ศาลาเฉลิมไทย

อดีตโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพมหานคร

ศาลาเฉลิมไทย เป็นอดีตโรงมหรสพและโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่มุมถนนราชดำเนินกลางกับถนนมหาไชย ได้รับการสร้างขึ้นตามความประสงค์ของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ศาลาเฉลิมไทยได้สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2483 แต่ก็ได้หยุดไปช่วงหนึ่งเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้เปิดอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492

ศาลาเฉลิมไทย
กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2499 มองเห็นศาลาเฉลิมไทย เป็นอาคารตรงกลางภาพ
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะถูกรื้อถอน
ประเภทโรงละคร/โรงภาพยนตร์
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
เมืองมุมถนนราชดำเนินกลางกับถนนมหาไชย พื้นที่ด้านหน้าโลหะปราสาทและวัดราชนัดดารามวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2483 - 2492
ปรับปรุงพ.ศ. 2496[1]
รื้อถอน20 มีนาคม พ.ศ. 2532
ผู้สร้างบริษัทศิลป์ไทย
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกจิตรเสน อภัยวงศ์[1]
ศาลาเฉลิมไทยในปี พ.ศ. 2505 ขณะกำลังฉายเรื่อง วันเผด็จศึก (The Longest Day)

อาคารก่อสร้างขึ้นด้วยรูปทรงโมเดิร์นตามแบบตะวันตกไม่มีหลังคา คล้ายคลึงกับศาลาเฉลิมกรุง อาคารได้รับการออกแบบโดยจิตรเสน อภัยวงศ์ ที่จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากประเทศฝรั่งเศส และตกแต่งภายในโดยศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา

ศาลาเฉลิมไทยเมื่อเปิดใหม่ ได้กลายเป็นหนึ่งในโรงมโหรสพที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในขณะนั้น ด้วยที่นั่งราว 1,200 ที่นั่ง พร้อมที่นั่งชั้นบน เวทีเป็นแบบมีกรอบหน้า มีเวทีแบบเลื่อนบนราง (Wagon Stage) เพื่อความรวดเร็วในการเปลี่ยนฉาก ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นโรงภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2496[2]

เนื่องจากศาลาเฉลิมไทยตั้งอยู่ด้านหน้าวัดราชนัดดารามวรวิหาร และ โลหะปราสาท ทำให้เกิดการบดบังทัศนียภาพเบื้องหลัง จนในที่สุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติให้รื้อศาลาเฉลิมไทย แม้จะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายก็ตาม โดยศาลาเฉลิมไทยได้ฉายเรื่อง "พ้นท้ายนรสิงห์" เป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย[1]

ประวัติ

แก้

ก่อสร้างในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มีความประสงค์ให้เป็นโรงละครแห่งชาติในเวลานั้น และมีรูปแบบของอาคารกลมกลืนกับอาคารอื่นที่สร้างขึ้นริมถนนราชดำเนินกลาง

เดิมเป็นอาคารว่างเปล่าแล้วเป็นโกดังเก็บผ้าของทางราชการ ต่อมาบริษัทศิลป์ไทย (ซึ่งมีนายพิสิฐ ตันสัจจา เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นด้วย) ได้ขอเช่าพื้นที่ ริเริ่มปรับปรุงต่อเติมเป็นสถานบันเทิง ออกแบบและควบคุมโดย อาจารย์ศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา สถาปนิกชั้นนำของเมืองไทย ใช้งบประมาณถึง 1 ล้านบาท [3]

เปิดดำเนินการเป็นสถานที่แสดงละครเวทีอาชีพ ระหว่าง พ.ศ. 2492–2496 ก่อนเปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ทางโรงภาพยนตร์ได้จัดแสดงละครเวที พันท้ายนรสิงห์ เป็นการอำลาอาลัยการก่อนปิดตัวถาวร หลังจากนั้นได้ขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ เครื่องฉาย รถขายไอศกรีม ลำโพง ตัวอักษรชื่อโรง พร้อมกับการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เหลือออกเพื่อสร้างเป็น ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเผยให้เห็นทัศนียภาพสง่างามของ โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร เบื้องหลังได้อย่างเต็มที่

ความรุ่งโรจน์และนวัตกรรม

แก้

โรงละครเวที

แก้

ในอดีตได้ชื่อว่าเป็นโรงมหรสพ ซึ่งผสมผสานความสง่างามแบบโรงละครในยุโรปกับความหรูหราของศิลปะลวดลายไทยอันวิจิตร ทันสมัยยิ่งใหญ่ด้วยเวทีเลื่อนขึ้นลงได้ระบบไฮดรอลิค[4] เพียงแห่งเดียวของเมืองไทย สามารถจุผู้ชม 1,500 ที่นั่ง (ศาลาเฉลิมนคร 800 ที่นั่ง, ศาลาเฉลิมกรุง 600 ที่นั่ง) ตั้งแต่ยุคละครเวที หลายเรื่องของคณะอัศวินการละครเป็นตำนานที่มีชื่อเสียง เช่น พันท้ายนรสิงห์, นันทาเทวี, บ้านทรายทอง ฯลฯ[5]

โรงภาพยนตร์

แก้

เมื่อเข้าสู่ยุคปรับเปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ได้ริเริ่มจัดพื้นที่ซึ่งเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมร้านข้าวโพดคั่ว (Pop Corn) อย่างโรงหนังต่างประเทศ และร้านไอศกรีม (ป๊อบ "ตราเป็ด" ที่ดังมากในขณะนั้น พร้อมป้ายโลโก้ รูปหน้าโดนัลด์ ดั๊ก มองเห็นแต่ไกล)

ต้นเดือนเมษายน ปีนั้น เป็นแห่งแรกในเมืองไทยที่ฉายหนังสามมิติ ใต้อุ้งมือโจร (Man in the Dark) และหนังซีเนมาสโคปเรื่องแรกของโลก อภินิหารเสื้อคลุม (The Robe) เข้าฉายในวันสิ้นปี [6]

พ.ศ. 2498 เป็นสถานที่ฉายเฉพาะกิจสำหรับหนังการ์ตูนไทยเรื่องแรก (16 มม./พากย์) เหตุมหัศจรรย์ ของ ปยุต เงากระจ่าง (ซึ่งเพิ่งขึ้นทะเบียนเป็นมรดกชาติปี พ.ศ. 2555)[7]และหนังทุนสูง (16 มม./พากย์) นเรศวรมหาราช ของอัศวินภาพยนตร์ ในช่วงต้นทศวรรษ 2500

หลังจากนั้นเป็นผู้นำความแปลกใหม่มาเสนออย่างต่อเนื่อง ได้แก่ หนังเพลงระบบ ทอดด์-เอโอ เสียงสเตอริโอโฟนิคสมบูรณ์แบบครั้งแรกของฮอลลีวู้ด มนต์รักทะเลใต้ (South Pacific),หนังการ์ตูน ระบบซูเปอร์เทคนิรามา 70 มม.เรื่องแรกของโลก เจ้าหญิงนิทรา (Sleeping Beauty), หนังมหากาพย์สงครามโลก 34 ดาราสากล วันเผด็จศึก (The Longest Day), หนังซีเนราม่า 3 เครื่องฉาย พิชิตตะวันตก (How the West Was Won), หนังมหากาพย์ทุนมโหฬารตลอดกาล คลีโอพัตรา (Cleopatra) ซึ่งโปรแกรมนี้เป็นครั้งแรกของโรงหนังเมืองไทยที่ติดตั้งลิฟท์บริการผู้ชมชั้นบนด้วย[8] และหนังเด่นอีกหลายเรื่อง เช่น บุษบาริมทาง (My Fair Lady), ดร.ชิวาโก (Dr.Zhivago) รวมทั้งหนังซีเนมาสโคปเรื่องแรกของอัศวินภาพยนตร์ -ชอว์บราเดอร์ส รางวัลตุ๊กตาทอง (มรดกชาติปี พ.ศ. 2555) เรือนแพ [9] ที่ยังกลับมาฉายซ้ำอีก 2–3 ครั้ง เป็นต้น

วันมหาวิปโยค 14 ตุลา

แก้

ศาลาเฉลิมไทยมีบทบาทสำคัญในช่วงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยเป็นทั้งที่หลบภัยและโรงพยาบาลของคนเจ็บจากการต่อสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย[10]


อ้างอิง

แก้
บรรณานุกรม
  • ฉัตรภูติ, ธนาทิพย์ (2547). ตำนานโรงหนัง. เวลาดี. ISBN 974-9659-11-2.
รายการอ้างอิง
  1. 1.0 1.1 1.2 ศาลาเฉลิมไทย เก็บถาวร 2016-04-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์ .สืบค้นเมื่อ 14/12/2559
  2. ศาลาเฉลิมไทย : วัฒนธรรมใหม่ที่ไม่อาจบดบังพลังเก่า, BlogGang.com .สืบค้นเมื่อ 14/12/2559
  3. ธนาทิพย์ ฉัตรภูติ, 2547: หน้า 56–57
  4. ธนาทิพย์ ฉัตรภูติ, 2547: หน้า 57–58
  5. อิงคศักดิ์ เกตุหอม, นี่คือชีวิตของดอกดิน หอภาพยนตร์ชาติ(องค์การมหาชน), 2554 ISBN 978-616-543-135-4 หน้า 29-31
  6. ธนาทิพย์ ฉัตรภูติ, 2547: หน้า 60–61
  7. จุลสารทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 2,2555
  8. ข่าวบันเทิง หน้า 13 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ,พ.ศ. 2506
  9. จุลสารทะเบียนมรดกภาพยนตร์
  10. ธนาทิพย์ ฉัตรภูติ, 2547: หน้า 61

ดูเพิ่ม

แก้
  • ศาลาเฉลิมกรุง
  • ศ.ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์, นาฎยศิลป์รัชกาลที่ 9, สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2549.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้


13°45′20″N 100°30′17″E / 13.7556843°N 100.5046892°E / 13.7556843; 100.5046892