วัดราชนัดดารามวรวิหาร
วัดราชนัดดารามวรวิหาร หรือ "วัดราชนัดดา" เป็นวัดตั้งอยู่ที่สี่แยกระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนมหาไชย ในเขตพระนคร แปลว่า “วัดของพระราชนัดดา” วัดนี้สร้างขึ้นตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3)เพื่อเป็นพระเกียรติแก่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระราชนัดดาในปี 2389[1][2]
วัดราชนัดดารามวรวิหาร | |
---|---|
![]() ทัศนียภาพบริเวณหน้าวัดราชนัดดา | |
![]() | |
ที่ตั้ง | แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
ประเภท | พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร |
นิกาย | มหานิกาย |
เว็บไซต์ | www.watratchanaddaram.com |
หมายเหตุ | |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | วัดราชนัดดาราม |
ขึ้นเมื่อ | 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร |
เลขอ้างอิง | 0000039 |
![]() |
ประวัติ
แก้วัดราชนัดดารามวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2389 ตรงกับปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บนสวนผลไม้เก่าเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ พระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างโลหะปราสาท แทนการสร้างเจดีย์ นับเป็นโลหะปราสาทแห่งแรกของไทย โดยสร้างเป็นอาคาร 7 ชั้น มียอดปราสาท 37 ยอด หมายถึงโพธิปักขิยธรรมในพระพุทธศาสนา 37 ประการ ยอดปราสาทชั้น 7 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียน 67 ขั้น ให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ข้างบนได้
แต่เดิมโลหะปราสาทไม่ได้ตั้งเด่นเป็นสง่าเมื่อผ่านมาทางถนนราชดำเนินเหมือนในปัจจุบัน เพราะมีการก่อสร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย หัวมุมถนนราชดำเนิน ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกของไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2532 จึงได้มีการรื้อศาลาเฉลิมไทย โดยอ้างว่าตัวอาคารที่บดบังทัศนียภาพของโลหะปราสาท และวัดราชนัดดา ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายในตอนนั้นที่เริ่มทำลายทิ้งมรดกของคณะราษฎร[3] เพราะตัวอาคารเฉลิมไทยนั้นถือได้ว่าเป็นมรดกคณะราษฎรที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งบนถนนราชดำเนิน ทั้งนี่การทำลายมรดกคณะราฎรถูกแทนที่ด้วยสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจยิ่งขึ้น เมื่อที่ตั้งของโรงหนังเดิมถูกกลายเป็นลานพลับพลาเจษฎษบดินทร์ สัญลักษณ์ของกลุ่มกษัตริย์นิยมไปแทน
ศิลปกรรม
แก้พระอุโบสถ
แก้พระอุโบสถเป็นงานสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีโดยมียังมีเครื่องหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องมีเครื่องลำยองประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เเต่มีรูปแบบที่นิยมในรัชกาลที่ 3 คือ การใช้ระบบเสารับน้ำหนักทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ไม่มีบัวหัวเสา ไม่มีคันทวย ไม่มีเสาร่วมใน เนื่องจากการใช้เสารับน้ำหนักทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สามารถรับน้ำหนักได้ดี มีเสาพาไลโดยรอบทำให้มีระเบียงทางเดินรอบอาคาร หลังคามี 3 ซ้อน 4 ตับ หน้าบันเป็นไม้แกะสลักประดับกระจกรูปพรรณพฤกษา ลายดอกไม้ ใบไม้ จำพวกลายดอกโบตั๋นหรือลายก้านแย่ง ซึ่งเป็นลวดลายที่เกิดขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3[4] ตัวอาคารวางตัวในลักษณะเเนวขวางคือวางตามเเนวทิศเหนือ-ใต้ อยู่กึ่งกลางระหว่างพระวิหารเเละศาลาการเปรียญ ซุ้มประตูเเละหน้าต่างของพระอุโบสถเป็นทรงบรรพเเถลงที่ประดับลวดลายอย่างเทศ ภายในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมเป็นภาพพุทธประวัติ โดยมีลักษณะเด่น คือ ภาพเหล่าเทวดาล่องลอยท่ามกลางหมู่เมฆ โดยผนังหุ้มกลองด้านหน้าเขียนพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากชั้นดาวดึงส์ เเละผนังหุ้มกลองด้านหลังเขียนตอนเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยผนังด้านอื่นๆ เป็นฉากของสวรรค์ประกอบด้วยท้องฟ้า พระอาทิตย์อยู่กลางผนังทางทิศตะวันออกเเละพระจันทร์อยู่กลางผนังทางทิศตะวันตกมีเทวดาเหาะล่องลอยเต็มหมู่ท้องฟ้า[5]
พระเสฏฐตมมุนี
แก้พระเสฏฐตมมุนีเป็นพระประธานในพระอุโบสถ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นพร้อมกับพระพุทธมหาโลหาภินันทปฏิมา พระประธานในพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร ต่อมารัชกาลที่ 4 พระราชทานพระนามว่า "พระเสฏฐตมมุนี" โดยหล่อจากทองแดงที่ขุดได้จำนวนมากจากอำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา เมื่อสร้างเสร็จโปรดเกล้าฯ ให้ชักลากจากพระบรมมหาราชวังไปยังวัดราชนัดดาโดยใช้วิธีผูกเชือก 4 เส้นเเละลากด้วยตะเฆ่ เเละให้ชาวบ้านมาช่วยกันชักพระ เเต่ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ เนื่องจากใช้ชาวบ้านที่ไม่มีประสบการณ์ทำให้การชักลากที่แล่นด้วยความเร็วควบคุมไม่อยู่เเละได้ทับเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ที่เข้าร่วมบัญชาการการชักพระครั้งนี้ ทำให้ขาขาดอาหารสาหัส อยู่ได้เพียงหนึ่งเดือนก็ถึงเเก่อสัญกรรม ลักษณะของพระเสฏฐตมมุนีเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 7 ศอก มีลักษณะเเบบพระพุทธรูปที่สร้างในรัชกาลที่ 3 คือ มีพระวรกายเพรียวบาง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่จรดพระนาภี พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งไข่ ขมวดพระเกษาเล็ก มีพระรัสมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระเนตรเปิดเเละมองตรง พระนาสิกค่อนข้างเล็กเเละโด่ง พระโอษฐ์เล็กแย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย เส้นพระโอษฐ์โค้งเล็กน้อยเกือบเป็นเส้นตรง เรียกว่า "พระพักตร์อย่างหุ่น"[6]
ซุ้มสีมา
แก้ซุ้มสีมาพระอุโบสถวัดราชนัดดาเป็นซุ้มก่ออิฐถือปูนทรงเรือนแบบประเพณีนียมทรงปราสาทยอดลักษณะคล้ายบุษบกประกอบด้วยส่วนฐาน ส่วนเรือนธาตุเเละส่วนยอด ส่วนฐานเป็นฐานสิงห์ 1 ฐาน ส่วนเรือนเป็นเสาเเบบย่อมุมไม้ 12 หลังคาทำเป็นทรงปราสาทซ้อนหลายชั้น ยอดบนเป็นกราวยเเหลม ส่วนใสีมาเป็นแบบสีมาคู่เเกะสลักจากหินชนวนด้านหนึ่งเป็นรูปธรรมจักรอีกด้านเป็นรูปเทวดา
ภาพพระอุโบสถ อื่น ๆ
แก้-
หน้าบันพระอุโบสถ
-
ซุ้มสีมาพระอุโบสถ
-
ใบสีมาพระอุโบสถ
-
ซุ้มหน้าต่างพระอุโบสถ
-
จิตรกรรมในพระอุโบสถด้านหน้า เรื่องพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พระวิหารเเละศาลาการเปรียญ
แก้พระวิหารเเละศาลาการเปรียญมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ โดยจะมีลักษณะคล้ายพระอุโบสถเเต่มีขนาดเล็กกว่า เป็นอาคารแบบไทยประเพณีโดยมียังมีเครื่องหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องมีเครื่องลำยองประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เเต่มีรูปแบบที่นิยมในรัชกาลที่ 3 คือ การใช้ระบบเสารับน้ำหนักทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ไม่มีบัวหัวเสา ไม่มีคันทวย ไม่มีเสาร่วมใน เนื่องจากการใช้เสารับน้ำหนักทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สามารถรับน้ำหนักได้ดี มีเสาพาไลโดยรอบทำให้มีระเบียงทางเดินรอบอาคาร หลังคามี 2 ซ้อน 3 ตับ หน้าบันเป็นไม้แกะสลักประดับกระจกรูปพรรณพฤกษา ลายดอกไม้ ใบไม้ จำพวกลายดอกโบตั๋นหรือลายก้านแย่ง ซึ่งเป็นลวดลายที่เกิดขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3[4] โดยพระวิหารเเละศาลาการเปรียญจะตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกขวางกับพระอุโบสถ โดยพระวิหารจะตั้งอยู่ทางทิศใต้ด้านหลังพระอุโบสถเเละศาลาการเปรียญจะตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือหน้าพระอุโบสถ พระประธานในพระวิหารมีพระนามว่า พระชุติธรรมนราสพ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร พระประธานในศาลาการเปรียญเป็นพระพุทธรูปปางรำพึงไม่มีพระนาม จิตรกรรมภายในพระวิหารเป็นลายพรรณพฤกษาอย่างเทศผูกลายเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ส่วนจิตรกรรมในศาลาการเปรียญเขียนลานพรรณพฤกษาเป็นลายดอกไม้ร่วง ซุ้มประตู-หน้าต่างของพระวิหารเเละศาลาการเปรียญมีลักษณะเหมือนกันคือประดับลวดลายอย่างเทศจำพวกดอกไม้ ใบ ไม้ แบบพระราชนิยม เป็นลวดลายจีนผสมตะวันตก[7]
ภาพพระวิหารเเละศาลาการเปรียญ อื่น ๆ
แก้-
พระชุติธรรมนราสพ พระประธานในพระวิหาร
-
พระประธานในศาลาการเปรียญ
-
หน้าบันพระวิหาร
-
หน้าบันศาลาการเปรียญ
-
ซุ้มหน้าต่างพระวิหารเเละศาลาการเปรียญ
โลหะปราสาท
แก้โลหะปราสาท ตั้งอยู่ ณ ด้านตะวันตกของพระอุโบสถ ก่อสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนการสร้างเจดีย์ โลหะปราสาทมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยทรงปราสาทมี 3 ชั้น มียอดทรงปราสาท 37 ยอด หมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ กลางปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด มีซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาทเป็นแกนกลาง เจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้น 67 ขั้น บนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2394 นับจากปีที่เริ่มก่อสร้างวัดราชนัดดารามได้ 5 ปี แต่ก่อสร้างสำเร็จเป็นเพียงปราสาทโกลน ก็สิ้นรัชกาล
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการก่อสร้างโลหะปราสาท จนมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทตฺโต) เจ้าอาวาส ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้งตามแต่กำลังทุนทรัพย์ที่หาได้ โดยบูรณะตั้งแต่ชั้นบนลงมา คือ ทำพื้น ก่อมณฑปโบกปูนสีแดง ยกฉัตร ยอดเจดีย์ที่ชั้นบนสุดและชั้นที่ 2 ทั้งหมด ยังเหลือแต่ชั้นล่างสุดที่ไม่ได้บูรณะ
การบูรณะโลหะปราสาทครั้งใหญ่ ดำเนินการในสมัยพระราชปัญญาโสภณ (สุข ปุญญรํสี) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในปี พ.ศ. 2506 ทั้งนี้ได้พยายามรักษาแบบแผนดั้งเดิมของโลหะปราสาทในสมัยรัชกาลที่ 3 ไว้ให้มากที่สุด นับว่าโลหะปราสาทได้บูรณปฏิสังขรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ในครั้งนี้ โดยกรมโยธาเทศบาล เป็นผู้รับผิดชอบในครั้งนี้
เมื่อครั้งที่รัฐบาลจัดงานฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2539 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บุษบกโลหะปราสาทเป็นพระราชพิธีแรก แห่งการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
สืบเนื่องจากโอกาสดังกล่าว โครงการบูรณะโลหะปราสาทครั้งล่าสุดจึงได้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2539 สาระสำคัญของโครงการนี้ประกอบด้วย งานบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท เริ่มจากยอดมณฑปกลาง เปลี่ยนวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ โดยมีนาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น (ยศในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นยศ พลอากาศตรี) ศิลปินแห่งชาติ เป็นสถาปนิก นายสุทิน เจริญสวัสดิ์ เป็นวิศวกรโยธา และ นายประพิศ แก้วสุริยาเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง
ในปี พ.ศ. 2555 กรมศิลปากร ร่วมกับวัดราชนัดดารามวรวิหาร จัดโครงการบูรณะโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม โดยการปิดทองคำเปลวบนยอดทั้ง 37 ยอด โดยเริ่มดำเนินการจากชั้นบนสุดลงมาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2560
ภาพโลหะปราสาท อื่น ๆ
แก้-
พระบรมสารีริกธาตุบนยอดโลหะปราสาท
-
บันไดเวียน กลางโลหะปราสาท
-
รายละเอียดยอดปราสาท โลหะปราสาท
-
โลหะปราสาทเมื่อครั้งยอดมณฑปยังไม่ได้รับการปิดทอง
-
โลหะปราสาทในตอนกลางคืน มุมจากลานพลับพลามหาเจษฎษบดินทร์
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Datta, Rangan (6 November 2022). "A visit to Loha Prasat in Bangkok will fill you with peace, joy and serenity". No. The Telegraph. My Kolkata. สืบค้นเมื่อ 31 August 2023.
- ↑ "Wat Ratchanatdaram Worawihan (Loha Prasat)". Amazing Thailand. Tourism Thailand. สืบค้นเมื่อ 31 August 2023.
- ↑ "วาทะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เมื่อทุบ "ศาลาเฉลิมไทย" มอง "สถาปัตยกรรมคณะราษฎร" ต่ำทราม".
- ↑ 4.0 4.1 ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 259-261
- ↑ ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 262-263
- ↑ ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 266-267
- ↑ ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 263-265
- ยลโลหะปราสาทหนึ่งเดียวในโลก ที่ "วัดราชนัดดาฯ" เก็บถาวร 2007-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการออนไลน์ 6 มีนาคม 2550 16:02 น.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วัดราชนัดดารามวรวิหาร
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์