คุรุสภา
เนื้อหาในบทความนี้ล้าสมัย โปรดปรับปรุงข้อมูลให้เป็นไปตามเหตุการณ์ปัจจุบันหรือล่าสุด ดูหน้าอภิปรายประกอบ |
คุรุสภา (อังกฤษ: The Teachers' Council of Thailand) เป็นสภาสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำกับ ดูแล การปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งเป็นการยกระดับวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยมีสำนักเลขานุการคือ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
The Teachers' Council of Thailand | |
ตราประจำคุรุสภา (ตราพระพฤหัสบดี) | |
ภาพรวมสภา | |
---|---|
ก่อตั้ง | 12 มิถุนายน พ.ศ. 2546[1] |
สภาก่อนหน้า |
|
ประเภท | องค์การมหาชน |
เขตอำนาจ | ทั่วราชอาณาจักร |
สำนักงานใหญ่ | เลขที่ 128/1 ถนนนครราชสีมา แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 |
บุคลากร | 355 คน (พ.ศ. 2565)[2] |
งบประมาณต่อปี | 169,563,100 บาท (พ.ศ. 2568)[3] |
ฝ่ายบริหารสภา |
|
ต้นสังกัดสภา | กระทรวงศึกษาธิการ |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ |
คุรุสภา มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ประเภทองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ[4]
ประวัติ
แก้เมื่อปี พ.ศ. 2488 รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ โดยนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาวิกฤติในวิชาชีพครู เนื่องจากคนดี คนเก่ง ไม่อยากเรียนครู และครูเก่ง ครูดีจำนวนไม่น้อยไปประกอบอาชีพอื่น จึงได้มีการตรา พระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติวิชาชีพครู โดยให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เรียกว่า คุรุสภา ให้มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไป ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ และส่งเสริมฐานะครู และครอบครัวให้ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู ตลอดจนทำหน้าที่แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ในเรื่องการบริหารงานบุคคล โดยกำหนดให้ครูทุกคนต้องเป็นสมาชิกคุรุสภา[5]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีปองพล อดิเรกสาร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตรา พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ทำให้คุรุสภาเปลี่ยนสถานะเป็นสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา
วัตถุประสงค์
แก้พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มาตรา 8 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของคุรุสภาไว้ ดังนี้
- กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำกับ ดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพ
- กำหนดนโยบายและแผนพัฒนาวิชาชีพ
- ประสาน ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ
คณะกรรมการ
แก้คณะกรรมการคุรุสภา
แก้พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการคุรุสภา ประกอบด้วย
ลำดับที่ | ตำแหน่ง | จำนวน | ที่มา |
---|---|---|---|
1 | ประธานกรรมการ | 1 คน | คณะรัฐมนตรี แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงด้านการศึกษา มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือกฎหมาย |
2 | กรรมการโดยตำแหน่ง | 8 คน | ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น |
3 | กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ | 7 คน | คณะรัฐมนตรี แต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงด้านการบริหารการศึกษา การอาชีวศึกษา การศึกษาพิเศษ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกฎหมายด้านละหนึ่งคน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นครู ผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารการศึกษา ไม่น้อยกว่าสามคน |
4 | กรรมการผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ หรือการศึกษา | 4 คน | ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ หรือการศึกษา ซึ่งเลือกกันเองจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจำนวนสามคน และจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจำนวนหนึ่งคน |
5 | กรรมการจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา | 19 | เลือกตั้งมาจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น และมาจากสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา สถานศึกษาเอกชน และองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ตามสัดส่วนจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา |
6 | กรรมการและเลขานุการ | 1 คน | เลขาธิการคุรุสภา |
หมายเหตุ : หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หลักเณฑ์และวิธีการเลือกผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา และหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นไปตามข้อบังคับของคุรุสภา
ในปัจจุบัน คณะกรรมการคุรุสภา แต่งตั้งโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 17/2560[6]
คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
แก้พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ประกอบด้วย
- ประธานกรรมการ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากกรรมการทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการคุรุสภา
- กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (ประเทศไทย) เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คน ซึ่งคณะกรรมการคุรุสภาสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงด้านการศึกษา การบริหาร และกฎหมาย
- กรรมการจากคณาจารย์ในคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ หรือการศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชนที่มีการสอนระดับปริญญาในสาขาวิชาครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ หรือการศึกษา ซึ่งเลือกกันเองจำนวน 2 คน
- กรรมการจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจำนวนหกคน ซึ่งเลือกตั้งมาจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งครูที่มีประสบการณ์ด้านการสอนไม่น้อยกว่าสิบปี หรือดำรงตำแหน่ง อาจารย์ ๓ หรือมีวิทยฐานะเป็นครูชำนาญการขึ้นไป ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งไม่น้อยกว่าสิบปี และบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่มีประสบการณ์ไม่น้อยกว่าสิบปี
- เลขาธิการคุรุสภา เป็นกรรมการและเลขานุการ
อำนาจหน้าที่
แก้คณะกรรมการคุรุสภา
แก้- บริหารและดำเนินการตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของคุรุสภาซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
- ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
- พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพตามมาตรา 54
- เร่งรัดพนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ หรือคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกระทำการใดๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา
- กำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา
- พิจารณาหรือดำเนินการในเรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
- ควบคุม ดูแล การดำเนินงาน และการบริหารงานทั่วไป ตลอดจนออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ในเรื่องดังต่อไปนี้
- การจัดแบ่งส่วนงานของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาและขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
- การกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติเฉพาะ อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทนอื่นของพนักงานเจ้าหน้าที่คุรุสภา
- การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน วินัยและการลงโทษของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งวิธีการ เงื่อนไข ในการจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ของคุรุสภา
- การบริหารและจัดการการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของคุรุสภา
- กำหนดอำนาจหน้าที่และระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน
คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
แก้- พิจารณาการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และการพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต
- กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
- ส่งเสริม พัฒนา และเสนอแนะคณะกรรมการคุรุสภากำหนดมาตรฐานและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ
- ส่งเสริม ยกย่อง และพัฒนาวิชาชีพไปสู่ความเป็นเลิศในสาขาต่าง ๆ ตามที่กำหนดในข้อบังคับของคุรุสภา
- แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ หรือมอบหมายกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อกระทำการใดๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
- พิจารณาหรือดำเนินการในเรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรี หรือคณะกรรมการคุรุสภามอบหมาย
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
แก้ในการดำเนินงานของคุรุสภามี สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เป็นหน่วยเลขานุการและธุรการ รับผิดชอบงานตามที่คุรุสภามอบหมาย โดยมีเลขาธิการคุรุสภาเป็นผู้บริหารกิจการของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ปัจจุบันแบ่งส่วนงานออกเป็น 7 สำนัก 1 สถาบัน 1 กลุ่ม 1 หน่วย[7] ดังนี้
- สำนักมาตรฐานวิชาชีพ
- สำนักทะเบียนและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
- สำนักจรรยาบรรณวิชาชีพและนิติการ
- สำนักพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพ
- สำนักนโยบายและแผน
- สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- สำนักอำนวยการ
- สถาบันคุรุพัฒนา
- กลุ่มพัฒนาระบบงาน
- หน่วยตรวจสอบภายใน
สถาบันคุรุพัฒนา
แก้สถาบันคุรุพัฒนา เป็นหน่วยงานภายในของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 ตามระเบียบคณะกรรมการคุรุสภาว่าด้วยการจัดตั้งถาบันคุรุพัฒนา พ.ศ. 2560 และระเบียบคณะกรรมการคุรุสภาว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 โดยกำหนดให้สถาบันคุรุพัฒนาเป็นสถาบันวิชาการชั้นสูง ในกำกับของคุรุสภา เป็นส่วนงานหนึ่งของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ตามระเบียบคุรุสภา ว่าด้วยการจัดแบ่งส่วนงานและขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานในสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา พ.ศ. 2560 มีสถานะเทียบเท่าสำนัก ใช้คำย่อว่า “สคพ.” และให้มี ชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “Teacher Professional Development Institute” ใช้คำย่อว่า “TPDI”
อ้างอิง
แก้- ↑ พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 เก็บถาวร 2015-05-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนที่ 52 ก วันที่ 11 มิถุนายน 2546
- ↑ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, รายงานประจำปี 2565 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2567
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๗๔, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
- ↑ องค์การมหาชนที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ. เฉพาะ
- ↑ พระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 62 ตอนที่ 4 วันที่ 16 มกราคม 2488
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-10-24. สืบค้นเมื่อ 2018-07-04.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-08. สืบค้นเมื่อ 2018-07-04.
ดูเพิ่ม
แก้- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
- เว็บไซต์คุรุสภา เก็บถาวร 2006-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- คุรุสภา เก็บถาวร 2006-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน