มนัส บุญจำนงค์

อดีตนักกีฬามวยสากลสมัครเล่นเหรียญทองโอลิมปิก​ทีมชาติ​ไทย​

มนัส บุญจำนงค์ นักมวยสากลสมัครเล่นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 28 ณ กรุงเอเธนส์ สาธารณรัฐเฮลเลนิก นับเป็นชาวไทยคนที่ 5 ที่ได้รับเหรียญทองโอลิมปิก และเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นคนที่ 3 ต่อจากสมรักษ์ คำสิงห์ และวิจารณ์ พลฤทธิ์

มนัส บุญจำนงค์

เกิด24 มิถุนายน พ.ศ. 2523 (44 ปี)
อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย
สัญชาติไทย
ชื่ออื่นเติ้ล
อาชีพ
พรรคการเมืองชาติไทยพัฒนา (พ.ศ. 2554)
คู่สมรสพจนีย์ เกตุสวัสดิ์ (หย่า)
บุตร4 คน
อาชีพนักมวย
สัญชาติไทย
รายการเหรียญรางวัล
ตัวแทนของ  ไทย
มวยสากลสมัครเล่น
โอลิมปิกฤดูร้อน
เหรียญทอง - ชนะเลิศ เอเธนส์ 2004 ไลท์เวลเตอร์เวท
เหรียญเงิน - รองชนะเลิศ ปักกิ่ง 2008 ไลท์เวลเตอร์เวท
มวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์โลก
เหรียญทองแดง - อันดับที่ 3 กรุงเทพ 2003 ไลท์เวลเตอร์เวท
เอเชียนเกมส์
เหรียญทอง - ชนะเลิศ กาตาร์ 2006 ไลท์เวลเตอร์เวท
ซีเกมส์
เหรียญทอง - ชนะเลิศ เวียดนาม 2003 ไลท์เวลเตอร์เวท
เหรียญทอง - ชนะเลิศ โคราช 2007 ไลท์เวลเตอร์เวท
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
แผนก/สังกัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

มนัสมีสถิติได้เหรียญจากกีฬาโอลิมปิก 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน, เอเชียนเกมส์ 1 เหรียญทอง, ซีเกมส์ 2 เหรียญทอง และ 1 เหรียญทองแดงจากการแข่งขัน มวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์โลกที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2546[1]

ประวัติ

แก้

มนัส บุญจำนงค์ มีชื่อเล่นว่า "เติ้ล" เกิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2523 ที่ตำบลพงสวาย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นบุตรของนายมโนและนางมาลี บุญจำนงค์ มีน้องชายอีก 2 คนคือ มานนท์ (นน บุญจำนงค์) และ พันธนินทร์ ทั้ง 3 พี่น้องหัดชกมวยมาตั้งแต่สมัยเด็ก

โอลิมปิก 2004

แก้

มนัสลงแข่งขันในรุ่นไลท์เวลเตอร์เวท (64 กิโลกรัม) ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2004 ที่เมืองเอเธนส์ ประเทศกรีซ เส้นทางสู่เหรียญทองของมนัสคือ

  • รอบแรก : ชนะสไปริดอน ยอนนิดิส (  กรีซ) 28-16 หมัด
  • รอบ 16 คนสุดท้าย: ชนะโรมิโอ บริน (  ฟิลิปปินส์) 29-15 หมัด
  • รอบ 8 คนสุดท้าย: 22 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ชนะวิลลี เบรน (  ฝรั่งเศส) 20-8 หมัด
  • รอบรองชนะเลิศ: 27 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ชนะไอโอนัท จอร์จี (  โรมาเนีย)
  • รอบชิงชนะเลิศ: 28 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ชนะยูได เซเดอโน่ จอห์นสัน (  คิวบา) 17-11 หมัด [2]

มนัสเป็นนักกีฬาไทยคนที่สามที่ได้เหรียญทองจากการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ โดยก่อนหน้า อุดมพร พลศักดิ์ และ ปวีณา ทองสุก นักยกน้ำหนักหญิงทีมชาติไทยได้คว้าเหรียญทองไปแล้ว

เอเชียนเกมส์ 2006

แก้

หลังจากมนัสได้เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ ก็ประสบปัญหาครอบครัวและติดการพนัน ทำให้เขาเริ่มมีปัญหาเรื่องระเบียบวินัย ไม่เข้าซ้อมชกมวยบ่อยครั้ง ก่อนจะกลับตัวได้และลงแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2006 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 โดยเอาชนะชิน เมียง ฮุน จากเกาหลีใต้ 22-11 หมัด ในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางสมาคมมวยสากลสมัครเล่นได้ส่งมนัสเดินทางไปเก็บตัวที่ประเทศคิวบาเพียงคนเดียวนานถึง 3 เดือน กับโค้ช ฮวน ฟอนตาเนียล ซึ่งก็ทำให้มนัสได้เป็นนักมวยสากลสมัครเล่นไทยเพียงคนเดียวที่ได้เหรียญทองในการแข่งขันครั้งนี้[3]

โอลิมปิก 2008

แก้

มนัสกลับมาแข่งขันโอลิมปิกเป็นครั้งที่สอง ในรุ่นเดิม โดยเส้นทางการชกเป็นดังนี้

โดยถือมนัสเป็นนักกีฬาไทยคนแรก ที่สามารถคว้าเหรียญจากการแข่งขันโอลิมปิกสองสมัยติดต่อกัน

ซีเกมส์ 2011

แก้

ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2011 ที่เมืองปาเล็มบัง ประเทศอินโดนีเซีย มนัสได้เลื่อนขึ้นไปชกในรุ่นมิดเดิลเวท หรือ 75 กิโลกรัม แต่มนัสเป็นฝ่ายแพ้นักมวยมาเลเซีย มูฮาหมัด ฟาร์ข่าน ไป 9-10 หมัด ในรอบรองชนะเลิศ[4]

โอลิมปิก 2012

แก้

ในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 มนัสมีความพยายามฟิตซ้อมเพื่อที่จะกลับมาติมทีมชาติเพื่อไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอีกครั้ง ในกลางปีเดียวกัน โดยสามารถเอาชนะ ปิติพงษ์ สำเภาล่อน นักมวยรุ่นน้องไปได้ ด้วยการสนับสนุนจากสมรักษ์ คำสิงห์[5] แต่แล้วก็ได้มีปัญหาเรื่องการฟิตซ้อมกับทางสมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และในท้ายที่สุดก็ได้ตัดสินใจแขวนนวมไปในที่สุด [6]

ผลงาน

แก้
  • เหรียญทองแดงเวิลด์คัพ[7]
  • เหรียญทองคิงส์คัพ 2003 ประเทศไทย[7]
  • เหรียญทองซีเกมส์ ประเทศเวียดนาม[7]
  • เหรียญเงินไชนาโอเพน ประเทศจีน[7]
  • เหรียญทองคิงส์คัพ 2004 ประเทศไทย[7]
  • เหรียญทองโอลิมปิก 2004 ประเทศกรีซ[7]
  • เหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2006 ประเทศกาตาร์[7]
  • เหรียญทองซีเกมส์ 2007 ประเทศไทย[7]
  • เหรียญเงินโอลิมปิก 2008 ประเทศจีน

มวยสากลอาชีพ

แก้

มนัส ได้ชกมวยสากลอาชีพครั้งแรกเมื่ออายุได้ 35 ปี ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ในสังกัดเกียรติกรีรินทร์โปรโมชัน ของ เอกรัตน์ ไชยโชติช่วง โดยชกครั้งแรกที่อินดอร์สเตเดียมหัวหมาก ด้วยการเอาชนะคะแนน ฮาเหม็ด จาลารันเต นักมวยชาวอินโดนีเซีย ในกำหนดการชก 4 ยก ร่วมรายการเดียวกับที่อำนาจ รื่นเริง ป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกกับ จอห์นเรียล คาซิเมโร ซึ่งมนัสได้ขึ้นชกด้วยสภาพร่างกายที่อ้วนท้วน น้ำหนักกว่า 80 กิโลกรัม ในรุ่นมิดเดิลเวท โดยก่อนหน้านั้นมนัสได้ขึ้นชกมวยเป็นครั้งสุดท้ายในแบบมวยไทยเมื่อกว่า 5 ปีก่อน และในครั้งนี้ได้ลดน้ำหนักกว่า 15 กิโลกรัมเพียงระยะเวลาแค่เดือนเดียว[8] โดยหลังจากนั้น ในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2558 มนัสขึ้นชกเป็นไฟต์ที่สอง โดยเริ่มใช้ชื่อว่า "มนัส บุญจำนงค์ ศักดิ์กรีรินทร์" โดยพบกับ มาร์โก ทูฮูมูรี นักมวยชาวอินโดนิเซีย [9]ร่วมรายการ ไมค์ พ.ธวัชชัย ชิงแชมป์แพนแปซิฟิค IBF รุ่นซูเปอรฺ์แบนตั้มเวทที่ว่าง ผลปรากฏว่ามนัสชนะคะแนน 4 ยกไปได้ ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

หลังจากชกชนะทูฮูมูรี มนัสตั้งเป้าว่าจะทำน้ำหนักให้ลดลงเหลือ 70 กิโลกรัม และทางเกียรติกรีรินทร์โปรโมชั่นก็วางแผนให้มนัสชกเดือนละครั้ง โดยจะให้ชกกำหนด 6 ยก, 8 ยก, 10 ยก และ 12 ยก ตามลำดับ [10]

ในการชกมวยสากลอาชีพครั้งที่ 6 กับ ไรอัน ฟอร์ด นักมวยชาวแคนาดา ซึ่งเป็นอดีตแชมป์การต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมรายการเดียวกับฟ้าลั่นจูเนียร์ ศักดิ์กรีรินทร์ ชิงแชมป์สหพันธ์มวยนานาชาติ แพนแปซิฟิกที่ว่าง กับ เลสเตอร์ อาบูตัน นักมวยชาวฟิลิปปินส์ มนัสเป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอไปในต้นยกที่ 5 หลังจากถูกหมัดขวาของฟอร์ดเข้าอย่างจังที่เบ้าตาซ้าย ในยกที่ 4 ทำให้เจ็บไม่สามารถชกต่อได้ [11] ทำให้มนัสแพ้ครั้งแรกในการชกมวยสากลอาชีพ

ชีวิตส่วนตัว

แก้

มนัสเคยมีภรรยาคือ นางพจนีย์ บุญจำนงค์ (เกตุสวัสดิ์) และมีบุตรด้วยกัน 3 คน ภายหลังจากได้เหรียญทองโอลิมปิก 2004 มนัสได้มีปัญหากับภรรยา และแยกทางกันเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 หลังจากแยกทางกับนางพจนีย์แล้ว ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2551 นางพจนีย์ก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายเพิ่มอีก 1 คน ซึ่งมนัส ยอมรับกับผู้สื่อข่าวว่า บุตรที่เกิดมาภายหลังนี้เป็นบุตรที่เกิดจากตนเช่นกัน จากการที่มักมีปัญหาเรื่องผู้หญิงและครอบครัวแบบนี้ซึ่งส่งผลกระทบถึงการชกมวย จึงทำให้สื่อมวลชนให้ฉายามนัสว่า "เพลย์บอยกลับใจ" [12] ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้มีการอนุมัติให้มนัสเข้าบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจเนื่องจากสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ โดยจะให้ได้รับยศตามวุฒิการศึกษา[13]

ปัจจุบัน มนัสได้คบหากับพิชยาภา พูนิสสัน (ชื่อเล่น: ปัด) หญิงชาวอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ทั้งคู่ร่วมกันทำธุรกิจด้วยกันด้วยการจำหน่ายขนมประเภทซีเรียลผ่านทางเฟซบุกและตามงานจัดเลี้ยงต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วมนัสยังมีธุรกิจเดินรถโดยสารวิ่งระหว่างจังหวัดราชบุรี-กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 คัน และโต๊ะสนุกเกอร์อีกด้วย โดยให้น้องชายและพ่อเป็นผู้ดูแล อีกทั้งยังได้รับเงินจำนวนกว่า 100,000 บาทต่อเดือน จากทั้งการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.), คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท โอสถสภา จำกัด ในฐานะที่เคยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศมาก่อน จนกระทั่งอายุ 60 ปี [14]

การเมือง

แก้

ในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 มนัสได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมกับเพื่อนนักมวยอีก 3 คือ เขาทราย แกแล็คซี่, สมรักษ์ คำสิงห์ และเจริญทอง เกียรติบ้านช่อง โดยมนัสได้รับการจัดรายชื่อในบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 18[15][16] แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง[17]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. มนัส บุญจำนงค์ :: นักกีฬาดีเด่น จากเว็บสนุก
  2. "BEC News: มนัสสยบคิวบาคว้าทองมวยโอลิมปิค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-20. สืบค้นเมื่อ 2007-08-28.
  3. "Thainews: มนัส บุญจำนงค์ เหรียญทองโดฮาเกมส์ ให้สัญญาเริ่มต้นชีวิตใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2007-08-28.
  4. [ลิงก์เสีย] มนัส บุญจำนงค์ ตกรอบรองชนะเลิศ ศึกซีเกมส์ จากครอบครัวข่าว 3[ลิงก์เสีย]
  5. 'มันหลอกผม' สมรักษ์ คำสิงห์ สุดทน! แฉ 'มนัส ติดหญิง ทิ้งทีมชาติ' จากไทยรัฐ
  6. 'มนัส'จบแล้ว ยันอำลาแน่ มวยเข้าซ้อมสระบุรี จากไทยรัฐ
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 7.7 มนัส บุญจำนงค์ ซูเปอร์ฮีโร่เพลย์บอย[ลิงก์เสีย]
  8. [ลิงก์เสีย] "มนัส" ไว้ลาย! ต้อนหมูประเดิมชัยชกอาชีพ จากผู้จัดการออนไลน์
  9. เทปการชกแบบสั้นกับ มาร์โก ทูฮูมูรี, โมโน 29 .
  10. "มนัส บุญจำนงค์" ชนะนักชกอินโดฯ ตั้งเป้าชิงแชมป์โลกปีหน้า, ไทยพีบีเอส
  11. หน้า 19 กีฬา, ฟ้าลั่นจูเนียร์เฮ-มนัสพ่ายทีเคโอ. "ย่อยข่าวกีฬา". เดลินิวส์ฉบับที่ 24,299: วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559 แรม 2 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก
  12. ไทยรัฐ: 'มนัส' นักชกดัง เตียงหักสะบั้น ขึ้นอำเภอหย่า
  13. "ฝันเป็นจริงมนัสติดยศตำรวจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-18. สืบค้นเมื่อ 2008-11-30.
  14. หน้า 8, 'มนัส บุญจำนงค์' จากนักชกเสเพล สู่พ่อค้าขายขนมและรักครั้งใหม่. "คมคิดชีวิตต้องสู้". คมชัดลึกปีที่ 14 ฉบับที่ 4890: วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2558
  15. เปิดตัว"สมรักษ์-เขาทราย"ลง ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา จากเนชั่น แชนแนล เก็บถาวร 2011-09-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  16. เปิดรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ 2 พรรคดัง “ชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน”[ลิงก์เสีย]
  17. เปิดรายชื่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย 61 ปชป. 44 ภท. 5 รักประเทศไทย 4 ชทพ.4 ชพน.2 จากมติชนเก็บถาวร 2011-08-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  18. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๑๐, ๘ ตุลาคม ๒๕๔๗