ปยุต เงากระจ่าง

ปยุต เงากระจ่าง (1 เมษายน พ.ศ. 2472 — 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553) เป็นบรมครูด้านการ์ตูนเคลื่อนไหวของไทย อาจารย์วิทยาลัยเพาะช่าง และผู้กำกับหนังการ์ตูนขนาดยาวเรื่องแรกของประเทศไทย สุดสาคร รวมไปถึงเป็นผู้นำเอาการ์ตูนเข้าไปใช้ในภาพยนตร์โฆษณา ทำให้เกิดงานสร้างสรรค์หลาย ๆ ชิ้น เช่น ภาพยนตร์โฆษณาแป้งเย็นควีนนา (กระจกวิเศษ), นกกระสากับเด็กในโฆษณายาน้ำยี่ห้อหนึ่ง และ ยาหม่อง เป็นต้น

ปยุต เงากระจ่าง
ปยุต เงากระจ่าง ที่กรุงเทพในเดือนกันยายน พ.ศ. 2550
ปยุต เงากระจ่าง ที่กรุงเทพในเดือนกันยายน พ.ศ. 2550
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด1 เมษายน พ.ศ. 2472
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเทศไทย
เสียชีวิต27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 (81 ปี)[1]
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
อาชีพผู้กำกับภาพยนตร์, นักเขียนการ์ตูน
ปีที่แสดงพ.ศ. 2498 - 2553
ผลงานเด่นสุดสาคร (2522)

ประวัติ แก้

เดิมชื่อ นายเฮง แซ่อึ้ง ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น นายปยุต เงากระจ่าง เกิดวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472 ที่หมู่บ้านทุ่งน้อยตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรียนโรงเรียนมัธยมที่ โรงเรียนประจวบวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากโรงเรียนเพาะช่าง ตั้งแต่วัยเยาว์ มีความหลงใหลในตัวการ์ตูนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับบุคลิกของตัวตลก ในหนังตะลุงอย่างไอ้แก้ว ไอ้เปลือย ไอ้เท่ง รวมถึงตัวการ์ตูนแมวเฟลิกซ์ จากหนังการ์ตูนอเมริกันเรื่อง เฟลิกซ์เดอะแคทของแพท ซูลลิแวน ซึ่งเคยมีโอกาสเข้าไปฉายในประจวบคีรีขันธ์

วัยรุ่น แก้

แรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์การ์ตูน เกิดขึ้นเมื่ออายุ 12 ปี โดยได้พบกับ เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน จิตรกรชื่อดังคนหนึ่งของเมืองไทยโดยบังเอิญในช่วงปลายปี พ.ศ. 2484 การพบกันครั้งนั้น เสน่ห์ได้ชวนเด็กชายปยุตไปทำภาพยนตร์การ์ตูนด้วยกันเมื่อเข้ากรุงเทพ

เมื่อเดินทางมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2487 ที่ โรงเรียนเพาะช่าง ก็ไม่ลืมที่จะออกตามหาเสน่ห์เพื่อทำการ์ตูนตามที่เคยสัญญา แม้โชคชะตาทำให้คลาดกันครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังพอทราบข่าวและการทดลองสร้างหนังการ์ตูนจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในช่วงนั้น

วันหนึ่ง เขาได้เดินผ่านวัดและเห็นเหม เวชกร กับช่างเขียนอีกหลายคน มารวมกันในงานนฌาปนกิจศพของเสน่ห์ และได้ทราบว่าการทดลองทำการ์ตูนเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ประสบความล้มเหลวเนื่องจากขาดการสนับสนุน เขาจึงตั้งปณิธาณที่จะสานต่อความตั้งใจของเสน่ห์

วัยหนุ่ม แก้

8 เดือนต่อมา ขณะที่ปยุตอายุเพียง 26 ปี ก็ได้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนไทยสำเร็จเป็นเรื่องแรก ในชื่อ เหตุมหัศจรรย์ ซึ่งมีความยาว 12 นาที ฉายเป็นรอบพิเศษสำหรับสื่อมวลชนและผู้ชมเฉพาะ ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางตามหน้าหนังสือพิมพ์

สำนักข่าวสารอเมริกันเห็นความสามารถ (เวลานั้นปยุตเป็นช่างเขียนประจำสำนักข่าวแห่งนั้น) จึงได้มอบเงิน 10,000 บาท และส่งไปดูงานการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนที่ญี่ปุ่น

ปี พ.ศ. 2500 เหตุมหัศจรรย์ ออกฉายสู่สาธารณชน ประกอบภาพยนตร์ เรื่อง ทุรบุรุษทุย ของ ส.อาสนจินดา ณ โรงภาพยนตร์บรอดเวย์ พระนคร

ต่อมาสร้างภาพยนตร์การ์ตูน 20 นาที อีก 2 เรื่อง ได้แก่ หนุมานเผชิญภัย (ครั้งใหม่) (2500) ของสำนักข่าวสารอเมริกัน และ เด็กกับหมี (2503) ขององค์การ สปอ. นอกจากทำงานที่สำนักข่าวสารอเมริกันแล้ว ยังรับจ้างทำภาพยนตร์โฆษณาสินค้าต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งผลงานหลายชิ้นยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนร่วมสมัยเป็นอย่างดี

วัยกลางคน แก้

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ สอนที่วิทยาลัยเพาะช่าง แผนกพาณิชย์ศิลป จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2519 จึงลาออกเพื่อทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้แก่การทำหนังการ์ตูนขนาดยาวเรื่องแรกของประเทศไทย สุดสาคร โดยมีลูกมือผู้ช่วย คือ นันทนา เงากระจ่าง ผู้เป็นบุตรสาวซึ่งเรียนจบจากวิทยาลัยเพาะช่าง และแสดงหนังเรื่องแผลเก่า ของเชิด ทรงศรี ในขณะนั้นด้วย เหตุที่สร้างการ์ตูนเรื่องยาวสุดสาคร เกิดจากแรงบันดาลใจ เพราะฝรั่งได้กล่าวไว้เป็นทำนองว่า คนไทยสร้างการ์ตูนเรื่องยาวไม่ได้[ใคร?] ข้อความดังกล่าวนี้ได้รับฟังจากปากของนายปยุต เงากระจ่างเอง ซึ่งเป็นคำพูดกล่าวไว้เมื่อประมาณ พ.ศ. 2528 ณ ร้านอาหารรับลม อ.เมืองฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยการไต่ถามจากนายสุชาติ ประจวบเหมาะ ซึ่งเป็นคนอำเภอเดียวกัน[ต้องการอ้างอิง]

ด้วยข้อจำกัดทางการเงินทุนและการสนับสนุน ทำให้การสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซ้ำร้าย ยังต้องเสียดวงตาข้างซ้าย จากการตรากตรำตลอดเวลากว่า 2 ปี จนกระทั่งออกฉายได้สำเร็จเมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2522 มีอายุ 50 ปีพอดี

โครงการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนไทยที่เคยเสนอไปยังที่ต่าง ๆ มักถูกปฏิเสธในเชิงที่ว่า "..ตัวการ์ตูนไม่ต้องกิน ทำไมถึงแพง อย่างนี้จ้างคนเล่นไม่ดีกว่าหรือ..." จึงมิได้ทำหนังการ์ตูนอีกหลังจากเรื่อง สุดสาคร จนกระทั่งปี พ.ศ. 2535 JOICEP FILM ประเทศญี่ปุ่น จ้างทำภาพยนตร์เพื่อการศึกษาสำหรับสตรี เรื่อง ชัยชนะของสาวน้อย (My Way)

วัยปลาย แก้

งานสุดท้ายในชีวิต คือการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาให้แก่โรงงานทำการ์ตูนไทยหวัง ประจำประเทศไทย (บริษัท ไทยหวัง ฟิล์ม) และเป็นที่ปรึกษาด้านแอนิเมชันให้แก่หลาย ๆ องค์กร และสถาบันการศึกษา

ปี พ.ศ. 2541 มูลนิธิหนังไทย ก่อตั้งรางวัลชนะเลิศ ภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดสั้นยอดเยี่ยม ให้ชื่อว่า "รางวัล ปยุต เงากระจ่าง" เพื่อเชิดชูเกียรติแก่ปยุต โดยมอบรางวัล ในการประกวดรางวัลเทศกาลภาพยนตร์สั้นของไทย เป็นประจำทุกปี

ปยุตถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ขณะมีอายุได้ 81 ปี มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ณ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

สิ่งสืบทอด แก้

ใน พ.ศ. 2549 ได้มีการเผยแพร่ภาพยนตร์คอมพิวเตอร์แอนิเมชันแรกของไทย ชื่อว่า ก้านกล้วย ช้างศึกของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กำกับโดยคมภิญญ์ เข็มกำเนิด ซึ่งเคยทำงานในภาพยนตร์หลายเรื่องของดิสนีย์ เช่น แอตแลนติส ผจญภัยอารยนครสุดขอบโลก กับ ทาร์ซาน และ ไอซ์ เอจ เจาะยุคน้ำแข็งมหัศจรรย์ ของบลูสกาย สตูดิโอส์ ถึงแม้ว่าผลงานส่วนใหญ่ทำมาจากคอมพิวเตอร์ คมภิญญ์ก็เจอปัญหาคือการลงทุนและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันที่ปยุตเคยเจอ [2][3]

ใน พ.ศ. 2560 กูเกิล ดูเดิลได้แสดงภาพเขาในวันครบรอบวันเกิด 88 ปี[4]

ผลงาน แก้

ผู้สร้างเแอนิเมชัน แก้

  • เหตุมหัศจรรย์ (2498) มรดกหนังของชาติ ประจำปี 2555 เนื่องในวันอนุรักษ์หนังไทย ( 4 ต.ค.) ในจำนวน 25 เรื่อง[5]
  • หนุมานเผชิญภัย (ครั้งใหม่) (2500)
  • เด็กกับหมี (2503)
  • สุดสาคร (2522)
  • ชัยชนะของสาวน้อย (2535)
  • ภาพยนตร์โฆษณาสินค้าแป้งน้ำ, ยาน้ำ, ยาหม่อง ฯลฯ

ดาราภาพยนตร์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "ปยุต เงากระจ่าง" เจ้าของฉายา "วอลท์ ดิสนีย์ เมืองไทย" เสียชีวิตแล้ว ข่าวมติชนออนไลน์
  2. Phataranawanik, Phatarawadee (January 13, 2006). "Moving marvels", The Nation, Weekend section, pages 12–13, print edition.
  3. Sukin, Kamol (March 12, 2006) "Thai animators out to conquer the world" เก็บถาวร 2006-03-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Nation.
  4. "Payut Ngaokrachang's 88th Birthday". Doodles Archive, Google. 1 April 2017.
  5. เดลินิวส์. 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555. ISSN 16860004

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

Media แก้