เจียง ชิง (จีน: 江青; พินอิน: Jiāng Qīng; 19 มีนาคม ค.ศ. 1914 – 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1991) เป็นนักแสดงหญิงชาวจีน ใช้ชื่อในการแสดงว่า หลาน ผิง (藍蘋) มีบทบาทสำคัญทางการเมืองในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมระหว่าง ค.ศ. 1966–1976 ฐานะที่เป็นภริยาคนที่สี่ของเหมา เจ๋อตง (毛泽东) ผู้เป็นประธานกรรมการกลางพรรคสังคมนิยมจีน (中国共产党中央委员会主席) และผู้นำสูงสุด (最高領導人) ของประเทศจีน

เจียง ชิง
江青
ใน ค.ศ. 1976
คู่สมรสผู้นำสูงสุดจีน
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 – 9 กันยายน ค.ศ. 1976
ผู้นำเหมา เจ๋อตง
ถัดไปหาน จือจฺวิ้น (韩芝俊)
คู่สมรสประธานาธิบดีจีน
ดำรงตำแหน่ง
27 กันยายน ค.ศ. 1954 – 27 เมษายน ค.ศ. 1959
ประธานาธิบดีเหมา เจ๋อตง
ถัดไปหวัง กวางเหม่ย์ (王光美)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
หลี่ ชูเหมิง (李淑蒙)

19 มีนาคม ค.ศ. 1914
จูเฉิง, ชานตง, สาธารณรัฐจีน
เสียชีวิตพฤษภาคม 14, 1991(1991-05-14) (77 ปี)
เป่ย์จิง, สาธารณรัฐประชาชนจีน
พรรคการเมืองพรรคสังคมนิยมจีน
คู่สมรสเหมา เจ๋อตง
บุตรหลี่ น่า (李訥)
โทษทางอาญาประหารชีวิตโดยรอการลงโทษ, ภายหลังลดเป็นจำคุกตลอดชีวิต

เธอออกจากอาชีพนักแสดงเมื่อ ค.ศ. 1938 เพื่อสมรสกับเหมา เจ๋อตง ในเดือนพฤศจิกายน ปีนั้น ที่หยานอาน (延安) จึงได้เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกของประเทศ เธอมีบทบาทสำคัญมากในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม และในการสร้างพันธมิตรทางการเมืองหัวรุนแรงที่เรียกว่า "กลุ่มสี่คน" (四人帮) หรือ "แก๊งออฟโฟร์" (Gang of Four)

เมื่อสมรสกับเหมา เจ๋อตง แล้ว เธอทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัวของเขาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 และเป็นหัวหน้ากองภาพยนตร์ในกรมประชาสัมพันธ์ของพรรคสังคมนิยมในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 เธอยังเป็นตัวแทนคนสำคัญของเหมา เจ๋อตง ในช่วงต้นปฏิวัติวัฒนธรรม ต่อมาใน ค.ศ. 1966 เธอได้เป็นรองหัวหน้ากลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรมส่วนกลาง (中央文革小组) ของพรรคสังคมนิยม แล้วร่วมมือกับนายพลหลิน เปียว (林彪) ส่งเสริมคตินิยมของเหมา เจ๋อตง และช่วยกันโหมประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับบารมีของเหมา เจ๋อตง เธอมีอิทธิพลมากในวงราชการช่วงที่การปฏิวัติวัฒนธรรมมาถึงขีดสุด โดยเฉพาะในด้านศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังมีการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับเธอทำนองเดียวกับสามี ทำให้ใน ค.ศ. 1969 เธอได้ตำแหน่งในสภาปกครองส่วนกลาง (中央政治局) ของพรรคสังคมนิยม

ก่อนเหมา เจ๋อตง เสียชีวิตใน ค.ศ. 1976 กลุ่มสี่คนของเธอมีอำนาจมาก ควบคุมสถาบันการเมืองหลายแห่งของจีน รวมถึงหน่วยงานสื่อและประชาสัมพันธ์ แต่เธอมักผิดใจกับผู้บริหารระดับสูงของพรรคสังคมนิยมเวลาที่อ้างว่าตนเองได้รับความชอบธรรมทางการเมืองในฐานะภริยาของเหมา เจ๋อตง ครั้นเหมา เจ๋อตง สิ้นใจแล้ว ความรุ่งเรืองทางการเมืองของเธอก็สิ้นสุดตามไปด้วย ผู้สืบทอดตำแหน่งของเหมา เจ๋อตง คือ ฮั่ว กั๋วเฟิง (华国锋) สั่งจับกุมเธอไปไต่สวนเหตุที่สร้างความเสื่อมเสียมากมายแก่ประเทศอันเนื่องมาจากการปฏิวัติวัฒนธรรม[1] เดิมที เธอถูกพิพากษาประหารชีวิต แต่มีการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตใน ค.ศ. 1983 และเมื่อเธอได้รับการปล่อยออกจากคุกไปรักษาพยาบาล เธอก็แขวนคอตายในห้องน้ำของโรงพยาบาลเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1991[2][3]

อ้างอิง แก้

  1. A Great Trial in Chinese History — the Trial of the Lin Biao and Jiang Qing Counter-Revolutionary Cliques, Beijing/Oxford: New World Press/Pergamon Press, 1981, p. title, ISBN 0-08-027918-X
  2. Stefan R. Landsberger (2008). Madame Mao: Sharing Power with the Chairman.
  3. Kristof, Nicholas D. (1991-06-05). "New York Times". Nytimes.com. สืบค้นเมื่อ 2012-12-13.