ฮฺว่า กั๋วเฟิง

นักการเมืองชาวจีน
(เปลี่ยนทางจาก ฮั่ว กั๋วเฟิง)

ฮฺว่า กั๋วเฟิง (/hwɑː/; จีนตัวย่อ: 华国锋; จีนตัวเต็ม: 華國鋒; พินอิน: Huà Guófēng; 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 – 20 สิงหาคม พ.ศ. 2551) เป็นนักการเมืองชาวจีน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาเริ่มดำรงตำแหน่งระดับสูงทั้งในรัฐบาล พรรค และกองทัพ ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา เจ๋อตง และนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล แต่ต่อมาได้ถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งโดยสมาชิกพรรคที่มีอิทธิพลมากกว่าในปี พ.ศ. 2524 และต่อมาก็ถอนตัวจากเวทีการเมือง แม้ว่าจะยังคงเป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการกลางจนถึงปี พ.ศ. 2545

ฮฺว่า กั๋วเฟิง
华国锋
ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่ง
7 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 28 มิถุนายน พ.ศ. 2524
(4 ปี 264 วัน)
รองเย่ เจี้ยนอิง
ก่อนหน้าเหมา เจ๋อตง
ถัดไปหู เย่าปัง
ประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง
แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน คนที่ 9
ดำรงตำแหน่ง
7 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 28 มิถุนายน พ.ศ. 2524
(4 ปี 263 วัน)
ก่อนหน้าเหมา เจ๋อตง
ถัดไปเติ้ง เสี่ยวผิง
นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน คนที่ 2
ดำรงตำแหน่ง
4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 – 10 กันยายน พ.ศ. 2523
(4 ปี 219 วัน)
รองหัวหน้ารัฐบาลเติ้ง เสี่ยวผิง
ประมุขแห่งรัฐซ่ง ชิ่งหลิง
เย่ เจี้ยนอิง
ก่อนหน้าโจว เอินไหล
ถัดไปจ้าว จื่อหยาง
รองประธานลำดับที่ 1 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่ง
6 เมษายน พ.ศ. 2519 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
(0 ปี 183 วัน)
ประธานเหมา เจ๋อตง
ก่อนหน้าโจว เอินไหล
ถัดไปเย่ เจี้ยนอิง
รองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่ง
28 มิถุนายน พ.ศ. 2524 – 12 กันยายน พ.ศ. 2525
(1 ปี 76 วัน)
ประธานหู เย่าปัง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ซู จู้

16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464
จีน เจียวเฉิง, มณฑลชานซี, สาธารณรัฐจีน
เสียชีวิต20 สิงหาคม พ.ศ. 2551 (87 ปี)
จีน ปักกิ่ง, สาธารณรัฐประชาชนจีน
พรรคการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีน (เข้าร่วมในปี พ.ศ. 2481)
คู่สมรสหัน จือจฺวิ้น
(สมรส พ.ศ. 2492)
บุตร4
ลายมือชื่อ
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวย่อ
อักษรจีนตัวเต็ม華國鋒
ซู จู้
อักษรจีนตัวย่อ
อักษรจีนตัวเต็ม蘇鑄
สมาชิกสถาบันกลาง
  • 2519–2525: สมาชิกคณะกรรมาธิการประจำกรมการเมืองถาวร ชุดที่ 10 และ 11
  • 2512–2545: สมาชิกคณะกรรมาธิการประจำกรมการเมือง ชุดที่ 9, 10, 11, 12, 13, 14 และ 15
    ตำแหน่งอื่น
    • 2524–2525: รองประธานพรรคฯ
    • 2520–2523: ผู้อำนวยการโรงเรียนพรรคฯ
    • 2519: รองประธานลำดับที่ 1 ของพรรคฯ
    • 2518–2520: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ
    • 2513–2519: เลขาธิการคณะกรรมาธิการพรรคฯ ประจำมณฑลหูหนาน
    • 2513–2519: ประธานคณะกรรมาธิการการปฏิวัติมณฑลหูหนาน

เขามาจากมณฑลชานซี เริ่มดำรงตำแหน่งในภูมิภาคในหูหนานระหว่างปี พ.ศ. 2492–2514 แรกเริ่มเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพรรคประจำจังหวัดเซียงถาน พื้นที่ภูมิลำเนาของเหมา ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการพรรคในมณฑลระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมช่วงท้าย ๆ เขาถูกยกขึ้นสู่ระดับชาติในต้นปี 2519 และขึ้นชื่อมากเรื่องความภักดีไม่สั่นคลอนต่อเหมา หลังโจว เอินไหลเสียชีวิต เหมายกให้เขาเป็นประธานสภาแห่งรัฐ คอยควบคุมดูแลงานรัฐบาล และรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้เขากลายเป็นทายาทของเหมา

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 หลังการเสียชีวิตของเหมาไม่นาน เขาได้ปลดแก๊งสี่คนอกจากอำนาจทางการเมืองโดยจัดการจับกุมพวกเขาในกรุงปักกิ่ง ต่อมาเขาดำรงตำแหน่งประธานพรรคและประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง ฉะนั้นเขาจึงเป็นผู้นำเพียงคนเดียวที่เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ประธานคณะมนตรีรัฐกิจ และประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางพร้อมกัน

ฮฺว่าพยายามปฏิรูปสายกลางและย้อนส่วนเกินบางส่วนของนโยบายสมัยการปฏิวัติทางวัฒนธรรม แต่ทว่าเพราะเขายืนกรานที่จะสืบทอดแนวทางของเหมาและปฏิเสธรับการปฏิรูปขนานใหญ่ จึงเผชิญกับการต่อต้านในหมู่ระดับสูงของพรรค

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2521 กลุ่มสมาชิกพรรคซึ่งมีเติ้ง เสี่ยวผิงเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นนักปฏิรูปปฏิบัตินิยม ได้บีบให้ฮฺว่าออกจากอำนาจแต่ยังให้เขามีตำแหน่งอยู่บ้าง เขาค่อย ๆ หลบออกจากวังวนการเมือง แต่ยังคงยืนยันความถูกต้องของหลักการของเหมา เขาถูกจดจำว่าเป็นบุคคลยุคเปลี่ยนผ่านในประวัติศาสตร์การเมืองจีนสมัยใหม่

ชีวิตช่วงต้น แก้

 
ฮฺว่า กั๋วเฟิง ในปี พ.ศ. 2478

ฮฺว่าเกิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 ในอำเภอเจียวเฉิง มณฑลชานซี ชื่อเดิมของเขาคือ ซู จู้ (จีนตัวย่อ: 苏铸; จีนตัวเต็ม: 蘇鑄; พินอิน: Sū Zhù) เป็นบุตรชายคนที่ 4 ของครอบครัวที่มีพื้นเพมาจากมณฑลเหอหนาน พ่อของฮฺว่าเสียชีวิตเมื่อเขาอายุได้ 7 ปี[1] เข้าศึกษาที่โรงเรียนพาณิชย์อำเภอเจียวเฉิง และเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี พ.ศ. 2481 ในช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง[2]

เขาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ฮฺว่า กั๋วเฟิง เช่นเดียวกับคอมมิวนิสต์หลายคนในยุคนั้นที่ใช้ชื่อใหม่ในการปฏิวัติ ชื่อใหม่ของเขาเป็นคำย่อของ "แนวหน้ากอบกู้ชาติต่อต้านญี่ปุ่นของจีน" (จีนตัวย่อ: 中华抗日救国先锋队; จีนตัวเต็ม: 中華抗日救國先鋒隊; พินอิน: Zhōnghuá kàngrì jiùguó xiānfēng duì) หลังจากเข้าเป็นทหารในกองทัพลู่ที่ 8 ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพลจู เต๋อ มาเป็นเวลา 12 ปี[2] เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของคณะกรรมาธิการพรรคประจำอำเภอเจียวเฉิงในปี พ.ศ. 2490 ในช่วงสงครามกลางเมืองจีน

ฮฺว่าย้ายไปยังมณฑลหูหนานร่วมกับกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (中国人民解放军) ที่ได้รับชัยชนะในปี พ.ศ. 2491 ต่อมาเขาแต่งงานกับหัน จือจฺวิ้น (韩芝俊) และอยู่ที่นั่นจนถึงปี พ.ศ. 2514

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2492 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคประจำอำเภอเซียงยิน ก่อนการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคประจำนครเซียงถาน อันเป็นภูมิลำเนาของเหมา[3]

เหมา เจ๋อตงได้พบกับฮฺว่าครั้งแรกในปี พ.ศ. 2498 และเหมารู้สึกประทับใจกับความเรียบง่ายของฮฺว่าอย่างเห็นได้ชัด[4]

 
ฮฺว่า กั๋วเฟิง ในปี พ.ศ. 2484

เนื่องจากผู้ว่าการมณฑลหูหนาน นายพลเฉิง เฉียน (程潜) ไม่ใช่คอมมิวนิสต์แท้ เนื่องจากเคยอยู่พรรคก๊กมินตั๋งมาก่อน ฮฺว่าจึงค่อย ๆ มีอำนาจในมณฑลมากขึ้นเรื่อย ๆ จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าการมณฑลในปี พ.ศ. 2501[1]

ในปี พ.ศ. 2502 ฮฺว่าได้เข้าร่วมการประชุมหลูชาน (庐山会议) ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในฐานะสมาชิกคณะผู้แทนพรรคจากมณฑลหูหนาน เขาได้เขียนรายงานสองฉบับเพื่อปกป้องนโยบายของเหมาอย่างเต็มที่

อิทธิพลของฮฺว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ในฐานะผู้สนับสนุนและเป็นผู้นำขบวนการปฏิวัติในมณฑลหูหนาน เขาจัดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิวัติในท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2510 โดยเขาดำรงตำแหน่งรองประธาน ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2513 เขาก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการปฏิวัติและเลขาธิการพรรคประจำมณฑลหูหนาน

ฮฺว่าได้รับเลือกเป็นสมาชิกเต็มตัวของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 9 ในปี พ.ศ. 2512[1]

เข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจ แก้

 
ฮฺว่า กั๋วเฟิง เข้าร่วมการทำนาในตำบลตงถวนตู้ ในเขตชานเมืองฉางชา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2513

ในปี พ.ศ. 2514 ฮฺว่าถูกเรียกตัวเข้ากรุงปักกิ่งเพื่อมาควบคุมสำนักงานเจ้าหน้าที่คณะมนตรีรัฐกิจของโจว เอินไหล แต่อยู่ได้ไม่กี่เดือนก่อนจะกลับไปดำรงตำแหน่งเดิมที่มณฑลหูหนาน[3] ต่อมาในปีเดียวกัน เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมาธิการสืบสวนคดีของจอมพลหลิน เปียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความไว้วางใจอันแรงกล้าที่เหมามีต่อตัวเขา ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ฮฺว่าก็ได้รับเลือกอีกครั้งให้เป็นสมาชิกเต็มตัวของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 10 และเลื่อนขั้นเป็นสมาชิกกรมการเมือง ในปีเดียวกันนั้น โจว เอินไหลได้มอบหมายเขาให้ดูแลด้านการพัฒนาการเกษตร

ในปี พ.ศ. 2516 เหมาได้แต่งตั้งฮฺว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ และรองนายกรัฐมนตรี สิ่งนี้ทำให้เขาสามารถควบคุมตำรวจและกองกำลังรักษาความปลอดภัยได้ อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของฮฺว่าได้รับการยืนยันจากการที่เขาได้รับเลือกให้กล่าวสุนทรพจน์เรื่องการปรับปรุงการเกษตรให้ทันสมัยในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน[5]

โจว เอินไหล ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พันธมิตรนักปฏิรูปของเติ้ง เสี่ยวผิง ยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะยืนหยัดต่อสู้กับทั้งเหมา เจ๋อตงที่กำลังป่วย และแก๊งสี่คน (เจียง ชิง, จาง ชุนเฉียว, หวัง หงเหวิน, และเหยา เหวินหยวน) หนึ่งสัปดาห์หลังจากอ่านคำกล่าวสรรเสริญของนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ เติ้งก็ออกจากปักกิ่งพร้อมกับพันธมิตรใกล้ชิดหลายคนเพื่อความปลอดภัยไปยังกว่างโจว[6]

มีรายงานว่า เหมา เจ๋อตงต้องการจะแต่งตั้งจาง ชุนเฉียวเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของโจว เอินไหล แต่สุดท้ายเขาก็แต่งตั้งฮฺว่าเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีแทน โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาประชาชนแห่งชาติ[7] ในเวลาเดียวกัน สื่อที่ถูกแก๊งสี่คนควบคุมก็ได้เริ่มประณามเติ้งอีกครั้ง (ซึ่งเคยถูกกำจัดในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และกลับสู่อำนาจอีกครั้งในปี พ.ศ. 2516)

อย่างไรก็ตาม ความรักที่ประชาชนมีต่อโจว เอินไหลถูกประเมินต่ำเกินไป อันนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์กรณีเทียนอันเหมิน ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างทหารกับพลเมืองปักกิ่งที่ต้องการไว้อาลัยให้กับโจวในเทศกาลเช็งเม้งตามประเพณี ในเวลาเดียวกัน ฮฺว่าได้กล่าวสุนทรพจน์ "แถลงการณ์อย่างเป็นทางการสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์เติ้ง เสี่ยวผิง" ซึ่งได้รับการอนุมัติจากเหมาและคณะกรรมาธิการกลางพรรค

ในช่วงเหตุการณ์กรณีเทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2519 ผู้คนหลายพันคนประท้วงการถอนพวงหรีดของทหารเพื่อเป็นเกียรติแก่โจวที่หน้าอนุสาวรีย์วีรชน ยานพาหนะถูกเผา สำนักงานถูกรื้อค้น และมีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก[8] ผลที่ตามมาคือ เติ้ง เสี่ยวผิงถูกกล่าวหาว่ายุยงให้เกิดการประท้วง และถูกถอดตำแหน่งในพรรคและรัฐบาลทั้งหมด แต่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคอยู่ตามคำสั่งของเหมา หลังจากนั้นไม่นาน ฮฺว่าก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานลำดับที่หนึ่งของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและนายกรัฐมนตรี

หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวในถังชาน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2519 ฮฺว่าได้ไปเยือนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและได้ช่วยชี้แนะแนวทางการบรรเทาทุกข์

กำจัดแก๊งสี่คน แก้

เหมา เจ๋อตง ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2519 และฮฺว่าในฐานะสมาชิกอันดับสองของพรรค และนายกรัฐมนตรีก็ได้เป็นผู้นำการจัดพิธีรำลึกระดับชาติในกรุงปักกิ่ง เพื่อเป็นเกียรติแก่เหมาในวันที่ 18 กันยายน และเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ในการเฉลิมฉลองอนุสรณ์สถานของเหมาในจัตุรัสเทียนอันเหมิน ในขณะนั้น องค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศคือคณะกรรมาธิการประจำกรมการเมือง ซึ่งประกอบด้วยฮฺว่า, เย่ เจี้ยนอิง, จาง ชุนเฉียว และหวัง หงเหวิน เย่อยู่ในช่วงใกล้จะเกษียณอายุ ส่วนจางและหวังเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งสี่คน[9]

ฮฺว่ารู้ดีว่ามีสุญญากาศในอำนาจหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา และคิดว่าหากแก๊งสี่คนไม่ถูกกำจัดออกไปโดยใช้กำลัง แก๊งก็อาจจะพยายามกำจัดเขาออกไปเสียก่อน[9] ฮฺว่าจึงติดต่อกับเย่เป็นเวลาหลายวันหลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการกำจัดแก๊งสี่คน เย่เริ่มไม่แยแสแก๊งก่อนที่เหมาจะถึงแก่อสัญกรรม ดังนั้น เขาและฮฺว่าจึงตกลงกันอย่างรวดเร็วเพื่อจัดการกับแก๊งนี้ [9]

ฮฺว่ารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากวัง ตงซิง หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยที่ภักดีต่อเหมา ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารพิเศษ 8341 รวมถึงบุคคลสำคัญในคณะกรรมาธิการกรมการเมืองคนอื่น ๆ อาทิ รองนายกรัฐมนตรีหลี่ เซียนเนี่ยน และนายพลเฉิน ซีเหลียน ผู้บัญชาการเขตการทหารปักกิ่ง และหลัว ชิงฉาง หัวหน้าหน่วยข่าวกรอง[9][1] กลุ่มของฮฺว่าได้หารือถึงแนวทางในการกำจัดแก๊งสี่คน รวมทั้งจัดประชุมคณะกรรมาธิการกรมการเมืองหรือคณะกรรมการกลางเพื่อกำจัดพวกเขาผ่านขั้นตอนของพรรคที่จัดตั้งขึ้น แต่แนวคิดดังกล่าวถูกล้มเลิกไปเพราะในขณะนั้นคณะกรรมการกลางประกอบด้วยผู้สนับสนุนแก๊งสี่คนเป็นจำนวนมาก ในที่สุดกลุ่มของฮฺว่าจึงตัดสินใจใช้กำลัง

ต่อมาหลังเที่ยงคืนของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519[10] ฮฺว่าได้เชิญจาง ชุนเฉียว, หวัง หงเหวิน และเหยา เหวินหยวน มาประชุมที่จวนจงหนานไห่เพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายของเหมา และพวกเขาถูกจับกุมขณะกำลังเดินไปเข้าร่วมการประชุมที่ห้องประชุมหฺวายเหริน

ตามความทรงจำของฮฺว่า เขากล่าวว่า มีเพียงเขาและจอมพลเย่ เจี้ยนอิง เท่านั้นที่เข้าร่วมการประชุมเพื่อรอการมาถึงของสมาชิกของแก๊ง เมื่อจับกุมทั้งสามคนได้แล้ว เขาได้อ่านแถลงการณ์จับกุมเป็นการส่วนตัวและกล่าวว่าพวกเขามีส่วนร่วมในการกระทำการ "ต่อต้านพรรคและสังคมนิยม" และ "สมรู้ร่วมคิดแย่งชิงอำนาจ" ส่วนเจียง ชิง และเหมา หย่วนซิน ถูกจับในบ้านพักของตน[11]

กองกำลังเฉพาะกิจที่นำโดยเกิ่ง เปียว ได้เข้ายึดสำนักงานใหญ่โฆษณาชวนเชื่อหลักของพรรค เชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนของแก๊งสี่คนในขณะนั้น อีกกลุ่มหนึ่งถูกส่งไปเพื่อรักษาเสถียรภาพในเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นฐานอำนาจหลักของแก๊ง ในการประชุมฉุกเฉินของคณะกรรมาธิการกรมการเมืองในวันรุ่งขึ้น ฮฺว่า กั๋วเฟิง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน[12]

การขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำระดับสูงของฮฺว่านั้นถูกต้องตามกฎหมายโดยคำพูดของเหมาที่กล่าวว่า "เมื่อมีคุณรับผิดชอบ ฉันก็สบายใจ" ซึ่งตีพิมพ์หลังจากการกวาดล้างแก๊งสี่คน และใช้เป็นหลักฐานยืนยันความไว้วางใจของเหมาที่มีต่อฮฺว่า[13]

เถลิงอำนาจ แก้

 
ห้องเรียนของโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ติดภาพเหมือนของประธานฮฺว่า กั๋วเฟิง คู่กับอดีตประธานเหมา เจ๋อตง ในปี พ.ศ. 2521

ฮฺว่า กั๋วเฟิงมีระยะเวลาครองอำนาจค่อนข้างสั้น ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2521

ฮฺว่าได้กำจัดแก๊งสี่คนออกจากอำนาจทางการเมืองอย่างรวดเร็ว และด้วยเหตุนี้การขึ้นเป็นผู้นำของฮฺว่าจึงกลายเป็นจุดสิ้นสุดของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม หลังจากการจำคุกแก๊งสี่คน และการสถาปนาผู้ปกครองสามฝ่ายใหม่ (ฮฺว่า กั๋วเฟิง, จอมพลเย่ เจี้ยนอิง และหัวหน้านักวางแผนเศรษฐกิจ หลี่ เซียนเนี่ยน) ก็ได้เริ่มการฟื้นฟูอำนาจของเติ้ง เสี่ยวผิง และเริ่มกำจัดอิทธิพลของแก๊งสี่คนทั่วทั้งระบบการเมือง อันนำไปสู่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่างฮฺว่าและเติ้ง[14]

การเมืองภายในประเทศ แก้

ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2519 ฮฺว่าได้เริ่มการรณรงค์วิพากษ์วิจารณ์แก๊งสี่คนทั่วประเทศ ร่วมกับกระบวนการ "กลับคำตัดสิน" สำหรับผู้ที่วิจารณ์แก๊ง ผู้คนที่ถูกลงโทษหลังจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2519 ได้รับการปล่อยตัว[15] ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2521 ผู้ปฏิบัติงานมากกว่า 4,600 คนที่เสื่อมเสียชื่อเสียงในการปฏิวัติทางวัฒนธรรมก็ได้รับการฟื้นฟูเกียรติภูมิ[12]

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2520 ในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 1 ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคชุดที่ 11 เติ้ง เสี่ยวผิง ได้รับการฟื้นฟูเกียรติภูมิโดยได้รับความเห็นชอบจากฮฺว่า การประชุมครั้งนี้ยังถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในองค์ประกอบของคณะกรรมธิการกลางพรรค มีสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ 68 คนซึ่งมากกว่า 20 คนเป็นเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฟื้นฟูเกียรติภูมิ[12]

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ฮฺว่าได้เสนอนโยบายใหม่ว่า "เราจะสนับสนุนการตัดสินใจของประธานเหมาอย่างเด็ดเดี่ยว และจะปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานเหมาอย่างแน่วแน่" เรียกอย่างเสียดสีว่า "สองสิ่ง" ต่อมานโยบายนี้ถูกใช้เพื่อวิจารณ์ฮฺว่าว่าเขาเชื่อฟังคําสั่งของเหมาอย่างหลับหูหลับตาเกินไป[16] และฮฺว่ายังได้อนุญาตให้มีการสอบเข้าวิทยาลัยแห่งชาติครั้งแรกนับตั้งแต่การปฏิวัติทางวัฒนธรรม[16]

ฮฺว่าพยายามแก้ไขระเบียบการของรัฐซึ่งเป็นวิธีการยกระดับอำนาจของเขา ในปี พ.ศ. 2521 มีการสั่งการให้สถานศึกษาทุกแห่งและการประชุมทุกครั้งจะต้องแขวนรูปเหมาและฮฺว่าไว้เคียงกัน เช่น ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติและการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีน ฮฺว่ายังได้แก้ไขเนื้อเพลงชาติจีนให้มีชื่อของเหมาและพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเปลี่ยนความหมายของเพลงจากการชุมนุมสงครามเป็นอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล้วน ในที่สุดเนื้อเพลงเหล่านี้ก็ถูกปฏิเสธ

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 การประชุมสมัยแรกของสภาประชาชนแห่งชาติชุดที่ 5 ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งฮฺว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในการร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามที่จะฟื้นฟูหลักนิติธรรมและกลไกการวางแผนบางส่วนจากรัฐธรรมนูญฉบับดั้งเดิมปี พ.ศ. 2499 แม้ว่าจะยังคงกล่าวถึงการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องและลัทธิสากลนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ แต่ต่อมาเพียง 4 ปีก็ถูกแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่[15]

เศรษฐกิจ แก้

ในระหว่างดำรงตำแหน่ง ฮฺว่าได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานะเศรษฐกิจของจีนที่กําลังจะล่มสลาย ฮฺว่าจึงได้ทำงานร่วมกับหลี่ เซี่ยนเนี่ยน เพื่อทำการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนแผนการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มงบประมาณวิสาหกิจ และการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เขาได้เสนอแผนเศรษฐกิจ 10 ปีอันทะเยอทะยาน ซึ่งพยายามสร้างเศรษฐกิจตามแบบโซเวียตโดยเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักและพลังงาน การใช้เครื่องจักรการเกษตร และใช้เทคโนโลยีนำเข้าเพื่อสร้างโรงงานผลิตใหม่[17]

อย่างไรก็ตาม แผนเศรษฐกิจดังกล่าวถูกยกเลิกอย่างรวดเร็วโดยหันไปสนับสนุนแผนเศรษฐกิจ 5 ปีที่ถูกกว่าและทำได้ง่ายกว่า ซึ่งให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเบาและสินค้าอุปโภคบริโภค[18] โครงการเศรษฐกิจและการเมืองของฮฺว่าเป็นการฟื้นฟูแผนอุตสาหกรรมตามแบบโซเวียต และการควบคุมพรรคที่คล้ายคลึงกับประเทศจีนก่อนการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม รูปแบบนี้ได้ถูกปฏิเสธโดยผู้สนับสนุนเติ้ง เสี่ยวผิง ที่สนับสนุนการจัดตั้งระบบเศรษฐกิจแบบเอกชนมากกว่า

การต่างประเทศ แก้

ในปี พ.ศ. 2521 ฮฺว่าเยือนประเทศยูโกสลาเวียและโรมาเนีย เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม และเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง[19]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2522 ฮฺว่าได้เดินทางไปยุโรป ซึ่งเป็นครั้งแรกของผู้นำจีนหลังจากปี พ.ศ. 2492 เขาเดินทางไปที่เยอรมนีตะวันตกและฝรั่งเศส ในวันที่ 28 ตุลาคม ฮฺว่าเดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักรและเข้าพบนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ของอังกฤษ ทั้งสองมีส่วนร่วมในการเจรจาฉันมิตรและหารือเกี่ยวกับอนาคตของฮ่องกง ซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษในขณะนั้น

ฮฺว่าได้เยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยีการรถไฟสหราชอาณาจักร เพื่อดูการพัฒนารถไฟโดยสารขั้นสูง[20] การเยือนของเขาเกิดขึ้นพร้อมกับการบริจาครถจักรไอน้ำ 4-8-4 KF Class No 7 ของรัฐบาลจีนให้กับพิพิธภัณฑ์รถไฟแห่งชาติในยอร์ก[21] ฮฺว่ายังได้ไปเยี่ยมชมฟาร์มแห่งหนึ่งในออกซฟอร์ดเชอร์ และเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด[22]

 
ฮฺว่า กั๋วเฟิง และพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ในระหว่างการเยือนอิหร่านอย่างทางการในปี พ.ศ. 2521[23]

ฮฺว่าเป็นหนึ่งในชาวต่างชาติกลุ่มสุดท้ายที่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี แห่งอิหร่าน ก่อนที่จะถูกโค่นราชวงศ์ในปี พ.ศ. 2522[24]

การชิงอำนาจและการลงจากตำแหน่ง แก้

แม้ว่าเติ้งจะสนับสนุนนโยบายของฮฺว่ามาโดยตลอด แต่ต่อมาเขาก็เริ่มวิจารณ์ฮฺว่า โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอํานาจของตนเอง ได้รับการสนับสนุนจาก หู เย่าปัง ผู้ซึ่งวิจารณ์ฮฺว่าว่าดื้อรั้นมากเกินไป[25] ในที่สุดสิ่งนี้ก็นำไปสู่บทบรรณาธิการสำคัญของนักปรัชญา หู ฝูหมิง ซึ่งร่างและตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2521 ในหัวข้อ "การปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวในการทดสอบความจริง" ซึ่งเชื่อว่าความผิดพลาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีนเกิดจากการไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบความจริงผ่านการปฏิบัติอย่างจริงจัง บทความนี้แม้จะถูกวิจารณ์จากสมาชิกพรรคบางคน แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากเติ้งอย่างรวดเร็ว[25]

ในวันที่ 10 พฤศจิกายน การประชุมการทำงานส่วนกลางได้ถูกจัดขึ้น โดยที่ฮฺว่าพยายามที่จะถอยห่างจากการเน้นการต่อสู้ทางชนชั้นของพรรค ไปเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแทน[25] แม้จะประสบความสำเร็จ แต่เขาก็ถูกสมาชิกอาวุโสในพรรคตำหนิเพราะไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิวัติทางวัฒนธรรมและเหตุการณ์เทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2519 มากพอ[26] ภายใต้การสนับสนุนของ เย่ เจี้ยนอิง และเฉิน ยฺหวิน ผู้อาวุโสของพรรค ฮฺว่าได้ยอมรับข้อตำหนิดังกล่าว เขากล่าวในการประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนว่า "เหตุการณ์เทียนอันเหมินเป็นขบวนการมวลชนปฏิวัติโดยสิ้นเชิง จำเป็นต้องได้รับการประเมินอีกครั้งอย่างเปิดเผยและทั่วถึง" สิ่งนี้มีบทบาทสําคัญในการผลักดันเติ้งไปสู่การฟื้นอำนาจหลังจากการฟื้นฟูเกียรติภูมิ เช่นเดียวกับการคืนสถานะผู้นำให้กับปั๋ว อี้ปัว และหยาง ช่างคุน สมาชิกอาวุโสในพรรคหลายคนพูดถึงความทุกข์ทรมานของพวกเขาในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และวิจารณ์ฮฺว่าที่ไม่ได้แตกหักกับลัทธิเหมาอย่างชัดเจน ฮฺว่าได้วิจารณ์ตนเองในวันที่ 13 กันยายน โดยกล่าวว่าเขาสนับสนุนจุดยืนของเหมามากเกินไป[26]

ฮฺว่าสูญเสียอํานาจจริง ๆ ในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคชุดที่ 11 หลังจากนั้น เติ้ง เสี่ยวผิง ก็กลายเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของจีน และนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของเขาได้รับการยอมรับจากพรรค[27] เขายังคงมีอำนาจอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขัดขวางการเพิ่มเนื้อหาที่วิจารณ์เขาใน "ปณิธานทางประวัติศาสตร์" ที่ร่างโดยผู้นําของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อประเมินการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[28]

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2523 คณะกรมการเมืองได้ออกมาวิจารณ์ฮฺว่าอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม โดยมองว่าเขาเป็นบุคคลที่ต่อต้านปฏิรูปและพยายามเลียนแบบเหมาเท่านั้น สิ่งนี้ได้รับการเสริมเพิ่มเติมด้วยมติทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านรับรองในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคชุดที่ 11 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2524 ซึ่งกล่าวว่าฮฺว่าทำน้อยเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา[28] นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่าเขาทําได้ดีในการกําจัดแก๊งสี่คน แต่หลังจากนั้นเขาได้กระทำ "ข้อผิดพลาดร้ายแรง"

ในขณะที่เติ้งค่อย ๆ เข้ามาควบคุมพรรค ฮฺว่าก็ถูกประณามจากการส่งเสริมนโยบายสองสิ่ง ในช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2522 สื่อของรัฐได้หยุดเรียกเขาว่าผู้นำ และเขาถูกแทนที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดย จ้าว จื่อหยาง ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2523[28] ถูกแทนที่ในตำแหน่งประธานพรรคโดย หู เย่าปัง และถูกแทนที่ในตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางโดยเติ้งเองในปี พ.ศ. 2524

ฮฺว่า กั๋วเฟิง ถูกลดตำแหน่งตำแหน่งเป็นรองประธานพรรค และเมื่อตำแหน่งนี้ถูกยกเลิกในปี พ.ศ. 2525 เขายังคงดำรงตำแหน่งสมาชิกสามัญของคณะกรรมาธิการกลางพรรค ซึ่งดำรงตำแหน่งจนถึงการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 16 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545 แม้ว่าเขาจะเกินอายุเกษียณในวัย 70 ปี ในปี พ.ศ. 2534 ก็ตาม

เกษียณอายุและถึงแก่อสัญกรรม แก้

ฮฺว่าสูญเสียที่นั่งในคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเป็นทางการ หลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 16 ของพรรคในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545 มีรายงานว่าเขาสมัครใจที่จะถอนตัวเนื่องจากเหตุผลด้านสุขภาพ แต่ทางพรรคก็ไม่ได้ยืนยันในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ[29]

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2550 เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 17 ของพรรค ในฐานะผู้แทนพิเศษ และเขาก็ปรากฏตัวในพิธีรำลึกวันเกิดครบรอบ 115 ปีของเหมา เจ๋อตง ที่จัดขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550[30] แม้จะมีตำแหน่งในพรรค แต่ฮฺว่าก็เริ่มตีตัวออกห่างจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง งานอดิเรกหลักของเขาคือการเพาะปลูกองุ่น และติดตามสถานการณ์บ้านเมืองโดยการอ่านหนังสือพิมพ์[31]

 
สุสานของฮฺว่า กั๋วเฟิง ในอำเภอเจียวเฉิง มณฑลชานซี

สุขภาพของฮฺว่าเริ่มแย่ลงในปี พ.ศ. 2551 เขาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคแทรกซ้อนที่ไตและหัวใจ[31] และถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2551 โดยไม่ได้ระบุสาเหตุการถึงแก่อสัญกรรม[32]

เนื่องจากการถึงแก่อสัญกรรมของเขาเกิดขึ้นในช่วงกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน สื่อของรัฐจึงไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก มีเพียงการออกอากาศในรายการข่าวระดับชาติ "ซินเหวินเหลียนปัว"(新闻联播) เพียง 30 วินาที[ต้องการอ้างอิง] และย่อหน้าสั้น ๆ ที่มุมหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลี (People's Daily) เพียงเท่านั้น[33]

พิธีศพของฮฺว่าถูกจัดขึ้นในวันที่ 30 สิงหาคม ที่สุสานปฏิวัติปาเป่าชาน (八宝山革命公墓) มีสมาชิกคณะกรรมาธิการประจำกรมการเมืองทุกคนเข้าร่วม อาทิเช่น อดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน และอดีตนายกรัฐมนตรีจู หรงจี้[34]

มรดก แก้

ชีวิตส่วนตัว แก้

 
ฮฺว่า กั๋วเฟิง และหัน จือจฺวิ้น ในปี พ.ศ. 2492

ฮฺว่า กั๋วเฟิงแต่งงานกับหัน จือจฺวิ้น (韩芝俊) ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2492 มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 4 คน และทั้งหมดมีนามสกุลว่า "ซู" () ตามนามสกุลเมื่อแรกเกิดของฮฺว่า:

  1. ซู หฺวา (苏华) เป็นนายทหารอากาศเกษียณอายุ
  2. ซู ปิน (苏斌) เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
  3. ซู หลิง (苏玲) เป็นเจ้าหน้าที่พรรคและสหภาพแรงงานในสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน
  4. ซู ลี่ (苏莉) ทำงานในคณะมนตรีรัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ bio1
  2. 2.0 2.1 Palmowski, Jan: "Hua Guofeng" in A Dictionary of Contemporary World History. Oxford University Press, 2004.
  3. 3.0 3.1 Wang, James C.F., Contemporary Chinese Politics: An Introduction (Prentice-Hall, New Jersey: 1980), p. 36.
  4. Li, Xiaobing; Tian, Xiansheng (2013-11-21). Evolution of Power: China's Struggle, Survival, and Success (ภาษาอังกฤษ). Lexington Books. p. 67. ISBN 978-0-7391-8498-1.
  5. Wang, James C.F., Contemporary Chinese Politics: An Introduction (Prentice-Hall, New Jersey: 1980), p. 37.
  6. Hollingworth, Clare, Mao and the Men Against Him (Jonathan Cape, London: 1985), p. 291ff
  7. Fontana 1982, p. 245.
  8. Hollingworth, Clare, Mao and the Men Against Him (Jonathan Cape, London: 1985), pp. 297–298
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 华国锋口述:怀仁堂事变真实经过. Duowei. 3 November 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-08. สืบค้นเมื่อ 2023-09-20.
  10. Hsü, Immanuel Chung-yueh (1990), China Without Mao: the Search for a New Order, Oxford University Press, p. 18, ISBN 0-19536-303-5
  11. Hsin, Chi. The Case of the Gang of Four. Revised ed. Hong Kong: Cosmo, 1978. Print.
  12. 12.0 12.1 12.2 Li-Ogawa 2022, p. 126.
  13. Li-Ogawa 2022, p. 131.
  14. "Post-Mao Period, 1976-78". ibiblio.org. สืบค้นเมื่อ 1 May 2019.
  15. 15.0 15.1 Gewirtz 2022, p. 15.
  16. 16.0 16.1 Gewirtz 2022, p. 16.
  17. Gewirtz 2022, p. 17–18.
  18. Weber 2021, p. 106.
  19. Andelman, David A. (20 August 1979). "China's Balkan Strategy". International Security. 4 (3): 60–79. doi:10.2307/2626694. JSTOR 2626694. S2CID 154252900.
  20. "Chairman Hua Officially Visits the UK". Hua Guofeng Memorial Website. 28 October 1979. สืบค้นเมื่อ 27 March 2010.
  21. "Chinese Government Railways Steam Locomotive 4-8-4 KF Class No 7". National Railway Museum. 10 April 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 June 2017. สืบค้นเมื่อ 10 April 2017.
  22. "1979: Chairman Hua arrives in London". BBC News. 28 October 1979. สืบค้นเมื่อ 27 March 2010.
  23. 华主席抵德黑兰进行正式友好访问 巴列维国王举行盛大宴会热烈欢迎. People's Daily (ภาษาChinese (China)). 1978-08-30. p. 1.
  24. Wright, Robin (17 November 2004). "Iran's New Alliance With China Could Cost U.S. Leverage". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 4 May 2010.
  25. 25.0 25.1 25.2 Gewirtz 2022, p. 18–19.
  26. 26.0 26.1 Gewirtz 2022, p. 20.
  27. Li-Ogawa 2022, p. 134.
  28. 28.0 28.1 28.2 Gewirtz 2022, p. 26–27.
  29. "Pakistan Daily Times Article". Daily Times. สืบค้นเมื่อ 10 February 2005.
  30. 十七大之后拜访华国锋 [Visiting Hua Guofeng after the 17th Congress]. Sohu. สืบค้นเมื่อ 22 September 2008.
  31. 31.0 31.1 简单的晚年生活 华国锋远离政治的日子 [A simple late life: Hua Guofeng's days away from politics]. China News Weekly (ภาษาChinese (China)). 21 September 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 June 2020. สืบค้นเมื่อ 21 September 2008.
  32. Keith Bradsher and William J. Wellman, "Hua Guofeng, 87, Who Led China After Mao, Dies", The New York Times, 20 August 2008.
  33. 华国锋在京病逝 曾经担任党和国家重要领导职务. Sohu via Xinhua. 21 August 2008. สืบค้นเมื่อ 31 December 2011.
  34. 华国锋同志遗体在京火化 胡锦涛等到革命公墓送别. People's Daily. 30 August 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 December 2011. สืบค้นเมื่อ 31 December 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้