วิกิพีเดีย:บทความคัดสรรประจำเดือน/พ.ศ. 2552



บทความคัดสรรแบ่งตามปี
2548 - 2549 - 2550 - 2551 - 2552 - 2553 - 2554 - 2555 - 2556 - 2557 - 2558 - 2559 - 2560 - 2561 - 2562 - 2563 - 2564 - 2565 - 2566 - 2567


มกราคม 2552

ดู - สนทนา - ประวัติ

บารัก โอบามา
บารัก โอบามา

บารัก โอบามา (อังกฤษ: Barack Obama) มีชื่อเต็มว่า บารัก ฮุสเซน โอบามา ที่ 2 (Barack Hussein Obama II) เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1961 เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 44 เข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2009 และเป็นคนแอฟริกันอเมริกันคนแรก ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี โอบามาเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐอิลลินอย ในปี 2005 จนกระทั่งถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2008 หลังจากที่เขาประกาศลงสมัครการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2008

โอบามาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เขาได้เป็นคนผิวสีของแรกเป็นประธานของ Harvard Law Review เคยทำงานเป็นผู้จัดการวงการสังคม, อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก จากปี ค.ศ. 1992 - 2004 และทนายสิทธิพลเมืองมาก่อนที่จะหันมาสนใจการเมือง เคยสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาในการเลือกตั้งปี 2000 แต่ไม่ชนะการเลือกตั้ง จึงเริ่มหาเสียงในการสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2003 เขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาแห่งรัฐอิลลินอย ในปี ค.ศ. 1997 ถึง ค.ศ. 2004 อ่านต่อ...


กุมภาพันธ์ 2552

ดู - สนทนา - ประวัติ

มาริโอ้ เมาเร่อ
มาริโอ้ เมาเร่อ

มาริโอ้ เมาเร่อ เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2531 เป็นนักแสดงชาวไทย เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยได้รับการติดต่อจากโมเดลลิ่งในสยามสแควร์ ให้ถ่ายงานโฆษณาเริ่มจากงานถ่ายแบบ ถ่ายโฆษณา เช่น โฆษณาเอ็กซิท โรลออน ขนมแจ็ค เดอะพิซซ่าคอมปานี และยังได้ถ่ายแบบอยู่เรื่อยมา อย่าง เธอกับฉัน และหนังสือวัยรุ่นอีกหลายเล่มและถ่ายมิวสิกวิดีโอ อีกหลายตัวเช่น กุญแจที่หายไป ของ ปาล์มมี่, ปากดีขี้เหงาเอาแต่ใจ ของ มิล่า เป็นต้น

จนในปี 2550 มีผลงานสร้างชื่อจากภาพยนตร์ไทยเรื่อง รักแห่งสยาม ซึ่งจากบทบาท "โต้ง" ใน รักแห่งสยาม นี้ ทำให้มาริโอ้ ได้รับจากภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม มาริโอ้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากนิตยสารสตาร์พิกส์ รับรางวัลจากเทศกาลหนังซีเนมะนิลา ที่จัดขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ สาขานักแสดงชายยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง รางวัลเอเชียนฟิล์ม สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม อีกทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิงครั้งที่ 16 ประจำปี 2550 ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และรางวัลสตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส ครั้งที่ 6 ในสาขาผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยมอ่านต่อ...


มีนาคม 2552

ดู - สนทนา - ประวัติ

มหาวิหารลีออน
มหาวิหารลีออน

สถาปัตยกรรมการก่อสร้างมหาวิหารในยุโรปตะวันตก กล่าวถึงลักษณะสิ่งก่อสร้างของมหาวิหารทางคริสต์ศาสนา รวมทั้งสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมหาวิหารในยุโรปตะวันตก

มหาวิหาร คือวัดของคริสต์ศาสนาที่มีบาทหลวง (bishop) เป็นประมุข เป็นวัดที่เป็นที่นั่งของบาทหลวง (วัดประจำตำแหน่ง) ที่ใช้เป็นศูนย์กลางของสังฆมณฑล (Diocese หรือ See) ที่อยู่ใต้การปกครองของบาทหลวงที่กำหนดไว้ เป็นที่เป็นที่ตั้งของ “อาสนะบาทหลวง” (bishop's cathedra) และเป็นสถานที่ทางคริสต์ศาสนาที่ใช้ในการสักการะบูชา (โดยเฉพาะสำหรับนิกายที่มีระบบฐานันดรการปกครองเช่นนิกาย นิกายโรมันคาทอลิก นิกายออร์โธด็อกซ์ หรือ นิกายอังกลิคัน) ขนาดของสิ่งก่อสร้างที่เป็นมหาวิหารไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตเสมอไป แต่อาจจะมีขนาดเล็กอย่างเช่นมหาวิหารออกซฟอร์ด หรือ มหาวิหารเชอร์ที่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้ แต่เดิมมหาวิหารจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในท้องถิ่นที่มหาวิหารตั้งอยู่ อ่านต่อ...


เมษายน 2552

ดู - สนทนา - ประวัติ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (พระราชอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) เป็นผู้ถวายพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์"

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี" นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก ที่ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์ที่ “สยามบรมราชกุมารี” แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ อ่านต่อ...


พฤษภาคม 2552

ดู - สนทนา - ประวัติ

เซนต์เซย์ย่า (ญี่ปุ่น: 聖闘士星矢โรมาจิSe'into Seiyaทับศัพท์: เซะอินโตะเซยะ) เป็นชื่อของหนังสือการ์ตูน ซึ่งแต่งขึ้นโดย มาซามิ คุรุมาดะ ซึ่งใช้กลุ่มดาวม้าบินมาเป็นตัวเอกของเรื่อง เนื่องจากม้าบินกำลังอยู่ในท่าทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ตรงกับภาพลักษณ์ของตัวเอกที่เขาได้คิดไว้นั่นเอง โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กหนุ่ม 5 คนที่เรียกว่า เซนต์ (saint) ต่อสู้โดยใช้ร่างกายของตนเองเป็นอาวุธเพื่อปกป้องคิโดะ ซาโอริ ผู้เป็นอวตารของเทพีอะธีนา และต่อสู้กับทัพศัตรูแห่งความชั่วร้าย ในโลกร่วมสมัยที่มีบรรยากาศของเทพปกรณัมกรีก

ในประเทศญี่ปุ่น เซนต์เซย์ย่าลงตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในนิตยสารโชเน็นจัมป์รายสัปดาห์ ของสำนักพิมพ์ชูเอฉะ และออกเป็นหนังสือรวมเล่มจำนวน 28 เล่มจบ ส่วนในประเทศไทย สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจได้รับสิทธิ์ในการตีพิมพ์ฉบับรวมเล่ม นอกจากภาคหลักแล้ว เซนต์เซย์ย่ายังได้รับการแต่งภาคเสริมขึ้นอีกหลายภาคด้วยกัน ได้แก่ ภาค Episode G , Next Dimension และ The Lost Canvas อ่านต่อ...


มิถุนายน 2552

ดู - สนทนา - ประวัติ

สุนทรภู่
สุนทรภู่

พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ (26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 - พ.ศ. 2398) เป็นกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียง ได้รับยกย่องเป็น มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์ หรือ เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย เกิดหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นกวีราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต

สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน ได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และ พระอภัยมณี เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กาพย์พระไชยสุริยา นิราศพระบาท และอีกหลายๆ ส่วนในเรื่อง พระอภัยมณี อ่านต่อ...


กรกฎาคม 2552

ดู - สนทนา - ประวัติ

แฮร์รี่ พอตเตอร์ คือ ชุดนวนิยายแฟนตาซี ประพันธ์โดย เจ. เค. โรว์ลิ่ง หนังสือในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์มีจำนวนเจ็ดเล่ม โดยหนังสือเล่มแรกในชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ วางจำหน่ายในฉบับภาษาอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2540 และฉบับภาษาไทยในปี พ.ศ. 2543 ส่วนเล่มที่เจ็ดซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายของชุดมีชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ฉบับภาษาอังกฤษออกวางจำหน่ายทั่วโลกในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 โดยสำนักพิมพ์บลูมส์บิวรี่ รับผิดชอบพิมพ์จำหน่ายในสหราชอาณาจักร และสำนักพิมพ์สกอลาสติกในสหรัฐอเมริกา ส่วนฉบับภาษาไทยออกวางจำหน่ายในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์

โครงเรื่องหลักของนวนิยายชุดนี้เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับพ่อมดร้าย ลอร์ดโวลเดอมอร์ ผู้สังหารบิดามารดาของแฮร์รี่ และวางฉากหลักอยู่ที่ โรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ หัวใจสำคัญของเรื่องคือการเปลี่ยนผ่านของวัยของตัวละครเอก แฮร์รี่ พอตเตอร์ และเพื่อนสนิท เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์และรอน วีสลีย์ โดยเรื่องราวส่วนใหญ่จะเป็นมุมมองของเขาและสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากเพื่อน อาจารย์ หรือประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต อ่านต่อ...


สิงหาคม 2552

ดู - สนทนา - ประวัติ

ดาราศาสตร์
ดาราศาสตร์

ดาราศาสตร์ คือวิชาวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาวัตถุท้องฟ้า (อาทิ ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ ดาวหาง และดาราจักร) รวมทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากนอกชั้นบรรยากาศของโลก โดยศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการ ลักษณะทางกายภาพ ทางเคมี ทางอุตุนิยมวิทยา และการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้า ตลอดจนถึงการกำเนิดและวิวัฒนาการของเอกภพ

ดาราศาสตร์เป็นหนึ่งในสาขาของวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุด นักดาราศาสตร์ในวัฒนธรรมโบราณสังเกตการณ์ดวงดาวบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน และวัตถุทางดาราศาสตร์หลายอย่างก็ได้ถูกค้นพบเรื่อยมาตามยุคสมัย อย่างไรก็ตาม กล้องโทรทรรศน์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่จำเป็นก่อนที่จะมีการพัฒนามาเป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ตั้งแต่อดีตกาล ดาราศาสตร์ประกอบไปด้วยสาขาที่หลากหลายเช่น การวัดตำแหน่งดาว การเดินเรือดาราศาสตร์ ดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์ การสร้างปฏิทิน และรวมทั้งโหราศาสตร์ แต่ดาราศาสตร์ทุกวันนี้ถูกจัดว่ามีความหมายเหมือนกับฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ดาราศาสตร์ได้แบ่งออกเป็นสองสาขาได้แก่ ดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์ และดาราศาสตร์เชิงทฤษฎี ดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์จะให้ความสำคัญไปที่การเก็บและการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการใช้ความรู้ทางกายภาพเบื้องต้นเป็นหลัก ส่วนดาราศาสตร์เชิงทฤษฎีให้ความสำคัญไปที่การพัฒนาคอมพิวเตอร์หรือแบบจำลองเชิงวิเคราะห์ เพื่ออธิบายวัตถุท้องฟ้าและปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งสองสาขานี้เป็นองค์ประกอบซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ดาราศาสตร์เชิงทฤษฎีใช้อธิบายผลจากการสังเกตการณ์ และดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์ใช้ในการรับรองผลจากทางทฤษฎี อ่านต่อ...


กันยายน 2552

ดู - สนทนา - ประวัติ

การรุกรานโปแลนด์ (1939)
การรุกรานโปแลนด์ (1939)

การบุกครองโปแลนด์ เป็นแผนการโจมตีของนาซีเยอรมนี สหภาพโซเวียตและสโลวาเกีย ต่อโปแลนด์ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง (การโจมตีดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในประเทศโปแลนด์ว่า "การทัพเดือนกันยายน" (โปแลนด์: Kampania wrześniowa) หรือ "สงครามป้องกันมาตุภูมิปี 1939" (โปแลนด์: Wojna obronna 1939 roku); ส่วนในเยอรมนี บางครั้งเรียกว่า "การทัพโปแลนด์" (เยอรมัน: Polenfeldzug) หรือ "สงครามเยอรมนี-โปแลนด์แห่งปี 1939" และสำหรับกองเสนาธิการเยอรมัน การโจมตีดังกล่าวอยู่ภายใต้ชื่อรหัสว่า กรณีสีขาว)

การรุกรานโปแลนด์ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป เนื่องจากฝ่ายพันธมิตรตะวันตก ได้แก่ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ประกาศสงครามกับเยอรมนีในวันที่ 3 กันยายน ตามมาด้วยฝรั่งเศส แอฟริกาใต้ และแคนาดา รวมทั้งประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรอื่น ๆ การโจมตีเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 หนึ่งสัปดาห์หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เมื่อเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตได้ครอบครองโปแลนด์จนหมดทั้งประเทศ แม้ว่าสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสจะประกาศสงครามกับเยอรมนีหลังจากการโจมตีครั้งแรกเพียงไม่นาน แต่มีความช่วยเหลือมายังโปแลนด์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น อ่านต่อ...


ตุลาคม 2552

ดู - สนทนา - ประวัติ

มิตร ชัยบัญชา
มิตร ชัยบัญชา

มิตร ชัยบัญชา (28 มกราคม พ.ศ. 2477 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513) หรือชื่อจริง พันจ่าอากาศโท พิเชษฐ์ ชัยบัญชา (นามสกุลเดิม พุ่มเหม) เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงปลาย พ.ศ. 2499 เป็นพระเอกภาพยนตร์ไทยในช่วง พ.ศ. 2500 - 2513 มีผลงานเด่นในช่วง พ.ศ. 2501 - 2517 ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ 16 มม. มีผลงานนับได้ขณะนั้น 266 เรื่อง จากทั้งสิ้น 300 กว่าเรื่อง

ผลงานเรื่องแรกคือเรื่อง ชาติเสือ ผลงานเรื่องที่สองที่ออกฉายคือ จ้าวนักเลง หรืออินทรีแดง ทำให้มิตร ชัยบัญชามีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างมาก ทำรายได้เกินล้านบาท มิตรมีผลงานแสดงที่โดดเด่นมากและหลากหลาย ทั้งบทบู๊ รักกุ๊กกิ๊ก รักรันทด ตลก เชยเด๋อด๋า หรือชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตา อ่านต่อ...


พฤศจิกายน 2552

ดู - สนทนา - ประวัติ

ส้วมชักโครกของส้วมสาธารณะ ในประเทศไทย
ส้วมชักโครกของส้วมสาธารณะ ในประเทศไทย

ส้วมในประเทศไทย มีมาแต่โบราณ โดยในสมัยก่อน ผู้ที่ใช้ส้วมแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มของพระมหากษัตริย์และเจ้านาย ขุนนางและผู้มีฐานะดี กลุ่มของภิกษุที่อยู่ภายใต้พระธรรมวินัย กลุ่มของชาวบ้านที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยกลุ่มชาวบ้านมักจะไปถ่ายทุกข์ตามที่เหมาะ ๆ เนื่องจากยังไม่มีส้วมใช้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2440 รัฐได้ออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) มีผลบังคับให้คนไทยต้องขับถ่ายในส้วม

กระทั่งช่วงปี พ.ศ. 2460-2471 ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุขจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลเอกชนของสหรัฐอเมริกา โดยส่งเสริมให้มีการสร้างส้วมในจังหวัดต่าง ๆ และยังเกิดการประดิษฐ์คิดค้นส้วมรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของไทย เช่น “ส้วมหลุมบุญสะอาด” ที่มีกลไกป้องกันปัญหาการลืมปิดฝาหลุมถ่ายและส้วมคอห่านที่ใช้ร่วมกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม ต่อมาเริ่มมีผู้ใช้ส้วมชักโครกมากขึ้นในช่วงที่มีการก่อสร้างบ้านแบบสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระทั่งต้นพุทธทศวรรษ 2500 โถส้วมชนิดนี้ก็ได้รับความนิยม มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในปัจจุบัน อ่านต่อ...


ธันวาคม 2552

ดู - สนทนา - ประวัติ

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือซึ่งมักรู้จักกันโดยทั่วไปว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของอาณาจักรธนบุรี มีพระนามเดิมว่า "สิน" ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ รวมสิริดำรงราชสมบัติ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคตในวันพุธ แรม ๑๓ ค่ำเดือน ๕ จ.ศ. ๑๑๔๔ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ รวมสิริพระชนมมายุ ๔๘ พรรษา

พระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่ การกอบกู้เอกราชจากพม่า และการทำสงครามตลอดรัชสมัยเพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น และขับไล่พม่าออกจากราชอาณาจักร นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูความเจริญประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม ได้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่าง ๆ เช่น จีน อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ โปรดฯ ให้มีการสร้างถนนและขุดคลอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคม นอกจากนั้นยังทรงส่งเสริมทางด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรม อ่านต่อ...