สถาปัตยกรรมคณะราษฎร
สถาปัตยกรรมคณะราษฎร คือรูปแบบหนึ่งของสถาปัตยกรรมไทยที่ก่อสร้างหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คือสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2475−2490
ตัวอย่างของงานสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อาคารไปรษณีย์กลาง โรงแรมรัตนโกสินทร์ ตึกโดมธรรมศาสตร์ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนามศุภชลาศัย อาคารเทเวศร์ประกันภัย และอาคารสถาปัตยกรรม 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น[1] ส่วนในจังหวัดลพบุรี ได้แก่ อาคารที่ทำการสถานีตำรวจภูธรเมืองลพบุรีหลังเก่า โรงแรมทหานบก วงเวียนศรีสุริโยทัย อาคารหลายแห่งในโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย โรงภาพยนตร์ทหานบก อาคารหลายแห่งในโรงพยาบาลอานันทมหิดล และสถานีตำรวจของนิคมกสิกร นอกเมืองลพบุรี เป็นต้น[2] ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ สะพานปรีดี-ธำรง อาคารศาลากลางเก่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอาคารสิริมังคลานันท์ของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เป็นต้น[3]
ลักษณะ
แก้สถาปัตยกรรมคณะราษฎรเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ บ้างก็เรียกว่า อลังการศิลป์ ที่มีลักษณะเรียบง่าย ลดทอนรายละเอียด ไม่ตกแต่งรายละเอียด ตลอดจนสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก และไม่มีหลังคา มีแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย[4] อุดมการณ์ประชาธิปไตย ความเสมอ มีองค์ประกอบตกแต่งใช้รูปทรงทางเรขาคณิต ใช้เส้นตั้ง เส้นนอน จัดองค์ประกอบให้ดูทันสมัย ไม่ขึ้นเป็นจั่วทรงสูง ไร้ลวดลายไทย สื่อถึงความเสมอภาค และการลดเลิกฐานานุศักดิ์ ชนชั้นทางสังคม[5]
ตัวอย่างของการแสดงระบบสัญลักษณ์ที่เกี่ยวพันกับคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 เป็นต้นว่า ปีกท้งสี่ด้านของอนุสาวรีย์ที่มีความสูงและรัศมีจากศูนย์กลางอนุสาวรีย์ 24 เมตร สื่อถึงวันที่ 24 มิถุนายน ปืนใหญ่ที่ฝังอยู่โดยรอบของฐานอนุสาวรีย์ที่มีจำนวน 75 กระบอก สื่อถึง พ.ศ. 2475 แนวคิดหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ปรากฏในพระขรรค์ที่อยู่ตรงบานประตูรอบป้อมที่เป็นที่ประดิษฐานพานรัฐธรรมนูญจำนวน 6 เล่ม[6]
ในส่วนการประดับตกแต่งสถาปัตยกรรม ประดับด้วยงานประติมากรรมสมัยใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจทางรูปแบบที่คล้ายศิลปะแบบ สัจนิยมแนวสังคม (Social Realism) และคาบเกี่ยวซ้อนทับกับ ศิลปะฟาสซิสต์ (Fascist Art) โดยปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ของคณะราษฎร[7]
อย่างไรก็ดี ชาตรี ประกิตนนทการ กล่าวว่า "การพยายามจัดแบ่งหมวดหมู่ทางรูปแบบของตึกอาคารสมัยคณะราษฎรนี้ให้เป็นไปตามหมวดหมู่รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น นีโอคลาสสิก (Neo-Classic) สากลสมัยใหม่ (International Style) อาร์ตเดโค (Art Deco) นีโอพลาสติก (Neo-Plastic) ฯลฯ ความพยายามจัดหมวดหมู่รูปแบบดังกล่าวเป็นเรื่องผิดพลาด เหตุเพราะมูลเหตุการหยิบยกรูปแบบเหล่านั้นมาใช้ในสังคมไทย ณ ช่วงเวลา มิใช่เป็นรากทางความคิดเดียวกับที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกแต่อย่างใด"[7]
หลัง พ.ศ. 2490 สถาปัตยกรรมคณะราษฎรไม่ได้ถูกสร้างเพิ่มเติม และสถาปัตยกรรมที่ยังคงอยู่ เช่น อนุสาวรีย์ หรือตึกอาคารที่มีความโดดเด่นสำคัญ ถูกพูดถึงในเชิงลบ เช่น หน้าตาน่าเกลียดไม่เป็นไทย บดบังโบราณสถาน และยังมีข้อเสนอให้มีการรื้อถอนทำลายไปบ้าง[8] เช่น โรงภาพยนตร์เฉลิมไทย ถึงกระนั้นแนวคิดคณะราษฎรถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ หลังการรัฐประหาร 2549 โดยกลุ่มปัญญาชน นักศึกษา นักประวัติศาสตร์ และนักกิจกรรมทางการเมือง ที่ใช้อนุสาวรีย์สิ่งปลูกสร้าง วัตถุสัญลักษณ์ต่าง ๆ เป็นสถานที่รวมตัวทางการเมือง[5]
สถานที่สาธารณะและอาคารพาณิชย์
แก้คณะราษฎรได้ทำการสร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏที่บางเขน และยังได้ปรับเปลี่ยนถนนราชดำเนินกลาง เพื่อเน้นย้ำถึงความก้าวหน้าของประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่การขยายถนน ตัดต้นมะฮอกกานีเดิมที่ปลูกไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และได้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตรงสี่แยกถนนดินสอ ตลอดจนสร้างโรงแรม (เช่น โรงแรมรัตนโกสินทร์และสุริยานนท์) โรงภาพยนตร์ (ศาลาเฉลิมไทย) ห้างสรรพสินค้า (ตึกไทยนิยม) และอาคารพาณิชย์คอนกรีตสองฝั่งถนนราชดำเนินกลาง
แนวคิดหลัก 6 ประการของคณะราษฎร มีเห็นในงานสถาปัตยกรรมของรัฐ เช่นหน้าต่าง 6 บานบนโดมของตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ที่พบมากคือแถวเสา 6 ต้น เช่นที่มุขหน้าตึกกระทรวงยุติธรรม และมุขหน้าศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (หลังเก่า)[9] นอกจากนั้นยังพบสถาปัตยกรรมคณะราษฎรในจังหวัดลพบุรี มีการสร้าง 3 วงเวียน รวมถึงมีกลุ่มอาคารใหญ่ ๆ อาคารพาณิชย์ หน้าตาแบบสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรกระจายตัวอยู่ เช่น อาคารที่ทำการสถานีตำรวจภูธรเมืองลพบุรีหลังเก่า โรงแรมทหานบก (ตัวสะกดภาษาไทยสมัย จอมพล ป.) ตรงวงเวียนศาลพระกาฬ อาคารหลายแห่งในโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย โรงภาพยนตร์ทหานบก ซึ่งปัจจุบันกรมธนารักษ์ดูแลและให้ เอกชนบริษัทรักษาความปลอดภัยเช่าอยู่ อาคารหลายแห่งในโรงพยาบาลอานันทมหิดล และ สถานีตำรวจของนิคมกสิกร นอกเมืองลพบุรี[5]
คณะราษฎรได้เลือกสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีการจัดทำแบบพานรัฐธรรมนูญส่งไปตามจังหวัดต่าง ๆ สร้างเป็นอนุสาวรีย์ซึ่งส่วนมากตั้งอยู่ที่ภาคอีสาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ผู้แทนราษฎรแสดงบทบาทอย่างโดดเด่นและประชาชนตื่นตัวทางการเมืองสูงหลังปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ปัจจุบันอนุสาวรีย์ที่แสดงสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญยังมีเหลืออยู่ 6 แห่ง ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ขอนแก่น และบุรีรัมย์[10]
วัด
แก้สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่คณะราษฎรจัดสร้างขึ้น มีการละทิ้งแนวทางแบบจารีตนิยมเดิม หันมาสร้างอาคารแบบเรียบง่าย ไม่มีฐานานุศักดิ์ ทางด้านวัดวาอารามก็มีการสอดแทรกแนวคิดประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน คือ การเปลี่ยนลวดลายประดับบนหน้าบันของอุโบสถ จากเดิมหน้าบันตกแต่งด้วยลายแบบจารีต เช่น พระนารายณ์ทรงครุฑ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เปลี่ยนมาเป็นลายแบบใหม่ที่เรียกว่า ลายอรุณเทพบุตร ชาตรี ประกิตนนทการ อธิบายไว้ในหนังสือ การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม ว่าน่าจะมีความหมายสื่อถึง "แสงสว่างแรกขึ้นของไทยในยุคใหม่" หรือ "รุ่งอรุณใหม่ของชาติในระบอบประชาธิปไตย" ลายนี้มีการนำมาประดับอยู่ที่หน้าบันของอุโบสถมาตรฐานแบบ ก. ที่ได้รับการออกแบบใหม่ เพื่อให้วัดต่าง ๆ นำไปสร้างขึ้นด้วย[11]
อีกสัญลักษณ์คือ รูปที่แสดงเป็นเล่มสมุดไทยวางบนพานแว่นฟ้า ยังปรากฏตามวัด เช่น ตามหน้าบัน หรือลวดลายไม้แกะสลักต่าง ๆ เช่นวัดหลายแห่งในจังหวัดลำปาง อาทิ วัดปงสนุกเหนือและวัดปงหอศาล ในที่อื่นอย่างหน้าบันวิหารวัดรัตนตรัย จังหวัดเพชรบุรี บนเพดานของสิมวัดท่าคก จังหวัดเลย หน้าบันของศาลาวัดท่านางหอม จังหวัดสงขลา[12]
วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารซึ่งเคยเป็นสมรภูมิรบระหว่างกลุ่มทหารในเหตุการณ์กบฏบวรเดช การริเริ่มก่อสร้างวัดนี้ รัฐบาลได้ประกาศรับบริจาคเงินราษฎรทั่วไปที่มีจิตศรัทธา เพื่อร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการสร้างวัดแห่งนี้ให้สมกับเป็นวัดที่สร้างขึ้นในระบอบประชาธิปไตย โดยในระยะแรกใช้ชื่อว่า วัดประชาธิปไตย[13] เจดีย์ของวัดบรรจุอัฐิของคณะราษฎรหรือบุคคลที่ทำคุณงามความดีแก่ประเทศชาติ เจดีย์องค์นี้มีการลดทอนรายละเอียดคือ ไม่ทำบัลลังค์ และลดทอนรายละเอียดส่วนอื่น เช่น ฐานบัวด้านล่างและบัวคลุมเถา รูปทรงเจดีย์ไม่มีความอ่อนช้อยดั่งเจดีย์แบบประเพณี มีการทำบัวคลุมเถาซ้อน 6 ชั้น อันสื่อความหมายหลัก 6 ประการ[14]
-
หน้าบันอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นลายอรุณเทพบุตร
การรื้อถอน
แก้อาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมคณะราษฎรหลายแห่งถูกรื้อถอน ได้แก่
- อาคารศาลฎีกาเดิม ตั้งอยู่บริเวณศาลหลักเมือง ถนนราชดำเนินใน ออกแบบโดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2486 ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2550 มีการรื้อถอนอาคารและสร้างทับใหม่ โดยศาลฎีกาให้เหตุผลว่าอาคารเหล่านี้กำลังเสื่อมสภาพ มีความแตกร้าว และไม่ปลอดภัยต่อผู้ที่ทำงาน
- ศาลาเฉลิมไทย ตั้งอยู่ที่มุมถนนราชดำเนินกลางกับถนนมหาไชย ออกแบบโดยจิตรเสน อภัยวงศ์ สร้างสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483 แต่เปิดทำการเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2492 มีการแสดงครั้งสุดท้ายที่จัดขึ้นที่ศาลาเฉลิมไทย คือการแสดงละครเวที พันท้ายนรสิงห์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ก่อนจะถูกรื้อถอนออกเพื่อสร้างเป็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เหตุผลในการรื้อเพราะอาคารศาลาเฉลิมไทยบดบังทัศนียภาพสง่างามของโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร[15]
- อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนหลักสี่ จุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา ออกแบบโดยหลวงนฤมิตรเรขการ (เยื้อน บุณยะเสน) โดยเมื่อราว พ.ศ. 2555–2559 กรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานลอยข้ามแยกวงเวียนหลักสี่ จึงทำให้ต้องเคลื่อนย้ายตัวอนุสาวรีย์ออกไปจากบริเวณเดิม[16]
อ้างอิง
แก้- ↑ "มรดกคณะราษฎร". brandthink.me.
- ↑ ธันยพร บัวทอง. "คณะราษฎร : เยือนลพบุรี ดูมรดกที่เหลืออยู่ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และการอภิวัฒน์ 2475". บีบีซีไทย.
- ↑ หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. "ย่ำกรุงเก่า เล่าเรื่องราชวงศ์จักรี-คณะราษฎรในอยุธยา กับ ชาตรี ประกิตนนทการ". บีบีซีไทย.
- ↑ "สถาปัตยกรรมคณะราษฎร' มรดกและวัธนธัมจอมพล ป". วอยซ์ทีวี. 24 มิถุนายน 2557. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2563.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ 5.0 5.1 5.2 ธันยพร บัวทอง (16 กุมภาพันธ์ 2563). "คณะราษฎร : เยือนลพบุรี ดูมรดกที่เหลืออยู่ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และการอภิวัฒน์ 2475". บีบีซีไทย. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ โดม ไกรปกรณ์ และ ธนสิษฐ์ ขุนทองพันธ์ (2559). "ความหมายทางการเมืองและความล้มเหลวของ การสื่อความในงานสถาปัตยกรรมคณะราษฎร". หน้าจั่ว (13): 144.
- ↑ 7.0 7.1 ชาตรี ประกิตนนทการ, ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร: สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2552).
- ↑ หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ (22 มิถุนายน 2562). "24 มิถุนายน 2475 : สำรวจความคิด "คณะราษฎร" ผ่านมรดกทางวัฒนธรรม". บีบีซีไทย. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2563.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ ศรัณย์ ทองปาน (10 กันยายน 2552). "โลกใบใหญ่ สถาปัตยกรรม – มรดก ๒๔๗๕ : สถาปัตยกรรมคณะราษฎร". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ กิตติยา มหาวงษ์. "มรดกคณะราษฎรผ่านสถาปัตยกรรมความเป็น "สมัยใหม่" สู่เมืองมหาสารคาม". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ ""อรุณเทพบุตร" บนหน้าบันโบสถ์และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์ของ "คณะราษฎร"". มิวเซียมเพรส.
- ↑ "วัดธรรมนูญ". เดอะคลาวด์.
- ↑ "จากวัดประชาธิปไตยสู่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน มรดกวัดในระบอบประชาธิปไตยของคณะราษฎร". เดอะสแตนดาร์ด.
- ↑ กมลรัตน์ ชวนสบาย. "แนวคิดและคติการสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิของบุคคลในสมัยรัตนโกสินทร์" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ "วาทะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เมื่อทุบ "ศาลาเฉลิมไทย" มอง "สถาปัตยกรรมคณะราษฎร" ต่ำทราม". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "มรดก 'คณะราษฎร' ประวัติศาสตร์ที่ถูกรื้อถอน". เดอะโมเมนตัม.