เขาทราย แกแล็คซี่
เขาทราย แกแล็คซี่ มีชื่อจริงว่า สุระ แสนคำ เป็นอดีตนักมวยแชมป์โลกชาวไทย เป็นแชมป์โลกคนที่ 9 ของไทย และเป็นแชมป์โลกสมาคมมวยโลก (WBA) คนที่ 4 ของไทย ในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท (115 ปอนด์) และเป็นวีรบุรุษนักชกขวัญใจชาวไทย ทั้งนี้ ในช่วงที่เขาทรายครองตำแหน่งแชมป์โลกของ สมาคมมวยโลก (WBA) จะเรียกพิกัด 115 ปอนด์ว่า จูเนียร์แบนตัมเวท
เขาทราย แกแล็คซี่ | |
---|---|
เกิด | สุระ แสนคำ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 |
เขาทรายครองตำแหน่งแชมป์โลกตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 ถึงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2534 เขาทรายป้องกันตำแหน่งได้ถึง 19 ครั้งติดต่อกัน มีสถิติป้องกันตำแหน่งโดยชนะน็อก 16 ครั้ง ชนะคะแนนเพียง 3 ครั้ง และได้ประกาศแขวนนวมในฐานะแชมป์โลกผู้ไม่เคยแพ้ใคร ตลอดระยะเวลาที่ครองตำแหน่ง 2,628 วัน หรือ 7 ปี 2 เดือน 30 วัน
เป็นมวยถนัดซ้าย (Southpaw) ได้รับฉายาในไทยว่า ซ้ายทะลวงไส้ และสื่อต่างประเทศตั้งฉายาว่า The Thai Tyson[2] นอกจากนี้แล้ว เขาทรายยังมีพี่ชายฝาแฝด ซึ่งเป็น อดีตแชมป์โลกเช่นเดียวกันคือ เขาค้อ แกแล็คซี่ อดีตแชมป์โลก WBA รุ่นแบนตั้มเวท โดยมีระยะเวลาที่เป็นแชมป์โลกคู่กัน ซึ่งทำให้นับเป็นแชมป์โลกคู่แฝดรายแรกของโลกอีกด้วย
วัยเด็ก
แก้เขาทรายเป็นบุตรของนายขัน แสนคำ และนางคำ แสนคำ เกิดวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 ที่บ้านเฉลียงลับ ตำบลนาป่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ จบการศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนเฉลียงลับวิทยา ชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนประสิทธิวิทยา และระดับอาชีวศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากวิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์
การชกมวยไทย
แก้เขาทรายเริ่มหัดชกมวยไทยครั้งแรกกับ ครูปราการ วรศิริ ขณะมีอายุได้ 14 ปี ด้วยน้ำหนักตัว 40 ปอนด์ ขึ้นชกมวยไทยอาชีพครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2515 ใช้ชื่อว่า "ดาวเด่น เมืองศรีเทพ" โดยมี ครูมานะ พรหมประสิทธิ์ เป็นเทรนเนอร์ ตระเวนชกในจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดใกล้เคียง โดยมีปัญหาในการชกมวยไทยเนื่องจากเสียเปรียบความสูง ทำให้ต้องลดน้ำหนักมากเพื่อชกกับมวยรุ่นเล็กกว่า เป็นสาเหตุให้หลายครั้งหมดแรงไม่สามารถชกมวยไทยได้ดีเท่าที่ควร
ในการชกมวยไทยอาชีพครั้งสุดท้ายกับ กังสดาล ส.ประทีป ต้องคุมน้ำหนักเพื่อชกในพิกัดรุ่น 108 ปอนด์ ทั้งที่ขนาดร่างกายต้องอยู่รุ่น 118 ปอนด์ แต่เพราะตัวเตี้ยเสียเปรียบจึงต้องชกในรุ่นต่ำกว่าเพื่อให้ได้คู่ชกที่ความสูงใกล้เคียงกัน การลดน้ำหนักครั้งนั้นทำให้หมดแรงและแพ้คะแนนขาดลอย นับเป็นการชกที่เจ็บตัวที่สุดในชีวิต แม้จะมีปัญหาเรื่องความสูงและต้องลดน้ำหนักอยู่เสมอ แต่ก็ยังมีสถิติการชกมวยไทยดีพอสมควรเนื่องจากพลังหมัดที่หนักหน่วง จากการชกมวยไทยรวม 54 ครั้ง สามารถชนะ 43 ครั้ง (น็อค 30 ครั้ง) แพ้ 8 ครั้ง และเสมอ 3 ครั้ง
หลังการชกกับ กังสดาล ส.ประทีป นิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์ (แชแม้) โปรโมเตอร์ชื่อดังที่ชักชวนให้มาชกที่กรุงเทพฯ ในชื่อ "เขาทราย วังชมภู" (ต่อมาเปลี่ยนชื่อหลังตามชื่อค่ายว่า "แกแล็คซี่" ซึ่งเป็นชื่อกิจการภัตตาคารของนักธุรกิจชื่อดังคือ นายอมร อภิธนาคุณ ซึ่งเป็นเพื่อนของนิวัฒน์) ได้สนับสนุนให้เขาทรายเปลี่ยนมาชกมวยสากลอาชีพ นับเป็นการเริ่มต้นตำนานแชมป์โลกของ เขาทราย แกแล็กซี่
การชกมวยสากล
แก้ชีวิตการชก มวยไทย ของเขาทราย ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนได้รับการปรามาส จากแฟนมวยว่า "เขาควาย" จึงเบนเข็มมาชกมวยสากล โดยฝึกมวยสากลจาก "ครูเฒ่า-ชนะ ทรัพย์แก้ว" และ "เกา คิม หลิน-ทวิช จาติกวณิช" และเมื่อเป็นแชมป์โลกเปลี่ยนมาเป็น "โกฮง-พงษ์ ถาวรวิวัฒน์บุตร"
เมื่อเปลี่ยนมาชกมวยสากลเขาทรายสามารถชนะน็อก ด้วยหมัดซ้ายติดต่อกัน 5 ครั้ง ชนะคะแนนอีก 1 ครั้ง เขาทรายมีโอกาสได้ขึ้นชิงแชมป์เวทีราชดำเนินรุ่นแบนตัมเวท กับ ศักดา ศักดิ์สุรีย์ (ศักดิ์ แกแล็คซี่) แชมป์ในขณะนั้น เมื่อ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 ก่อนการชก ทุกฝ่ายมั่นใจว่าเขาทรายน่าจะเป็นฝ่ายชนะน็อกได้ไม่ยาก เพราะศักดาน้ำหนักเกินรุ่นแบนตั้มเวทไปมาก ถึงวันชั่งน้ำหนักยังต้องอบตัวและออกวิ่งกว่าจะทำน้ำหนักตามพิกัดได้ เมื่อขึ้นเวทีชกกันจริง ๆ ปรากฏว่าเขาทรายเข้าไม่ติด ไม่สามารถใช้หมัดซ้ายชกศักดาได้จัง ๆ เพราะเสียเปรียบช่วงชกมาก ศักดาใช้ช่วงชกที่ได้เปรียบชกทำคะแนนนำไปก่อนแม้จะอ่อนแรงในยกท้าย ๆ และถูกเขาทรายต่อยจนแตกทั้งสองคิ้ว เมื่อเขาทรายชกศักดาลงไปให้กรรมการนับสิบไม่ได้ ครบสิบยก ศักดาจึงเป็นฝ่ายชนะคะแนนไป[3]
หลังจากชกแพ้ในครั้งนั้น นิวัฒน์ผู้จัดการจัดให้เขาทรายชกกับสึงูยูกิ โทมะ นักมวยสากลชาวญี่ปุ่นเป็นการแก้หน้าในครั้งต่อมา ซึ่งเขาทรายเป็นฝ่ายชนะน็อกได้ในยกที่ 4 และในการชกครั้งต่อมาเขาทรายชนะน็อก ศักดิ์สมัย ช.ศิริรัตน์ ได้ครองแชมป์ แบนตั้มเวท เวทีมวยราชดำเนิน ที่ว่างอยู่เนื่องจากศักดาสละแชมป์ไป และนับจากชกชนะสึงูยูกิ เขาทรายไม่เคยแพ้ใครอีกเลยจนได้ชิงแชมป์โลก
หลังได้ครองแชมป์แบนตั้มเวท ราชดำเนิน เขาทรายลดรุ่นลงมาชกในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท สามารถชกชนะติดต่อกัน 17 ครั้ง โดยเป็นการชนะน็อกถึง 15 ครั้ง รวมทั้งชนะน็อก วิลลี เจนเซน รองแชมป์โลก WBA ซูเปอร์ฟลายเวท ต่อมาได้ขึ้นชิงแชมเปี้ยนโลกของสมาคมมวยโลก (WBA) ซูเปอร์ฟลายเวท เนื่องจากสมาคมมวยโลก (WBA) มีคำสั่งปลดจิโร วาตานาเบะเจ้าของตำแหน่งแชมป์โลก ซึ่งไม่ยอมป้องกันไฟท์บังคับกับเขาทรายที่เป็นรองแชมป์โลก WBA อันดับ 1 แต่กลับไปล้มแชมป์โลกต่างสถาบันกับพเยาว์ พูลธรัตน์แชมป์โลกของสภามวยโลก (WBC) โดยเขาทรายได้ชิงแชมป์โลกที่ว่างกับเอวเซบิโอ เอสปินัล นักชกชาวโดมินิกัน ซึ่งเป็นรองแชมป์โลก WBA อันดับ 2 ในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท ที่เวทีมวยราชดำเนิน และชนะน็อกยก 6 ได้ครองตำแหน่งแชมเปี้ยนโลก เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 และยังทำสถิติป้องกันแชมป์ได้ติดต่อกันถึง 19 ครั้ง มากที่สุดของทวีปเอเชีย โดยทำลายสถิติเดิมของ ชัง ช็อน-กู นักมวยสากลชาวเกาหลีใต้ ที่ป้องกันได้ 15 ครั้ง และเป็นสถิติโลกในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท (115 ปอนด์) ด้วย เทียบเท่ากับ เอวเซบิโอ เปรโดซา อดีตแชมป์โลก WBA รุ่นเฟเธอร์เวท ที่ทำสถิติป้องกันแชมป์เอาไว้ถึง 19 ครั้งเท่ากัน จากการบันทึกข้อมูลสถิติการชกของเขาทรายโดย Boxing Writers Association of America (BWAA) และนักประวัติศาสตร์มวยโลกได้บันทึกข้อมูลว่า เขาทรายทำสถิติการชกไว้ทั้งหมด 50 ครั้ง ชนะ 49 ครั้ง โดยชนะน็อกถึง 43 ครั้ง แพ้คะแนนเพียง 1 ครั้ง และในการป้องกันแชมป์ 19 ครั้ง เป็นการชนะน็อกถึง 16 ครั้ง มีเพียง 3 ครั้งที่ชนะคะแนน[1] (แต่ใน www.boxrec.com บันทึกสถิติเขาทรายว่าชกทั้งหมด 48 ครั้ง ชนะ 47 ครั้ง ชนะน็อค 41 ครั้ง แพ้คะแนน 1 ครั้ง[4] ซึ่งไม่ใช่สถิติที่ถูกต้องของเขาทราย)
เขาทราย แกแล็คซี่ นับว่าเป็นนักมวยที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล ในสมัยที่ยังชกมวยอยู่ ได้รับฉายาจากแฟนมวยว่า "ซ้ายทะลวงไส้" จากหมัดซ้ายที่หนักหน่วง และการชกตัดลำตัวที่ยอดเยี่ยม เป็นนักมวยที่ไปชกป้องกันตำแหน่งนอกประเทศหลายครั้ง รวมทั้งเคยป้องกันกับนักมวยชาวไทยด้วยกัน คือ ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ และแทบทุกครั้งของการชก เขาทรายจะได้รับชัยชนะอย่างงดงาม ความนิยมในตัวเขาทรายมีถึงขนาดที่ว่า เมื่อใดที่เขาทรายชก ถนนในกรุงเทพฯจะว่าง เพราะทุกคนรีบกลับบ้านไปดูเขาทราย อีกทั้งยังเป็นนักมวยรายแรกด้วย ที่เป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีการมอบทองและของรางวัลก่อนการชกบนเวที ซึ่งเริ่มมาจากการป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 9 ที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยครั้งนั้นมีวัฒนา อัศวเหม เป็นประธานจัด ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มของการจัดชกมวยของนักการเมืองด้วย
การป้องกันแชมป์โลก
แก้ในการที่เขาทรายสามารถป้องกันตำแหน่งได้ถึง 19 ครั้งติดต่อกัน นับเป็นสถิติโลกสูงสุดในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวทหรือจูเนียร์แบนตั้มเวท (115 ปอนด์) จนถึงปัจจุบัน และเป็นสถิติสูงสุดอันดับ 7 ตลอดกาลในการป้องกันแชมป์โลกติดต่อกันของสถาบันเดียวกัน โดยมีแชมป์โลกสถาบันหลัก (WBA, WBC, IBF, WBO) ที่ป้องกันได้มากกว่าหรือเทียบเท่าเขาทราย ดังนี้
1.โจ หลุยส์ (สหรัฐฯ) อดีตแชมป์โลก NBA: National Boxing Association รุ่นเฮพวี่เวท ป้องกัน NBA รุ่นเฮพวี่เวท ได้ 24 ครั้งติดต่อกัน
2. ดาริอุสซ์ มิชาลเชวสกี (โปแลนด์) อดีตแชมป์โลก WBO รุ่นไลท์เฮฟวี่เวท ป้องกัน WBO รุ่นไลท์เฮฟวี่เวท ได้ 23 ครั้งติดต่อกัน เป็นสถิติการป้องกันตำแหน่งสูงสุดขององค์กรมวยโลก
3. ริการ์โด โลเปซ (เม็กซิโก) อดีตแชมป์โลก WBC, WBO, WBA รุ่นสตรอว์เวท ป้องกัน WBC รุ่นสตรอว์เวทได้ 21 ครั้งติดต่อกัน เป็นสถิติการป้องกันตำแหน่งสูงสุดของสภามวยโลก (ไม่นับครั้งที่ 22 เนื่องจากคู่ชกน้ำหนักเกิน จึงมีการตกลงชกที่น้ำหนัก 115 ปอนด์ สักขีพยาน WBC จึงไม่รับรองผลการชก แต่ WBA ถือว่าเป็นการชิงแชมป์โลกที่ว่างแทน)
4. โจ คัลซากี (เวลส์) อดีตแชมป์โลก WBO รุ่นซูเปอร์มิดเดิลเวท ป้องกัน WBO รุ่นซูเปอร์มิดเดิลเวท ได้ 21 ครั้งติดต่อกัน
5. สเวน ออตเก (เยอรมัน) อดีตแชมป์โลก IBF รุ่นซูเปอร์มิดเดิลเวท ป้องกัน IBF รุ่นซูเปอร์มิดเดิลเวท ได้ 21 ครั้งติดต่อกัน เป็นสถิติการป้องกันตำแหน่งสูงสุดของสหพันธ์มวยนานาชาติ
6. เบอร์นาร์ด ฮอปกินส์ (สหรัฐฯ) อดีตแชมป์โลก IBF รุ่นมิดเดิลเวท ป้องกัน IBF รุ่นมิดเดิลเวท ได้ 20 ครั้งติดต่อกัน (รวมไฟต์ที่ไม่มีการตัดสิน 1 ไฟต์)
7. เอวเซบิโอ เปโดรซา (ปานามา) อดีตแชมป์โลก WBA รุ่นเฟเธอร์เวท ป้องกัน WBA รุ่นเฟเธอร์เวท ได้ 19 ครั้งติดต่อกัน เป็นคนแรกของสมาคมมวยโลก
8. เกนนาดี โกลอฟกิน (คาซัคสถาน) อดีตแชมป์โลก WBA รุ่นมิดเดิลเวท ป้องกัน WBA รุ่นมิดเดิลเวท ได้ 19 ครั้งติดต่อกัน (WBA 10 ครั้ง WBA ซูเปอร์แชมป์ 9 ครั้ง ทั้งนี้ มีการป้องกันติดต่อกัน 20 ครั้ง แต่อีก 1 ครั้งไม่ใช่การป้องกันตำแหน่งแชมป์สมาคมมวยโลก WBA แต่เป็นการป้องกันตำแหน่งแชมป์โลก 3 สถาบัน ได้แก่ WBC, IBF และ IBO)
*****หมายเหตุ: การนับจำนวนการป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกดังที่กล่าวมา ต้องมีองค์ประกอบครบทุกข้อ ดังนี้ 1. เป็นการป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกติดต่อกันโดยไม่แพ้ใคร 2. เป็นการป้องกันแชมป์โลกในรุ่นเดียวกัน 3. เป็นการป้องกันแชมป์โลกในสถาบันเดียวกัน และต้องเป็นสถาบันหลัก ได้แก่ NBA หรือ WBA, WBC, IBF, WBO
ในปี พ.ศ. 2542 เขาทรายได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติเข้าสู่หอเกียรติยศ International Boxing Hall of Fame ประเภท Modern[5] จากการพิจารณาของ Boxing Writers Association of America (ฺBWAA)[6] และนักประวัติศาสตร์มวยโลก โดยได้รับการบรรจุชื่อในหอเกียรติยศนักมวยโลก ณ เมืองคานาสโตตา รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2554 ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติเข้าสู่หอเกียรติคุณ Hall of Fame ของ สมาคมมวยโลก (WBA) ในงานประกาศเกียรติยศ "ดับเบิลยูบีเอ อวอร์ดส์" และให้เป็นนักมวยที่สมาคมมวยโลกยกย่องให้เป็นแชมป์โลกตลอดกาลในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท ที่ กรุงปานามา ซิตี ประเทศปานามา นอกจากนี้ สื่อมวลชนและคอลัมนิสต์ของวงการมวยสากลอาชีพของโลกได้ให้การยอมรับและยกย่อง "เขาทราย แกแล็คซี่" ว่าเป็นหนึ่งในตำนานนักมวยที่ยิ่งใหญ่ของโลก
เขาทรายมีสถิติการชก 50 ครั้ง ชนะ 49 ครั้ง โดยชนะน็อกถึง 43 ครั้ง คิดเป็นสถิติชนะด้วยการน็อกเอาท์ถึง ร้อยละ 87.75 และเคยแพ้คะแนนเพียงครั้งเดียว การชนะน็อกถึง 43 ครั้ง[4] ยังนับเป็นสถิติโลกสูงสุด ในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวทหรือจูเนียร์แบนตัมเวท จนถึงปัจจุบันอีกด้วย
เกียรติยศ
แก้เขาทราย แกแล็คซี่ เป็นนักมวยที่ได้รับการกล่าวขานมาก จนอาจเรียกว่าเป็นนักกีฬาชาวไทยที่ได้รับเกียรติยศมากที่สุดก็ว่าได้ เขาทราย แกแล็คซี่ เป็นทั้งสุดยอดตำนานมวยสากลอาชีพของประเทศไทยและระดับโลก การได้รับรางวัลและการได้รับการยกย่องต่างๆ มีดังนี้
1. เขาทรายได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติเข้าสู่หอเกียรติยศ International Boxing Hall of Fame ประเภท Modern ในปี พ.ศ. 2542[5] จากการพิจารณาของ Boxing Writers Association of America (BWAA)[6] และนักประวัติศาสตร์มวยโลก โดยได้รับการบรรจุชื่อในหอเกียรติยศนักมวยโลก ณ เมืองคานาสโตตา รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ นักมวยคนใดได้รับการจารึกชื่อถือว่าเป็นหนึ่งในนักชกที่ยิ่งใหญ่ของวงการมวยโลก[5]
2. อดีตแชมป์โลกของสมาคมมวยโลก (WBA) ในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท ที่สร้างสถิติโลกในการป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกได้ 19 ครั้ง สูงสุดเป็นสถิติโลกของรุ่น 115 ปอนด์ ในทุกสถาบันมวยโลก[5]
3. นิตยสาร เดอะ ริง จัดอันดับให้เขาทรายเก่งที่สุด (อันดับที่ 1 ของรุ่น) ในรุ่น 115 ปอนด์เป็นคนแรกของโลก ในปี พ.ศ. 2532 โดยครองอันดับที่ 1 ของรุ่น 115 ปอนด์ 2 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532-2533[7][8]
*****หมายเหตุ: นิตยสาร เดอะ ริง เริ่มจัดนักมวยเก่งที่สุดในแต่ละรุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2467 โดยมีการนำรุ่น 115 ปอนด์ มาร่วมจัดอันดับนักมวยเก่งที่สุดในแต่ละรุ่นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532
4. นิตยสาร เดอะ ริง จัดให้เป็นนักชกที่เก่งอันดับที่ 10 เมื่อเทียบปอนด์ต่อปอนด์ ในปี พ.ศ. 2533[8] และจัดให้เป็นนักมวยที่เก่งอันดับที่ 8 เมื่อเทียบปอนด์ต่อปอนด์ ในปี พ.ศ. 2534[9]
*****หมายเหตุ:
นิตยสาร เดอะ ริง เริ่มจัดอันดับปอนด์ต่อปอนด์เมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยมีการนำรุ่น 115 ปอนด์ มาร่วมจัดอันดับปอนด์ต่อปอนด์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532
5. นิตยสาร เดอะ ริง จัดให้เป็นนักมวยที่เก่งที่สุดในรุ่น 115 ปอนด์ “ตลอดกาล” ในปี พ.ศ. 2543[10]
6. นิตยสาร เดอะ ริง จัดให้เป็นนักมวยที่ยิ่งใหญ่ในรอบ 80 ปีที่ผ่านมา ประเภท fighter (นักชก) “ตลอดกาล” อันดับที่ 43 ในปี พ.ศ. 2545[11]
7. นิตยสาร เดอะ ริง จัดให้เป็นนักมวยที่ยิ่งใหญ่ ประเภท punchers (หมัดหนัก) “ตลอดกาล” อันดับที่ 19 ในปี พ.ศ. 2546[12]
8. นิตยสาร เดอะ ริง จัดให้เป็นนักมวยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จากการจัดอันดับนักมวยที่ดีที่สุดของแต่ละประเทศ จำนวน 20 ประเทศ “ตลอดกาล” ในปี พ.ศ. 2562 โดยคนที่เก่งอันดับรองจากเขาทราย ได้แก่ โผน กิ่งเพชร, ชาติชาย เชี่ยวน้อย, สด จิตรลดา, ศรีสะเกษ ศ.รุ่งวิสัย และ พงษ์ศักดิ์เล็ก ศิษย์คนองศักดิ์[13]
9. นิตยสาร เดอะ ริง โหวตนักชกที่เก่งที่สุดของแต่ละรุ่น "ตลอดกาล" โดยให้เขาทราย เป็นนักชกที่เก่งที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของรุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท ในปี พ.ศ. 2564 (ผู้โหวตเป็นนักประวัติศาสตร์และนักเขียนเรื่องมวยชื่อดัง ได้แก่ Steve Farhood, Doug Fischer, Tom Gray, Lee Groves, Stephen “Breadman” Edwards, Cliff Rold, Bob Yalen และ Anson Wainwright)[14][15][16]
10. สมาคมมวยโลก (WBA) ยกย่องให้เป็นนักมวยยอดเยี่ยมของ WBA (2 ปีซ้อน) ในปี พ.ศ. 2532-2533[17][18]
11. สมาคมมวยโลก (WBA) ยกย่องให้เป็นนักมวยที่เก่งที่สุดของรุ่น 115 ปอนด์ ในรอบทศวรรษ ในปี พ.ศ. 2543[19]
12. สมาคมมวยโลก (WBA) ยกย่องให้เป็นนักมวยที่ดีที่สุดของรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท "ตลอดกาล" เข้าหอเกียรติคุณ Hall of Fame ของ WBA ในปี พ.ศ. 2554 (รับรางวัล 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ในงานประกาศเกียรติยศ "ดับเบิลยูบีเอ อวอร์ดส์" ที่กรุงปานามา ซิตี ประเทศปานามา)[20]
13. คอลัมนิสต์ Graham Houston (www.espn.com) จัดให้เป็นนักมวยที่ดีที่สุดของรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท “ตลอดกาล” อันดับที่ 2 ในปี พ.ศ. 2551[21]
14. คอลัมนิสต์ Cliff Rold (www.boxingscene.com) จัดให้เป็น TOP 20 นักมวยในรุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท “ตลอดกาล” อันดับที่ 1 ในปี พ.ศ. 2552 (ได้คะแนน 15.92 คะแนน)[22]
15. คอลัมนิสต์ Dave Carlson (www.bleacherreport.com) จัดให้เป็น 1 ใน 100 นักมวยที่ยิ่งใหญ่ปอนด์ต่อปอนด์ “ตลอดกาล” อันดับที่ 81 ในปี พ.ศ. 2554[23]
16. คอลัมนิสต์ Scott Levinson (www.proboxing-fans.com) จัดให้เป็น TOP 10 นักมวยที่ดีที่สุดในรุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท “ตลอดกาล” อันดับที่ 1 ในปี พ.ศ. 2555[24]
17. คอลัมนิสต์ Kevin Mcrae (www.bleacherreport.com) จัดให้เป็นนักมวยที่ชกได้ตื่นเต้นที่สุด “ตลอดกาล” อันดับที่ 1 ในรุ่น 115 ปอนด์ ในปี พ.ศ. 2556[25]
18. คอลัมนิสต์ Ted Sares, Jarrett Hurd และ Julian Williams (www.boxing.com) จัดให้เป็นนักมวยสุดยอดปอนด์ต่อปอนด์ ที่ชกตั้งแต่ ปี ค.ศ.1945 (พ.ศ. 2488) อันดับที่ 15 ในปี พ.ศ. 2556[26]
19. คอลัมนิสต์ Andrew Kang (www.roundbyroundboxing.com) จัดให้เป็น TOP 10 นักมวยของทวีปเอเชีย “ตลอดกาล” อันดับที่ 2 ในปี พ.ศ. 2559 (รองจากแมนนี ปาเกียว)[27]
20. คอลัมนิสต์ Andrew Kang (www.roundbyroundboxing.com) จัดให้เป็น 1 ใน 50 นักมวยที่ยิ่งใหญ่ “ตลอดกาล” อันดับที่ 25 ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2561[28]
21. คอลัมนิสต์ Robert Portis (www.thefightcity.com) จัดให้เป็น TOP 12 นักมวยถนัดซ้าย (Southpaw) ที่ยิ่งใหญ่ "ตลอดกาล" อันดับที่ 11 ในปี พ.ศ. 2561[29]
22. คอลัมนิสต์ Kyle McLachlan (www.boxingmonthly.com) จัดให้เป็นนักมวย TOP 10 รุ่นซูเปอร์ฟลายเวท “ตลอดกาล” อันดับที่ 5 ในปี พ.ศ. 2561[30]
23. คอลัมนิสต์ Michael Luciano (www.12up.com) จัดให้เป็นนักมวยที่ยิ่งใหญ่ของรุ่น 115 ปอนด์ "ตลอดกาล" ในปี พ.ศ. 2562 (ร่วมกับนักมวยอีก 2 คน คือ ศรีสะเกษ ศ.รุ่งวิสัย และ จอห์นนี่ ทาเปีย)[31]
24. คอลัมนิสต์ Neil Francis Milbert (www.britannica.com) จัดให้เป็นนักมวยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ใน ปี พ.ศ. 2564[32]
25. คอลัมนิสต์ Robert Silva (www.fightgamemedia.com) จัดให้เป็นนักมวยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 45 ปีที่ผ่านมา อันดับที่ 38 ในปี พ.ศ. 2564[33]
26. เว็บไซต์ www.fightsportasia.wordpress.com จัดให้เป็น 1 ใน 3 นักมวยที่ยิ่งใหญ่ของเอเชีย "ตลอดกาล" ในปี พ.ศ. 2555 (แมนนี่ ปาเกียว นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ยิ่งใหญ่ที่สุดอันดับที่ 1 รองลงไป คือ เขาทราย แกแล็คซี่ นักมวยชาวไทย และ ปานโช วิลลา นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ครองอันดับที่ 2 ร่วมกัน)[34]
27 . เว็บไซต์ www.biggerbetterbeards.org จัดให้เป็น TOP 5 นักมวยของทวีปเอเชียที่คุณควรรู้จัก ในปี พ.ศ. 2562 (ร่วมกับ แมนนี ปาเกียว, ยู มย็อง-อู, เกนนาดี โกลอฟกิ้น และ ฟรานซิสโก กูลเลโด หรือที่รู้จักกันในนามว่า ปานโช วิลลา)[35]
28. เว็บไซต์ www.ranker.com จัดให้เป็น 1 ใน 8 นักมวยสากลอาชีพจากประเทศไทยที่มีชื่อเสียง ในปี พ.ศ. 2562[12]
29. เว็บไซต์ www.boxrec.com จัดให้เป็นนักมวยรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท ที่ยังชกอยู่ในปัจจุบันหรือแขวนนวมไปแล้ว ในอันดับที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน[36]
30. เขาทรายชนะมวยระดับแชมป์โลกสถาบันหลักมา 8 คน (ป้องกันแชมป์โลกชนะน็อก 7 คน อุ่นเครื่องชนะคะแนน 1 คน)[4]
31. รางวัลนักกีฬาขวัญใจมหาชน จากการโหวตของแฟนกีฬาชาวไทยของบริษัทสยามสปอร์ต จำกัด ในการประกาศผลรางวัลสยามกีฬา อวอร์ดส์ ครั้งที่ 1 จัดในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2550[37]
32. เขาทรายเข้าหอเกียรติยศในพิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติของการกีฬาแห่งประเทศไทย[38]
ประวัติการชกมวยสากล
แก้วันที่ | คู่ชก | สัญชาติ | สังเวียน | ผลการแข่งขัน | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|---|
17 ธันวาคม 2523 | ศักดิ์ แกแล็คซี่ | ไทย | กรุงเทพมหานคร | แพ้คะแนน 10 ยก | ชิงแชมป์รุ่นแบนตั้มเวท เป็นครั้งเดียวที่เขาทรายชกแพ้ |
25 มกราคม 2525 | ศักดิ์สมัย ช.ศิริรัตน์ | ไทย | สนามมวยราชดำเนิน
กรุงเทพมหานคร |
ชนะน็อก ยกที่ 7 | ครองตำแหน่งแชมป์ประเทศไทยรุ่นแบนตั้มเวท |
21 พฤศจิกายน 2527 | เอวเซบิโอ เอสปินัล | สาธารณรัฐโดมินิกัน | สนามมวยราชดำเนิน
กรุงเทพมหานคร |
ชนะน็อก ยกที่ 6 | ครองตำแหน่งแชมป์โลกของสมาคมมวยโลก รุ่นซูเปอร์ฟลายเวท
เอวเซบิโอ เอสปินัล แพ้น็อกครั้งแรกและครั้งเดียว |
6 มีนาคม 2528 | ดง ชุนลี | เกาหลีใต้ | สนามมวยราชดำเนิน
กรุงเทพมหานคร |
ชนะน็อก ยกที่ 7 | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 1
ดง ชุนลี แพ้น็อกครั้งแรก |
17 กรกฎาคม 2528 | ราฟาเอล โอโรโน | เวเนซุเอลา | สนามมวยราชดำเนิน
กรุงเทพมหานคร |
ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 5 | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 2 |
23 ธันวาคม 2528 | เอดการ์ มอนเซร์รัต | ปานามา | สนามมวยราชดำเนิน
กรุงเทพมหานคร |
ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 2 | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 3 |
1 พฤศจิกายน 2529 | อิสราเอล กอนเตรรัส | เวเนซุเอลา | สนามกีฬาเอร์กิลิโต อาร์โต วิลเลมสตัด กือราเซา | ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 5 | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 4 และครั้งแรกในต่างประเทศ
อิสราเอล กอนเตรรัส แพ้ครั้งแรกและได้รับบาดเจ็บซี่โครงหักต้องพักรักษาตัวนาน 1 ปี[39] |
28 กุมภาพันธ์ 2530 | เอ็ลลียัซ ปีกัล | อินโดนีเซีย | สนามกีฬาหลักเกอโลราบุงการ์โน | ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 14[40] | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 5
เอ็ลลียัซ ปีกัล หรือ เอ็ลลี ปีกัล แพ้น็อกครั้งแรกและครั้งเดียว หลังจากการชกเอ็ลลีได้รับบาดเจ็บสาหัส สาเหตุจากอาการกระเพาะปัสสาวะแตก |
12 ตุลาคม 2530 | ช็อน บย็อง-กวัน | เกาหลีใต้ | สนามมวยราชดำเนิน
กรุงเทพมหานคร |
ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 3 | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 6
ช็อน บย็อง-กวัน แพ้น็อกครั้งแรก |
26 มกราคม 2531 | ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ | ไทย | สนามมวยเวทีลุมพินี แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร | ชนะคะแนน 12 ยก | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 7 โดยเป็นครั้งแรกกับนักชกชาวไทยด้วยกัน
และครั้งแรกที่เขาทรายชกครบยกในการป้องกันตำแหน่ง |
9 ตุลาคม 2531 | ชเว ชังโฮ | เกาหลีใต้ | โรงแรมเชอร์เรตัน วอล์กเกอร์ ฮิล โซล ประเทศเกาหลีใต้ | ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 8 | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 8
ชเว ชังโฮ แพ้น็อกครั้งแรกและครั้งเดียว |
15 มกราคม 2532 | ชาง แทอิล | เกาหลีใต้ | ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ | ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 2 | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 9
ชาง แทอิล แพ้น็อกครั้งแรกและครั้งเดียว |
8 เมษายน 2532 | เค็นจิ มัตสึมูระ | ญี่ปุ่น | โยโกฮามะ คัลเจอร์รัล ยิมเนเซียม โยโกฮามะ | ชนะคะแนน 12 ยก | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 10 |
29 กรกฎาคม 2532 | อัลเบร์โต กัสโตร | โคลอมเบีย | สนามกีฬาศรีณรงค์ | ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 10 (ยอมแพ้) | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 11
อัลเบร์โต กัสโตร แพ้น็อกครั้งแรก |
31 ตุลาคม 2532 | เค็นจิ มัตสึมูระ | ญี่ปุ่น | เวิลด์เมโมเรียลฮอล โคเบะ
จังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น |
ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 12 | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 12
เค็นจิ มัตสึมูระ แพ้น็อกครั้งแรกและเป็นการชกที่เจ็บตัวที่สุดของมัตสึมูระ |
29 มีนาคม 2533 | อาลี บลังกา | ฟิลิปปินส์ | สนามมวยราชดำเนิน
กรุงเทพมหานคร |
ชนะน็อก ยกที่ 5 | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 13
อาลี บลังกา แพ้น็อกครั้งแรก |
30 มิถุนายน 2533 | ชุงอิจิ นากาจิมะ | ญี่ปุ่น | สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ | ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 8 | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 14
ชุงอิจิ นากาจิมะ แพ้น็อกครั้งแรก |
29 กันยายน 2533 | คิม ยง-คัง | เกาหลีใต้ | สนามกีฬากลางจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี | ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 6 | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 15
คิม ยง-คัง แพ้น็อกครั้งแรกและครั้งเดียว |
9 ธันวาคม 2533 | เอร์เนสโต ฟอร์ด | ปานามา | สนามกีฬากลางจังหวัดเพชรบูรรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ | ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 6 | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 16
เอร์เนสโต ฟอร์ด แพ้น็อกครั้งแรก |
7 เมษายน 2534 | ปาร์ค แจชุก | เกาหลีใต้ | สนามกีฬากลางจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม | ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 5 | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 17
ปาร์ค แจชุก แพ้น็อกครั้งแรกและครั้งเดียว |
20 กรกฎาคม 2534 | ดาบิด กริมัน | เวเนซุเอลา | ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ | ชนะน็อกโดยเทคนิค ยกที่ 5 | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 18
ดาบิด กริมัน แพ้น็อกครั้งแรกและครั้งเดียว |
22 ธันวาคม 2534 | อาร์มันโด กัสโตร | เม็กซิโก | สนามฟุตบอลเทพหัสดิน
กรุงเทพมหานคร |
ชนะคะแนน 12 ยก | ป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 19 |
- คู่ชกของเขาทราย แกแล็กซี่
ทั้งที่เคยเป็นแชมป์โลกสถาบันหลักมาก่อน และได้เป็นแชมป์โลกสถาบันหลักในเวลาต่อมามีทั้งหมด 8 ราย คือ
- พัก ชัน-ย็อง (Park Chan Young) คู่ชกอุ่นเครื่อง ต่อมาได้แชมป์โลก WBA รุ่นแบนตัมเวท (118 ปอนด์)
- ราฟาเอล โอโรโน (Rafael Orono) อดีตแชมป์โลก WBA รุ่นซูเปอร์ฟลายเวท (115 ปอนด์) สองสมัย
- อิสราเอล กอนเตรรัส (Israel Contreras) ต่อมาได้แชมป์โลก WBO และ WBA รุ่นแบนตัมเวท (118 ปอนด์)
- เอ็ลลียัซ ปีกัล (Ellyas Pical) อดีตแชมป์โลก IBF รุ่น 115 ปอนด์ 2 สมัย และต่อมาได้แชมป์โลก IBF รุ่น 118 ปอนด์
- ชเว ชังโฮ (Chang Ho Choi) อดีตแชมป์โลก IBF รุ่นฟลายเวท (112 ปอนด์)
- ชาง แทอิล (Tae-Il Chang) อดีตแชมป์โลก IBF รุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท (115 ปอนด์)
- คิม ยง-คัง (Kim Yong Kang) อดีตแชมป์โลก WBC รุ่นฟลายเวท (112 ปอนด์) และต่อมาได้แชมป์โลก WBA รุ่นฟลายเวท
- ดาบิด กริมัน (David Griman) ต่อมาได้แชมป์โลก WBA รุ่นฟลายเวท (112 ปอนด์)
ชีวิตหลังแขวนนวม
แก้ชีวิตคู่
แก้เขาทรายสมรสครั้งที่ 1 กับหญิงสาวชาวญี่ปุ่น "ยูมิโกะ โอตะ" ที่พบกันในการป้องกันตำแหน่งที่นั่นโดยมี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2535 มีการถ่ายทอดสดพิธีมงคลสมรสผ่านทาง สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 แต่ได้หย่าขาดกันในเวลาต่อมา โดยเขาทรายให้เหตุผลว่า เพราะวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมแตกต่างกัน[41]
เขาทรายสมรสครั้งที่ 2 กับ นางสุรีรัตน์ แสนคำ (ชื่อเล่น:ฟ้า) ซึ่งเป็นชาวบุรีรัมย์[41] โดยที่ไม่มีลูกด้วยกัน ซึ่งนางสุรีรัตน์ได้รับลูกชายของน้องชายมาเลี้ยงดูเสมือนลูก[42]
เขาทรายสมรสครั้งที่ 3 ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556 กับเจ้าสาวซึ่งเป็นชาวนครศรีธรรมราช นางสาววรรณภา ขำบุญศรี (ชื่อเล่น:หนึ่ง)[43] โดยที่ยังไม่ได้เลิกรากับภรรยาคนเก่าอย่างเป็นทางการ แต่ในที่สุดก็เลิกรากันได้ด้วยดีกับภรรยาคนเก่า[42] ซึ่งปัจจุบันเขาทรายได้อาศัยอยู่แถวย่านรัชดากับภรรยา วรรณภา ขำบุญศรี และ ลูกสาว 2 คน สุจรรย์จิรา แสนคำ (ชื่อเล่น:ไข่มุก) และ ลวิตรา แสนคำ (ชื่อเล่น:โอลีฟ)[44][45]
การลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
แก้1. ในทางการเมือง เขาทรายเข้าเป็นสมาชิก พรรคเพื่อแผ่นดิน และลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบสัดส่วน ลำดับที่ 3 กลุ่มจังหวัดที่ 2 ของพรรคเพื่อแผ่นดิน ในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
2. การเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เขาทรายได้ย้ายไปอยู่กับพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมกับเพื่อนนักมวยอีก 3 คน คือ สมรักษ์ คำสิงห์, มนัส บุญจำนงค์ และเจริญทอง เกียรติบ้านช่อง โดยในครั้งนี้เขาทรายได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 2 จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นบ้านเกิด[46] แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยได้รับคะแนนไปทั้งสิ้น 8,485 คะแนน[47]
3. ในการเลือกตั้งทั่วไป แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 เขาทรายได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 3 จังหวัดเพชรบูรณ์ ในนามพรรคชาติไทยพัฒนา ได้คะแนนเสียงอย่างไม่เป็นทางการ 2,662 คะแนน[48] ส่วน เขาค้อ แกแล็คซี่ ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 4 จังหวัดเพชรบูรณ์ ในนามพรรคชาติไทยพัฒนา ได้คะแนนเสียงอย่างไม่เป็นทางการ 522 คะแนน[48] ทั้งคู่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
เจ้าของธุรกิจ
แก้เขาทรายเคยมีกิจการร้านหมูกระทะ โต๊ะสนุกเกอร์ หลังคารถกระบะ และกิจการค้าขายทางด้านเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรที่จังหวัดสระบุรี งานอดิเรกของเขาทรายในยามว่าง คือ การปลูกผักสวนครัวเพื่อรับประทานเองในครอบครัว ไว้ในที่ดินที่บ้านพัก [49] และรับงานแสดงในวงการบันเทิงในฐานะตัวประกอบเป็นครั้งคราวด้วย โดยเริ่มจากบท "ทิดเคน" จาก ภูตแม่น้ำโขง ทางช่อง 7 ในปี พ.ศ. 2535 และตามด้วยเรื่องต่าง ๆ เช่น มนต์รักลูกทุ่ง ในปี พ.ศ. 2538, นายขนมต้ม ทางช่องเดียวกันทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2539 หรือ สุริโยไท ในปี พ.ศ. 2544 เป็นต้น
ส่วนในวงการมวย ยังทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ให้กับนักมวยในสังกัดของนิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์ อดีตผู้จัดการบ้างเป็นครั้งคราว เช่น เด่นเก้าแสน กระทิงแดงยิม และ พูนสวัสดิ์ กระทิงแดงยิม
ในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2557 เขาทรายได้ร่วมกับภรรยาคนปัจจุบัน คุณหนึ่ง เปิดโรงเรียนสอนมวยไทยขึ้นแก่บุคคลทั่วไป ที่ซอยอินทามระ 47 ด้วยทุนกว่า 1,500,0000 บาท โดยใช้ชื่อว่า "เขาทราย แกแล็คซี มวยไทยยิม" โดยเขาทรายเป็นผู้ลงมือสอนด้วยตัวเอง[50] ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2559 ก็ได้เปิดอีกสาขาหนึ่งที่จังหวัดภูเก็ต พร้อมกับสนามมวยแห่งหนึ่ง และยังผันตัวเองมาเป็นโปรโมเตอร์จัดรายการมวยไทยอีกด้วย[51]
การศึกษา
แก้หลังแขวนนวมแล้ว เขาทรายได้เริ่มต้นศึกษาใหม่ โดยการไปสมัครเรียนในหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนทั้งหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย จนกระทั่งจบการศึกษาชั้น ม.6 และได้เข้าศึกษาต่อคณะศิลปศาสตร์ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา จนกระทั่งจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2555 [52]
ผลงานบันเทิง
แก้เพลง
แก้- 2535 เขาทราย แกแล็คซี่ออกอัลบั้มเพลงเดี่ยวมาชุดหนึ่ง เพื่อเป็นการขอบคุณแฟน ๆ ที่ให้การสนับสนุน ชื่อชุด "ขอบคุณครับ" ภายใต้สังกัด แกแล็กซี่
- 2546 เขาทราย แกแล็คซี่, สามารถ พยัคฆ์อรุณ และสมรักษ์ คำสิงห์ ร่วมกันออกอัลบั้มเพลง ชื่อชุด "3 หมัด สะบัดไมค์" ภายใต้สังกัด Sony Music BEC Tero
- 2559 เมียพี่ไม่รู้ ร่วมกับ สามารถ พยัคฆ์อรุณ และ สมรักษ์ คำสิงห์
ภาพยนตร์
แก้ภาพยนตร์ | ||
---|---|---|
พ.ศ. | เรื่อง | รับบทเป็น |
2537 | อำแดงเหมือนกับนายริด | |
2539 | ไม้ที พู่กัน แอนด์โซ้ยตี๋ | |
2541 | เสือ โจรพันธุ์เสือ | เสือม้วย |
กล่อง | ||
2542 | สวัสดีบ้านนอก | |
2544 | สุริโยไท | ไอ้เป๋ |
2546 | บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม | แฝดมือปราบ (รับเชิญ) |
ดึก ดำ ดึ๋ย | ระ | |
พยัคฆ์ร้าย 3 สลึง | เบิ้ม | |
2550 | อก 3 ศอก 2 กำปั้น | ลุงพร้าว |
2555 | คิวแมน เกษตรกรไทยหัวใจหล่อมาก | |
2558 | พันท้ายนรสิงห์ | |
2561 | ออนซอนเด | พ่อมี (รับเชิญ) |
สงกรานต์แสบสะท้านโลกันต์ | เขาทราย แกแล็คซี่ | |
คืนรัง | ||
2563 | ฮักเถิดเทิง | สะระเอ |
ละครโทรทัศน์
แก้- พ.ศ. 2535 ภูตแม่น้ำโขง รับเชิญ
- พ.ศ. 2538 ภูตพิศวาส รับเชิญ
- พ.ศ. 2538 มนต์รักลูกทุ่ง รับเชิญ
- พ.ศ. 2539 เสน่ห์บางกอก
- พ.ศ. 2539 แม่ศรีไพร
- พ.ศ. 2539 นายขนมต้ม
- พ.ศ. 2540 แคทรียาที่รัก (ร้อยรสบทละคร) รับเชิญ
- พ.ศ. 2540 ไข่ลูกเขย
- พ.ศ. 2542 สาวน้อยประแป้ง
- พ.ศ. 2542 ละครชุด พ่อ ตอน เทียนขี้ผึ้ง
- พ.ศ. 2544 ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น
- พ.ศ. 2544 รักเกิดในตลาดสด รับเชิญ
- พ.ศ. 2544 นายฮ้อยทมิฬ
- พ.ศ. 2545 นังเหมียวย้อมสี
- พ.ศ. 2545 แชมเปี้ยนสะบัดช่อ
- พ.ศ. 2545 ชมรมขนหัวลุก I-GHOST ตอน ห่วง
- พ.ศ. 2546 ฝันกลางตะวัน
- พ.ศ. 2547 สะใภ้ซ่าส์ แม่ย่าเฮี้ยน
- พ.ศ. 2549 บางรักซอย 9
- พ.ศ. 2549 แก่นกะลา
- พ.ศ. 2549 ตี๋ตระกูลซ่ง
- พ.ศ. 2551 คมแฝก
- พ.ศ. 2553 มนต์รักข้าวต้มมัด
- พ.ศ. 2553 วงเวียนหัวใจ
- พ.ศ. 2553 สืบสวนป่วนรัก
- พ.ศ. 2553 คู่เดือด
- พ.ศ. 2554 เสน่ห์บางกอก
- พ.ศ. 2555 หยกเลือดมังกร
- พ.ศ. 2557 ศีล 5 คนกล้าท้าอธรรม
- พ.ศ. 2558 จับกัง
- พ.ศ. 2558 ลิเกหมัดสั่ง
- พ.ศ. 2558 เพลิงพ่าย
- พ.ศ. 2559 พันท้ายนรสิงห์
- พ.ศ. 2559 ฉันทนาสามช่า
- พ.ศ. 2560 แหวนปราบมาร
- พ.ศ. 2560 นายฮ้อยทมิฬ
- พ.ศ. 2561 เพลงรักมือปืน
- พ.ศ. 2561 สาปกระสือ
- พ.ศ. 2562 สางนางพราย
- พ.ศ. 2563 นางสาว 18 มงกุฎ
- พ.ศ. 2566 มวยสะดิ้ง หมัดซิ่งสายฟ้า
- พ.ศ. 2567 วิญญาณแพศยา
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2534 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[53]
- พ.ศ. 2532 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)[54]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 สถิติการชกของ Khaosai Galaxy
- ↑ BEST I FACED: KHAOSAI GALAXY
- ↑ ส.ส.ส. เรื่องเก่าเล่าใหม่: แพ้ครั้งเดียวของเขาทราย “ซ้ายทะลวงไส้”. นิตยสารมวยโลก. เล่มที่ 1129 หน้า 40 – 41 เมษายน 2549
- ↑ 4.0 4.1 4.2 สถิติการชกของ Khaosai Galaxy จากbxhof
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 รางวัลสู่หอเกียรติยศ Khaosai Galaxy
- ↑ 6.0 6.1 Boxing Writers Association of America
- ↑ The Ring Magazine's Annual Ratings: 1989
- ↑ 8.0 8.1 The Ring Magazine's Annual Ratings: 1990
- ↑ The Ring Magazine's Annual Ratings: 1991
- ↑ The Ring Magazine 2000
- ↑ You be the judge - is Manny Pacquiao the greatest Asian boxer ever?
- ↑ 12.0 12.1 Famous Professional Boxers from Thailand
- ↑ 20-20 VISION – THE GREATEST FIGHTER FROM THAILAND: KHAOSAI GALAXY
- ↑ DIVISION BY DIVISION: THE GREATEST FIGHTERS OF ALL TIME
- ↑ DIVISION BY DIVISION: VOTING STATISTICS
- ↑ DIVISION BY DIVISION: BANTAMWEIGHT-STRAWWEIGHT
- ↑ The Ring Magazine 1989
- ↑ The Ring Magazine 1990
- ↑ The Ring Magazine 2000
- ↑ 'เขาทราย' แชมป์ตลอดกาล
- ↑ Boxing's best super flyweights
- ↑ The Top 20 Junior Bantamweights of All-Time
- ↑ The 100 Greatest Pound for Pound Boxers Of All Time
- ↑ Top 10 best Junior Bantamweights of all-time
- ↑ The Most Exciting Boxing Champion in the History of Every Division
- ↑ "My Top Pound-for-Pound Fighters (Since 1945): Numbers 11-15". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-31. สืบค้นเมื่อ 2019-07-31.
- ↑ Ranking the Top 10 Asian Boxers of All Time
- ↑ 50 Greatest Boxers of the Last 50 Years
- ↑ Top 12 All-Time Greatest Southpaws
- ↑ "The top ten super flyweights of all time: no. 6 and no. 5". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-18. สืบค้นเมื่อ 2019-08-18.
- ↑ Boxing Weight Classes Explained
- ↑ Khaosai Galaxy Thai boxer
- ↑ "45 Greatest Fighters Of The Last 45 Years – 38. Khaosai Galaxy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-27. สืบค้นเมื่อ 2023-04-27.
- ↑ Manny Pacquiao – Asia’s Greatest Boxer Of All Time ?!
- ↑ "Top 5 Asian Boxers You Should Know About". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-21. สืบค้นเมื่อ 2019-11-25.
- ↑ This form should not contain extra fields.
- ↑ สยามกีฬาอะวอร์ดส์ไม่มีพลิก - 'เขาทราย' ขวัญใจมหาชน
- ↑ พิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ National Sports Museum
- ↑ อดีต'เขาทราย'ไม่ได้แชมป์โลกมนตรีล้มละลาย จากไทยรัฐ
- ↑ เทปการชกป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 5 ของ เขาทราย แกแล็คซี่ กับ เอ็ลลียัซ ปิกัล
- ↑ 41.0 41.1 ย้อนรอยตำนานรัก(ร้าว) ยอดแชมป์โลก '... จากไทยรัฐ
- ↑ 42.0 42.1 เขาทรายยอมจ่าย 2 ล้านหย่าน้องฟ้า จากเดลินิวส์
- ↑ "'เขาทราย แกแล็คซี่'อดีตแชมป์โลกชื่อดังเมืองไทยซุ่มเงียบยกขบวนขันหมากแต่งงานกับสาวเมืองคอนดีกรีปริญญาโทอังกฤษ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-17. สืบค้นเมื่อ 2013-03-22.
- ↑ 'เขาทราย' สุดเห่อลูกสาว ตั้งชื่อ 'น้องไข่มุก'
- ↑ ไฟแรงเฟร่อ!! ‘เขาทราย’ ได้ทายาทหญิง[ลิงก์เสีย]
- ↑ เปิดตัว"สมรักษ์-เขาทราย"ลง ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนาเก็บถาวร 2011-09-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเนชั่น แชนแนล
- ↑ ผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต จังหวัดเพชรบูรณ์[ลิงก์เสีย]
- ↑ 48.0 48.1 "ผู้สมัครพรรคไหน? ได้คะแนนเท่าไหร่? เข้าไปดู.. เปิดผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เพชรบูรณ์ 5 เขต(แบบไม่เป็นทางการ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-30. สืบค้นเมื่อ 2019-07-30.
- ↑ คอลัมน์ คุยนอกสนาม โดย พิจิตร กาญจนกุล หน้า 15 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับที่ 22,088 ประจำวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2553
- ↑ “เขาทราย” ทุ่ม 1.5 ล้าน เปิดยิมสอนมวยไทย[ลิงก์เสีย] จากผู้จัดการออนไลน์
- ↑ หน้า 19 กีฬา, เขาทรายจัดศึกทะลวงไส้ที่ภูเก็ต. "ย่อยข่าวกีฬา". เดลินิวส์ฉบับที่ 24,309: วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 แรม 12 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก
- ↑ สมใจ"ซ้ายทะลวงไส้" เขาทราย แกแล็คซี่ จากสยามสปอร์ต
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๗๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๕, ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๖๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๘, ๒๓ เมษายน ๒๕๓๓
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- หอพิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ เก็บถาวร 2005-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน