พระบรมบรรพต

วัดในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง เป็นเจดีย์บนภูเขาจำลองตั้งอยู่ในวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร จากพระราชประสงค์เดิมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงดำริให้สร้างพระปรางค์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของพระนคร คล้ายพระเจดีย์วัดภูเขาทองที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่เนื่องจากโครงสร้างมีน้ำหนักมาก ดินเลนในบริเวณนั้นไม่สามารถรองรับได้ องค์ปรางค์จึงทะลายลงมา[4] ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแบบให้เป็นภูเขาทองขึ้นดั่งเช่นในปัจจุบัน ซึ่งพระองค์ได้ทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อปี พ.ศ. 2408[1]

บรมบรรพต
ภูเขาทอง
Golden Mount
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทเจดีย์
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมไทย
เมืองแขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2408 (ภูเขาทองปัจจุบัน)
ปรับปรุง
  • พ.ศ. 2509 (บุกระเบื้องโมเสกสีทองที่องค์พระเจดีย์)
  • พ.ศ. 2420 (บรรจุพระบรมสารีริกฐาตุครั้งแรก)
  • พ.ศ. 2441 (บรรจุพระบรมสารีริกฐาตุครั้งที่สอง)[1]
ผู้สร้าง
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างน้ำหนักโครงสร้างส่วนที่อยู่เหนือผิวดินทั้งหมดประมาณ 190,000 ตัน[2]
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิก

การก่อสร้างบรมบรรพต ใช้เวลาถึง 2 รัชกาล คือแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บนยอดเจดีย์มีการบรรจุพระธาตุซึ่งได้รับการบรรจุถึง 2 ครั้ง คือใน ปี พ.ศ. 2420 และ พ.ศ. 2441 มีทางขึ้นทั้ง 2 ทาง ในทิศเหนือแและใต้[5]

ปัจจุบันบรมบรรพตถือเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นในบริเวณเขตนั้นเนื่องจากความสูงกว่า 59 เมตร หรือเท่าตึกสูง 19 ชั้น เคียงคู่กันกับ โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันมาก และในช่วงวันลอยกระทง ของทุกปี จะมีงานสำคัญของบรมบรรพตคืองาน พิธีห่มผ้าแดงบรมบรรพตภูเขาทอง ซึ่งมักจัดต่อเนื่องกันยาว 10 วัน[6]

ประวัติ แก้

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีดำริให้จัดสร้างพระเจดีย์ภูเขาทอง ไว้เป็นปูชนียสถานในพระนครเหมือนดั่งที่กรุงเก่า มีวัดภูเขาทอง ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายทุ่ง มีองค์พระเจดีย์เป็นที่สำหรับชาวพระนครศรีอยุธยาลงไปประชุมเล่นเพลง และสักวาในเทศกาลประจำปี โดยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงเลือกเอาบริเวณวัดสระเกศเป็นที่ก่อสร้าง

เริ่มก่อสร้างโดยใช้โครงไม้ทำเป็นรูปปรางค์ใหญ่ ขุดฐานเอาไม้ซุงปูเป็นตาราง เอาศิลาแลงก่อขึ้นจนเสมอดินแล้วจึงก่อด้วยอิฐ ในองค์พระปรางค์เอาศิลาก้อนที่ราษฏรเก็บมาขายใส่ลงไป แต่ก่อสร้างได้ไม่เท่าไรก็ทรุด ยุบตัวพังลงมาเนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างอยู่ใกล้ชายคลอง พื้นดินไม่แข็งแรงพอจึงต้องปักเสารอบๆองค์พระปรางค์หลายๆชั้นไม่ให้ดินทลายออกไป จึงเริ่มก่อใหม่แต่ก็ยังทรุดอีกจึงยุติการก่อสร้างชั่วคราวจนสิ้นรัชกาลที่ 3

ครั้นพอถึงรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้สร้างใหม่

เดือน 6 ปีฉลู พ.ศ. 2408 รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จไปวางศิลาฤกษ์และให้เปลี่ยนชื่อใหม่ ตามพระเมรุบรมบรรพตที่ท้องสนามหลวง จากภูเขาทองเป็น "บรมบรรพต" การก่อสร้างครั้งนี้ได้แปลงพระเจดีย์องค์เดิม ให้เป็นภูเขามีพระเจดีย์อยู่ด้านบน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอด มีบันไดเวียนขึ้นลง 2 สาย เพื่อสะดวกในเวลาเทศกาล

การก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ยังไม่แล้วเสร็จ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ทำการก่อสร้างภูเขาทองที่ยังค้างอยู่จนสำเร็จ

การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุใว้ภายในองค์พระเจดีย์มีอยู่หลายครั้ง ที่สำคัญคือเมื่อ พ.ศ. 2442 รัฐบาลอินเดียได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุ ที่ขุดได้จากเนินพระเจดีย์เก่าที่เมืองกบิลพัศดุ์ บรรจุอยู่ภายในผอบที่มีอักษร พราหมี หรือ เมาริยะ จารึกใว้ว่า "พระบรมสารีริกธาตุนี้ เป็นของพระพุทธเจ้า (สมณโคดม) ตระกูลศากยราช ได้รับแบ่งปันในเวลาถวายพระเพลิงพุทธสรีระ" ให้แด่รัชกาลที่ 5 แล้วจึงได้โปรดเกล้าให้นำมาบรรจุใว้ในองค์พระเจดีย์

ในช่วงวันลอยกระทง ของทุกปี ทางวัดสระเกศราชวรมหาวิหารจะจัดงานประเพณี เรียกว่า "งานภูเขาทอง" ระยะเวลาราว 7-10 วัน เป็นประจำ นับว่าเป็นงานวัดที่สำคัญงานหนึ่ง

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 บรมบรรพต(ภูเขาทอง), danpranipparn.com .สืบค้นเมื่อ 28/12/2559
  2. 2.0 2.1 สืบศักดิ์ พรหมบุญ และ ชูเลิศ จิตเจือจุน, ประวัติศาสตร์งานแก้ไขฐานรากในประเทศไทย, เอกสารสัมมนา/บทความทางวิชาการ บ. อินเตอร-คอนซัลท์ จำกัด . สืบค้นเมื่อ 29/12/2559
  3. วัดสระเกศ, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร .สืบค้นเมื่อ 28/12/2559
  4. ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง, เอกสารคำสอน ราชวิชา 2501296 มรดกสถาปัตยกรรมไทย, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้าที่ 149 .สืบค้นเมื่อ 01/03/2560
  5. บรมบรรพต(ภูเขาทอง) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, หน้าบ้านจอมยุทธ .สืบค้นเมื่อ 28/12/2559
  6. ร่วมสืบทอดประเพณีโบราณ “พิธีห่มผ้าแดงบรมบรรพตภูเขาทอง” เก็บถาวร 2012-11-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการ .วันที่ 18 พฤศจิกายน 2555

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°45′00″N 100°30′36″E / 13.750000°N 100.510000°E / 13.750000; 100.510000