พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์
ดร.พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ (ชื่อเดิม: นิดพร, นพพร ชื่อเล่น: ตั้ม)[2] อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย อดีตโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อดีตโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และอดีตนักแสดง
![]() | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | นิดพร นพฤทธิ์ 16 มกราคม พ.ศ. 2504 จังหวัดพังงา, ประเทศไทย[1] |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ (2549-2550) พลังประชาชน (2550-2551) เพื่อไทย (2551-2558, 2562-ปัจจุบัน) |
ความสูง | 180 เซนติเมตร (5 ฟุต 11 นิ้ว) |
คู่สมรส | พรพรรณ เชาวฤทธิ์ (หย่า) |
ประวัติและการศึกษา แก้ไข
พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2504 ที่ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นบุตรชายของนวบ (บิดา) และประถมาภรณ์ (มารดา) พร้อมพงศ์ มีชื่อเดิมว่า นิดพร ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น นพพร และพร้อมพงศ์ ในช่วงที่เป็นนักแสดง ตามลำดับ
พร้อมพงศ์จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนตะกั่วป่า “เสนานุกูล” สำเร็จปริญญาศึกษาศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง, ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (การสื่อสารการเมือง) รุ่นที่ 2 ของมหาวิทยาลัยเกริก และปริญญาเอก คณะปรัชญา สาขาการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยปทุมธานี[3]
ชีวิตส่วนตัวเคยใช้ชีวิตครอบครัวร่วมกับ พรพรรณ เชาวฤทธิ์ มิสทีนไทยแลนด์ ปี 2533 นักแสดงละครจักรๆ วงศ์ๆ โดยมีบุตรสาว 1 คน บุตรชาย 2 คน ปัจจุบันทั้งคู่แยกทางกันมาแล้วหลายปี
การแสดง แก้ไข
หลังจากจบชั้น มศ.5 พร้อมพงศ์เดินทางเข้าศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งรับจ้างทำงานทุกประเภท จนกระทั่งเพื่อนชวนไปเป็นนายแบบ และมีผลงานถ่ายแบบนิตยสาร เดินแบบแฟชั่นโชว์ ต่อมาจึงเข้ามาอยู่โมเดลลิ่งในสังกัดซี.เอส.พี. ของสรพงศ์ ชาตรี ซึ่งมีสมนึก เอี่ยวเจริญ ผู้จัดการส่วนตัวของสรพงศ์เป็นผู้บริหาร[4] และเริ่มต้นชีวิตการแสดงจากการเป็นตัวประกอบ
จากนั้นจึงมีโอกาสแสดงเป็นพระเอกครั้งแรก ในภาพยนตร์เรื่อง เลดี้ฝรั่งดอง ในปี พ.ศ. 2527 แสดงคู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์ ถ่ายทำที่ประเทศออสเตรีย และเปลี่ยนมาใช้ชื่อในการแสดงว่า "พร้อมพงศ์" จากเดิมในช่วงที่เป็นนายแบบใช้ชื่อว่า นพพร โดยคำว่า "พร้อม" มาจากชื่อของพันคำ หรือ พร้อมสิน สีบุญเรือง ผู้เป็นเจ้าของค่ายสีบุญเรืองฟิล์มที่พร้อมพงศ์สังกัด และเป็นผู้ปลุกปั้น คำว่า "พงศ์" มาจากชื่อของ สรพงศ์ ชาตรี โดยเป็นการนำชื่อของผู้ปลุกปั้นสองคนมารวมกัน
ต่อมาจึงมีผลงานการเป็นพระเอกภาพยนตร์ไทยตามมาอีกหลายเรื่อง ภายใต้สังกัดและการผลักดันของสีบุญเรืองฟิล์ม ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคือการเป็นพระเอกคู่ขวัญกับจารุณี สุขสวัสดิ์ ซึ่งเป็นนางเอกร่วมสังกัด โดยทางสีบุญเรืองจะอาศัยกระแสความนิยมในตัวจารุณีเป็นแรงส่งพร้อมพงศ์อีกทางหนึ่ง ภาพยนตร์ที่พร้อมพงศ์เป็นพระเอกมักจะมีการขึ้นชื่อ จารุณี สุขสวัสดิ์ นางเอกไว้ก่อน[4] ทั้งคู่มีผลงานแสดงภาพยนตร์คู่กันเกือบ 20 เรื่อง เช่น เลดี้ฝรั่งดอง, เขยบ้านนอก, แม่ดอกรักเร่ เป็นต้น
พร้อมพงศ์ถือเป็นพระเอกคู่ขวัญของจารุณี เช่นเดียวกับทูน หิรัญทรัพย์, สรพงศ์ ชาตรี นอกจากนี้ยังเป็นนายแบบและพระเอกที่จัดว่ารูปร่างสูงมากในยุคนั้น ด้วยส่วนสูง 180 เซนติเมตร
จากนั้นจึงหันมาแสดงละครโทรทัศน์ และรับผลิตมิวสิกวิดีโอคาราโอเกะ พร้อมทั้งร่วมแสดง บทบาทการแสดงซึ่งเป็นที่รู้จักดีที่สุดคือ ละครโทรทัศน์ประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ จนกระทั่งได้รับรางวัลเมขลา ผู้แสดงนำชายละครสนับสนุนนิยายพื้นบ้านดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2534 จากเรื่อง ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือ สี่ยอดกุมาร อันเป็นที่มาของฉายา ที่เทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรียกว่า "เสด็จพี่" ซึ่งพร้อมพงศ์ตอบโต้ว่า จะเรียกเสด็จพี่ก็ได้ แต่อย่าเรียกเสด็จพ่อ[5]
การเมือง แก้ไข
พร้อมพงศ์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี พ.ศ. 2550 ที่จังหวัดพังงา เขต 1 ในนามพรรคพลังประชาชน แต่ไม่ได้รับเลือก ต่อมา ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โฆษกกระทรวงวัฒนธรรม ที่ปรึกษากรรมาธิการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประธานคณะทำงานประชาสัมพันธ์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการ กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ตามลำดับ ปัจจุบัน นายพร้อมพงศ์ดำรงตำแหน่ง โฆษกพรรคเพื่อไทย
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 38[6]
ต่อมาในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ศาลฎีกาพิพากษาให้เขาต้องโทษจำคุก 1 ปี จากกรณีหมิ่นประมาทนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่รอลงอาญา และเขาได้รับการพักโทษ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ตามหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ รวมระยะเวลาที่ต้องโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 9 เดือน 16 วัน[7]
หลังเงียบไปหลายปี 7 สิงหาคม พ.ศ. 2566 พร้อมพงศ์กลับมาออกสื่อเต็มตัวอีกครั้ง จากการตั้งโต๊ะแถลงโต้กลับข้อกล่าวหาของชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่มีต่อเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกพรรคเพื่อไทย
ผลงานภาพยนตร์ แก้ไข
- เลดี้ฝรั่งดอง (2527) รับบท จักรพันธ์ คู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์
- หลานสาวเจ้าสัว (2528) รับบท ธนะรัชต์ คู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์
- เขยบ้านนอก (2528) รับบท คำนวณ คู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์
- วัยเรียนเพี้ยนรัก (2528) คู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์
- หยุดโลกเพื่อเธอ (2528) รับบท โอฬาร คู่กับ พัชราพรรณ โสภิตา
- มาธาดอร์จอมเพี้ยน (2528) รับบท อนาวิน คู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์
- พ่อมหาจำเริญ (2528) รับบท อิศรา คู่กับ สินจัย เปล่งพานิช
- ตำรวจบ้าน (2529) รับบท สงคราม คู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์
- ลูกสาวเถ้าแก่เฮง (2529) คู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์
- แด่คุณครูด้วยหัวใจ (2529) คู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์
- เครื่องแบบสีขาว (2529) รับบท อรชุน คู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์
- เจ้าสาวมะลิซ้อน (2529) รับบท ทองดี คู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์
- ราชินีดอกหญ้า (2529) รับบท ทรงวิทย์ คู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์
- แม่ดอกรักเร่ (2529) รับบท เทพ คู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์
- ยุ่งนักรักซะเลย (2529) คู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์
- บ๊ายบายไทยแลนด์ (2530) *ไม่ได้ฉาย* คู่กับ จามจุรี เชิดโฉม
- ก้อ...โอเคนะ (2530) รับบท แก่ / แกรี่
- รักสำรอง (2531) รับบท นนท์
- เพชรเหนือเพชร (2531)
- ราชสีห์หน้าเซ่อ (2531) คู่กับ กัลยา ทองสุขใส
- นางกลางไฟ (2531) รับบท กิจจา
- ตัณหาเถื่อน (2531) รับบท วิรุฬ
- ดอกไม้ร่วงที่สันทราย (2535)
- บุญเพ็ง หีบเหล็ก (2547) รับบท บุญเพ็ง
- 2 ผู้ยุ่งเหยิง (2547) รับบท พตท.วันเผด็จ
- โคตรเพชฌฆาต (2548) รับบท ปลัดอำเภอ
ผลงานละครโทรทัศน์ แก้ไข
- เรื่องสั้นวันจันทร์ (2531) ช่อง 7
- แววมยุรา (2532) ช่อง 7 รับบท จักร / สยุมภูว์ ทศพล คู่กับ อภิรดี ภวภูตานนท์
- ปริศนาของเวตาล (2532) ช่อง 7 รับบท คุณากร
- แม่มหาชัย (2532) ช่อง 9
- แก้วตาเสือ (2532) ช่อง 7 รับบท ดลภพ คู่กับ ชไมพร จตุรภุช
- ห้องหุ่น (2532) ช่อง 7 รับบท ไก่ คู่กับ ธนาภรณ์ จิตต์จำรึก
- เพลิงพ่าย (2533) ช่อง 9 รับบท วุฒิ คู่กับ จามจุรี เชิดโฉม
- ดิน น้ำ ลม ไฟ (2534) ช่อง 7 รับบท จุลณีย์ คู่กับ เสาวลักษณ์ ศรีอรัญญ์
- ละอองดาว (2534) ช่อง 7
- คู่ทรหด (2534) ช่อง 5 (ละครสั้นประกอบรายการคู่ทรหด)
- คดีแดง (2534) ช่อง 7 รับเชิญ (ตอน คิดผิด)
- มาลัยทอง (2535) ช่อง 7
- ลูกเมียเก่า (2535) ช่อง 7
- เหตุเกิดที่สน. (2535) ช่อง 7 รับเชิญ
- ภูติสาวเจ้าเสน่ห์ (2536) ช่อง 3 คู่กับ นิสา วงศ์วัฒน์
- เกราะเพชรเจ็ดสี (2538) ช่อง 7 รับบท สหัสชัย
- สายโลหิต (2538) ช่อง 7 รับเชิญ
- พรหมลิขิตจากนิ้วป้อมๆ (2538) ช่อง 7
- กัณหา ชาลี (2539) ช่อง 7 รับเชิญ
- ดอกแก้ว (2539) ช่อง 7 รับเชิญ
- มณีนพเก้า (2539) ช่อง 7
- ดวงใจพิสุทธิ์ (2540) ช่อง 7 รับเชิญ
- น้ำใจแม่ (2540) ช่อง 7
- ขวานฟ้าหน้าดำ (2541) ช่อง 7
- หนุ่มทิพย์ (2542) ช่อง 7 รับเชิญ
- เทพศิลป์ อินทรจักร (2542) ช่อง 7
- มัสยา (2543) ช่อง 7
- นางสิบสอง (2543) ช่อง 7 รับบท นนท์
- แก้วหน้าม้า (2544) ช่อง 7
- ดาวพระศุกร์ (2545) ช่อง 7
- ยอพระกลิ่น (2546) ช่อง 7 รับเชิญ
- สิงหไกรภพ (2547) ช่อง 7
- ผักบุ้งกับกุ้งนาง (2547) ช่อง 7 รับเชิญ
- ดาวเปื้อนดิน (2551) ช่อง 7
ผลงานมิวสิควิดีโอ แก้ไข
- เพลง ช้ำคือเรา ของ นิตยา บุญสูงเนิน (2538)
- มิวสิควิดีโอคาราโอเกะ ค่าย Rose Media & Entertainment
ผลงานเบื้องหลัง แก้ไข
- มิวสิกวิดีโอคาราโอเกะ รับผลิต และร่วมแสดง
- 2 ผู้ยุ่งเหยิง 2547 (โฮมมูฟวี่) อำนวยและควบคุมการผลิต, บทประพันธ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้ไข
- พ.ศ. 2555 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[8]
- พ.ศ. 2554 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[9]
อ้างอิง แก้ไข
- ↑ พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ "สิ่งที่ทำไม่ได้สร้างภาพ"
- ↑ พระเอกละคร หึงเมียทุบรถ เก็บถาวร 2007-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำเนาจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, 12 เมษายน 2550
- ↑ สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยปทุมธานี[ลิงก์เสีย]
- ↑ 4.0 4.1 "พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์". www.fapot.or.th (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ รายการบอกข่าวเล่าเรื่อง ทางช่อง 9 : 23 มกราคม พ.ศ. 2553 เก็บถาวร 2010-01-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคเพื่อไทย)
- ↑ พักโทษ"พร้อมพงศ์-เกียรติอุดม"คืนสู่อิสรภาพ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๕ เก็บถาวร 2013-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๓๕ ข หน้า ๗๔, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2012-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๑๘๓, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
แหล่งข้อมูลอื่น แก้ไข
- ชีวประวัติ พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ที่เว็บไซต์ หนังดี.คอม