ตั้ว ลพานุกรม
จ่าสิบเอก เภสัชกร ดร. ตั้ว ลพานุกรม (21 ตุลาคม พ.ศ. 2441 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484) เป็นเภสัชกรและนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย เป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งคณะราษฎร ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475[1] ตั้วเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในวงราชการและทางการเมืองหลายตำแหน่ง อาทิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กรรมการราษฎร รัฐมนตรี
ตั้ว ลพานุกรม | |
---|---|
รัฐมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 – 1 เมษายน พ.ศ. 2476 | |
นายกรัฐมนตรี | พระยามโนปกรณ์นิติธาดา |
ดำรงตำแหน่ง 21 ธันวาคม พ.ศ. 2481 – 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 | |
นายกรัฐมนตรี | แปลก พิบูลสงคราม |
กรรมการราษฎร | |
ดำรงตำแหน่ง 28 มิถุนายน – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 | |
ประธาน | พระยามโนปกรณ์นิติธาดา |
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบประเภทที่ 2 | |
ดำรงตำแหน่ง 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 – 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 ชั่วคราว : 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2476 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 21 ตุลาคม พ.ศ. 2441 เมืองพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 (42 ปี) จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
การเข้าร่วม พรรคการเมืองอื่น | คณะราษฎร |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยมิวนิก(Pharm.D.) มหาวิทยาลัยกรุงเบิร์น(Ph.D.) |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
ยศ | จ่าสิบเอก |
ตั้วเกิดในครอบครัวคนไทยในกรุงเทพมหานคร ได้รับทุนสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกไปศึกษาต่อวิชาสามัญในประเทศเยอรมนี มีความสามารถด้านภาษาอย่างหลากหลาย ได้แก่ ภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส[2] แล้วสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ได้แก่ วิชาเคมี, เภสัชศาสตร์ และพฤกษศาสตร์ เมื่อกลับมาประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก และได้สร้างคุณูปการต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยอย่างยิ่ง ซึ่งมีความรุดหน้าอย่างมากในสมัยของตั้ว นอกจากนี้ยังกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์ให้ทัดเทียมอารยประเทศอีกด้วย[3]
นอกจากนี้ตั้วยังมีความสนใจด้านการอ่านเป็นพิเศษโดยจัดตั้งแผนกห้องสมุดในกรมวิทยาศาสตร์ขึ้น และมีการตีพิมพ์วารสารวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในชื่อ Siam Science Bulletin[4] ตั้วเป็นผู้มีอัธยาศัยใจคอดีและเป็นมิตรต่อบุคคลโดยทั่วไป นอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหัวหน้างานที่ดี มีนโยบายการใช้คนอย่างดียิ่ง ตั้วทำงานทางวิทยาศาสตร์และราชการจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบ ในวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 และได้รับสมญานามว่าเป็น "รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย"[2][5]
ประวัติ
แก้ชีวิตในวัยเยาว์และการเป็นเชลย [2441 - 2462]
แก้รองอำมาตย์เอก เภสัชกร ตั้ว ลพานุกรม หรือที่รู้จักกันในนาม รองอำมาตย์เอก เภสัชกร ดร.ตั้ว ลพานุกรม เกิดเมื่อวันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2441 ณ ตำบลถนนอนุวงศ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนที่ 3 ของ นายเจริญ ลพานุกรม และ นางเนียร ลพานุกรม (2423 - 2511) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน เข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์และโรงเรียนราชวิทยาลัย ( ปัจจุบัน คือ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ )จนกระทั่งอายุ 12 ปี จึงได้ตามเสด็จสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ไปศึกษาต่อ ณ เมืองบัลเกนแบร์ก จังหวัดมาร์ค จักรวรรดิเยอรมัน โดยทุนของพระองค์ ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่หนึ่งโดยจักรวรรดิเยอรมันสังกัดฝ่ายมหาอำนาจกลาง จึงทำให้สยามกับจักรวรรดิเยอรมันต้องประกาศสงครามกันเมื่อปี พ.ศ. 2460 ตั้วถูกจับเป็นเชลยศึกไปคุมขัง ณ ค่ายคุมขังเมือง Celle ทำให้ตั้วมีโอกาสศึกษาภาษาเพิ่มเติม ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมนี ภาษาฝรั่งเศส ตลอดจนศาสตร์อื่นๆ อย่าง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และดนตรีอย่างขลุ่ยฝรั่ง[2]
ภายหลังการพักรบสงครามเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2461 ตั้วพ้นจากการเป็นเชลยศึก และเดินทางจากเยอรมนีไปยังประเทศฝรั่งเศส สมัครเข้ากองรถยนต์ไทยที่ไปงานพระราชสงครามยุโรป ความสามารถทางภาษาของตั้วทำให้เขาทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมัน และเรียนรู้วิธีการทหาร ต่อมาได้รับยศจ่านายสิบแห่งกองทัพบกไทย และได้รับเหรียญดุษฎีมาลาของรัฐบาลฝรั่งเศส[4] ตั้วเดินทางกลับถึงประเทศสยามพร้อมกองทหารอาสาเมื่อปี พ.ศ. 2462 และได้รับพระราชทานเหรียญทองช้างเผือก, เหรียญรามาธิบดี กับเหรียญพระราชสงครามยุโรป และปลดประจำการในปีเดียวกัน
เข้าร่วมเป็นคณะราษฎร [2463 - 2476]
แก้ปลายปี พ.ศ. 2462 ตั้วได้เดินทางกลับไปบังยุโรปเพื่อศึกษาต่อ โดยทุนสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้เข้าศึกษาวิชาเคมี และสอบไล่ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตชั้นเกียรตินิยม โดยเสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง "The Influence of Chemical Composition on the Structure of Crystals" ในปี พ.ศ. 2470 และในปีเดียวกันนี้เองตั้วพร้อมสหายอีก 6 ได้ประชุมร่วมกันและปรารถนาที่จะเห็นความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยให้ทัดเทียมชาติตะวันตกจึงร่วมกันก่อตั้งคณะราษฎรขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย
ภายหลังการเข้าร่วมกับคณะราษฎรแล้ว ตั้วได้ไปศึกษาต่อในวิชาเภสัชศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยมิวนิก ประเทศเยอรมนีและวิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2473 แล้วนั้น ตั้วได้เดินทางกลับประเทศไทยโดยได้แวะไปดูงานทางวิทยาศาสตร์ การวิจัย และอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นก่อนกลับ
ตั้วเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยแยกธาตุชั้น 2 ในศาลาแยกธาตุ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก เมื่อทำงานไปได้เพียงครึ่งปี ตั้วก็ได้ร่วมกับคณะราษฎรเป็นคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตั้วได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดแรก โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2476[6] และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกเช่นกัน
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก [2476 - 2484]
แก้เมื่อพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 แล้วตั้วได้ทุ่มเทให้กับงานราชการวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ ตั้วได้รับการเลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยแยกธาตุชั้น 1 เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2475 และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2477 ได้รับตำแหน่งเป็นนักเคมีและรักษาการตำแหน่งเจ้ากรมของศาลาแยกธาตุ จนกระทั่งเดือนเมษาน พ.ศ. 2478 ศาลาแยกธาตุได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกรมวิทยาศาสตร์ ตั้วจึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก ตั้วได้จัดตั้งสถานศึกษาเคมีปฏิบัติขึ้นในกรมวิทยาศาสตร์ เพื่อฝึกหัดนักเรียนนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาโดยบริบูรณ์จากระดับมัธยมศึกษาให้มีความรู้ความชำนาญทางเคมียิ่งขึ้น
ตั้วให้ความสนใจกับงานวิทยาศาสตร์เป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะการวิจัยที่เกี่วข้องกับงานเกษตรกรรม กรมวิทยาศาสตร์ได้วิจัยและส่งเสริมเกี่ยวกับพืชผลการเกษตรหลายประการ อาทิ การวิจัยเถ้าไม้เพื่อใช้ทำปุ๋ย การวิจัยน้ำมันสน น้ำมันหมู เกลือ เครื่องปั้นดินเผา งานการสำรวจวิเคราะห์ดิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ความสนใจด้านการอาหารของประเทศไทยโดยตั้วเป็นผู้ริเริ่มการส่งเสริมอาหารและกิจการถั่วเหลืองในประเทศไทย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาส่งเสริมกิจการถั่วเหลืองของกระทรวงเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2480 ซึ่งทำให้กลายเป็นนโยบายของรัฐบาลในเวลาต่อมาที่จะส่งเสริมการบริโภคถั่วเหลืองแก่ประชาชน[7]
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 ตั้วได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในอีกวาระหนึ่งในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงเศรษฐกิจด้วยโดยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ไปควบคู่กัน นอกจากนี้ ตั้วยังให้ความสำคัญการกับศึกษาเภสัชศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในขณะนั้นไม่มีกฎหมายรองรับวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย ทำให้การขายยาเกิดขึ้นโดยไม่ต้องฝึกปฏิบัติทางเภสัชกรรมมาก่อน ประกอบกับการเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์ซึ่งอยู่ในฐานะแผนกปรุงยา คณะแพทยศาสตร์ศิราชพยาบาลไม่ได้รับการสนุบสนุนงบประมาณจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้วได้ส่งเสริมการเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์โดยจัดหาครูจากกระทรวงและกรมทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมาสอนในแผนกปรุงยา ตั้วมีบทบาทในการยกระดับแผนกปรุงยาสู่แผนกอิสระเพื่อเตรียมจัดตั้งเป็นคณะเภสัชศาสตร์ จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งจากจอมพล ป. พิบูลสงครามให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกตำแหน่งหนึ่ง[8]
ตั้วล้มป่วยลงด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบเมื่อวันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2484 และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 สิริอายุได้ 43 ปี ตั้วได้รับการยกย่องให้เป็น "รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย"
บทบาทและการดำรงตำแหน่งทางการเมือง
แก้ตั้วได้มีบทบาทในทางการเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเข้าร่วมกับคณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบบประชาธิปไตยในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยเข้าร่วมประชุมก่อตั้งคณะราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงปารีส โดยเป็นสมาชิกฝ่ายพลเรือน ซึ่งเห็นได้ถึงความปรารถนาของคณะราษฎรในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตั้วได้ร่วมเดินทางสู่จุดนัดหมายที่บางซื่อ
ภายหลังก่อการการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วนั้น ตั้วได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการราษฎร (เทียบเท่ารัฐมนตรีในปัจจุบัน) ของคณะรัฐมนตรีชุดแรกในระบอบประชาธิปไตย ภายหลังการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ตั้วได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และได้ออกจากตำแหน่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 ส่วนด้านนิติบัญญัติตั้วก็ได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปพร้อมกัน
ตั้วได้แสดงความเห็นด้านการเมืองต่อวิทยาศาสตร์ในบันทึกในเรื่อง "วิทยาศาสตร์กับการเมือง" ว่า "ตลอดเวลาประชุมสมัยของสภาผู้แทนราษฎร...เกือบไม่มีใครเลยที่ให้ความสนใจสำคัญของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานแห่งการก้าวหน้าของประชาชาติ..."[2]
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2481 ตั้วได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเป็นรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กล่าวระลึกว่า "ท่านผู้นี้ทำงานเข้มแข็งแลเป็นที่วางใจได้เป็นอย่างดี พูดอย่างใด ทำอย่างนั้น งานที่ได้รับมอบจึงสำเร็จทุกอย่างและดีที่สุด..."
งานด้านวิทยาศาสตร์และเภสัชกรรม
แก้การพัฒนาวิทยาศาสตร์ของไทย
แก้ในสมัยที่ตั้วได้เข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์นั้น วิทยาศาสตร์มีความเจริญรุดไปข้างหน้าอย่างยิ่ง มีการจ้างงานบุคลากรประจำกรมมากขึ้นหลายเท่าตัว และผู้สมัครเข้ามาทำงานล้วนต้องผ่านการสอบคัดเลือกเข้าทำงาน และตั้วได้จัดตั้งสถานศึกษาเคมีปฏิบัติขึ้นโดยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการคนแรกเพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์และเป็นกำลังหลักในการพัฒนาการวิจัยด้านเคมีต่อไป
ตั้วมีความสนใจการพัฒนาวิทยาศาสตร์เป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะด้านการเกษตร โดยได้วิจัยวัตถุดิบสำคัญของชาติ เช่น การวิจัยเถ้าไม้ไผ่เพื่อใช้ทำปุ๋ย การวิจัยน้ำมันสน น้ำมันหมู เกลือ เครื่องปั้นดินเผา และการสำรวจวิเคราะห์ดิน และตั้วยังเป็นผู้ริเริ่มในกิจการส่งเสริมอาหารและกิจการถั่วเหลืองในประเทศไทย และได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาการส่งเสริมกิจการถั่วเหลืองของกระทรวงเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2480 จนกระทั่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในเวลาต่อมา นายแพทย์ยงค์ ชุติมา ซึ่งเคยร่วมงานกับตั้วได้เขียนข้อความระลึกไว้ว่า
...ข้าพเจ้าถือว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่ควรได้รับเกียรติว่าเป็นผู้น้ำในการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินในประเทศไทย...เมื่อข้าพเจ้าได้นำความคิดเกี่ยวกับเรื่องถั่วเหลือง ซึ่งปรากฏว่ามีคุณค่าในทางอาหารดี สมควรส่งเสริมให้คนนิยมบริโภค ไปปรึกษาท่านในสมัยท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์แล้ว ท่านก็เห็นพ้องด้วย และได้สนับสนุนจนรัฐบาลได้ตั้งกรรมการพิจารณาส่งเสริมกิจการถั่วเหลืองขึ้น โดยมีท่านเป็นประธาน...คุณตั้วได้ศึกษาในทางวิทยาศาสตร์มามากและมีความรู้สูงในกิจการอนามัยทั่วๆไป ท่านได้ปรารภกับข้าพเจ้าอยู่เนืองๆว่า ในการสร้างชาตินั้น เราจะต้องเร่งสร้างคนเป็นเรื่องสำคัญพร้อมๆกันไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องรีบจัดการส่งเสริมให้อาหารการกินของคนไทย ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ทุกเพศทุกวัย เข้าสู่ระดับดี...[2]
— นพ.ยงค์ ชุติมา
นอกจากนี้ตั้วยังมีความสนใจเรื่องของการอ่านเป็นอย่างยิ่ง โดยปรับปรุงห้องสมุดกรมวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้า จากมีหนังสือไม่กี่สิบเล่มเพิ่มเป็นจำนวนหมื่นเล่มในระยะเวลาอันรวดเร็ว ตั้วมีความตั้งใจจะพัฒนาห้องสมุดกรมวิทยาศาสตร์เป็นหอสมุดวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และได้มีการออกวารสารวิทยาศาสตร์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หรือวารสาร Siam Science Bulletin อันตีพิมพ์ผลงานวิจัยของไทยเผยแพร่ไปยังต่างประเทศ ซึ่งท่านรับเป็นบรรณาธิการวารสารดังกล่าวอยู่ 2 ปี[9] เมื่อตั้วได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2481 อีกครั้งได้ดำรงตำแหน่งสำคัญอีกหลายตำแหน่งควบคู่กับการเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ โดยท่านได้บันทึกข้อคิดทางวิทยาศาสตร์ไว่าว่า "ชาติจะเจริญโดยไม่มีวิทยาศาสตร์เป็นหลักไม่ได้"
การพัฒนาเภสัชศาสตร์และบริการทางเภสัชกรรม
แก้นับได้ว่า ตั้ว ลพานุกรม เป็นผู้บุกเบิกงานด้านเภสัชกรรมไทยไปอย่างมาก สภาพการศึกษาเภสัชศาสตร์ในระยะก่อนที่ตั้วจะเข้ามาดูแลนั้นตกอยู่ในสภาพที่ไม่ได้รับความใส่ใจจากมหาวิทยาลัยและภาครัฐไม่มีกฎหมายในการรองรับสิทธิของเภสัชกรในการบริการร้านยา มีเพียงการรองรับสิทธิการปรุงยาในพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466 เท่านั้น จนกระทั่งมีการยกระดับแผนกปรุงยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2477 ตั้วได้ให้ความใส่ใจแก่การศึกษาเภสัชศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง โดยอนุญาตให้ข้าราชการในกองเภสัชกรรม กรมวิทยาศาสตร์มาเป็นอาจารย์พิเศษ นอกจากนั้นท่านยังกระตุ้นการพัฒนาการศึกษาเภสัชศาสตร์เป็นย่างยิ่ง ตามบันทึกของ เภสัชกร ศาสตราจารย์ ดร. วิเชียร จีรวงส์ ว่า
...ในระยะนั้นเมื่อได้เริ่มมีการปรับปรุงหลักสูตรเภสัชศาสตร์ แต่ว่ายังไม่สามารถยกระดับเป็นหลักสูตรปริญญา เพราะปัญหาอย่างยิ่ง ตึกก็ไม่มี ต้องอาศัยเขาอยู่ ก็ได้ช่วยกันวิ่งเต้นและบังเอิญในระยะนั้น ท่าน ดร.ตั้ว ซึ่งได้กลับมาอยู่เมืองไทยและได้เป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ แล้ววันหนึ่งท่านได้มาเยือน ถามคณะแพทยศาสตร์ที่สอนเภสัชกรรมอยู่ไหน ภก.ศ.ดร.จำลอง สุวคนธ์ เล่าให้ฟังว่าตอนนั้นตกใจกันว่า รัฐมนตรีมาเยี่ยมโรงเรียน ท่านกลับถามหว่าโรงเรียนเภสัชฯไปสอนที่ไหนนั้นเป็นจุดที่ทำให้เราได้รู้ว่าความสนใจของท่านเป็นอย่างไร เมื่อมีความเดือดร้อนอย่างนี้แล้วโดยที่ท่านเป็นรัฐมนตรีและอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์และอาจารย์พิเศษ ทำให้เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยซึ่งมีความห่วงใยต่ออนาคตของวิชาชีพเป็นอย่างยิ่ง เพราะเปิดมากว่า 30 ปีแล้วมีเภสัชกรสำเร็จเพียง 80 คนเนื่องจากหลักสูตรไม่ถึงปริญญา ได้เชิญ ภก.ดร.ตั้ว เข้ามาเป็นหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านก็ได้ช่วยจัดทำร่างหลักสูตรสำหรับปริญญาขึ้น...[8]
— ภก.ศ.ดร.วิเชียร จีรวงส์
ตั้ววซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์และรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงเศรษฐกิจนั้น ได้รับการแต่งตั้งจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งท่านได้พัฒนาหลักสูตรขึ้นเป็นหลักสูตรปริญญา 4 ปีและจัดสร้างอาคารเรียนหลังแรกของแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ และมีอาจารย์ประจำแผนกเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก[3]
นอกจากการส่งเสริมการศึกษาเภสัชศาสตร์แล้ว ตั้วยังปรารถนาอย่างยิ่งในการส่งเสริมการผลิตยาขึ้นใช้เองในประเทศ ดังบทความเรื่อง "วิทยาศาสตร์กับความต้องการของประเทศ" ว่า "...ต่อจากอาหารก็ถึงยา ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อย ยาเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์เกือบเท่าอาหาร และในบางโอกาสเราจะแยกอาหารกับยาออกจากกันไม่ได้..."[2] ในช่วงที่ตั้วดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ได้ริเริ่มการผลิตยาน้ำมันกระเบาสำหรับรักษาโรคเรื้อนและน้ำยาสกัดรำข้าวที่มีวิตามินบี1สูงช่วยรักษาโรคเหน็บชา ซึ่งเป็นจุดริเริ่มในการผลิตยาหลายขนานใช้กันในประเทศ จนกระทั่งมีการจัดตั้งกองเภสัชกรรมขึ้นในกรมวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่าสถานที่มีความคับแคบและไม่สะดวกต่อการผลิตยาจึงได้โครงการจัดตั้งโรงงานเภสัชกรรมขึ้นตามแนวคิดของ ร.อ.หวาน หล่อพินิจ[10] ท่านได้ให้ความสำคัญของงานเภสัชกรรมเป็นอย่างยิ่งซึ่งเห็นได้จากบทความวารสารทางวิทยาศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์ ฉบับประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2481 ที่ว่า "...รัฐบาลของเรามีความรู้สึกห่วงในเรื่องนี้เป็นอันมาก จึงคิดหาทางวางนโยบายพึ่งตนเองก่อนโดยวางโครงการส่งเสริมขึ้นเป็นต้นว่า ขยายมาตรฐานฐานและปรับปรุงการศึกษาวิชาเภสัชกรรมในมหาวิทยาลัยให้สูงขึ้น เพื่อเพาะผู้มีความรู้จริงในทางนี้ ตั้งกองเภสัชกรรมขึ้น เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าในเรื่องยาและจะได้สร้างโรงงานทำยาขึ้นในลำดับต่อไป..."[2]
ชีวิตส่วนตัวและความสนใจ
แก้ตั้วเกิดในครอบครัวชาวไทยมี มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน เป็นบุตรคนที่ 3 เป็นผู้มีความสามารถในด้านการศึกษาจนสอบได้ทุนของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ตั้วมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์แต่ครั้งเยาว์วัย ตั้วรักการอ่านหนังสืออย่างยิ่ง ชีวิตครอบครัวมิได้สมรส
ตั้วเป็นผู้มีความสนใจในวิทยาศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งได้ปรารภถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์อยู่บ่อยๆ ในบทความวารสารวิทยาศาสตร์ที่ตั้วเป็นผู้เขียนขึ้น ได้แก่ วิทยาศาสตร์กับความต้องการของประเทศ วิทยาศาสตร์กับการเมือง วิทยาศาสตร์กับอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่กล่าวถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่จะส่งเสริมความรุ่งเรืองและมั่งคั่งของชาติขึ้นมาได้ ดังบันทึกในข้อความหนึ่งว่า "ชาติจะเจริญโดยไม่มีวิทยาศาสตร์เป็นหลักไม่ได้" ในสมัยที่ตั้วดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์นั้น วิทยาศาสตร์ของไทยมีการพัฒนาขึ้นไปมาก อย่างหนึ่งที่ตั้วให้ความสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์คือเรื่องของอาหารและยา ตั้วเคยเขียนในบทความเรื่อง "พลเมืองไทยกละความจำเป็นในทางอาหาร" ว่าควรมีการนำวิทยาศาสตร์มาสั่งสอนประยุกต์ใช้เข้าการการกสิกรรมของไทย และตั้วได้ริเริ่มส่งเสริมกิจการถั่วเหลืองและการบริโภคถั่วเหลืองในประเทศไทยอีกด้วย อีกเรื่องหนึ่งคือยา ซึ่งตั้วกล่าวในบทความ "วิทยาศาสตร์กับความต้องการของประเทศ" ไว้ว่า "วิทยาศาสตร์กับการประดิษฐ์และทำยานั้นเป็นสาขาหนึ่ง เรียกว่า เภสัชกรรม เวลานี้งานในส่วนของเรายังล้าสมัยอยู่มาก เรายังไม่มีการค้นคว้าหาสรรพคุณของสมุนไพรต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศของเรามากพอ เรายังไม่สามารถทำยาใช้เองได้อย่างเพียงพอ"
ตั้วส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ภาษาไทยและวารสารวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไทยในภาษาอังกฤษชื่อ Siam Science Bulletin สิ่งที่ตั้วชอบมากในงานวิทยาศาสตร์อีกอย่างหนึ่งคืองานด้านนิติเคมี อาทิ การวิเคราะห์เอกสาร ยาพิษ คราบโลหิต ปืน[4]
ตั้วยังเป็นผู้ที่สนใจด้านการเมืองโดยเป็นหนึ่งในคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี พ.ศ. 2475 โดยร่วมเป็นสมาชิกฝ่ายพลเรือน นอกจากนี้ตั้วยังมีความสนใจพิเศษในเรื่องของการอ่าน และทักษะด้านภาษาโดยสามารถพูดต่างภาษาได้ถึงสามภาษา อันได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน และภาษาฝรั่งเศส เขาได้ใช้ความสามารถดังกล่าวเป็นประโยชน์ยิ่งโดยการเป็นล่ามในกองรถยนต์ไทย ครั้งเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พลตรี หลวงวิจิตรวาทการเคยกล่าวถึงตั้วในด้านความสามารถของภาษาและความใฝ่รู้ไว้ว่า "...เป็นภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภานและสนใจแสวงหาความรู้ในวิชาการทุกสาขา... เป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งที่รู้ภาษาต่างประเทศดีถึง 3 ภาษา..สามารถเจรจาสนทนาใน 3 ภาษานี้ได้คล่องแคล่วเท่าๆ กับภาษาไทย.."[2]
นอกจากนี้ตั้วยังเป็นผู้มีอัธยาศัยไมตรีจิตต่อผู้คนรอบข้าง พระยาพหลพลพยุหเสนาเคยกล่าวถึงตั้วในสมัยเรียนด้วยกัน ณ ประเทศเยอรมนีไว้ว่า "ข้าพเจ้าเคยรู้จัดชอบพอกันมาแต่เดิม...พูดจาคล่อง หัวเราะร่วน เป็นคนร่าเริงเสมอซึ่งเป็นที่ชอบพออัธยาศัยของบรรดานักเรียนไทยทักหลายที่ได้รู้จักมักคุ้น..." นอกจากนี้ปรีดี พนมยงค์ยังได้กล่าวในงานรัฐพิธีพระราชทาเพลิงศพของ ภก.ดร.ตั้ว ลพานุกรม ไว้ว่า "เป็นบุคคลที่มีอัธยาศัยมั่นคงเสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง..."
เกียรติยศ
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2484 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
- พ.ศ. 2482 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[11]
- พ.ศ. 2462 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 6 เหรียญรามมาลา (ร.ม.)
- พ.ศ. 2462 – เหรียญงานพระราชสงครามยุโรป
- พ.ศ. 2484 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามอินโดจีน (ช.ร.)
- พ.ศ. 2462 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 6 เหรียญทองช้างเผือก (ร.ท.ช.)[12]
ยศทหาร
แก้- จ่าสิบเอก[13]
ยศข้าราชการพลเรือนของสยาม
แก้- พ.ศ. 2474 : รองอำมาตย์เอก[14][15][16]
อนุสรณ์
แก้- อนุสาวรีย์ ดร. ตั้ว ลพานุกรม องค์การเภสัชกรรม
- ลาน ดร. ตั้ว ลพานุกรม
- ห้องอนุสรณ์ ฯพณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรม สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ[17]
- “หอสมุดวิทยาศาสตร์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ
- ห้องประชุมตั้ว ลพานุกรม อาคาร 80 ปี เภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ คณะราษฎร เก็บถาวร 2011-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 วิชิต ณ ป้อมเพชร ดร.ตั้ว ลพานุกรม รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย;กรุงเทพฯ. กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2527. เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
- ↑ 3.0 3.1 หน่วยวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม ภาควิชาเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานวิจัยบุคคลสำคัญทางเภสัชศาสตร์ในช่วงปี พ.ศ. 2475 - 2535;กรุงเทพฯ. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543. เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
- ↑ 4.0 4.1 4.2 กรมวิทยาศาสตร์บริการ อนุสรณ์ ดร. ตั้ว ลพานุกรม ที่ระลึกเนื่องในพิธีเปิดอนุสาวรีน์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม; กรุงเทพฯ, กรม, 2549. เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
- ↑ รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย
- ↑ คณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 ของไทย สำนักเลขาธิการรัฐมนตรี เก็บถาวร 2012-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
- ↑ ห้องอนุสรณ์ ฯพณฯ ดร. ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์ เรียกข้อมูลวันที่ 9 มีนาคม 2558
- ↑ 8.0 8.1 สมาคมนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, การประกาศเกียรติคุณศิษย์เก่าดีเด่น คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2553; กรุงเทพฯ, 2553. เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
- ↑ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เก็บถาวร 2010-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
- ↑ ประวัติองค์การเภสัชกรรม เก็บถาวร 2009-10-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
- ↑ "เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 56: 1800. 19 กันยายน 2482. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2564.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ↑ พระราชทานยศจ่าสิบเอก[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ยศพระราชทานพลเรือน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-10. สืบค้นเมื่อ 2018-08-02.
- ↑ "ยศข้าราชการในประเทศสยาม" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-08-01. สืบค้นเมื่อ 2018-08-02.
- ↑ ฝ่ายพลเรือนของประเทศสยาม[ลิงก์เสีย]
- ↑ สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี