ นายประยูร ภมรมนตรี และนายปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งคณะราษฎรขึ้นมาในปี พ.ศ. 2469 ซึ่งนับว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎรชุดแรก ซึ่งมีสมาชิกจำนวนด้วยกันทั้งหมด 7 คน คือ นายปรีดี พนมยงค์, นายประยูร ภมรมนตรี, นายแนบ พหลโยธิน, นายตั้ว ลพานุกรม, นายจรูญ สิงหเสนี, ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ และ หลวงทัศนัยนิยมศึก

ซึ่งหลวงทัศนัยนิยมศึกนั้นเป็นบุคคลที่มีบุคคลิกใจร้อน หุนหันพลันแล่น อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยความรวดเร็ว และมีน้ำจิต น้ำใจรักเพื่อนฝูงมาก[2]

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนทหารม้าแล้ว ทางบิดายังเห็นว่า ยังมีความเห็นว่า ควรจะเข้าศึกษาต่อยังโรงเรียนผสมพันธุ์สัตว์ หากกลับมารับราชการเกิดตกม้าแขนขาหัก หรือในราชการทหารม้าไม่ต้องการใช้ จะได้มีวิชาชีพอื่นติดตัวต่อไป จึงตกลงให้เรียนวิชาชีพนี้ต่อไป ในปี พ.ศ. 2470

จากนั้นในปี พ.ศ. 2471 จึงสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับสู่ประเทศไทย กลับเข้าประจำการเป็น ครูโรงเรียนการขี่ม้า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2471 ได้รับพระราชทานยศ ร้อยโท เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2472 [3](ร.ท.) วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2473 ได้เลื่อนยศเป็น ร้อยเอก (ร.อ.)

วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ ตามราชทินนามในสัญญาบัตร เป็น "หลวงทัศนัยนิยมศึก" ถือศักดินา 800 [4] และ คงรับราชการในตำแหน่งครูโรงเรียนการขี่ม้าตามเดิม

บทบาททางการเมือง แก้

 
ทัศนัย มิตรภักดี ขณะนั่งรถถัง และกองกำลังทหารบนถนนระหว่างการปฏิวัติ

ในวันที่มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หลวงทัศนัยนิยมศึกพร้อมกับนายทหารม้าคณะราษฎรอีก 3 นาย ได้เข้าพบพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เสนาธิการผู้วางแผนการปฏิวัติ ถึงที่บ้านพักของพระยาทรงสุรเดช ในเวลาประมาณ 04.00 น. เพื่อขอทราบถึงแผนการ ก่อนที่ทั้งหมดจะออกมาด้วยการเดินเท้าถึงที่ตำบลนัดพบซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของพระยาทรงสุรเดชราว 200 เมตร[5] เพื่อสมทบกับคณะราษฎรคนอื่น ๆ จากนั้นเมื่อได้ลงมือ ในฐานะของนายทหารม้า หลวงทัศนัยนิยมศึกได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของคณะ โดยเป็นผู้บังคับบัญชาการทหารโดยเฉพาะในส่วนของทหารม้า และรถรบ, รถหุ้มเกราะ (รถถัง) อันเป็นอาวุธสำคัญประการหนึ่งของการก่อการครั้งนั้น หลังจากนั้นในวันที่ 1 สิงหาคม ปีเดียวกัน ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.พัน 1 รอ.) วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 คงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.พัน 1 รอ.) ได้รับพระราชทานยศ เป็น นายพันตรี (พ.ต.)[6]รับเงินเดือนอัตรานายทหารม้าชั้นสัญญาบัตรชั้นที่ 13 เดือนละ 200 บาท

ชีวิตครอบครัว แก้

ด้านชีวิตครอบครัว หลวงทัศนัยนิยมศึกสมรสกับหม่อมหลวงเวก ทัศนัยนิยมศึก (ชื่อเดิม: หม่อมหลวงเตอะ สนิทวงศ์) บุตรีของหม่อมราชวงศ์ทวีวัฒนศักดิ์ สนิทวงศ์ โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศสนิท และพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีมงคลสมรสให้ ณ วังถนนวิทยุ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 ต่อมา ซึ่งทั้งคู่มีบุตรหญิงด้วยกัน 1 คน แต่พอคลอดก็ถึงแก่กรรม

ถึงแก่อนิจกรรม แก้

หลวงทัศนัยนิยมศึกถึงแก่กรรมด้วยโรคปอดบวมเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2476[7] สิริอายุเพียง 32 ปี 7 เดือน 18 วันเท่านั้น และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 19 สิงหาคม ปีเดียวกัน[8]

อ้างอิง แก้

  1. พระราชทานยศทหารบก (หน้า ๒๘๐๕)
  2. 2475 ตอน สองฝั่งประชาธิปไตย, สารคดี ทางทีพีบีเอส: 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
  3. พระราชทานยศทหารบก (หน้า ๑๒๒)
  4. พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า ๔๘๒)
  5. บันทึกพระยาทรงสุรเดช โดย พระยาทรงสุรเดช (2482) เรียบเรียงโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และนรนิติ เศรษฐบุตร
  6. พระราชทานยศทหาร (หน้า ๒๖๑)
  7. ข่าวตาย (หน้า ๔๙๓)
  8. หนังสือประวัติ นายพันตรี หลวงทัศนัยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี) นายวรกิจบรรหาร พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2476 พิมพ์ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร