วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์

วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ (เกิด 23 ธันวาคม พ.ศ. 2524) เป็นกรรมการในคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย 3 สมัย และอดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย

วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต 4
เริ่มดำรงตำแหน่ง
14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
(1 ปี 125 วัน)
ก่อนหน้าวิสาร เตชะธีราวัฒน์
เขตเลือกตั้งอำเภอพาน อำเภอป่าแดด และอำเภอเมืองเชียงราย (เฉพาะตำบลดอยลาน
และตำบลห้วยสัก)
คะแนนเสียง39,589 (37.34%)
ดำรงตำแหน่ง
23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556
ก่อนหน้าวิสาร เตชะธีราวัฒน์
ถัดไปวิสาร เตชะธีราวัฒน์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด23 ธันวาคม พ.ศ. 2524 (42 ปี)
อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย
พรรคการเมืองพลังประชาชน (2550–2551)
เพื่อไทย (2551–ปัจจุบัน)
คู่สมรสจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
(สมรส 2553)

ประวัติ

แก้

วิสาระดี (ชื่อเล่น ยิ้ม) เกิดเมื่อวันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2524 (42 ปี) ที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรสาวคนเดียวของวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยและนางสมสะอาด เตชะธีราวัฒน์[1] จบการศึกษาจากโรงเรียนศิริมาตย์เทวี อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ก่อนจะเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี กรุงเทพมหานคร จากนั้นจึงเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และได้โอนย้ายไปศึกษาต่อในสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยวูลองกอง (Wollongong) ประเทศออสเตรเลีย และ ปริญญาโท ในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแทมเบีย (Northumbria) เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ

วิสาระดี มีชื่อเดิมว่า วิมลสิริ แต่เปลี่ยนเป็น วิสาระดี เพียง 2 เดือนก่อนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เท่านั้น โดยมี ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ เป็นผู้ตั้งให้ โดยมาจากชื่อ วิสาร ของบิดา ส่วนชื่อเล่นว่า ยิ้ม มาจากเมื่อตอนเป็นเด็กเป็นคนยิ้มง่ายหรือหัวเราะง่าย บิดาจึงให้ชื่อว่า ยิ้ม

ส่วนตัว นางวิสาระดีชื่นชอบการอภิปรายของเชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ[2] ชีวิตส่วนตัวสมรส กับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย บุตรชายของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553[3] และในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เธอได้ให้กำเนิดบุตรสาวคนแรก[4]

การเมือง

แก้

วิสาระดี ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ในเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดเชียงราย สังกัดพรรคพลังประชาชน และได้รับเลือกเป็นอันดับที่ 2 ของเขต พร้อมกับนายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ยุบพรรค จึงย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551

ต่อมา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552 นางวิสาระดี ได้รับมอบหมายจากพรรค ให้เป็นหนึ่งในผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีสาระสำคัญคือ นายกษิตเป็นบุคคลที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ ขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากในขณะที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตในหลายประเทศ ได้ก่อความขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชาหลายครั้ง อีกทั้งใช้ตำแหน่งหน้าที่ บีบบังคับให้นักธุรกิจส่งออก จัดหาเปียโนมามอบให้ตน โดยอ้างว่าจะนำไปให้กับผู้ใหญ่ แต่กลับนำมาประดับบ้านของตนเอง การขอโควตาตั๋วเครื่องบินไปกลับ กรุงเทพฯ-ประเทศญี่ปุ่น จากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปีละ 500 ใบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับญาติพี่น้องในการเดินทาง รวมถึงการสนทนากับพระภิกษุสงฆ์อย่างไม่ให้ความเคารพ เป็นต้น

โดยระหว่างที่นางวิสาระดีกำลังอภิปรายอยู่นั้น นางสาวรังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นประท้วงโดยอ้างว่า นางสาววิสาระดี อ่านเอกสารตลอดการอภิปราย ซึ่งเป็นการผิดข้อบังคับการประชุม จึงขอตรวจสอบเอกสารฉบับนั้นด้วย อีกทั้งกล่าวหาว่า แม้จะจบการศึกษาจากต่างประเทศ แต่การกระทำดังกล่าว ก็แสดงให้เห็นว่า มิได้ใช้สมองของตนเอง จึงทำให้เกิดการลุกขึ้นประท้วง จาก ส.ส.หญิงของพรรคเพื่อไทยหลายคน ที่ขอให้ถอนคำพูด ซึ่งในท้ายที่สุด นางสาวรังสิมา ก็ยอมถอนคำพูดดังกล่าว แต่ยังได้กล่าวต่อไปว่า หากยังทำเช่นนี้อีก ตนจะต่อว่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรงกว่าเดิม นอกจากนี้ ยังมี ส.ส.หญิงจากพรรคประชาธิปัตย์ คือ นางสาวสุพัชรี ธรรมเพชร ส.ส.พัทลุง, นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช และ นางพัฒนา สังขทรัพย์ ส.ส.เลย พรรคภูมิใจไทย ที่ร่วมประท้วงด้วย

ทั้งนี้ นางวิสาระดี ได้ใช้สิทธิพาดพิง โดยกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ตนมิได้มายอวาที หากกล่าวหาว่า จบปริญญาโทจากเมืองนิวคาสเซิล แล้วจะไม่มีสมอง นายอภิสิทธิ์ ซึ่งเกิดที่เมืองนี้ ก็คงไม่มีสมองด้วยเช่นกัน และตนจะไม่กล่าวว่าถูกรังแก แต่ตนถือว่า เป็น ส.ส.สมัยใหม่ ได้ประสบกับเหตุการณ์นี้ ก็เท่ากับแจ้งเกิดในสภาฯ แล้ว

นางวิสาระดี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังการอภิปรายว่า ตนได้รับการสอนเทคนิคการอภิปราย และคำแนะนำจาก นายอดิศร เพียงเกษ, นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย, เชาวรินธร์ ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.ระบบสัดส่วน และ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งความดำเนินคดีกับนางสาววิสาระดีข้อหาหมิ่นศาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งในตอนหนึ่งนางวิสาระดีกล่าวพาดพิงศาลว่า ศาลได้กลั่นแกล้งพรรคพลังประชาชนทำให้พรรคถูกยุบนั้น [5]

นอกจากนี้แล้ว นางสาววิสาระดีได้เข้าร่วมชุมนุมกับทางกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน หรือ นปช. ที่ชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 อีกด้วย[6]

ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2552 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงผลการประชุมคณะทำงานโฆษกพรรคว่า การประชุมเป็นการแบ่งหน้าที่การทำงานของรองโฆษกพรรคที่มีการตั้งขึ้นเพิ่มเติมอีก 8 คน จากเดิมที่มีรองโฆษกเพียงคนเดียว โดยเป็น ส.ส.ถึง 6 คน คือ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา นางฐิติมา ฉายแสง ส.ส.ฉะเชิงเทรา นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย สำหรับคนนอกที่มารับตำแหน่งรองโฆษกอีก 2 คนคือ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ และนายพิทยา พุกกะมาน อดีตผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วน รวมพรรคเพื่อไทยมีรองโฆษก 9 คน เพื่อต้องการให้มีการประสานเชื่อมโยงกับการทำงานในสภาฯของ ส.ส.ด้วยกันให้มากขึ้น เพราะบางครั้งข้อมูลที่พรรคได้รับมานั้นมาจากคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ที่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นคณะกรรมาธิการ[7]

ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 วิสาระดี ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ 3 สังกัดพรรคเพื่อไทยตามเดิม และได้รับการเลือกตั้งอีกสมัย

ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 วิสาระดีหันหลังให้กับการเมืองระดับชาติเพื่อมุ่งสู่เวทีการเมืองระดับท้องถิ่น โดยได้ลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายในนามพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีมากด้วยภาพลักษณ์ของคนหนุ่มสาวที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม สามารถตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และเป็นที่กะเก็งว่าจะได้รับเลือกตั้ง แต่ท้ายที่สุดแพ้คะแนนให้คู่แข่งไปโดยคะแนนทิ้งห่างกันไม่มากนัก

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

แก้

วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วทั้งหมด 3 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 จังหวัดเชียงราย สังกัดพรรคพลังประชาชนพรรคเพื่อไทย
  2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 จังหวัดเชียงราย สังกัดพรรคเพื่อไทย
  3. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 จังหวัดเชียงราย สังกัดพรรคเพื่อไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน นางสาว วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ครบ 1 ปี 08/12/2557[ลิงก์เสีย]
  2. รายการฅน คน ข่าว โดย กฤษณะ ไชยรัตน์ ทางเนชั่นแชนแนล วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552
  3. ปีเสือดุ น้องยิ้ม-จุลพันธ์ ตั้งเป้ามีลูกปีหน้า
  4. ข่าวดี
  5. ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งความ วิสาระดี หมิ่นศาล http://hilight.kapook.com/view/35211
  6. “วิสาระดี” เยิ้มร่า “พงศ์เทพ-นพดล” โดดช่วยสู้คดีหมิ่นศาล [ลิงก์เสีย]
  7. พท.ตั้งทีมโฆษกฯพร้อมแบ่งงาน[ลิงก์เสีย]
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสายสะพาย ประจำปี ๒๕๖๗, เล่ม ๑๔๑ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๔, ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๗
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๗๒, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้