โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร

โลหะปราสาท เป็นโลหะปราสาทองค์แรกและองค์เดียวของไทย และถือเป็นองค์ที่ 3 ของโลก สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ในพื้นที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร และอยู่ในบริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ยอดปราสาทประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

โลหะปราสาท
โลหะปราสาท
ข้อมูลพื้นฐาน
ที่ตั้งแขวงบวรนิเวศ, เขตพระนคร, กรุงเทพมหานคร
ศาสนาศาสนาพุทธ
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ประเทศประเทศไทย
การสร้าง
สถาปนิกสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)[1]
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมไทย
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปีที่เริ่มพ.ศ. 2389[2] (178 ปี)
ขึ้นเมื่อ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เป็นส่วนหนึ่งของวัดราชนัดดาราม
เลขอ้างอิง0000039

โลหะปราสาท ได้รับการปรับปรุงหลายครั้ง ภายหลังก่อสร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ภายหลังพระองค์สวรรคตลง โลหะปราสาทก็มิได้ปรับปรุงแล้วเสร็จ จนกระทั่งได้บูรณะครั้งใหญ่จนแล้วเสร็จในสมัยพระราชปัญญาโสภณ (สุข ปุญญรํสี) ปี พ.ศ. 2506 โดยมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ร่วมกันปรับปรุงแล้วเสร็จ เป็นแบบก่อโบกปูนสีแดง มณฑปทาสีขาว

ในปี พ.ศ. 2539 พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรม (ในเวลาต่อมา) ได้ออกแบบวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ ทำให้ออกมาเป็นสีดำ และในปี พ.ศ. 2555 กรมศิลปากรได้ร่วมกับทางวัดบูรณะ มณฑปให้เป็นสีทองแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2560

ประวัติ

แก้

โลหะปราสาท ตั้งอยู่ ณ ด้านตะวันตกของพระอุโบสถ ก่อสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนการสร้างเจดีย์ โลหะปราสาทนี้ สร้างขึ้นตามประวัติพระพุทธศาสนา ถือเป็นโลหะปราสาทองค์ที่ 3 ของโลก โดยโลหะปราสาทหลังแรกนางวิสาขาบุตรีธนัญชัยเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถีสร้างขึ้นในสมัยพุทธกาลโดย เป็นปราสาท 2 ชั้น 1,000 ห้อง ยอดปราสาททำด้วยทองคำ ที่ชื่อว่า "มิคารมาตุปราสาท" ส่วนโลหะปราสาทหลังที่ 2 สร้างโดยพระเจ้าทุฏฐคามณี กษัตริย์แห่งกรุงอนุราธปุระลังกา ในราวปีพุทธศักราช 382 เป็นปราสาท 9 ชั้น 1,000 ห้อง มีความกว้างและความสูงแต่ละด้าน 100 ศอก หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ผนังเป็นไม้ประดับด้วยหินมีค่าและงาช้าง

โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร มีลักษณะศิลปสถาปัตยกรรมไทยเป็นปราสาท 3 ชั้น มียอด 37 ยอด หมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ กลางปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด มีซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาทเป็นแกนกลาง เจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้น 67 ขั้น เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2394 นับจากปีที่เริ่มก่อสร้างวัดราชนัดดารามได้ 5 ปี แต่ก่อสร้างสำเร็จเป็นเพียงปราสาทโกลน ก็สิ้นรัชกาล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการก่อสร้างโลหะปราสาท จนมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทตฺโต) เจ้าอาวาส ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้งตามแต่กำลังทุนทรัพย์ที่หาได้ โดยบูรณะตั้งแต่ชั้นบนลงมา คือ ทำพื้น ก่อมณฑปโบกปูนสีแดง ยกฉัตร ยอดเจดีย์ที่ชั้นบนสุดและชั้นที่ 2 ทั้งหมด ยังเหลือแต่ชั้นล่างสุดที่ไม่ได้บูรณะ

 
ภาพจากมุมมองพระบรมบรรพตวัดสระเกศสมัยก่อนปี พ.ศ. 2539 มองเห็นโลหะปราสาท(ตรงกลาง)ก่อนบูรณะสมัยยอดมณฑปสีขาว

การบูรณะโลหะปราสาทครั้งใหญ่ ดำเนินการในสมัยพระราชปัญญาโสภณ (สุข ปุญญรํสี) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในปี พ.ศ. 2506 ทั้งนี้ได้พยายามรักษาแบบแผนดั้งเดิมของโลหะปราสาทในสมัยรัชกาลที่ 3 ไว้ให้มากที่สุด นับว่าโลหะปราสาทได้บูรณปฏิสังขรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ในครั้งนี้ โดยกรมโยธาเทศบาล เป็นผู้รับผิดชอบในครั้งนี้

เมื่อครั้งที่รัฐบาลจัดงานฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2539 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บุษบกโลหะปราสาทเป็นพระราชพิธีแรก แห่งการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538

สืบเนื่องจากโอกาสดังกล่าว โครงการบูรณะโลหะปราสาทครั้งล่าสุดจึงได้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2539 สาระสำคัญของโครงการนี้ประกอบด้วย งานบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท เริ่มจากยอดมณฑปกลาง เปลี่ยนวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ โดยมีนาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น (ยศในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นยศ พลอากาศตรี) ศิลปินแห่งชาติ เป็นสถาปนิก นายสุทิน เจริญสวัสดิ์ เป็นวิศวกรโยธา และ นายประพิศ แก้วสุริยาเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง

ในปี พ.ศ. 2555 กรมศิลปากร ร่วมกับวัดราชนัดดารามวรวิหาร จัดโครงการบูรณะโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม โดยการปิดทองคำเปลวบนยอดทั้ง 37 ยอด โดยเริ่มดำเนินการจากชั้นบนสุดลงมาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2560

ระเบียงภาพ

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°45′17″N 100°30′16″E / 13.754793°N 100.504568°E / 13.754793; 100.504568

อ้างอิง

แก้
  1. โลหะปราสาท เก็บถาวร 2015-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, นานาสาระ .สืบค้นเมื่อ 12/12/2559
  2. บูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม, travel.mthai.com .วันที่ 24 มี.ค. 2557