พูนสวัสดิ์ กระทิงแดงยิม

นักมวยชาวไทย

พูนสวัสดิ์ กระทิงแดงยิม มีชื่อจริงว่า เฉลิมวงศ์ อุดมนา (ชื่อเดิม: ประกอบ อุดมนา, ชื่อเล่น: โต้) เกิดวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ที่อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร มีฉายาว่า "ไอ้รถถังจูเนียร์" หรือ "ไอ้รถถัง" อดีตแชมป์โลก WBA รุ่นซูเปอร์แบนตัมเวท , อดีตแชมป์ "เฉพาะกาล" WBA รุ่นแบนตัมเวท , อดีตแชมป์ PABA และ อดีตแชมป์ WBA Fedelatin

พูนสวัสดิ์ กระทิงแดงยิม
ชื่อจริงเฉลิมวงศ์ อุดมนา
ฉายาไอ้รถถังจูเนียร์
ไอ้รถถัง
ไทยพูน (THAIPOON)
(สื่อมวลชนไอร์แลนด์เป็นผู้ตั้งให้)
เด็กสมบูรณ์
(สร้อย มั่งมี เป็นผู้ตั้งให้)[1]
รุ่นแบนตัมเวท
ซูเปอร์แบนตัมเวท
เกิด20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 (43 ปี)
อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร
ชกทั้งหมด50
ชนะ48
ชนะน็อก33
แพ้2
เสมอ0
ผู้จัดการนิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์
ค่ายมวยแกแล็คซี่บ็อกซิ่งโปรโมชั่น
เทรนเนอร์วินัย สิงห์เสน่ห์
อนันต์ ตัวลือ
เขาทราย แกแล็คซี่
สุเทพ ณ นคร
เก๋า โตเกียว

ประวัติ แก้

พูนสวัสดิ์เป็นลูกชายของ พูนสวัสดิ์ ศิษย์ศรทอง อดีตแชมป์มวยไทยเวทีราชดำเนิน รุ่น 126 ปอนด์ เคยชกมวยไทยมาก่อนในชื่อ พูนสวัสดิ์ ว.สิงห์เสน่ห์ [1] ชกมวยสากลครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ชนะน็อค รามิค ลทอม นักมวยชาวฟิลิปปินส์ไปแค่ยกแรกจากการชก กำหนด 6 ยก ต่อจากนั้น ชกชนะอีกสองครั้ง จึงได้ชิงแชมป์สมาคมมวยแห่งเอเชียในรุ่นแบนตัมเวท และป้องกันตำแหน่งได้หลายครั้ง ก่อนจะขึ้นชิงแชมป์เฉพาะกาล WBA กับ ริการ์โด กอร์โดบา นักมวยชาวปานามา และป้องกันไว้ได้หนึ่งครั้ง ก่อนจะต้องมาชกเพื่อชิงแชมป์จริงกับ วอลอดือมือร์ ซืยดอเรนโค นักมวยชาวยูเครน อดีตคู่ชกของวิจารณ์ พลฤทธิ์ ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2000 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แต่ไม่ประสบความสำเร็จเมื่อเป็นฝ่ายแพ้คะแนนไป

พูนสวัสดิ์ได้เลื่อนรุ่นขึ้นไปชกในรุ่นซูเปอร์แบนตัมเวท และประสบความสำเร็จในการชิงแชมป์​โลก WBA ในรุ่นนี้ เมื่อเป็นฝ่ายชนะทีเคโอ เบอร์นาร์ด ดันน์ เพียงแค่ยกที่ 3 ที่ประเทศไอร์แลนด์ ในถิ่นของดันน์เอง เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 ซึ่งในครั้งนี้พูนสวัสดิ์มีความสมบูรณ์ทางร่างกายมาก จนทางสื่อมวลชนท้องถิ่นตั้งฉายาให้ว่า "ไทยพูน" อีกทั้งในการชกพูนสวัสดิ์ก็ทำให้ดั้งจมูกของดันน์แตกเป็นแผลฉกรรจ์ได้

เมื่อได้แชมป์โลกมาแล้ว พูนสวัสดิ์มีท่าทางว่าจะสามารถป้องกันแชมป์ได้อย่างยาวนาน เพราะเป็นนักมวยหมัดหนัก ฝีมือดี แต่ในการป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 3 ที่ประเทศญี่ปุ่น กับ รี รย็อล-รี นักมวยชาวเกาหลีเหนือสัญชาติญี่ปุ่น รี รย็อล-รี ใช้รูปแบบการชกที่ตีหัวเข้าบ้าน ด้วยการเข้าชกแล้วหนี พูนสวัสดิ์พยายามไล่ตามแต่ไม่ทัน ครบ 12 ยก ก็เสียแชมป์โลกไปเมื่อเป็นฝ่ายแพ้คะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อปี พ.ศ. 2553

จากนั้นพูนสวัสดิ์ก็ยังคงชกเคลื่อนไหว ด้วยการกลับมาเป็นแชมป์ PABA ในรุ่นซูเปอร์แบนตัมเวท จนกระทั่งในปลายปี พ.ศ. 2555 พูนสวัสดิ์มีโอกาสชิงแชมป์โลกอีกครั้ง กับ กิเยร์โม ริกอนโด นักมวยชาวคิวบา ผู้ไม่เคยแพ้หรือเสมอใคร เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัย (โอลิมปิก 2000, โอลิมปิก 2004) ซึ่งเป็นคู่ชิงชนะเลิศในรุ่นแบนตั้มเวทของ วรพจน์ เพชรขุ้ม ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นที่โตโยต้า เซนเตอร์ เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ในเช้าวันที่ 16 ธันวาคม ตามเวลาในประเทศไทย ร่วมรายการเดียวกับ โนนิโต โดแนร์ นักมวยระดับซูเปอร์สตาร์ชาวฟิลิปปินส์ป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกด้วย พูนสวัสดิ์และคณะได้เดินทางไปถึงที่สถานที่ชกตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม แต่ทว่าผลการตรวจเลือดก่อนการชกจริงแค่วันเดียว ปรากฏว่าเลือดของพูนสวัสดิ์หลังจากการตรวจแล้วถึง 3 ครั้ง ปรากฏว่าเป็นเลือดบวก (เลือดติดเชื้อโลหิตจางและไวรัสตับอักเสบ บี) ไม่อาจขึ้นชกได้ตามกฎของคณะกรรมาธิการมวยรัฐเท็กซัส ทำให้ต้องเดินทางกลับทันที ซึ่งทางพูนสวัสดิ์มีความผิดหวังเป็นอย่างมาก[2]

หลังจากนั้นไม่นาน พูนสวัสดิ์จึงต้องแขวนนวมไปในที่สุด[3]

ชีวิตส่วนตัว สมรสกับ นางเอื้อการย์ อุดมนา (พร) และมีบุตรสาวหนึ่งคน ชื่อ ธมลวรรรณ อุดมนา (ชื่อเล่น: พั๊นซ์)

ปัจจุบันพูนสวัสดิ์ได้อุปสมบทเป็นพระสงฆ์แล้ว

เกียรติประวัติ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 พูนสวัสดิ์ ว.สิงห์เสน่ห์, คำอธิบายเพิ่มเติม.
  2. "ตะลึง 'พูนสวัสดิ์ อดชิงแชมป์โลก'" หน้า 19, เดลินิวส์ ฉบับที่ 23,073: วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ปีมะโรง
  3. พูนสวัสดิ์แขวนนวมแล้ว! หลังพบโรคธาลัสซีเมีย-ไวรัสตับอักเสบ บี
  4. "พูนสวัสดิ์ได้คิวเคาะสนิม'" หน้า 13, ข่าวสด ฉบับที่ : วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2550

แหล่งข้อมูลอื่น แก้