อสัญกรรมและรัฐพิธีศพของเหมา เจ๋อตง

เหมา เจ๋อตง ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนและประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1976 ด้วยอายุ 82 ปี หลังประสบปัญหาสุขภาพเรื้อรังมาระยะหนึ่ง รัฐบาลได้ประกาศไว้ทุกข์ทั่วประเทศเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์หลังการอสัญกรรมของเขา

อสัญกรรมและรัฐพิธีศพของเหมา เจ๋อตง
หญิงสาวชาวฟินแลนด์กำลังอ่านนิตยสาร ปูนาการ์ตีและโลกากู ซึ่งรายงานข่าวการอสัญกรรมของเหมาใน ค.ศ. 1976
วันที่9–18 กันยายน ค.ศ. 1976
ที่ตั้งปักกิ่ง ประเทศจีน
ผู้เข้าร่วมฮฺว่า กั๋วเฟิง ผู้นำพรรคและรัฐ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทหารและพลเรือนจีน

อสัญกรรม

แก้

การปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายของเหมาและภาพถ่ายที่ยืนยันได้เป็นครั้งสุดท้ายว่าเขายังมีชีวิตอยู่คือเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1976 ในสภาพที่อ่อนแอและแทบจะพูดหรือเดินไม่ได้ เหมาได้พบกับซัลฟิการ์ อาลี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถานระหว่างการเดินทางเยือนปักกิ่งของนายกรัฐมนตรี[1][ต้องการเลขหน้า] ประมาณเวลา 17:00 น. ของวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1976[2] เหมาประสบภาวะหัวใจวายครั้งรุนแรงยิ่งกว่าสองครั้งก่อนหน้าในปีเดียวกันซึ่งส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อหัวใจส่วนใหญ่ ทำให้เขาต้องนอนพักรักษาตัวบนเตียง ในช่วงบ่ายของวันที่ 7 กันยายน อาการของเหมาทรุดลงอย่างสิ้นเชิง อวัยวะของเหมาล้มเหลวอย่างรวดเร็วและเขาก็เข้าสู่ภาวะโคมาไม่นานก่อนเที่ยงวัน และได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจและเครื่องช่วยชีวิต

วันที่ 8 กันยายน เมื่อเห็นได้ชัดว่าเหมาซึ่งอยู่ในอาการโคม่าจะฟื้นคืนชีพไม่ได้อีกแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนจึงตัดสินใจถอดเครื่องช่วยชีวิตของเขาออกในเวลาเที่ยงคืน เหมาถึงแก่อสัญกรรมในอีก 10 นาทีต่อมาในเวลา 00:10 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1976 สิริอายุ 82 ปี[3] พรรคคอมมิวนิสต์จีนชะลอการประกาศการถึงแก่อสัญกรรมของเขาออกไปจนถึงเวลา 16:00 น. ของวันเดียวกัน โดยมีการออกประกาศทางวิทยุเผยแพร่ไปทั่วประเทศเพื่อแจ้งข่าวการอสัญกรรมของเหมา พร้อมทั้งเรียกร้องให้พรรคมีความสามัคคี[4]

รัฐบาลจีนประกาศไว้ทุกข์ทั่วประเทศเป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยให้ลดธงชาติลงครึ่งเสา กิจกรรมบันเทิงและดนตรีทุกประเภทถูกระงับ และโรงละครต่าง ๆ ถูกปิด[5]

คณะกรรมการจัดงานรัฐพิธีศพ

แก้
  1. ฮฺว่า กั๋วเฟิง (สมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน รองประธานคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนลำดับที่หนึ่ง นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงมหาชน)
  2. หวัง หงเหวิน (รองประธานคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน)
  3. เย่ เจี้ยนอิง (รองประธานคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เลขาธิการคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม)
  4. จาง ชุนเฉียว (รองนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสามัญประจำคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง อธิบดีกรมการเมือง กองทัพปลดปล่อยประชาชน)

เว่ย์ กั๋วชิง, หลิว ปั๋วเฉิง, เจียง ชิง, สฺวี่ ชื่อโหย่ว์, จี้ เติงขุย, อู๋ เต๋อ, วัง ตงซิง, เฉิน หย่งกุ้ย, เฉิน ซีเหลียน, หลี่ เซียนเนี่ยน, หลี่ เต๋อเชิง, เหยา เหวิน-ยฺเหวียน, อู๋ กุ้ยเซียน, ซู เจิ้น-หฺวา, หนี จื้อฝู, ไซฟุดดิน อาซิซี, ซ่ง ชิ่งหลิง, กัว มั่วรั่ว, สฺวี เซี่ยงเฉียน, เนี่ย หรงเจิน, เฉิน ยฺหวิน, ถาน เจิ้นหลิน, หลี จิ่ง-ฉฺเวียน, จาง ติ่งเฉิง, ไช่ ช่าง, โอลางฮู, งาปอย งาวัง จิกมี, โจว เจี้ยนเหริน, สฺวี เต๋อเจิน, หู ยฺวี่เหวิน, หลี่ ซู่เหวิน, เหยา เหลียนเว่ย์, หวัง เจิ้น, ยฺหวี ชิวหลี่, กู่ มู่, ซุน เจี้ยน, ซู ยฺวี่, เฉิ่น เอี้ยนปิง, ปาบัลฮา เกล็ก นัมไจ และเจียง หฺวา ทุกคนร่วมกันแสดงความเคารพต่อเหมาหลังจากที่อสัญกรรม

พิธีศพและพิธีรำลึก

แก้
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก
  สารคดีทางการจีนเกี่ยวกับงานศพของเหมา เจ๋อตง

ร่างของเหมาที่ผ่านการดอง ห่มด้วยธงพรรคคอมมิวนิสต์จีนถูกตั้งไว้ในมหาศาลาประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้มาแสดงความอาลัยเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์[6] ในช่วงเวลานี้ ประชาชนประมาณหนึ่งล้านคน รวมถึงทูตานุทูต ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ต่างประเทศ และชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศจีนได้เข้าแถวผ่านหน้าเหมาเพื่อแสดงความเคารพครั้งสุดท้าย ภาพเหมือนอย่างเป็นทางการของประธานเหมาถูกแขวนไว้บนผนัง พร้อมด้วยป้ายที่มีข้อความว่า "สานต่อเจตนารมณ์ของประธานเหมาและการปฏิวัติของกรรมาชีพจนถึงที่สุด" จนถึงวันที่ 17 กันยายน[6] วันที่ 17 กันยายน ร่างของเหมาถูกเคลื่อนโดยรถมินิบัสจากมหาศาลาประชาชนไปยังหมู่บ้านเหมาเจียว่าน และส่งต่อไปยังโรงพยาบาล 305 ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของหลี่ จื้อสุย เพื่อนำอวัยวะภายในของเหมาไปเก็บรักษาในฟอร์มาลดีไฮด์[6]

ปฏิกิริยา

แก้
  •   แอลเบเนีย – คณะกรรมาธิการกลางพรรคแรงงานแอลเบเนียและรัฐบาลอัลบาเนียได้ประกาศให้วันที่ 16–18 กันยายนเป็นวันไว้ทุกข์แห่งชาติ โดยให้ลดธงชาติครึ่งเสาและงดกิจกรรมนันทนาการและกีฬาทุกชนิด[7]
  •   ออสเตรเลียเซอร์ จอห์น เคอร์ ผู้สำเร็จราชการออสเตรเลีย กล่าวว่า "ข้าพเจ้าทราบดีว่าในวันนี้ชาวจีนทุกคนต่างรู้สึกราวกับสูญเสียบุพการีผู้เป็นที่เคารพนับถือที่สุดไปคนหนึ่ง" แมลคัม เฟรเซอร์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ด้วยการชี้นำและกำลังใจจากท่าน จีนจึงสามารถฟื้นคืนศักดิ์ศรีของชาติและเกียรติภูมิในระดับสากลได้"[8]
  •   สาธารณรัฐประชาชนคองโก – องค์กรสูงสุดได้ประชุมกันในวันที่ 10 กันยายน และได้มีมติ 5 ข้อ เกี่ยวกับการไว้ทุกข์แห่งชาติหลังการอสัญกรรมของเหมา โดยวันที่ 13 กันยายนได้ถูกประกาศให้เป็นวันไว้ทุกข์แห่งชาติ[7]
  •   ฝรั่งเศส – ประธานาธิบดีวาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง กล่าวว่าเหมา "ได้ปลดปล่อยจีนให้พ้นจากความอัปยศอดสูในอดีต และฟื้นฟูสถานะอันทรงเกียรติของจีนที่ประวัติศาสตร์ได้มอบให้ ฝรั่งเศสจะไม่มีวันลืมว่าเป็นประธานเหมาและนายพลเดอ โกล ผู้ชื่นชมท่านอย่างสุดซึ้งที่เป็นผู้ริเริ่มความสัมพันธ์อันดีและพัฒนาความร่วมมือระหว่างเราทั้งสองประเทศ"[9]
  •   อินเดียอินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "รัฐบาลและประชาชนชาวอินเดียขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการถึงแก่อสัญกรรมของประธานเหมา เจ๋อตง รัฐบุรุษผู้ทรงเกียรติที่นำพาประชาชนชาวจีนให้ฟื้นฟูและก้าวหน้า[10]
  •   ญี่ปุ่นทาเกโอะ มิกิ นายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางไปยังสถานเอกอัครราชทูตจีนเพื่อแสดงความอาลัยเป็นการส่วนตัว และได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า "ขณะนี้ ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนกำลังพัฒนาขึ้น พวกเขาได้สูญเสียผู้นำที่ยิ่งใหญ่ และรู้สึกเสียใจอย่างจริงใจ" และสำนักข่าวซินหัวได้เผยแพร่ข่าวนี้อย่างเป็นทางการในญี่ปุ่น หลังจากแสดงเจตนารมณ์อันดีต่อปักกิ่งแล้ว เขาได้ย้ำถึงการสนับสนุนของปักกิ่งต่อการอ้างสิทธิ์ของญี่ปุ่นในการกู้คืนเกาะทางตอนเหนือทั้งสี่เกาะที่ถูกสหภาพโซเวียตยึดครอง[ต้องการอ้างอิง]
  •   กัมพูชา – รัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยได้ประกาศไว้ทุกข์ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 12–18 กันยายน[7]
  •   สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีคิม อิล-ซ็อง เลขาธิการ ได้ส่งโทรเลขแสดงความเสียใจไปยังพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งระบุว่า "ในช่วงการปลดปล่อยชาติและการต่อสู้ที่รุนแรงของประชาชนเกาหลีต่อการรุกรานด้วยอาวุธของจักรวรรดินิยมสหรัฐ สหายเหมา เจ๋อตง ได้ทำลายอุปสรรคทั้งภายในและนอกประเทศของศัตรู ขับเคลื่อนการต่อต้านสหรัฐ ให้ความช่วยเหลือแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี และใช้เลือดหลั่งเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ที่ชอบธรรมของประชาชนเรา"[11] รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ประกาศให้วันที่ 10–18 กันยายน เป็นช่วงเวลาไว้ทุกข์แห่งชาติ โดยมีการลดธงครึ่งเสาและจัดพิธีไว้อาลัยครั้งใหญ่[11]
  •   มัลดีฟส์ประธานาธิบดีอิบราฮิม นาซีร์ ได้ส่งสารแสดงความเสียใจไปยังพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยได้แสดงความอาลัยต่อพรรคและประชาชนชาวจีนต่อการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา เจ๋อตง พร้อมกันนี้ เขาได้ประกาศให้มีการไว้ทุกข์ทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วันโดยให้ลดธงชาติครึ่งเสา
  •   ปากีสถาน – ในวันที่ 9 กันยายน ประธานาธิบดีฟาซาล อิลาฮี ชาวดรี ได้ออกแถลงการณ์ว่า "ในฐานะบิดาแห่งการปฏิวัติจีนที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของประชากรโลกหนึ่งในสี่ส่วน ประธานเหมาเป็นหนึ่งในผู้นำที่โดดเด่นที่สุดตลอดกาล ในฐานะนักการเมืองและนักคิด ท่านได้ทิ้งร่องรอยอันลึกซึ้งไว้ในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ การจากไปของท่านไม่เพียงแต่เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวจีนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นความสูญเสียของประชาชนทั่วโลกด้วย" ซัลฟิการ์ อาลี บุตโต นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ประธานเหมา เจ๋อตง ห่วงใยในความสุขและความเจริญก้าวหน้าของปากีสถานมาโดยตลอด ทำให้ท่านอยู่ในใจของเราตลอดไป ประชาชนชาวปากีสถานขอไว้อาลัยต่อการจากไปของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้"[12] รัฐบาลปากีสถานได้ประกาศไว้ทุกข์เป็นเวลา 7 วันโดยลดธงชาติครึ่งเสา
  •   สาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนียนีกอลาเอ ชาวูเชสกู เลขาธิการพรรคและประธานาธิบดี กล่าวในโทรเลขว่า "เหมา เจ๋อตง เป็นมิตรสหายที่ใกล้ชิดของประชาชนโรมาเนีย ท่านทุ่มเททำงานอย่างอุตสาหะเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพรรคทั้งสอง ประเทศทั้งสอง และประชาชนทั้งสอง เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ และเพื่ออุดมการณ์สังคมนิยมและสันติภาพ"[13] รัฐบาลโรมาเนียประกาศให้วันที่ 18 กันยายน เป็นวันไว้ทุกข์แห่งชาติ[14]
  •   เซียร์ราลีโอน – รัฐบาลเซียร์ราลีโอนประกาศไว้ทุกข์ทั่วประเทศเป็นเวลา 9 วัน[7]
  •   สหภาพโซเวียต – ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างจีนและโซเวียตที่ตึงเครียดมาก สหภาพโซเวียตจึงกล่าวถึงการอสัญกรรมของเหมา เจ๋อตง เพียงสั้น ๆ ในมุมของหนังสือพิมพ์ทางการ และได้วิพากษ์วิจารณ์ลัทธิเหมาผ่านทางสำนักข่าวทาสส์[15]
  •   ศรีลังกา – รัฐบาลศรีลังกาประกาศไว้ทุกข์ทั่วประเทศเป็นเวลา 9 วันโดยลดธงชาติครึ่งเสา[7]
  •   แทนซาเนีย – ประธานาธิบดีจูเลียส นเยเรเร ได้ประกาศไว้ทุกข์ทั่วประเทศเป็นเวลา 9 วัน[7]
  •   ไต้หวันสมัชชาแห่งชาติสาธารณรัฐจีนได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 10 กันยายน เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มกบฏต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแผ่นดินใหญ่) ใช้ประโยชน์จากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลี่ ยฺวี่เจิน ประธานสมาคมกีฬาสาธารณรัฐจีน และสมาคมกีฬาอีก 45 สมาคม ได้ส่งเสริมให้นักกีฬาแผ่นดินใหญ่ใช้การแข่งขันระดับนานาชาติในการหลบหนี[16]
  •   สหราชอาณาจักรสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจมส์ คัลลาฮาน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "อิทธิพลของเหมาแผ่ไพศาลเกินขอบเขตของประเทศจีน และท่านจะต้องถูกจดจำในฐานะนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างแน่นอน"[17]
  •   สหรัฐอเมริกา – ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ได้ส่งข้อความถึงปักกิ่งเป็นครั้งแรกซึ่งมีใจความว่า "เมื่อข้าพเจ้าเดินทางเยือนปักกิ่งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1975 ข้าพเจ้ามีเกียรติได้พบปะกับประธานเหมา การสนทนาของเราได้ส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนไปตามแนวทางที่ทั้งสองประเทศได้วางไว้ ข้าพเจ้าขอยืนยันอีกครั้งในขณะนี้เช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะดำเนินการให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศกลับสู่ภาวะปกติบนพื้นฐานของแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ อันจะเป็นช่องทางที่เหมาะสมในการยกย่องวิสัยทัศน์ของท่านและจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ"[18] นอกจากนี้ เขายังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในวันนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศการถึงแก่อสัญกรรมของประธานเหมา เจ๋อตง ประธานเหมาเป็นบุคคลสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ท่านเป็นผู้นำที่มีการกระทำซึ่งส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการพัฒนาของประเทศของท่าน อิทธิพลของท่านที่มีต่อประวัติศาสตร์จะแผ่ขยายออกไปไกลเกินกว่าขอบเขตของประเทศจีน ชาวอเมริกันจะจดจำว่าภายใต้การนำของประธานเหมา จีนได้ร่วมมือกับสหรัฐเพื่อยุติความเป็นปรปักษ์ซึ่งดำรงอยู่ต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วอายุคน และเพื่อเริ่มต้นยุคใหม่แห่งความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเป็นบวกมากยิ่งขึ้นระหว่างประเทศทั้งสองของเรา ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าแนวโน้มของความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐซึ่งประธานเหมาได้มีส่วนร่วมในการสร้างขึ้นนั้นจะยังคงมีส่วนสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพโลก ในนามของรัฐบาลสหรัฐและประชาชนชาวอเมริกัน ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจต่อรัฐบาลและประชาชนของสาธารณรัฐประชาชนจีน"[19]
  •   สาธารณรัฐเวเนซุเอลา – ประธานาธิบดีคาร์ลอส อันเดรส เปเรซ ได้ประกาศไว้ทุกข์ทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วันโดยให้ลดธงชาติครึ่งเสา[7]
  •   เวียดนามพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า "ประชาชนเวียดนามจะจดจำคำกล่าวที่เปี่ยมด้วยความเคารพของประธานเหมาเสมอ ซึ่งท่านกล่าวว่า "ประชาชนจีน 700 ล้านคนให้การสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งแก่ประชาชนเวียดนาม และดินแดนจีนอันกว้างใหญ่เป็นแนวหลังที่เชื่อถือได้ของประชาชนเวียดนาม" เราประชาชนชาวเวียดนามรู้สึกขอบคุณท่านประธานเหมา พรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาลจีน และประชาชนจีนเป็นอย่างยิ่งที่ให้การสนับสนุนและความช่วยเหลืออันยิ่งใหญ่และมีค่าแก่การปฏิวัติของเรา"[20]
  •   ยูโกสลาเวีย – ประธานาธิบดียอซีป บรอซ ตีโต กล่าวว่า "การถึงแก่อสัญกรรมของประธานเหมา เจ๋อตง ทำให้ประชาชนชาวจีนสูญเสียผู้นำที่โดดเด่นที่สุดของพวกเขา หากไม่มีเขา จีนยุคใหม่คงเป็นไปไม่ได้"[21]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Chang, Jung; Halliday, Jon (2005). Mao: The Unknown Story. London: Jonathan Cape. ISBN 978-0224071260.
  2. Palmer, James (3 January 2012). "6 You die, I live". Heaven Cracks, Earth Shakes: The Tangshan Earthquake and the Death of Mao's China. New York: Basic. p. 196. ISBN 9780465023493.
  3. Spence, Jonathan (1999). Mao Zedong. Penguin Lives. New York: Viking Press. pp. 176–177. ISBN 978-0670886692.
  4. "Mao Tse-Tung Dies In Peking At 82; Leader Of Red China Revolution; Choice Of Successor Is Uncertain". The New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 27, 2014. สืบค้นเมื่อ October 25, 2014.
  5. Bill Savadove (20 May 2008). "Biggest mourning since Mao died". South China Morning Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 June 2022. สืบค้นเมื่อ 9 June 2022.
  6. 6.0 6.1 6.2 Christine Quigley (1998). Modern Mummies: The Preservation of the Human Body in the Twentieth Century (illustrated, reprint ed.). McFarland. pp. 40–42. ISBN 978-0-7864-2851-9. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 January 2023. สืบค้นเมื่อ July 28, 2015.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 "Solemn Mass Memorial Meeting to Mourn the Great Leader and Teacher Chairman Mao Tsetung" (PDF). 北京周報 [Peking Review]. No. 39. 24 September 1976. p. 7. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 17 April 2021. สืบค้นเมื่อ 3 September 2023.
  8. 澳大利亚总理弗雷泽的唁电 [Australian Prime Minister Fraser's condolences]. 人民日報. 1976-09-12.
  9. "法国总统德斯坦的唁电". 人民日報. 1976-09-12.
  10. "Death of Chairman Mao Tse-tung, P.M.'s Condolence Message" (PDF). Press Information Bureau of India - Archive (Press release). 9 September 1976. สืบค้นเมื่อ 17 April 2020.
  11. 11.0 11.1 金日成 (1976-09-11). "金日成同志的唁电". 人民日報.
  12. "巴基斯坦總統、總理發來的唁電". 人民日報. 1976-09-11.
  13. 齊奧塞斯庫 (1976-09-11). "齐奥塞斯库同志的唁电". 人民日報.
  14. "罗马尼亚隆重举行毛泽东主席追悼大会 毛泽东主席永远活在世界人民心中 博布、尼古列斯库等领导人出席 勒杜列斯库同志致悼词". 人民日報. 1976-09-19.
  15. "共匪拒收 俄共唁電". 聯合報. 1976-09-15.
  16. "國代呼籲大陸同胞 及時奮起摧毀暴政". 聯合報. 1976-09-11.
  17. 詹姆斯·卡拉汉 (1976-09-12). "英国首相卡拉汉的唁电". 人民日報.
  18. "美国总统福特的唁电". 人民日報. 1976-09-14.
  19. Remarks on the Death of Chairman Mao Tse Tung (PDF). 1976-09-09. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 14 August 2022. สืบค้นเมื่อ 2020-11-18.
  20. "越南劳动党中央、国会常务委员会和政府会议的唁电". 人民日報. 1976-09-12.
  21. 约瑟普·布罗兹·铁托 (1976-09-11). "南斯拉夫总统铁托的唁电". 人民日報.