คาราโอเกะ
คาราโอเกะ (ญี่ปุ่น: カラオケ; โรมาจิ: Karaoke) เป็นความบันเทิงชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในรูปแบบของเพลงบรรเลง หรือเพลงที่ปิดเสียงร้องของนักร้องไว้ ผู้ใช้งานจะร้องเพลงนั้นผ่านไมโครโฟน โดยมีเนื้อเพลงขึ้นมาแสดงบนหน้าจอเป็นช่วง ๆ เพื่อช่วยในการร้อง นอกจากนี้แล้วบางครั้งยังมีการเปลี่ยนสีตัวอักษร โดยกวาดเลื่อนสีใหม่ทับสีเดิมตามความเร็วและจังหวะที่ถูกต้องในการร้องอีกด้วย คาราโอเกะมีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น จากนั้นก็แพร่หลายไปยังส่วนอื่นๆ ของเอเชียตะวันออกและทั่วโลก
การให้บริการคาราโอเกะจะมีหลากหลายรูปแบบ เช่นการให้บริการตู้คาราโอเกะ, ห้องส่วนตัว หรือห้องรวมพร้อมอุปกรณ์คาราโอเกะในสถานบันเทิงหรือร้านอาหาร โดยสถานบันเทิงคาราโอเกะบางแห่งอาจมีการบริการขายบริการทางเพศพ่วงเข้ามาด้วย[1]
ที่มาของคำ
แก้คำว่า คาราโอเกะ (カラオケ) มาจากคำว่า "คาระ" (空 หรือ カラ) หมายถึง ว่างเปล่า และ "โอเกะ" (オーケ) ซึ่งย่อจากคำว่า "โอเกซูโตระ" (オーケストラ) หมายถึง ออร์เคสตรา[2]
คำนี้ถูกใช้เป็นศัพท์สแลงด้านสื่อ เมื่อการบรรเลงสดถูกแทนที่ด้วยดนตรีที่บันทึกเอาไว้ก่อน และเขียนเป็นตัวอักษรคาตากานะ คำว่า "คาราโอเกะ" ยังตีความได้ว่า "วงออร์เคสตราเสมือนจริง" เพราะคนคนเดียวก็สามารถควบคุมดนตรีและเริ่มต้นร้องไปได้โดยไม่ต้องมีวงดนตรีจริง ๆ ในสหรัฐอเมริกานั้น มักจะเรียกเพี้ยนเป็น "คาเรอโอกี" ส่วนในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "คาราโอเกะ"
ประวัติ
แก้ในญี่ปุ่นนั้นก็เหมือนกับในที่อื่นๆ ทั่วโลก ที่มีความนิยมมาช้านานที่จะมีการเล่นดนตรีในช่วงอาหารค่ำ หรืองานปาร์ตี้ โดยปกติ ธรรมเนียมดังกล่าวปรากฏในปกรณัมญี่ปุ่นสมัยแรกสุด นับเป็นเวลานานมาแล้ว ที่การร้องและการเต้นรำถือเป็นหนึ่งในความบันเทิงของผู้ใหญ่ในพื้นที่ชนบท มีการเล่นละครโน ในปาร์ตี้น้ำชา โดยเชิญแขกให้มาร่วมชมและร้องชมเชยการแสดง การร้องเพลงและเต้นรำยังเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหมู่ซามูไรด้วย ทั้งนี้คาดว่าซามูไรทุกคนจะสามารถเต้นรำหรือร้องเพลงได้ ในสมัยไทโชของญี่ปุ่น ร้านอุตะโคะเอะ คิซซา (หมายถึง ร้านกาแฟร้องเพลง) เริ่มเป็นที่นิยมและลูกค้าจะร้องไปกับวงดนตรีที่บรรเลงกันสดๆ
อุตสาหกรรมคาราโอเกะนั้นเริ่มต้นในญี่ปุ่นเมื่อต้นทศวรรษ 1970 เมื่อนักร้องคนหนึ่ง ชื่อ ไดซุเกะ อินุอะเอะ ได้รับคำร้องขอจากแขกอยู่บ่อยๆ ในร้านอุตะโกะเอะ คิซซา ที่เขาไปแสดงดนตรีนั้น ให้ไปบันทึกการแสดง พวกเขาจึงร้องเพลงไปด้วยในช่วงวันหยุดของ เมื่อทราบความต้องการของตลาด เขาจึงทำเครื่องบันทึกเทปที่เล่นเพลงได้เมื่อหยอดเหรียญ 100 เยน นี่คือเครื่องคาราโอเกะเครื่องแรก แต่แทนที่เขาจะขายเครื่องคาราโอเกะ เขากลับให้เช่าแทน ทำให้ร้านต่างๆ ไม่ต้องซื้อเพลงใหม่ๆ เป็นของตัวเอง
ในช่วงแรกๆ นั้นราคาค่าหยอดตู้คาราโอเกะนับว่าแพงพอสมควร เงิน 100 เยนนั้นพอที่จะซื้ออาหารกลางวันได้ถึง 2 ที่ แต่ไม่นานต่อมาคาราโอเกะก็กลายเป็นความบันเทิงยอดนิยมไปแล้ว เครื่องคาราโอเกะมีบริการในร้านอาหาร ห้องต่างๆ ของโรงแรม และไม่ช้าก็เปิดธุรกิจใหม่ คือ ร้านคาราโอเกะ Karaoke Box ที่มีห้องขนาดเล็ก พร้อมด้วยเครื่องคาราโอเกะให้บริการ ซึ่งเป็นที่นิยมในเวลาไม่นานนัก ในปี 2004 นั้น นายไดซุเกะ อินุอะเอะ ได้รับรางวัลอิกโนเบลสาขาสันติภาพ ในฐานะผู้คิดค้นระบบคาราโอเกะขึ้น "นับเป็นการเสนอทางเลือกใหม่ให้ผู้คนได้ทนซึ่งกันและกันได้"
เดิมทีเครื่องคาราโอเกะแต่ละเครื่องนั้นจะใช้เทปคาสเซตต์หรือวิดีโอเทป แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ก็แทนที่ด้วยแผ่นวิดีโอซีดี หรือดีวีดี หรือระบบฮาร์ดดิสก์ เป็นต้น ในปี ค.ศ. 1992 บริษัทไทโต (Taito Corporation) ได้นำเสนอเครื่อง X2000 ที่สามารถค้นหาเสียงดนตรีโดยผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ได้ สำหรับคุณภาพของดนตรีและภาพนั้นยังมีข้อจำกัด แต่ความก้าวหน้าของการสื่อสารมีมากกว่า จึงมีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัยอยู่เสมอ ทำให้เครื่องคาราโอเกะมีขนาดเล็กลง และมีเครื่องรุ่นใหม่ๆ มาแทนที่เครื่องรุ่นเก่าๆ เสมอ เครื่องคาราโอเกะจะเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายไฟเบอร์ออปติก เพื่อให้ได้ภาพและเสียงดนตรีคุณภาพสูงอย่างฉับไว ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่นานคาราโอเกะก็แพร่หลายไปยังส่วนอื่นๆ ของเอเชีย และแพร่ไปถึงสหรัฐอเมริกาเมื่อทศวรรษ 1990 มีร้านคาราโอเกะ หรือคาราโอเกะบาร์ที่จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ให้ลูกค้าที่เป็นนักร้องสมัครเล่นได้ร้องเพลง ในบางแห่งนั้นแทนที่จะมีเครื่องเล่นคาราโอเกะขนาดเล็ก กลับใช้เครื่องเสียงไฮเอนด์ขนาดใหญ่แทนเลยก็มี เวทีสำหรับเต้นและแสงไฟก็เป็นสิ่งที่พบได้ในคาราโอเกะบาร์ เนื้อร้องนั้นมักจะแสดงอยู่บนจอโทรทัศน์หลายจอที่วางไว้รอบๆ รวมทั้งมีจอฉายภาพขนาดใหญ่ด้วย
เทคโนโลยี
แก้เครื่องเล่นคาราโอเกะอย่างง่ายนั้น ประกอบด้วยอินพุทเสียง เป็นตัวเปลี่ยนระดับเสียงดนตรี (ไม่ใช่เสียงนักร้อง) และเอาต์พุตเสียง สำหรับเครื่องที่มีราคาถูกบางรุ่น พยายามจะลดเสียงร้อง โดยสามารถป้อนเสียงร้องปกติเข้าเครื่อง และลดเสียงของนักร้องเดิมลง แต่วิธีนี้ไม่ค่อยจะมีประสิทธิภาพนัก สำหรับเครื่องที่พบเห็นทั่วไปส่วนใหญ่จะเป็นการผสมเสียงด้วยอินพุทไมโครโฟน ที่มีเครื่องเล่น DVD, LD (เลเซอร์ดิสก์), Video CD หรือ CD+G อยู่ในเครื่อง เครื่องเล่น CD+G นั้นใช้แทร็คพิเศษ เรียกว่า ซับโคด (subcode) หรือรหัสย่อย เพื่อเข้ารหัสเนื้อเพลงและภาพที่แสดงบนจอ ขณะที่รูปแบบอื่นๆ นั้นปกติจะแสดงผลทั้งภาพและเสียง ในบางประเทศ คาราโอเกะที่สามารถแสดงเนื้อได้ เรียกว่า KTV
เครื่องเล่นคาราโอเกะส่วนใหญ่จะมีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงระดับเสียงดนตรีโดยกรรมวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้นักร้องสมัครเล่นสามารถร้องเพลงพร้อมกับเปิดเสียงดนตรีเดิมได้ โดยเลือกระดับเสียงที่เหมาะกับช่วงเสียงของตน ขณะเดียวกันก็ยังคงจังหวะเดิมของเพลงเอาไว้ สำหรับระบบเก่ามากๆ บางระบบจะใช้เทปคาสเซ็ต (ยังมีระบบเก่ามากๆ บางระบบที่ใช้เทปคาสเซ็ต และเปลี่ยนแปลงระดับเสียงโดยการเปลี่ยนระดับความเร็วในการเล่น แต่ไม่มีขายแล้วในตลาดปัจจุบัน และไม่มีให้บริการในเชิงพาณิชย์เช่นกัน)
เกมที่ใช้คาราโอเกะนั้น จะมีการพิมพ์หมายเลขเรียกเพลง ซึ่งผู้ใช้จะสามารถร้องได้นานเท่าที่ต้องการ สำหรับบางเครื่องนั้น เกมนี้มีการตั้งโปรแกรมเอาไว้ก่อน และอาจจำกัดแนวเพลง ทำให้ไม่สามารถเรียกเพลงที่คนอื่นๆ อาจไม่รู้จักได้ เกมนี้ในบางส่วนของอเมริกาและแคนาดา เรียกกันว่า "คามิคาเซ คาราโอเกะ" (Kamikaze Karaoke)
เครื่องบันเทิงราคาถูกจำนวนมาก (อย่างเครื่องบูมบ็อกซ์) ก็มีโหมดสำหรับร้องคาราโอเกะ ที่พยายามจะขจัดเสียงร้องออกจากแผ่นซีดีเพลง (Audio CD) ทั่วไป ที่ไม่ใช้ซีดีคาราโอเกะ ซึ่งทำได้โดยควบคุม center removal จากข้อเท็จจริงที่ว่าเสียงร้องส่วนมากจะมีความถี่อยู่บริเวณกลางช่วงความถี่เสียง และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่า เสียงร้อง จะมีระดับความดังเท่ากันในช่องสเตอริโอทั้งสองข้าง และไม่มีความต่างเฟส การได้แทร็คโมโนของคาราโอเกะจำลองนี้ ช่องสัญญาณซ้ายของเสียงเดิมจะถูกลบออกจากช่องสัญญาณขวานั่นเอง
วิธีการหยาบๆ ในการขจัดเสียงร้องแบบนี้นี้ปรากฏออกมาให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพที่ต่ำมาก ผลกระทบที่พบทั่วไปก็คือได้ยินเสียงก้องของแทร็คเสียงร้อง (อันเนื่องมาจากเอคโค่สเตอริโอ) ที่ป้อนไปยังเสียงร้อง) และเสียงดนตรีอื่นๆ ที่บังเอิญถูกผสมเข้าในช่วงความถี่ตรงกลางถูกกำจัดออก (ดนตรีโซโล่ กลอง/สแนร์) ทำให้คุณภาพเสียงลดลงมาก
ในประเทศไทย พบได้สองรูปแบบ ได้แก่
- วิดีโอซีดี (VCD) มักพบได้ตามร้านขายเพลงทั่วไป ออกโดยเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงหรือค่ายเพลง มักจะมีมิวสิกวิดีโอหรือวิดีโอของการร้องหรือการแสดงของศิลปินให้ด้วยในแต่ละเพลง ปัจจุบันพบว่ามักมีคำออกเสียงภาษาอังกฤษใต้คำภาษาไทย
- มิดิ (MIDI) อยู่ในรูปแบบของซอฟต์แวร์ เล่นมิดิคาราโอเกะ เช่น นิคคาราโอเกะ คาราโอเค คาราโปรพลัส อาร์เอ็มเอส คาราคาเฟ่ วินคาราโอเกะ และ บูมิวสิค คาราโอเกะ เป็นต้น ที่มีเพลงอยู่มากมาย มักไม่มีการแสดงมิวสิกวิดีโอหรือภาพประกอบในระหว่างการเล่นคาราโอเกะ และการเล่นดนตรีแบบมิดิอาจจะได้เสียงบรรเลงที่แตกต่างหรือเพี้ยนไปจากเพลงจริงบ้าง แต่ข้อดีของรูปแบบมิดิคือประหยัดพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเป็นอย่างมาก ช่วยให้สามารถบันทึกข้อมูลเพลงและคำร้องไว้ในระบบคาราโอเกะได้เป็นจำนวนมาก
การใช้งาน MIDI และไฟล์ *.KAR
แก้โปรแกรมคอมพิวเตอร์บางแบบที่ใช้งานคล้ายๆ กันในเครื่องคาราโอเกะมาตรฐาน ถูกพัฒนาขึ้นมาให้ใช้การสร้างเสียงดนตรีแบบ Midi เพื่อสร้างเสียงประกอบแทนที่จะเป็นเสียงดนตรีที่บันทึกเอาไว้ นี่เป็นข้อดีในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี และยังลดข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ประกอบการร้อง เพราะสามารถส่งผ่านอินเทอร์เน็ตได้ง่าย แม้เครือข่ายจะมีความเร็วต่ำก็ตาม รูปแบบไฟล์มาตรฐานนั้นจะใช้ไฟล์ *.KAR ซึ่งเป็นส่วนขยายของรูปแบบดิสก์ MIDI มาตรฐาน และสามารถเล่นด้วยซอฟต์แวร์สำหรับเล่น MIDI โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร (ซอฟต์แวร์ นิคคาราโอเกะ เป็นซอฟต์แวร์คาราโอเกะชนิดนี้ตัวแรกของไทย ที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการ DOS และพัฒนาสู่เวอร์ชันทำงานบนระบบปฏิบัติการ Windows XP) นอกจากนี้ยังมีเครื่องเล่น DVD ยี่ห้อ SOKEN ที่เล่น Midi Karaoke ได้เป็นเครื่องแรกในไทย
คาราโอเกะ ในรูปแบบอื่น
แก้วิดีโอเกม
แก้คาราโอเกะเกมนั้น เดิมเผยแพร่เป็น เกมแฟมิคอม แต่ด้วยข้อจำกัดความสามารถในการคำนวณ ทำให้มีรายการเพลงน้อย และมีคุณค่าลดลง ด้วยเหตุนี้คาราโอเกะเกมจึงถือว่ามีความสำคัญน้อย กระทั่งเดิมมีการเผยแพร่ในรูปแบบ DVD ความจุสูง
เครื่องเล่นเกม ที่สามารถร้องคาราโอเกะได้ดี เป็นเครื่องแรกคือ Phillips CD-i
สำหรับเกม Karaoke Revolution นั้นสร้างขึ้นโดย โคนามิ สำหรับใช้ใน เพลย์สเตชัน 2 และเผยแพร่ในอเมริกาเหนือ ในปี 2003 เป็นเครื่องเล่นเกมที่ผู้เช่นคนเดียวร้องเพลงตามคำแนะนำบนจอ และรับคำแนนตามระดับเสียง จังหวะ หรือทำนอง ที่ทำได้ถูกต้อง เกมนี้ไม่ช้าก็ออกมาอีก 3 รุ่น คือ Karaoke Revolution Vol. 2', Karaoke Revolution Vol. 3 และ Karaoke Revolution Party Edition ขณะที่ Karaoke Revolution ของเดิมนั้นในที่สุดก็เผยแพร่ออกมาสำหรับเครื่องเล่น เอกซ์บอกซ์ ของไมโครซอฟท์ เมื่อปลายปี 2004 เป็นรุ่นใหม่ที่สามารถใช้งานออนไลน์ได้ รวมทั้งสามารถดาวน์โหลดเพลงเพิ่ม ผ่านบริการ Xbox Live พิเศษ รวมไปถึงเกม lips ของ XBOX 360
เกมที่คล้ายๆ กันแบบหนึ่ง เรียกว่า SingStar เผยแพร่โดย Sony Computer Entertainment Europe เป็นที่นิยมเป็นพิเศษในตลาดยุโรป และออสเตรเลีย สำหรับเกมอื่นๆ ที่คล้ายกันก็ได้แก่ เกมที่อาศัยจังหวะ เช่น Bemani, Dance Dance Revolution, Guitar Freaks และ Drum Mania
VCD คาราโอเกะ
แก้ความนิยมของ Video CD ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มมากขึ้นนั้น มีผลจากราคาที่ถูกลง และคุณภาพก็พอรับได้ และส่วนหนึ่งก็เพราะความนิยมในการใช้คาราโอเกะนั่นเอง เครื่องเล่น VCD จำนวนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีฟังก์ชันคาราโอเกะอยู่ในตัว ซึ่งเมื่อผู้ใช้ปิดเสียงนักร้อง ปล่อยเฉพาะเสียงดนตรีออกมา ก็สามารถเล่นคาราโอเกะได้ ในอดีตนั้นมี VCD คาราโอเกะเฉพาะเพลงป๊อปเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้มีคาราโอเกะเพลงต่างๆ แทบทุกชนิด แม้กระทั่ง VCD คาราโอเกะงิ้วภาษากวางตุ้ง ก็นิยมกันมากในปัจจุบันนี้ในฮ่องกง
คาราโอเกะในโทรศัพท์มือถือ
แก้เมื่อ พ.ศ. 2546 มีหลายบริษัทเริ่มให้บริการคาราโอเกะผ่านโทรศัพท์มือถือ และยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทว่าไม่สามารถคาดหมายได้ชัดว่าจะเติบโตไปในทิศทางใด อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการคาราโอเกะผ่านโทรศัพท์มือถือบางราย เช่น Karaokini ได้เริ่มประสบความสำเร็จในเชิงพานิชย์บ้างแล้ว บริการคาราโอเกะผ่านมือถือมักจะใช้ ภาษาจาวา ซึ่งทำงานด้วยไฟล์ข้อความ บรรจุเป็นคำ และไฟล์ midi พร้อมเสียงดนตรี www.web2txt.co.uk เป็นบริษัทแรกที่เสนอคาราโอเกะผ่านมือถือ ในรูปแบบ 3GP ซึ่งให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า (ในประเทศไทยเคยมีให้บริการร้องคาราโอเกะบนมือถือผ่านเครื่อข่ายระบบฮัทช์)
คาราโอเกะจากคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
แก้เริ่มตั้งแต่ปี 2003 มีการผลิตซอฟต์แวร์มากมายสำหรับการร้องคาราโอเกะ และร้องกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และแทนที่จะต้องพกเลเซอร์ดิสก์ หรือ CD-G เป็นร้อยๆ แผน ก็สามารถบันทึกบนฮาร์ดดิสก์ ทั้งเนื้อทั้งเพลงได้สบายๆ นอกจากนี้ซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ยังให้นักร้องสามารถร้องและฟังคนอื่นผ่านอินเทอร์เน็ต โดยมีผู้ร่วมฟังทั่วโลกได้ด้วย เช่น Happy Karaoke เมื่อก่อนในปรเทศไทยมีการให้บริการร้องคาราโอเกะผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น ซิงกิงออนเว็บ ของ นิคคาราโอเกะ และ ทีเอ คาราโอเกะ ของ เทเลคอมเอเซีย แต่ปัจจุบันยุติการให้บริการแล้ว
คาราโอเกะในรถยนต์
แก้ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศจีน จีลี่ ออโตโมบิล ได้ผลิตรถสปอร์ตรุ่น BL (Beauty Leopard) ที่มีเครื่องคาราโอเกะในรถเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2546 เป็นอุปกรณ์มาตรฐานประจำรถ นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันคาราโอเกะในเครื่องเล่น DVD สำหรับรถยนต์ด้วย
และปัจจุบันยังมีเครื่องเสียงติดรถยนต์ ที่สามารถเล่น VCD และ DVD ที่เป็นแผ่นคาราโอเกะได้ ขายอยู่ทั่วไป
อุปกรณ์อื่นๆ
แก้รูปแบบ CD+G ของดิสก์คาราโอเกะ ซึ่งบรรจำเนื้อร้องในแทร็คที่ลงรหัสพิเศษเอาไว้ จึงต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพงเพื่อใช้เล่น แต่เครื่องเล่นในปัจจุบันมีราคาถูกลงเรื่อยๆ และมีอุปกรณ์เสริมอีกมาก เล่นเครื่องเล่นวิดีโอเกม Sega Saturn สามารถถอดรหัสกราฟิกได้ ความจริงแล้วเครื่องเล่นคาราโอเกะ รวมทั้งวิดีโอ และบางครั้งก็สามารถบันทึกได้ เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทมี่นิยมกันมากในร้านค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และของเล่นต่างๆ
ทั้งนี้ยังมีซอฟต์แวร์สำหรับ Windows, Pocket PC, Linux, และ Macintosh Computer ที่สามารถถอดรหัส และแสดงผลแทร็คเพลงคาราโอเกะได้ แม้ปกติแล้วจะต้องคลายการบีบอัดก่อนก็ตาม ปัจจุบันนี้มีการผลิตซอฟต์แวร์คาราโอเกะสำหรับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับในแถวเอเชีย
นอกจาก CD+G และคาราโอเกะแบบใช้ซอฟต์แวร์แล้ว เครื่องเล่นคาราโอเกะที่ใช้ไมโครโฟนก็เป็นที่นิยมอย่างมากในอเมริกาเหนือ และบางประเทศในเอเชีย
มีอุปกรณ์เสริมของ iPod ชื่อว่า iKaraoke และ เครื่องเล่นเพลงดิจิตอล จากจีน บางรุ่น ที่สามารถทำให้ร้องคาราโอเกะได้ทุกที่
เครื่องเล่นคาราโอเกะแบบต้องใช้ไมโครโฟนเฉพาะนั้น ต้องต่อเข้ากับโทรทัศน์ และบางกรณีต้องต่อปลั๊กไฟด้วย บางเครื่องก็มีแบตเตอรีในตัว อุปกรณ์พวกนี้จะมีคุณลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น การแก้ระดับเสียง สเปเชียลเอฟเฟกต์ บางบริษัทก็มีคาราโอเกะแบบจ่ายเงินเพื่อดาวน์โหลด เพื่อเพิ่มจำนวนเพลงในระบบคาราโอเกะแบบใช้ไมโครโฟน
ระบบคาราโอเกะแบบใช้ไมโครโฟน และแบบ CD+G นั้นปกติจะใช้กันในบ้าน แต่ปัจจุบันนี้ DVD คาราโอเกะเป็นที่นิยมสูงสุดในการใช้คาราโอเกะในบ้านในอเมริกาเหนือ ทั้งนี้เพราะมีเครื่องเล่น DVD จำนวนมากที่สามรถใช้เล่น DVD คาราโอเกะได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นให้ยุ่งยากเสียเวลา
คาราโอเกะสาธารณะ
แก้หลายประเทศในเอเชีย นิยมใช้ตู้คาราโอเกะ (บางทีก็เรียกว่า KTV) นับเป็นเครื่องเล่นคาราโอเกะที่นิยมกันมากที่สุด ร้านคาราโอเกะนั้น เป็นห้องขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง ที่ใส่อุปกรณ์คาราโอเกะเอาไว้ สำหรับเพื่อนฝูงได้ร้องเพลงอย่างสนุกสนาน โดยมีบรรยากาศที่เป็นส่วนตัว
ในต่างประเทศใช้คำว่า karaoke bar, karaoke restaurant, karaoke club หรือ karaoke lounge ซึ่งหมายถึงร้านอาหารที่มีอุปกรณ์คาราโอเกะ ให้ลูกค้าเข้าไปร้องได้ สำหรับในร้านอาหารจีนแบบดั้งเดิมบางแห่ง เรียกว่า ห้องคาราโอเกะ-ไพ่นกกระจอก (mahjong-karaoke room) ซึ่งผู้ใหญ่อาจเข้าไปนั่งเล่นไพ่นกกระจอก และวัยรุ่นใช้ร้องคาราโอเกะได้ ทำให้เป็นที่นิยมสำหรับผู้คนทุกวัย
คาราโอเกะ ในแบบฉบับพาวเวอร์พอยต์
แก้คาราโอเกะในรูปแบบนี้ เป็นการประยุกต์ใช้โปรแกรมจัดทำงานนำเสนอเพื่อจัดทำสารบบเพลงคาราโอเกะเสมือนจริง โดยรูปแบบแล้วจะเหมือนกับการนำเสนอผลงานตามปกติ แต่จะมีเนื้อเพลงที่ใช้วิธีสร้างข้อความศิลป์ และลูกเล่นการนำเสนอ เพื่อปาดคำร้องให้ตรงตามเพลงที่ต้องการ ข้อดีของคาราโอเกะในแบบฉบับพาวเวอร์พอยต์ คือ สามารถสร้างสรรค์ขึ้นได้ง่าย และยังสามารถเปลี่ยนรูปภาพหรือสื่อนำเสนออื่นที่ต้องการให้เหมาะสมกับโอกาสต่างๆ ได้อีกด้วย ทั้งนี้ก็มีข้อเสียอยู่ประการหนึ่ง คือ คำร้องบางส่วนอาจปาดได้ไม่ตรงกับเพลงบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเครื่องที่ใช้และการตั้งเวลาที่เหมาะสม
คาราโอเกะที่ปรากฏในสื่อ
แก้ภาพยนตร์หลายเรื่องได้มีการนำคาราโอเกะมาเป็นส่วนประกอบในเรื่อง เช่นในเรื่อง ดูเอตส์, ลอสต์อินทรานสเลชัน, เดอะเคเบิลกายส์, มายเบสต์เฟรนด์เวดดิ้ง
คาราโอเกะในรูปแบบของสถานเริงรมย์
แก้ในประเทศไทย คาราโอเกะหลายแห่งมีการขายบริการทางเพศแอบแฝงสำหรับผู้ชาย โดยผู้เข้ามาใช้บริการในห้องคาราโอเกะ จะมีผู้หญิงมาบริการในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่มาเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม มานั่งคุยเป็นเพื่อนในลักษณะของจีเอฟอี การแสดงเปลื้องผ้าโชว์ รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ทั้งลักษณะสอดใส่และไม่สอดใส่ภายในสถานบริการ ผู้หญิงที่ให้บริการในประเทศไทยจะมาจากหลากหลายสถานที่ ไม่ว่าในประเทศหรือจากต่างประเทศ[1]
การให้บริการทางผู้ใช้บริการจะทำการเลือกผู้หญิงที่ตัวเองสนใจโดยคิดราคาเป็นรายชั่วโมง เรียกไปให้บริการภายในห้องคาราโอเกะส่วนตัว และหากต้องการพาไปมีเพศสัมพันธ์นอกสถานบริการทางผู้ใช้บริการจะต้องจ่ายเงินต่างหากให้กับทางสถานบริการ
คาราโอเกะในรูปแบบของโปรแกรม
แก้ซอฟต์แวร์คาราโอเกะที่รันบนระบบปฏิบัติการ อาทิเช่น Windows XP, Windows 7, Windows 8 เป็นต้น
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "ปคม.บุกจับคาราโอเกะบังคับสาวลาวค้ากาม!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-20. สืบค้นเมื่อ 2011-04-14.
- ↑ encyclopedia.com- 'karaoke'