มนต์รักลูกทุ่ง

มนต์รักลูกทุ่ง เป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างมาจากบทประพันธ์เรื่อง "มนต์รักลูกทุ่ง" ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ โดยใช้นามแฝงว่า "มหศักดิ์ สารากร" โดยมิตร ชัยบัญชา มีส่วนร่วมในเนื้อเรื่องด้วย คู่พระ-นาง คือไอ้คล้าว กับ ทองกวาว รับบทโดย มิตร ชัยบัญชา กับเพชรา เชาวราษฎร์ ส่วนคู่รอง คือแว่น กับบุปผา รับบทโดย ศรีไพร ใจพระ กับบุปผา สายชล

มนต์รักลูกทุ่ง
กำกับรังสี ทัศนพยัคฆ์
เขียนบทมหศักดิ์ สารากร
บทภาพยนตร์มหศักดิ์ สารากร
อำนวยการสร้างรังสี ทัศนพยัคฆ์
นักแสดงนำ
กำกับภาพธีระ แอคะรัตน์
ตัดต่อพรรณรังษี
ดนตรีประกอบมหศักดิ์ สารากร
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายเสรีภาพยนตร์
วันฉาย15 พฤษภาคม 2513
ความยาว146 นาที
ประเทศไทย
ภาษาไทย

ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ทำรายได้ถล่มทลายจากทั่วประเทศถึง 13 ล้านบาทและฉายติดต่อกันนาน 6 เดือน[1][2] ที่โรงภาพยนตร์โคลีเซียม จนถึงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ทำรายได้กว่า 7 ล้านบาทในครั้งนั้น เนื่องจากเนื้อหาสนุกสนานและมีกลิ่นอายของสังคมชนบทในภาคกลางของไทย เปิดทางเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวงการภาพยนตร์ไทยจากระบบฟิล์ม 16 มม. พากย์สด มาเป็นระบบฟิล์ม 35 มม. เสียงในฟิล์ม

ภาพยนตร์มนต์รักลูกทุ่งมีเพลงประกอบจากภาพยนตร์จำนวน 14 เพลง เป็นเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเพลงในภาพยนตร์ทั้ง 14 เพลงและภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างชื่อเสียงให้ทั้งดารานำ และนักร้องลูกทุ่งที่ร่วมแสดงในครั้งนั้นด้วย ได้แก่ ไพรวัลย์ ลูกเพชร, บุปผา สายชล, ศรีไพร ใจพระ และ บรรจบ เจริญพร[3]

มนต์รักลูกทุ่งได้กลับมาฉายใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2515 และในปี พ.ศ. 2534 ฉายที่โรงภาพยนตร์แอมบาสเดอร์[4] นอกจากนี้ หลังจากปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา เมื่อถึงวันงานรำลึกมิตร ชัยบัญชา ก็มักจะมีเสียงร้องให้นำมนต์รักลูกทุ่ง (2513) กลับมาฉายอีก บางปีก็ฉายได้บางปีก็ฉายไม่ได้เพราะสภาพฟิล์มที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เริ่มบอบช้ำอีกแล้ว แต่โครงการคิดถึงหนังไทยของพันธมิตรฟิล์มสามารถเจรจาขออนุญาตจากครูรังสีในการนำกลับมาทำเป็น VCD ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2544 จึงได้นำฟิล์มเนกาตีฟที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2535 ไปเข้าเครื่องเทเลซีนที่บริษัท SOHO ASIA จำกัด เพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นเทปมาสเตอร์ซึ่งในการเทเลซีนครั้งนั้น พันธมิตรฟิล์มจึงเรียนเชิญครูรังสีซึ่งตอนนั้นไปพักอยู่จังหวัดจันทบุรีมาดูการเทเลซีนหนังและสั่งการด้วยตนเอง[5] จัดเป็นภาพยนตร์ไทย 1 ในจำนวน 25 เรื่องที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยหอภาพยนตร์แห่งชาติ[6]

เรื่องย่อแก้ไข

ตำนานความรักของคล้าว (มิตร ชัยบัญชา) ที่รักอยู่กับทองกวาว (เพชรา เชาวราษฎร์) แต่พ่อกับแม่ทองกวาวไม่ชอบเพราะความที่คล้าวจนและโดนยึดที่นาเพราะเป็นหนี้กับพ่อจอม ทองก้อน และ ทับทิม เพราะความยากจนของคล้าวที่เป็นเพียงชาวนาทำให้ผู้ใหญ่ก้อนพ่อของทองกวาวพยายามกีดกัน ทองกวาวจึงเอาเงินที่มีอยู่มาให้คล้าวใช้หนี้ จอมโกรธที่ยึดที่นาของคล้าวไม่ได้ จึงไปต่อว่า ทองก้อน พ่อและแม่ของทองกวาว จึงส่งทองกวาวไปอยู่กับป้าทองคำที่กรุงเทพ โดยให้มีบุปผา (บุปผา สายชล) และหมึก ไปดูแล

ทองกวาวได้รู้จักกับธรรมรักษ์ หลานของป้าทองคำ ซึ่งป้าทองคำหวังจะให้หลานทั้งคู่แต่งงานกัน เพื่อสมบัติจะได้ไม่ตกเป็นของคนอื่น คล้าวเศร้าโศกเสียใจที่น้ำท่วมทุ่งนาข้าวเสียหาย ได้พวกคอยปลอบ จึงบอกบุญเย็น (ไพรวัลย์ ลูกเพชร) ให้ตามหาทองกวาว บุญเย็นพบทองกวาวที่กรุงเทพและบอกเรื่องคล้าว ทองกวาวขอให้บุญเย็นบอกคล้าวว่าทองกวาวอยากให้คล้าวมาสู่ขอแต่พ่อแม่ของทองกวาวกลับเรียกค่าสินสอดสิบหมื่น

ธรรมรักษ์เสียการพนัน หวังจะหลอกเอาเงินป้าทองคำจึงทำเป็นชอบทองกวาว โดยให้เพื่อนชื่อ ธีระ หัวหน้าวงดนตรีมากันบุปผา ทั้งหมดเดินทางมาบ้านทองกวาว แต่ด้วยความคิดถึงทองกวาวรีบมาหาคล้าวกลับพบว่าคล้าวอยู่กับสายใจ ทำให้ทองกวาวเข้าใจผิด ทองกวาวจึงตกลงหมั้นกับธรรมรักษ์ แต่ธรรมรักษ์มีฤทัยเป็นภรรยาอยู่ บุญเย็นจึงพาฤทัยมาบ้านทองกวาว ธรรมรักษ์โกรธมาก บอกฤทัยเป็นนักร้องในวงธีระ ฤทัยแกล้งตีสนิทกับคล้าวเพื่อให้ธรรมรักษ์หึง แล้วป้าทองคำจึงไล่ธรรมรักษ์และเมียกลับไป

แต่ข่าวการหมั้นของทองกวาวกับธรรมรักษ์ที่ทองก้อนประกาศไปเข้าหูเสือทุม ได้จับตัวทองกวาวและป้าทองคำไปเรียกค่าไถ่ คล้าวและตำรวจตามไปช่วยไว้ทัน คล้าวกับพรรคพวกได้ช่วยเหลือทองกวาวและป้าทองคำให้พ้นจากคนร้าย ซึ่งทำให้พ่อทองก้อนและแม่ทับทิมไม่กล้าปฏิเสธ ทั้งคู่จึงได้แต่งงานกัน

นักแสดงหลักแก้ไข

การสร้างใหม่แก้ไข

ละครโทรทัศน์แก้ไข

มีการนำกลับมาทำใหม่ในลักษณะละครโทรทัศน์ ในปี พ.ศ. 2538 ทางช่อง 7 สี โดย ดาราวิดีโอ ซึ่งมียอดผู้ชมมากมาย และเพลงประกอบละครก็ขายกันระเบิดเถิดเทิง ผู้ที่รับบท คล้าว กับ ทองกวาว คือ "ตั้ว" ศรัณยู วงษ์กระจ่าง กับ "น้ำผึ้ง" ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์ ซึ่งแจ้งเกิดได้อย่างสมใจ ส่วนแว่น กับ บุปผา คือ "เอ" อนันต์ บุนนาค กับ "ต้อม" รัชนีกร พันธุ์มณี

ต่อมาช่อง 7 ได้นำกลับมาสร้างใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2548 โดย ดาราวิดีโอ ผู้รับบท คล้าว กับ ทองกวาว คือ "ป๋อ" ณัฐวุฒิ สกิดใจ กับ "กบ" สุวนันท์ คงยิ่ง ส่วนแว่น กับ บุปผา รับบทโดย "อู" ภาณุ สุวรรณโณ กับ "ยุ้ย" จีรนันท์ มะโนแจ่ม

ใน พ.ศ. 2553-2554 ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ได้มีการนำกลับมาสร้างใหม่อีกครั้ง โดยมี "ปอ" ทฤษฎี สหวงษ์ และ "จ๊ะ" จิตตาภา แจ่มปฐม รับบทคู่พระนาง คล้าว กับ ทองกวาว[7] ร่วมด้วย "กอล์ฟ" เบญจพล เชยอรุณ และ "ปุยฝ้าย" ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล ในบทแว่น กับ บุปผา และเพิ่มตัวละครใหม่ "เพชร" ริชาร์ด เกียนี่

ภาพยนตร์แก้ไข

รังสี ทัศนพยัคฆ์ ได้นำมนต์รักลูกทุ่งกลับมาสร้างใหม่ ออกฉายปี พ.ศ. 2525 สร้างโดย พูนทรัพย์โปรดักชั่น นำแสดงโดย ทูน หิรัญทรัพย์ และหทัยรัตน์ อมตะวนิชย์[8] มีสายัณห์ จันทรวิบูลย์ เป็น ศรีไพร และ อำภา ภูษิต เป็น บุปผา ฉายครั้งแรกวันที่ 25 กันยายน 2525 ที่โรงภาพยนตร์โคลีเซียม-สเตลลา-ควีนส์-ออสการ์[9] แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

ต่อมาใน พ.ศ. 2548 ประสิทธิ์ วิจิตร์จินดา นำบทประพันธ์ มนต์รักลูกทุ่งมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้ง [10] นำแสดงโดย นันทวัฒน์ อาศิรพจนกุล, ลักขณา วัฒนวงศ์สิริ, ยิ่งยง ยอดบัวงาม, อาภาพร นครสวรรค์

ล่าสุดในปี พ.ศ. 2558 ปริภัณฑ์ วัชรานนท์ หรือ โต๊ะ พันธมิตร และสหมงคลฟิล์ม นำบทประพันธ์มนต์รักลูกทุ่งนำมาปัดฝุ่นสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ "มนต์เลิฟสิบหมื่น" ผู้ที่รับบท คล้าว กับ ทองกวาว คือ "นิว" ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต และ "แพรว" เฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชค คู่พระนางจากมิวสิกวิดีโอเพลงภูมิแพ้กรุงเทพ และมีทีมนักพากย์พันธมิตร ร่วมแสดงด้วย เข้าฉายเมื่อ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อนึ่ง รังสี ทัศนพยัคฆ์ เคยสร้างมนต์รักลูกทุ่งเป็นภาคต่อมาแล้ว ในชื่อ "จะกู่รักกอดน้องให้ก้องโลก" โดยเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นอีก 20 ปีให้หลัง โดยใช้เพลงลูกทุ่งยอดฮิตเป็นส่วนสร้างอารมณ์เหมือนในมนต์รักลูกทุ่ง[11] ออกฉายในปี พ.ศ. 2535 นำแสดงโดย สันติสุข พรหมศิริ, จินตหรา สุขพัฒน์[12]

อ้างอิงแก้ไข

  1. รังสี ทัศนพยัคฆ์ ตำนานแห่ง "มนต์รักลูกทุ่ง" และ "แม่นาคพระโขนง" deedeejang.com
  2. "Thai Film at a turning point" (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-05. สืบค้นเมื่อ 2007-10-05.
  3. มนต์รักลูกทุ่ง[ลิงก์เสีย]
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-19. สืบค้นเมื่อ 2011-03-14.
  5. 43 ปี มนต์รักลูกทุ่ง โดย มนัส กิ่งจันทร์ ชุมทางหนังไทยในอดีต
  6. วธ.ตีทะเบียนหนังไทยชื่อดัง 25 เรื่อง เป็นมรดกชาติปี 54 ข่าวไทยรัฐออนไลน์.
  7. ละครมนต์รักลูกทุ่ง, ละครช่อง 3
  8. "มนต์รักลูกทุ่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-26. สืบค้นเมื่อ 2013-01-26.
  9. มนต์รักลูกทุ่ง (2525 ทูน-ฤทัยรัตน์) โดย มนัส กิ่งจันทร์
  10. มนต์รักลูกทุ่ง : Sound From The Field of Love
  11. "จะกู่รักกอดน้องให้ก้องโลก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-10. สืบค้นเมื่อ 2013-03-10.
  12. จะกู่รัก..กอดน้องให้ก้องโลก (2535 สันติสุข-จินตหรา)

แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข